อักษรจรัส รุ่น 31

จีน่า เพื่อนตัวใหญ่ผมหยิกของพวกเรา ผูกและพันชีวิตไว้กับงาน อย่าว่าแต่เปลี่ยนงานและอาชีพเลย แม้แต่โต๊ะเก้าอี้และบริเวณที่นั่งทำงาน ก็ยังคงอยู่ที่เดิมตลอดเวลาเกือบ 40 ปีที่สร้างสรรค์ผลงานอันมีประโยชน์อเนกอนันต์ต่อการศึกษาของเด็กและเยาวชนของชาติ แม้เป็น“มนุษย์บ้างาน”จนร่างกายผ่ายผอมแต่ก็ทำให้แต่งชุดไทยได้สวย และยังชื่นชอบการแต่งตัวในสไตล์ของตัวเอง ที่ดูแตกต่างจากเพื่อนร่วมงานในกระทรวงครูแห่งชาติ เอกลักษณ์ประจำตัว คือ นุ่งยาว ถือร่มยาว สวมเครื่องประดับสวยงามแปลกตา
จีน่าเข้าสู่โลกหนังสือทันทีที่จบเป็นอักษรศาสตรบัณฑิตและไม่ยอมออกจากศูนย์พัฒนาหนังสือ กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ยกเว้นช่วงที่ได้รับทุนของกระทรวงฯ ไปศึกษาต่อที่ Florida State University สหรัฐอเมริกาพอจบปริญญาโทกลับมาก็ลุยงานการศึกษาสำหรับเด็กต่อทันที
ตลอดชีวิตการทำงาน จีน่าประยุกต์ใช้ความรู้ด้านอักษรศาสตร์และศาสตร์ใหม่ๆด้านการศึกษาสำหรับเด็กมาริเริ่มแนวคิดการสอนภาษาไทยเพื่อการสื่อสารบูรณาการทักษะการฟัง-พูด-อ่าน-เขียนในหลักสูตร พ.ศ. 2521 เริ่มพัฒนาสื่อการเรียนที่มีรูปลักษณ์น่าอ่าน ภาพประกอบสวยงาม ทั้งหนังสือเรียนและหนังสือเสริมประสบการณ์ในระดับประถมและมัธยม เช่น หนังสือเรียนภาษาไทยระดับประถม 1-6ชุดมานี-มานะ (มีการวางโครงเรื่องและนิสัยของตัวละครเอกอย่าง มานี ปิติ ชูใจ เพชร และม้าชื่อนิลมังกร ฯลฯ ให้เป็นจริงเป็นจัง ทำเอาเด็กๆ ‘อิน’ ไปกับหนังสือเรียนที่มีครบทุกรส ตั้งแต่ทุกข์ สุข เศร้า ตื่นเต้น ผจญภัย ว่ากันว่าผู้จัดทำถึงกับต้องทำวิจัยเก็บข้อมูลด้วยการถามเด็กๆว่าอยากให้เนื้อเรื่องเดินไปทางไหน อยากหรือไม่อยากให้ตัวละครตัวไหนตาย ฯลฯ) ตามโครงการจัดทำหนังสืออ่านเพิ่มเติมและส่งเสริมการอ่าน ริเริ่มหนังสือเรียนนอกวิชาภาษาไทยทั้งระดับประถมและมัธยม(นอกจากวรรณคดี) ริเริ่มโครงการอิสลามศึกษา จัดทำหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอนทั้งระดับประถมและมัธยม และยังจัดทำโครงการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านจากบ้านสู่โรงเรียน ขยายสู่สังคม ในระดับชาติ
ในช่วงกลาง ๆ งานของจีน่าขยายสู่การพัฒนาหนังสือในระดับประเทศและระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งระดับยูเนสโกประจำประเทศไทย กิจกรรมที่โดดเด่นคือการประกวดหนังสือดีเด่นประจำปี งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ซึ่งจัดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2515 จนถึงปัจจุบัน
ในช่วงปลาย ๆ จีน่าใช้เวลานอกการทำงานซึ่งมีทั้งงานเขียนและงานแปล หันมาลุยปลูกต้นไม้ ตั้งแต่กล้วยไม้ชวนชมไม้ดัดชาจนถึงกระบองเพชร!! บริเวณบ้านรกมาก จีน่าเล่าว่ามีงูมา(เห่า)ทักทายบ่อย ๆ กระนั้นก็ยังคงสนุกกับงาน พัฒนาแนวคิดการบรรณาธิการตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะบรรณาธิการหนังสือสำหรับเด็ก และกิจกรรมอีกหลากหลาย รวมทั้งการก่อตั้งสถาบันการแปลศูนย์พัฒนาหนังสือ ร่วมก่อตั้งสมาคมการแปลและล่ามแห่งประเทศไทย และเข้าร่วมโครงการสารานุกรมสำหรับเยาวชนฉบับส่งเสริมการเรียนรู้ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จีน่าได้รับการยกย่องเป็นครูภาษาไทยดีเด่นได้รับเข็มเชิดชูจากสมาคมการแปลฯ เข็มพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะเป็นกรรมการตัดสินการประกวดหนังสือดีเด่นประจำปีครบ 20 ปี และเข็มเชิดชูในฐานะกรรมการในโครงการสารานุกรมสำหรับเยาวชนฯ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย วัยที่เพิ่มขึ้นมิได้เป็นอุปสรรคในการทำงานและเป็นวิทยากร นักเขียน นักแปล ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

จากสาวตาหวานยิ้มง่ายผู้มีชื่ออันเป็นมงคลยิ่งจนใคร ๆ ก็อยากเห็นหน้าในสมัยเรียน  จุฬา เริ่มทำงานที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตจนได้เป็นผู้ช่วยหัวหน้ากองจัดหาในประเทศ  แล้วจึงมาปฏิบัติงานที่บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด  รับผิดชอบเกี่ยวกับงานจัดหา/พัสดุ  แล้วจึงเริ่มงานด้านคุณค่าทางสังคมเมื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำสำนักกรรมการผู้จัดการใหญ่  ได้ทำงานเกี่ยวข้องกับมูลนิธิสื่อสร้างสรรค์  มูลนิธิเด็ก  เครือข่ายด้านเด็กและครอบครัว   โครงการแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง เป็นต้น   จากนั้นงานของจุฬา ก็เกี่ยวพันกับการพัฒนาสังคมมาโดยตลอดจากงานพัฒนาบุคลากรของบริษัทบางจากฯ  งานพัฒนาเสริมสร้างด้านคุณธรรมขององค์กร  รับผิดชอบเชื่อมโยงเครือข่ายชุมชนทั่วประเทศในมิติของการพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนกับทุกภาคส่วนของสังคมโดยเน้นที่           ภาคประชาสังคม  ส่งเสริมทุนทางสังคมขององค์กร  ทั้งหมดนี้มีส่วนทำให้สาวน้อยจุฬากลายเป็นนักพัฒนาเอกชนในปัจจุบัน   เป็นอาสาสมัครจิตอาสาผู้ทำงานเพื่อสังคมไม่มีค่าตอบแทนนอกจากความภาคภูมิใจส่วนตนจนทุกวันนี้

            จุฬาเป็นนักรณรงค์ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมเกี่ยวเนื่องกับเด็ก เยาวชน สตรี  เครือข่ายครอบครัว                             สิทธิพลเมืองสิทธิทางการเมือง  คุณธรรมในธุรกิจ  การอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม  เป็น NGO ผู้มีบทบาทร่วมพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน  เสริมสร้างคุณธรรมในสังคม  สนับสนุนครอบครัวสัมพันธ์  เชิดชูภาคประชาสังคมผู้มีจริยธรรม  เป็นหนึ่งในพลังสังคมเพื่อมวลมนุษย์และประเทศชาติ  จึงเป็น “อักษรจรัส” ผู้มีบทบาทดีเด่นอีกหนึ่งรายในรุ่น อบ.31 นี้

 

กรแก้ว วิริยะวัฒนา

แก้วนำความรู้จากคณะอักษรศาสตร์ก่อตั้งโรงเรียนบ้านความรู้ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2533 ถึงปัจจุบัน สอนภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะภาษาอังกฤษและวิชาต่าง ๆ แก่ลูกศิษย์หลายวัยและหลากสาขาอาชีพ ได้ผลิตหนังสือ ตำราเรียน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี เช่น ชุดแนวข้อสอบภาษาอังกฤษเข้ามหาวิทยาลัย ชุด Better English Better Score หนังสือ Verb Tense ชุดเตรียมความพร้อมสำหรับชั้นอนุบาล ฯลฯ นอกจากนี้ยังจัดทำชุดสื่อการสอนภาษาอังกฤษ “Duo Teachers” ฝึกพูด ฟัง สำหรับเรียนด้วยตนเอง (Self Learning) หรือใช้แทนครูในโรงเรียนที่ขาดแคลนครูสอนภาษาอังกฤษ
แก้วเป็นนักบริหารจัดการ เพื่อน ๆ ประหลาดใจที่แก้วสามารถแบ่งเวลาให้กับงานอาชีพ งานการกุศล สังคม ครอบครัวและตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเป็นศูนย์กลางของเพื่อน ๆ หลายกลุ่ม เพื่อนมัธยม เพื่อนจุฬาฯ เพื่อนร่วมงานและเพื่อนงานกุศล ซึ่งแต่ละกลุ่มยังรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น เพราะมีแก้วเป็นศูนย์กลางนั่นเอง
แก้วมีโอกาสตอบแทนพระคุณสถาบันที่เคยศึกษา โดยเป็นนายกเบญจมราชาลัยสมาคมในพระบรมราชินูปถัมภ์ 4 สมัยต่อเนื่อง ได้เป็นกรรมการและที่ปรึกษาของสมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษา เป็นผู้จัดระดมทุนของ อักษรฯ 06 สนับสนุนการสร้างตึกบรมราชกุมารี เป็นสาราณียกรของหนังสือร้อยใจจุฬาฯ 06 ในโอกาสที่ชาวจุฬาฯรุ่น 2506 เข้ามหาวิทยาลัยครบ 50 ปี เป็นประธานรุ่นจัดทำทะเบียนประวัติอบ. 31 ในวาระครบ 100 ปี ของคณะอักษรศาสตร์
สำหรับงานเพื่อสังคมและองค์กรการกุศล แก้วมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือกิจการต่างๆ ด้วยความมีน้ำใจในหลายองค์กร เช่น เป็นกรรมการอาสากาชาด กิตติมศักดิ์กาญจนาภิเษก สภากาชาดไทย (พ.ศ. 2540-ปัจจุบัน) กรรมการอำนวยการ มูลนิธิเยาวชนสัมพันธ์ตำรวจนครบาล (พ.ศ. 2538-ปัจจุบัน) กรรมการอำนวยการสภาพัฒนาองค์การเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พ.ศ. 2552-ปัจจุบัน) กรรมการสมาคมสหพันธ์สตรีเพื่อสตรี (พ.ศ. 2553-ปัจจุบัน) ประธานร่วมชมรมสตรีไทยห่วงใยสุขภาพ เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา เบญจมราชาลัย ตลิ่งชัน (พ.ศ. 2554-ปัจจุบัน) ประธานโครงการมอบสื่อการสอนภาษาอังกฤษแก่โรงเรียน (พ.ศ. 2551-ปัจจุบัน) ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ คณะกรรมาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา (พ.ศ. 2554-2557) นายกองค์กรสมาชิก สภาสตรีแห่งชาติฯ (พ.ศ. 2551-ปัจจุบัน) ประธานฝ่ายวิชาการ สภาสตรีแห่งชาติฯ (พ.ศ. 2556-ปัจจุบัน) ที่ปรึกษามูลนิธิไทยรวมใจ (พ.ศ. 2558-ปัจจุบัน)
รางวัลและประกาศเกียรติคุณที่แก้วได้รับจากองค์กรต่างๆ ได้แก่ “เพชร 100 กะรัต 1 ศตวรรษ บร” จากเบญจมราชาลัยสมาคมในพระบรมราชินูปถัมภ์ เข็ม 5 ดาว เหรียญกาชาดสมนาคุณชั้น 1 และสดุดีศรีอาสา จากสภากาชาดไทย (พ.ศ. 2552, 2554 และ 2555 ตามลำดับ) เหรียญเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) จากมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย (พ.ศ. 2553) สตรีไทยดีเด่น จากสภาสตรีแห่งชาติ (พ.ศ. 2555) ประกาศเกียรติคุณจากคณะกรรมาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา (พ.ศ. 2557) อาสาสมัครดีเด่น จากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พ.ศ. 2558) แม่ดีเด่นแห่งชาติจากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2558) นักสังคมสงเคราะห์ดีเด่น จากมูลนิธิศาสตราจารย์ปกรณ์ อังศุสิงห์ (พ.ศ. 2559)
ด้วยผลงานและรางวัลประกาศเกียรติคุณต่างๆ ดังกล่าวนี้ แก้วจึงได้รับการคัดเลือกจากเพื่อนอักษรฯ 31 ให้เป็นคนหนึ่งในทำเนียบ “อักษรจรัส”

ดร.ดวงทิพย์ สุรินทาธิป

น้อยจบ ม.8 จากโรงเรียนราชินีบนโดยเป็นนักเรียนติดบอร์ดลำดับที่หนึ่งของสาขาอักษรศาสตร์  น้อยเรียนกับพวกเราแค่หนึ่งปีก็คว้ารางวัลเหรียญทองจากผลการสอบปลายปีการศึกษาปีที่หนึ่ง   จากนั้นน้อยรับทุนรัฐบาลไปเรียนต่อที่อังกฤษตั้งแต่ปี 2507-2520  น้อยได้ปริญญาตรีเกียรตินิยมทางวรรณคดีอังกฤษและฝรั่งเศสจากมหาวิทยาลัยเค้นท์  ปริญญาโทและเอกจากมหาวิทยาลัย
เอ็กซีเตอร์สาขาวรรณคดีฝรั่งเศส

น้อยกลับมาทำงานที่กระทรวงศึกษาธิการ  ตำแหน่งสำคัญที่เพื่อนๆจำได้คือผู้อำนวยการกองการสัมพันธ์ต่างประเทศ  รองผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การยูเนสโก ฯลฯ น้อยย้ายไปทำงานที่กระทรวง ICT จนได้เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับ 10  ที่ปรึกษา
ด้านต่างประเทศ  เพื่อนๆเคยแวะไปเยี่ยมน้อยที่ห้องทำงานสูงระฟ้าริมแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนน้อยจะเกษียณอายุราชการ

ช่วงทำงาน  น้อยมาสังสรรค์กับเพื่อนๆเป็นครั้งคราว พวกเราได้เจอน้อยทางโทรทัศน์ เมื่อน้อยสัมภาษณ์ผู้นำต่างประเทศ เช่น  Margaret Thatcher ทางช่อง 9 อสมท.   เราได้ยินเสียงน้อยอ่านข่าววิทยุประเทศไทยภาคภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส  น้อยรับเป็นพิธีกรในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 และแปลพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เรื่อง “เวลาเป็นของมีค่า” (Busy Fingers) และ “แม่เล่าให้ฟัง”  ( As Mother Told Me )  น้อยเขียนหนังสือ  On Thai Proverbs and Sayings  จัดพิมพ์โดยสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ

น้อยเป็นนิสิตจุฬาฯ แค่ปีเดียวแต่ก็รักและผูกพันจุฬาฯมาก  น้อยเข้าร่วมกิจกรรมสม่ำเสมอ  เคยเป็นอาจารย์พิเศษหลักสูตรปริญญาตรีและโท สาขาวรรณคดีอังกฤษและฝรั่งเศส  และเมื่อว่างจากงานประจำก็ถูกดึงตัวให้มาช่วยพัฒนาและสอนหลักสูตรล่าม ระดับปริญญาโทที่คณะอักษรฯ ของเรา 

ชมรมนักเรียนเก่าราชินีบนและสมาคมนักเรียนเก่าราชินีในพระบรมราชินูปถัมภ์ได้ยกย่องให้น้อยเป็นนักเรียนเก่าดีเด่น ประจำปี 2550 และ 2551   น้อยได้รับรางวัลล่ามอาวุโสดีเด่น  โล่รางวัล “สุรินทราชา” จากสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2551  และได้รับยกย่องให้เป็นนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดีเด่นประจำปี 2557 จากสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย

ในส่วนของเพื่อนๆ  ทุกคนมอบตำแหน่งให้น้อยเป็นพจนานุกรมและนักวิชาการประจำกลุ่ม   เพื่อนๆจะปรึกษาน้อยเมื่อเจอคำศัพท์แปลกๆน้อยจะอธิบายพร้อมยกตัวอย่างเพื่อประกอบ น้อยมีลีลาท่าทางที่ทำให้ทุกคนสนุกสนาน  เพื่อนๆจะติดใจและจดจำคำอธิบายของน้อยได้อย่างดี

 

ดร.วิกรม คุ้มไพโรจน์

ดร.วิกรมหรือหมูเล็กของเพื่อนๆ เป็นนักเรียนเซนต์คาเบรียล ก่อนที่จะไปเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและสอบเข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ หลังจากรับปริญญาตรี สาขาวิชาประวัติศาสตร์  หมูเล็กไปเรียนต่อต่างประเทศจนจบปริญญาเอกในสาขาวิชา History of International Relations จาก Michigan State University

เพื่อนชายร่วมรุ่นของเรามีแค่สิบเอ็ดคน ทุกคนต้องร่วมกิจกรรมของคณะและของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ สำหรับหมูเล็ก ชอบเล่นรักบี้ซึ่งเป็นกีฬาที่นิสิตชายอักษรฯไม่นิยม  หมูเล็กเล่นได้ดีจนได้เข้าร่วมทีมรักบี้ของมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2507 – 2509 ซึ่งเป็นช่วงขาขึ้นของทีมจุฬาฯ เพราะได้ตำแหน่งทีมชนะเลิศจากการแข่งขันกับมหาวิทยาลัยต่างๆ  นอกจากเป็นนักกีฬา หมูเล็กเป็นนักดนตรีด้วย หมูเล็กได้ร่วมเล่นดนตรี (เปียโน) ในวงดนตรีสากล สจม. ในปี 2507 – 2509 และได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการ สจม.และเป็นประธานดนตรีสากล สจม. ในปี 2509 ทำให้รุ่นพี่รุ่นน้องอักษรฯ ต้องเป็นกองเชียร์ดนตรีสากล ไปตามๆ กัน

หมูเล็กเป็นหนึ่งในเพื่อนๆที่ประสบความสำเร็จก้าวหน้าอย่างดีเยี่ยมในการทำงาน หลังจากได้รับปริญญาเอกในปี 2515 หมูเล็กก็เข้าทำงานเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ที่คณะของเรา สอนหนังสือได้ปีเดียวหมูเล็กก็ย้ายไปทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศ ต้องปฏิบัติงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตำแหน่งสำคัญในประเทศ ได้แก่ ผู้อำนวยการกองประมวลวิเคราะห์ข่าว กรมสารนิเทศ   เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง   รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ  เป็นต้น   หมูเล็กต้องออกไปเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศต่างๆ เป็นเวลากว่าสิบปี เพื่อนๆ ได้มีโอกาสเจอหมูเล็กเมื่อเราเดินทางไปสิงคโปร์ นิวซีแลนด์  อิตาลี   อังกฤษ  ไอร์แลนด์ ฯลฯ  พวกเราจะแวะ            ไปเยี่ยมหมูเล็กที่สถานทูต  หมูเล็กยินดีต้อนรับเพื่อนๆเสมอ ทุกคนยังจดจำอาหารไทยรสเยี่ยมที่หมูเล็กนำมาให้ชิม บางครั้งช่วงที่มีวันหยุดราชการติดต่อกันหลายวัน  หมูเล็กจะปลีกเวลามาเป็นไกด์กิตติมศักดิ์บริการเพื่อนๆด้วย     

หลังเกษียณอายุราชการ  หมูเล็กได้รับเชิญจากรัฐวิสาหกิจและสถาบันธุรกิจเอกชนจำนวนมาก ให้เข้าร่วมงานในตำแหน่งสำคัญ เช่น กรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กรรมการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กรรมการบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)  กรรมการอิสระและประธานกรรมการตรวจสอบ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)  ประธานบริษัท สปอร์ตแอนด์รีครีเอชั่น แมนเนจเม้นท์ จำกัด ฯลฯ

ความประทับใจที่ได้มาเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ หมูเล็กบอกว่าได้เรียนวิชาประวัติศาสตร์ที่เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้เรื่องราวหรือเหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการรับราชการในกระทรวงการต่างประเทศในเวลาต่อมา โดยใช้ประวัติศาสตร์ในการวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน เนื่องจากปัญหาของเหตุการณ์สำคัญๆในโลกมักมีพื้นฐานที่เกิดขึ้นจากในอดีตเป็นส่วนใหญ่

ความประทับใจอีกประการหนึ่ง หมูเล็กบอกว่าประทับใจในความรู้ ความสามารถ และความเฉลียวฉลาดของนิสิตหญิง             คณะอักษรศาสตร์ นอกเหนือไปจากความเป็นสุภาพสตรีและมีหน้าตาสวยงาม ดึงดูดความสนใจจากชายหนุ่มชั้นนำทั้งหลาย คณะอักษรศาสตร์จึงหัวกระไดไม่แห้ง

ดร.เลิศลักษณ์ บุรุษพัฒน์

ดร.เลิศลักษณ์ มีชื่อเล่นว่าตุ๊ก แต่เพื่อนๆ ชอบชื่อเลิศลักษณ์มากกว่า และเพื่อนหลายคนเรียกว่าซิ้มโดยไม่ทราบต้นสายปลายเหตุ  เลิศลักษณ์เรียนหนังสือหลายสำนัก ตั้งแต่โรงเรียนดรุโณทยาน คอนแวนต์ ที่สิงคโปร์  โรงเรียนสตรีจุลนาค  โรงเรียนสตรีวิทยา ก่อนมาเจอเพื่อนๆ ที่คณะอักษรฯจุฬาฯ

                จบปริญญาตรีเกียรตินิยมแล้วเลิศลักษณ์ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา คว้าปริญญาโทด้าน Linguistics  และปริญญาเอก ด้าน Instructional Systems Technology จาก Indiana University, USA. ความที่เป็นคนชอบเรียน ภายหลังจึงมาต่อปริญญาโท  ด้านบริหารธุรกิจที่ศศินทร์ และได้รับปริญญาจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

                เลิศลักษณ์เริ่มทำงานครั้งแรกที่ UNDP (โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่นิวยอร์ค  แต่โชคดีได้ถูกส่งมาประจำที่กรุงเทพฯ ต้องทำหน้าที่ฝึกอบรมและวางแผนการสื่อสารด้านสาธารณสุขให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเซียและแปซิฟิค 16 ประเทศ  เลิศลักษณ์มีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน จนได้รับการยกย่องให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นจาก Indiana University และได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากรัฐบาลหลายประเทศ

หลังจากบุกป่าฝ่าดงในหลายประเทศอยู่สิบกว่าปี ก็ต้องลาออกจาก UNDP มาดูแลคุณแม่ที่ป่วยและช่วยคุณพ่อซึ่งเป็นอธิการบดีและผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยรับตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายบริหารและรักษาการอธิการบดีในช่วงสุดท้ายของชีวิตคุณพ่อ  ในขณะเดียวกันก็รับเป็นอาจารย์พิเศษสอนปริญญาโทที่จุฬาฯ และธรรมศาสตร์  และสอนแพทย์นานาชาติในระดับ
ปริญญาโทด้านการบริหารและฝึกอบรมที่มหิดล และรับเป็นกรรมการในองค์กรการกุศลเป็นจำนวนมาก

เลิศลักษณ์ได้ใช้ประสบการณ์ที่ทำงานนานาชาติมาพัฒนางานในมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ให้เจริญก้าวหน้าเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของประเทศ  มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ได้รับรางวัลมากมาย อาทิ  ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาได้มาตรฐานประเภทดีเลิศ จากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, “รางวัลพฤกษานคราเหรียญเชิดชูเกียรติ” สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถทรงพระราชทานให้ในฐานะผู้ชนะเลิศการประกวดโครงการ “แมกไม้มิ่งเมือง ระดับหน้าบ้านน่ามอง” ประเภทมหาวิทยาลัยในสวน, “รางวัลพระเกี้ยวทองคำ” ของจุฬาฯ รับพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาผู้ส่งเสริมภาษาไทยดีเด่น และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศที่ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานสากล ISO ทั้งระบบ ทุกคณะ ทุกหน่วยงานในองค์กร

เพื่อนๆ ที่ไปบ้านเลิศลักษณ์ได้มีโอกาสชื่นชมงานศิลปะจากฝีมือเจ้าของบ้าน ถึงจะไม่ได้ร่ำเรียนมาโดยตรงแต่เลิศลักษณ์มี “ศิลปะ” อยู่ในตัวและหัวใจอย่างมาก ทั้งการออกแบบตกแต่งบ้าน  การวาดรูปบนผ้าใบและบนกระเบื้อง งานปั้น  เดโคพาร์จ  รวมทั้งการร้อยลูกปัดและหินสี  งานแกะสลักผักและผลไม้  งานทุกชิ้นล้วนออกมาสวยงามน่าประทับใจ

เลิศลักษณ์มีภาระกิจมากมายอยู่รอบตัว แต่ก็ยังมีความรักความผูกพันกับเพื่อนๆ มาก  เลิศลักษณ์รับเป็นเจ้าภาพ
จัดงานสังสรรค์อักษรฯจุฬาฯ 06 ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ทุกปี เป็นระยะเวลากว่า 30 ปีแล้ว  เพื่อนๆจะรอคอยบัตรเชิญที่เลิศลักษณ์ ส่งให้ทุกคน งานนี้ทำให้เพื่อนๆ ได้มีโอกาสพบกัน คุยกัน ร้องเพลงกันอย่างสนุกสนาน และได้ลิ้มรสอาหารอร่อยๆ ที่เลิศลักษณ์จัดเตรียมไว้ให้  เลิศลักษณ์จะชวนเพื่อนๆ ให้นำสมบัติเหลือใช้มาขาย นำรายได้สมทบกับเงินบริจาคของเพื่อนๆ ไปทำบุญร่วมกันเป็นประจำทุกปี   เมื่อเลิศลักษณ์เป็นกรรมการงานฉลองครบรอบ 50 ปีของนิสิตจุฬาฯรุ่นปี 06 ในพ.ศ.2556 ได้รวบรวมพลังจากเพื่อนๆ ให้ร่วมบริจาคเงินสมทบทุนเพื่อการศึกษาของจุฬาฯ ได้จำนวนมาก

เลิศลักษณ์เป็นเพื่อนที่เพียบพร้อมด้วยรูปสมบัติ (รับประกันได้จากการได้รับเลือกให้เป็นดรัมเมเยอร์งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์) มีคุณสมบัตินานัปการ  เพื่อนๆ จึงขอยกย่องให้เลิศลักษณ์เป็นเพื่อนอักษรฯที่ “จรัส” อยู่ในจิตใจของพวกเราตลอดกาล

ธีระพงศ์ สุทธินนท์

เมื่อจบจุฬาฯ  ธีระพงศ์  สอบเข้ารับราชการที่กองวิเทศสัมพันธ์ กรมไปรษณีย์โทรเลข  แล้วก็สอบชิงทุนรัฐบาล (กพ.)  ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านการบริหารงานไปรษณีย์และโทรคมนาคมที่ฝรั่งเศส  กลับมาได้เลื่อนเป็นข้าราชการชั้นโท  แล้วโอนเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ  เมื่อมีการแบ่งแยกงานด้านปฏิบัติการของกรมไปรษณีย์โทรเลขตั้งเป็น “การสื่อสารแห่งประเทศไทย” ในปี พ.ศ. 2520  เติบโตมาในสายงานไปรษณีย์จนเป็นรองผู้ว่าการในปี พ.ศ. 2533 และเป็นผู้ว่าการ ในปี พ.ศ. 2542   รับผิดชอบบริหารรัฐวิสาหกิจระดับหนึ่งของประเทศที่ครอบคลุมกิจการทั้งด้านไปรษณีย์และโทรคมนาคมหลากหลายรูปแบบ   มีผลงานโดดเด่นได้รับรางวัลเกียรติยศเสมอมา

ในปี พ.ศ. 2546  กสท. ได้แปรรูปแบ่งแยกกิจการเป็นบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ธีระพงศ์ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่คนแรกของ ปณท จาก พ.ศ. 2546 – 2549   ได้ทุ่มเทบริหารควบคุมการดำเนินงานด้วยวิสัยทัศน์กว้างไกลจนประสบความสำเร็จสามารถนำพากิจการไปรษณีย์ให้พึ่งตนเองได้โดยไม่ต้องรับความสนับสนุนจากรัฐทว่ามีกำไรหลายร้อยล้านบาทต่อปี โดยยังคงภารกิจหลักให้บริการสาธารณะเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนโดยรวมทั่วประเทศ

       ตลอดหลายปีที่ทำงาน ธีระพงศ์ได้เป็นผู้แทนไปประชุมดูงานและฝึกอบรมมากมายหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศ เป็นประจำทุกปี   ประเทศไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาบริหารและสภาปฏิบัติการไปรษณีย์ของสหภาพสากลไปรษณีย์อยู่หลายสมัย             ก็ด้วยเกียรติภูมิหน่วยงานและบุคลากรคุณภาพภายใต้การนำของธีระพงศ์เพื่อนเราคนนี้เป็นสำคัญ

      องค์กรใหญ่รัฐวิสาหกิจที่มีงบประมาณดำเนินงานมหาศาลย่อมเป็นที่จับตาจากหลายฝ่ายในเรื่องผลประโยชน์ลู่ทาง               ทำมาหากินแอบแฝง  ทว่าเป็นที่ภาคภูมิใจได้ว่าเพื่อนเราคนนี้ดำรงความสัตย์ซื่อมิได้หวั่นไหวโอนเอียงสู่อามิสสินจ้างสินบนหรือผลประโยชน์จูงใจส่วนตนแม้แต่น้อย  เพียงคุณความดีข้อนี้เพื่อน ๆ ก็เห็นว่าคู่ควรแก่การเป็น “อักษรจรัส” ของรุ่นแล้ว

พลโทหญิงพิมาย มกรเสน

มาย เป็นตัวอย่างของ  “beauty and  brain”  ที่เป็นรูปธรรมของอักษรฯ 06 จากนักเรียนที่ 1  ของโรงเรียนเซ็นต์ ฟรัง ซีสซาเวียร์คอนแวนต์  มายเข้ามาเป็นนิสิตอักษรศาสตร์ ด้วยรูปลักษณ์ ที่สวยเก๋ ตลอด 4 ปี มายทำทั้งกิจกรรมควบคู่กับการเรียน ได้อย่างสมบูรณ์แบบ หลังจากได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต  ได้ไปศึกษาต่อปริญญาโท  MBA ด้านการศึกษา  ที่ University of California at Long Beach (UCLB) ประเทศสหรัฐอเมริกา

                มายเริ่มต้นเข้ารับราชการทหารด้วยการเป็นอาจารย์สอนและกำกับดูแลหลักสูตรภาษาอังกฤษที่กองภาษา  กรมยุทธศึกษาทหารบก  ทำการฝึกฝนประสิทธิ์ประศาสน์ความรู้ภาษาอังกฤษ ให้แก่นายทหารที่ผ่านหลักสูตรหลัก ทางทหารสอบได้เป็นที่หนึ่ง  หลังจากนั้นรับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศสหรัฐอเมริกา เช่นหลักสูตรเสนาธิการทหารบก หลักสูตรชั้นนายพัน และหลักสูตรเฉพาะทาง เช่น การบิน เป็นต้น  ผลงานชิ้นเอกของมายคือ การจัดทำหลักสูตรพิเศษ   “Australian English Course”  สำหรับนายทหารที่จะไปศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลีย นายทหารที่ผ่านหลักสูตรหลักจากต่างประเทศเหล่านี้  ได้กลับมารับราชการด้วยความก้าวหน้า จนได้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในกองทัพบก สร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ

มายเติบโต ก้าวหน้าในสายอาชีพทหาร ในฐานะนายทหารหญิงที่โดดเด่น  นอกจากการสอนแล้ว ยังไปช่วยราชการ              ณ กองบัญชาการกองทัพบก ทำหน้าที่เป็นล่ามและแปลเอกสารสำคัญทางราชการของกองทัพบก  มายดำรงตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้าสำนักงานประสานการช่วยเหลือทางทหารกับต่างประเทศ และเป็นหัวหน้าสำนักงานในคณะที่ปรึกษาทางทหารของสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย (JUSMAG THAI) ดูแลผลประโยชน์ของกองทัพไทย เมื่อเกษียณอายุราชการ มายได้รับพระราชทานยศ พลโท ซึ่งนับเป็นยศทางทหารสูงสุดสำหรับนายทหารหญิง

ด้วยความสามารถ และผลงานดังกล่าว มายจึงสมควรกับการเป็น  “อักษรจรัส”

มนันยา ธนะภูมิ

แป๋วเป็นนักเรียนราชินีก่อนไปเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแล้วเข้าเรียนที่คณะอักษรฯหลังเรียนจบ  แป๋วเข้าทำงานที่กรมชลประทานได้ 2-3 ปี ก็สอบได้ทุนรัฐบาลฝรั่งเศสไปเรียนต่อทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์ที่ฝรั่งเศส  แป๋วกลับมาทำงานต่อที่กรมชลประทานอีกหลายปี ทำงานหลายอย่าง เช่น งานด้านต่างประเทศ งานบริหารบุคคล ฯลฯ และต้องรับหน้าที่เป็นเลขานุการอธิบดีกรมชลประทานอีกพักหนึ่งจึงหันหลังให้อาชีพเลขาอย่างเด็ดขาด เบนเข็มไปทำงานในกองฝึกอบรมที่ตั้งขึ้นใหม่ แล้วมุ่งมั่นทำงานพัฒนาบุคลากรตามที่ได้เรียนมา  แป๋วลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุในปี 2543 แล้วทำงานเขียนและงานแปลเต็มตัวรวมทั้งงานสอนในมหาวิทยาลัย ที่เป็นอาจารย์พิเศษมาพักหนึ่งแล้วด้วย

                แป๋วเริ่มเป็นนักเขียนตั้งแต่อายุ 15 ปี เรียนอยู่ชั้น ม.6แป๋วเขียนเรื่องสั้นส่งไปที่นิตยสารศรีสัปดาห์ นิตยสารยอดนิยมในสมัยนั้น เรื่องของแป๋วได้รับการตีพิมพ์เป็นเรื่องแรกในชีวิตนักประพันธ์ของแป๋ว ชื่อเรื่องฟ้าสางที่ป่าซาง ซึ่งถูกเปิดเผยในภายหลังว่าเป็นจินตนาการล้วนๆ เพราะตอนนั้นแป๋วยังไม่เคยไปเที่ยวภาคเหนือแม้แต่น้อย ตั้งแต่นั้นมาแป๋วก็เขียนเรื่องสั้นส่งให้ให้นิตยสารดังๆ  ในสมัยนั้น เช่น ศรีสัปดาห์ สตรีสาร ลลนา สกุลไทย ฟ้าเมืองไทย เป็นต้น เรื่องสั้นของแป๋วที่ฮิตติดลมบนจนเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวแป๋วคือ  เรื่องสั้นชุดชาวเขื่อน แป๋วใช้ภาษาง่ายๆ เหมือนมานั่งเล่าเรื่องให้เพื่อนๆ ฟังอย่างเป็นกันเอง สอดแทรกอารมณ์ขัน ทำให้อ่านได้เพลิดเพลินสนุกสนาน            แป๋วเขียนเรื่องสั้นลงในนิตยสารต่างๆอยู่นานจนรู้สึกเบื่อเลยหันมาเขียนสารคดีท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ แป๋วจะมีมุมมองที่คนทั่วไปมักจะมองข้ามแล้วแป๋วก็เก็บเกร็ดโน่นนี่มาเขียนให้อ่านกันด้วยความสนใจ แป๋วยังค้นคว้าหาข้อมูลมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับราชวงศ์ต่างประเทศด้วย  แป๋วเป็นหนอนหนังสือพันธุ์แท้แถมเป็นนักเล่าเรื่องตัวยง ถ้าเจอเรื่องสนุก น่าสนใจก็จะแนะนำเชิญชวนให้เพื่อนๆ  ไปหามาอ่านบ้าง แต่เพื่อนส่วนใหญ่คืนความรู้ให้อาจารย์ไปหมดแล้ว ก็จะใช้วิธีลัด ขอให้แป๋วเล่าให้ฟัง ในที่สุดแป๋วเลยนั่งแปลจริงจังและแปลทุกเรื่องที่เห็นว่าสนุก ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องสืบสวนสอบสวน เรื่องลึกลับ ฯลฯ

                แป๋วกลายเป็นนักเขียน นักแปลชื่อดังที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ติดต่อขอให้แป๋วไปแนะนำเทคนิคการแปลวรรณกรรม             แก่นิสิตปริญญาโท แป๋วเลยไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนที่คณะอักษรศาสตร์จุฬาฯ 8 ปี มหิดล 11 ปี รามคำแหง 13 ปี  แป๋วเขียนเรื่องสั้น  สารคดี แปลหนังสือและได้รับการตีพิมพ์ถึงวันนี้ 165 เล่มแล้ว สถาบันต่างๆ มอบโล่รางวัลเกียรติยศ ให้แป๋วมากมาย แป๋วได้รับยกย่อง                ให้เป็นนักเรียนดีเด่นของโรงเรียนราชินี ได้รับรางวัลสุรินทราชาสำหรับนักแปลดีเด่น นอกจากนี้งานเขียนเรื่อง “เด็กชาวเขื่อน” ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา

                ถามแป๋วว่า จากผลงานที่ผ่านมามีเรื่องอะไรที่แป๋วประทับใจมากที่สุด แป๋วบอกว่า ชอบทุกเรื่องแต่งานที่แป๋วภูมิใจและปลาบปลื้มที่สุดคือ งานแปลพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเรื่อง “กลางใจราษฎร์” งานแปลเรื่องนี้ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจากกรุงเทพมหานครเมื่อกันยายน 2557 และได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในวรรณกรรมประจำ 50 เขตของกทม. ที่ประชาชนควรอ่าน

                แป๋วเคยเล่าให้เพื่อนๆ ฟังว่า คุณสุวรรณี สุคนธาเคยวิจารณ์ว่า มนันยานี่แปลก ใครๆเป็นนักเขียนเขาก็เขียนอย่างเดียว ใครที่เป็นนักแปลเขาก็แปลอย่างเดียว แต่มนันยาทำได้ดีทั้งสองอย่าง แป๋วถือเป็นคำชมที่ปลาบปลื้มมาก ไปถึงไหนก็เอาไปโม้ที่นั่น  แต่เพื่อนๆ ก็เห็นด้วยกับคำชมนั้นนะ

แป๋วยังทำงานที่แป๋วรักอย่างสม่ำเสมอ การเข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ทำให้แป๋วต้องพยายามใช้ภาษาที่ถูกต้อง          เป็นแบบอย่างให้แก่เยาวชน ซึ่งแป๋วได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนจากผลงานที่ผ่านมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

รองศาสตราจารย์ปรียา อุนรัตน์

ปรีมีชื่อเล่นว่า ติ๋ว แต่เพื่อนๆชอบเรียกว่า ปรี มากกว่าเพราะในรุ่นเรามีติ๋วหลายคน  ปรีเรียนภาษาอังกฤษเป็นวิชาเอก และภาษาฝรั่งเศสเป็นวิชาโท  จบแล้วด้วยความชอบสอนหนังสือจึงเรียนปริญญาโทต่อ  จบครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศ และได้เข้ารับการฝึกอบรมต่างๆ เช่น “The Development and Production of English Language Teaching Materials” จาก St. Mary’s College ประเทศอังกฤษ ได้รับ Certificate of Achievement in Linguistics Studies “Principles of Translation” จาก Summer Institute of Linguistics และรับการอบรมเกี่ยวกับการทดสอบภาษาอังกฤษ จาก University of Lancaster ประเทศอังกฤษ ในหัวข้อ “Development of Language Testing” เป็นต้น

                                ปรีเริ่มเป็นอาจารย์ผู้สอนภาษาอังกฤษที่คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2516 ได้ผลิตผลงานทางวิชาการ เช่น หนังสือเรื่องการแปลอังกฤษเป็นไทย-แนวคิดและวิธีการแปลสารานุกรมชุดสำรวจโลกวิทยาศาสตร์                       ตอนสิ่งแวดล้อมเป็นต้น

ปรีมีโอกาสทำงานบริหารให้กับคณะวิชามาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มตั้งแต่เป็นเลขานุการคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่พ.ศ. 2526 หัวหน้าภาควิชาภาษา พ.ศ. 2530 ประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์ภาษา พ.ศ. 2536 คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ พ.ศ. 2544 และกรรมการสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ประเภทผู้บริหาร พ.ศ. 2545

หลังจากเกษียณอายุราชการเมื่อ พ.ศ. 2548 ปรีได้ทำงานที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ในตำแหน่งคณบดีคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ มีนาคม พ.ศ. 2548 จนถึง พฤษภาคม พ.ศ. 2556  และเมื่อมีการจัดตั้งคณะวิชาใหม่จึงทำหน้าที่คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรมตั้งแต่ พ.ศ. 2556 จนถึง พ.ศ. 2558   รวมเวลาที่ทำหน้าที่คณบดีใน 3 คณะวิชา 2 สถาบัน ถึง 14 ปี นับเป็นระยะเวลาที่พิสูจน์ความสามารถในการบริหารงานด้านการศึกษาทั้งเชิงวิชาการและบุคลากรและถือเป็นความสำเร็จที่สำคัญในชีวิตการทำงาน   ปัจจุบันยังคงเป็นที่ปรึกษาคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 จนถึง กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ความสำเร็จในชีวิตการทำงานรวม 43 ปีนั้น เป็นผลจากการเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ที่หล่อหลอมให้ได้รับความรู้           มีทัศนคติเชิงบวกและมีเพื่อนๆที่ดีเป็นกัลยาณมิตรมากมาย จนทำให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขตลอดมาจนถึงปัจจุบัน   

 

รองศาสตราจารย์ยุพร แสงทักษิณ

รองศาสตราจารย์ ยุพร (อร่ามกุล) แสงทักษิณ  อักษรศาสตรบัณฑิต และอักษรศาสตรมหาบัณฑิต (ภาษาไทย) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดี  คณะมนุษยศาตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าภาควิชาวรรณคดี (พ.ศ. 2524) และได้รับการคัดเลือกให้เป็น “บุคคลดีเด่นด้านวิชาการ”  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. 2540  ขณะเดียวกันยังได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรวิชาการใช้ภาษาไทยแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี  ขณะทรงศึกษาอยู่ในคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ มหาวิยาลัยเกษตรศาสตร์อีกด้วย  ยุพรเกษียณอายุราชการใน พ.ศ. 2547 ในตำแหน่งรองศาสตราจารย์ระดับ 9   ผลงานของรองศาสตราจารย์ยุพรด้านภาษาและวรรณคดีไทยมีจำนวนมากหลากหลายประเภทมีความโดดเด่นเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในหมู่นักวิชาการและสังคมทั่วไป ผลงานที่ได้รับการพิมพ์จำหน่ายและเผยแพร่นั้นมีเนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับวรรณคดีไทย เช่น “ส่องวรรณกรรม”   “วรรณกรรมปัจจุบัน” “วรรณคดียอพระเกียรติ”  “รุ้งอักษร : เส้นสายสีแสงแห่งภาษาและวรรณคดี”  “กัลยาณิวัฒนานุสาวรีย์”  “ชวนคิดหลังอ่านนิทานสนุก ๆ”  “ถอดรหัสสำนวนไทย”  “แม่เลี้ยงเดี่ยวในวรรณคดีไทย” ฯลฯ  นอกจากนี้ยังมีผลงานที่เป็นหนังสือนิทานการ์ตูนเล่าเรื่องวรรณคดีคลาสสิก เช่น รามเกียรติ์  นิทานเวตาล  พระนลคำฉันท์ เป็นต้น  ทั้งนี้เรื่องที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนังสือดีสำหรับเด็กชั้นประถมศึกษาตอนปลายจากโครงการหนังสือเล่มแรก Bookstart 2557 ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาและมูลนิธิหนังสือเด็ก คือ เรื่องรามเกียรติ์ และเรื่องนิทานเวตาลฉบับ น.ม.ส.

รองศาสตราจารย์ยุพรมีผลงาน 4 เรื่องที่ได้รับการยกย่อง และรางวัลจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ได้แก่

  1. ธงไทย – รางวัลชมเชยประเภทสารคดีสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น (พ.ศ. 2530)
  2. วรรณคดีการเมืองเรื่องสามกรุง – รางวัลดีเด่นประเภทสารคดี (พ.ศ. 2539)
  3. เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์และเครื่องสูง – รางวัลดีเด่นประเภทสารคดีสำหรับวัยรุ่น (พ.ศ. 2540)
  4. เงาะป่า : วรรณคดีสัญลักษณ์แห่งรัชสมัย – รางวัลดีเด่นประเภทสารคดีสำหรับวัยรุ่น (พ.ศ. 2552)

รองศาสตราจารย์ยุพรได้อุทิศตนช่วยเหลือและเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ กับหน่วยงานหลายแห่งทั้งภาครัฐและเอกชนในภารกิจที่เกี่ยวกับภาษาไทยและวรรณคดีไทย  ทั้งนี้  ด้วยการทำหน้าที่เป็นอาจารย์พิเศษผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาผลงานทางวิชาการ  กรรมการร่างและพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรคณะมนุษยศาสตร์ให้มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนหลายแห่ง  เป็นกรรมการชุดต่าง ๆ ของกรมวิชาการ  กระทรวงศึกษาธิการ เช่น  กรรมการคัดสรรและเผยแพร่วรรณกรรมของชาติ  กรรมการคัดเลือกหนังสืออ่านนอกเวลา  กรรมการคัดเลือกวรรณคดีมรดกและวรรณกรรมของชาติ  เพื่อใช้ในการเรียนการสอนภาษาไทย ฯลฯ  เป็นกรรมการตัดสินรางวัล “นักเขียนอมตะ”   “ซีไรต์”   “เซเว่นบุ๊คส์อวอร์ด”  “ศิลปินร่วมสมัยดีเด่น”  “ศิลปาธร”  “ศิลปินแห่งชาติ” เป็นวิทยากรด้านภาษาวรรณคดีและการเขียนให้กับหลายสถาบันการศึกษา และเป็นคณะบรรณาธิการวิชาการและผู้เรียบเรียงคำนามานุกรมวรรณคดีไทยของมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ด้วยการที่รองศาสตราจารย์ยุพร เป็นผู้ที่อุทิศตนและมีบทบาทสำคัญในการผดุงสร้างสรรค์ และถ่ายทอดความรู้ด้านภาษาและวรรณคดีไทย  อีกทั้งเป็นผู้มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ  รวมถึงมีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จึงคัดเลือกให้เป็น “ครูภูมิปัญญาไทย” รุ่นที่ 4 พ.ศ. 2548 และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม   กระทรวงวัฒนธรรมเห็นควรยกย่องให้เป็น “ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย พ.ศ. 2555” นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับรองศาสตราจารย์ยุพรและครอบครัวรวมทั้งครูอาจารย์และเพื่อนร่วมรุ่นชาวอักษรศาสตร์ทุกคน

ศรีศักดิ์ ไทยอารี

น้อยทำงานราชการระยะสั้น ๆ ก่อนเบนเข็มไปทำงานองค์กรพัฒนาสังคม  ตั้งแต่ พ.ศ. 2529จนปัจจุบันน้อยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สมาคมสภาองค์การพัฒนาเด็กและเยาวชน    มีบทบาทผลงานบริหารองค์กรพัฒนาสังคมโดดเด่นมากมายทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ อาทิ เช่น  เคยเป็นประธานกรรมการจัดทำนโยบายการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาสของสภาการศึกษา   กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พรบ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว            กรรมการศึกษาเรื่องความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน (กระทรวงการพัฒนาสังคม  และความมั่นคงของมนุษย์)  ประธานเครือข่ายสิทธิเด็กแห่งเอเชีย   ประธานกรรมการประสานงานเยาวชนอาเซียน

ด้านวิชาการน้อยเป็นอาจารย์พิเศษจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปริญญาตรีและเอก)  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  (ปริญญาโท)   เป็นกรรมการงานวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของคณะรัฐศาสตร์และคณะนิติศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เป็นผู้เชียวชาญพิจารณาผลงานเพื่อเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการของคณะสังคมศาสตร์   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   น้อยยังมีผลงานศึกษาวิจัยและข้อเขียนทางวิชาการทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่ได้รับการลงพิมพ์อีกมาก เช่น Unlocking The Potential of Asian Youth : Thailand (2553)   The Rights of Children and Women in Asia (2544)   Youth Perspectives of the New Millennium : Challenges Beyond 2000 (2542)     ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาวะของเด็กไทยในบริบทของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (2538)  ฯลฯ

ผลงานที่โดดเด่นของน้อยในฐานะผู้บริหารองค์กรพัฒนาสังคมเป็นที่รู้จักกันโดยกว้างไกลทั้งในประเทศและระดับสากลจนล่าสุดน้อยได้รับเลือกเป็น Senior Ashoka Fellow  ซึ่งเป็นการยกย่องผู้ประกอบการทางสังคมดีเด่นในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกแล้วพัฒนา เป็นเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดรวมทั้งทำงานร่วมกัน   นับเป็นรางวัลผลงานที่เจ้าตัวภาคภูมิใจยิ่งและเพื่อน ๆ ก็นิยมชมชื่นภาคภูมิใจไปกับน้อยด้วยอย่างมาก   ผลงานนี้และความสำเร็จอื่น ๆ ที่ได้ยกมากล่าวเพียงบางส่วนล้วนเป็นคำรับรองว่าน้อย คู่ควรแก่การเป็น “อักษรจรัส” ของรุ่นเป็นอย่างยิ่ง

 

ศาสตราจารย์ กิตติคุณ สุกัญญา สุดบรรทัด

 “ตี้” เป็นชื่อเล่นของศาสตราจารย์กิตติคุณสุกัญญา สุดบรรทัด  เป็นเพื่อนร่วมรุ่น อบ. 31 ที่พวกเราภูมิใจ ตี้เรียนเก่ง ขยัน ตั้งใจเรียนอย่างสม่ำเสมอ จึงไม่น่าแปลกใจที่ตี้จะจบการศึกษาด้วยปริญญาตรีอักษรศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับสอง นอกเหนือจากความเป็นนักอักษรศาสตร์ ตี้สนใจและเล็งเห็นความสำคัญของงานด้านนิเทศศาสตร์  ตี้จึงไปเรียนต่อระดับปริญญาโทในสาขา Mass Communication ที่สหรัฐอเมริกา และศึกษาเพิ่มเติมด้าน Information Technology ที่สหราชอาณาจักร

ตี้เริ่มชีวิตการทำงาน โดยเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชีวิตการเป็นอาจารย์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ได้รับตำแหน่งทั้งด้านวิชาการและบริหาร  ได้รับรางวัลอาจารย์ดีเด่น  รางวัลงานวิจัยระดับดี และเป็นศาสตราจารย์ระดับ 10 ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขั้นสายสะพาย ม.ป.ช. ยิ่งไปกว่านั้นผลจากการทำงานด้านวิชาการที่ตี้ได้ทุ่มเทตลอดมา สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้พิจารณาเห็นว่าตี้เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในวิชานิเทศศาสตร์ จึงได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณ คณะนิเทศศาสตร์ ซึ่งเป็นเป็นความภาคภูมิใจของเพื่อน อบ. 31

หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว ชีวิตการทำงานของตี้ยังไม่หยุดนิ่ง ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง อุทิศเวลา ความรู้ และประสบการณ์  ทำงานให้แก่สถาบันฯ หน่วยงาน องค์กรต่างๆ  ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนโดยดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการด้านต่างๆมากมาย  ที่สำคัญตี้ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (พ.ศ.2551-2554 ) และสมาชิกสภาปฏิรูป (พ.ศ.2557-2558 ) ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ตี้ได้ทำงานในคณะกรรมาธิการด้านต่างๆ เป็นการทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศไทยเป็นอย่างมาก

ขอยืนยันอีกครั้งว่า “ตี้”  เป็นความภูมิใจของเพื่อนๆ และเป็น “อักษรจรัส” ของพวกเราจริงๆ

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.คุณหญิงสุริยา รัตนกุล

“อักษรจรัส” ผู้โดดเด่นควรนับเป็นเพชรน้ำหนึ่งส่งประกายเจียระไนล้ำเลิศ  เป็นหนึ่งในร้อยท่ามกลางอักษรศาสตร์ดีเด่นทุกรุ่นเลยทีเดียวคือ   เพื่อนเราศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.คุณหญิงสุริยา  รัตนกุล  อบ.31  อักษรศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทองพ.ศ. 2510   ดุษฎีบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง (Docteur es lettres, Sorbonne, mention tres honorable) พ.ศ. 2513 โดยทุนพระราชทานมูลนิธิอานันทมหิดล  และ”คุณหญิงตราตั้ง” ฝ่ายหญิงหนึ่งเดียวของรุ่นที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า

อ๋อยฉายแววโดดเด่นด้านการเรียนการสอนให้เป็นที่ประจักษ์แก่เพื่อนฝูงมาตั้งแต่สมัยเรียนที่ทุกปีเพื่อนฝูงเกือบทั้งห้องได้อาศัยอ๋อยขึ้น  platform ห้องเรียนใหญ่ติวให้เพื่อน ๆ  อย่างเป็นงานเป็นการเสมือนหนึ่งอาจารย์นั่นเทียว   อ๋อยเรียนจบด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่งให้ฮือฮาเป็นประวัติการณ์ของรุ่นแล้วอ๋อยก็ได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลไปศึกษาต่อได้ปริญญาเอกเกียรตินิยมอันดับหนึ่งอีกนั่นแหละ จากมหาวิทยาลัยปารีสประเทศฝรั่งเศส   เมื่อกลับมาเข้ารับราชการอ๋อยเติบโตในสายวิชาการมาเป็นลำดับ   เป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท (สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียในปัจจุบัน)   ผู้ก่อตั้งและคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  รองผู้อำนวยการวิทยาลัยศาสนศึกษา  จนปัจจุบันขณะที่เพื่อน ๆ หลายคนเกษียณอายุสังสรรค์ กิน  เล่น  เที่ยว  เลี้ยงหลานอยู่กับบ้านเป็นส่วนใหญ่  อ๋อยก็ยังเป็นศาสตราจารย์ระดับ 11 ผู้ที่ทุ่มเทให้กับงานที่วิทยาลัยศาสนศึกษา พร้อม ๆ กับการเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยอื่น ๆ อีกหลายแห่ง

ในการทำงานอ๋อยได้ค้นคว้าวิจัยงานทางวิชาการไว้มากมาย   เคยได้รับทุนฟุลไบร้ทไปสอนที่มหาวิทยาลัย Eastern Washington  และมหาวิทยาลัย Oregon สหรัฐอเมริกา   เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยและผู้ร่วมโครงการวิจัยต่าง ๆ ถึง 40 กว่าเรื่อง   มีผลงานแต่ง  เรียบเรียง  แปล  หนังสือ/ตำราต่าง ๆ 20 กว่าเล่ม   บทความทางวิชาการที่ลงพิมพ์ในวารสารต่าง ๆ ทั้งไทยและเทศอีกกว่า 30 เรื่องเช่นกัน    เรียกได้ว่าอ๋อยผลิตผลงานทางวิชาการออกมาเป็นรูปเล่มให้ได้อ่านค้นคว้ากันเป็นประจำทุกปี   เป็นประโยชน์แก่การศึกษาหาความรู้พัฒนาสังคมและวัฒนธรรมและเป็นคุณูปการแก่ลูกศิษย์  ครูอาจารย์  นักวิชาการตลอดจนผู้สนใจใฝ่รู้ในวิชาการ  ภาษา  อารยธรรม อย่างเหลือที่จะกล่าว

ด้วยผลงานที่โดดเด่นทรงคุณประโยชน์ยิ่งนี้   อ๋อยจึงได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย เช่น รางวัลการวิจัยด้านสังคมศาสตร์จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ  รางวัลอาจารย์ดีเด่นจากสภาคณาจารย์  มหาวิทยาลัยมหิดล   รางวัลผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นจากกระทรวงวัฒนธรรม  และรางวัลอาจารย์ที่มีผลงานด้านสังคมศาสตร์จากนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ)  อีกประจักษ์พยาน        ในความดีเด่นที่มีคุณประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ คือ  อ๋อยได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดทั้งตระกูลช้างเผือกและมงกุฎไทย     สำคัญยิ่งคือตราทุติยจุลจอมเกล้าที่เป็นเกียรติประวัติสูงสุด  เป็นความภาคภูมิอย่างยิ่งทั้งแก่อ๋อย  ครอบครัว  และเพื่อน ๆ ร่วมรุ่น อบ.31 “อักษรจรัส” ของรุ่นคนนี้ คือ เพชรน้ำหนึ่งที่ส่งแสงแรงกล้าสมชื่อ “สุริยา”

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์

นักภาษาศาสตร์ชาติพันธุ์ผู้ศึกษาวิจัยภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์และฟื้นฟูภาษาที่อยู่ในภาวะวิกฤต  รวมทั้งนำเสนอการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษาที่ใช้ภาษาแม่เป็นฐานของการศึกษาแก่เยาวชนและการผลิตครูทวิ-พหุภาษาตามแนวชายแดน เช่น ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น

                                อี๊ด จบอักษรศาสตรบัณฑิต  วิชาเอกภาษาอังกฤษและวิชาโทประวัติศาสตร์  เรียนต่อปริญญาโทภาษาอังกฤษแล้วได้รับทุนไปเรียนต่อปริญญาเอกสาขาภาษาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโมนาช  ออสเตรเลียในด้านการทำงาน  อี๊ดเข้าทำงานที่สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย  อี๊ดได้ทำงานวิจัยด้านภาษาและวัฒนธรรมกลุ่มชนต่าง ๆ ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย  การศึกษาวิเคราะห์โครงสร้างภาษากลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ    วิจัยและจัดทำชุดพจนานุกรมขมุถิ่นต่าง ๆ ในเอเชียอาคเนย์ (ไทย ลาว เวียดนาม และจีน) ทำให้เห็นวิวัฒนาการเกิดวรรณยุกต์ของภาษาในภูมิภาคนี้  นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์ความรู้ด้านภาษาศาสตร์ในการทำงานร่วมกับชุมชนภาษาชาติพันธุ์เพื่อฟื้นฟูภาษาที่อยู่ในภาวะวิกฤตกว่า ๒๕ กลุ่ม  พร้อมกับการวิจัยได้สอนนักศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเพื่อสร้างนักวิชาการและนักวิจัยด้านภาษาชาติพันธุ์ และการศึกษา

งานที่ภูมิใจคือการที่ได้ศึกษาวิเคราะห์ภาษา สร้างคลังข้อมูล ทำงานร่วมกับชุมชนเจ้าของภาษาในการฟื้นฟูภาษาด้วยวิธีการต่าง ๆ และการผลักดันให้ภาษาท้องถิ่นเป็นนโยบายหนึ่งในนโยบายภาษาแห่งชาติรวมทั้งการกำหนดใช้ภาษาแม่ของกลุ่มชนเป็นฐานของการศึกษาภาษาและสาระความรู้ต่าง ๆ  โดยทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อสร้างระบบเขียนแก่ภาษาที่ไม่มีภาษาเขียนมาก่อน และการได้ร่วมกับเจ้าของภาษาในการจัดการสอนภาษาท้องถิ่นในโรงเรียน  รวมทั้งการจัดการเรียนการสอนแบบทวิ-พหุภาษาเพื่อแก้ปัญหาการไม่รู้หนังสือของเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น

ผลพลอยได้จากการทำงานวิจัยข้างต้นทำให้ได้รับรางวัลต่าง ๆ เช่น นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติสาขาปรัชญา  ได้รับรางวัล CIPL จากผลงานเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยภาษาในภาวะวิกฤต  รางวัลด้านงานวิจัยและพัฒนาเด่นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และรางวัล ๑๐๐ ปีชาตกาลของหม่อมงามจิตร บุรฉัตร  ด้านการศึกษาและสื่อมวลชน และรางวัล UNESCO Literacy Prize 2016 จากโครงการทวิภาษา (ไทย-มลายู) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น  เพื่อนฝูงจึงเห็นควรยกย่อง อี๊ด เป็น “ อักษรจรัส”

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University