อักษรจรัส รุ่น 36

ปิยะพร อภิชาตนนท์ กัญชนะ

อักษรจรัส  รุ่น 36

ปิยะพร อภิชาตนนท์ กัญชนะ

                แอ๋ว (ปิยะพร อภิชาตนนท์ กัญชนะ) เล่าย้อนว่าในครั้งนั้น (2511) การเรียนอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ยากตรงสอบเข้าราวกับจะคว้าดาวคว้าเดือน เพราะการแข่งขันสูงมาก คณะนี้เป็นที่ใฝ่ฝันของนักเรียนสายศิลป์ทั่วประเทศ  เมื่อสอบเข้าได้จึงดีใจเป็นที่สุด  สี่ปีผ่านไปอย่างรวดเร็ว  สอบวันสุดท้าย ปีสุดท้าย เดินกลับบ้านผ่านร่มเงาจามจุรี มั่นใจเต็มร้อยว่าสอบผ่านแน่นอน พร้อมกับคำถามที่ผุดขึ้นทันใด “จบแล้วหรือเรา รู้อะไรบ้างนี่ รู้พอจะไปทำงานได้ไหม”

                แอ๋วเลือกเรียนภาษาอังกฤษกับศิลปการละคร แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่ที่ห้องละคร วิชาหลักคือภาษาอังกฤษฝากเพื่อน (แน่ง- ผดาพร ปัทมะศังข์)  เรียนศิลปการละคร สอนการคิด วิเคราะห์ และเข้าใจมนุษย์อย่างตัวตนจริง สนับสนุนปรัชญาคณะฯ ที่สอนและปรับแนวคิดกับจริยวัตรของนิสิต  สู่โลกแห่งความเป็นจริง เมื่อต้องทำงาน และอยู่ร่วมกับผู้อื่น  ด้วยการคิดเป็น ฟังเป็น และพูดเป็น  อาจารย์สดใส พันธุมโกมล หรือ “ครูใหญ่” ของชาวศิลปการละคร สอนและนำทางนิสิตแต่ละคนให้สามารถต่อยอดความรู้และยืนหยัดในสังคมได้อย่างเข้าใจ ยอมรับ และมีศักดิ์ศรี

                นับเป็นโชค วาสนา หรือมีบุญก็แล้วแต่ แอ๋วได้มีโอกาสทำงานกับปูชนียบุคคลและศิลปินใหญ่แห่งยุคสมัย การทำงานกับเมืองโบราณ เสมือนการได้เข้าโรงเรียนชีวิตที่โอบล้อมด้วยผู้ใหญ่ที่เป็น “ครู” และมีเมตตา ได้ซึมซับรับรู้ความงดงามแห่งศิลปะ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม  งานทำหนังสือในฐานะบรรณาธิการ ผู้จัดการ และนักเขียน (บางครั้ง) ทำให้เรียนรู้ความประณีต ละเอียด ความมุ่งมั่น ท้าทาย การสร้างสัมพันธ์เครือข่าย อดทนเพื่อเป้าหมาย การถอยมายืนเบื้องหลัง  หนังสือเล่มหนึ่งๆ ที่ผู้อ่านถืออ่านนั้น จึงได้ผ่านกระบวนการอันพิถีพิถัน

แอ๋วมีบุคลิกของ “นักสู้” ทั้งๆที่ใจอ่อนและแคร์เพื่อน เป็นคนตรง บ่อยครั้งที่เพื่อนๆ มองว่าหยิ่ง มีความสุขสนุกกับการทำงานยากๆ แก้ปัญหายากๆ จนดูเป็นเรื่องสามัญ  แอ๋วบอกว่าไม่ได้โอ่อวดแต่กล้าพูดเต็มปากว่า ประสบความสำเร็จในการทำหนังสือดีๆ มาร่วม 200 เล่ม หลายเล่มได้รางวัล ผู้เขียนได้ตำแหน่งวิชาการ   ได้เขียนหนังสือของตนเอง 7 เล่ม  เคยยิ้มเป็นปลื้มที่ได้เขียนสาส์นให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี อ่านในโอกาสเปิดใช้ทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2   ได้เป็นผู้ประสานงานการดำเนินการให้หนังสือมีภาษีมูลค่าเพิ่มเท่ากับศูนย์  ที่สำคัญมีโอกาสประสานงานการถ่ายภาพทางอากาศเขาพระวิหาร ที่ต่อมาได้นำมาใช้อย่างแพร่หลายเป็นทางการ ฯลฯ  อีกทั้งได้มีส่วนส่งเสริมสนับสนุนให้คนชอบผ้าไทย รู้จัก ได้ใช้ และนุ่งห่มผ้าไทยในชีวิตประจำวันอย่างมีความสุข

                แอ๋วบอกว่าดีใจมากที่ได้เล่าความในใจนี้ และขอพูดแทนเพื่อนๆ ว่า คณะอักษรศาสตร์ได้บ่มเพาะพวกเราให้ปรับตัวทำการได้สารพัดประโยชน์จริงๆ  เก่งกาจแม่นยำ  ทำงานด้วยความนบนอบขอบคุณที่การงานนั้นหล่อเลี้ยงชีวิต และยังประโยชน์ต่อส่วนรวม  ใครที่คบหาคุ้นเคยรู้จัก “เด็กอักษรฯ” จะเห็นว่า พวกเราส่วนใหญ่ low profile แม้ต้องยืนเบื้องหลังก็มีความสุข อย่างเช่น วิภาภรณ์ ปราโมช ณ อยุธยา PR มือฉกาจ  หรือสมรักษ์ ณรงค์วิชัย แห่งไทยทีวีสีช่อง 3  หรือเมื่อแตกแถวจากภาษาและหนังสือ ไปทำงานธนาคารอย่างอภิรดี สุขยางค์ จารุบูรณะ เป็นต้น  คนอักษรฯ สร้างจึงบริบูรณ์ทั้งเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ ร่วมกับความนับถือตนเองอย่างเสมอต้นเสมอปลาย  ด้วยความ “พิเศษ” ที่คณะฯ ให้ไว้นั้น พิเศษมากจริงๆ

                วันนี้แอ๋วภูมิใจกับตนเองและเพื่อนๆ มากที่ต่างมีส่วนทำให้ “ปัจจุบัน” มีคุณค่า  กลายเป็นอดีตที่มีความหมาย  และเป็นอนาคตอันงดงาม...

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สดใส ขันติวรพงศ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สดใส ขันติวรพงศ์

อบ. 36

 เพื่อนของฉันคนนี้เปรียบดังดวงดาวที่อยู่ไกลเกือบสุดขอบฟ้า แต่ด้วยพลังแห่งความมุ่งมั่นสร้างสรรค์ เราจึงเห็นเธอฉายแสงจรัส สมนาม “สดใส ขันติวรพงศ์”

ในบทบาทของ “ครู” ณ สถาบันราชภัฏสงขลา เกือบ 30 ปีที่เธอถ่ายทอดวิทยาการด้านภาษา วรรณคดี ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม หล่อหลอมจิตวิญญาณของนักเรียนนักศึกษาด้วยศาสตร์และศิลป์ที่ได้รับจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

ในบทบาทของนักคิดนักแปล เธอสร้างผลงานแปลจากวรรณกรรมระดับโลกทั้งด้านปรัชญา ศาสนา ชีวิต  และงานคลาสสิคอีกมากมาย อาทิ บทเรียน และ สิทธารถะ จากบทประพันธ์ของ เฮอร์มานน์ เฮสเส, พี่น้องคารามาซอฟ ของ ดอสโตเยฟสกี อันนา คาเรนินา ของ เลียฟ ตอลสตอย ความรักของเจน แอร์ ของ ชาร์ล๊อต บรอนเต และงานเขียนของท่านอื่น ๆ เช่น โทมัส ฮาร์ดี, อรุณธาตี รอย และ ติช นัท ฮันห์ เป็นต้น

 

ด้วยความสนใจด้านวิชาการและจิตวิญญาณ เธอจึงมีผลงานเขียน งานแปล และงานบรรณาธิการในเรื่องเหล่านี้มากมาย  เช่น ความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศตะวันตก และ อารยธรรมตะวันออก-ตะวันตก อันเป็นงานเขียนด้านวิชาการ  ความสุข,  ความเรียบง่ายไร้กาลเวลา, ต้นไม้สายใยชีวิต,  สำรวจจิตไปกับองค์ทะไลลามะ: การหลับ การฝัน การตาย, พลังธรรมแห่งจินตนาการ, ระบายสีที่หัวใจเด็ก และ คนเฒ่าเล่าเรื่องเมืองสงขลา อันเป็นงานเขียนด้านจิตวิญญาณ เธอยังมีผลงานแปลนิทานจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ อาทิ Aesop: The Greatest Story Teller และ นิทานชาดกสองภาษา เป็นต้น

 ยิ่งกว่านั้น ในปี พ.ศ. 2559 เธอยังเขียน ฉันคือ ...ร้อยสิ่งดีดีในชีวิต อันเป็นผลงานกวีนิพนธ์ล่าสุดของเธอเอง

 ด้วยงานแปลที่เปี่ยมด้วยคุณภาพและสาระที่หลากหลาย เธอจึงได้รับรางวัลนักแปลอาวุโสดีเด่น สุรินทราชา จากสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2551

ในวันนี้ เธอมีความสุขกับการร่วมกิจกรรมของชุมชนและสังคม โดยเป็นสมาชิกก่อตั้ง ภาคีคนรักเมืองสงขลา  ร่วมฟื้นฟูประวัติอันน่าภาคภูมิใจและประเพณีดั้งเดิมของเมืองสงขลา รวมทั้งให้คำปรึกษาและช่วยงานเอกสารองค์กรในท้องถิ่น และที่สำคัญ เธอยังคงมุ่งทำงานเขียนและงานแปลดีๆ ที่มีคุณค่าต่อไป

วีรวรรณ วรวุฒม์

วีรวรรณ วรวุฒม์ (อบ. 36)

 เพื่อนๆ จะจดจำวีรวรรณหรือ “วี” ได้แม่นยำทั้งจากเสียงร้องเพลงอันไพเราะระดับนักร้องวงซียูแบนด์และจากน้ำเสียงสดใสช่างเล่าเรื่อง แต่น้อยคนจะรู้ว่า เธอเป็นหนึ่งในแบบฉบับของสาวอักษรฯ ยุคเราเลยทีเดียว คือ ใฝ่เรียนรู้ มุ่งมั่น ทำงานจริงจัง

 หลังจบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2515 แล้ว วีได้ไปเรียนต่อปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา และกลับมาเริ่มงานแรกของเธอที่องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ อสมท. ที่มีทั้งกิจการโทรทัศน์ สถานีวิทยุ และ สำนักข่าวไทย  เธอเล่าด้วยความภูมิใจว่า ได้มีโอกาสพิสูจน์ถึงความเป็นผู้มีความรู้รอบตัว ตามติดสถานการณ์ล่าสุดของชาวอักษรศาสตร์   นั่นคือ เมื่อเวลาสอบสัมภาษณ์ กรรมการแจ้งว่า เธอเป็นเพียงผู้เดียวที่ตอบคำถามความรู้รอบตัวได้ถูกต้อง คำถามนั้นคือ “เมืองเอกของของรัฐแคลิฟอร์เนีย คือเมืองอะไร”  ในขณะที่คนส่วนใหญ่ตอบว่า ลอสแองเจลิส  หรือ ซานฟรานซิสโก เธอเป็นผู้เดียวที่ตอบได้ถูกต้องว่า ซาคราเมนโต

เธอยึดหลักในการทำงานว่า “ยิ่งทำงานมาก ยิ่งเรียนรู้มาก” นอกจากไม่เกี่ยงงานแล้ว เธอจะยินดีทำงานเพิ่มเติมและอาสาทำงานอื่นๆ เต็มที่ เธอจึงเติบโตในสายงาน  ได้เป็นตัวแทนของหน่วยงานเข้าประชุมร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ  และได้รับการคัดเลือกจากองค์การสหประชาชาติให้เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมสื่อมวลชน (Media Round Table) ทั้งที่ประเทศอียิปต์ เดนมาร์ก อิหร่าน  ในเรื่องบทบาทของสื่อที่มีความสำคัญในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่ประชาชน เธอกล่าวว่า “การจบอักษรศาสตร์ ทำให้เราได้เปรียบในเรื่องของการใช้ภาษา ทั้งไทย อังกฤษ และความรู้ด้านประวัติศาสตร์ สามารถนำมาต่อยอด ใช้ประโยชน์ได้มากมาย”

จากการทำงานด้วยความอุตสาหะ ทุ่มเท วีจึงได้รับตำแหน่ง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (Vice President) และได้เป็นทั้งผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่องเก้า สำนักข่าวไทย สำนักบริหาร วียังทำงานอาสาให้แก่มูลนิธิ สมาคมนิสิตเก่า สมาคมนักเรียนเก่า อย่างเข้มแข็ง เธอได้รับเลือกให้เป็นนักเรียนเก่าดีเด่นของโรงเรียนสายปัญญา นักเรียนเตรียมอุดมฯ ดีเด่นของรุ่น  เธอยังเป็นกรรมการฝ่ายจัดหาเงินทุนของมูลนิธิพระดาบส และเป็นที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรมของสภาสตรีไทย รวมทั้งกรรมการติดตามการพัฒนาสตรี ฯลฯ

เมื่อเกษียณจาก อสมท. วียังได้นำประสบการณ์อันมากมายมาทำงานต่อยอดในตำแหน่ง คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด  เธอฝากบอกรุ่นน้องๆ ว่า “ขอให้เรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดเวลา  เปิดใจให้กว้าง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี เพราะเหล่านี้คือปัจจัยที่นำความ สำเร็จมาสู่ตนเอง ครอบครัว และประเทศชาติ”

 

สมรักษ์ ณรงค์วิชัย

อักษรจรัส รุ่น 36

นายสมรักษ์ ณรงค์วิชัย

          เมื่อเป็นน้องใหม่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ร่วม 50 ปีมาแล้ว (ปีนี้ 2559) นั้น ยังจำความรู้สึกแปลกๆ ที่ต้องปรับตัวให้คุ้นเคยต่อการมาเรียนแบบสหศึกษา เพราะสมัยนั้น การศึกษาในระดับประถมและมัธยมมักแยกเป็นโรงเรียนหญิงล้วนหรือชายล้วน   แต่ก็ยังอุ่นใจว่า คณะอักษรฯนั้น ผู้ชายไม่ค่อยเลือกเรียน ซึ่งก็เป็นจริง   รุ่นเราร่วม 200 คน มีนิสิตชายเพียง 10 กว่าคน และทุกคนต่างมีลักษณะร่วมอย่างหนึ่งคือ สุภาพมาก

                สมรักษ์ ณรงค์วิชัย  เป็นหนึ่งในนิสิตชายรุ่นนี้ รุ่น 36 (ปี 2511) เขาเป็นคนตัวเล็ก สุภาพ ออกจะขี้อายแต่ยิ้มง่าย และยิ้มแย้มเสมอ เป็นคนราชบุรีโดยกำเนิด ในชั้นเรียนปี 1 และปี 2 นิสิตทุกคนต้องเรียนทุกวิชา และเริ่มเข้าใจกันว่าทุกวิชาในคณะนี้สอนเกี่ยวกับมนุษย์  ในเรื่องของภาษาต่างๆเพื่อใช้ในการสื่อสาร  การเมือง ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศาสนา ศิลปะวัฒนธรรม ปรัชญา วรรณคดีเปรียบเทียบ ศิลปการละคร  ฯลฯ ของประเทศต่างๆทุกทวีปในโลกใบนี้  นิสิตจะเลือกเรียนวิชาถนัดได้ในปีที่ 3  สมรักษ์เลือกเรียนศิลปะการละครและประวัติศาสตร์ ทำให้มีความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นในเรื่องความเป็นมนุษย์  เข้าใจความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ที่แตกต่างกัน  อารมณ์ที่กระทบกลับไปกลับมา การเกิดกิเลสและด้วยสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน เป็นผลให้มนุษย์มีความแตกต่างหลากหลาย  การเรียนวิชาศิลปการละครพร้อมกับองค์ประกอบของวิชาต่างๆในคณะอักษรศาสตร์ได้สร้างพื้นฐานความรู้ความเข้าใจอันสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพในสายงานโทรทัศน์ ผลิตละครโทรทัศน์และรายการทีวีได้มากมาย

                การเลือกเรียนอักษรศาสตร์ตามคำแนะนำของคุณอา สมรักษ์ได้เป็นอักษรศาสตร์บัณฑิตที่สามารถพิสูจน์ปรัชญาคณะฯ ว่า เรียนอักษรฯนั้นคือการปูพื้นฐานของการใช้ชีวิตจริงสู่ความเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เขาทุ่มเททำงานอยู่กับไทยทีวีสีช่อง 3 เพียงแห่งเดียวมาจนบัดนี้  ผ่านสุข ทุกข์ ปัญหาด้วยความขยัน มุ่งมั่น อดทน กลายเป็นผู้บริหารที่น่านับถือ ผู้ร่วมงานเกรงใจ  สมรักษ์บอกว่าความสำเร็จในการทำงานคือ การทำให้คนรอบข้าง รวมทั้งผู้บังคับบัญชายอมรับการที่จะนำความคิดใหม่ๆเข้ามาใช้ในการผลิตงาน  เพราะทุกห้วงแห่งการทำงานต้องมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเป็นกฎธรรมชาติ  งานด้านสื่อสารมวลชนมีทั้งเรื่องโชคดีและโชคร้าย เนื่องจากสิ่งที่ตัดสินว่างานนั้นอยู่ในระดับใดคือจำนวนผู้ชมที่มาชมรายการดังกล่าวและกระแสตอบรับ รวมถึงความนิยมของสังคมก็เป็นปัจจัยหนึ่งด้วย  ในการพัฒนางานผลิตละคร สิ่งหนึ่งที่สมรักษ์ได้พยายามทำมาตลอดคือ Edutainment (ความบันเทิงที่มีเนื้อหาสาระ) ให้มีความสนุกสนานในการเล่าเรื่อง ให้ความบันเทิงผ่อนคลายอารมณ์ สามารถสะท้อนชีวิตมนุษย์และสังคม ชี้ให้เห็นปัญหาและหาทางออกของมนุษย์อย่างสันติวิธีและมีความหวัง ให้คนดูได้รับความรู้ความเข้าใจชีวิตมากขึ้น ยกระดับรสนิยม อันมีผลให้จิตใจคนในสังคมสูงขึ้นตามกัน  ผลงานที่สะท้อนได้ชัดเจนที่เห็นในปัจจุบัน (2555-2559) ขอยกตัวอย่างได้แก่  ละครชุด”สภาพบุรุษจุฑาเทพ” “ ปดิวรัดา” และ “วัยแสบสาแหรกขาด”

                ด้วยเหตุนี้ทุกครั้งที่คุยถึงเรื่องงาน สมรักษ์จึงคุยอย่างมีความสุข ประกายตาแจ่มใส เห็นชัดว่าเขามีความสุขจริงๆกับงานของเขา ประสบการณ์ได้บอกเขาว่า ในชีวิตการทำงานมีทั้งอุปสรรคและปัญหา แต่คำว่า “ปัญหา” ไม่เคยมีในความคิด เพราะสิ่งนั้นคืองานชิ้นหนึ่งที่ต้องจัดการให้สำเร็จ  การประกอบอาชีพผลิตละครโทรทัศน์ เป็นความโชคดีที่ทำให้เรียนรู้ และซึมซับความเป็นไปของมนุษย์จากเรื่องราวที่ได้อ่าน  ได้วิเคราะห์  ทำความเข้าใจอย่างแท้จริงก่อนหยิบมานำเสนอ  ทั้งหลายทั้งปวงนี้ได้สะท้อนกลับสู่ชีวิตของเขาด้วยคือ เข้าใจในเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  การดำเนินชีวิตจึงมี “สติ” ตลอดเวลา   ขณะเดียวกันเขาก็ยังคงความเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นลูกกตัญญู เป็นศิษย์มีครู สมรักษ์เป็นกัลยาณมิตร เป็นคนที่มีความเสมอต้นเสมอปลายตลอดมา  เพื่อนๆ รู้จักสมรักษ์ตั้งแต่ปี 1 มาอย่างไร วันนี้ “น้ำใจ” ของเขาก็เป็นดังนั้น รุ่นน้องเรียนเขาว่า “น้า” เป็นฉายาที่อบอุ่น  เป็นเพื่อนที่ก้าวข้าม “ตัวตน”  เป็นผู้บริหารที่มีพลังเงียบแผงไว้อย่างล้นพ้น และเป็นบุคคลที่เรายินดีแนะนำให้คนอื่นๆรู้จักด้วยความภูมิใจว่า “นี่สมรักษ์ เพื่อนรักของเรา...”

เยาวภา พัธโนทัย

นิด เยาวภา พัธโนทัย  เป็นหนึ่งในพวกเราเป็นน้องใหม่ปี 2511 จากเด็กม. ปลายก็มาเจอกับชีวิตใหม่ที่ตื่นตาตื่นใจทั้งกับสถานที่เรียน กับวิธีการเรียน กับเพื่อนใหม่ ในชั้นเรียนเดียวกัน ช่วงแรกทุกคนก็สนิทและจับกลุ่มกันกับเพื่อนที่จบมาจากโรงเรียนเดียวกัน ต่อมาเริ่มสนิทกับเพื่อนที่นั่งติดกันในห้อง 10  เวลาผ่านไป ผ่านไป ก็เริ่มสนิทกับเพื่อนใน major เดียวกัน ชิวิตแห่งความสุขในรั้วมหาวิทยาลัยจบลงเมื่อสำเร็จการศึกษา แล้วพวกราก็แยกย้ายกันไป บางคนไปเรียนต่อ บางคนไปทำงานก็ยุ่งกับงาน บางคนเริ่มมีครอบครัว จำไม่ได้ว่านานเท่าไรที่เราเริ่มกลับมาพบกันใหม่ หลังจากที่จบแยกย้ายกันไป จำได้ว่าได้มีโอกาสมาร่วมงานคืนเหย้าครั้งแรกในปี 2534 และหลังจากนั้นก็ได้พยายามมาร่วมงานทุกปี นอกเหนือจากงานคืนเหย้าแล้วพวกเราก็มีการพบปะกันในการ meeting ของรุ่นซึ่งเริ่มต้นจัดครั้งแรกเมื่อไหร่ก็จำไม่ได้อีก รู้แต่ว่านานหลายสิบปีแล้วน่าจะเป็นช่วงใกล้เคียงกับงานคืนเหย้ามัง  รู้แต่ว่าการพบปะกันแต่ะละครั้งนำความสุขกลับคืนมา มันเหมือนเราเดินย้อนเวลากลับไปอยู่ในบรรยากาศเก่าๆ  ทุกคนจะสนุกสนาน  ทำตัวเหมือนสมัยยังเรียนอยู่ คุยกันชนิดไม่มีใครฟังกันเลย เพื่อนบางคนปรารภว่า ภาระของการทำงาน การเลี้ยงดูลูก หมดไปแล้ว ตอนนี้เริ่มนึกถึงเพื่อน อยากเจอ อยากคุยถึงความหลัง ระยะหลังๆ เราจึงเริ่มเจอกันบ่อยมากขึ้น

เมื่อพูดเรื่องการจัดสังสรรค์ของรุ่น ก็อดไม่ได้ที่จะต้องเอ่ยชื่อของเพื่อนๆ ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการช่วยกันจัดงานให้เราได้พบปะกัน เท่าที่จำได้ก็มี แต้ว ภาสิณี ปรีชา เกศิณี สมรักษ์ แอ้ด วารุณี เป็นต้น อาจจะมีเพื่อนมากกว่านี้แต่เอ่ยนามได้ไม่หมดด้วยควมจำชักสั้น หลายครั้งที่เราก็ไปจัดที่นาทองก็ต้องขอบคุณอ้อย อุษณีย์ กับเจี้ยบ รัตนา ที่ช่วยจองและจัดเตรียมสถานที่ให้พวกเราได้สนุกสนานกัน

อดไม่ได้ที่จะเอ่ยถึง เพื่อนอีกคนหนึ่งมีส่วนช่วยในการเชื่อมโยงให้เพื่อนๆ ได้รับข่าวสารความเป็นไปของพวกเรา คือนิด เยาวภา พัธโนทัย สมัยหลังที่โลกสื่อสารกันด้วย internet การใช้จดหมายส่งไปรษณีย์ก็ลดน้อยลงไป การแจ้งข่าวสารทาง email ก็มีมากขึ้น นิดจะคนคอยแจ้งข่าวสารต่างๆ ทั้งการพบปะสังสรรค์  ทั้งข่าวเรื่องสุข ข่าวเรื่องทุกข์จากการสูญเสียคนในครอบครัว ให้พวกเราทราบเป็นระยะๆ นอกจากนั้น เธอยังจัดทำทะเบียนรุ่นของพวกเราเท่าที่พอจะรวบรวมไว้ได้ เวลาเพื่อนฝูงจะจัดงานแต่งงานลูกๆ หรือต้องการติดต่อกับเพื่อน ก็มักจะขอทำเนียบรุ่นไปที่นิด ก็สะดวกไปอีกแบบหนึ่ง ระยะหลังทราบมาว่าเธอเข้าไปช่วยงานกับสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ มีโอกาสพบกันก็ถามว่าเป็นอย่างไรมาอย่างไรจึงเข้าไปมีส่วนร่วมได้ทดแทนคุณสถาบันการศึกษาที่ให้ความรู้พวกเรามา เธอบอกว่าในงานคืนเหย้าครั้งหนึ่ง มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคม ชุดใหม่ ครั้งนั้นอาจารย์พรทิพย์ ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคม ฯ  ท่านได้เดินมาที่โต๊ะที่พวกเรานั่งกันอยู่ แล้วเอ่ยปากว่าต้องการคนทำงานเป็นเลขานุการ เพื่อนๆ ก็ชี้ส่งให้นิดไปทำหน้าที่นี้ เมื่อหมดสมัยอาจารย์พรทิพย์ ซึ่งนายกสมาคมฯ จะดำรงตำแหน่งสมัยละ 2 ปี นิดก็ได้รับการเลือกตั้งให้เข้าไปเป็นกรรมการกลาง และได้รับตำแหน่งเลขานุการคณะกรรมการบริหารสมาคมอีกวาระหนึ่ง เมื่อครบ 2 ปีของคณะกรรมการชุดดังกล่าว  เธอก็ได้เข้าไปช่วยงานในชุดต่อไปอีก โดยรวมเธอได้เข้าร่วมกับสมาคมฯ เป็นสมัยที่ 5 แล้ว โดย 2 สมัยหลังทำหน้าที่เป็นอุปนายกสมาคมฯ ก็นับว่าเธอได้ทำชื่อให้กับรุ่น 36 ได้ทางหนึ่ง เคยถามเธอว่าเก่งนะที่ทำงานนี้มาจะ 10 ปีแล้ว เธอว่าจะเลิกหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จ นี่ก็ตั้งใจไว้ว่าหมดวาระในปี 2560 แล้วก็คิดว่าจะวางมือเสียที ให้รุ่นใหม่ๆ ความคิดทันสมัยเข้ามาสานงานของสมาคมฯ ต่อไป ทราบว่าสมาคมฯ ตอนนี้งานเยอะ มากเพราะเป็นวาระที่คณะอักษรศาสตร์จะฉลองครบรอบ 100 ปี ก็ขอเอาใจช่วยให้สมาคมฯ ทำกิจกรรม 100 ปีได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีด้วยนะ  นิด เยาวภา พัธโนทัย เธอเป็น “อักษรจรัส” ของพวกเรา

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University