อักษรจรัส รุ่น 32

จินตนา พันธุฟัก

อักษรจรัส อ.บ. 32 :

นาง จินตนา พันธุฟัก

หลังจากจบจากคณะอักษรศาสตร์ ได้เข้ารับราชการที่กองการต่างประเทศ กรมประชาสัมพันธ์ ตลอดระยะเวลา35ปีตั้งแต่ปีพ.ศ 2513 ถึงปีพ.ศ 2548 ได้ปฎิบัติงานหลายด้านอาทิ บรรณาธิการสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อการประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ บรรณาธิการข่าวภาคภาษาอังกฤษ Thailand News Bulletin  ขณะปฏิบัติงานที่สำนักงานที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ของกรมประชาสัมพันธ์ ณ กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริการะหว่างปีพ.ศ.2537-2540 ได้ผลิตหนังสือเป็นสมุดภาพที่ระลึก (Souvenir Album)ชื่อ King Bhumibol Adulyadej Visits The United States of America เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ50ปี หนังสือนี้เป็นการรวบรวมภาพและหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอาทิ ภาพครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ เมื่อปีพ.ศ.2503และ2510   พระราชดำรัสต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาสหรัฐฯ รวมทั้งพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่4 ที่มีถึงประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น เมื่อปีพ.ศ.2404  ต่อมาในปีพ.ศ.2545-2548 ได้ปฎิบัติหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์เขต3เชียงใหม่ บริหารสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในแปดจังหวัดภาคเหนือตอนบนและได้รับโล่รางวัลผลงานดีเด่นจากนายกรัฐมนตรีในการบริหารศูนย์ประชาสัมพันธ์ต่อต้านยาเสพติด

                ปีพ.ศ.2548-2551 เป็นเลขาธิการราชบัณทิตยสถาน(ปัจจุบันราชบัณทิตยสภา) บริหารงานวิชาการ ได้ริเริ่มโครงการรู้รักภาษาไทยโดยร่วมมือกับกรมประชาสัมพันธ์ในการเสนอรายการส่งเสริมการใช้คำไทยให้ถูกต้องออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยภาคถ่ายทอดทั่วประเทศ ซึ่งดำเนินการถึงปัจจุบัน หลังจากเกษียณอายุราชการได้รับการสรรหาให้เป็นกรรมการนโยบายชุดแรกขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ระหว่างปีพ.ศ.2551-2554   ซึ่งได้มีส่วนร่วมในการวางรากฐานสื่อสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทยด้วยการสร้างอาคารถาวรและกำหนดนโยบายเพื่อการปฏิบัติงานกระจายเสียงและแพร่ภาพที่มีประสิทธิภาพ

 

ดร. เจือจันทร์ จงสถิตอยู่

อักษรจรัส อ.บ.32 : ดร. เจือจันทร์ จงสถิตอยู่                          

 เข้ารับราชการและได้เจริญก้าวหน้าในราชการจนได้เลื่อนระดับมาเป็นผู้บริหารในตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ และประเมินวิชาการเข้าสู่ระดับ 10 ในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา

          ได้สร้างผลงานสำคัญระดับชาติด้านวางแผนและจัดทำนโยบายการศึกษา เช่น แผนการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2535 และนโยบายเฉพาะด้าน อาทิ นโยบายขยายการศึกษาขั้นพื้นฐาน  การวางแผนพัฒนาสตรีด้านการศึกษา การศึกษากับชุมชน ฯลฯ  ที่โดดเด่น คือ ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการสำนักงานปฏิรูปการศึกษา(องค์การมหาชน) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการวางแผนปฏิรูปการศึกษาของประเทศตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ 2542 เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบและการจัดการการศึกษาครั้งสำคัญของประเทศ

         ด้านวิชาการ มีผลงานสร้างองค์ความรู้ด้านเทคนิคและกระบวนการวางแผนการศึกษาเป็นครั้งแรกในประเทศและใช้กันทั่วประเทศ ในปี 2529   มีผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัล ได้แก่ รางวัลเอกสารวิจัยส่วนบุคคลดีเด่น วปอ.ของรุ่น 40  รางวัลงานวิจัยเด่นจากสกว.จากชุดโครงการวิจัยและพัฒนาการใช้เครือข่ายในพื้นที่มีมหาวิทยาลัยเป็นแกนหลักเพื่อพัฒนาครูใน 15 จังหวัด   

        เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายทางวิชาการทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเข้าร่วมประชุมกับองค์การระหว่างประเทศ  ณ ประเทศต่างๆ  รวมทั้งได้เข้าร่วมงานในทางการเมือง ในตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีสำนักนายก และที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี

        หลังเกษียณอายุจากราชการ ยังมีบทบาทสร้างสรรค์งานวิชาการ โดยรับผิดชอบชุดโครงการวิจัยของสกว.และสพฐ. ดำเนินงานใน 10 จังหวัดที่ส่งผลต่อการพัฒนาครูด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง (Teacher Coaching) แทนการอบรมแบบเดิมที่ใช้งบประมาณมากแต่ได้ผลน้อย ผลการดำเนินงานทำให้ครูเปลี่ยนวิธีจัดการเรียนการสอน ส่งผลให้นักเรียนมีพัฒนาการที่ดีขึ้นทั้งเจตคติ พฤติกรรมและผลการเรียน อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนการสอนในสถาบันผลิตครู  

สำหรับความก้าวหน้าและความสำเร็จในหน้าที่การงานและความยอมรับทางวิชาการ   เจือจันทร์ได้กล่าวว่า  การศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์  เป็นรากฐานที่สำคัญในการบ่มเพาะการคิดเป็นระบบ  การคิดวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์  รวมทั้งการเก็บประเด็น  การสังเคราะห์ และ การเรียบเรียง  อีกทั้งมีส่วนช่วยสร้างทักษะการอยู่ร่วมในสังคมได้เป็นอย่างดี

ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ

อักษรจรัส อ.บ.32 : ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ                       

เรียนที่โรงเรียนเซ็นต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์ ตั้งแต่ชั้นมูลถึงม.ศ.๕  สอบได้เป็นหนี่งใน ๕๐ คนที่ได้คะแนนสูงสุดของประเทศ  ขณะที่ศึกษาที่จุฬาฯ ได้เป็นประธานชมรมพุทธานุเคราะห์ ได้เขียนบทกวีนิพนธ์ เรื่องสั้นและสารคดี ให้แก่หนังสือภายในจุฬาฯ จนได้รับรางวัลเกียรตินิยม ประเภทสารคดี จากชุมนุมวรรณศิลป์ สโมสรนิสิตฯ

ขณะที่ศึกษาปริญญาโทสาขาวิชาภาษาไทย ได้เป็นอาจารย์พิเศษวิชาภาษาอังกฤษที่คณะพาณิชยศาสตร์ (เศรษฐศาสตร์)  ได้เข้ารับการอบรมวิชา Programming ที่ System Development Corporation ซึ่งได้รับมอบหมายให้อบรมวิชาคอมพิวเตอร์ให้แก่บุคลากรของจุฬาฯ และได้ทำงานในหน้าที่ programmer ของโครงการวิจัย การถ่ายทอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งต่อมาผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

ต่อมาได้เป็นอาจารย์วิชาภาษาไทยรุ่นแรกของมหาวิทยาลัยรามคำแหง และได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทวิชาภาษาอังกฤษที่ Florida State University ระดับปริญญาเอกวิชาภาษาศาสตร์ประยุกต์ที่ The University of Texas at Austin และอบรมเรื่องการแปลภาษาด้วยคอมพิวเตอร์ที่ Grenoble University ประเทศฝรั่งเศส

ได้ทำงานวิจัยเรื่องการแปลภาษาด้วยคอมพิวเตอร์  ได้สอนภาษาไทยที่สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น โดยได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์และหัวหน้าภาควิชาภาษาไทย ที่มหาวิทยาลัย Tenri, Nara

มีงานเขียนเผยแพร่วิชาภาษาไทย และเรื่องอื่น ๆ ใน สตรีสาร เป็นเวลา ๑๘ ปี  ได้เขียนคอลัมน์ “มองไทยใหม่” ให้แก่ มติชนสุดสัปดาห์ เป็นเวลา ๒๐ ปี (นับถึง พ.ศ. ๒๕๕๙) ได้รับรางวัลชมเชยประเภทสารคดี จากการประกวดหนังสือดีเด่น ของกระทรวงศึกษาธิการ ได้เป็นครูภาษาไทยดีเด่น ของคุรุสภา และ ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ของกระทรวงวัฒนธรรม

ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กรรมการ มูลนิธิวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศ และเป็นภาคีสมาชิก ประเภทวิชาวรรณศิลป์ สาขาวิชาภาษาไทย ราชบัณฑิตยสภา

ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม

อักษรจรัส อ.บ.32 : ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย  ศรสงคราม

ถึงจะสูงส่งด้วยชาติกำเนิด แต่ท่านผู้หญิงก็ “ติดดิน” เป็นผู้ที่มีจิตใจโอบอ้อมอารี มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นที่รักของเพื่อนและผู้ที่มีโอกาสรู้จักใกล้ชิด มีความรู้ความสามารถและความคิดริเริ่มในการดำเนินธุรกิจให้เจริญก้าวหน้าและเอื้อประโยชน์ให้แก่ประชาชน   

จะเห็นได้จากการก่อตั้งตลาดบองมาร์เช่ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้าคนไทยได้มีทางจำหน่ายผลิตผลของตนโดยเสียค่าใช้จ่ายเรื่องสถานที่ไม่สูงมาก ทำให้ผู้อุปโภคบริโภคได้ซื้อหาสินค้าในราคาย่อมเยาไปด้วย เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในทางอ้อม ปัจจุบัน ตลาดบองมาร์เช่เป็นที่นิยมและยอมรับของประชาชนโดยทั่วไป

นอกจากนั้น ท่านผู้หญิงยังมีวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจ จัดสร้างอาคารรัจนาการบนถนนสาทรใต้ มีร้านอาหารจำหน่ายอาหารมีคุณภาพในราคายุติธรรมแก่ผู้ทำงานในอาคารและบริเวณโดยรอบ

ในขณะเดียวกันก็ใช้เวลาทำหน้าที่ของลูกหลานที่มีความกตัญญูรู้คุณ สืบทอดพระจริยาวัตรในงานการกุศลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนดูแลครอบครัวให้มีความสุขความเจริญ   

ในส่วนที่เกี่ยวกับคณะอักษรศาสตร์ ศิษย์เก่าอักษรศาสตร์ เพื่อนร่วมรุ่น ท่านผู้หญิงไม่เคยละโอกาสที่จะให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือในกิจการต่างๆเสมอมา นับเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมในการดำเนินชีวิต

 

ร.ศ.วิภา อุตมฉันท์

อักษรจรัส อ.บ.32 : ร.ศ.วิภา อุตมฉันท์          

เป็นคนเรียนเก่งมาตั้งแต่เด็ก จบอักษรศาสตร์ก็ได้เป็นอาจารย์ภาควิชาภาษาอังกฤษ และช่วยงานภาควิชาภาษาญี่ปุ่นอีกด้วย วิภาได้รับทุนมหาวิทยาลัย Harvard ไปเรียนปริญญาโทด้าน East Asian Study แล้วกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะอีก และยังไปช่วยงานสถาบัน เอเชีย จนได้เป็นรองผู้อำนวยการสถาบัน

ต่อมาวิภาเบนเข็มมาสอนที่คณะนิเทศศาสตร์ในวิชาสื่อมวลชนระหว่างประเทศและได้สร้างผลงานสื่อการสอนใช้ประกอบการเรียนเป็นจำนวนมาก เป็นที่ยอมรับของสถาบันการศึกษาหลายๆแห่งและเป็นที่ต้องการของสถานศึกษาจนถึงปัจจุบัน

วิภาได้ทำโครงการวิจัยร่วมกับสถานีโทรทัศน์ NHK ของญี่ปุ่นและได้รับเกียรติให้เป็นกรรมการตัดสิน Japan Prize ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับการประกวดรายการโทรทัศน์ที่ส่งมาจากทั่วโลก ระหว่างนั้นยังได้รับเชิญให้เป็น  visiting professor ที่มหาวิทยาลัย Tokyo อีกด้วย

ด้วยความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อมวลชนระหว่างประเทศ วิภาได้รับเชิญให้เป็น Thai expert ที่ China Radio International ให้ความรู้เกี่ยวกับประเทศไทย

วิภาได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการต่างๆที่เกี่ยวกับกิจการสื่อสารมวลชน ได้ให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุ BBC และ VOA เรื่องสื่อสาธารณะในไทย หลังเกษียณไปช่วยงานประเมินผลสถานีโทรทัศน์ TPBS และไปช่วยงานของมทร.พระนคร เป็นกรรมการสภาวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ นับได้ว่าวิภาใช้ความรู้จากคณะอักษรศาสตร์และความรู้ด้านสื่อสารมวลชนระหว่างประเทศเป็นประโยชน์แก่นิสิตนักศึกษามาโดยตลอด

รองศาสตราจารย์ อรุณฑวดี พัฒนิบูลย์

อักษรจรัส อ.บ.32 : รองศาสตราจารย์ อรุณฑวดี พัฒนิบูลย์

รองศาสตราจารย์ อรุณฑวดี มาเริ่มอาชีพครูที่ ม.รามคำแหง โดยไม่เคยสอนหนังสือมาก่อน แต่โชคดีได้เรียนรู้การเป็นครูจากการที่ได้มาร่วมงานกับ”ครูของเราตัวจริง” คือ ศ.คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร นั่นเอง จากนั้นเธอก็รักอาชีพนี้และทำงานสอนหนังสือควบคู่กับงานบริหารการศึกษามาตลอด

 เริ่มจากเป็นหัวหน้าภาควิชาภาษาตะวันตก ต่อมาเป็นคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ (คณบดีหญิงคนแรกของคณะนี้)  จากนั้นทำงานฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยในระดับรองอธิการบดี โดยเป็นรองอธิการบดีทั่วไป ต่อเนื่องกันหลายวาระ และภายหลังเมื่อม.รามคำแหงมีนโยบายขยายโอกาสการศึกษาสู่ส่วนภูมิภาคหลายจังหวัด เธอเป็นรองอธิการบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษาภูมิภาค ร่วมในการจัดตั้งสาขาวิทยบริการของม.รามคำแหง และจัดระบบการเรียนการสอนระบบเครือข่ายใช้เทคโนโลยีวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ฯลฯ ในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท

หลังจากบริหารงานมหาวิทยาลัยมายาวนานถึง 13 ปี เมื่อถึงช่วงเวลาที่ต้องเลือกเส้นทางชีวิตอีกครั้งหนึ่ง อรุณฑวดีจึงเลือกเส้นทางที่เป็นอาชีพเดิมอันเป็นที่รัก คือขอเป็นครู โดยได้รับโอกาสให้ขยายอายุราชการในตำแหน่งรองศาตราจารย์ตามเดิม  อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอรุณฑวดียังไม่อาจละทิ้งภาระหน้าที่การบริหารงานในส่วนภูมิภาค เฉพาะโครงการที่จังหวัดภูเก็ต โครงการพิเศษบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต ซึ่งยังคงดำเนินต่อไปตามความต้องการของท้องถิ่น

การทำงานทั้งบริหารและสอนควบคู่กันไปนั้น เป็นสิ่งท้าทาย  แต่อาจารย์อรุณฑวดี ก็ทำได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากการที่ผู้ร่วมงานพูดถึงเธอ และจากตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงที่เธอได้รับมอบหมายต่อเนื่องกันมาโดยตลอด อันเป็นข้อพิสูจน์ความสามารถ ทั้งในการบริหารงานและบริหารคนไปพร้อมๆกับงานวิชาการ ที่ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน 

อย่างไรก็ดี  จนถึงวันนี้อรุณฑวดียังพูดอยู่บ่อยครั้งว่า แม้จะเหนื่อยกับงานบริหารบ้างในบางครั้งแต่ก็ไม่เคยเหนื่อยกับการสอน เพราะคิดเสมอว่า “เราเป็นครูเราสร้างคน งานบริหารเราสร้างงาน แต่ละงานไม่ได้มีความหมายเท่าการสร้างคน และคนเป็นผู้สร้างชาติ”

วุฒิ สุมิตร

อักษรจรัส อ.บ.32 : นาย วุฒิ สุมิตร

จากนักฟุตบอลตัวกลั่นของอักษร และท่วงท่าที่มีเอกลักษณ์หนุ่มหล่อคนหนึ่ง วุฒิผันแนวทางชีวิตมาสู่การรับราชการในตำแหน่งรองราชเลขาธิการสนองพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์มาเป็นเวลากว่า ๔๐ ปี    โดยยึดราชสวัสดิ์อย่างเคร่งครัด    วุฒิขยันหมั่นเพียรศึกษาหาความรู้ด้านต่างๆจากเอกสารและคำบอกเล่าของผู้รู้   จึงมีความรู้รอบโดยเฉพาะขนบธรรมเนียมประเพณีในราชสำนักและประวัติศาสตร์   จนสามารถถ่ายทอดความรู้ต่างๆเหล่านี้ให้แก่ข้าราชบริพารและผู้ใฝ่รู้ได้ในวงกว้าง

วุฒิเป็นเพื่อนร่วมรุ่นอีกคนหนึ่งที่เราภูมิใจ อาจกล่าวได้ว่าการทำงานของเขาเป็นเสมือนการปิดทองหลังพระ ที่เจ้าตัวมิเคยโอ้อวดให้ใครฟัง แต่เพื่อนอักษรรุ่นเราจะทราบดีว่า วุฒิทำงานอย่างเต็มที่เพียงใด

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.อมรา ประสิทธิ์รัฐสินธุ์

อักษรจรัส อ.บ.32 : ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.อมรา ประสิทธิ์รัฐสินธุ์       

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.อมรา ประสิทธิ์รัฐสินธุ์ เดิมชื่อ อมรา ภมรบุตร สมัยเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ได้ทุนเรียนดีเพื่อศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาจากโรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ จนจบอ.บ.เกียรตินิยมอันดับสอง  ต่อมาเรียนจบระดับปริญญาโทด้วยทุนฟุลไบรท์จากมหาวิทยาลัยบราวน์ สหรัฐอเมริกา   และจบระดับปริญญาเอกด้วยทุนอีสต์เวสต์เซ็นเตอร์จากมหาวิทยาลัยฮาวาย สหรัฐอเมริกา

                ศาสตราจารย์ ดร.อมรา ภูมิใจที่ได้ทำงานในคณะอักษรศาสตร์ตลอดชีวิต นับตั้งแต่ทันทีที่เรียนจบ เนื่องจากได้คะแนนวิชาภาษาอังกฤษในระดับสูง จึงได้รับคัดเลือกเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ  ครั้นเมื่อคณะฯมีการก่อตั้งภาควิชาใหม่ คือภาควิชาภาษาศาสตร์ อาจารย์อมราได้ขอย้ายไปอยู่ภาควิชาใหม่และสอนภาษาศาสตร์จนเกษียณอายุราชการ เป็นที่ทราบดีในหมู่นิสิตและเพื่อนร่วมงานว่าอาจารย์อมราเป็นครูที่ขยัน ทุ่มเท เอาจริงเอาจังและเข้มงวดมาก โดยเฉพาะเวลาคุมวิทยานิพนธ์  หลักการที่ยึดถือมาตลอดในอาชีพอาจารย์ คือสอนให้นิสิตรู้จักคิด ให้เชื่อหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ได้มาจากการวิจัยมากกว่าเชื่อความรู้สึก หรือความเคยชินและสอนให้สามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง นิสิตบางคนให้ความเห็นว่าเรียนกับอาจารย์อมราทั้งยากทั้งเหนื่อย แต่กระนั้น หลักฐานข้อเท็จจริงกลับแสดงว่า อาจารย์อมราก็เป็นครูที่นิสิตเลือกเรียนด้วยและเลือกให้เป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์เป็นจำนวนสูงสุดคนหนึ่งในภาควิชาฯ  จากคำพูดของลูกศิษย์ในกิตติกรรมประกาศของวิทยานิพนธ์ อาจารย์อมราเป็นแบบอย่างของนักวิชาการที่ดี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาที่ให้ทั้งเวลา  ความรัก ความเข้าใจ และมุ่งมั่นในการปลูกฝังและสร้างให้ลูกศิษย์เติบโตก้าวหน้าด้วยความเป็นตัวของตัวเอง เป็นคนมีความรู้จริงและเป็นคนดีของสังคม   ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์อมรากับลูกศิษย์ที่ทำวิทยานิพนธ์ มีความยั่งยืนและมั่นคงเหมือนแม่กับลูก  มีลูกศิษย์หลายคนมาแสดงความยินดีเมื่ออาจารย์อมราได้รับรางวัลอาจารย์ดีเด่นระดับมหาวิทยาลัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปีพ.ศ. 2548 และรางวัลอาจารย์ดีเด่นระดับชาติโดยปอมท.ในปีพ.ศ. 2549  ในด้านการวิจัยอาจารย์อมราทำวิจัยอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เริ่มเป็นอาจารย์ เพื่อนำผลวิจัยมาสอนนิสิต โดยได้รับทุนวิจัยหลายแหล่ง เช่น สถาบันไทยศึกษา  จุฬาฯ  ทุนรัชดาภิเษกสมโภช ฝ่ายวิจัย จุฬาฯ ทุนสภาวิจัยแห่งชาติ และทุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย แต่ที่อาจารย์อมราภูมิใจมากที่สุด คือได้รางวัลที่เป็นทุนวิจัยเมธีวิจัยอาวุโสถึงสองครั้ง และต่อยอดด้วยรางวัลระดับสูงสุดคือรางวัลทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่นในปี 2559 อาจารย์เป็นหนึ่งในสามคนที่ได้ทุนนี้ทั้งหมดในประเทศ และเป็นคนแรกของคณะอักษรศาสตร์ที่ได้รับเกียรติสูงสุดนี้  ผลงานที่นำมาสู่จุดนี้น่าจะเป็นการบุกเบิกการศึกษาด้านภาษากับสังคม และภาษากับวัฒนธรรม นอกจากนั้นอาจารย์อมรายังเป็นผู้เสนอแนวคิดใหม่ในการวิเคราะห์ไวยากรณ์ไทยที่เป็นระบบ เป็นวัตถุวิสัย และเข้าใจง่าย

ถึงแม้ว่าตลอดชีวิตการทำงานในคณะอักษรศาสตร์ อาจารย์อมราจะเน้นการสอนและการวิจัยมากที่สุด แต่ก็ได้อุทิศเวลาช่วยงานด้านการบริหารในคณะฯ และในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมากเท่าที่ทำได้ โดยดำรงตำแหน่งบริหาร เช่น หัวหน้าภาควิชาภาษาศาสตร์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการคณะอักษรศาสตร์ รองผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และผู้อำนวยการสถาบันไทยศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   นอกจากนั้น ยังได้มีโอกาสทำงานในตำแหน่งอื่นๆอีก เช่น ประธานคณะกรรมการวิจัยของศูนย์การแปล คณะอักษรศาสตร์ ประธานคณะกรรมการจัดสรรและติดตามผลงานวิจัยสาขามนุษยศาสตร์ของฝ่ายวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการบัณฑิตศึกษาประจำหลักสูตรนานาชาติไทยศึกษาของคณะอักษรศาสตร์ นอกจากนั้นยังรับหน้าที่เป็นประธานและเลขานุการของคณะอนุกรรมการ หรือกรรมการเฉพาะกิจอีกเป็นจำนวนมาก 

ปัจจุบัน แม้จะเกษียณอายุราชการแล้ว แต่อาจารย์อมราก็ยังทำงานด้านวิชาการอยู่ เช่น เป็นผู้ทรงคุณวุฒิประจำหลักสูตรนานาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นบรรณาธิการหลักของวารสารนานาชาติ  MANUSYA, Journal of Humanities เป็นอาจารย์พิเศษและวิทยากรบรรยายพิเศษหลายสถาบัน เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์  เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาผลงานวิชาการของผู้เสนอขอตำแหน่งทางวิชาการในมหาวิทยาลัยต่างๆ และเป็นกรรมการวิชาการในคณะกรรมการหลายชุดของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา

สายเกษม ตรีวิศวเวทย์

อักษรจรัส อ.บ.32 : นาง สายเกษม ตรีวิศวเวทย์

ความสำเร็จในหน้าที่ธุรกิจการงานของสายเกษมเป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่แล้ว เราจึงขอยกย่องชื่นชมสายเกษมจากมุมมองของความเป็นผู้ที่มีจิตใจงดงาม พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่น และทำคุณประโยชน์ให้สังคม ทั้งโดยส่วนตัวและผ่านทางบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษา เป็นต้นว่าได้ให้ความร่วมมือกับทางโรงเรียนที่สายเกษมเป็นศิษย์เก่าในเรื่องต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนปัจจุบันมาโดยตลอด จนได้รับการยกย่องให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่น

ในส่วนที่เกี่ยวกับคณะอักษรศาสตร์ สายเกษมได้ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี เช่น มอบเงินจำนวนหนึ่งในการจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอน เมื่อคณะได้งบประมาณสร้างอาคารบรมราชกุมารีเพื่อเป็นอาคารสำหรับการเรียนการสอน นอกจากนั้น บริษัท ช.การช่างก็ยังได้มอบทุนการศึกษาให้แก่นิสิตหลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการแปลและการล่าม (สายการล่าม) ของศูนย์การแปลและการล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ อีกด้วย

โดยส่วนตัว สายเกษมเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี มีเมตตาสูง ทำบุญทำกุศลกับวัดและองค์กรต่างๆหลายแห่ง นอกจากนั้นสายเกษมยังได้ช่วยเหลือครูอาวุโสที่อายุมากและไม่มีครอบครัว ไม่ว่าจะในยามเจ็บป่วยหรือในยามที่ประสบภัยพิบัติ เช่น ช่วยสร้าง/ซ่อมแซมบ้านที่เสียหายจากมหาอุทกภัยในปี 2553 สำหรับเพื่อน ๆบางคนสายเกษมก็เอื้อเฟื้อ ดูแล ช่วยเหลือ เมื่อมีความเดือดร้อน เป็นอย่างดี เพื่อน ๆ เหล่านี้ต่างมีความซาบซึ้งในความรักและความมีน้ำใจของสายเกษมเป็นอย่างยิ่ง

ความเป็นผู้มีจิตใจงามชองสายเกษมจึงเป็นความประทับใจและความภาคภูมิใจของพวกเราเสมอมา

สุนันท์ โชคดารา

อักษรจรัส อ.บ.32 : น.ส. สุนันท์ โชคดารา            

อ.บ.คนนี้เข้าทำงานในกรมไปรษณีย์โทรเลขซึ่งเป็นรัฐพาณิชย์ให้บริการไปรษณีย์และโทรคมนาคมตั้งแต่สำเร็จการศึกษา ได้ใช้ภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษอย่างเต็มที่ เธอได้รับทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสไปศึกษาต่อวิชาบริหารการไปรษณีย์ที่ Ecole Nationale Superieure des PTT กรุงปารีสเมื่อพ.ศ.2516 ซึ่งในหลักสูตรดังกล่าวมีวิชาคำนวณที่บัณฑิตอักษรศาสตร์ได้ทิ้งไปเสียหลายปี แต่ด้วยความมานะพยายาม เธอผ่านการทดสอบวิชาคำนวณ ได้เข้าศึกษาต่อจนจบการศึกษา ได้รับประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญาโท

เธอกลับเข้าทำงานที่กรมไปรษณีย์โทรเลข ซึ่งต่อมามีการเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจในปีพ.ศ.2520 และแยกกิจการไปรษณีย์และโทรคมนาคมออกจากกันในปีพ.ศ.2546 เธอเกษียณอายุการทำงานในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านบุคคล

นอกเหนือจากงานปกติ มีงานพิเศษให้ทำเสมอมา ได้รับเกียรติให้เขียนบทอาศิรวาทในวาระสำคัญต่างๆ เป็นผู้จัดนิทรรศการในงานแสดงตราไปรษณียากรแห่งชาติและระหว่างประเทศซึ่งเป็นงานที่เธอได้แสดงความสามารถในการใช้ความรู้ด้านอักษรศาสตร์อย่างเต็มที่ เธอได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการขององค์กร ของหน่วยงานภายนอก เช่น สมาคมนักเรียนเก่าฝรั่งเศส สมาคมนักสะสมตราไปรษณียากรแห่งประเทศไทย ฝ่ายวิชาการสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชูปถัมภ์ เบญจมราชาลัยสมาคมในพระบรมราชินูปถัมภ์ซึ่งเป็นองค์กรที่เสนอให้เธอเป็นหนึ่งในเพชรร้อยกะรัต ศิษย์เก่าดีเด่นของโรงเรียนเบญจมราชาลัย เป็นรองประธานร้านกาชาดเบญจมราชาลัยสมาคมตั้งแต่ปี 2551 ถึงปัจจุบัน ในส่วนงานคณะ เป็นกรรมการสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ 2สมัย ช่วยงานคณะและงานของรุ่น 32มาโดยตลอด

อรุณศรี จิตต์แจ้ง

อักษรจรัส อ.บ.32 : น.ส.อรุณศรี  จิตต์แจ้ง

อรุณศรีเริ่มชีวิตการทำงานโดยรับราชการที่สำนักงานสภาการศึกษาแห่งชาติ   ระหว่างนั้น ได้ศึกษาต่อครุศาสตร์   และไปต่อยอดสาขาการบริหารในมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างประเทศ  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน  จนเติบโตในตำแหน่งหน้าที่ขึ้นไปเป็นลำดับ

             เมื่อมีการค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย  รัฐบาลได้เริ่มโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก และจัดตั้งอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก  อรุณศรีได้รับการชักชวนเข้าร่วมโครงการใหม่ที่จะเป็นประโยชน์มากมายต่อประเทศชาติ  เธอจึงอำลาชีวิตราชการอันมั่นคงที่มีอายุงานกว่า 17 ปีและมีโอกาสเจริญก้าวหน้าต่อไปด้วยดี  และได้ไปร่วมทีมงานแรกเริ่มของบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด ในพ.ศ.2527  ทั้งๆที่มีความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่โครงการอาจไม่บรรลุผลสำเร็จ  เพราะปิโตรเคมีเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับประเทศไทยยุคนั้น ต้องอาศัยเงินลงทุนนับหมื่นล้านบาท บุคลากรที่พร้อมทั้งคุณภาพและจำนวน การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งปัจจัยเกื้อหนุนทางธุรกิจหลายประการ     อรุณศรีต้องปรับตัวอย่างมากในการเริ่มงานใหม่ในบริษัทที่เพิ่งเริ่มต้นด้วยบุคลากรเพียง 20 คน  ต้องเรียนรู้หาความรู้ใหม่ด้านอุตสาหกรรม  ปิโตรเคมี  ธุรกิจ  ในวัฒนธรรมและสภาพการทำงานที่แตกต่างจากงานเดิมอย่างมาก รวมทั้งได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ     ในส่วนของบริษัทฯด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเทร่วมมือร่วมใจของผู้นำและทีมงานที่ทำงานแข่งกับเวลา  บริษัทฯก็ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ  ได้รับรางวัลระดับประเทศและนานาชาติมากมาย  ซึ่งอรุณศรีได้พัฒนาก้าวหน้าไปพร้อมองค์กร  แม้ต่อมาเมื่อมีการควบรวมกิจการกับบริษัทอื่น เธอก็ได้ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ จนเกษียณอายุ

           นอกจากนี้  อรุณศรีได้ทำงานตำแหน่งทางการเมืองในกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงศึกษาธิการภายใต้รัฐมนตรีเทคโนแครตผู้มีความรู้ความสามารถและคุณธรรมเป็นที่ยอมรับยกย่องของสังคมโดยทั่วไปด้วย

ในการปฏิบัติงานไม่ว่าด้านวิชาการ อำนวยการ บริหาร ภาคราชการ หรือเอกชน  อรุณศรีได้ตระหนักว่าทักษะด้านการจับประเด็น  ย่อความ  วิเคราะห์  สังเคราะห์  เรียบเรียง  สรุปสาระสำคัญ  ที่คณาจารย์ได้ถ่ายทอดปลูกฝังแก่นิสิตอักษรศาสตร์  มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานอย่างยิ่ง

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University