อักษรจรัส รุ่น 28

กมลวัน บุณยัษฐิติ ( อักษรจรัส อบ.28 )

นุข กมลวัน เป็นเพิ่อนอักษร ฯ รุ่น 28 ที่ผ่านการทำงานมาหลายแห่ง  เช่นที่ สถานีวิทยุ BBC ภาคภาษาไทยที่ลอนดอนและทำงาน  ที่สถานทูตอังกฤษ กุงเทพ       แต่อาชีพที่เธอรักมากที่สุดก็คิอ การเป็น ครูเปียโนอิสระ  เธอเป็นที่รักของเพื่อน  เธอมีความสุขที่สุดเมื่อเธอได้  ทำอาหารดี ๆ อร่อยๆ  แปลก ๆ ให้เพื่อนชิมลิ้มรส และเล่นเปียโนให้เพื่อนๆ ร้องเพลงร่วมกัน

แต่สิ่งที่น่าชื่นชม  สรรเสริญเธอ ก็คือ เธอเป็นคนที่ทำความดีมาตลอดชีวิต  โดยไม่ประกาศให้เพื่อนๆทราบ  เธอเป็นกรรมการ บริหารของมูลนิธิสิริวัฒนา เชสเชียร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์    โดยปัจจุบัน เป็น ประธานบ้านสิริวัฒนา สมุทรปราการ ดูแลคนพิการ 24 คน เจ้าหน้าที่ 3 คน   (มูลนิธิ  มีบ้านคนพิการทั้งหมด 5 หลัง)

นอกจากนี้ เธอยังใช้ความรู้ความสามารถทางดนตรี ทำงานการกุศลอื่นๆ  เช่น            

จัดคอนเสริตการกุศลเพื่อช่วยเหลือมูลนิธิต่างๆ เช่น

-  มูลนิธิสถาบันแสงสว่าง (เพื่อเด็กทีต้องการการดูแลเป็นพิเศษ)  

-  มูลนิธิโรงพยาบาลเลิศสิน (เพื่อผู้ป่วยยากไร้)

นอกจากนี้เธอยังเป็น

-  เลขานุการกิติมศักดิ์ สมาคมโชแปง กรุงเทพ  สนับสนุนการแสดงดนตรีเปียโน  จัดการแข่งขันการแสดงเดี่ยวเปียโนมากว่า 30ปี   มีส่วนในการสร้างนักเปียโนมืออาชีพระดับนานาชาติได้หลายคน  หลายท่านกลับมาเป็นอาจารย์ชั้นนำของประเทศ  

   

    เธอได้เขียนหนังสือ “บ้านนี้มีเรื่องเล่า” เกียวกับบ้าน และสมาชิกของบ้านหลังนี้

 

ความรู้ภาษาไทย  ภาษาอังกฤษ  และการอบรมให้มีนิสัยไฝ่รู้   มีทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทีได้รับมาจาก คณะอักษรศาสตร์   เป็นพื้นฐานที่นำให้เธอทำงานใหญ่ๆ ได้อย่างไม่ยากเลย เช่น  เขียนและอ่านรายงานการประขุมนานาชาติ      จัดการแข่งขันเปียโนติดต่อกับนักเปียโนต่างขาติ   ทำหนังสือที่ระลึกและโปรแกรมคอนเสิร์ต    ด้วยความมีสุนทรีย์  จิตใจโอบอ้อมอารี  ทำแต่บุญกุศล  ช่วยเหลือคนพิการและคนยากไร้อย่างต่อเนื่อง   เธอจึงคู่ควรเป็นหนึ่งในอักษรจรัส รุ่น 28

 

กรรณิการ์ บุญตานนท์

กรรณิการ์ บุญตานนท์

อักษรจรัส อบ.28 

ชีวิตของเธอร์โลดโผนเกินความคาดหมายของเธอและของเพื่อนๆ หลังจากที่รับพระราชทานปริญญาในปี 2506 แล้ว กรรณิการ์เริ่มชีวิตราชการที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ   และได้รับทุนไปศึกษาจนได้ประกาศนียบัตรรัฐประศาสนศาสตร์ที่แคนาดาในปี 2511 และศึกษาต่อที่ Institute of Social Studies ประเทศเนเธอร์แลนด์จนได้รับปริญญาสังคมศาสตร์มหาบัณฑิตในปี 2518   


วามโลดโผนเริ่มเมื่อกรรณิการ์โอนไปรับราชการในตำแหน่งหัวหน้ากองวิชาการ กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ที่กรมเจ้าท่ากรรณิการ์รับผิดชอบงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางน้ำ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับมลพิษเนื่องจากน้ำมัน จนในที่สุดเธอกลายเป็นผู้วางรากฐานงานป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทางน้ำโดยเฉพาะปัญหามลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน โดยจัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและขจัด มลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันพ.ศ.2538 ซึ่งนำไปสู่การจัดทำแผนฉุกเฉินแห่งชาติและกำหนดภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน          

 

ต่อมาในปี 2539 กรรณิการ์ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในการจัดหาเรือและอุปกรณ์ขจัดคราบน้ำมัน จนได้รับ เรือ “เด่นสุทธิ” จากรัฐบาลเดนมาร์ก และได้จัดงานรับเสด็จฯ และบรรยายสรุปถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในงานน้อมเกล้า ฯ ถวายเรือ “เด่นสุทธิ” ในปี 2539 อันเป็นปีกาญจนาภิเษก                                                                                 


ที่ไม่มีใครคาดหมายก็คืออักษรศาสตร์บัณฑิตหญิงผู้นี้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนรัฐบาลในการประชุมองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ  (International Maritime Organization) เป็นประจำทุกปีจนกระทั่งเธอถึงเกษียณอายุราชการในปี 2545 นอกจากนั้นเธอยังทำหน้าที่ฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชนให้มี ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานขจัดคราบน้ำมันด้วย 

     

กรรณิการ์เป็นผู้ใฝ่ธรรม และหลังจากที่ถึงเกษียณอายุราชการแล้ว จึงได้มีโอกาสรับการฝึกสมาธิจากอาจารย์ John E. Coleman และอาจารย์ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชรตามแนวคำสอนของท่านอาจารย์ U Ba Khin แห่ง International Meditation Centre สหภาพเมียนมาร์ ในปี 2536 และ ปฏิบัติด้วยตนเองเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาได้ช่วยอาจารย์ พล.ต.อ. วสิษฐจัดการฝึกสมาธิเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน 

จินตนา (ปิ่นเฉลียว) ภักดีชายแดน

อักษรจรัส อบ.28

จินตนา (ปิ่นเฉลียว)  ภักดีชายแดน   (ถึงแก่กรรม)

รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี

 

 ได้รับประทานรางวัลจากกรมหมื่นพิทยาลาภพิทยากร

 

จินตนาสมควรเป็น “อักษรจรัส” ที่สุดคนหนึ่งของ รุ่น 28   เธอใช้ความรู้ภาษาไทยที่ร่ำเรียนมาในการเขียนบทกลอนและนวนิยาย เป็นจำนวนมาก หนึ่งในนามปากกาเธอคือ จินตวีร์ วิวัธน์  เป็นกวีหญิงฝีปากกล้าคนหนึ่งของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย      มีชื่อเสียงเลื่องลือไกล เป็นกลอนวิพากษ์สังคม การเมือง กลอนหวาน หรือแม้แต่กลอนหักมุม  ผลงานของเธอเป็นที่ประจักษ์ได้รับรางวัลมากมาย โดยเฉพาะทางวรรณคดีจากมูลนิธิ จอห์น เอฟ เคเนดี้  จากเรื่อง อยุธยาอวสาน เป็นคำกลอน  บทกลอนของเธอ คม หวานซึ้ง ดุเดือด แสดงความรักชาติ  เธอเป็นราชินีแห่งนิยายสยองขวัญ โดดเด่น     และฉีกแนวออกไปจาก นวนิยายของนักเขียนคนอื่น ๆ ในสมัยเดียวกัน นิยายของเธอจึงถูกนำไปแสดงเป็น ละครทางวิทยุและโทรทัศน์

อยุธยาอวสาน              

                      เสียแผ่นดินสิ้นยศหมดเกียรตืศักดิ์
                       อาณาจักรบรรลัยเพราะใครผลาญ.
                       คิดให้ดีมิใช่ไพรีราญ
                       หากแม้พาลที่ในหัวใจคน

                       ละเมอสุขเสพปลื้มลืมประมาท
                       จึงพาชาติวิบัติถึงขัดสน
                       เสื่อมสามัคคีพาจราจล
                       รอยด่างบนประวัติศาสตร์อนาถอาย


       เกิดแต่ไหนใจจึงหาญ กร้านกล้าหนอ                                                                                                                      หน้าซื่อซื่อตาส่อแววใสสันต์                                                                                                                                      แต่ยามห้าวเอาชีวามาเดิมพัน                                                                                                                                     สืบเลือดบรรพชนชี้....นี่แหละไทย

 

สงครามสุดท้าย 
       แล้วสงครามก็สิ้นสุดตรงจุดเดือด

       เลือดต่อเลือดชะโลมทั่วหัวระแหง
         ขวาหรือซ้าย ใต้หรือเหนือ ขาวเจือแดง     

 

- บทกลอนหวานๆ

    เมื่อแดดยิ้มพริ้มพรายกับชายฟ้า
    โลกก็จ้าแจ่มหวังด้วยรังสี
    หยาดอรุณอุ่นหล้าเหมือนอารี 
    แพรรพีห่มภพอบหนาวคลาย

    เพียงจะพลิกแผ่นฟ้าลงมาฝัน
    กับแสงอันอ่อนอุ่นอรุณฉาย
    เราคนท้อรอหวังซังกะตาย
    หวังชีพพรายอุ่นบ้างอย่างอรุณ 

   

-  อำลาจุฬาฯ  ปี 2506

         แต่ละเสียงเจรียงร่ำเป็นคำอ้อน
         นี่ลมวอนทักถามเป็นความหมาย
         นั่นก็เสียงจามจุรีคลี่ขจาย
         ฟังคลับคล้ายพ้อพร่ำก่อนอำลา

         ทั้งที่โน่น ที่นี่ และที่นั่น
         เสียงเหล่านั้นติดตามมาถามหา
         สะอื้นไห้ใจจะขาดหวาดวิญญา

 

ดร.จงกล (พิทักษ์ธรรม) สุภเวชย์ ( อักษรจรัส อบ.28 )

จงกลเป็นแบบอย่างของผู้มีอิทธิบาทสี่ ในการทุ่มเทเพื่อการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสในโรงเรียนมัธยมศึกษาของประเทศไทย

จงกลมีความมุ่งมั่นในการเรียนภาษาฝรั่งเศสตั้งแต่ยังเป็นนิสิตอักษรศาสตร์ จนจบปริญญาเอกจากฝรั่งเศส เมื่อทำงานก็อุทิศตนให้กับการสอนและการสร้างสื่อการสอนภาษาฝรั่งเศสอีกทั้งยังพากเพียรฝึกอบรมครูภาษาฝรั่งเศสตลอดมา จวบจนแม้เกษียณอายุราชการ ก็ยังช่วยงานเพื่อการสอนภาษาฝรั่งเศสกับหลายหน่วยงาน มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เป็นที่เชิดชูยกย่อง รัฐบาลฝรั่งเศสจึงมอบอิสริยาภรณ์ให้ถึง 3 ขั้น จงกลเป็นผู้มีบุคลิกภาพและมนุษยสัมพันธ์ดี จิตใจเอื้อเฟื้อต่อมิตรสหายอีกทั้งเสียสละ บากบั่น สนับสนุนให้ครู     นักเรียน ศึกษานิเทศก์ผู้ร่วมงาน มีความเจริญก้าวหน้าในแวดวงภาษาฝรั่งเศส นับเป็นตัวอย่างที่ดีของบัณฑิตอักษรฯที่ได้ทำชื่อเสียงให้แก่คณะอักษรศาสตร์

      

จากการทำงานร่วมกับศึกษานิเทศก์ภาษาฝรั่งเศสรวม 15 คน         ในส่วนกลางและภูมิภาค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรุ่นพี่และรุ่นน้องอักษร-ศาสตร์ ทำให้การสอนภาษาฝรั่งเศสระดับมัธยมรุ่งโรจน์สูงสุดมีรร.เปิดสอนเกือบ 400 โรง ครูมากกว่า 500 คน นักเรียน 40 000 คน   ครูและนักเรียนมีคุณภาพ รัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้มอบอิสสริยาภรณ์    ขั้นที่ 1 Chevalier  ปี 2525  สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์พระราชทานเลี้ยง และได้รับอิสริยาภรณ์ ขั้นที่ 2 Officier  dans l’Ordre  du Palm  Académique ในปี 2534

    

 แม้จะเกษียณอายุราชการมา 15 ปีแล้ว จงกลก็ยังดูแลการสอนภาษาฝรั่งเศส ล่าสุดได้แนะนำหนังสือเรียน Adosphère ที่มีทฤษฎีการสอนที่คาดว่าจะมีประสิทธิภาพดีที่สุด พร้อมกับจัดทำคู่มือสำหรับผู้สอนและจัดอบรมครูทั่วประเทศ รวมทั้งการจัดสอบวัดมาตรฐานสากล DELF ผู้เรียนและครูผู้สอนเพื่อประกันคุณภาพการเรียนการสอนภาษาฝรั่งเศสในระดับมัธยมศึกษาในประเทศไทย รัฐบาลฝรั่งเศสโดยสถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย จึงได้แจ้งการมอบอิสริยาภรณ์ขั้นที่ 3 Commandeur dans l’ordre du Palm Académique   ซึ่งเป็นขั้นสูงสุด เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559  การประดับอิสริยาภรณ์จะกำหนดต่อไป      เพื่อนๆ เห็นว่าจงกลเป็นหนึ่งในรุ่นที่ได้รับเกียรติยศระดับประเทศ เป็นอักษรจรัส ที่รุ่น 28 พากภูมิใจยิ่ง    นอกจากจะทำงานวิชาการแล้ว จงกลก็ร่วมกิจกรรมกับเพื่อนๆในรุ่นอย่างใกล้ชิด  ไปเที่ยวต่างจังหวัด ต่างประเทศ ออกร่วมชุมนุมแสดงความรักชาติด้วยกันทุกครั้ง และเป็นผู้จัดพิมพ์เอกสารรุ่น 28 ในโอกาส 100 ปี ทั้งหมดด้วยตนเอง  โดยมีสุนันทา หุวะนันท์และเพื่อนๆหลายคนหาข้อมูลเพื่อนที่ขาดการติดต่อ จงกลเป็นกำลังสำคัญทำให้งานของรุ่น 28 สำเร็จเรียบร้อยอย่างดี  ควรค่าเป็นหนึ่งใน ”อักษรจร้ส”

นภัทร พุกกะณะสุต (สุธีรา ช่วยจุลจิตร์)

อักษรจรัส อบ.28

นภัทร  พุกกะณะสุต (สุธีรา ช่วยจุลจิตร์)

เป็นอักษรศาสตร์ที่เอาชนะความทุกข์ในชีวิตครอบครัวเนื่องจากลูกชายเป็นเด็กสมาธิสั้นผสมอาการออทิสติกอ่อนๆ และสามีก็เสียชีวิตตั้งแต่ลูกชายอายุเพียง 1 ขวบครึ่ง เธอได้สละชีวิตดำเนินการช่วยเหลือแม่ที่มีปัญหาเช่นเดียวกับเธอให้ยิ้มได้

นภัทรศึกษาต่อที่อังกฤษ  2  ปี  ได้วุฒิบัตรแต่ไม่จบโทเพราะคู่หมั้นต้องการให้แต่งงาน

การประกอบอาชีพ     

ไม่มีโอกาสประกอบอาชีพเป็นประจำเพราะต้องผจญกับความทุกข์และปัญหาหนักๆ ร้อยแปดแบบ  รวมทั้งอุบัติเหตุในรูปแบบต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ  นับตั้งแต่แต่งงานได้ 2  ปี  ความทุกข์(น่าจะ)ครั้งสุดท้ายคือ  ถูกผู้ร้ายแอบใส่ยาในเครื่องดื่ม  จนขาดสติ  ถูกคุมตัวไปธนาคารเบิกเงินให้ผู้ร้ายจนหมดตัว โชคดีที่ไม่ถูกฆ่าตาย 

การดำรงชีวิต             

1. หันหน้าเข้าหาธรรมะนับตั้งแต่เริ่มผจญทุกข์ครั้งแรก  จนรู้สึกสบายๆ....เฉยๆ....ไม่เป็นไร.....อะไรก็ได้.....อย่างไรก็ได้..........ไม่กลัวอะไรทั้งสิ้น

2.ไม่มีเงินใช้ในวัยผู้สูงอายุเหมือนในวัยสาวหรือวัยกลางคน  แต่ลูกสาวกตัญญูให้เงินใช้ทุกเดือน

งานปัจจุบัน               

ประธานชมรมผู้ปกครองบุคคลสมาธิสั้นแห่งประเทศไทย ก่อตั้งโดยสโมสรสุขภาพแห่งคลินิกศูนย์แพทย์พัฒนาและสนับสนุนโดยท่านเจ้าอาวาสและท่านผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก  นับตั้งแต่ ปี  2542  จนถึงปัจจุบันโดยไม่มีเงินเดือน  จึงไม่มีการเกษียณอายุ  ได้ให้คำปรึกษาผู้ปกครองที่มีฐานะและฐานะด้อยในชุมชน  ให้เลี้ยงดูลูกให้ประสบความสำเร็จในการเรียนและไม่สร้างความรุนแรงให้ครอบครัวและสังคม

   ลงชุมชนเสือใหญ่อุทิศ    

 

    กิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์

 

   กิจกรรมสร้างความภูมิใจให้เด็ก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จันทนี อินทรสูต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จันทนี อินทรสูต

อักษรจรัส อบ.28

 

จันทนี เป็นเพื่อนที่น่ารักโอบอ้อมอารี ยินดีช่วยเหลือเพื่อนทุกคน จันทนีมุมานะในการเรียนจนสำเร็จปริญญาโทและเอกจากสหรัฐอเมริกา  เมื่อออกมาสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้รับตำแหน่งคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ของสถาบันแห่งนี้ถึงสองสมัย

นอกจากนี้ยังได้รางวัลในการสอนดีเด่น  จันทนีหมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในวิทยาการสมัยใหม่ตลอดเวลา และได้
อุทิศตนให้กับวงการศึกษาโดยการสอนและฝึกอบรมตามที่ได้รับเชิญมาตลอดเวลา เพื่อนๆจึงเห็นว่าจันทนีเป็นเพชรเม็ดงามของวงการศึกษาและสมควรยกย่องให้เป็นอักษรจรัสของรุ่น 28

  

ความภูมิใจ    

ในขณะทำงานสถาบันได้รับโอกาสให้การอบรมวิธีสอนในระดับประถมแก่ครูตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศ 5 รุ่นๆละ 80 คน อาจารย์ทุกคนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งจึงได้อุทิศตนอย่างเต็มความสามารถในการอบรมและนิเทศ

ในสมัยยังศึกษาที่สหรัฐอเมริกา ได้มีโอกาสเป็น Teaching Assistant กับ Professor Dr. Johnson แห่ง UIUC ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการสอนแบบ Micro Teaching และได้นำมาเผยแพร่แก่อาจารย์ในวิทยาลัยครูทั่วประเทศ เมื่อกลับมาทำงานได้มีโอกาสร่วมงานกัน Professor Dr. Hauwiller ซึ่งเป็นศิตย์ของ Professor Dr. Bruce Joyce ปรมาจารย์ด้าน Models of Teaching และได้เผยแพร่การสอนแบบรูปแบบการสอนแก่อาจารย์วิทยาลัยครู(ในขณะนั้น)ทั่วประเทศ และแก่มหาวิทยาลัยอื่นๆและโรงเรียนมัธยมในกรุงเทพและต่างจังหวัด

 

เกียรติคุณ            

ได้รับรางวัลผู้สอนดีเด่นในวาระครบรอบ 100 ปี การฝึกหัดครูไทย พ.ศ. 2535

 

และ ได้รับรางวัลสมาชิกคุรุสภาผู้มีผลงานดีเด่นด้านการสอนของจังหวัดปทุมธานี พ.ศ. 2545

  

มาลิทัต พรหมทัตเวที

มาลิทัต  พรหมทัตเวที

เพื่อนอักษรศาสตร์   ชื่นชมยกย่องให้ รศ. มาลิทัต พรหมทัตตเวที   เป็นหนึ่งใน   "อักษร จรัส" รุ่น 28

มาลิทัต เป็นคนเรียนเก่งมากคนหนึ่งในรุ่น ตั้งแต่ชั้นเตรียมอุดมฯติดบอร์ดหนึ่งใน50คนของประเทศ สอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ได้ในลำดับต้นๆ แล้วยังสอบชิงทุน กพ.ได้ เป็นหนึ่งในสี่คนของนิสิตปีที่หนึ่ง ทำให้มาลิทัต ไม่มีโอกาสเรียนร่วมกับเพื่อนจนจบอักษรฯ แต่ไปเรียนปริญญาตรี (เกียรตินิยม) จนสำเร็จปริญญาโท  ที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา

มาลิทัต เริ่มสอนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ สุดท้ายที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเปิด  มีนักศึกษาจำนวนมากมาย สอนภาษาอังกฤษ แปล และล่าม วรรณคดีอังกฤษและอเมริกัน โดดเด่นในวิชา Mythology เป็นพิเศษ  มีผลงานเป็นตำราและหนังสือจำนวนมาก จนเกษียณฯก่อนอายุราชการ เพื่อทำงานอิสระที่ถนัด   อย่างเต็มเวลา        โดยไม่ต้องติดภาระหน้าที่ทางด้านบริหารและการสอนระดับปริญญาตรี และปริญญาโทที่มหาวิทยาลัย

นอกเหนือจากงานวิชาการ ในฐานะ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรมฯ ราชบัณฑิต อันทรงเกียรติ ปัจจุบันรับเชิญบรรยาย พิเศษให้กับหลายสถาบัน  นอกจากนี้ มาลิทัต ยังมี ช่วยแปลผลงานให้หน่วยงานราชการและอื่นๆอย่างต่อเนื่อง  โดยเฉพาะ การแปลวรรณกรรมเอกของไทยทั้ง ร้อยแก้ว และร้อยกรอง เช่น เงาะป่า ธรรมาธรรมะสงคราม  หลายส่วนของเรื่องพระอภัยมณี  จนได้รับรางวัล 'สุรินทราชา' สำหรับนักแปลอาวุโสดีเด่น เป็นเกียรติประวัติ

แม้ว่า มาลิทัต จะประสบปัญหาสุขภาพหนักหน่วงมาช้านาน แต่ ด้วยความอดทน มุ่งมั่น จิตใจเข้มแข็ง สู้ไม่ท้อถอย    และ มีทัศนคติที่ดีงาม รู้จักใช้ชีวิตให้รื่นรมย์ ด้วยการท่องเที่ยว และ ชื่นชมศิลปะอย่างมีสุนทรีย์ ทำให้ มาลิทัตเพิ่มพูนความรอบรู้ในศาสตร์ และศิลป์หลายด้าน เป็นประโยชน์แก่การแปลอย่างมหาศาล นับเป็นตัวอย่างอันดี แก่ผู้ประสบชตากรรมจากโรคภัยที่ร้ายแรงบั่นทอนจิตใจอย่างสาหัส ให้มีกำลังใจต่อสู้กับอุปสรรคทั้งปวงในชีวิตด้วยใจเป็นสุข ฝ่าฟันจนประสบความสำเร็จ ในหน้าที่การงานจึงได้รับเกียรติยศอย่างสูง

     

รศ. ดร. สุนทรี โคมิน

รศ. ดร. สุนทรี โคมิน

"สุนทรีสมควรเป็นหนึ่งใน’อักษรจรัสรุ่น 28’ เพราะเธอที่ใช้ความรู้ภาษาอังกฤษที่เรียนมาจากคณะอักษรศาสตร์ ไปหาความรู้และะศึกษาต่อจนจบปริญญาโท ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเลืองชื่อในอเมริกา ใครจะคิดฝันว่า เธอได้กลายเป็นนักวิจัยมีชื่อ เสียงโดดเด่นในระดับนานาชาติ ทางด้าน Social dimensions, Management Across Culture, Psychology of the Thai People"

ประวัติการทำงาน :

อาชีพ---อาจารย์เกษียณจากสำนักฝึกอบรม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

งานปัจจุบัน---เป็น Cross-Cultural Consultant/Trainer ของบริษัท Berlitz  Inter-national of New Jersey, USA. ทำงานฝึกอบรมพิเศษให้กับผูับริหารระดับสูงต่างชาติ ที่จะมาบริหารในบริษัทข้ามชาติในประเทศไทย และอบรมเรื่องต่างๆที่เกี่ยวกับการบริหาร องค์กรให้กับบริษัทต่างๆ เช่น Volvo, A.I.A., Redd-Barnar (Thailand), ESSO, UNOCAL, ICOP-CIDA, AVON, Mobil Oil, RECOFTC, BJKC (Thailand) ฯลฯ เป็นต้น

 

ผลงานที่สร้างชื่อเสียง :

RESEARCH AWARD: งานวิจัยเรื่อง“ค่านิยมไทย”("Thai value systems") ได้รับ รางวัลวิจัยดีเด่นประจำปี 1980 จากสภาวิจัยแห่งชาติ  

SENIOR  FULBRIGHT  SCHOLAR  AWARD:จากหนังสือที่เขียนจากผลงานวิจัยชื่อ Psychology of the Thai People ทำให้ได้รับคัดเลือกให้รับรางวัล Senior Fulbright Scholar Award ประจำปี 1991, ไปสอนที่ 8 มหาวิทยาลัยที่อเมริ กา และแคนนาดา ในปี 1992.

TEACHING  HONORS: ได้รับรางวัลอาจารย์ดีเด่น The Honor Plaque ร่วมกับ Prof. Dr. Richard Dykes, จากมหาวิทยา ลัยหอการค้าไทยหลักสูตร International MBA Program ในงานฉลองการครบรอบ 12th ปีของโปรแกรมในวันที่ 29 มีนาคม 1998.

งานเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ :

ไดัรับเชิญให้ไปเป็น Keynote speaker และให้เขียนบทความเสนอในที่ประชุมวิชาการนานาชาติที่อเมริกายุโรปและเอเซีย เป็นประจำ ร่วม 40 ครั้ง และตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทั้งในและต่างประเทศ ร่วม 100 รายการ บทความที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในต่างประ เทศ (International professional journals) เช่น  International Journal of Psychology, Journal of Personality and Social Psychology, United Nations Regional Dialogue of UNCRD (United Nations Centre for Regional Development), และ Asian Productivity Organization (APO), ฯลฯ เป็นต้น  นอกจากหนังสือที่ได้รับรางวัล และเป็นที่รู้จักของนานาชาติแล้ว ยังมีหนังสือและบทความที่ได้ตีพิมพ์และเป็นที่รู้จักในวารสารนานาชาติ เช่น "Management in Thailand" ใน International Encyclopedia of Business and Management, ตีพิมพ์โดย Thomson Business Press   ใน London, "Managing Across Cultures in Thailand”, “Thai Concept of Effective Leadership”, “Culture and Work Related Values in Thai Organizations", "Socio-Cultural Influence in Managing for Productivity in Thailand", และ "Cross-cultural management and productivity" for Asian Productivity Organization (APO) ในประเทศเนปาล ไต้หวัน อินโดนิเซีย สิงคโปรและญี่ปุ่น ฯลฯ เป็นต้น

 

 

เป็นผู้แทนนักเรียนทุนไทยต้อนรับประธานาธิบดีอเมริกา  

 

                        

 ได้รับรางวัลเป็น Senior Fulbright  Scholar จากท่านฑูตอเมริกาในไทย       

 

     

เป็น Panelist ในการประชุมสหประชาชาติที่ประเทศญี่ปุ่น

 

รศ.ดร เฉลิมศรี (นันทเสนีย์) จันทร์อ่อน

อักษรจรัส อบ.28

รศ.ดร  เฉลิมศรี  (นันทเสนีย์)    จันทร์อ่อน

"เฉลิมศรีเป็นเพื่อนคนหนึ่งที่เก่งภาษาอังกฤษมาก เมื่อจบปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2    จึงได้รับเกียรติให้เป็นอาจารย์ในภาควิชาภาษาอังกฤษของคณะอักษรฯและเรียนต่อจนจบปริญญาโท แล้วได้รับทุนไปศึกษาขั้นปริญญาโทด้วยทุน East West Center ที่มหาวิทยาลัยฮาวาย จึงได้รับเกียรติให้เป็นอาจารย์ในภาควิชาภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัย   ก่อนไปศึกษาขั้นปริญญาเอกในมหาวิทยาเนบราสกา สหรัฐอเมริกา 

 นอกจากการสอนระดับปริญญาตรีและปริญญาโท วิชาวรรณคดีอังกฤษ ในคณะอักษรศาสตร์ ยังได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษ   ในหลายมหาวิทยาลัย ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยศรี       นครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยเอกชน เช่น มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

- มีผลงานทางวิชาการ ทั้งที่เป็นตำราหลายบทความ  ได้แก่ ประวัติละครอังกฤษ ๑: กำเนิดละครตะวันตก ละครอังกฤษ ในศตวรรษที่สิบเก้า  

 - งานแปล ยูจีน โอ’นีล เป็นประวัติชีวิตและผลงานของนักเขียน บทละครอเมริกัน 

  จัดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติหลายครั้ง  ที่ร่วมงานกับ USIS

ผลงานทางการสอนวรรณคดีภาษาอังกฤษและการแปล เป็นที่ประจักษ์ แก่อาจารย์ภาษาอังกฤษในมหาวิทยาลัยต่างๆ  

 

เกียรติประวัติ     

เป็นกรรมการราชบัณฑิตถึง 3 ชุด  

ทำงานทางธรรม ด้วยการ   * เป็นกรรมการมูลนิธิถาวรจิตตวโร-วงศ์มาลัย  * เป็นกรรมการมูลนิธิศาลาพระราชศรัทธา

 

เฉลิมศรี ได้ใช้ความรู้ทางภาษาจากคณะอักษรศาสตร์ ไปต่อยอดทำให้ชีวิตและการทำงานของเธอประสบความสำเร็จอย่างดี  สร้างคน สร้างงานทีเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ  จึงควรเป็นหนึ่งใน”อักษรจรัส” ของรุ่น 28

 

วารินทร์ มาศกุล

วารินทร์  มาศกุล

เป็นเพื่อนที่ธรรมะธรรมโมที่สุดในอักษร รุ่น 28   ใจเย็น ช่วยเหลือเพื่อนทุกคน โดยเฉพาะเพื่อน 2 คน ที่เจ็บป่วย เธอไปเยี่ยมเยียนดูแลรักษาบัญชี ส่งเงินให้เพื่อนรายเดือน จนเพื่อนผู้นั้นจากโลกนี้ไปแล้ว  จึงปิดบัญชี  เธอจะต้องปฏิบัติเข่นนี้ กับเพื่อนๆคนอื่นต่อไปหากเธอยังแข็งแรงอยู่ผลงานของเธอ นอกจากทางวิชาการ ซึ่งเธอเคยเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯฝ่ายมัธยม  เป็น หน.ภาควิชาสารัตถศึกษา คณะครุศาสตร์ แล้ว  ยังเป็นกรรมการบริหาร ของยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

ที่คณะครุศาสตร์  นอกจากเป็นอาจารย์ในสาขาวิชาภูมิศาสตร์แล้ว ยังสนใจสอนวิชาธรรมวิทยา  และจัดกิจกรรมให้นิสิตที่เรียนวิชาดังกล่าวมาปฏิบัติธรรมเป็นเวลา 2 วัน  1 คืน ที่ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยฯ  ตั้งแต่ พ.ศ. 2535  เป็นต้นมา   และจัดให้มีกิจกรรมตักบาตรวันพุธ  สำหรับนิสิตและบุคลากรคณะครุศาสตร์ ต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2543 จนถึงปัจจุบัน

       

ส่วนงานของยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยฯ นั้น ได้เป็นกรรมการบริหารติดต่อกันมา 40 ปี ทำหน้าที่บริหารในตำแหน่งต่างๆ จนในช่วงหลังเป็นอุปนายก และประธานกรรมการวิชาการ  ดูแลการก่อตั้งและดำเนินงานของศูนย์วิปัสสนายุวพุทธฯสวนประไพรธรรม อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร

ในงานวิชาการ  นอกจากดูแลสนับสนุนการจัดอบรมวิปัสสนากรรมฐานแล้ว  ยังจัดโครงการภาคปริยัติให้มีการศึกษาอภิธรรม  การบรรยายพระสูตร ศึกษาภาษาบาลี  รวมทั้งงานสืบทอดวัฒนธรรมชาวพุทธฯ  ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี  ได้แก่โครงการเทศน์มหาชาติ เทศน์ทศชาติ

เทศน์พระมาลัย  สาธยายพระไตรปิฎก  และทำบุญวันเกิดแบบชาวพุทธ เป็นต้น

วารินทร์  มีความภาคภูมิใจที่ได้ใช้วิชาความรู้จากคณะอักษรศาสตร์ทำคุณประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ

ศาสตราจารย์ ดร. ศรีเรือน แก้วกังวาล

 ศาสตราจารย์ ดร. ศรีเรือน แก้วกังวาล

ศรีเรือนเป็นเพื่อนอักษรรุ่น 28 เพียงคนเดียวที่ได้เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ เป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมทั้งทางด้านวิชาการ การเขียนตำรา งานวิจัย งานเขียน ทั่วไป งานสอน งานบริหาร และงานบริการการชุมชน อีกทั้งได้รับรางวัลดีเด่นมากมาย หนังสือตำรา จิตวิทยาพัฒนาการทุกช่วงวัย หนังสือเหล่านั้นได้ใช้สอนในมหาวิทยาลัยหลายแห่งจนถึงปัจจุบัน  ได้รางวัล ผู้เขียนดีเด่นด้านจิตวิทยา นักจิตวิทยาดีเด่น เช่น University of Maryland Fellowship,  Harvard Yenching Scholarship, American Award for University Women

ดร.ศรีเรือน  แก้วกังวาล รับราชการเป็นอาจารย์สอนวิชาจิตวิทยาหลายสาขาในระดับปริญญาตรี โทและเอก ทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เกษียณอายุราชการในตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติคุณ  ซึ่งนับเป็นตำแหน่งทางวิชาการระดับสูงสุดของผู้รับราชการมหาวิทยาลัย จุดเด่นของศรีเรือน  ได้แก่สามารถเขียนตำรา และกึ่งตำราในศาสตร์จิตวิทยาที่อ่านง่าย ใช้ภาษาสละสลวย ทำเรื่องที่เข้าใจยากซับซ้อนให้เป็นเรื่องง่าย มีงานเขียนด้านนี้ถึง 20 กว่าเล่ม ซึ่งมากกว่านักวิชาการด้านจิตวิทยาร่วมสมัย บางเล่มยังใช้เป็นตำราสอนในมหาวิทยาลัยต่างๆ จนถึงปัจจุบัน หลายเล่มพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง ที่มากที่สุดคือพิมพ์ซ้ำ 18 ครั้ง   มีงานวิจัยทางจิตวิทยา ที่มีการตีพิมพ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ ยังมีแบบทดสอบทางจิตวิทยาที่มีผู้ขอใช้จนถึงปัจจุบัน  มีงานแปลทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ได้เขียนกลอนทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยจำนวนหนึ่ง มีหนังสือท่องเที่ยว 4 เล่ม บางเล่มพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง   ด้านบริหารได้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในระดับภาควิชา คณะและมหาวิทยาลัย ทางด้านบริการทางวิชาการแก่สังคม ได้รับเชิญไปบรรยาย ณ องค์กรและมหาวิทยาลัยต่างๆ  ร่วมทำปทานุกรมภาษามือไทยกับชาวต่างประเทศ ซึ่งยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน ถวายความรู้ด้านจิตวิทยาแก่พระสงฆ์ ออกอากาศทางวิทยุ นานาสาระจิตวิทยา          และตอบปัญหาจิตวิทยา อาสาสมัครสอนภาษาไทยแก่ชาวต่างประเทศ ณ วัดไทยวอชิงตัน ดี. ซี. จัดหาทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ และเด็กพิเศษหลายกลุ่ม ปัจจุบันยังทำหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งโทและเอก นับตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน ประมาณ 200 กว่าหัวข้อ 

 

             

               

                     

ด้านวิชาการ ตำแหน่งสูงสุดคือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สาขาจิตวิทยา ด้านบริหาร เป็นประธานโครงการปริญญาโท จิตวิทยาอุตสาหกรรม ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
                 

ศรีเรือน จึงเป็นดาวรุ่งดวงหนึ่งที่จรัสเจิดจ้า ของคณะอักษรศาสตร์ ที่ทำคุณแก่ประเทศ ด้านวิชาการและด้านการบริการชุมชน

ศุภรา (ศยามานนท์) หงส์ลดารมภ์

ศุภรา (ศยามานนท์) หงส์ลดารมภ์

ศุภราเป็นคนสวยที่สุดคนหนึ่งในรุ่น 28 และยังสวยไม่สร่างในวัย 70 ปี เธอติดบอร์ดหนึ่งใน 50 ของประเทศ และสอบได้เข้ามาเรียนในคณะอักษรศาสตร์ เนื่องจากได้รับการเรียนรำละครไทยตั้งแต่อยู่ชั้นประถม เธอจึงได้รับคัดเลือกให้ร่วมแสดงในงานประจำปีของคณะทุกครั้งตั้งแต่ปีแรกจนถึงปีสุดท้าย เธอเป็นที่รักของเพื่อนๆ ได้เป็นประธานรุ่นนานหลายปี และเป็นศูนย์กลางติดต่อให้เพื่อนๆ ได้รวมกันเป็นกลุ่ม พบปะสังสรรค์ เดินทางท่องเที่ยว และทำกิจกรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ทำให้เกิดความสนุกสนานสามัคคีในหมู่เพื่อนๆ รวมรุ่น

   

 

 

 

 

 

 

ศุภรารับราชการที่กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติในสมัยนั้น เป็นเวลา 5 ปี และหลังจากกลับมาจากสหรัฐอเมริกา เธอได้เข้าทำงานที่บริษัทสายการบิน เค.แอล.เอ็ม. รอยัลดัทช์ แอร์ไลน์ 25 ปี เธอได้ใช้วิชาความรู้ความสามารถ คุณธรรม และจริยธรรมที่ได้ศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ มาเป็นแนวทางในการทำงานให้ประสบความสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

ได้ทำงานให้สมาคมศิษย์เก่าอักษรศาสตร์ในตำแหน่งเหรัญญิก 3 สมัย บริหารเงินของสมาคมให้เกิดประโยชน์สูงสุด และได้ร่วมกิจกรรมสมาคม จัดกอล์ฟ โบว์ลิ่ง และจัดงาน “อักษราลีลาศ” ทุกปีแม้จะหมดวาระเป็นกรรมการก็ทำต่ออีก 3 – 4 ปี ช่วยดำเนินงานของสมาคมเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส และกองทุนบรมราชกุมารี 

 

     

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ศุภรา ชอบออกกำลังกายด้วยการลีลาศเพื่อสุขภาพกายที่ดี ด้านสุขภาพจิต เธอได้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม ปฎิบัติธรรม เจริญกุศลสักการะ และร่วมห่มผ้าพระธาตุเจดีย์ และทำบุญกุศลทางพระพุทธศาสนาเนืองๆ  รวมทั้งร่วมงานกุศลรื่นเริงต่างๆ  ทำให้ชีวิตดำเนินด้วยความสุข สุขภาพแข็งแรง และเอื้อประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งมีครอบครัวที่ดี ด้วยความสำเร็จของลูกๆ ที่มีคุณธรรม จริยธรรม เพื่อตอบแทนพระคุณของแผ่นเดินต่อไป

 

     
       

 

 

 

 

 

 

สมศรี ไชยเชษฐ์ (เต็งไตรรัตน์)

สมศรี มาจากครอบครัวที่มีลูก11คน การที่จะส่งเสียให้ทุกคนเรียนถึงระดับมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งที่ยาก ขณะที่เธอเรียนชั้นมัธยมในจังหวัดน่าน ได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆและเลื่อมใสในศาสนาคริสต์ จึงได้เปลี่ยนมานับถือคริสต์เมื่อ พ.ศ.2500  เธอปรารถนาที่จะเรียนมหาวิทยาลัย ราวกับพระเจ้าประทานพร เธอได้ทุนเรียนจนจบอักษรศาสตร์และได้ทุนต่อจนจบปริญญาโทจากสหรัฐอเมริกา  

เธอมุ่งมั่นทำงานตอบแทนสังคมหลายแห่ง ในที่สุดได้เป็นอาจารย์ใหญ่ที่โรงเรียนดาราวิทยาลัย และได้ทำให้โรงเรียน.มีชื่อเสียงเป็นที่หนึ่งของโรงเรียนสตรีในภาคเหนือ จากความสำเร็จในหน้าที่การงานและครอบครัว เพื่อนๆจึงขอยกย่องและมอบตำแหน่งอักษรจรัสของรุ่น28 ให้แก่สมศรี     

                 

         

งานชุมชน-สังคม

- อุปนายกสมาคมโรงเรียนเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ 2540 – 2542

-นายกสมาคมโรงเรียนเอกชนเมืองเชียงใหม่ (เขตอำเภอเมือง) 2541-2544

- ประธานสตรีคริสเตียนสภาคริสตจักรในประเทศไทย 2 สมัย 8 ปีค.ศ. 2003-2100

- ประธานโครงการบ้านใหม่ (โครงการฝึกอาชีพให้หญิงขายบริการที่ต้องการเลิกอาชีพเดิม) 2531-2540 

วิทยากรบรรยายเรื่องเกี่ยวกับสตรี บ้านและครอบครัว

- กรรมการกองการศึกษาสภาคริสตจักในประเทศไทย 2538-2541       

ด้านต่างประเทศ

-กรรมการ Asian Church Women Conference ในฐานะผู้แทนประเทศไทย 2541-2544                 

-ประธาน Program Committeeของ Christian Conference of ASIA ด้าน สตรี และการศึกษา

สาวิตรี (โชติกุญชร) สุวรรณสถิตย์

เป็นอักษรศาสตร์ รุ่น 28   ที่ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศอย่างมากทั้งในระดับประเทศและในระดับระหว่างประเทศ เธอสมควรเป็น “อักษรศาสตร์ดีเด่น” มากกว่าเป็นแค่ “อักษรจรัส”   เธอได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นหนึ่งใน “สตรีดีเด่น”ในเวทีเครือข่ายระดับสากล ประจำปี 2557

นุ้ย สาวิตรี เรียนเก่งมากตั้งแต่ชั้นมัธยม เธอสอบได้เป็น 1 ใน 50 คนแรก  ที่ได้คะแนนยอดเยี่ยมของประเทศ ได้ทุนกพ.ตามความต้องการ ของกระทรวงศึกษาธิการขณะที่เรียนอักษรฯปี 1   ไปศึกษาต่อปริญญาตรีที่ university of Cincinnati  

ถึงแม้ว่าเธอจะเรียนอยู่ได้ไม่ถึงหนึ่งปี แต่เธอก็ใกล้ชิดเพื่อนรุ่น 28 เสมอ เป็นเพื่อนที่มีอัธยาศัยดี เป็นมิตรกับเพื่อนทุกคน   มีความรู้ลึกและกว้างขวางโดยเฉพาะด้านศิลป วัฒนธรรม และมรดกโลก

ในฐานะที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรม สาวิตรีเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เธอมีความเห็นว่า    “วัฒนธรรมมีอำนาจในการผลักดัน เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ รวมถึงปัญหาความยากจน ความไม่เท่าเทียมกัน รวมทั้งการสร้างเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมในอนาคต” เธอเสนอให้ “วัฒนธรรมเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะพัฒนาสังคมให้ยั่งยืนได้” นอกจากนี้ เธอมองว่า “มรดกทางวัฒนธรรมสามารถนำมาเป็นองศ์ประกอบเพื่อสร้างสรรทางเศรษฐกิจ”     

 * ทำสารคดีรายการสุดหล้าฟ้าเขียวชุดมรดกโลกด้านวัฒนธรรมในประเทศต่างๆ

* เขียนหนังสือและบทความจากความรู้และประสบการณ์จากการเดินทางสู่มรดกโลกเหล่านั้น

*  ได้รับรางวัลที่องค์กรต่างๆได้มอบให้ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

*  จัดนิทรรศการภาพเขียนสีน้ำของตนเอง 3  ครั้ง และได้วาดภาพสีน้ำให้เพื่อนรุ่น 28 ที่ใกล้ชิดหลายคน    

      สาวิตรีรับใช้ประเทศชาติอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย มักจะมีเรื่องเร่งด่วนให้ทำติดต่อกัน ต้องเดินทางไปบรรยาย สัมภาษณ์  ไปประชุมทั้งในประเทศและต่างประเทศจนแทบไม่มีเวลาดูแลหลานที่เป็นแก้วตาของเธอ                                                                 

       สาวิตรี ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง รักษาสุขภาพดี ทำให้รูปร่างไม่เปลี่ยนแปลงแม้ในวัย 70 ปีกว่า เธอยังมีหุ่นเหมือนเมื่อเป็น drum mayor ไม้ที่หนึ่งในจุฬา เธอมองโลกในแง่ดีเสมอ ทั้งยังปฏิบัติสมาธิเป็นประจำ ทำให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตดี สามารถทำงานให้แก่ประเทศได้อย่างดีต่อไปอีกนาน                                                             

 

ผลงานดีเด่น

*เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยไปประชุมด้านวัฒนธรรมไทยในการประชุมอาเซียนและยูเนสโก

*เป็นประธานการประชุมสมัยสามัญของยูเนสโก ณ กรุงปารีส เรื่องการศึกษา สิทธิมนุษยชน

*เป็นประธานที่ประชุมระดับภูมิภาคและนานาชาติ เรื่องวัฒนธรรมในกรอบของยูเนสโก อาเซียน

*เป็นประธาน APEC Education Forum อยู่ในวาระ ๓ ปี

*เป็นวิทยากรบรรยายเรื่องการศึกษาในการประชุมของกลุ่มยุโรป และเอเชีย                                                                                          

   

 

เสนอชื่อบุคคลเป็นบุคคลสำคัญของโลกต่อยูเนสโก เช่น

-  ม.ล.บุญเหลือเทพยสุวรรณ                  ปี 2555        

 - พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ปี 2556

สุจิตรา กลิ่นเกษร

สุจิตรา เป็นเพื่อนอักษรที่เรียนภาษาไทยเป็นวิชาเอก  จึงได้ใช้ประโยชน์อย่างมากจากวิชาที่เรียนในการทำงานที่ราชบัณฑิตยสถาน  เธอต้องฝ่าฟันอุปสรรค์เกี่ยวกับสุขภาพโดยต้องผ่าตัดลิ้นหัวใจถึง 2 ครั้ง งานที่เธอภาคภูมิใจที่สุดคือการจัดทำพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2550 ร่วมกับ NECTEC ในรูปแบบ CD-ROM ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชสมบัติครบ 50 ปี จำนวน 50 000 แผ่น มอบให้แก่โรงเรียน ส่วนราชการและองค์กรเอกชนต่างๆให้เขียนคำไทยได้ถูกต้อง

          

หลังเกษียณด้วยวัย 75 ปี เธอมีสุขภาพแข็งแรงพอควรและยังทำงานอย่างเข้มแข็งที่โครงการสารานุกรมไทย ศาสตรจารย์กิตติคุณไพทูรย์ พงศะบุตร เลขาธิการได้ขอให้เริ่มทำสารานุกรมไทยฯ ฉบับเสริมการเรียนรู้ ฉบับแรกตั้งแต่ พ.ศ. 2548  ถึง 2559 เป็นเล่มที่ 22  จำนวนพิมพ์ แต่ละเล่ม 30 000 ฉบับ  แต่ละเล่มได้รับความนิยมเป็นที่สนใจของผู้อ่านทุกระดับ ทุกวัย    ทุกเล่มมีการจัดพิมพ์ซ้ำ ตั้งแต่ 6-12 ครั้ง

นอกจากนี้ เธอได้ช่วยให้เพื่อนๆ ให้ทำบุญบริจาคหนังสือสารานุกรมไทยฉบับเยาวชนฯโดยเป็นธุระจัดส่งหนังสือให้โรงเรียนที่เพื่อนๆต้องการบริจาค                                                                                                                                    

           

                                                                                                            

งานของสุจิตราไม่ใช่เพียงนั่งโต๊ะทำหนังสือ เธอต้องออกไปเป็นวิทยากรเผยแพร่เนื้อหาความรู้ที่บรรจุใน หนังสือให้แก่นักเรียนในโรงเรียนต่างๆด้วย เช่น รร.จิตรลดา รร สตรีนนทบุรี  รร ไทยรัฐวิทยาการได้มีมาทำงานที่โครงการสารานุกรมไทยฯ  เป็นโอกาสที่สำคัญในชีวิตที่ยิ่งใหญ่และเป็นสิริมงคลยิ่ง    คือ    ได้รับสนองพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีพระราชปรารภว่า “การเรียนรู้ในเรื่องราว         

และวิชาการสาขาต่าง ๆโดยกว้างขวาง เป็นเหตุให้เกิดความรู้ความคิดและความฉลาด ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญ ที่สุด สำหรับชีวิต สร้างความเจริญให้แก่ตนเอง ทั้งแก่สังคม และ บ้านเมือง อันเป็นที่พึ่งอาศัยได้ทุกคน จึงควรมีโอกาสที่จะศึกษาหาความรู้ได้ตามความประสงค์  และตามกำลังความสามารถโดยทั่วกัน"

 

สุจิตรา เคารพ รักและกตัญญูต่ออาจารย์ศาสตราจารย์ไพฑูรย์ พงศะบุตร อย่างมาก   ปัจจุบัน   ท่านสุขภาพไม่แข็งแรง เธอได้ช่วยแบ่งเบาภาระการทำงานที่สารานุกรมของท่าน ดูแลท่าน เธอภูมิใจที่สามารถทำงานสารานุกรมให้บรรลุผลตามพระราชปรารภของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  โดยที่ไม่ได้เงินเดือนเป็นค่าตอบแทนการทำงาน  เธอจึงสมควรได้รับการเชิดชูให้เป็นหนึ่ง  “อักษรจรัส”  ของรุ่น   

สุทธี ชโยดม (วงศ์สุรวัฒน์)

นางสุทธี ชโยดม สุทธีที่เพื่อนรู้จักใส่แว่นตาหนาเตอะ ดูเป็นหนอนหนังสือ มักพบตัวได้ที่หอสมุดกลาง แต่สุทธีก็ทำให้เพื่อน ๆ แปลกใจ เมื่อมาเล่นละครตอนปีสี่คู่กับรำไพเป็นท้าวสามลกับเจ้าเงาะที่ทำให้เพื่อน ๆ หัวเราะกันท้องคัดท้องแข็งและยิ่งประหลาดใจมากขึ้น เมื่อได้รู้ว่าสุทธีกลายมาเป็นอาจารย์สอนวิปัสสนากรรมฐาน และเป็นผู้วางรากฐานการเผยแผ่การปฏิบัติธรรมในสายของท่านอูบาขิ่นที่สอนโดยท่านอาจารย์โกเอ็นก้า โดยเริ่มงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531หลังจากลาออกจากงานที่ UN เพื่อมาหาความหมายของชีวิต

หลังจากที่รับพระราชทานปริญญาในปี 2506 แล้ว สุทธีได้ไปเรียนต่อที่ University of Pittsburgh ได้ปริญญาโทในสาขาห้องสมุดและวิทยาการสารสนเทศ (Master of Library and Information Science) เมื่อปี 2508 และทำงานหาประสบการณ์อยู่ที่สหรัฐอีกสองปี ชีวิตการทำงานในประเทศไทยของสุทธีวนเวียนอยู่กับองค์การระหว่าง ประเทศ เช่น ILO Regional Office และ UN ESCAP โดยตำแหน่งสุดท้ายเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศ (Documentation and Information Officer) ในแผนกเกษตรของ ESCAP ดูแลงานประชาสัมพันธ์ เก็บข้อมูล ทำ Newsletter เกี่ยวกับพัฒนาการด้านการใช้ปุ๋ยเคมีในประเทศสมาชิกในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก การทำงานทำให้ต้องเดินทางไปติดต่องานในประเทศต่าง ๆ ได้เห็นความหลากหลายของชีวิตในประเทศด้อยพัฒนา ทำให้เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองถึงความหมายในชีวิตและตัดสินใจลาออกจากงาน ในปี 2530

การรับใช้ธรรมะ

ความเปลี่ยนแปลงในชีวิตเกิดขึ้น เมื่อได้เข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในสายของท่านอูบาขิ่นที่สอนโดยท่าน อาจารย์โกเอ็นก้า ในเดือนมีนาคม 2531 และได้ถูกขอให้แปลคำสอนและธรรมบรรยายของท่านอาจารย์โกเอ็นก้าเพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจการปฏิบัติธรรมชาวไทย และต่อมาเมื่อท่านเดินทางมาแสดงปาฐกถาธรรมเป็นครั้งแรกที่ ธรรมสถาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ 6 กันยายน 2532

ในหัวข้อเรื่อง “วิปัสสนากรรมฐาน: ศิลปะในการดำเนินชีวิต” และในปีถัดมา ณ สถานที่เดียวกันเรื่อง “สัมปชัญญะ” ก็ได้รับคำขอให้ทำหน้าที่ล่าม อันเป็นจุดเริ่มต้นของงานเผยแผ่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในแนวทางที่สอนโดยท่านอาจารย์โกเอ็นก้าในประเทศไทย โดยทำหน้าที่เป็นผู้แปลคำสอนและธรรมบรรยายในหลักสูตรต่าง ๆ ของท่านอาจารย์โกเอ็นก้าอันมี หลักสูตรพื้นฐาน10 วัน หลักสูตรสติปัฏฐาน หลักสูตรระยะสั้น 1วัน และ 3 วัน รวมทั้งหลักสูตรระยะยาว 20 วัน 30 วัน 45 วัน และ 60 วัน โดยได้
รับการแนะนำและคำอธิบายจากท่านอาจารย์โกเอ็นก้าอย่างใกล้ชิด

การสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรม

ได้ร่วมกับนายนิรันดร์ ชโยดม คู่สมรสและศิษย์ในแนวทางนี้ก่อตั้งสถานปฏิบัติธรรมขึ้นในประเทศไทย เป็นแห่งแรกคือ ศูนย์ปฏิบัติธรรม “ธรรมกมลา” ที่จังหวัดปราจีนบุรี และได้อุทิศที่ดินร่วมกับนายนิรันดร์สร้าง ศูนย์ปฏิบัติธรรม“ธรรมอาภา” ที่จังหวัดพิษณุโลกปัจจุบันมีศูนย์ปฏิบัติธรรมในแนวทางนี้อยู่ 9 ศูนย์ ที่จังหวัดปราจีนบุรี พิษณุโลกขอนแก่น กาญจนบุรี กรุงเทพฯ นครศรีธรรมราช ลำพูน จันทบุรี และอุดรธานี

ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากรรมฐาน

ร่วมก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อการเผยแผ่การปฏิบัติธรรมในปี 2534และได้รับพระเมตตาจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาปรินายกทรงรับไว้เป็นมูลนิธิในพระสังฆราชูปถัมภ์เมื่อปี 2537

การเผยแผ่การปฏิบัติธรรม

สุทธีเป็นผู้บุกเบิกและเป็นวิทยากรคนแรกที่เข้าไปอบรมการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานหลักสูตร 10 วันให้แก่ผู้ต้องขังหญิงในทัณฑสถานบำบัดพิเศษคลองไผ่ โดยได้รับความร่วมมือจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ในยุคนั้น คือ คุณศิวะ แสงมณี อนุญาตให้เข้าไปอยู่ในสถานที่อบรมตลอดระยะเวลาการอบรมโดยได้รับความบันดาลใจ จากการที่ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าได้ไปจัดอบรมให้แก่ผู้ต้องขังจำนวนกว่า 1,000 คน ที่เรือนจำ Tihar ประเทศอินเดีย ซึ่งก่อให้เกิดความตื่นตัวและมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติธรรมในเรือนจำในหลาย ๆประเทศ นอกจากในประเทศไทย สุทธียังได้รับเชิญไปให้การอบรมวิปัสสนากรรมฐาน หลักสูตร 10 วันแก่ผู้ปฏิบัติชาวต่างชาติ ที่ประเทศนิวซีแลนด์ อินโดนีเซีย จีนและมองโกเลีย

ได้รับแต่งตั้งจากท่านอาจารย์โกเอ็นก้าให้เป็นผู้ดูแลการเผยแผ่ธรรมะในประเทศไทยและบางประเทศในเอเชีย จนถึงปี 2555 ได้ขอลาออกจากตำแหน่งหน้าที่ก่อนท่านอาจารย์ถึงแก่กรรม 2 ปี ด้วยปัญหาสุขภาพทั้งของตนเองและคู่สมรสแต่ยังคงให้ความช่วยเหลือแนะนำการดำเนินงานในประเทศไทยตามกำลังความสามารถมาโดยตลอด

สุรีย์ พันเจริญ

สุรีย์ เป็นคนเก่งด้านการเรียน ตั้งแต่ระดับเตรียมอุดมศึกษา จบอักษรศาสตร์เกียรตินิยมและปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอนประเทศอังกฤษ เธอมีความสามารถในการเขียนกลอนตั้งแต่เรียนที่อักษรและเป็นประธานชมรมวรรณศิลป์ส.จ.ม.คนแรก

ต่อมาได้รับผิดชอบคอลัมน์นักกลอนในวารสารฉบับหนึ่ง

เธอได้ทำงานด้านสื่อสารมวลชนที่ BBC London ถึง 7 ปีและที่อสมท.ในระดับผู้อำนวยการ

  

 

ชีวิตนี้ทำอะไรบ้าง เรียนที่ซางตาครู้สคอนแวนต์ ซึ่งเป็นโรงเรียนคอนแวนต์เดียวที่ฝั่งธนฯ เข้าเตรียมอุดม จบโดยติดบอร์ดหนึ่งใน 50 คนแรก ที่คะแนนสูงสุดของประเทศไทย เข้าเรียนอักษรฯ เป็นประธานชุมนุมวรรณศิลป์คนแรกของจุฬาฯ ได้รางวัลกรรมการสโมสรดีเด่น 2 ปีซ้อน ได้เกียรตินิยม เรียนต่อโทที่คณะครุศาสตร์จนจบ อาจารย์บำรุงสุข สีหอำไพ ชวนไปสอนที่แผนกอิสระสื่อสารมวลชนซึ่งเพิ่งก่อตั้ง ไปช่วยทำหลักสูตรและสอนอยู่สองปีครึ่ง

เธอเป็นกรรมการในองค์กรทางวิชาการและสังคมหลายแห่ง   และที่สำคัญคือด้านศาสนาและวัฒนธรรม นอกจากนั้นเธอทำประโยชน์แก่สังคมมากมายเป็นต้นว่าอุปการะด้านการศึกษาภิกษุและนักศึกษา เธอเป็นเพชรงามของรุ่นสมควรเป็นอักษรจรัสของรุ่น 28

ได้ไปทำงานไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม เพราะไปแข่งกลอนจนคุณจำนง     รังสิกุล อยากได้ตัว ได้ทุนไปเรียนต่อ แล้วก็ไปทำงานที่ บีบีซี ลอนดอน 7 ปี     ได้  M. in Philosphie. จาก University of London ด้วย ได้ไปถอนสายบัวเฉพาะพระพักตร์ Queen Mum     ในพิธีรับปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย กลับมาทำงาน ที่ อสมท. เป็นหัวหน้าฝ่ายรายการวิทยุ ททท.และ ผู้อำนวยการสำนักข่าวไทย เป็นผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมยุวเกษตรกร ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพฯ ทำนิตยสาร เขียนคอลัมน์ เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา เป็นอนุกรรมาธิการ ของคณะอนุกรรมาธิการอีกหลายคณะฯ เป็นนักวิชาการ ฯลฯ  สนใจทางศาสนาก็เลยไปช่วยทำหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาหลายเล่ม ให้ทุนการศึกษาพระและนักศึกษาจบไปหลายองค์ หลายคน ปัจจุบันยังสนับสนุนทุนการศึกษาพระที่กำลังศึกษาอยู่ที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.)และที่วิทยาเขตขอนแก่นอีกองค์หนึ่ง

 

เฉลิม ม่วงแพรศรี

อักษรจรัส อบ.28

เฉลิม ม่วงแพรศรี  

เป็นเพื่อนอักษรศาสตร์ รุ่น 28 ที่ได้รับเกียรติสูงสุด เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง(ดนตรีไทย) ปี 2557

เฉลิม  ม่วงแพรศรี อาจจะเป็นหนึ่งเดียวในยุค 100 ปี อักษรศาสตร์ ที่เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง(ดนตรีไทย) 

ฉลิม ม่วงแพรศรี เป็นคนดีและคนเก่งที่สุดคนหนึ่งของอักษรศาสตร์รุ่น 28  ที่รับเกียรติยศหลายด้าน เช่น ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว    - ได้รับการยกย่องเป็น "ครูภูมิปัญญาไทย ด้านศิลป-วัฒนธรรม" จากสภาการศึกษา   - ได้รับเข็ม       "ครุสดุดี" จากครุสภา  - ได้รับรางวัล "คนดีสร้างคนดี"จากมูลนิธิระพี-กัลยา สาคริก   - ได้รับรางวัล "ภูมิปัญญาท้องถิ่นจากกรุงเทพมหานคร     - ได้รับโล่รางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ จากมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์   - ได้รับพระราชทานปริญญาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาดุริยางคศิลป์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล -  ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น "ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(ดนตรีไทย)" จากกระทรวงวัฒนธรรม      

 

เพื่อนๆ ทุกคนจะรู้ว่าเฉลิมอารมณ์เย็นเสมอ สุภาพ เรียบร้อย อ่อนน้อม ถ่อมตน เพื่อนๆ รักเฉลิมมาก เป็นศิษย์โปรดคนหนึ่งของท่านอาจารย์ฉลวย  วุฑาทิตย์   อาจารย์ผู่้สอนภาษาไทยและภาษาบาลี เพราะเฉลิมได้คะแนนสองวิชานี้ยอดเยี่ยมเป็นประจำ

 

เฉลิมเล่นซอได้ไพเราะเพราะพริ้งมาก ทั้งซอสามสาย ซอด้วง และซออู้ นอกจากนี้ยังสามารถประพันธ์เพลงไทยเดิมได้ไพเราะยอดเยี่ยม  

เพื่อนๆได้ร่วมกันจัดงานแสดงความยินดีกับเฉลิมเมื่อทราบข่าวว่าได้รับเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาดนตรีปี 2557  เฉลิมปลาบปลื้มมาก ได้นำวงดนตรีไทยของลูกศิษย์มาแสดงและได้เล่นซอสามสายเพลง   

บัวกลางบึงเถา ที่ตนเองแต่ง ซึ่งเป็นผลงานที่สร้างชื่อเสียงแก่เฉลิม  พวกเราฟังอย่างเคลิบเคลื้ม    ใครจะคิดว่าครั้งนั้นจะเป็นครั้งสุดท้ายที่พวกเราจะได้ฟังเสียงซอสามสายจากเฉลิมเพื่อนรัก

เฉลิมได้ด่วนจากโลกนี้ไปไม่ถึงหนึ่งปีหลังจากรับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี  

 

เฉลิมมีผลงานการประพันธ์ทางเดี่ยวซอสามสาย ซอด้วง และซออู้ มากกว่า 30 เพลง ผลงานการเผยแพร่และการแสดงดนตรีไทยทั้งในระดับชาติและนานาชาติกว่าร้อยรายการ   - ผลงานการบันทึกเสียงดนตรีไทยกว่า 50 รายการ  ชื่อเสียงของเฉลิม ม่วงแพรศรี จะยังคงอยู่อีกนานเท่านานแม้ตัวเฉลิมจะจากโลกนี้ไปแล้ว เฉลิมได้สร้างนักดนตรีทั้งอาชีพและสมัครเล่นในเวลา 50 ปี ทำให้มีนักดนตรีไทยและครูดนตรีไทยกระจายทั่วทุกภูมิภาคกว่า 5,000 คน ศิษย์ของเฉลิม จะสีบทอดวัฒนธรรมทางดนตรีไทยของชาติต่อไป 
 

 

เพียงใจ (สุวรรณมาลิก) บัณฑุรัตน์

เพียงใจ (สุวรรณมาลิก) บัณฑุรัตน์

เพียงใจ อักษรที่จรัสในใจเพื่อน มีชื่อเล่นว่า “แร้ง” ใครได้ยินแล้วก็อยากดูตัว ดูแล้วก็ผิดหวังเพราะไม่แร้งสมชื่อ แร้งเป็นเด็กเรียนดีที่ชอบทำกิจกรรมหลากหลาย เธอติดบอร์ดเป็นอันดับที่ 1 ใน 50 ของประเทศ ในการสอบวัดผลชั้นเตรียมอุดมศึกษา เมื่อเข้าเรียนในคณะอักษรศาสตร์ เธอเป็น “ดาวอักษร” เธอเป็นผู้แทนน้องใหม่ นำขบวนน้องใหม่เข้าหอประชุม เธอเป็นนักกีฬาบาสเกตบอลทั้งทีมอักษรและทีมจุฬา เมื่ออยู่ปี 4 เธอเป็นเลขานุการ ส.จ.ม. เป็นนิสิตกิจกรรมเสียจนเจ้าตัวบอกว่าต้องยืนลุ้นอยู่ในใจว่าจะติดเกียรตินิยมหรือไม่หนอ เมื่อยืนรอฟังท่านอาจารย์ ม.ร.ว. สุมนชาติ สวัสดิกุล ประกาศผลการสอบที่หน้าบันไดห้องกลาง เทวาลัย

     

เลขานุการ ส.จ.ม. เป็นตัวแทนนิสิต ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันเสด็จทรงดนตรี ในปี 2505 

 

หลังจากได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยม ในปี พ.ศ. 2506

เธอได้เข้าสอนในโรงเรียนนันทนศึกษาของบิดาอยู่ 1 ปี แล้วจึงไปศึกษาต่อที่ University of Alberta ประเทศ Canada ในสาขาการสอนภาษาอังกฤษ ด้วยทุน World University Service กลับมารับราชการเป็นอาจารย์ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ขณะเดียวกันข้ามทางรถไฟไปเป็นอาสาสมัครสอนวิชาภาษาอังกฤษแก่นักเรียนโรงเรียนจิตรลดา วันละ 1 ชั่วโมงด้วย ปีพ.ศ. 2520 ได้ขอโอนย้ายมารับราชการ สอนวิชาการอ่าน (ภาษาอังกฤษ) ที่สำนักภาษา (คณะภาษาและการสื่อสาร ในปัจจุบัน) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นอกเหนือจากงานสอน เธอได้ทำหน้าที่ทั้งทางด้านงานบริหาร-เป็นผู้อำนวยการสำนักภาษา และเป็นกรรมการในกิจกรรมต่างๆของสถาบันมาโดยตลอด จนขอเกษียณอายุในปี พ.ศ. 2544

แร้งเป็นหัวหน้ารุ่นอักษร 28 อยู่ยาวนาน นอกจากจะส่งจดหมายและโทรศัพท์นัดเพื่อนๆ มาร่วมสังสรรค์กันแล้ว แร้งได้ดูแลทุกข์สุขของเพื่อนๆมาตลอด เมื่อเพื่อนเจ็บไข้ได้ป่วย แร้งจะเป็นห่วงเป็นใย ชวนเพื่อนๆรวบรวมเงินไปเยี่ยมไข้และช่วยค่ารักษาพยาบาล และบางครั้งดูแลต่อไปถึงลูกกำพร้าของเพื่อน รวบรวมเงินเพื่อช่วยสนับสนุนการศึกษาของหลานด้วย

ในช่วงหลังแร้งเปลี่ยนหน้าที่ไปเป็นหัวหน้าทัวร์ประจำรุ่น ร่วมกับนักท่องเที่ยวผู้กว้างขวาง เช่น ผู้ว่าสิริเลิศ เมฆไพบูลย์ พาเพื่อนๆท่องเที่ยวไปทั่วไทย เหนือ ใต้ ออก ตก รวมทั้งต่างประเทศด้วย ทำให้เพื่อนๆได้รวมกลุ่ม สนุกสนาน สมัครสมานสามัคคีกัน แร้งได้กลายเป็น “แม่แร้ง” อีกตำแหน่งหนึ่ง เพราะใครอยากได้อะไร อยากกินขนมเค้ก กาแฟ ไอศกรีม อยากกินมันปิ้งข้างทาง ก็ต้องขออนุญาต “แม่แร้ง” แร้งได้ยึดโยงเพื่อนอักษรรุ่น 28 ให้เกาะกลุ่มกันมาโดยตลอด

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University