Faculty of Arts อาจารย์-บุคลากร
นิสิตปัจจุบัน
ผู้ที่ต้องการเข้าศึกษา
ศิษย์เก่า
 
Home | Download |
about us

 

 

 

 

 

หน้าแรก วิรัชกิจ  กิจกรรมอื่นๆ

กิจกรรมอื่นๆ

พิธีมอบรางวัลคะแนนสูงสุดภาษาสเปนและงานเปิดชมรมภาษาสเปน

สาขาวิชาภาษาสเปน ศูนย์ลาตินอเมริกาศึกษา ชมรมภาษาสเปน และฝ่ายวิรัชกิจ คณะอักษรศาสตร์ ได้จัดพิธีมอบรางวัลคะแนนสูงสุดภาษาสเปนและงานเปิดชมรมภาษาสเปน เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 ณ ห้อง 304 อาคารมหาจักรีสิรินธร จากการประชุมร่วมกันระหว่างศูนย์ลาตินอเมริกาศึกษา ฝ่ายวิรัชกิจ คณะอักษรศาสตร์ และสถานเอกอัครราชทูตลาตินอเมริกา 7 แห่ง ได้มีมติให้จัดให้มีรางวัลเกียรติยศ ให้แก่นิสิตอักษรศาสตร์ ที่จบการศึกษาด้วยแต้มเฉลี่ยสูงสุดในรายวิชาภาษาสเปน ปีนี้เป็นปีแรกที่คัดเลือกนิสิตคะแนนสูงสุด นิสิตที่ได้รับรางวัลในปีแรกนี้คือ นางสาวพิชญา เวทย์วิทยวัฒนา แต้มเฉลี่ยสะสม 3.95

งานเริ่มด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ กล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูต และตัวแทนจากสถานทูตชิลี โคลอมเบีย คิวบา ปานามา เปรู เม็กซิโก และอาร์เจนตินา รองศาสตราจารย์สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ รองคณบดีฝ่ายวิรัชกิจ กล่าวรายงาน H.E. Mr. Javier Becker เอกอัครราชทูตชิลี กล่าวสุนทรพจน์ในนามของสถานเอกอัครราชทูตทั้ง 7 แห่ง และเป็นผู้มอบรางวัลคะแนนสูงสุด แก่นางสาวพิชญา เวทย์วิทยวัฒนา หลังจากนั้น นางสาวพิชญา เล่าถึงวิธีการเรียน และประสบการณ์ที่ได้รับ ตามด้วยการฉายสไลด์และดีวีดีแนะนำกิจกรรมต่างๆ ของชมรมภาษาสเปน จบพิธี คณบดี ได้จัดงานเลี้ยงรับรองแขกผู้มีเกียรติ คณาจารย์ และนิสิต

อนึ่ง ในงานนี้ มีนิสิตชั้นปีที่ 1 ถึงปีที่ 4 คณาจารย์ไทยและต่างชาติ เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 100 คน งานประสบความสำเร็จในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของชมรมภาษาสเปน ได้เปิดโอกาสให้นิสิตและคณาจารย์ ได้ทำกิจกรรมร่วมกันและกระชับความสัมพันธ์ ระหว่างสถานเอกอัครราชทูตลาตินอเมริกัน และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ


โครงการสานสัมพันธ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-มหาวิทยาลัยฮอกไกโด

ฝ่ายวิรัชกิจ ได้ต้อนรับคณะนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย Hokkaido ทั้งหมด 17 คน ที่เข้าร่วมโครงการทัศนศึกษาระยะสั้น เดินทางไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในประเทศต่างๆ นำโดยอาจารย์ Mikio Masaki และได้มาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับนิสิตหลักสูตรภาษาและวัฒนธรรม และนิสิตเอกวิชาภาษาญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยมีอาจารย์ ดร.อัษฎายุทธ ชูศรี เป็นผู้ประสานงานกิจกรรม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ กล่าวต้อนรับและเชิญชวนให้นักศึกษา Hokkaido ทำความคุ้นเคยกับนิสิตอักษรศาสตร์ รองศาสตราจารย์สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ รองคณบดีฝ่ายวิรัชกิจ กล่าวแนะนำคณะอักษรศาสตร์ แสดงความยินดีในความร่วมมือของทั้งสองมหาวิทยาลัย และอวยพรให้นักศึกษาประสบความสำเร็จในการเดินทางมาทัศนศึกษาและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม

ในช่วงเช้า นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮอกไกโด ได้ฟังการบรรยายแนะนำเกี่ยวกับประเทศไทย โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์ไทยศึกษา เป็นวิทยากรและร่วมอภิปรายกับนิสิตหลักสูตรภาษาและวัฒนธรรม จำนวน 18 คน ที่ร่วมฟังการบรรยาย โดยได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมร่วมสมัยและค่านิยมของทั้งสองประเทศ ในช่วงบ่าย นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮอกไกโด ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับนิสิตเอกวิชาภาษาญี่ปุ่น 13 คน โดยต่างแนะนำมหาวิทยาลัยทั้งสอง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย ในตอนท้าย ได้ร่วมกันเขียนชื่อและนำมาแปะเรียงเป็นตัวอักษรว่า “Kizuna” ซึ่งแปลว่า สายสัมพันธ์


บรรยากาศงานต้อนรับนักเรียนต่างชาติ ประจำปี 2015

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2558 หลักสูตร BALAC จัดงานต้อนรับนักเรียนต่างชาติที่จะเข้าศึกษาใหม่ จำนวน 38 คน ณ Sasa International House ซึ่งงานต้อนรับและการจัดเตรียมอาหารบุฟเฟต์เป็นไปอย่างราบรื่น มีนักเรียนให้ความสนใจเข้าร่วมประมาณ 100 คน และคณาจารย์ 11 คน ของหลักสูตร BALAC โดยงานต้อนรับนักเรียนต่างชาติครั้งนี้ เปิดโอกาสให้นักเรียนต่างชาติที่เพิ่งเดินทางมาถึงประเทศไทย ได้ทำความรู้จักคุ้นเคยกับเพื่อนใหม่และจับคู่บัดดี้กับนักเรียนไทย นอกจากนี้ ทางหลักสูตรก็ได้นำเสนอกิจกรรมที่น่าสนใจหลากหลายกิจกรรมที่นักเรียนสามารถเข้าร่วมได้ด้วย

งานต้อนรับนักเรียนต่างชาตินี้ เริ่มตั้งแต่เวลา 17.00 น. โดยมีรองศาสตราจารย์สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร BALAC และหัวหน้าผู้แทนคณะนักเรียน ได้แก่ นายกษิดิศ สอนไว นายปพล วุฒิไกรเกรียง นางสาวหทัยภัทร คงโพธิ์ และนางสาวลลิล สถิรากร กล่าวต้อนรับและเปิดงาน จากนั้น คณะเจ้าหน้าที่ของหลักสูตรกล่าวแนะนำตัวและอวยพรแก่นักเรียนทุกคน และตัวแทนนักเรียนต่างชาติจากญี่ปุ่น สวีเดน สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์ กล่าวแนะนำตัว บรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างอบอุ่น นักเรียนไทยและนักเรียนต่างชาติ รวมถึงคณาจารย์ ต่างพูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

จุดเด่นของงานที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากนักเรียนต่างชาติ คือการนำเสนอโครงการทัศนศึกษาสำหรับนักเรียนต่างชาติ ไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยว 3 แห่ง ได้แก่ การปลูกป่าชายเลน จังหวัดสุมทรสงคราม ตลาดน้ำดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี และสถานที่สำคัญทางศาสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้นักเรียนต่างชาติรู้จักและคุ้นเคยกับประวัติศาสตร์ไทย วัฒนธรรมไทย และวิถีชีวิตแบบไทย เพื่อสร้างเสริมความเข้าใจและสัมพันธ์อันดีในหมู่นักเรียนต่างชาติ และสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งในหมู่นักเรียน BALAC

จากนั้น นักเรียนและคณาจารย์ร่วมรับประทานอาหารบุฟเฟต์ที่จัดเตรียมโดย Sasa International House ประกอบด้วยอาหารไทย ขนมไทย และผลไม้ไทย สรุปในภาพรวม การจัดงานต้อนรับนักเรียนต่างชาติครั้งนี้ประสบผลสำเร็จอย่างมาก ในการเปิดโอกาสให้นักเรียนต่างชาติได้ทำความรู้จักกัน และรู้จักบัดดี้ที่เป็นนักเรียนไทยในหลักสูตรด้วย

ผู้เข้าร่วมสัมมนายังได้ร่วมกันหารือเกี่ยวกับโครงการแลกเปลี่ยนนิสิต และความร่วมมือทางด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศทางการเรียนการสอนที่เป็นนานาชาติมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนายังร่วมกันหารือเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่ประสบในปีการศึกษาที่ผ่านมา เช่น ปัญหาการทุจริตของนิสิต ปัญหาการเข้าชั้นเรียน ปัญหาเรื่องหนังสือและวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอน ปัญหาเรื่องเครื่องแบบของนิสิต ปัญหาเรื่องเกณฑ์การให้คะแนน และปัญหาการเทียบโอนหน่วยกิต เป็นต้น โดยหลักสูตรได้จัดทำรายงานและข้อสรุปที่ได้จากการสัมมนาเพื่อแจกให้กับอาจารย์ผู้สอนไว้เป็นแนวทางในการดำเนินการเรียนการสอนต่อไป


งานสัมมนาคณาจารย์ผู้สอนประจำปี 2558

เมื่อวันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม 2558 หลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรม (หลักสูตรนานาชาติ) ได้จัดงานสัมมนาคณาจารย์ผู้สอนประจำปี 2558 ณ โรงแรม Courtyard by Marriott ตั้งแต่เวลา 10.30-16.00 น. มีประธานหลักสูตรสาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรม รองศาสตราจารย์สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ เป็นประธานในการสัมมนา โดยมีคณาจารย์ประจำหลักสูตรและผู้แทนจากภาควิชาต่างๆ ได้แก่ ภาควิชาภาษาไทย ภาควิชาภาษาอังกฤษ ภาควิชาปรัชญา ภาควิชาศิลปการละคร ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ ภาควิชาภูมิศาสตร์ ภาควิชาภาษาตะวันออก ภาควิชาภาษาตะวันตก รวมทั้งผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ และเจ้าหน้าที่ประจำหลักสูตรเข้าร่วมในการสัมมนาครั้งนี้ด้วย รวมทั้งหมด 30 คน

การสัมมนาเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงระบบ CUCAS ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีการพัฒนาปรับปรุงการเรียนการสอน และวิธีการกระตุ้นให้นิสิตทำการประเมินการสอนเพื่อพัฒนาปรับปรุงการเรียนการสอนแต่ละวิชาต่อไป

ผู้เข้าร่วมสัมมนายังได้ร่วมกันหารือเกี่ยวกับโครงการแลกเปลี่ยนนิสิต และความร่วมมือทางด้านวิชาการกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดบรรยากาศทางการเรียนการสอนที่เป็นนานาชาติมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนายังร่วมกันหารือเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่ประสบในปีการศึกษาที่ผ่านมา เช่น ปัญหาการทุจริตของนิสิต ปัญหาการเข้าชั้นเรียน ปัญหาเรื่องหนังสือและวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอน ปัญหาเรื่องเครื่องแบบของนิสิต ปัญหาเรื่องเกณฑ์การให้คะแนน และปัญหาการเทียบโอนหน่วยกิต เป็นต้น โดยหลักสูตรได้จัดทำรายงานและข้อสรุปที่ได้จากการสัมมนาเพื่อแจกให้กับอาจารย์ผู้สอนไว้เป็นแนวทางในการดำเนินการเรียนการสอนต่อไป


ข่าวจาก BALAC

เมื่อวันที่ 16 กรกฏาคม 2558 ระหว่างเวลา 10.00-12.00 น. ณ ห้อง 708 อาคารบรมราชกุมารี คณาจารย์จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร จำนวน 12 คน นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริพร ปัญญาเมธีกุล ประธานหลักสูตรนานาชาติ English for Careers และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา จำนวน 10 คน ได้มาเยี่ยมหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรม (หลักสูตรนานาชาติ BALAC) เพื่อขอคำแนะนำและขอคำปรึกษาในการสร้างหลักสูตรนานาชาติ การบริหารหลักสูตร ปัญหาต่างๆ ที่พบ และแนวทางในการแก้ไขปัญหา

รองศาสตราจารย์สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ ประธานหลักสูตร BALAC ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เดือนเต็ม กฤษดาธานนท์ รองประธานหลักสูตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิลลา วิลัยทอง กรรมการบริหารหลักสูตร และอาจารย์ ดร.อัษฎายุทธ ชูศรี อาจารย์ในหลักสูตร ได้ร่วมกันให้การต้อนรับ ร่วมประชุม ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาในการสร้างและการบริหารหลักสูตร และตอบข้อซักถามเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่พบและแนวทางการแก้ไขปัญหา

อนึ่ง คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒฯ เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติ ระดับบัณฑิตศึกษา English for Careers เป็นปีแรกในปีการศึกษา 2558 โดยแบ่งเป็น 3 สาขา คือ English for Mass Media, English for Hospitality and Management และ English for Business


งานปฐมนิเทศนิสิตใหม่และพบผู้ปกครอง

หลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรม (หลักสูตรนานาชาติ) หรือ BALAC ย่างเข้าปีที่ 8 ในปีนี้ หลักสูตรสามารถรับนิสิตใหม่เข้าศึกษาด้วยระบบรับตรง จำนวน 99 คน และระบบ International Admission อีก 2 คน และในปีนี้ หลักสูตรมีบัณฑิตจบการศึกษาเป็นรุ่นที่สี่ ซึ่งเข้าศึกษาในปีการศึกษา 2554 จำนวน 75 คน บัณฑิตได้รับเกียรตินิยมอันดับ 1 จำนวน 7 คน และได้รับเกียรตินิยมอันดับ 2 จำนวน 26 คน

หลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรม (หลักสูตรนานาชาติ) จัดงานปฐม นิเทศนิสิตใหม่พร้อมกับงานพบผู้ปกครอง ประจำปีการศึกษา 2558 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 เวลา 9.00-16.00 น. ณ ห้อง 301-302 อาคารมหาจักรีสิรินธร เพื่อให้ผู้ปกครองและนิสิตใหม่ได้พบปะผู้บริหารและคณาจารย์ในหลักสูตร ตลอดจนรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนการสอนและวิธีปฏิบัติตนของนิสิต งานนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ปกครองและนิสิตใหม่ที่เข้าร่วมงาน ประมาณ 180 คน

งานเริ่มด้วยการให้โอวาทแก่นิสิตใหม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และมอบวุฒิบัตรแก่บัณฑิตผู้ได้รับเกียรตินิยมอันดับ 1 จำนวน 7 คน ได้แก่ นายจักรภัทร คูหาเปรมกิจ เกียรตินิยมอันดับ 1 และเหรียญทอง นายชาญวิทย์ เอี่ยมอุดม นายธนรัช ไชยชมภู นายปรเมศวร์ ตั้งสถาพร นางสาววทันยา สมพงษ์ นางสาวสิตตา ชยานุภัทร์กุล และนายวิศรุต หอมหวน

นอกจากนี้ คณบดีได้มอบวุฒิบัตรแก่นิสิตผู้ทำคุณประโยชน์แก่สังคม จำนวน 10 คน ได้แก่ นายภาสวิชญ์ บุญคงชื่น นางสาวอารดา อารยวุฒิ นายรณกร โรจน์รัตนดารงค์ นายวิศรุต หอมหวน นางสาวธันยพร รุ่งเรืองธัญญา นายชาญวิทย์ เอี่ยมอุดม นางสาวณิชมน ศรีชัยยงพานิช นางสาวณิชชดา เธียรเชาวน์ นางสาวพริมา จันทรกระวี และนางสาวจินดารัตน์ โสภาศรีพันธ์

หลังจากพิธีมอบวุฒิบัตร ประธานหลักสูตร รองศาสตราจารย์สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ กล่าวแนะนำคณะอักษรศาสตร์และให้รายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาหลักสูตรให้มีความสมบูรณ์และความเป็นนานาชาติมากขึ้น กิจกรรมส่งเสริมการเรียนการสอน การเพิ่มจำนวนนิสิตแลกเปลี่ยน และการส่งเสริมให้นิสิตไปแลกเปลี่ยน ณ มหาวิทยาลัยต่างๆ ในต่างประเทศ จากนั้น รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต ผู้ช่วยศาสตราจารย์สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์ กล่าวถึงกิจกรรมและการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ในลำดับต่อไป เป็นการเสวนาเรื่องการเรียนและโอกาสในการทำงาน โดยศิษย์เก่าอักษรศาสตร์ผู้ประสบความสำเร็จในสายงานต่างๆ จำนวน 3 ท่าน คือ คุณธงชัย ชาสวัสดิ์ อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ คุณเชิญจุติ เต็มพิทักษ์ เจ้าหน้าที่พิจารณาสถานะผู้ลี้ภัย สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัย สหประชาชาติ และคุณอลิส ทอย นักแสดง พิธีกรสังกัด GMM ทีวี และเจ้าของร้าน Mr.Bean Coffee Shop วิทยากรได้เล่าถึงประสบการณ์การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยและ ความสำเร็จในสายอาชีพ และความสำเร็จที่มีรากฐานมาจากการเรียนและประสบการณ์ที่ได้รับจากคณะอักษรศาสตร์ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เดือนเต็ม กฤษดาธานนท์ เป็นพิธีกรดำเนินรายการ

กิจกรรมช่วงบ่าย รองประธานหลักสูตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เดือนเต็ม กฤษดาธานนท์ อธิบายแผนการเรียนและรายวิชาต่างๆ ในหลักสูตร อาจารย์ ดร.Lowell Skar และอาจารย์ ดร. Jaime Moreno Tejada แนะนำและให้รายละเอียดเกี่ยวกับรายวิชาวัฒนธรรมศึกษา หลังจากสิ้นสุดการอภิปรายในห้องประชุม เป็นช่วงเวลาที่นิสิตใหม่ได้พบและทำความรู้จักกับอาจารย์ที่ปรึกษา ในปีการศึกษานี้ มีอาจารย์ที่ปรึกษาดูแลนิสิตใหม่จำนวน 4 ท่าน คือ อาจารย์ ดร.เจมี โมรีโน ทีจาดา อาจารย์ ดร.ไซมอน เทอร์เนอร์ อาจารย์ ดร.วิโรจน์ โกศลฤทธิชัย และอาจารย์เนณุภา สุภเวชย์ อาจารย์ที่ปรึกษาได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเรียนการสอน การลงทะเบียน และการใช้ชีวิตในคณะอักษรศาสตร์ แม้ในช่วงนี้เป็นช่วงที่จัดให้กับนิสิตโดยเฉพาะ แต่ก็ยังมีผู้ปกครองมากมายหลายท่านอยู่ต่อและเข้าร่วมฟังด้วย งานปฐมนิเทศนิสิตใหม่และงานพบผู้ปกครองประสบความสำเร็จ ทั้งนิสิตใหม่และผู้ปกครองให้ความสนใจเป็นอย่างมาก นิสิตและผู้ปกครองได้แสดงความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์และสอบถามข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติม งานสิ้นสุดเวลาประมาณ 16.00 น.


งาน Hispanic Week

สาขาวิชาภาษาสเปนและศูนย์ลาตินอเมริกาศึกษา ภาควิชาภาษาตะวันตก และฝ่ายวิรัชกิจ คณะอักษรศาสตร์ ร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาสเปน 7 สถานทูต ได้แก่ สถานทูตอาร์เจนตินา สถานทูตชิลี สถานทูตโคลอมเบีย สถานทูตเม็กซิโก สถานทูตเปรู สถานทูตคิวบา และสถานทูตสเปน จัดงาน Hispanic Week สำหรับนิสิตที่เรียนวัฒนธรรมสเปนและวัฒนธรรมลาตินอเมริกา ทั้งหลักสูตรไทยและหลักสูตรนานาชาติ และผู้สนใจทั่วไป ระหว่างวันที่16-19 มีนาคม 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์และเพิ่มพูนความรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศผู้ใช้ภาษาสเปนให้แก่นิสิต

พิธีเปิดงานมีเอกอัครราชทูตจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมเป็นเกียรติ 6 ท่าน คือ ฯพณฯ อานา มาเรีย รามิเรซ เอกอัครราชทูตอาร์เจนตินา ฯพณฯ ฆาเบียร์ เบกเกร์ เอกอัครราชทูตชิลี ฯพณฯ อันเดลโฟ การ์เซีย เอกอัครราชทูตโคลอมเบีย ฯพณฯ ฆอร์เฆ เชน เอกอัครราชทูตเม็กซิโก ฯพณฯ เฟลิกซ์ เดเนกรี เอกอัครราชทูตเปรู และฯพณฯ บิกตอร์ รามิเรซ เปนญา เอกอัครราชทูตคิวบา

รองศาสตราจารย์สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ รองคณบดีฝ่ายวิรัชกิจ ได้กล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตและผู้เข้าร่วมงาน เอกอัครราชทูตอาร์เจนตินาได้กล่าวเปิดงาน ต่อจากนั้น เป็นการแสดงระบำสเปนและลาตินอเมริกัน จัดโดยสถานทูต และการมอบรางวัลแก่นิสิตที่ชนะการประกวดโครงการ โดยเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ หลังจากนั้น รองศาสตาจารย์สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ ได้มอบช่อดอกไม้แสดงความขอบคุณแด่เอกอัครราชทูตทุกท่าน ที่ได้ให้ความร่วมมือในการจัดงาน Hispanic Week พิธีเปิดจบลงด้วยนิทรรศการอาหารสเปนและลาตินอเมริกัน และการสนทนาตามอัธยาศัยในงานเลี้ยงรับรอง

กิจกรรม Hispanic Week ตลอดสัปดาห์ ประกอบด้วย การประกวดคลิปหัวข้อด้านวัฒนธรรมสเปนและลาตินอเมริกัน การฝึกเต้นซัลซ่า การฝึกเต้นระบำฟลาเมงโก และการฝึกทำอาหาร ปาเอยาจากสเปน ตาโก้จากเม็กซิโก และเซบิเชจากเปรู และการเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ จากภายนอก มาให้ความรู้ในด้านต่างๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมลาตินอเมริกา

งาน Hispanic Week สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2558 งานได้รับความสนใจเป็นอย่างดี จากนิสิต คณาจารย์ และบุคคลภายนอก



งานบรรยายทุนก.พ. ทุนฟุลไบรท์ และทุนรัฐบาลออสเตรเลีย

ฝ่ายวิรัชกิจ คณะอักษรศาสตร์ จัดการบรรยายพิเศษ เรื่อง “ทุนก.พ. ทุนฟุลไบรท์ และทุนรัฐบาลออสเตรเลีย” เมื่อวันพุธที่ 18 มีนาคม 2558 เวลา 13.30-15.30 น. ณ ห้อง 304 อาคารมหาจักรีสิรินธร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ กล่าวเปิดงาน รองศาสตราจารย์สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ รองคณบดีฝ่ายวิรัชกิจ เป็นผู้ดำเนินรายการ วิทยากร ได้แก่ คุณจิราพร วิโรจน์ชีวัน นักทรัพยากรชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์เบญจวรรณ อุบลศรี ผู้อำนวยการมูลนิธิการศึกษาไทย-อเมริกัน (Fulbright) และคุณศุภวารี ภัทราวณิชย์ Junior Program Officer ของ Fulbright คุณภาสินี รัตนบุรี เจ้าหน้าที่ฝ่ายโครงการทุนการศึกษา สำนักงานการศึกษาออสเตรเลียแห่งนานาชาติ สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย และคุณพรทิพย์ กาญจนนิยต อดีตผู้อำนวยการมูลนิธิการศึกษาไทย-อเมริกัน

วิทยากรจากหน่วยงานดังกล่าว ได้ให้ข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับทุน การสมัครรับทุน วิธีการเตรียมตัวแข่งขัน และข้อมูลต่างๆ ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ. ให้ทุนทั้งนิสิตที่จบการศึกษาแล้วไปเรียนต่อต่างประเทศ และให้ทุนนิสิตเรียนปี 4 ที่จุฬาฯ และไปเรียนต่อต่างประเทศหลังสำเร็จการศึกษา ส่วนมูลนิธิการศึกษาไทย-อเมริกัน และรัฐบาลออสเตรเลียมีทุนหลากหลายประเภทให้นิสิตเลือกตามความสนใจและความสามารถ ในช่วงท้าย คุณพรทิพย์ กาญจนนิยต ได้ให้แนวคิดและกลวิธีเรื่อง “กลยุทธ์พิชิตทุนการศึกษาต่างประเทศ”

การบรรยายได้รับความสนใจจากนิสิตเป็นอย่างมาก นิสิตและผู้เข้าร่วมฟังได้ซักถามข้อสงสัยและรายละเอียดเพิ่มเติมเป็นเวลานาน จนต้องขอให้ผู้ฟังซักถามวิทยากรหลังจบรายการ งานจบลงด้วยการมอบของที่ระลึก โดยรองคณบดีฝ่ายวิรัชกิจการมอบของที่ระลึกให้แก่วิทยากรทุกท่าน งานนี้มีนิสิตคณะอักษรฯ ศิษย์เก่า และนิสิตคณะอื่นๆ เข้าร่วมฟังประมาณ 120 คน


งานปฐมนิเทศและงานสังสรรค์ระหว่างนักศึกษาแลกเปลี่ยนและนิสิต BALAC

เมื่อเดือนกันยายน 2557 หลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรม (หลักสูตรนานาชาติ) หรือ BALAC จัดงานปฐมนิเทศและงานสังสรรค์ระหว่างนักศึกษาแลกเปลี่ยนและนิสิต BALAC ณ Sasa International House โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้อนรับนักศึกษาต่างชาติ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับคณะอักษรศาสตร์และหลักสูตร BALAC จัด buddy ให้กับนักศึกษาต่างชาติ เพื่อให้ buddy ได้ให้คำแนะนำและเป็นเพื่อนช่วยเหลือดูแลในเรื่องต่างๆ ในงานปฐมนิเทศ มีนักศึกษาต่างชาติเข้าร่วม 29 คน นิสิต BALAC กว่า 70 คน และคณาจารย์ 8 คน

รองศาสตราจารย์สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร BALAC กล่าวต้อนรับนักศึกษาต่างชาติและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนและการใช้ชีวิตในคณะอักษรศาสตร์ หลักสูตร BALAC และจุฬาฯ จากนั้น คณาจารย์ทุกคน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของหลักสูตร กล่าวแนะนำตนเอง นักศึกษาต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น เยอรมัน สวีเดน อินโดนีเซีย บรูไน อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา กล่าวแนะนำตนเองและกล่าวขอบคุณในไมตรีจิตที่จัดงานต้อนรับ

จุดเด่นของงานที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากนักศึกษาต่างชาติ คือการนำเสนอโครงการทัศนศึกษาด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม สำหรับนักศึกษาต่างชาติ ไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยว 3 แห่ง ได้แก่ ตลาดน้ำดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี และลานแสดงช้าง จังหวัดนครปฐม อุทยานประวัติศาสตร์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และการปลูกป่าคลองโคน ณ ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลน จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ไทย วัฒนธรรมไทย วิถีชีวิตแบบไทย และสภาพแวดล้อมของไทย เพื่อสร้างเสริมความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดีระหว่างนิสิต BALAC และนักศึกษาต่างชาติ และสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งในหมู่นิสิต BALAC ด้วยกัน ในการไปทัศนศึกษา จะมีอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิต BALAC ร่วมเดินทางไปด้วย เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีที่ดีและช่วยดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย

จากนั้น นิสิตและคณาจารย์รับประทานอาหารร่วมกันด้วยบรรยากาศที่สนุกสนานและเป็นกันเอง การจัดงานปฐมนิเทศและงานต้อนรับนักศึกษาต่างชาติครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก ในการเปิดโอกาสให้นักศึกษาต่างชาติได้ทำความรู้จักกัน และรู้จักบัดดี้ที่เป็นนิสิตไทยในหลักสูตร อีกทั้งได้รับแนวทางอันเป็นประโยชน์ในการเรียนและการใช้ชีวิตในจุฬาฯ


งานสัมมนา BALAC ประจำปี 2557

ในยุคสมัยปัจจุบันที่ทุกคนต่างมุ่งหวังจะก้าวสู่ความเป็นนานาชาติ คณะอักษรศาสตร์ให้ความสนใจที่จะเปิดประตูสู่ความเป็นนานาชาติ โดยเป้าหมายหนึ่งที่จะทำให้สำเร็จในอนาคตคือการเปิดรับนักเรียนต่างชาติเต็มเวลา เข้ามาเป็นสัดส่วนอย่างน้อยร้อยละสิบของนักเรียนทั้งหมด และเพิ่มจำนวนนักศึกษาแลกเปลี่ยน มีจำนวนปีละไม่ต่ำกว่า 40 คน งานสัมมนาประจำปีครั้งล่าสุดที่จัดเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2557 ณ โรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์ จึงมุ่งหาแนวทางและกลยุทธ์ในการพัฒนาก้าวสู่ความเป็นนานาชาติของคณะอย่างเต็มที่

ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ ประธานหลักสูตร BALAC ได้เรียนเชิญผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกรียงไกร บุญเลิศอุทัย ผู้ช่วยอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ Glen Chatelier ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มาเล่าประสบการณ์และอภิปรายแนวทางการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์สุรภีพรรณสรุปการดำเนินงานและกิจกรรมด้านการต่างประเทศของหลักสูตร BALAC และกล่าวถึงความมุ่งมั่นของหลักสูตร BALAC ที่จะรับนักเรียนต่างชาติเข้าศึกษาและเตรียมความพร้อมให้นักเรียนไทยในการไปแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ จากนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกรียงไกร บุญเลิศอุทัย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรนานาชาติของจุฬาฯ และเป็นอดีตประธานหลักสูตร BBA ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี กล่าวถึงกรอบการดำเนินงานและแนวทางของจุฬาฯ ว่า เป้าหมายระยะยาวที่จะรับนักเรียนต่างชาติเข้ามาเป็นสัดส่วนร้อยละสิบของนักเรียนทั้งหมดนั้นจะต้องไม่เป็นการลดระดับมาตรฐานการศึกษาของมหาวิทยาลัยที่สูงอยู่แล้ว และจะมุ่งดึงนักเรียนจากประเทศในเอเชียเป็นหลัก นอกจากนี้ แนวทางการรับนักเรียนต่างชาติเข้ามาศึกษานั้นสามารถทำได้โดยผ่านเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยที่มีอยู่แล้ว โครงการแลกเปลี่ยนและฝึกงาน การวางแผนการศึกษา และการโอนถ่ายหน่วยกิต

อาจารย์ Glen Chatelier ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีจำนวนนักศึกษาชาวต่างชาติมากที่สุดมหาวิทยาลัยหนึ่ง เล่าประสบการณ์การก้าวสู่ความเป็นนานาชาติของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญที่ได้กระทำมาตั้งแต่เริ่มต้น และการขยายงานด้านต่างประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อหลักสูตร BALAC ว่าสิ่งสำคัญที่ต้องให้ความสนใจ คือ สื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ การเข้าร่วมนิทรรศการการศึกษาที่หน่วยงานต่างๆ จัดขึ้น โดยเฉพาะในต่างประเทศ การจัดงานวิชาการต่างๆ เช่นงานสัมมนา การสร้างเครือข่ายศิษย์เก่าต่างชาติ การสร้างเว็บไซต์ที่ดึงดูดความสนใจ และการจัดทัศนศึกษาในไทยให้แก่ผู้ที่สนใจมาสัมผัสและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระยะสั้น

อาจารย์ Glen Chatelier ได้กล่าวต่อไปว่า แม้จุฬาฯ จะเปิดประตูสู่ความเป็นนานาชาติค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ แต่ด้วยความเป็น “มหาวิทยาลัยชั้นนำ” ของประเทศ จุฬาฯ มีโอกาสสูงที่จะประสบความสำเร็จด้านนี้อย่างมาก

ในช่วงบ่าย เป็นการอภิปรายและระดมสมองของคณาจารย์ประจำหลักสูตร กรรมการบริหารหลักสูตร และคณาจารย์ผู้สอน ในหัวข้อต่างๆ ได้แก่ กลยุทธ์ในการดึงดูดนักศึกษาต่างชาติ การจัดทำเนื้อหาวิชาที่แสดงถึงความเป็นไทย การจัดโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและฝึกงาน การเข้าร่วมโครงการวิชาการนานาชาติเช่นงานสัมมนา และการจัดทำเว็บไซต์รูปแบบใหม่ ฯลฯ ในการสัมมนา มีอาจารย์ประจำหลักสูตรและคณาจารย์เข้าร่วม ประมาณ 30 คน


มูลนิธิ Khyentse มอบรางวัลทุนการศึกษาแก่นิสิตคณะอักษรศาสตร์

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 เวลา 11.30 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ เป็นประธานในพิธีมอบทุนการศึกษามูลนิธิ Khyentse ณ ห้องสมุดคณะอักษรศาสตร์ อาคารมหาวชิราวุธ Dr. Peter Skilling ผู้ได้รับมอบหมายเป็นตัวแทนมูลนิธิ Khyentse ประเทศไทย เป็นผู้มอบรางวัลทุนการศึกษา จำนวน 1,000 เหรียญสหรัฐฯ ให้แก่นางสาวจตุพร เพชรบูรณ์ นิสิตระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาคติชนวิทยา ภาควิชาภาษาไทย ผู้ผ่านการคัดเลือก คณะกรรมการคัดเลือก ได้แก่ รองศาสตราจารย์สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ รองคณบดีฝ่ายวิรัชกิจ อาจารย์ ดร.สิริวรรณ จุฬากรณ์ และอาจารย์ ดร.ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว

มูลนิธิ Khyentse ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.2001 โดยท่าน Dzongsar Khyentse Rinpoche เพื่อส่งเสริมการเผยแพร่พุทธศาสนาและการเรียนพุทธศาสนศึกษา โดยมีกิจกรรม อาทิ สนับสนุนการจัดการข้อมูลพระไตรปิฎกภาษาทิเบตในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ สนับสนุนการศึกษาพุทธศาสนศึกษาในระดับอุดมศึกษาระดับนานาชาติ มูลนิธิได้มอบเงินทุนสนับสนุนให้แก่คณะอักษรศาสตร์เป็นเงิน 3,000 เหรียญสหรัฐฯ โดยให้คณะอักษรศาสตร์ตั้งหลักเกณฑ์ ดำเนินการคัดเลือกและจัดพิธีมอบทุนการศึกษาแก่นิสิตผู้ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการ มูลนิธิ Khyentse จะให้ทุนนี้แก่นิสิตคณะอักษรศาสตร์ เป็นระยะเวลา 3 ปี ปีละ 1 ทุน ทุนละ 1,000 เหรียญสหรัฐฯ


งานเกษียณอายุราชการประจำปี 2557 “พี่อำลา น้องอาลัย ร้อยใจผูกพัน”

คณบดีคณะอักษรศาสตร์ได้มอบหมายให้ ฝ่ายวิรัชกิจ จัดงานเกษียณอายุราชการ ประจำปี 2557 “พี่อำลา น้องอาลัย ร้อยใจผูกพัน” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน 2557 ณ ห้อง 111 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ ในปีนี้มีผู้เกษียณอายุราชการจำนวน 9 ท่าน ได้แก่ ศ.ดร.ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ ศ.ดร.ศิราพร ณ ถลาง รศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ รศ.ดร.วรรณา แสงอร่ามเรือง รศ.สุกัญญา สุจฉายา ผศ.กฤษรา วริศราภูริชา นางพัชรี ฉิมถาวร นายประพันธ์ คำอ่อน และนายประสพ สว่างดี

งานเริ่มขึ้นด้วยการขับร้องประสานเสียง 2 เพลงคือ เพลงหนึ่งในร้อย และเพลงชื่นชีวิต โดยคณาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จากภาควิชาต่างๆ ได้แก่ รศ.สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ ผศ.สุนิจ สุตัณฑวิบูลย์ ผศ.สรรควัฒน์ ประดิษฐพงศ์ อ.ดร.สิริวรรณ จุฬากรณ์ อ.ดร.ภาสุรี ลือสกุล อ.ดร.อารตี แก้วสัมฤทธิ์ อ.ดร. วรรณชัย คำภีระ ผศ.ดร.ปรมินท์ จารุวร อ.ดร.อาทิตย์ ชีรวณิชย์กุล อาจารย์ อ.ดร.อัษฎายุทธ ชูศรี นักดนตรี ได้แก่ ผศ.ดร.เดือนเต็ม กฤษดาธานนท์ เป็นผู้เล่นเปียโน และอ. Scott Oltmann เป็นผู้เล่นกีตาร์ประกอบเพลงประสานเสียง หลังจบเพลง คณบดีมอบช่อดอกไม้ให้รศ.จารุณี หงส์จารุ ผู้อำนวยเพลงประสานเสียง คณบดีกล่าวเปิดงาน “พี่อำลา น้องอาลัย ร้อยใจผูกพัน” และกล่าวแสดงมุทิตาจิตแด่ผู้เกษียณอายุราชการ จากนั้น ผู้เกษียณอายุราชการทุกท่าน กล่าวความในใจและความผูกพันที่มีต่อคณะอักษรศาสตร์ รวมทั้งบรรยายภาพความประทับใจของตนที่นำเสนอใน PowerPoint

คณบดีมอบของพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แด่ผู้เกษียณอายุราชการ และมอบของที่ระลึกจากคณะอักษรศาสตร์ ซึ่งจารึกชื่อผู้เกษียณอายุราชการแต่ละท่าน รวมทั้งมอบของที่ระลึกซึ่งคณบดีจัดเตรียมมาเอง แด่ผู้เกษียณอายุราชการด้วย

คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ ได้ร่วมแสดงมุทิตาจิตแด่ผู้เกษียณอายุราชการ และรับประทานอาหารว่างร่วมกัน บรรยากาศของงานอบอวลไปด้วยความรัก ความอบอุ่น และความประทับใจของรุ่นพี่และรุ่นน้อง ท่ามกลางความงดงามของมวลไม้ดอกที่ถูกประดับตกแต่งภายในงานอย่างวิจิตรบรรจง พิธีกรในงาน ได้แก่ ผศ.ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ อ.ดร.ภาสุรี ลือสกุล และอ.ดร.สืบพงศ์ ช้างบุญชู มีคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ร่วมงานกว่า 100 คน


งานปฐมนิเทศนิสิตใหม่และงานพบผู้ปกครอง BALAC

หลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรม (หลักสูตรนานาชาติ) หรือ BALAC ย่างเข้าปีที่ 7 ในปีนี้หลักสูตรสามารถรับนิสิตใหม่เข้าศึกษา 96 คน และในปีนี้ หลักสูตรมีบัณฑิตจบการศึกษาเป็นรุ่นที่สาม ซึ่งเข้าศึกษาในปีการศึกษา 2553 จำนวน 57 คน บัณฑิตได้รับเกียรตินิยมอันดับ 1 จำนวน 10 คน และได้รับเกียรตินิยมอันดับ 2 จำนวน 18 คน

หลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรม (หลักสูตรนานาชาติ) จัดงานปฐม นิเทศนิสิตใหม่พร้อมกับงานพบผู้ปกครอง ประจำปีการศึกษา 2557 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2557 เวลา 09.00-16.00 น. ณ ห้อง 301-302 อาคารมหาจักรีสิรินธร เพื่อให้ผู้ปกครองและนิสิตใหม่ได้พบปะผู้บริหารและคณาจารย์ในหลักสูตร ตลอดจนรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนการสอนและวิธีปฏิบัติตนของนิสิต งานนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ปกครองและนิสิตใหม่เข้าร่วมงานประมาณ 160 คน

งานเริ่มด้วยการให้โอวาทแก่นิสิตใหม่ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และมอบวุฒิบัตรแก่บัณฑิตผู้ได้รับเกียรตินิยมอันดับ 1 จำนวน 10 คน ได้แก่ นายศุภกร ยืนยงวรรณโชติ เกียรตินิยมอันดับ 1 และเหรียญทอง นางสาวนราวัลลภ์ บุญญา ภิสมภาร นางสาวกนกวรรณ พรงาม นางสาวเฉียง หลี่ นางสาวชนานารถ เฟื่องฟูสกุล นางสาวณิศรา สิทธาธิการเดชช์ นายพีรพัฒน์ อ่วยสุข นางสาวศวิตา เมธิรานันท์ นางสาวศิริประภา สภารัตน์ และนางสาวอาทิตยา บุญทอง

นอกจากนี้ คณบดีได้มอบวุฒิบัตรแก่นิสิตผู้ทำคุณประโยชน์แก่สังคม จำนวน 16 คน ได้แก่ นางสาวนราวัลลภ์ บุญญาภิสมภาร นางสาวกนกวรรณ พรงาม นางสาวเฉียง หลี่ นางสาวชนานารถ เฟื่องฟูสกุล นางสาวณิศรา สิทธาธิการเดชช์ นายพีรพัฒน์ อ่วยสุข นางสาวศิริประภา สภารัตน์ นายศุภกร ยืนยง วรรณโชติ นางสาวชัดชนิด เสตะรุจิ นางสาวฐนิตา เขตกิตติคุณ นายธนกร วิเศษจัง นางสาวสุทธิธาร เชาว์ตระกูลกิจ นางสาวอิศรา ราชตราชู นางสาวศศิโสฬส อังศุธรเศรษฐ์ นางสาวณัฏฐิ์มาฎา ชุณหะวัณ และนางสาววรินธร เลิศนิมิตพันธ์

หลังจากพิธีมอบวุฒิบัตร ประธานหลักสูตร รองศาสตราจารย์สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ กล่าวแนะนำคณะอักษรศาสตร์และให้รายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมส่งเสริมการเรียนการสอนและความเป็นนานาชาติ จากนั้น รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต ผู้ช่วยศาสตราจารย์สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์ กล่าวถึงกิจกรรมและการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ในลำดับต่อไป เป็นการเสวนาเรื่องการเรียนและโอกาสในการทำงานโดยศิษย์เก่าอักษรศาสตร์ ผู้ประสบความสำเร็จในสายงานต่างๆ 3 ท่าน คือ คุณนันทิยา สว่างวุฒิธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการ ระดับ 10 กระทรวงวัฒนธรรม คุณมนฤดี เกตุพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักกิจการต่างประเทศ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และดร.ทินสิริ ศิริโพธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและการสื่อสารสำนักงานเลขาธิการองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) วิทยากรได้เล่าถึงประสบการณ์การใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย และความสำเร็จในสายอาชีพและความสำเร็จที่มีรากฐานมาจากการเรียนและประสบการณ์ที่ได้รับจากคณะอักษรศาสตร์ โดยมีอาจารย์ภณิตา ศิลปวิทยาดิลก เป็นพิธีกรดำเนินรายการ

กิจกรรมช่วงบ่าย รองประธานหลักสูตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เดือนเต็ม กฤษดาธานนท์ อธิบายแผนการเรียนและรายวิชาต่างๆ ในหลักสูตร และอาจารย์ ดร. Lowell Skar และอาจารย์ ดร. Jaime Moreno Tejada แนะนำและให้รายละเอียดเกี่ยวกับรายวิชาวัฒนธรรมศึกษา อาจารย์พราว เศรษฐบุตร เป็นพิธีกรดำเนินรายการตลอดทั้งวัน หลังจากสิ้นสุดการอภิปรายในห้องประชุม เป็นช่วงเวลาที่นิสิตใหม่ได้พบและทำความรู้จักกับอาจารย์ที่ปรึกษา ในปีการศึกษานี้ มีอาจารย์ที่ปรึกษาดูแลนิสิตใหม่จำนวน 4 ท่าน อาจารย์ที่ปรึกษาได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเรียนการสอน การลงทะเบียน และการใช้ชีวิตในคณะอักษรศาสตร์ แม้ในช่วงนี้เป็นช่วงที่จัดให้กับนิสิตโดยเฉพาะ แต่ก็ยังมีผู้ปกครองมากมายหลายท่านอยู่ต่อ และเข้าร่วมฟังด้วย งานปฐมนิเทศนิสิตใหม่และงานพบผู้ปกครองประสบความสำเร็จ ทั้งนิสิตใหม่และผู้ปกครองให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ได้แสดงความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์และสอบถามข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติม งานสิ้นสุดเวลาประมาณ 16.00 น.


การแลกเปลี่ยนนักศึกษาในโครงการ AIMS ระหว่างนิสิตคณะอักษรศาสตร์กับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคอาเซียน

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2557 เวลา 12.00-13.00 น. รองศาสตราจารย์สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ รองคณบดีฝ่ายวิรัชกิจ ได้จัดงานบรรยายในหัวข้อ “ทุนแลกเปลี่ยนนิสิตนักศึกษาในโครงการ ASEAN International Mobility for Student (AIMS)” ให้แก่นิสิตในหลักสูตร BALAC ซึ่งได้ร่วมเข้าฟังการบรรยาย ประมาณ 90 คน ณ ห้อง 304 อาคารมหาจักรีสิรินธร

โครงการ ASEAN International Mobility for Student (AIMS) เป็นโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศไทย กับประเทศในภูมิภาคอาเซียน การบรรยายครั้งนี้เน้นประเทศมาเลเซียและประเทศอินโดนีเซีย

Dr. Hamam Supriyadi อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย Gadjah Mada University ประเทศอินโดนีเซีย และอาจารย์พิเศษสอนภาษาอินโดนีเซีย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ดร.นูรีดา หะยียะโกะ หัวหน้าสาขาวิชาภาษามาเลย์ เป็นวิทยากรบรรยายแนะนำคณะและมหาวิทยาลัยในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียที่ร่วมในโครงการดังกล่าว โดยให้รายละเอียดและข้อมูลต่างๆ พร้อมฉายภาพประกอบการบรรยาย ปิดท้ายด้วยการเล่าประสบการณ์การได้รับทุนเป็นนิสิตแลกเปลี่ยนที่ University of Malaya ประเทศมาเลเซีย ของนางสาวนารีมา แสงวิมาน นิสิตระดับปริญญาเอก สาขาวรรณคดีและวรรณคดีเปรียบเทียบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การบรรยายครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้นิสิตไปเรียนในโครงการแลกเปลี่ยนนิสิตเพื่อเพิ่มความรู้และประสบการณ์ในต่างประเทศ


Vietnamese - Thai Friendship for ASEAN

ฝ่ายวิรัชกิจ คณะอักษรศาสตร์ ร่วมกับคณาจารย์และคณะนักศึกษาจาก Faculty of International Relations, College of Social Science and Humanities มหาวิทยาลัย Vietnam National University of Ho Chi Minh City จัดงาน "Vietnamese - Thai Friendship for ASEAN" ในวันศุกร์ที่ 11 มกราคม 2556 เวลา 9.00-12.00 น. ณ ห้อง 304 อาคารมหาจักรีสิรินธร ในโอกาสนี้ คณาจารย์จำนวน 6 คน และนักศึกษาจำนวน 80 คน จาก Vietnam National University of Ho Chi Minh City มาเยือนคณะอักษรศาสตร์ เพื่อเป็นการสานความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยในประชาคมอาเซียน งานนี้เป็นงานแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและเปิดโอกาสให้นิสิตอักษรศาสตร์ได้รู้จักและทำกิจกรรมร่วมกับนักศึกษาเวียดนาม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ เป็นประธานในงานคณาจารย์ฝ่ายไทยที่เข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ รองศาสตราจารย์สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ รองคณบดีฝ่ายวิรัชกิจ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สรรควัฒน์ ประดิษฐพงศ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เดือนเต็ม กฤษดาธานนท์ อาจารย์ ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ อาจารย์ ดร.เพ็ญพิสาข์ ศรีวรนารถ อาจารย์ ดร.นูรีดา หะยียะโกะ อาจารย์ Scott Oltmann และคุณยุพิน จันทร์เจริญสิน ผู้อำนวยการศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ อาจารย์พราว เศรษฐบุตร เป็นพิธีกรดำเนินรายการร่วมกับพิธีกรของมหาวิทยาลัย Vietnam National University of Ho Chi Minh City

งานเริ่มด้วยการแสดงรำอวยพรโดยนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จากนั้นคณบดีกล่าวสุนทรพจน์ต้อนรับและเปิดงาน พิธีกรแนะนำคณาจารย์ฝ่ายเวียดนามและคณาจารย์ฝ่ายไทย รองคณบดีฝ่ายวิรัชกิจได้นำเสนอ Presentation แนะนำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะอักษรศาสตร์ ต่อจากนั้น เป็นพิธีมอบของที่ระลึกระหว่างคณบดีและผู้บริหารมหาวิทยาลัยเวียดนาม หลังจากนั้น เป็นการแสดงแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างนิสิตอักษรศาสตร์และนักศึกษาเวียดนาม ตามด้วยกิจกรรมอาเซียนชิงรางวัลของที่ระลึกมากมาย กิจกรรมวัฒนธรรมและกิจกรรมอาเซียนช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตอักษรศาสตร์และนักศึกษาเวียดนาม และช่วยเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน งานจบลงด้วยการถ่ายภาพหมู่ร่วมกันเป็นที่ระลึก




BALAC ปฐมนิเทศนิสิตใหม่และพบผู้ปกครอง

หลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรม (หลักสูตรนานาชาติ) จัดงานปฐมนิเทศนิสิตใหม่พร้อมกับงานพบผู้ปกครอง ประจำปีการศึกษา 2555 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2555 เวลา 09.00-16.00 น. ณ ห้อง 301-302 อาคารมหาจักรีสิรินธร มีผู้ปกครองและนิสิตใหม่เข้าร่วมงานประมาณ 180 คน โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ เป็นประธานกล่าวเปิดงานและให้โอวาทแก่นิสิตใหม่

ประธานหลักสูตร รองศาสตราจารย์สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ กล่าวแนะนำคณะอักษรศาสตร์และให้รายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรม จากนั้นรองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต ผู้ช่วยศาสตราจารย์สรรควัฒน์ ประดิษฐพงศ์ กล่าวถึงกิจกรรมและการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย กิจกรรมช่วงบ่าย รองประธานหลักสูตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เดือนเต็ม กฤษดาธานนท์ อธิบายแผนการเรียนและรายวิชาต่างๆ ในหลักสูตร และอาจารย์ ดร.เบร็ท แอนดรูว์ ฟาร์เมอร์ แนะนำและให้รายละเอียดเกี่ยวกับรายวิชาวัฒนธรรมศึกษา อาจารย์ ดร.ทอแสง เชาว์ชุติ เป็นพิธีกรดำเนินรายการ


บรรยายทุนก.พ.

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2555 ฝ่ายวิรัชกิจ คณะอักษรศาสตร์ ได้จัดการบรรยายพิเศษ เรื่อง "ทุน ก.พ. ทุนฟุลไบรท์ และทุนรัฐบาลออสเตรเลีย" เมื่อวันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม 2555 ระหว่างเวลา 13.30-15.30 น. ณ ห้อง 301 อาคารมหาจักรีสิรินธร วิทยากร ได้แก่ คุณนวลพรรณ อเนกวณิช นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ สำนักงาน ก.พ. คุณพรทิพย์ กาญจนนิยต ผู้อำนวยการมูลนิธิการศึกษาไทยอเมริกา (Fulbright) และคุณชาญวิทย์ ชาญชัยสมบัติ เจ้าหน้าที่ดูแลโครงการทุนการศึกษา สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลีย โดยวิทยากรได้ให้ข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับทุน การสมัครรับทุน และวิธีการเตรียมตัวแข่งขัน


งานศิลปวัฒนธรรมไทย-โปแลนด์ "Two Cultural Weeks of Art and Poetry"
ฝ่ายวิรัชกิจ คณะอักษรศาสตร์ ร่วมกับสถานทูตสาธารณรัฐโปแลนด์ จัดงาน "Two Cultural Weeks of Art and Poetry" เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปี แห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทย กับสาธารณรัฐโปแลนด์ ระหว่างวันที่ 6-20 กรกฎาคม 2555 ณ สรรพศาสตร์สโมสร อาคารมหาจักรีสิรินธร โดยมีพิธีเปิดนิทรรศการในวันที่ 6 กรกฎาคม 2555 เวลา 10.00 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ อัศววิ รุฬหการ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ และฯพณฯ ดร.เยซี ไบเออร์ (Dr.Jerzy Bayer) เอกอัครราชทูตโปแลนด์ ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิด

คณบดีกล่าวต้อนรับท่านทูตและแขกผู้มีเกียรติ เอกอัครราชทูตโปแลนด์กล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน และกล่าวบรรยายเกี่ยวกับนิทรรศการ เรื่อง "Form and Spontaneity" ของโปแลนด์ ซึ่งได้จัดแสดงในหลาย ประเทศ จากนั้นเป็นการอ่านบทกวีโดยนิสิตอักษรศาสตร์ซึ่งเรียนวิชา Poetry ดังนี้ บทกวีชื่อ "Architecture" อ่านโดย นางสาวปุณฑริกา ประดิษฐารมณ์ บทกวีชื่อ "home" อ่านโดย นางสาววรรณภร สมุทรอัษฎงค์ บท กวีชื่อ "Tenderness" อ่านโดย นางสาววารัตตา จงแสง บทกวีชื่อ "Same Like poetry" อ่านโดย นางสาวภค กุล ศรีคชา บทกวีชื่อ "Breaking the pattern" อ่านโดย นางสาวเอมรตี สิทธิโกศล โดยมีอาจารย์ ดร.อิงโก้ เพเทอร์ส เป็นผู้กล่าวแนะนำและสรุปใจความบทกวีแต่ละบท ต่อมาเป็นการอ่านบทกวีและแสดงลีลา ประกอบ (performance poetry) โดยกวีซีไรท์ ซะการีย์ยา อมตะยา ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของงานนี้ บทกวีที่อ่าน คือ "ข้ามาตามหาบทกวี" และ "กล้าไม้ประหลาด" จบจากการอ่านบทกวี เป็นการแสดงดนตรี 2 ชิ้น คือ การ เป่าฟลุทและการเล่นไวโอลิน โดยรองศาสตราจารย์จารุณี หงส์จารุ และนิสิตคณะอักษรศาสตร์ เพลงที่เล่น คือ เพลง "Champagne" และเพลง "บัวขาว" จากนั้น คณบดีและท่านทูตร่วมกันตัดริบบิ้นเปิดงานและชมนิทรรศการ

ในงานนี้ ฯพณฯ ดร.เยซี ไบเออร์ (Dr.Jerzy Bayer) เอกอัครราชทูตโปแลนด์ ได้แสดงความขอบคุณ และมอบของที่ระลึกให้คณบดีคณะอักษรศาสตร์ รองคณบดีฝ่ายวิรัชกิจ รองศาสตราจารย์สุรภีพรรณ ฉัตรา ภรณ์ รองศาสตราจารย์จารุณี หงส์จารุ คุณยุพิน จันทร์เจริญสิน กวีซะการีย์ยา อมตะยา และนิสิตที่อ่านบท กวีและแสดงดนตรี พิธีเปิดจบด้วยงานเลี้ยง reception บริเวณหน้าสรรพศาสตร์สโมสร สถานทูต สาธารณรัฐโปแลนด์ได้จัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่มเพื่อรับรองแขกอย่างพิถีพิถัน ในงานมีแขกผู้มีเกียรติ จากสถานทูต องค์กรต่างประเทศ รวมทั้งคณาจารย์และนิสิตคณะอักษรศาสตร์ บรรยากาศของงานเต็มไป ด้วยความอบอุ่นและเป็นกันเอง ในงานนี้มีอาจารย์ ดร.มัทธนี พลังเทพินทร์ เป็นพิธีกรตลอดรายการ และ ขอขอบคุณ คุณยุพิน จันทร์เจริญสิน ผู้อำนวยการศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ ผู้เอื้อเฟื้อสถานที่จัดงาน


คณบดีคณะอักษรศาสตร์นำนิสิตแลกเปลี่ยนมหาวิทยาลัยเฉิงตู เข้าเยี่ยมคารวะเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีน
เมื่อวันศุกร์ที่ 9 มีนาคม 2555 เวลา 16.00 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ และรองศาสตราจารย์สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ รองคณบดีฝ่ายวิรัชกิจ ได้นำคณะ นิสิตแลกเปลี่ยน มหาวิทยาลัยเฉิงตู จำนวน 26 คน พร้อมกับอาจารย์ปฤณา มโนมัยวิบูลย์ อาจารย์ที่ ปรึกษานิสิตแลกเปลี่ยนฯ เข้าเยี่ยมคารวะ ฯพณฯ ก่วนมู่ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ สถาน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพ โดยมีนายชิว หนิง ผู้ช่วยทูตฝ่ายการ ศึกษา ประจำสถานเอกอัครราชทูตฯ และคณะ ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ในโอกาสนี้ ศาสตราภิชาน ดร. ประพิณ มโนมัยวิบูลย์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของโครงการแลกเปลี่ยนฯ ได้เข้าเยี่ยมคารวะด้วย

คณบดีคณะอักษรศาสตร์กล่าวชื่นชมคณะนิสิตแลกเปลี่ยนฯ เพราะนิสิตแลกเปลี่ยนกลุ่มนี้เป็นเด็กใฝ่ รู้ใฝ่เรียน มีน้ำใจ มีความขยันหมั่นเพียร และมีสัมมาคารวะ พร้อมกับแสดงความยินดีต่อนางสาวชูหว๋า ฉี นิสิตแลกเปลี่ยนฯ ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศการประกวดสุนทรพจน์ ในการประกวดสุนทรพจน์อุดมศึกษา นานาชาติ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจให้แก่คณะ อักษรศาสตร์และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นอย่างยิ่ง

ต่อมา ฯพณฯ ก่วนมู่ ได้กล่าวขอบคุณในความร่วมมือของคณะอักษรศาสตร์ ที่ได้ให้ความช่วยเหลือ และให้การดูแลคณะนิสิตแลกเปลี่ยนกลุ่มนี้ ได้ให้โอวาทแก่นิสิตและได้ให้ความรู้แก่นิสิต ทั้งทางด้านการ ศึกษา สังคม และการเมือง รวมทั้งปรัชญาในการดำเนินชีวิต และได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ต่างๆ กับคณบดีคณะอักษรศาสตร์ ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นกันเอง นอกจากนี้ ฯพณฯ ก่วนมู่ ยังเปิดโอกาสให้นิสิตแลกเปลี่ยนเฉิงตู ได้ซักถามข้อสงสัยต่างๆ อีกด้วย เมื่อเสร็จสิ้นการสนทนา คณบดีคณะอักษรศาสตร์ได้มอบของที่ระลึกให้แก่ ฯพณฯ ก่วนมู่ และถ่ายรูปหมู่ร่วมกันบริเวณหน้าอาคาร ของสถานเอกอัครราชทูตฯ

นิสิตแลกเปลี่ยนมหาวิทยาลัยเฉิงตู ได้เข้ามาศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ในภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา 2554 และจะเดินทางกลับประเทศจีนในวันที่ 30 มีนาคม 2555


นิสิตแลกเปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยเฉิงตู ได้รับรางวัลรองชนะเลิศการประกวดสุนทรพจน์
สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ จัด "การประกวดสุนทรพจน์ อุดมศึกษานานาชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยาม บรมราชกุมารี โดยมีศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ อุปนายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรทิพย์ พุกผาสุข ประธานคณะกรรมการดำเนินงานฯ และคุณหญิง ปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการบริหารโรงแรมอโนมา กรุงเทพฯ และโรงแรมเฟลิกซ์ ริเวอร์แคว รีสอร์ท กาญจนบุรี ผู้สนับสนุนสถานที่และอาหาร ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดงาน

การประกวดสุนทรพจน์อุดมศึกษานานาชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จัดเป็น ครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2555 ณ โรงแรมอโนมา มีผู้เข้าประกวดจากสถาบันอุดมศึกษาไทยรวม 24 สถาบัน จาก 8 ชาติ ได้แก่ ประเทศอเมริกา เยอรมนี เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และ เวียดนาม ผลปรากฏว่า นางสาวชูฮฺว๋า ฉี นักศึกษาจีนเอกวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยเฉิงตู ซึ่งเป็นนิสิต แลกเปลี่ยนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ เงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ ผู้เข้าประกวดต้องแสดงสุนทรพจน์ในหัวข้อที่เตรียมตัวมา คือ "โครงการพระราชดำริทรง คิดค้น ช่วยปวงชนอยู่ดีกินดี" และหัวข้อการพูดแบบฉับพลัน 3 นาที คือ "ความเพียรช่วยให้เกิดความสำเร็จ


งานสัปดาห์วัฒนธรรมอิหร่าน-ไทย
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555 ณ อาคารมหาจักรีสิรินธร ศาตราจารย์ นพ. ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาฯ และ ฯพณฯ มะญีด บีซมาร์ค เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ประจำประเทศ ไทย เป็นประธานในงานแถลงข่าวและพิธีเปิดงาน "สัปดาห์วัฒนธรรมอิหร่าน-ไทย" ซึ่งคณะอักษรศาสตร์ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-10 กุมภาพันธ์ 2555 ณ อาคารมหาจักรีสิรินธร เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีด้านวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ เนื่องในโอกาสที่ ประเทศสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านสถาปนาครบ 33 ปี และครบรอบ 330 ปีที่คณะทูตชุดแรกของ ราชอาณาจักรสยามในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศอิหร่าน โดยในงานมีกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ การแสดงนิทรรศการ การวาดภาพเปอร์เซียโดยศิลปินอิหร่าน การแสดง ศิลปหัตถกรรมเปอร์เซีย และการฉายภาพยนตร์อิหร่าน

พิธีเปิดนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมและ บ้านเมืองของอิหร่าน จัดขึ้น ณ ห้องโถงชั้นล่าง อาคารมหา จักรีสิรินธร โดยมีแขกผู้มีเกียรติทั้งไทยและต่างประเทศ นักการทูต นักวิชาการ นักธุรกิจ ตลอดจนนิสิตแลกเปลี่ยน ประมาณ 100 คน เข้าร่วมงาน

ต่อจากนั้นเป็นการแถลงข่าวสื่อมวลชน โดยอธิการบดีจุฬาฯ และเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลาม แห่งอิหร่าน ณ ห้องสรรพศาสตร์สโมสร ชั้น 2 มีผู้สื่อข่าวทั้งสถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุ และหนังสือพิมพ์ทั้ง ไทยและต่างประเทศ ประมาณ 50 คน นอกจากนั้นสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ยังได้จัดให้มีการถ่ายทอดสดไปยังประเทศอิหร่านและสถานทูตอิหร่านทุกสถานทูตทั่วโลก

พิธีเปิดงาน "สัปดาห์วัฒนธรรมอิหร่าน-ไทย" จัดขึ้น ณ ห้อง 304 อาคารมหาจักรีสิรินธร โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ เป็นผู้กล่าวต้อนรับ และนาย ญะลาล ทัมเลฮ์ ที่ปรึกษาฝ่ายวัฒนธรรม สถาน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน เป็นผู้ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ต่อจากนั้น เป็นพิธีมอบรางวัลเกียรติยศเฉกอะหฺมัด กุมมี ประจำปี 2555 ซึ่งเป็นรางวัลที่รัฐบาลสาธารณรัฐอิสลาม แห่งอิหร่านมอบแก่บุคคลผู้มีบทบาทในการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ รวมทั้งผู้มี ผลงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอิหร่าน สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลในปีนี้ คือ พลเอกบรรจบ บุนนาค ประธานมูลนิธิเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหฺมัด) โดยฯพณฯ มะญีด บีซ- มาร์ค เป็นผู้มอบรางวัล

จากนั้น ฯพณฯ มะญีด บีซมาร์ค ได้มอบโล่ที่ระลึกให้แก่อธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ และรองศาสตราจารย์สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ รองคณบดีฝ่ายวิรัชกิจ พิธีเปิดจบด้วยการเดินแบบเครื่องแต่งกายพื้นเมืองของอิหร่าน โดยนิสิตคณะอักษรศาสตร์


เอกอัครราชทูตสามประเทศร่วมงานสัปดาห์ภาษาและวัฒนธรรมโปรตุเกส
วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม เวลา 17.00 น. ณ ห้องโถงกลาง อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ มีพิธีเปิดงานสัปดาห์ภาษาและวัฒนธรรมโปรตุเกส ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ และ ฯพณฯ นายจอร์เจ รีเดอร์ ตอร์ริซ เปเรย์รา (H.E. Dr.Jorge Ryder Torres Perreira) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปรตุเกสร่วมเป็นประธานในการเปิดงาน โดยคณบดีกล่าวต้อนรับแขกผู้มาร่วมงาน เอกอัครราชทูตโปรตุเกสกล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน ตามด้วยสุนทรพจน์แสดงความยินดีของ ฯพณฯ นายเปาลู เซซา เมรา เด วาชคอนเซลลูช (H.E. Mr. Paulo Cesar Meira de Vasconcellos) เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล และสุนทรพจน์ของ ฯพณฯ นายโชเอา เฟรตัส เด กามารา (H.E. Mr. Joao Freitas de CAMARA) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต

 

การจัดกิจกรรมกับสถานทูตฮังการีและสถานทูตโปแลนด์
ฝ่ายวิรัชกิจและศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ ร่วมกับสถานทูตฮังการีและสถานทูตโปแลนด์ จัดนิทรรศการ “The Evolution of the Parliamentary Traditions of Hungary and Poland” ระหว่างวันที่ 17-22 สิงหาคม 2554 ณ สรรพศาสตร์สโมสร อาคารมหาจักรีสิรินธร โดยมีพิธีเปิดนิทรรศการ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2554 เวลา 14.00 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประพจน์ อัศววิรุฬหการ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ ฯพณฯ ดร. เยซี ไบเออร์ (Dr. Jerzy Bayer) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปแลนด์ และนายปีเตอร์ ยาคาบ (Mr. Peter Jakab) รองหัวหน้าคณะทูตของสถานทูตฮังการี ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิด

 

การปฐมนิเทศนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยเฉิงตู
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประพจน์ อัศววิรุฬหการ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ เป็นประธานในการปฐมนิเทศนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยเฉิงตู จำนวน 26 คน วันที่ 28 กรกฎาคม 2554 เวลา 10.00-12.00 น. ณ ห้อง 501/2 อาคารมหาจักรีสิรินธร โดยนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยเฉิงตู จะเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ ในภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา 2554 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ถึงเดือนมีนาคม 2555

 

 

กิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ไทย - เวียดนาม
ฝ่ายวิรัชกิจ ร่วมกับฝ่ายวิชาการและศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ไทย – เวียดนาม กับคณาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย Vietnam National University of Ho Chi Minh City จำนวน 96 คน ในวันพฤหัสบดีที่ 13 มกราคม 2554 เวลา 9.00-12.00 น. ณ ห้อง 304 อาคารมหาจักรีสิรินธร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประพจน์ อัศววิรุฬหการ คณบดี รองศาสตราจารย์สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ รองคณบดีฝ่ายวิรัชกิจ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุนิจ สุตัณฑวิบูลย์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต ได้ต้อนรับคณาจารย์ ์และนักศึกษาจากเวียดนาม นำโดย Professor Bui Hai Dang รองคณบดี Faculty of International Relations

กิจกรรมเริ่มจากการบรรยาย ในหัวข้อ “ประวัติ หลักสูตรและกิจกรรมการเรียนการสอนของคณะอักษรศาสตร์” โดยอาจารย์ ดร.ศศิพร เพชราภิรัชต์ และการบรรยายในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์และสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทย” โดยอาจารย์ ดร.ภาวรรณ เรืองศิลป์ ต่อจากนั้นเป็นการแสดงของชมรมนาฏศิลป์ของคณะอักษรศาสตร์ โดยความร่วมมือของฝ่ายกิจการนิสิต ชุดรำไทย 2 ชุด ได้แก่ “กฤษดาภินิหาร” เป็นเทพยาดาและนางฟ้ารำและโปรยกลีบดอกไม้หอมต้อนรับแขกผู้มาเยือนและ “ชุมนุมเผ่าไท” ซึ่งแสดงให้เห็นคนไทยหลากหลายเชื้อชาติหล่อหลอมรวมเป็นประเทศไทย การแสดงได้รับความสนใจอย่างมาก จากนักศึกษาเวียดนาม

สำหรับกิจกรรมแลกเปลี่ยนจาก มหาวิทยาลัย Vietnam National University of Ho Chi Minh City ได้แก่การร้องเพลง ภาษาประจำชาติ 3 เพลง รวมทั้งเพลงเวียดนามที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน กิจกรรมต่อมาคือการเยี่ยมชมห้องสมุด “สรรพศาสตร์สโมสร” ของศูนย์สารนิเทศภายในอาคารมหาจักรีสิรินธร โดยมี คุณยุพิณ จันทร์เจริญสิน ผู้อำนวยการศูนย์ สารนิเทศมนุษยศาสตร์ เป็นผู้นำชม คณาจารย์และนักศึกษาเวียดนามประทับใจทั้งสถานที่และการจัดกิจกรรมหลากหลายของ ห้องสมุด“สรรพศาสตร์สโมสร” และกิจกรรมการเรียนการสอนของคณะอักษรศาสตร์ นักศึกษาหลายคนแสดงความจำนง จะมาเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่คณะอักษรศาสตร์ บรรยากาศในการทำกิจกรรมร่วมกันเต็มไปด้วยความสนุกสนาน อบอุ่น และเป็นกันเอง และกิจกรรมสุดท้าย คือ การเที่ยวชมบริเวณภายในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอาคารมหาจุฬาลงกรณ์ อาคารมหาวชิราวุธ และอนุสาวรีย์พระรูปสองรัชกาล การพาชมได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากเจ้าหน้าที่ของสำนักงานวิรัชกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

 

นิทรรศการ “The History of German Division and Reunification” (November 2010)
ฝ่ายวิรัชกิจและศูนย์สารนิเทศมนุษยศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ร่วมกับสถานทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้จัดนิทรรศการ “The History of German Division and Reunification” ในวันจันทร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ณ ห้องโถง ชั้นล่างและชั้นลอย อาคารมหาจักรีสิรินธร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ประพจน์ อัศววิรุฬหการ  คณบดีคณะอักษรศาสตร์ และ ฯพณฯ ดร. ฮันส์ ชูมัคเคอร์ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเป็นประธานในการเปิดงาน

นิทรรศการภาพโปสเตอร์ได้รับความสนใจอย่างมากจากคณาจารย์และนิสิตคณะอักษรศาสตร์ โดยเฉพาะสุนทรพจน์ของเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งมีเนื้อหาเข้มข้น ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับการร่วมชาติและอารมณ์ความรู้สึกอันสลับซับซ้อนและล้ำลึกของชาวเยอรมันทั้งชาติ


การจัดการบรรยายเรื่องทุนต่างประเทศ (August 2010)
ฝ่ายวิรัชกิจได้เชิญคุณพรทพิย์ กาญจนนิยต ผู้อำนวยการมูลนิธิฟูลไบรท์ประจำประเทศไทย และคุณภานุ สังขะวร ผู้อำนวยการศูนย์สรรหาและเลือกสรร สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มาพบปะพูดคุยและให้ข้อมูลเรื่องการศึกษาต่อต่างประเทศและการสมัครสอบชิงทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศให้แก่นิสิตอักษรศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 เมื่อวันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม 2553 ระหว่างเวลา 12.00-14.00 น. ณ ห้อง 210 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์
ในการบรรยายครั้งนี้ มีนิสิตเข้าร่วมฟังกว่าหนึ่งร้อยคน นอกจากนี้ยังมีผู้ปกครองนิสิตบางคนขอเข้าร่วมฟังด้วย

นิสิตคณะอักษรศาสตร์สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่นเยือนที่พำนักเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (March 2010)
ฯพณฯเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นและภริยาได้เชิญนิสิตวิชาเอก โท และหลักสูตรนานาชาติของสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น ไปร่วมงานเทศกาล Hina Matsuri หรือเทศกาลวันเด็กผู้หญิง ณ ที่พำนักเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (ซอยนานา) เมื่อวันพุธที่ 3 มีนาคม 2553 ในครั้งนี้ มีนิสิตเข้าร่วมงานกว่า 80 คน

นับเป็นแขกกลุ่มแรกที่ได้รับเชิญให้ไปเยือนที่พำนักเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเนื่องในเทศกาล Hina Matsuri หลังจากที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีเสด็จเปิดงานเทศกาล Hina Matsuri อย่างเป็นทางการในวันที่ 2 มีนาคม 2553


Visual Thinking Strategies (January 2010)
ฝ่ายวิรัชกิจและฝ่ายวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จัดโครงการ อบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง Visual Thinking Strategies โดยมี Mr. Philip Yenawine ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Visual Understanding in Education (VUE) ของประเทศสหรัฐอเมริกา เคยดำรงตำแหน่ง สำคัญทางด้านการศึกษาในหลายมหาวิทยาลัยมาเป็นวิทยากร บรรยายและฝึกปฏิบัติการศาสตร์ เรื่อง Visual Thinking Strategies ซึ่งเป็นวิทยาการการเรียนรู้แผนใหม่ โดยใช้ศิลปะในการสอนให้คิด วิเคราะห์ และวิจารณ์ รวมทั้งฝึกทักษะในการติดต่อสื่อสารด้วย “Visual Literacy” เป็นการดึงความหมายออกจากภาพ และใช้วิธีการสังเกต ในวันศุกร์ที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๓ ณ ห้อง ๗๐๘ อาคารบรมราชกุมารี

Mural Painting (August 2009)
On August 20, 2009, Dr. Gerhard Jaiser from the Universitas Indonesia in Jakarta held a talk on “Thai Culture and Local Life in Mural Painting.“ The event was jointly organized by the Thai Studies Center, the Center of Folklore Research, and the DAAD (German Academic Exchange Service). Dr. Jaiser delivered a very interesting speech and presented a selection of pictures, which he had taken at more than 200 temples in Thailand. Among the 50-plus audience members were the Dean, Asst. Prof. Dr. Prapod Assavavirulhakarn, faculty lecturers, students, and interested
members of the general public.
Thanks went to Prof. Dr. Siraporn Nathalang, Assoc. Prof. Sukanya Sujachaya, and Claudio Kasperl for making this event possible
       

Chulalongkorn University International Film Festival 2010 (2009)
The Department of Dramatic Arts, with support from the Cultural Centre, invites you to join the Chulalongkorn University International Film Festival 2010 and watch six award-winning films from six countries --"Caramel" (Lebanon), "Everlasting Moments”(Sweden), "Still Walking" (Japan),
"Tulpan" (Kazakhstan), "Mid-August Lunch" (Italy) and "Revanche" (Austria)-- all of which have never been commercially released in Thailand.
       

สาขาวิชาภาษาเยอรมันจัดงานกิจกรรมประกอบวัฒนธรรม (2008)
วันอังคารที่ 16 ธันวาคม 2551 เวลา 16.00 - 18.00 น. สาขาวิชาภาษาเยอรมันได้จัดงานส่งเสริมกิจกรรมทางวัฒนธรรมร่วมกับนิสิตของสาขาฯ และนิสิตจากคณะอื่น ๆ ที่เรียนภาษาเยอรมันเป็นวิชาเลือก โดยมีแขกพิเศษ 3 ท่าน คือ Frau Elke Tiedt ทูตวัฒนธรรมจากสถานทูตเยอรมัน Herr F. Milan ทูตวัฒนธรรมจากสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ และ Herr Arnold Obermayr ทูตวัฒนธรรมจากสถานทูตออสเตรีย เข้าร่วมงานด้วย ในงานนี้ นิสิตได้แสดงความสามารถในการใช้ภาษาเยอรมันโดยแสดงละคร ร้องเพลง เล่นดนตรีคลาสสิก และอ่านโคลงภาษาเยอรมันให้แขกและผู้เข้าร่วมงานได้ชม และมีการมอบรางวัลเรียนดีให้แก่นิสิตที่มีคะแนนภาษาเยอรมันยอดเยี่ยมในแต่ละชั้นปี สุดท้ายเป็นการรับประทานขนมและของว่างร่วมกัน เปิดโอกาสให้นิสิตได้สนทนากับแขกจากสถานทูตทั้งสามและคณาจารย์ในสาขาฯ บรรยากาศเป็นไปอย่างรื่นเริงและสนุกสนาน