อักษรจรัส รุ่น 37

กุมารี โกมารกุล ณ นคร

กุมารี โกมารกุล ณ นคร  เกิดที่กรุงลอนดอน สหราชอณาจักรอังกฤษ เมื่ออายุ 6 ขวบกุมารีได้เดินทางกลับประเทศไทย  และเข้าเรียนระดับประถมที่โรงเรียนบางกอกพัฒนา และได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนจิตรลดา จนจบระดับมัธยมปลาย ด้วยคะแนนสูง 1 ใน 50 คน “ติดบอร์ด” ระดับประเทศ

 หลังจากที่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตร อักษรศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับสอง) จากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ในพ.ศ. 2516 ได้เป็นอาจารย์แผนกศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย จากนั้นในพ.ศ. 2519 ทำงานที่องค์กรสหประชาชาติ ในด้านการวางแผนการสื่อสารเพื่อการพัฒนา และการฝึกอบรม มีงานอดิเรกคือแสดงละครเวที ละครโทรทัศน์ และภาพยนต์  ในพ.ศ. 2524 ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป บริษัทโอกิลวี่ พับลิครีเลชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด และผันนมาทำงานด้านการศึกษา จากการเป็นครูพิเศษที่โรงเรียนจิตรลดา (พ.ศ. 2536 - ปัจจุบัน) และในพ.ศ. 2541 ได้เร่วมก่อตั้ง โรงเรียนนานาชาติเคไอเอส (KIS International School)

 

 ระหว่างนั้น กุมารีได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษา โดยเป็นอุปนายกสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2547-ปัจจุบัน) เคยเป็นกรรมการบริหาร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2553 – 2555) ได้ร่วมเป็นคณะทำงาน ปรับปรุงพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (พ.ศ. 2558-ปัจจุบัน) เป็นคณะกรรมธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติสภาครู และบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546 เป็นคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรภาษาไทย วัฒนธรรมไทย และประวัติศาสตร์ไทย สำหรับโรงเรียนนานาชาติ (พ.ศ. 2558 - ปัจจุบัน) และเป็นคณะกรรมการและผู้ประเมิน เพื่อตรวจติดตามประเมินผลการจัดการศึกษา โรงเรียนเอกชนประเภทนานาชาติ (พ.ศ. 2553 - ปัจจุบัน) ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ

 กุมารี ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้น 5 เป็นบำเหน็จในพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 กุมารี โกมารกุล ณ นคร

ดร.ดาราวรรณ เด่นอุดม อบ.37

“โตขึ้นอยากเป็นอะไร”  เป็นคำถามที่เด็กๆ เกือบทุกคนถูกถาม  ฉันเองก็เช่นกัน  เมื่อเจอคำถามนี้ฉันตอบอย่างหนักแน่นไม่มีความลังเลเลยว่า  “อยากเป็นครู”  เป็นคำตอบจากใจ  จากจิตใต้สำนึกลึกๆ อาจเป็นเพราะฉันอยู่ใกล้ชิดแวดล้อมด้วยครูดีๆ ที่เป็นต้นแบบให้ฉันหลายท่าน  ตั้งแต่คุณแม่  คุณอาสะใภ้  พี่สาว  แล้วก็ยังมีคุณปู่ซึ่งแม้ฉันจะเกิดไม่ทันท่าน  แต่ก็ได้ซึมซับจิตวิญญาณครูมาโดยสายเลือดก็ว่าได้

 ความรักในการ  “สอน”  แสดงออกทางพฤติกรรมตั้งแต่วัยเด็ก  ยังไม่ทันเข้าโรงเรียน  แต่ฉันชอบเล่นเป็นครู  จับเพื่อนๆ น้องๆ เป็นนักเรียนหมด  ตอนเรียนมัธยมอยู่ที่ ร.ร.สตรีวิทยา  ฉันก็ชอบสอน  ชอบติวเพื่อนในวิชาที่ฉันถนัดคือภาษาฝรั่งเศส  และคณิตศาสตร์  เรื่องติวนี่  ฉันมักจะเป็นฝ่ายขอติวเพื่อนด้วยความเป็นห่วงกลัวเพื่อนสอบตก  บางคนต้องตามไปขอติวถึงบ้านก็มี

เมื่อเรียนจบมัธยมปลาย  ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย  คณะแรกๆ ที่ฉันเลือกคือ  อักษรศาสตร์และครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เพราะจะนำทางฉันไปสู่วิชาชีพครูได้ตรงที่สุด  หลังจากเรียนจบอักษรศาสตร์บัณฑิต  ฉันไปสอบบรรจุครูที่กระทรวงศึกษาธิการแห่งเดียว  ไม่สนใจไปสมัครที่หน่วยงานอื่นๆ ไว้เป็นทางเลือกสำรอง  ตั้งใจเด็ดเดี่ยวว่าถ้าปีนี้ไม่ได้รับการบรรจุ  ปีหน้าจะมาสอบใหม่  แต่โชคดีที่ฉันได้รับการบรรจุเป็นครูสอนภาษาฝรั่งเศส  ที่        ร.ร.วัดมกุฏกษัตริย์  ฉันมีความสุขมากที่ได้เป็นครู  ตั้งใจสอน  พยายามหาวิธีการสอนที่จะทำให้เด็กเรียนเก่ง  ใครเรียนอ่อนก็สอนพิเศษให้ตอนเย็นเกือบทุกวัน  ตรวจการบ้านและแก้ไขงานเด็กอย่างเข้มงวด 

ต่อมาการสอนภาษาฝรั่งเศสปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบ  audivisuel  ครูต้องเข้ารับการอบรมการสอนแบบใหม่  อบรมแล้วจะมีการสอบและคัดเลือกผู้ที่ได้รับคะแนน 20 อันดับแรก  ไปฝึกอบรมที่ประเทศฝรั่งเศส  ฉันกลัวการไปต่างประเทศมาก  และปฏิเสธโอกาสที่จะสอบชิงทุนแบบนี้ไปหลายครั้ง  แต่ครั้งนี้ฉันตั้งใจทำข้อสอบมาก  ไม่ใช่เพราะอยากไปเมืองนอก  แต่อยากประเมินตัวเองว่ามีความสามารถพอที่จะสอนแนวใหม่นี้หรือไม่  ผลปรากฏว่าฉันสอบได้ที่ 1  จำใจต้องไปฝึกอบรมที่ฝรั่งเศสตามเงื่อนไข  อีก 2 ปีต่อมาไปสอบชิงทุนอีกครั้งเพื่อกลับมาเป็นศึกษานิเทศก์วิชาภาษาฝรั่งเศส  ก็สอบได้อีก  เป็นศึกษานิเทศก์ได้ 3 ปี  ก็สอบชิงทุนไปทำปริญญาเอกที่ประเทศฝรั่งเศส  จบปริญญาเอกสาขาภาษาศาสตร์และการสอนภาษาต่างประเทศ  จากมหาวิทยาลัย Grenoble III  ด้วยคะแนนเกียรตินิยมดีเยี่ยม

การได้รับทุนทุกครั้งต้องทำงานใช้ทุน 2 เท่า  ฉันไม่เคยคิดว่าเป็นการทำงานใช้หนี้  แต่ฉันทำงานเพราะฉันรักงานนี้  คุณแม่เคยแนะนำด้วยความสงสารว่าเป็นครูลำบาก  เงินเดือนน้อย  ใช้ทุนแล้วไปทำงานบริษัทซึ่งเงินเดือนมากกว่าดีไหม  ฉันตอบไปว่า  ฉันทำงานแบบได้เงินเยอะแต่ไม่ได้บุญไม่เป็น    เคยมีหลายหน่วยงานทั้งมหาวิทยาลัยหลายแห่ง  และองค์กรระหว่างประเทศ  มาลองใจฉันอยู่หลายครั้ง  ด้วยการชักชวนไปทำงานด้วย  เพราะเห็นว่าฉันจบปริญญาเอกในสาขาที่มีคนจบมาน้อย และฉันจบมาด้วยคะแนนสูงมาก  แต่ฉันตอบปฏิเสธไปโดยไม่ลังเลทุกครั้ง  ที่จริงการเป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัยก็ยังอยู่ในแวดวงครูอยู่  แต่ฉันรู้สึกว่าการศึกษาบ้านเรา  ยิ่งระดับสูงยิ่งมุ่งความเป็นเลิศทางวิชาการ  แล้วมีพื้นที่ให้คุณธรรมน้อยลงทุกที  ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาที่หลงทิศทาง  ฉันจึงเลือกเป็นศึกษานิเทศก์ที่ดูแลการศึกษาระดับมัธยมศึกษาต่อไป

ชีวิตการเป็นศึกษานิเทศก์  เปิดโอกาสให้ฉันได้บุญมากขึ้น  เมื่อได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานปลูกฝังคุณธรรมควบคู่กับการนิเทศการสอนภาษาฝรั่งเศส  เพราะหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์  เห็นว่าฉันชอบปฏิบัติธรรม  ฉันมีประสบการณ์การทำสมาธิภาวนามาหลายปี  เพราะมีความทุกข์และเลือกที่จะแก้ทุกข์ที่จิตด้วยการปฏิบัติจิตตามแนวทางพระธุดงคกรรมฐานสายพระป่า  และได้พบว่ากระบวนการพัฒนาจิตโดยหลักไตรสิกขา (ศีล  สมาธิ  ปัญญา)  ตามแนวทางของพระพุทธเจ้ามีประสิทธิภาพที่สุด  สามารถแก้ปัญหาพฤติกรรมได้ตรงจุด  คือแก้ที่จิตซึ่งเป็นผู้สั่งกาย  เมื่อ   จิตดี  กาย  วาจา  ก็ดี

ภาระงานเริ่มหนักขึ้นเมื่อต้องรับผิดชอบงานสร้างคนเก่ง  (นิเทศการสอนตามนโยบายของกรมสามัญศึกษาและวิชาภาษาฝรั่งเศส)   และสร้างคนดี (จัดอบรมพัฒนาจิต ครู-นักเรียน  ที่วัดวะภูแก้ว  ตามคำขอของโรงเรียน)  จริงๆ แล้ว  กรมฯ ก็มีนโยบายปลูกฝังคุณธรรมครู-นักเรียน  ชัดเจนมากอยู่แล้ว  โดยอิงทฤษฏีของนักจิตวิทยาฝรั่งเป็นหลัก  แต่ครูที่ผ่านการอบรมพัฒนาจิตหรือนำนักเรียนมาเข้ารับการอบรม  มีความเชื่อมั่นและศรัทธาทฤษฏีของพุทธศาสนามากกว่า  เพราะเห็นผลชัดเจนว่าสามารถเปลี่ยนจิตสำนึกและพฤติกรรมได้เร็วและยั่งยืนกว่า

เมื่อโรงเรียนเรียกร้องให้จัดอบรมพัฒนาจิตมากขึ้น  ฉันจึงต้องวิ่งรอกทำงานสลับกันระหว่างวัด, หน่วยงาน, โรงเรียน  จนแทบไม่มีวันหยุด  เคยทำงานต่อเนื่องถึง 60 วัน  จนบางครั้งล้มป่วย  ในที่สุดฉันต้องตัดสินใจเลือกทางเดียวเพื่อให้ทำงานได้ดีที่สุด  ถ้าจะเหยียบเรืองสองแคม  อาจบกพร่องทั้งสองทางก็ได้

ฉันตัดสินใจโดยไม่ลังเลอีกครั้งคือ ขอเลือก “การสร้างคนดี”  เพราะเห็นว่าคนเก่งสร้างไม่ยาก  และคนเก่งก็มีมากในสังคมนี้  ฉันจึงขอลาออกจากราชการก่อนอายุครบเกษียณถึง 10 ปี เพื่อรับผิดชอบโครงการอบรมพัฒนาจิต  ที่ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ  วัดวะภูแก้ว  แห่งเดียว

เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพที่สุด  ฉันจึงต้องพัฒนาตัวเอง  พัฒนาคณะทำงาน  พัฒนาเนื้อหาหลักสูตรการอบรม (โดยบูรณาการประสบการณ์การปฏิบัติจิตและจิตวิทยาการเรียนรู้ที่เก็บเกี่ยวตอนเป็นศึกษานิเทศก์  เข้าด้วยกัน)   อย่างต่อเนื่อง

หลายคนเสียดายความรู้ทางโลกที่ฉันร่ำเรียนมามากมาย  แล้วมาเลือกทางธรรม  แต่ฉันไม่เสียดายเลยเพราะฉันไม่ได้ทิ้งโลก  ฉันใช้ธรรมทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น  ฉันลาออกจากราชการ  แต่ฉันไม่ได้ลาออกจากความเป็นครู  เพียงแต่ฉันเลือกเป็นครูสอนวิชาความดี  ซึ่งฉันเห็นว่าทำให้ฉันเป็นครูที่สมบูรณ์แบบขึ้น  เวลาเกือบ 30 ปีที่ฉันตั้งใจทำงานนี้  ได้อบรมทั้ง  ครู  นักเรียน  ข้าราชการ  ตำรวจ  บุคลากรด้านสาธารณสุข  ผู้ต้องขัง ฯลฯ  ไปกว่า 300,000 คน  ผู้ที่ผ่านการอบรมส่วนใหญ่ให้ข้อมูลป้อนกลับมาว่า  สมาธิทำให้เขาเรียนเก่งขึ้น  จากเด็กที่ไม่เห็นอนาคตกลับกลายเป็นคุณหมอ  วิศวกร  นายทหาร  ตำรวจ ฯลฯ  จากคนที่ทำงานไปวันๆ ไม่ศรัทธาในวิชาชีพของตัวเอง  ก็ตั้งใจทำงานด้วย  “ใจ”  โดยเฉพาะงานบริการสาธารณสุขและชุมชน,  งานด้านการศึกษา  วัยรุ่นและผู้ต้องขังที่เดินทางผิด  จมอยู่ก้นหลุมดำ  ก็เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์  หันหลังให้กับสิ่งผิด  สร้างคุณค่าให้กับชีวิตของตนเอง 

ทางสายนี้เป็นทางที่ฉันเลือก  เพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน  ตอบแทนคุณโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทุกแห่งที่หล่อหลอมทุกความดี  และความเก่งให้กับฉัน

      

ดวงพร (บุนนาค) อังศุภูติพันธ์

เทวาลัยสถิตกระจ่างกลางดวงจิต                                       

ย้อนวารวันคราพินิจคะนึงหวน

แหล่งเรียนรู้สารพันอันเหมาะควร                                      

ศาสตร์และศิลป์ครบถ้วนเกินพรรณนา

 

สรรพวิชาเนื้อหาล้วนบรรเจิด                                       

มุ่งสู่ความเป็นเลิศหลากสาขา

ภาษาศาสตร์ภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ปรัชญา             

สื่อรังสรรค์ติดตรึงตาตราตรึงใจ

 

คณิตศาสตร์ศิลปการละครบรรณารักษ์ฯ                     

เพียบพร้อมพรักให้ฝึกปรือไม่หวาดไหว

อังกฤษฝรั่งเศสเยอรมันอันเกรียงไกร                         

สเปนญี่ปุ่นเคียงกันไปรายวิชา

 

คณาจารย์พร้อมพรั่งคอยปลูกฝัง                                      

ด้วยมุ่งหวังประสิทธิ์ประสาทศิษย์ถ้วนหน้า

คลังความรู้คู่คุณธรรมเสริมตำรา 

ศิษย์เห็นค่าน้อมรำลึกคุณของอาจารย์

 

เหล่าผองเพื่อนรักกันฉันท์พี่น้อง 

ประคับประคองเกื้อหนุนกันมั่นประสาน

ทั้งเรียนเล่นจิตเริงรื่นแสนเบิกบาน

ไร้ความทุกข์แผ้วพานเพลินกมล

 

ก้าวจากรั้วมหาวิทยาลัยใจอิ่มเอิบ

จิตโตเติบกล้าแกร่งสำเร็จผล

พร้อมแผ้วถางทางข้างหน้าสู่สากล

หล่อเลี้ยงตนวิชาชีพได้เลือกทำ

 

องค์ความรู้ทั้งหลายให้ประโยชน์

 เรืองรุ่งโรจน์ก้าวหน้าพาชื่นฉ่ำ

เลือกปรับใช้ในวงการงานประจำ 

สัมมาชีพค่าเปี่ยมล้ำทวีคูณ

 

ครบร้อยปีอักษรศาสตร์เวียนมาถึง

ศิษย์ซาบซึ้งสัมพันธ์ใจไม่เสื่อมสูญ

พระคุณล้นแจ่มประจักษ์ภักดิ์เพิ่มพูน

ขอเทิดทูนเทวาลัยชั่วนิรันดร์

 

 ดวงพร  (บุนนาค) อังศุภูติพันธ์

 

นางลดาวัลย์ บัวเอี่ยม

ศิษย์เก่าพันธะศึกษา เขมะสิริอนุสสรณ์  เตรียมอุดม  อักษรศาสตรบัณฑิต (ฝรั่งเศส) รุ่นที่ 37  นิเทศศาสตรบัณฑิต (การประชาสัมพันธ์) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  และรัฐศาสตรมหาบัณฑิต (บริหารรัฐกิจ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

ได้รับทุนรัฐบาลฝรั่งเศสไปศึกษาอบรมหลักสูตรผู้สื่อข่าววิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ที่ Centre de Formattion des Journalistes กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส   ได้รับคัดเลือกเป็นบุคคลต้นแบบความซื่อสัตย์ในภาครัฐ ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมกับคณะกรรมการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา และศูนย์ส่งเสริมพัฒนาแผ่นดินเชิงคุณธรรมจัดขึ้นในปี 2554  และได้รับการคัดเลือกเป็นศิษย์เก่าดีเด่นจากมูลนิธิ EPA ธรรมศาสตร์ ประเภทสื่อสาธารณะ ปี 2558

รับราชการกรมประชาสัมพันธ์ ตั้งแต่ปี 2516 – 2555 ในตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ เป็นเวลา 39 ปี  เกษียณอายุในตำแหน่งรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์  เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ ผู้อำนวยการสำนักงานแถลงข่าวไทย (Information Counsellor)  ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย   เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  ที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์ศาลปกครอง  คณะกรรมการพัฒนาบุคลากรด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ของ กสทช.  กรรมการพัฒนาหลักสูตรและผู้เขียนเอกสารการสอนชุดวิชาการบริหารงานวิทยุกระจายเสียงและการบริหารงานสื่อสาร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  ประธานการประชุมสมัยสามัญและการประชุม Asia Media Summit  สถาบันเพื่อการพัฒนาการกระจายเสียงแห่งเอเชียแปซิฟิก (AIBD)  กรรมการสภาบริหารองค์การกระจายเสียงแห่งเอเชีย-แปซิฟิก (ABU)   กรรมการอาเซียนด้านวัฒนธรรมและสารสนเทศ (ASEAN COCI) ผู้อำนวยการศูนย์สื่อมวลชนการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 24  และผู้อำนวยการศูนย์สื่อมวลชนงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณะกรรมการนโยบาย ด้านบริหารจัดการองค์กร องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) วาระ 4 ปี (พ.ศ.2557 – 2561)

ภาคภูมิใจที่ได้ศึกษาในคณะอักษรศาสต์ สถานที่อบรมบ่มเพาะสติปัญญา ความคิด คุณธรรมและจริยธรรมในการดำรงชีวิต  ส่งเสริมให้หมั่นเพียรเรียนรู้เพื่อพึ่งพาตนเอง พัฒนาชีวิตให้ดำรงอยู่ในหนทางแห่งความดี มีครูบาอาจารย์ที่ทรงคุณวุฒิ เปี่ยมเมตตา มีกัลยาณมิตรที่คบหากันยาวนานกว่า 40 ปี  เกียรติยศและศักดิ์ศรีที่เกิดขึ้นนี้เริ่มมาจากคณะอักษรศาสตร์ของเรา

 

นางลดาวัลย์ บัวเอี่ยม
อ.บ. 37

นางวิมลา ไตรทศาวิทย์

อักษรศาสตร์นำพาไปสู่อนาคตไร้ขอบเขต


สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าฯ
ถวายตัวผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกเหล่ากาชาดจังหวัดสกลนคร ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์

 

ดิฉันเข้าเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปีพ.ศ. ๒๕๑๑  ณ เวลานั้นตารางการเรียนหนักถึงอาทิตย์ละ ๓๕ ชั่วโมง ทั้งนี้ยังไม่รวมเวลาทำกิจกรรมบังคับของน้องใหม่และกิจกรรมอาสาของชมรมต่างๆอีกด้วย  นับเป็นการปรับตัวก้าวแรกจากเด็กนักเรียนไปสู่การเป็นนิสิตมหาวิทยาลัย  การรู้จักบริหารเวลาจึงเป็นคุณสมบัติสำคัญที่จะนำพาให้เราสามารถเรียนดี และร่วมกิจกรรมเด่นได้อย่างสมบูรณ์  เมื่อการเรียนอยู่ตัว ดิฉันก็สามารถทุ่มเทเวลาให้กับกิจกรรมทั้งของคณะและของมหาวิทยาลัย จนในปีสุดท้าย ดิฉันได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนคณะอักษรศาสตร์และเป็นกรรมการสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างเต็มภาคภูมิ

ดิฉันไม่เคยนึกเลยว่า ประสบการณ์หลายด้านที่ได้จากการร่วมงานกับผู้แทนคณะอื่นๆและกรรมการสจม.เป็นการปูฐานและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อต้องรับงานในลักษณะนักแก้ปัญหาให้กับที่ทำงานที่มีลักษณะงานแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง อาทิเช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ชิดลม  บริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด  และกับภารกิจเพื่อสาธารณะเช่น ประธานกรรมการสถานศึกษา โรงเรียนเศรษฐเสถียรในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  ฯ สยามมกุฎราชกุมาร  นายกเหล่ากาชาดจังหวัด นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และแม้แต่นายกสมาคมนิสิตเก่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีในท้ายที่สุด

ที่สำคัญคือ เราจะประสบความสำเร็จในการทำงานถ้าเราหมั่นใฝ่เรียนรู้  ปรับตัวให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และการท้าทายในมิติต่างๆให้ได้ในอนาคต 

 

นางสาวสุนิสา ฐานันทพิบูลย์

ความสุขกับการใช้ภาษาอังกฤษที่นำทางไปสู่ความสำเร็จ

ในอาชีพการงานตลอด 43 ปีที่ผ่านมา 

หลังจบปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในปี พ.ศ. 2516 (major ภาษาอังกฤษ) ด้วยความจำเป็นทางฐานะครอบครัว ดิฉันไม่มีโอกาสไปเรียนต่อต่างประเทศอย่างที่ใฝ่ฝันไว้ จึงเริ่มสมัครหางานที่อยากจะทำและหวังให้เป็นตำแหน่งที่ได้ใช้ภาษาอังกฤษมากที่สุด เพราะตนเองรักภาษาอังกฤษมาก ๆ ตั้งแต่สมัยมัธยม ไม่ว่าจะเป็นการเขียน อ่านหรือสนทนา ถือเป็นโชคดีที่บริษัทเอกชนแห่งแรกที่ดิฉันไปสมัครกำลังต้องการพนักงาน Correspondent ติดต่อกับต่างประเทศด้วยภาษาอังกฤษ  ความประทับใจและความภูมิใจเล็ก ๆ ในวันสอบสัมภาษณ์ คือท่านประธานกรรมการบริษัทนี้ชอบวิธีการเขียนจดหมายและสื่อสารกับบริษัทคู่ค้า และชื่นชมการอ่าน/ออกเสียงภาษาอังกฤษของดิฉัน (โดยมีที่ปรึกษาอาวุโสของบริษัทนั่งอยู่ในห้องสัมภาษณ์ด้วย และชมว่า ภาษาเขียนดีสละสลวยและสำเนียงออกเสียงภาษาอังกฤษไพเราะเหมือนผู้ประกาศข่าวทีวี)  นี่คือความสำเร็จขั้นแรกในอาชีพการงานที่ดิฉันได้รับเข้าทำงานเพียง 3 เดือนหลังสำเร็จการศึกษาในปี 2516 แน่นอนที่สุด ทักษะการเขียน อ่าน และการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษที่ร่ำเรียนมาตลอด 4 ปีที่คณะอักษรฯ อีกทั้งการทำความเข้าใจในภาษาอังกฤษอย่างลึกซึ้งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดิฉันประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงานด้านการติดต่อต่างประเทศยาวนานถึง 20 ปี ด้วยความรัก ความมุมานะ หมั่นใฝ่หาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา จึงช่วยสร้างประสบการณ์ความเชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่อง  สิ่งที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดในความเห็นของดิฉัน เราต้องรักในงานที่ทำไม่เคยหยุดนิ่งที่จะเสาะหาและเพิ่มพูนความรู้ให้มากขึ้น ประกอบกับความตั้งใจจริงในการทำงาน ผลจะปรากฏเป็นที่ยอมรับกับบริษัทที่ทำงานอยู่หรือแม้แต่บริษัทคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ  นอกจากนี้ ดิฉันถือว่าเป็นโชคดีมากที่มีโอกาสรับมอบภาระกิจทำหน้าที่ล่าม (ไทย-อังกฤษ)ให้กับประธานบริษัท ในการเดินทางไปเจรจาการค้าในต่างประเทศทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือเอเชียตลอดช่วงการทำงาน 20 ปี และยังได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ระหว่างเดินทางได้อีกมากมายนอกเหนือจากความชื่นชมในวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ความเจริญก้าวหน้าในด้านอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ของประเทศคู่ค้า อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี และ ญี่ปุ่น เป็นต้น

 แม้ว่าวิชาที่ร่ำเรียนจากคณะอักษรศาสตร์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวิธีการติดต่อค้าขายหรือการงานอาชีพในด้านธุรกิจโดยตรง ดิฉันพบว่า จากความพยายามในการทำความเข้าใจในแนวทางและกลยุทธการเจรจาทางการค้าของบริษัทคู่ค้าทั่วโลกที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ความรู้ความเข้าใจในภาษาอังกฤษที่ได้รับการพร่ำสอนจากคณาจารย์ทุกท่านในภาควิชานี้ของคณะอักษรศาสตร์มีส่วนอย่างยิ่งที่ทำให้ดิฉันสามารถพัฒนาความสามารถในการสื่อสาร เจรจา โต้ตอบกับบริษัทคู่ค้าเพื่อช่วยให้บริษัทที่ดิฉันทำงานอยู่ได้รับประโยชน์และความสำเร็จสูงสุดในทุกด้านเท่าที่จะทำได้ ตัวอย่างเช่น การใช้ไวยากรณ์ที่ถูกต้อง การอ่านออกเสียงที่ชัดเจน หรือแม้แต่ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวรรณคดี ซึ่งทำให้ดิฉันรู้จัก นักประพันธ์หรือกวีที่มีชื่อเสียง หรือสถานที่ต่าง ๆ ที่ถูกบรรยายไว้ในชิ้นงานเหล่านั้นได้มีส่วนช่วยให้ดิฉันมีทักษะในการติดต่อพบปะกับคู่ค้าชาวต่างชาติได้อย่างราบรื่นและสามารถสร้างความประทับใจและความสัมพันธ์ที่ดีและใกล้ชิดกับบุคคลเจ้าของประเทศเหล่านั้นได้เพิ่มมากขึ้นด้วย

 

นับแต่ปี พ.ศ. 2536 ถึงปัจจุบัน ดิฉันได้ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของกิจการ/หุ้นส่วนหลัก ของบริษัท  ยูนิเทค แอสโซซิเอทส์ จำกัด ซึ่งเป็นกิจการที่ผลิตและนำเข้าเครื่องจักรกลด้านรถใช้งานเฉพาะกิจต่าง ๆ เช่น รถกวาดดูดฝุ่นถนนและสนามบิน รถดูดล้างท่อระบายน้ำพร้อมระบบฉีดน้ำแรงดันสูง รถเติมเชื้อเพลิงอากาศยาน ฯลฯ รวมถึงระบบเครื่องช่วยเดินอากาศ (นำร่องเครื่องบิน) ที่ติดตั้งในสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินภูมิภาคหลายแห่งทั่วประเทศไทย   ดิฉันยังคงมีโอกาสได้ใช้ภาษาอังกฤษในการติดต่อสื่อสารเจรจาการค้ากับบริษัทคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง และแอบภูมิใจว่า ดิฉันสามารถเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในกิจการของบริษัทตลอด 23 ปี จนถึงปัจจุบัน  ด้วยความรู้และทักษะการใช้ภาษาอังกฤษที่ได้ร่ำเรียนจากคณะอักษรศาสตร์อันเป็นที่รักยิ่ง ดิฉันคิดว่าได้บรรลุความสำเร็จในชีวิตและการงานเกินคาด อีกทั้งยังมีความสุขกับการใช้ภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติในทุกสายงานอาชีพและในสังคมทั่วไปอย่างเต็มเปี่ยม

สุดท้ายนี้ ดิฉันขออนุญาตที่จะกล่าวว่า ดิฉันปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเห็นน้อง ๆ ลูก ๆ หลาน ๆ ที่เป็นศิษย์คณะอักษรศาสตร์ในรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อ ๆ ไปในอนาคตได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการเรียนภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ และรักที่จะนำความรู้ที่ได้จากคณะของเราไปต่อยอดให้ได้รับความสำเร็จในชีวิตการงานไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน หรือแม้แต่การใช้ชีวิตปกติทั่วไป น้อง ๆ อย่าลืมสิ่งสำคัญนะคะ หากเราทำงานด้วยใจรักและทุ่มเทอย่างเต็มที่ รับรองว่าผลงานที่ออกมาก็คือ ความสำเร็จและความภาคภูมิใจค่ะ

 ด้วยความรักต่อคณะอักษรศาสตร์และความซาบซึ้งในพระคุณของท่านอาจารย์ทุกท่าน

 

นิจพร (กรรณสูต) จรณะจิตต์

เมื่อเริ่มเข้าเป็นน้องใหม่ในคณะอักษรศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใน พ.ศ.2512 เวลาผ่านมาแล้ว 47 ปี ทุกวันนี้ ดิฉันยังจำได้อยู่เสมอถึงคำพูดของท่านศาสตราจารย์กิตติคุณ มล.จิรายุ นพวงศ์ ที่ได้กล่าวว่า ความรู้ที่ได้จากการเรียนที่คณะอักษรศาสตร์จะทำให้ "คนเป็นคน" ครั้งนั้นก็ยังไม่เข้าใจความหมายนัก แต่มาบัดนี้ได้รู้ชึ้งถึงความหมายที่อาจารย์ได้สั่งสอน  กล่าวคือ สถาบันแห่งนี้ ช่วยกล่อมเกลาให้เราเป็นคนมีความรู้รอบด้านและสามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายสาขาถ้ามีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริง 

ในการเดินทางเพื่อเรียนรู้ค้นหาประสบการณ์ต่อยอดหลังจากการเป็นบัณฑิตจุฬาฯคณะอักษรศาตร์ วิชาเอกภาษาอังกฤษและวิชาโทภาษาญี่ปุ่น ดิฉันได้เปลี่ยนแนวทางไปศึกษาปริญญาโท ด้านการบริหารธุรกิจ ที่ University of Wisconsin, Madison, USA. ครั้งนั้นเข้าใจว่าเป็นคนแรกๆ ที่เปลี่ยน สาขาวิชาที่เรียน จึงต้องพากเพียรไปเริ่มเรียนเพิ่มเติมอีกหลายวิชากว่า 40 เครดิต พอเรียนจบกลับมาทำงานที่บริษัทอิตาเลียนไทย ดิเวล๊อปเมนต์ ฯ ดิฉันต้องเริ่มเรียนรู้ในหลายๆ เรื่องที่ไม่เคยเรียนมาก่อนเช่นด้านการเงินและบัญชี การจัดการบุคคล ฯลฯ  ดิฉันเป็นคนที่ไม่ปล่อยให้มีคำถามค้างคาใจ ถ้ามีสิ่งใดที่ไม่เข้าใจก็จะไต่ถามจากผู้ที่มีความรู้จนเข้าใจ ต้องไม่อายที่จะถาม ไม่กลัวที่จะทำผิดถ้าเราอยากจะเรียนรู้จากสิ่งที่พลาดเพื่อจะได้ไม่ทำพลาดซ้ำซาก

 

นิสิตอักษรฯ มีข้อได้เปรียบหลายประการคือสามารถสื่อสารด้วยภาษาต่างประเทศได้ดีไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาฝรั่งเศสฯลฯ รู้จักจับใจความและสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือมีการใคร่เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดิฉันอยากเป็นกำลังใจให้รุ่นน้องทุกคนได้รู้สึกภูมิใจที่ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาในสถาบันแห่งนี้ ที่สร้างเราให้เป็นคนที่สมบูรณ์

 

การทำงานและหน้าที่ในปัจจุบันที่เป็นที่รู้จักกันดีที่ดิฉันทำอยู่นั้นมีอยู่หลายบริษัท และแต่ละบริษัทก็จะมีความแตกต่างในการบริหารจัดการ

ประธานกรรมการ

  • บริษัท โอเอชทีแอล จำกัด (มหาชน) (โรงแรมแมนดารินโอเรียนเต็ล กรุงเทพ)
  • กลุ่มบริษัท ONYX Hospitality – โรงแรม Amari, OZO, Amari Residence, Shama
  • อิตัลไทยกรุ๊ป จะมีหลากหลายการบริหารจัดการ มีทั้ง Trading, Hospitality, Food and Beverage, Construction Equipment, Construction Engineering, Real Estate; River City Shopping Complex


กรรมการ ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

  • บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท จรุงไทย ไวร์ แอนด์ เคเบิ้ล จำกัด (มหาชน)

 

ผศ ปิยะนาถ มณฑา

สาวอักษรเล่นละครสมบทบาท             เราสามารถแสดงได้ไม่ขัดเขิน 
      เป็นอาจารย์สอนสนุกศิษย์เพลิดเพลิน           เราเจริญในการงานสอบผ่านทุน 
      มีครอบครัวเรารับบทแม่บ้าน                          สุขสราญมีลูกน้อยคอยเกื้อหนุน 
     ได้ถ่ายทอดความรู้ความการุญ                       ลูกรู้คุณรู้ค่าวิชานึ้ 
    ใช้ชีวิตเรื่อยไปไม่ประมาท                               ธรรมดาธรรมชาติมิอาจหนี 
    รับได้ทุกเหตุการณ์อย่างดุษณี                         แสดงให้ดีดีทุกบทตอน 
รับบทไหนก็แสดงเป็นตัวนั้น                          อย่าดึงดันรู้กาละเทศะสอน 
ใช้วิชาแอคติ้งการละคร                                 สาวอักษรเขียนบทกำหนดไว้ 
พอสูงวัยรับบทเป็นคนสวน                            ดอกไม้ล้วนงดงามบานไสว 
คงเขียนบทไม่นานอีกเท่าไร                          คงแสดงบทว่องไวไม่ครื้นเครง 
สาวอักษรมีเวลาเหลือไม่มาก                       เล่นบทยากมากมายหลายบทเก่ง 
ฉากสุดท้ายคงไม่ได้เขียนเอง                        รอสวรรค์บรรเลงเพลงอำลา 

ผศ ปิยะนาถ  มณฑา    อักษรศาศตร์ รุ่น 37 
ทุน FULBRIGHT 1975      สอนภาษาอังกฤษและวรรณคดีการละคร มหาวิทยาลัยขอนแก่น  มหาวิทยาลัยรามคำแหง  ได้รับการสนับสนุนจากUSISให้จัดทำละครภาษรอังกฤษ      และร่วมเป็น producerจัดละครที่ AUA ในยุคที่ยังไม่มีละครเวทีเฟื่องฟู  และดาราทีวี   ดาราภาพยนต์ต้องมาฝึกการแสดงจากเวที AUA อาทิ ชลิต เฟื่องอารมณ์      มนตรี  เจนอักษร   มารุต สาโรวาท 

พรสวรรค์ โตสงวน Brawn

การศึกษาและการงาน: อ.บ เกียรตินิยมอันดับสอง รางวัลทุน Subhas Chandra Bose  ได้รับราชการเป็นอาจารย์แผนกภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และสอบได้ทุน Fulbright Scholarship ไปศึกษาต่อที่ Indiana University, Bloomington, USA จนจบปริญญาโททางการสอนภาษาอังกฤษ จึงกลับมารับราชการต่อที่สถาบันภาษา (CULI)  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนได้ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ 

 

การทำงานที่ต่างประเทศ: ต่อมาได้โยกย้ายไปอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย ได้เข้ารับราชการตำแหน่งอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ (ESL) ที่ NSW Adult Migrant English Service เป็นเวลากว่า ๓๐ ปีจนเกษียณราชการ ระหว่างรับราชการ

ได้ปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ เช่น เคยมีตำแหน่ง Senior Education Officer อยู่ในทีมวางหลักสูตรการสอนภาษาอังกฤษ (Curriculum Framework) ที่บังคับใช้ทั่วประเทศออสเตรเลีย, เป็นอาจารย์ผู้อบรมหลักสูตร และการสอนอบรมทางวิชาการ ระหว่างนั้นก็ได้แต่งหนังสือบทเรียนภาษาอังกฤษ กว่า 15 เล่ม ที่ใช้แพร่หลายในออสเตรเลีย เช่น

Listening to Australia Intermediate;

Our Island Home;

 

Certificate in Spoken and Written English Workbook III; Let’s Participate: A course in Australian citizenship เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ร่วมทำ Action Research ด้านการสอน และเคยไปร่วมแสดง workshop ในการประชุมTESOL ที่ Baltimore สหรัฐอเมริกา

 

ในชีวิตราชการในกรม NSW AMES ซึ่งสังกัด Department of Education, ทาง AMEP Research Centre at NCELTR – Macquarie University ได้ขอยืมตัวไปทำงานตำแหน่ง AMEP Coordinator (Professional Development and Research) จัดการประชุมทางวิชาการระดับชาติ (3 ปี)

 

รองศาสตราจารย์ ดร.วริยา (ศิวะศริยานนท์) ชินวรรโณ

รองศาสตราจารย์ ดร.วริยา  (ศิวะศริยานนท์)  ชินวรรโณ

 คณบดีคณะสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์

 มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

 การเรียนอักษรศาสตร์ให้อะไรแก่ศิษย์

 

ดิฉันสอบเข้าเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ในปี พ.ศ. 2511 เป็นอักษรศาสตร์รุ่นที่ 37 ท่ามกลางความปลื้มปิติของบุพการี วงศาคณาญาติ และตัวเอง เพราะทุกคนทราบดีว่า คณะนี้เป็นที่หนึ่งของประเทศในสายศิลปะ มีเพื่อนร่วมรุ่นประมาณ 150 คน ซึจำนวนนี้มีเพื่อนหญิงประมาณ 130 คน เพื่อนชายประมาณ 20 คน เรียนจบ 4 ปี รับปริญญาเมื่อปีพ.ศ. 2516 โดยเลือกเรียนภาษาอังกฤษเป็นวิชาเอก(major) และประวัติศาสตร์เป็นวิชาโท(minor) หลังจากจบการศึกษาปริญญาตรีแล้ว ก็ได้รับการตอบรับเข้าทำงานที่ภาควิชามนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และทำงานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 เมื่อดิฉันมองย้อนกลับไปในอดีต 48 ปีที่ผ่านมา หากถามว่า ได้อะไรบ้างจากการเรียนอักษรศาสตร์ ก็อยากจะตอบว่า ได้อะไรมากมายเกินกว่าที่ตนเองจะคาดคิดแม้ว่าในตอนเรียนยังไม่ได้ตระหนักในเรื่องนี้มากนักก็ตาม แต่เมื่อเรียนจบปริญญาตรีได้มีโอกาสไปศึกษาต่อต่างประเทศในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และเข้าทำงานเป็นอาจารย์ในคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จนกระทั่งได้ดำรงตำแหน่งคณบดีของคณะนี้ 2 สมัย(ระหว่าง พ.ศ. 2551-2555 และ พ.ศ. 2555-2559)  จึงเริ่มตระหนักว่าการเรียนอักษรศาสตร์ที่คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น เป็นคุณูปการแก่ชีวิตของดิฉันด้วยเหตุผล 3 ประการ ดังนี้

 

  1. ความรู้ วิชาที่ได้เรียนในคณะอักษรศาสตร์ เป็นพื้นฐานความรู้ที่สำคัญยิ่งในการศึกษาต่อปริญญาโท ปริญญาเอกของดิฉันในเวลาต่อมา ความรู้ในวิชาศึกษาทั่วไปที่เปิดสอนในคณะไม่ว่าจะเป็นวิชาภาษา ปรัชญา วรรณคดี ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ล้วนสร้างพื้นฐานสำคัญให้แก่นิสิตที่จะไปต่อยอดในระดับที่สูงขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้ด้านภาษา ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย ที่ได้จากคณะอักษรศาสตร์ เป็นประโยชน์ต่อดิฉันมากทั้งในการศึกษาและการทำงาน

 

        สำหรับความรู้ภาษาอังกฤษที่ได้รับการปูพื้นฐานจากคณะอักษรศาสตร์นั้น ทำให้ดิฉันสามารถสอบชิงทุนไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาได้ทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก การจัด     การเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษในหลายวิชาของคณะอักษรศาสตร์ ตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 จนถึงชั้นปีที่ 4  เป็นคุณูปการแก่นิสิตทุกคน เพราะทำให้เราคุ้นเคยกับการฟังการบรรยายเป็นภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ปริญญาตรี ดิฉันชื่นชมการบรรยายของศาสตราจารย์ ดร.ปราณี  กุลละวณิชย์ ในวิชา Linguistics รองศาสตราจารย์สดใส  พันธุมโกมล  ผู้สอนเรื่อง Macbeth  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิตโสมนัส  ศิวะดิตถ์  สอนวิชา English Poetry และอาจารย์ท่านอื่นๆอีกหลายท่าน  แม้ว่ายังไม่คุ้นเคยกับการฟังบรรยายเป็นภาษาอังกฤษเท่าใดนักและต้องเปิดพจนานุกรมเพื่อ “แกะ” ความหมายของคำศัพท์หลายๆตัวก็ตาม  แต่ก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดียิ่งสำหรับการเรียนเป็นภาษาอังกฤษ  เมื่อได้มีโอกาสไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา ดิฉันจึงประสบปัญหาไม่มากนักในการจดคำบรรยายภาษาอังกฤษ เมื่อเทียบกับนักศึกษาไทยคนอื่นๆ ส่วนในด้านการทำงานนั้นดิฉันคิดว่าการที่ดิฉันสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ในระดับดีพอสมควรเป็นคุณสมบัติประการหนึ่งที่ทำให้ดิฉันได้รับการสรรหาเป็นคณบดีคณะสังคมศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยมหิดล และในการทำงานบริหารต้องใช้ภาษาอังกฤษในการติดต่อกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศอยู่เสมอ ตั้งแต่การติดต่อทางจดหมาย หรือทางอีเมล์ และในการเจรจาความร่วมมือ ตลอดจนการทำบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) ระหว่างคณะสังคมศาสตร์ฯ กับมหาวิทยาลัยชั้นนำของต่างประเทศ

        นอกจากนี้ การได้เรียนภาษาไทยและวรรณคดีไทยตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ช่วยปูพื้นฐานการใช้ภาษาไทยและความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยอย่างถูกต้องในการสอนนักศึกษา การเขียนตำรา และบทความทางวิชาการต่างๆ ตลอดจนการใช้ภาษาไทยในการทำงานบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ

 

  1. ความคิด มักมีหลายคนคิดว่า การเรียนการสอนที่คณะอักษรศาสตร์เป็นการท่องจำเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดอย่างมาก เพราะอาจารย์หลายท่านไม่ได้บรรยายอย่างเดียว แต่สอนให้ศิษย์คิดเป็น คือใช้ความคิดวิเคราะห์ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาประวัติศาสตร์และวิชาปรัชญา      ในส่วนของวิชาประวัติศาสตร์นั้น ศาสตราจารย์ ดร.เพ็ญศรี  ดุ๊ก ศาสตราจารย์ วิลาสวงศ์  พงศะบุตร  ดร.สืบแสง  พรหมบุญ และอาจารย์ผู้สอนประวัติศาสตร์อีกหลายท่าน สอนให้นิสิตรู้จักวิเคราะห์และสังเคราะห์เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคสมัยว่า เหตุการณ์ที่เป็นเช่นนั้นมีสาเหตุ             ความเป็นมาอย่างไร เพื่อเป็นบทเรียนแก่คนยุคปัจจุบันที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์เช่นนั้นอีก ถ้าสามารถป้องกันได้ ชั้นเรียนประวัติศาสตร์จึงเต็มไปด้วยการคิดวิเคราะห์ตีความอย่างสนุกสนานเป็นอันมาก

        สำหรับวิชาปรัชญาก็เช่นเดียวกัน ศาสตราจารย์ผู้สอนปรัชญาทั้งสี่ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.วิทย์  วิศทเวทย์  ศาสตราจารย์ กีรติ  บุญเจือ  ศาสตราจารย์กิตติคุณ ปรีชา  ช้างขวัญยืน และศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุนทร  ณ รังษี สอนศิษย์ให้ตระหนักว่า เราจะต้องวิเคราะห์โลกทัศน์ของมนุษย์อย่างถ่องแท้ เพื่อที่จะเลือกดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีคุณธรรมให้สมกับที่เกิดมาเป็นมนุษย์

 

  1. มนุษยสัมพันธ์ แม้ว่าการเรียนในคณะอักษรศาสตร์ยากและหนักพอควร แต่ก็มีกิจกรรมสนุกสนานบันเทิงให้ทำโดยตลอด นับตั้งแต่การซ้อมเชียร์ตอนเย็น การเข้าร่วมกิจกรรมของชมรมต่างๆ ซึ่งมีมากมายหลายชมรม ทั้งนี้ไม่นับกิจกรรมตามเทศกาลและวาระพิเศษต่างๆ เช่น ลอยกระทง รับน้องใหม่ ส่งพี่เก่า รับปริญญา ฟุตบอลประเพณีจุฬาธรรมศาสตร์ ฯลฯ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือการที่ได้มีโอกาสรู้จักเพื่อนมากมาย แม้เวลาได้ผ่านมาเกือบ 50 ปีมาแล้วเราก็ยังเป็นเพื่อนกันอยู่      ต้องขอบคุณที่ยุคปัจจุบันนี้มีโทรศัพท์เคลื่อนที่อัจฉริยะ(สมาร์ทโฟน)  และเครือข่าย เช่น ไลน์    เป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทำให้ชีวิตประจำวันเต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา มีเพื่อนในไลน์นับได้เกือบ       80 คน ใครมีทุกข์สุขอย่างไร ทุกคนได้รับรู้และช่วยเหลือกันเยี่ยงกัลยาณมิตรพึงกระทำ

        การเรียนในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงให้คุณค่าแก่ชีวิตของดิฉันอย่างที่ไม่อาจประเมินค่าได้ ทั้งทางด้านวิชาการ การบริหาร และชีวิตส่วนตัว อาจกล่าวได้ว่าวิชาอักษรศาสตร์ทำให้ดิฉันเป็นอย่างที่ดิฉันเป็นในทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีโอกาสได้บริหารคณะสังคมศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้นำวิชาที่ท่านอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬา ได้ประสิทธิ์ประสาทให้นี้ มาสร้างสรรค์                  คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ของมหิดล ให้มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง คือมีการบูรณาการศาสตร์ทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เข้ากับศาสตร์ทางแพทยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาของสังคมไทยโดยรวม

 

สุดท้ายนี้ ดิฉันขอกราบขอบพระคุณคณาจารย์คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย     ทุกท่านที่ให้ทั้งความรู้ ความคิด และคุณธรรมแก่ศิษย์อย่างเต็มที่ ตลอดจนเป็นต้นแบบทางวิชาการให้แก่ศิษย์ด้วย  ต้องขออภัยที่ไม่สามารถกล่าวนามทุกท่านได้หมด แต่ทุกท่านอยู่ในดวงใจของศิษย์เสมอและตลอดไป

  

 

รองศาสตราจารย์ สุชาดา นิมมานนิตย์

รองศาสตราจารย์ สุชาดา นิมมานนิตย์ ตำแหน่งปัจจุบัน ผู้อำนวยการสถาบันภาษาอังกฤษ   มหาวิยาลัยรังสิต จบการศึกษาขั้นต้นจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์และเตรียมอุดมศึกษาพญาไท ก่อนที่จะศึกษาต่อในคณะอักษรศาสตร์ จบการศึกษา อักษรศาสตร์ บัณฑิต (เกียรตินิยม) จากนั้น ได้ศึกษา ระดับ บัณทิต ศึกษาทางด้าน Language Education ที่มหาวิทยาลัย Pennsylvania State University ประเทศสหรัฐอเมริกา และ Applied Linguistics ที่มหาวิทยาลัย Macquarie University ประเทศออสเตรเลีย

 เริ่มรับราชการ เป็น อาจารย์ ประจำ สถาบัน ภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารของสถาบันภาษา โดยเป็นรองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ หัวหน้าภาควิชาภาษาอังกฤษธุรกิจ หัวหน้าศูนย์พัฒนาบุคคลากรของรัฐ เป็นผู้หนึ่ง ซึ่งผลักดันให้เกิด การพัฒนาการสอนภาษาอังกฤษจากการสอนที่เน้นภาษา เป็นการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร การสอน การใช้ภาษาเพื่อเรียนรู้เนื้อหาของวิชาต่างๆ การใช้เทคโนโลยี เช่น web resources และwebinar การสื่อสารผ่าน คอมพิวเตอร์ ตลอดจนการวาง หลักสูตร การสอนการ เสนอผลงาน การสื่อสารทางธุรกิจ เป็นกรรมการพัฒนามาตรฐานภาษาอังกฤษของนักเรียนและครูผู้สอนภาษา อังกฤษ รองศาสตราจารย์ สุชาดา นิมมานนิตย์ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมครูสอนภาษาอังกฤษแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2543-2545 ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมได้ทำงานพัฒนาครู โดยเป็นวิทยากร ในการฝึกอบรมสัมมนาครูสอนภาษาอังกฤษ และได้ส่งเสริมให้สมาคมร่วมมือกับ British Council ในการพัฒนาครูสอนภาษาอังกฤษที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียง ใต้และงานพัฒนาครูร่วมกับสถาบันต่างๆ ทำให้สมาคมได้รับ รางวัล World  Aware British Council Award ในปี 2545 สมาคมได้ใช้รางวัลที่ได้ในการฝึกอบรมครูสอนภาษาอังกฤษ ให้ใช้ เทคโนโลยี สอนภาษาอังกฤษ รองศาสตราจารย์ สุชาดา นิมมานนิตย์ ได้รับการ เลือกตั้ง ให้เป็น กรรมการ บริหารสมาคมครูสอนภาษาอังกฤษนานาชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2547-2550 นับเป็น ครูไทย คนแรกและคนเดียวที่ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นกรรมการบริหารสมาคม ในปี พ.ศ. 2554 รองศาสตราจารย์ สุชาดา นิมมานนิตย์ได้รับรางวัลอาจารย์แบบอย่างดีเด่นจากสโมสรอาจารย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและในวาระที่สมาคมครูสอนภาษาอังกฤษนานาชาติครบรอบ50ปี รองศาสตราจารย์ สุชาดา นิมมานนิตย์ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางการสอนภาษาอังกฤษ 1ใน 50คน ที่ทำงานพัฒนาการ การเรียนการสอน ของครู ใน ระดับ นานาชาติ

 

ศาสตราจารย์ ดร.พรสรรค์ วัฒนางกูร

อักษรศาสตร์สอนอะไร พันธกิจของ “เด็กอักษร” ต่อสังคมไทย

 มักมีผู้พูดถึงการศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ว่า ไม่ใช่วิชาชีพที่จะออกไปประกอบอาชีพใดได้โดยตรง บ้างก็ว่า นี่คือข้อด้อย เพราะทำให้ “เด็กอักษร” ไม่มีจุดหมายและอาชีพที่แน่นอนเหมือนคนที่เรียนสถาปัตย์ฯ วิศวฯ หรือแพทย์ฯ  แต่หลายคนกลับเห็นว่า นี่คือ ข้อได้เปรียบ เพราะวิชาในคณะอักษรฯ เป็นวิชาด้านวัฒนธรรม ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศทั้งตะวันตกและตะวันออก นอกจากนี้ ยังมีวิชาประเภทที่ฝรั่งเรียกว่า philology อันเป็นกลุ่มวิชาแบบฝึกหัดให้ฝึกคิดและเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ นั่นคือ ปรัชญา ศาสนา ประวัติศาสตร์ สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็คือ “เด็กอักษร” และสามารถใช้พื้นฐานความรู้ที่เรียนจาก ”เทวาลัย” ไปต่อยอดเรียนวิชาอื่นๆได้อีกมากมาย ทั้งรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ แม้กระทั่งสายธุรกิจ ศิลปะการออกแบบ ฯ ไปทำงานเป็นครูบาอาจารย์ สำนักพิมพ์ งานธนาคาร สายการบิน กระทรวงการต่างประเทศได้เป็นเอกอัครราชทูตก็มาก

นั่นคือ “เด็กอักษร” “คิดเป็น” สามารถแก้ปัญหาเวลาทำงานได้แม้ไม่ได้เรียนสายนั้นมาโดยตรง

การพัฒนาเศรษฐกิจในเมืองไทยนำไปสู่ความคิดที่ว่า เด็กไทยควรเรียนวิชาตามที่ตลาดต้องการ  ความคิดนี้ไม่เคยมีอยู่ในสมองของพวกเราสมัยที่ผู้เขียนยังเรียนอยู่ เนื่องจากเราจะเรียนวิชาที่ตัวเองชอบ เพราะถ้าเรียนสิ่งที่ชอบ ก็จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน การทำงานด้วยความรักและถนัดย่อมประสบความสำเร็จกว่าเรียนอะไรที่ไม่ชอบหรือเรียนตามกระแสแฟชั่น

การเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า วิชาในสำนัก “เทวาลัย” เป็นพื้นฐานอย่างวิเศษสำหรับงานวิชาการที่ผู้เขียนรักและถนัด โดยเฉพาะงานด้านต่างประเทศไทย-เยอรมันที่ได้ทำอย่างมุ่งมั่นและต่อเนื่องมาตลอดเกือบ 40 ปีของการเป็นครูที่สาขาวิชาภาษาเยอรมัน คณะอักษรศาสตร์จนถึงวันนี้ ด้วยความตั้งใจที่จะสอนให้ลูกศิษย์ “รู้จักคิด คิดเป็น” และ “มีคุณธรรม” เพราะการสร้างคนและผลงานวิชาการ/วิจัยนั้นจะยืนยงมั่นคงต่อไปอีกนาน เป็นสิ่งเชิดชูสถาบันอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประโยชน์ต่อนิสิตและบุคคลอื่นที่จะเป็นกำลังของชาติต่อไป ได้เคยสอนลูกศิษย์เสมอว่า “การที่เราสอบเข้ามาในจุฬาฯ โดยเฉพาะเข้าอักษรฯได้ ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นอภิสิทธิ์ชนที่จะทำตัวสุขสบายเหนือผู้อื่น แต่เรากลับยิ่งต้องมุ่งมั่นช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยสังคม และช่วยชาติหลังจากที่ได้ช่วยตนเองแล้ว  ให้สมดังพระปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงริเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้”

                        

  ศาสตราจารย์ ดร.พรสรรค์ วัฒนางกูร  อักษรศาสตร์ รุ่น 37

  Prof. Dr. phil for German Language and Literature (Heidelberg)

 

   

ในวันพุธที่ 18 พฤษภาคม 2559 จะมีพิธีมอบ เหรียญกางเขนเหล็กพร้อมโบว์ Bundesverdienstkreuz am Band จากประธานาธิบดีโยอาคิม เกาช (Joachim Gauch) แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย H.E. Peter Peter Prügel (เอกอัครราชทูตเพเทอร์ พรือเกิล) ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย เพื่อเชิดชูเกียรติ ศ.ดร. พรสรรค์ วัฒนางกูรสำหรับผลงานวิชาการด้านภาษา วรรณคดี วัฒนธรรมไทย-เยอรมันและความสัมพันธ์ ไทย-เยอรมัน

ปัจจุบัน ศ.ดร.พรสรรค์เป็นนายกสมาคมไทย-เยอรมัน และภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสภา สำนักศิลปกรรม สาขา วรรณคดีเปรียบเทียบ

 

งานเปิดตัวหนังสือโครงการวิจัยพุทธศาสนาในวรรณกรรมโลก วันที่ 18 ก.พ. 2559 คณะผู้วิจัยและรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ (ที่ 4 จากซ้าย) และเอกอัครราชทูตเยอรมัน
(ที่ 2 จากขวา) หัวหน้าโครงการวิจัย ศ. ดร.พรสรรค์ (ที่ 3 จากขวา) และ Prof. Dr. Heinrich Detering และ Prof. Dr. Heinrich Detering มหาวิทยาลัย เกิททิงเงิน (ที่ 4 จากขวา) กับทีมวิจัย

   

หนังสือจากโครงการวิจัยพุทธศาสนาในวรรณกรรมโลก “พระพุทธเจ้าในวรรณกรรมเยอรมัน” พิมพ์เป็นภาษาเยอรมันที่สำนักพิมพ์ Wallstein Göttingen (พ.ศ. 2557)

 

 

    

     

     ผลงานในหัวข้อรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก

 

 

        

   หนังสือ ไวยากรณ์และการใช้ภาษาเยอรมัน

    สำหรับการค้นคว้า (621 หน้า) ตีพิมพ์ พ.ศ. 2553

 

 

 

      

    ผลงานโครงการแปลเรื่องรัชกาลที่ 5

    เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ค.ศ. 1897

    เป็นภาษายุโรป 5 ภาษา (ภาพตัวอย่าง

     ฉบับภาษาไทย-เยอรมัน)

 

     

     หนังสือที่ระลึก 150 ปีความสัมพันธ์ไทย-เยอรมัน

 ทั้งชุด 4 เล่ม

สุนีย์ เลี่ยวเพ็ญวงษ์

ตั้งแต่จบจากคณะอักษรศาสตร์ ก็ได้ทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในสมัยที่ถนนมิตรภาพยังมีอยู่เพียงสองเลน การสอนหนังสือในยุคนั้นต้องใช้ทักษะ ความรู้ และกระบวนการการวิเคราะห์ จากการเคี่ยวเข็ญของอาจารย์ที่คณะอักษรศาสตร์ได้อย่างเต็มที่ ทั้งในการถ่ายทอดความรู้ ความคิดวิเคราะห์ในเรื่องภาษาและวรรณคดีไทยให้ผู้เรียนได้เข้าใจ จนเกิดความรู้ ความรักในมรดกภาษาไทย และในการปรับตัวให้อยู่ได้อย่างดีในท้องถิ่นที่ไม่เคยคุ้น การสอน คติชนวิทยา เป็นโอกาสให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอนเปิดโลกทัศน์ให้ได้เรียนรู้ในคุณค่า มรดก วัฒนธรรมท้องถิ่น ได้อย่างดีที่สุด การออกภาคสนามในหมู่บ้านทุกครั้ง ให้การเรียนรู้อย่างแท้จริงแก่ผู้เรียน ให้ความรักความภาคภูมิใจในวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นแก่ชาวบ้านทุกๆ คน และเกิดความรัก ความผูกพัน ความเคารพนับถือ และความเข้าใจอันดีระหว่างนักศึกษาและชาวบ้าน ซึ่งจะฝังแน่นในความทรงจำ การสอน การท่องเที่ยววัฒนธรรมเชิงนิเวศ มีส่วนให้เกิดหมู่บ้านท่องเที่ยวชุมชนขึ้นหลายแห่ง เช่น หมู่บ้านภูไทโคกโก่ง ที่กาฬสินธุ์ ซึ่งได้รางวัลกินรีถึง 2 ครั้ง จากการให้คำปรึกษาแนะนำแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวบ้านร่วมกันรักษา และรู้จักนำวิถีวัฒนธรรมของตนมาสร้างสรรค์เป็นสินค้าทางการท่องเที่ยว เสียงสะท้อนกลับให้กำลังใจในการทำงานที่หมู่บ้านได้จนทุกวันนี้ ดังนั้น นอกจากการสอน การช่วยงานบริหาร งานวิชาการ งานวิจัย การพัฒนานักวิจัยของมหาวิทยาลัยแล้ว ก็จะเป็นการทำกิจกรรมด้านการเรียนรู้วิถีไทย เช่น การจัดโครงการรักมรดกไทย จนทำให้ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษย์ศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับรางวัล พระเกี้ยวทองคำ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การออกหมู่บ้าน เพื่อเรียนรู้และถ่ายทอดเรื่องราวของชาวบ้านให้ชาวเมืองได้รู้และเข้าใจร่วมกัน เพื่อการเกื้อกูลกันและกันตลอดไป

 

อัจฉราพรรณ ไพบูลย์สุวรรณ

  ความทรงจำ

 ไม่มีอะไรเป็นเรื่องบังเอิญ จะเดินเส้นทางไหนก็ต้องมาจบที่เส้นทางนี้

ไม่เคยคิดจะเป็นนักแสดง แต่เมื่อสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์  จุฬาฯ     ทดลองเรียนวิชาต่าง ๆ มากมาย มันน่ากลัวจนตัวเนื้อสั่น ยาก และไม่เข้าใจ   จนมาฟังเลคเชอร์อาจารย์สดใส  พันธุมโกมล ใช่เลยต้องวิชานี้ที่ฉันชอบ

 มีความสุขทุกครั้งที่เรียนและเมื่อแสดงบนเวที

 เมื่อจบวิชานี้  ก็มาทำงานกับวิชานี้ชั่วชีวิต มีเรื่องราวหลากหลายให้จดจำ และประทับใจ 

 ที่สุดของที่สุดต้องเป็นการแสดงครั้งนี้

 ละครเวที " ล่ามดี"  ในงาน เทวาลัยรำฤก  รอบพิเศษแสดงที่ศาลาดุสิตดาลัย สวนจิตรลดา หาทุนสำหรับคณะอักษรศาสตร์

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร   ฉันมีบทพูดสักห้าประโยค  ท่องแล้วท่องอีก แสดงหน้าพระที่นั่งลืมบทไม่ได้  ในเรื่องฉันเป็นคนคุมอยู่หน้าเคาน์เตอร์ในลอบบี้โรงแรม    มีนักท่องเที่ยวเข้าออกมากมาย  ก็พูดบทไปตามเรื่องราว  แล้วบรรยากาศและอารมณ์ ร่วมสบายๆ กับคนดูตรงนั้น  เราก็ได้โยนการแสดงไปให้คนดูด้วย  ทั้งที่ไม่มีในบท   

เราบอกว่าดูโน่นสิ  นักท่องเที่ยวมากมายมาจากไหนกันนะเนี่ย ด้วยน้ำหนักของเสียงและกระแสที่ลุ้น นั่นใครล่ะนั้น  นั่นใครๆๆๆ  มากันมากมาย ใครๆๆๆ     ส่งบทนี้ไปถึงพระองค์ท่าน 

จากที่ประทับท่านเสด็จขึ้นบนเวทีเลย ทรงมีพระเมตตาอย่างมาก ทรงเป็นกำลังใจ  ให้กับนักแสดง

เมื่อประทับบนเวที  รับสั่งภาษาจีนยืดยาว  เราฟังกันไม่รู้เรื่องเลยสรุปว่า

 อ้อ ทัวร์จีน  ทรงมีพลังอย่างมากมายมหาศาลรับสั่งต่อเนื่องไม่หยุดเลย

เราก็บอกอะไรนะ พูดอะไร ฟังไม่รู้เรื่อง  คราวนี้รับสั่งรายการอาหารจีนยาวเหยียด

 เราก็เลยอุทารณ์ขึ้นมาว่า  โอ้ว ของกินล้วนๆๆ  พระองค์ท่านก็ยังรับสั่งต่อ คนดูทั้งหัวเราะ

 ทั้งร้องกรี๊ดสนั่นหวั่นไหวยิ่งกว่าดูคอนเสิร์ต

 พอเสียงซาลงพวกเราทั้งหมดบนเวทีก็ก้มลงหมอบกราบที่พระบาท

 คนดูทั้งหมดปรบมือกึกก้องยาวนานถวายเจ้านาย  ที่ทรงพระสรวลตลอดเวลา

 เป็นค่ำคืนที่ทรงคุณค่าจดจำไม่เคยลืม

พระเมตตาจากเจ้านาย

 ขอจงทรงพระเจริญ 

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University