อักษรจรัส รุ่น 33

คุณหญิงพวงร้อย (อังศุสิงห์) ดิศกุล ณ อยุธยา

อักษรจรัส อบ.33

หลังจากจบปริญญาโทจาก University of Wisconsin (Madison) พวงร้อยได้เข้ามาเป็นอาจารย์ภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ ในปี 2513 สอนทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท จนปี 2527 ก็ลาออกเพื่อไปทำงานที่เป็นอิสระกว่า และหาประสบการณ์ใหม่ๆ

ในปี 2528 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา     กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มาถวายงานเป็นข้าหลวงของสมเด็จพระบรมราชชนนี  ชีวิตของพวงร้อยจึงเปลี่ยนไป จากการตามเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในพื้นที่ห่างไกลที่น้อยคนจะมีโอกาสได้ไป ได้เห็นชีวิตของคนไทยอีกครึ่งประเทศ ที่อยู่อย่างยากลำบาก ขาดการดูแลและขาดโอกาส ได้เรียนรู้จากพระราชกรณียกิจและพระราชจริยวัตรของสมเด็จพระบรมราชชนนี เห็นความมุ่งมั่นที่ทรงพัฒนาให้ชีวิตที่ยากลำบากให้ดีขึ้น 

ในปี 2530 สมเด็จพระบรมราชชนนีและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เสด็จไปทอดพระเนตรพื้นที่บริเวณดอยตุง เชียงราย และรับสั่งว่า “ฉันจะปลูกป่าบนดอยตุง” จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการพัฒนาดอยตุงของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (ปัจจุบันอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์)  พวงร้อยมีส่วนตั้งแต่ทำ concept paper ของโครงการฯ เพื่อนำเสนอระดมทุนมาปลูกป่า สมเด็จพระบรมราชชนนีมีรับสั่งว่า เราจะยังพัฒนาไม่ได้ถ้าปากท้องชาวบ้านยังไม่อิ่ม ทรงมีรับสั่งให้สร้างงานให้ผู้หญิง คนแก่  คนหนุ่มสาว ให้ทุกคนมีรายได้ ดังนั้น การปลูกป่าจึงต้องมีการปลูกคนคู่กันไป พวงร้อยเป็นหัวแรงสำคัญในการปลูกคนตั้งแต่การสอนชาวเขาให้กวาดถูบ้าน ล้างชาม ซักผ้า ให้สะอาดอย่างที่สุด จนถึงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพทั้งเกษตรและหัตถกรรม โดยประสานงานหาผู้เชี่ยวชาญมาสอนทักษะ หา designer มาออกแบบทำผลิตภัณฑ์ เปิดร้านขายสินค้าทีละร้าน   และเปิดร้านกาแฟดอยตุง เปิดร้านอาหาร โรงแรมบนดอยตุง เป็นธุรกิจ 4 ประเภท และสร้างแบรนด์ ดอยตุง ซึ่งทุกวันนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคมขนาดใหญ่ของประเทศไทย งานธุรกิจเพื่อสังคมนี้มีรายได้เลี้ยงตัวเองเช่นธุรกิจทั่วไป เพราะยึดหลักคำสอนของสมเด็จพระศรี  นครินทราบรมราชชนนี ว่า “อย่าให้คนมาซื้อของเพราะความสงสาร” ปัจจุบันโครงการพัฒนาดอยตุงมีพนักงานที่อยู่บนดอยและกรุงเทพฯ ที่ทำงานพัฒนาและธุรกิจเพื่อสังคมรวมแล้วประมาณ 1,700 คน และเป็นต้นแบบของงานพัฒนาแบบยั่งยืน Sustainable Alternative Livelihood Development และ Social Enterprise 

ปี 2549 พวงร้อยเริ่มทำงานเรื่องของการปลูกคนรุ่นใหม่ด้วยการพัฒนาการศึกษาใน 8 โรงเรียนที่กระจายอยู่ในพื้นที่โครงการฯ โดยประสานความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ องค์กรการศึกษา มหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเป็นเรื่องการเรียนการสอนแบบใหม่เพื่ออบรมพัฒนาครูและผู้อำนวยการโรงเรียน ตลอดเวลาสิบปีนี้ พวงร้อยได้เป็นแกนกลางประสานงานกับทุกภาคส่วน ทั้งรัฐและเอกชน ผลักดันการพัฒนารูปแบบใหม่ของการศึกษา รับสนองพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จัดการเรียนวิชาชีพในช่วงชั้นมัธยมต้นและมัธยมปลาย ซึ่งจากนโยบายของรัฐบาลปี 2559 นักเรียนสายวิชาชีพเด็กเป็นศูนย์กลาง จัดหางบประมาณมาพัฒนาอาคาร อุปกรณ์การเรียนการสอน ห้องสมุด จัดผู้เชี่ยวชาญมาสอนกระบวนการเรียนรู้จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนในพื้นที่โครงการฯ คือโรงเรียนห้วยไร่สามัคคีจะได้รับประกาศนียบัตร ปวช. ในบางสาขาแล้ว นอกจากนี้พวงร้อยยังได้ผลักดันการเรียนการสอนภาษาไทยในระดับประถมต้น ด้วยวิธีมอนเตสเซอรี่ใน 8 โรงเรียน และกำลังจะขยายผลไปยังพื้นที่ข้างเคียง จัดได้ว่าการพัฒนาการเรียนการสอนในโครงการพัฒนาดอยตุงฯ สามารถเป็นต้นแบบการเรียนการสอนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล 

งานที่พวงร้อยทำอยู่ทุกวันนี้  เกิดมาจากพระราชดำริ และแรงบันดาลใจที่ได้รับจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีะนับเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างรากฐานในชีวิตของชาวบ้านบนดอยสูง ที่ครั้งหนึ่งแทบจะเอาชีวิตไม่รอด ต้องค้าฝิ่น ขายลูกสาว ตัดไม้ ให้มามีชีวติที่มีกินมีใช้ พอเพียง สามารถวางแผนอนาคตในครอบครัว ลูกหลานได้

คุณหญิงรัตนาภรณ์ (บอกบุญธรรม) ฉัตรพงษ์

หลังจากจบอักษรศาสตร์มหาบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2516 แล้ว คุณหญิงรัตนาภรณ์ได้รับราชการในแผนกวิเทศสัมพันธ์ กองการต่างประเทศ สำนักราชเลขาธิการ ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมารับพระราชทานมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ ผู้ช่วยราชเลขาธิการ และตำแหน่งสุดท้ายคือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ด้านอักษรศาสตร์ระดับ 10

งานในความรับผิดชอบโดยตรงคืองานด้านต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ทั้งเวลาเสด็จฯ เยือนต่างประเทศ  และเวลาที่พระราชอาคันตุกะเสด็จและมาเยือนประเทศไทย อันเป็นงานที่ต้องประสานกับหน่วยราชการหลายหน่วย ซึ่งต้องปฏิบัติด้วยความรอบคอบ แนบเนียน และแม่นยำ อีกทั้ง ดำเนินการและอำนวยความสะดวกข้าราชบริพารและบุคลากรชั้นผู้ใหญ่ในราชสำนักในการเดินทางไปต่างประเทศ

นอกจากนั้น ยังประสานงานเกี่ยวกับการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตไปประจำในต่างประเทศ การขอเฝ้าฯ ถวายพระราชสาส์น/ สาส์น ตราตั้ง การเชิญเสด็จฯ และการขอเฝ้าฯ ของบุคคลสำคัญจากต่างประเทศ ฯลฯ  แม้แต่งานแปลเอกสารของกองอื่น คุณหญิงรัตนาภรณ์ก็ได้ใช้ความสามารถด้านภาษาไทย อังกฤษ และเยอรมันช่วยบริการด้วยความเต็มใจ

งานในพระองค์ทุกเรื่องต้องปฏิบัติให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็วที่สุด คุณหญิงรัตนาภรณ์จึงอุทิศตนในการทำงานตลอดเวลา ไม่ว่าในหรือนอกเวลาราชการ และไม่คำนึงถึงการลาพักผ่อนส่วนตัว

ในปี 2533 ได้รับพระราชทานเครื่องราชจตุตถจุลจอมเกล้า จึงมีคำนำหน้านามว่า คุณหญิง นับแต่นั้นมา และในปี 2542 ก็ได้รับพระราชทานเลื่อนชั้นเครื่องราชฯ เป็นชั้นตติยจุลจอมเกล้า

ในปี 2547 คุณหญิงรัตนาภรณ์ได้เกษียณอายุราชการก่อนเวลา และได้เป็นข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ถวายงานสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ราชสุดา สิริโสภาพัณวดี ณ วังรื่นฤดี

คุณหญิงรัตนาภรณ์ได้ใช้ความรู้จากคณะอักษรศาสตร์ปฏิบัติงานสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์  ตลอดจนอำนวยความสะดวกแก่ข้าราชบริพาร บุคลากรชั้นผู้ใหญ่ในราชสำนัก ตลอดจนบุคลากรทางการทูตเป็นอย่างดี จึงสมควรได้เป็นอักษรจรัสคนหนึ่งของอักษรศาสตร์รุ่น 33 นี้

   

คุณหญิงลักษณาจันทร (นาวานี) เลาหพันธ์

อักษรจรัส  อบ.33

คุณหญิงลักษณาจันทร เป็นข้าราชการกระทรวงต่างประเทศตั้งแต่เริ่มทำงานจนเกษียณอายุราชการ ด้วยความรู้ ความสามารถ ความมุ่งมั่นและวิสัยทัศน์อันกว้างไกล คุณหญิงฯ  เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน จนได้เป็นอธิบดีหญิงคนแรก และ รองปลัดกระทรวงหญิงคนแรก ของกระทรวงต่างประเทศ

เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสังคม กรมองค์การระหว่างประเทศ คุณหญิงลักษณาจันทร ได้แปลอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี (CEDAW) และเสนอให้รัฐบาลเข้าเป็นภาคีโดยตั้งข้อสงวนไว้ 7 ข้อในประเด็นที่หน่วยงานต่าง ๆ ยังไม่พร้อมที่จะอนุมัติให้เป็นไปตามอนุสัญญาฯ ได้ในขณะนั้น เช่น ความเสมอภาคทางการเมืองและการรับตำแหน่งทางราชการ, ความเสมอภาคในด้านครอบครัวและการสมรส เป็นต้น อนุสัญญาฉบับนี้ ได้ช่วยวาง Roadmap ให้กับการพัฒนาความก้าวหน้าของสตรีไทยอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะเงื่อนไขต่างๆ ที่ระบุไว้ในข้อสงวน 7 ข้อ ตั้งแต่ปี 2528 นั้น คณะรัฐมนตรีได้ทยอยยกเลิกตลอดมาจนวันนี้ ปี 2559 ยังคงเหลือข้อสงวนเพียง 1 ข้อเท่านั้น  คุณหญิงฯ ภูมิใจงานชิ้นนี้มาก เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิสตรี

ตอนนี้ ใครๆ ก็รู้จัก อาเซียน แต่ท่านทราบไหมว่า คุณหญิงลักษณาจันทรเป็นผู้เสนอให้เพื่อนสมาชิกผู้ก่อตั้งอาเซียน 6 ประเทศ พิจารณาจัดตั้งกองทุนอาเซียน (ASEAN Fund) ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งทุนที่ใช้สนับสนุนโครงการที่สมาชิกอาเซียนเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ร่วมกัน โดยกำหนดให้บริจาคสมทบกองทุนประเทศละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และให้มีผู้กำกับดูแลมืออาชีพทำหน้าที่ Fund Manager อีกทั้งกำหนดเงื่อนไข ให้ประเทศที่จะเข้าเป็นสมาชิกใหม่ 4 ประเทศ คือ CLMV ต้องบริจาคสมทบเช่นกัน ในที่สุด รัฐมนตรีต่างประเทศของทั้ง 6 ประเทศก็ได้ลงนามข้อตกลงว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนอาเซียน เมื่อ 2535  และถือเป็นแบบอย่างของการจัดตั้งกองทุนเฉพาะด้านขึ้นอีกในเวลาต่อๆ มา อาทิ ASEAN Fund for Development,  ASEAN Fund for Infrastructure เป็นต้น

ปี 2539 เมื่อรัฐบาลอนุมัติการสร้างอาคารที่ทำการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์ร่าหลังใหม่ พร้อมอาคารอเนก ประสงค์ ที่มีความทันสมัยแต่อิงรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์ไทย คุณหญิงฯ ได้ขอให้กระทรวงฯ โอนเงินค่าก่อสร้างทั้งหมดมาเปิดบัญชีไว้ที่สถานเอกอัครราชทูตเพื่อความสะดวกในการเบิกจ่ายตามงวดสัญญาว่าจ้าง หลังจากโอนเงินมาเพียงไม่ถึงเดือน เกิดการลดค่าเงินบาท จาก 25 บาท เป็น 50 บาท ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ ทำให้ค่าก่อสร้างไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด ช่วยประหยัดงบประมาณรัฐได้มหาศาล

ในช่วงที่สหประชาชาติเตรียมจะทูลเกล้า ฯ ถวายรางวัล “Lifetime Achievement in Human Development  May 2006“ เพื่อเทิดทูนพระราชกรณียกิจในการพัฒนาประชาชนชาวไทยมาเป็นเวลายาวนาน คุณหญิงฯ อยู่ในระหว่างดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ค  จึงมีบทบาทหลักในการประสานงานกับเลขาธิการสหประชาชาติ – นาย Kofi Annan

ความสำเร็จของลักษณาจันทร มีทั้งในงานระดับชาติ ระดับอาเซียน และระดับนานาชาติ  ซึ่งมีอีกมากมายเหลือคณานับที่ไม่ได้นำมาเอ่ยถึง

 

รองศาสตราจารย์ ดร.นิตยา ภัสสรศิริ

นิตยา ภัสสรศิริ เป็น 1 ใน 3 คนที่เลือกเรียนวิชาเอกคณิตศาสตร์จนถึงปีที่ 4 ความรู้ที่ได้รับจากคณะอักษรศาสตร์ทางด้านภาษา และจากคณะวิทยาศาสตร์ทางด้านคณิตศาสตร์ เป็นส่วนผสมที่เหมาะแก่การนำไปใช้ประโยชน์ได้มากทั้งในการศึกษาต่อ และในหน้าที่การงาน

นิตยามีความสนใจวิชาการหลายแขนง และมีประสบการณ์ทางการศึกษาที่หลากหลาย ระหว่างการศึกษาต่อที่ฟลอริดา ได้มีโอกาสฝึกงานวิจัยทางด้านแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ จากศาสตราจารย์ผู้มีชื่อเสียงทั้งจากมหาวิทยาลัยของรัฐ และจากมหาวิทยาลัย Stanford ทำให้มีส่วนร่วมในการจัดทำนโยบายการจ้างงานของรัฐฟลอริดา  หลังจากสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก นิตยาได้รับโอกาสที่ดีในการทำงานร่วมกับศาสตราจารย์ผู้มีชื่อเสียงอีกหลายท่าน อาทิ ทางด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษาจากมหาวิทยาลัยลอนดอน และด้านการศึกษาทางไกล จากมหาวิทยาลัยเปิดของอังกฤษ รวมทั้งประสบการณ์ในการศึกษาดูงานด้านการศึกษา และการศึกษาปฐมวัยจากหลายประเทศ อาทิ อิสราเอล จอร์แดน จีน ญี่ปุ่น โคลัมเบีย บราซิล สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สกอตแลนด์ บรูไน มาเลเซีย นอร์เวย์ อิตาลี เบลเยียม ฯลฯ ประสบการณ์เหล่านี้มีประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาทางไกล  การพัฒนาชุดโครงการวิจัยเพื่อจัดทำนโยบายเด็กปฐมวัย และการวางแผนพัฒนาการศึกษาของไทย ตามบทบาทหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ    

 ในส่วนของงานวิจัย นิตยาได้รับมอบหมายให้เป็น National Research Coordinator (NRC) สำหรับประเทศไทยในการดำเนินโครงการวิจัย International Association for the Evaluation of Educational Achievement ( IEA):  Pre-Primary Project ซึ่งเป็นโครงการวิจัยระยะยาว 20 ปี  (2530-50) และมีสิ่งตีพิมพ์ร่วมกับประเทศต่าง ๆ 11-15 ประเทศ  เมื่อนิตยาได้รับเลือกจาก Board of Directors ของ  ICET: International Council on Education for Teaching ให้เป็นกรรมการ ในปี พ.ศ. 2549-2553 และเป็น Vice-president สำหรับเขต Australia Asia Pacific  ในปี พ.ศ. 2553-2557  ทำให้สามารถสร้างเครือข่ายได้ ครอบคลุมจำนวนประเทศมากขึ้น นับเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาไทยในการศึกษาดูงานและฝึกอบรมเพิ่มเติมต่อจากการนำเสนอผลงานในการประชุมทางวิชาการในประเทศเหล่านี้

นิตยาเป็นผู้ที่อุทิศตนเพื่อความก้าวหน้าของส่วนรวม พร้อมที่จะช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานให้พัฒนาตนเองและทุ่มเทกำลังกาย กำลังสติปัญญา เพื่อการเรียนรู้ของนักศึกษาเป็นอย่างมาก  มีวิธีการเสริมพลังใจให้รู้จักแสวง หา ความรู้ กระตุ้น ติดตามและให้กำลังใจสม่ำเสมอ เพื่อนักศึกษาในระบบทางไกลเรียนจบตามเวลาในหลักสูตร นอกจากนี้ยังเป็นแบบอย่างของ อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่สนใจใฝ่หาความรู้ตลอดเวลา มีผลงานที่มีคุณภาพเผยแพร่ในวงวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ สม่ำเสมอ  เมื่อเกษียณ อายุราชการจึงได้รับการต่ออายุราชการ 5 ปี หลังจากนั้นได้มีส่วนช่วยมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชจัดการประชุมทางวิชาการ ICET World Assembly (2556) และ เป็นคณบดี บัณฑิตวิทยาลัย ที่มหาวิทยาลัยราชธานี ตั้งแต่ 2557 ถึง ปัจจุบัน

พื้นความรู้ทางอักษรศาสตร์ การวิจัย และประสบการณ์จากงานวิชาการต่างๆที่สั่งสมต่อเนื่องมาโดยตลอด รวมทั้งรางวัลงานวิจัยและตำรา ได้พัฒนาความมั่นใจให้นิตยามุ่งมั่นทำงานต่อไป เพื่อประเทศชาติ เพื่อตอบแทนสถาบันที่ให้การศึกษา

(ลงรูปไม่ได้ )

รุจา ผลสวัสดิ์

อักษรจรัส  อบ.33

รุจา มีลักษณะที่จะเป็นนักวิชาการมาตั้งแต่ยังเด็ก ชอบอ่านหนังสือ รู้สึกว่าสิ่งที่ท้าทายคือมีอะไรอยู่ในตัวหนังสือที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ ก.ไก่ หนังสือนิทานที่คุณพ่อซื้อมาให้ หรือหนังสือพิมพ์ หรือหนังสือเล่มโตๆ ที่คุณพ่ออ่าน  ผลคือ เมื่อตอนเด็กชั้นประถมจึงถูกตั้งข้อสังเกตว่าทำไมภาษาพูดของรุจาจึงเหมือนภาษาเขียน ซึ่งคงเป็นอิทธิพลมาจากการอ่านแบบตะลุยและรื่นเริง

เมื่อจบมัธยมปลายที่โรงเรียนสตรีวิทยาตรงถนนดินสอ ซึ่งชื่อถนนแสนจะเหมาะกับโรงเรียน รุจาก็กัดฟันสุดความสามารถสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ได้ท่ามกลางความโล่งใจของพ่อ แม่พี่น้องและเครือญาติ    ที่คณะอักษรศาสตร์ รุจาสนใจอ่านสวนอักษรทุกเช้า ที่จำได้มากที่สุดคือ มีเพื่อน 2 คน หมางใจกันแบบเล็กๆและกลายเป็นใหญ่ๆ  ก็เขียนกลอนว่ากันไปว่ากันมาเป็นระยะเวลาหลายเดือน จนรุจาเลยแอบไปเขียนบ้าง ”สวนอักษรกลอนเคยเพราะเสนาะเหลือ   บัดนี้มีบางสิ่งมาสิงเจือ   กลอนอะเคื้อเคยอะคร้าวร้าวหรือไร”  จากนั้นก็เลยห่างจากสวนอักษรไป

เมื่อจบการศึกษาด้วยเกียรตินิยม  ครอบครัวรู้สึกประหลาดใจ  รุจาก็อยากเป็นนักแปล นักเขียน แต่โลกของความจริงก็ปรากฏให้เห็นว่าคงจะเพ้อมากไปหน่อย ครอบครัวแนะว่าควรลองไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำแห่งหนึ่ง (มกค) เพราะอาชีพสอนหนังสือจะเป็นนายของตัวเองมาก น่าจะเหมาะกับนิสัย จากนั้นก็เรียนต่อโท และเอกที่แคนาดาไปตามลำดับ เพราะอยู่ในวิชาชีพนี้แล้วก็ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ

กลับจากการเรียนมาทำงานก็ถูกมอบหมายให้ทำงานเป็นผู้บริหารในบริบทวิกฤตมาโดยตลอด คือมีเรื่องเร่งด่วน ตัองเริ่มจากการสร้างหน่วยงานให้มีขึ้น หรือเป็นผู้ต้องเปลี่ยนแปลงแก้ใขปัญหาในหน่วยงานและพัฒนาการเปลี่ยนแปลงให้เป็นรูปธรรม  งานบริหารที่ได้รับแต่งตั้งเช่น ระดับผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอก   ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต ผู้อำนวยการสถาบันภาษาอังกฤษ   คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย  คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ คณบดีคณะศืกษาศาสตร์  รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ   ในขณะเดียวกันก็ต้องผลิตงานวิจัยและตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ ซึ่งมักจะทำอย่างเข้มข้นเมื่อครบวาระการบริหารแต่ละครั้ง และลามหาวิทยาลัยไปต่างประเทศคราวละหนึ่งปีเป็นระยะๆ และไปเป็น RELC Research Fellow สองครั้งที่สถาบันภาษาประเทศสิงคโปร์  จนในที่สุดได้ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ จากนั้นจึงย้ายตัวเองไปอยู่มหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำอีกแห่งหนึ่ง (มรส)โดยคาดหวังว่าคงจะมีคนรู้จักน้อย และจะได้ไม่ต้องทำงานบริหาร จึงจะสามารถทำงานวิจัยและสอนเกี่ยวกับทวิภาษาได้อย่างสบายไร้ภาระงานบริหาร  แต่ที่ไหนได้ กลับได้รับมอบงานบริหารมากกว่าเดิมและยาวนานกว่าเดิม   สงสัยคงเป็นกรรมเฉพาะตน  รางวัลต่างๆ และการยกย่องในองค์กรก็ได้รับมาเป็นจำนวนพอสมควร

ปัจจุบันเป็นคณบดีคณะศึกษาศาสตร์และผู้อำนวยการหลักสูตรศึกษาศาสตรดุษฏีบัณฑิต ที่มหาวิทยาลัยรังสิต มีผลงานวิชาการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติและนานาชาติ  มีโครงการวิจัย ได้รับทุนวิจัย และเป็นบรรณาธิการของวารสารนานาชาติ ชื่อ RJES Rangsit Journal of Educational  Studies

ศาสตราจารย์ ดร. ดวงมน (ปริปุณณะ) จิตร์จำนงค์

เมื่อนึกถึงเพื่อนๆ ที่พวกเราจะเสนอชื่อให้เป็นอักษรจรัส ชื่อดวงมนก็ลอยขึ้นมาเลย เพราะจำได้ถึงการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยว     รับงานที่ท้าทายสำหรับบัณฑิตใหม่ คือ ไปสอนระดับมหาวิทยาลัย ไกลถึงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ภูมิลำเนา ดวงมนจำได้ไม่ลืม ที่ศาสตราจารย์ ม.ล. จิรายุ นพวงศ์ ถามเชิงล้อว่า “จะไปเป็นหัวหน้าแผนกหรือ” 

ดวงมนใช้ชีวิตการสอนที่ปัตตานีตั้งแต่ปี 2512 จนถึง 2556 ร่วม 44 ปี ได้ดำรงตำแหน่งรองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย    วิทยาเขตปัตตานี  (2536-2541) เป็นหัวหน้าภาควิชาภาษาไทยอยู่หนึ่งสมัย ( 2551-2555) และได้เป็น ศาสตราจารย์ เมื่อ 2556

ดวงมนเล่าว่า " ปัตตานีเป็นจังหวัดที่อยู่นานที่สุดในประเทศไทย มีความสุขในการปรับตัวในวิชาชีพ จนได้รางวัลอาจารย์ตัวอย่างของมหาวิทยาลัยเมื่อสอนมา 25 ปี แต่ความสำเร็จที่แท้จริง (ถ้าจะเรียกด้วยคำนี้) คือการได้เรียนรู้ภาษาและวรรณคดีไทยและปรับใช้วิทยาการทางวรรณคดีวิจารณ์ ต่อยอดจากที่ร่ำเรียนมาจากสถานศึกษาอันเป็นที่รัก พอที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้แก่เยาวชน และพอที่จะขีดเขียนในรูปบทความและหนังสือตำรา อีกทั้งทำงานวิจัยที่รับทุนในฐานะหัวหน้าโครงการจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ติดต่อกัน 6 ปี อย่างพากเพียร”

แม้ดวงมนจะมุ่งมั่นกับชีวิตการงานจนประสบความสำเร็จและได้รับรางวัลมากมาย แต่ชีวิตครอบครัวที่ปัตตานีไม่ขัดกัน  ก็ด้วยน้ำใจของคู่ชีวิตผู้เอื้อเฟื้อช่วยเหลือทุกช่องทางที่เธอจะกระทำได้ และยอมให้ทุ่มเทกับงานทุกช่วงเวลา จนอำลาจากไปด้วยโรคร้าย หลังจากมาพำนักที่บ้านหลังแรกที่สร้างขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงที่จังหวัดพังงาได้เดือนเดียว

เมื่อเกษียณอายุราชการ (ขยายเวลา 5ปี) ดวงมนยังไม่เปลี่ยนความคิดว่างานคือชีวิต รับเป็นผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยพะเยา รับเป็นผู้อภิปรายในการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัย (ในส่วนภูมิภาค) เป็นครั้งคราว ได้ไปบรรยายที่มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี และอภิปรายวันปฐมนิเทศปี 2558 ของบัณฑิตวิทยาลัยในสังกัดที่รับราชการมาตั้งแต่ต้น       ล่าสุดบรรยาย “การสร้างแรงบันดาลใจในวิชาชีพครู” แก่คณะครูโรงเรียนตะกั่วป่าเสนานุกูล ฯลฯ 

ขณะที่มีเวลาว่างมากขึ้น ดวงมนก็ปลูกต้นไม้ ถ่ายรูปต้นไม้และดอกไม้สวย ๆ ส่งมาให้เพื่อน ๆ ชื่นชมทางไลน์  โดยเขียนบทร้อยกรองประกอบ ทั้งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เป็นที่ประทับใจของเพื่อน ๆ  ที่ได้อ่านทุกเช้าไม่เคยขาด แม้จะเป็นเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดราชการ 

ดวงมน ฝากข้อคิดมาว่า "ท่ามกลางวิกฤตสังคมวัฒนธรรม คนเล็กๆแต่ละคนทำเต็มที่ตามกำลังสติปัญญาอันเป็นแสง แห่งชีวิตอย่างไม่ดูดาย ความมืดมนคงลดน้อยลงบ้าง"

( ลงรูปไม่ได้  ยังไม่ทราบว่าเพราะอะไร )

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ปิยนาถ (นิโครธา) บุนนาค ราชบัณฑิต

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ปิยนาถ บุนนาค ราชบัณฑิต เริ่มรับราชการเป็นอาจารย์แผนกวิชาภูมิศาสตร์ปะวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์เมื่อปี 2514 ได้ทำงานสอนในสาขาประวัติศาสตร์มาอย่างต่อเนื่องที่คณะอักษรศาสตร์และได้รับเชิญไปสอน และเป็นวิทยากรที่คณะ มหาวิทยาลัย และ สถาบันอื่นๆ อยู่เนืองๆ แม้เมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดความรู้ให้แก่นิสิตอย่างจริงจัง ศ.ปิยนาถ ได้นำความรู้ทางประวัติศาสตร์(ศึกษาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท) และรัฐศาสตร์ (ศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก) มาประสานกันเพื่อให้งานที่นิสิตศึกษาค้นคว้ามีกรอบแนวความคิดอย่างเป็นระบบทางรัฐศาสตร์ ขณะเดียวกับที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่เชื่อถือและอ้างอิงได้ตามวิธีการทางประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ ในปี 2549      ศ. ปิยนาถ จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นอาจารย์สาขามนุษยศาสตร์ดีเด่นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่บริหารคือ หอประวัติจุฬาฯ ได้รางวัล "โครงการขุมวิชา ของผู้รู้ ผู้เจริญ"

มงคลสูงสุดในชีวิต คือได้มีโอกาสปฏิบัติงานถวาย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีอยู่เป็นระยะ ๆ

ก่อนสมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงเข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ศ.ปิยนาถได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนของแผนกวิชาไปเป็น  มัคคุเทศก์นำเสด็จไปยังลพบุรี

ระหว่างที่สมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในช่วง พ.ศ. 2516-19 ศ.ปิยนาถร่วมกับอาจารย์ในภาควิชาฯ อีก 2 คน ได้ถวายพระอักษรแด่พระองค์ 2 วิชา

 2557 เมื่อได้รับเชิญให้ไปสอนที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ ได้ประทับทรงฟังการบรรยายโดยตลอด และโปรดเกล้าฯ ให้นั่งร่วมที่โต๊ะเสวยพระกระยาหารกลางวันด้วย

และในวันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม 2559 โปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลสัมภาษณ์ “จุฬาฯ ในความทรงจำ” ในวาระจุฬาฯ ครบรอบ 100 ปี เป็นเวลาร่วม 2 ชั่วโมง

ในระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการ จนถึงภายหลังเกษียณอายุราชการ ศ. ปิยนาถศึกษาค้นคว้าวิจัยและเขียนตำราอย่างต่อเนื่อง  ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย ทั้งด้านการเมือง การปกครองเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม สมัยรัตนโกสินทร์ถึงปัจจุบัน  งานวิจัย 2 เรื่อง คือ คลองในกรุงเทพฯ และวัดในกรุงเทพฯ ในรอบ 200 ปี เป็นที่แพร่หลายอย่างมาก นอกจากนี้ หนังสือบางเล่มได้รับการยกย่องให้อยู่ในโครงการสนับสนุนการจัดทำต้นฉบับหนังสือใหม่ที่ทรงคุณค่าของสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ พระอัจฉริยภาพในการบริหารจัดการ และ 9 แผ่นดินของการปฏิรูประบบราชการ คณะผู้เขียนได้มอบลิขสิทธิ์ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลในโครงการมูลนิธิพระดาบถเพื่อการศึกษาของเยาวชน และนโยบายการปกครองของรัฐบาลต่อชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ. 2475-2516) นั้นสภาคองเกรส ของสหรัฐอเมริกาได้ขอไว้ในห้องสมุดของสภาคองเกรส

ในด้านการส่งเสริมการจัดประชุมทางวิชาการในระดับชาติและระดับนานาชาติ ในระหว่างดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ เกือบ 8 ปี (พ.ศ.2534-2541) ศ. ปิยนาถ ได้ส่งเสริมให้มีการจัดประชุมระดับชาติของภาควิชาประวัติศาสตร์หลายครั้ง ในการประชุมระดับนานาชาติใน พ.ศ.2539 ศ. ปิยนาถได้เป็นประธานคณะกรรมการจัดประชุมนานาชาตินักประวัติศาสตร์แห่งเอเชียครั้งที่ 14 (The 14th International Conference of the Association of Historians of Asia) นับเป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวที่เป็นประธานคณะกรรมการจัดประชุมตั้งแต่มีการจัดตั้งสมาคมฯ และมีการจัดประชุมแบบนี้ นอกจากนี้ ยังได้เป็นประธานร่วม และรองประธานในการจัดประชุมระดับนานาชาติอีกหลายครั้ง

 ภายหลังเกษียณอายุราชการ ศ. ปิยนาถ ยังคงทำงานวิชาการอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งในฐานะราชบัณฑิต และในฐานะศาสตราจารย์ทางประวัติศาสตร์ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาผลงานทางวิชาการ(วุฒยาจารย์) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยอื่นๆ อีกกว่า 10 แห่ง และเป็นประธานอนุกรรมการผู้พิจารณาตำแหน่งทางวิชาการของสาขามนุษยศาสตร์และสายสังคมศาสตร์บางสาขาด้วย

นอกจากนี้ศ. ปิยนาถ ยังตั้ง “กองทุน ศ. ดร.ปิยนาถ (นิโครธา) บุนนาค” เพื่อเด็ก ผู้พิการ และผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาส จากเงินทุนที่ลูกศิษย์จัดงานวันเกษียณฯ จำนวน 2 หมื่นกว่าบาท จากนั้นได้นำเงินสมทบจากแหล่งเงินสำคัญคือจากเงินบางส่วนของค่าตอบแทนในการวิจัยและเขียนตำรา และเบี้ยประชุม ทำให้มีเงินบริจาคแก่ผู้ขาดแคลนทุกประเภทดังกล่าวติดต่อกันมานับตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบัน ประมาณ 500 คน จากสถาบันต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ศาสตราจารย์พลอากาศโท (หญิง) วิมล (เวทย์วิวรณ์) ลิมปิสวัสดิ์

หลังจากจบการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเรียนต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัย Northeast Missouri State Universityประเทศสหรัฐอเมริกา ทาง Education พลอากาศโทหญิงวิมล  ลิมปิสวัสดิ์ก็ได้เริ่มอาชีพตามความฝันที่อยากจะเป็นครู ที่โรงเรียนนายเรืออากาศ ในปี 2512 โดยเริ่มต้นจากตำแหน่งอาจารย์ผู้ช่วยกองวิชาอักษรศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และเป็นครูสอนนักเรียนนายเรืออากาศตลอดมา เป็นเวลา 22 ปี จนกระทั่ง ได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการกองดังกล่าวข้างต้นในปี 2534

 

พลอากาศโท(หญิง)วิมล ลิมปิสวัสดิ์ ได้สอน ที่โรงเรียนนายเรืออากาศ ด้วยความพากเพียรวิริยะอุตสาหะ เป็นที่รัก ของเพื่อนร่วมงานและลูกศิษย์ ทุกรุ่น มาโดยตลอด และเป็นที่ยอมรับในด้านความสามารถทางวิชาการ  จนกระทั่ง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์(หญิง)โรงเรียนนายเรืออากาศในปีพ.ศ. 2547 นับเป็นศาสตราจารย์หญิงคนแรกของกองทัพที่ได้ครองยศพลอากาศตรี ต่อมาได้ขอลาออกจากราชการเพื่อมาดูแลบิดามารดาที่สูงอายุ และได้รับพระราชทานยศพลอากาศโท(หญิง)เป็นยศสุดท้าย   นับเป็นสมาชิกของอักษรศาสตร์รุ่น 33 ที่ได้ดำรงยศเป็นทหารในตำแหน่งสูงสุดคือระดับพลอากาศโทในรุ่นเดียวกัน

แม้จะปฏิบัติหน้าที่ในงานด้านวิชาการมาจนดำรงตำแหน่งสูงสุด แต่พลอากาศโท(หญิง)วิมลก็ได้ทำภารกิจอันยิ่งใหญ่ของครอบครัวคู่ขนานไปด้วยคือการดูแลบุพการีมาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่ดูแลคุณยายเป็นเวลากว่า 30 ปี จนกระทั่งคุณยายเสียชีวิต  ไปเมื่ออายุ 99 ปี หลังจากนั้นก็ได้ดูแลคุณพ่อ อีก 6 ปีจนท่านเสียชีวิตเมื่ออายุ 92 ปีและปัจจุบัน ดูแลคุณแม่ซึ่งมีอายุถึง 93ปีแล้ว  ทำหน้าที่พาไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ ไปนอนเฝ้า ปรนนิบัติ ชวนพูดคุย ฯลฯ   ด้วยการดูแลเอาใจใส่ใกล้ชิดด้วยตนเอง  ทำให้บุพการีมีความสุขและอบอุ่นใจในยามชรา พลอากาศโท(หญิง)วิมลจึงเป็นที่รักใคร่และชื่นชมของบุพการีและคนรอบข้างเสมอมา

การทุ่มเท ในการทำงาน ทางวิชาการ จนได้รับการยอมรับสูงสุด และ การทุ่มเทให้กับ บุพการีและ ชีวิตครอบครัว ไปพร้อมๆกันเป็นสิ่งที่ พลอากาศโทหญิงวิมล ลิมปิสวัสดิ์ได้บรรลุความสำเร็จอย่างงดงามควรค่าแก่การเป็นอักษรจรัส

( ยังลงรูปไม่ได้  ยังไม่ทราบว่า่เพราะอะไร )

 

 

สุภางค์ จันทวานิช

ศาสตราจารย์กิตติคุณดร.สุภางค์จันทวานิช เริ่มรับราชการ เป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ เมื่อปี 2526 ได้ทำงานสอนและวิจัย โดยต่อเนื่อง ที่คณะรัฐศาสตร์และที่สถาบันเอเชียศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนกระทั่ง ได้รับ การโปรดเกล้าฯเป็นศาสตราจารย์ระดับ 11 เมื่อปีพ.ศ.2545และเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณในปี 2554

ขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นอาจารย์ได้เขียนตำรา เรื่องวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ,การวิเคราะห์ข้อมูลในการวิจัยเชิงคุณภาพ และทฤษฎีสังคมวิทยา ตำราเรื่องวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพได้รับการพิมพ์ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 23 ในปีพ.ศ. 2558 โดยสำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับหนังสือทฤษฎีสังคมวิทยาเป็นการนำเสนอแนวคิดของนักทฤษฎีฝรั่งเศสกลุ่มหลังสมัยใหม่และหลังโครงสร้างนิยมเช่น มิเชล ฟูโก้ ( Michel Foucault) ปีแอร์ บูดิเออ (PierreBourdieu)ทำให้ความคิดของนักทฤษฎีฝรั่งเศสเหล่านี้เป็นที่รู้จักในหมู่ นักวิชาการ และนิสิตนักศึกษาไทยมากขึ้น

ในบทบาทของนักวิจัย ศาสตราจารย์สุภางค์ จันทวานิชได้ทำวิจัยต่อเนื่องในประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับ การโยกย้ายถิ่นฐาน ได้แก่ผู้ลี้ภัย แรงงานย้ายถิ่นข้ามชาติและกลุ่มประชากรที่เคลื่อนย้ายกลุ่มอื่น ๆ รวมถึงกลุ่มผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ที่เจนีวาได้แต่งตั้ง ให้เป็นกรรมการ ที่ปรึกษาของ International Refugee Documentation Network และได้รับเชิญเป็นกรรมการบริหารของ Human Rights Information and Documentation System International, Geneva; International Association for the Studies of Forced Migration; Asian Research Institute National University of Singapore; International Advisory Group for Irregular Migration Research Programs Australian Government จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยในปี2547 และมอบรางวัลงานวิจัยดีเด่นให้แก่งานวิจัยเรื่องแรงงานไทยในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สภาวิจัยแห่งชาติ แต่งตั้งให้เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติสาขาสังคมวิทยาและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย แต่งตั้งให้เป็นเมธีวิจัยอาวุโส นอกจากนั้น ยังเคยได้รับแต่งตั้งให้ เป็นคณะนักวิชาการที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นอนุกรรมการ บริหารแรงงานต่างด้าวของกระทรวงแรงงาน  เป็นกรรมการบริหารศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และเป็นประธานคนแรกของ Asia Pacific Migration Research Network
ในปี2556ได้ร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศทำวิจัยเรื่องสภาพการจ้างงานและการทำงาน ในภาคการประมงทะเลของไทย ซึ่งนำไปสู่ข้อค้นพบสำคัญ เกี่ยวกับแรงงานส่วนหนึ่งที่ตกอยู่ในสถานะผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์  นำไปสู่การผลักดันนโยบายการคุ้มครอง แรงงานประมงทะเลให้พ้นจากการทำประมงผิดกฎหมายและการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์

จากการมีบทบาทในการผลักดันนโยบาย ดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศ ได้เชิญ ให้เป็นผู้แทนของประเทศไทยเข้าร่วมประชุม เวทีโลกว่าด้วยการย้ายถิ่นกับการพัฒนา ของสหประชาชาติ ที่นิวยอร์ก เมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 เพื่อนำเสนอข้อมูลบทบาทของประเทศไทยเกี่ยวกับการย้ายถิ่นและข้อมูลทางวิชาการโดยเฉพาะเรื่องแรงงานย้ายถิ่นและผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

บทบาทของศาสตราจารย์ดร.สุภางค์ จันทวานิช ในการเผยแพร่ความรู้เรื่องการเคลื่อนย้ายของประชากรซึ่งเป็นประเด็นปัญหาท้าทายระดับโลกตลอดจนการมีส่วนผลักดันในการแก้ไขปัญหา และการให้การคุ้มครองแก่กลุ่มเปราะบางที่เป็นผู้เคลื่อนย้ายถิ่นเหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะได้รับ การอบรมสั่งสอนขณะศึกษาอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งในแง่ความรู้ทางด้านปรัชญา, สิทธิมนุษยชน และปรัชญาการเมือง ความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ตลอดจนแนวคิดเรื่องมนุษยนิยมจากวรรณคดีต่างๆที่ทำให้เกิดความตระหนักในคุณค่าของความเป็นมนุษย์และความจำเป็นที่จะต้องร่วมกันคุ้มครองเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ในสภาวะเปราะบาง

อรุณ สัมพันธวิวัฒน์

อรุณ สัมพันธวิวัฒน์   ใช้ชีวิตในต่างประเทศ ครอบคลุม 3 ทวีป ตั้งแต่ ยุโรป (กรุงฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมันนี), เอเซีย (กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น) จนถึงอเมริกา (นครชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา) อรุณสนใจวิชาการแทบทุกแขนง โดยเฉพาะด้านอักษรศาสตร์ (วรรณคดี) รัฐศาสตร์ (ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการทูต) และสังคมศาสตร์ (องค์กรและเครือข่าย) แต่โดยอาชีพ เขาคือเชฟและเจ้าของร้านอาหารไทยชื่อดังระดับโลก จากรางวัลสูงสุดที่ได้รับเป็นจำนวนมาก เป็นเวลานานกว่า 30 ปี ล้วนยืนยันได้ว่า อรุณคือผู้บุกเบิกและผู้นำด้านอาหารไทย ทำให้อาหารไทยก้าวสู่ครัวโลกอย่างน่าภูมิใจ หนังสือ New York Times เคยประกาศว่า ร้าน “อรุณ” (Arun’s Thai Restaurant) คือร้านอาหารไทยที่ดีที่สุด และเป็น 1 ในสถานที่สำคัญ 1,000 แห่งของโลกที่คนทั้งโลกต้องดูก่อนตาย (1,000 Places to See Before You Die)

อาชีพอาหารทำให้ อรุณ กลายเป็นเชฟที่มีชื่อเสียงก้องโลก แต่ชื่อเสียงของอรุณในต่างประเทศ มิได้อยู่ที่อาหารไทยซึ่งคนทั้งโลกยอมรับแต่เพียงอย่างเดียว อรุณยังมีบทบาทอื่นๆอีกมากมายในสังคม ทั้งระดับชุมชนและระดับชาติ อาทิเช่น เขาเป็นสมาชิกและที่ปรึกษาด้านเอเซียของพรรค Republican ภายใต้สังกัดของ Senator Mark Kirk, เขาเป็นผู้นำโครงการศูนย์ไทยทาวน์ในนครชิคาโก, เป็นประธานมูลนิธิไทย อเมริกัน ผู้แทนชุมชนชาวไทยคนหนึ่งในชิคาโกและผู้นำชมรมผู้สูงอายุ, เขาเคยเป็นประธานจัดงานมหกรรมอาหารระดับโลกเป็นเวลา 3 วันคืองาน 2005 Taste of Thailand – Partnership for Life และประธานร่วมในงาน Asian Coalition’s Lunar Celebration ซึ่งทำให้เขากลายเป็นผู้นำคนหนึ่งของคนเอเซีย-อเมริกันในชิคาโก และในฐานะที่เคยได้รับรางวัล Best Chef/ Midwest จาก James Beard, New York ในปี 2000 เขาเคยได้รับเกียรติจากนายกเทศมนตรีแห่งนครชิคาโก (Mayor Richard M. Daley) ให้เป็นหนึ่งในสามของเชฟชื่อดังที่สุดของนครชิคาโกไปเป็นตัวแทนจัดอาหารระดับสูงต้อนรับนายกเทศมนตรีจากทุกมลรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ Library of Congress ณ กรุง Washington, D.C.

แต่อรุณมิได้ทิ้งวิญญาณของนักอักษรศาสตร์และภูมิหลังที่ร่ำเรียนมาทั้งชีวิต ในปัจจุบัน เขาเพิ่งประพันธ์ วรรณศิลปจินตนา (หนังสือร้อยกรอง ความยาวกว่า 600 หน้า) เสร็จสิ้นลงและรอเวลาตีพิมพ์ ยังมีหนังสืออื่นๆที่กำลังตามมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ผจญภัยไปกับอาหาร, นิทานคำกลอน, และทศบารมี วัตรวิถีสู่พระโพธิญาณ หลายเรื่องกำลังอยู่ในระหว่างการตีพิมพ์เช่นกัน นอกจากงานหนังสือ อรุณ ยังมีงานศิลปะอื่นๆ ทั้งภาพเขียนและบทเพลงอีกมากมาย ที่ยังไม่มีโอกาสนำมาเผยแพร่ ธุรกิจและงานสังคมที่ติดพันอย่างต่อเนื่อง ทำให้การนำเสนอต้องล่าช้าและยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากความฝักใฝ่ในอักษรศิลป์ ความตื่นตัวในธุรกิจ สังคมและการเมือง อรุณทุ่มเทเวลาที่เหลือแสวงหาความสงบด้วยการปฏิบัติธรรม เขารักษาไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ภาวนา (ปัญญา) อันเป็นปทัสถานของการบำเพ็ญบุญบารมีอย่างสม่ำเสมอ สิ่งนี้คือเป้าหมายสูงสุดในชีวิต

ภูมิหลังทางอักษรศาสตร์และวิชาการสาขาต่างๆที่สั่งสมอย่างไม่หยุดยั้งคือกลวิธานที่สร้างความมั่นใจให้ อรุณ ยืนหยัดอย่างสง่าผ่าเผยท่ามกลางปราชญ์ทุกสาขาและผู้คนทุกระดับชนชั้นและปัญญา ทฤษฎีที่ร่ำเรียนมาและปัญญาที่ได้มาจากการปฏิบัติทำให้อรุณกลายเป็นผู้นำชุมชน เป็นตัวแทนคนหนึ่งของคนไทยและชาวต่างชาติในสหรัฐอเมริกา เขาไม่เคยลืม “พระคุณของแหล่งเรียนมา” ที่ทำให้เขาเป็นคนดีมีปัญญา เป็นที่นับหน้าถือตาของผู้คนมาจนถึงบัดนี้

  

  

   

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University