อักษรจรัส รุ่น 39

กัลยา กล่อมวิทย์

เพื่อนเราคนนี้ กัลยา กล่อมวิทย์ หรือ “หมู” ได้ฉายแววโดดเด่นทั้ง บุ๋น ทั้งบู๊ มาตั้งแต่เริ่มเข้าเป็นน้องใหม่ และเป็นคนที่เรียกได้ว่าไม่ว่าใครก็รู้จักหมู 

หมูมัดผมที่ไว้ยาว ใส่แว่นตา ตัวสูง ท่าทางเฮี้ยวๆ ร่าเริง มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าแสดงออก กล้าคิด กล้าทำ เก่งกลอนและเป็นนักกิจกรรม   ตั้งแต่ปีหนึ่ง อยู่ชมรมวรรณศิลป์จุฬาฯ ในทีมที่คว้าถ้วยพระราชทานซึ่งแข่งกันถึง ๕ มหาวิทยาลัย เป็นนักโต้วาทีคณะ พอปีสามเป็นสาราณียกรของคณะ ทำหนังสือรุ่นของสมเด็จพระเทพฯ  แบบเนื้อหาแน่นปึ้ก  ตอนปีสี่ได้รางวัลเขียนบทละครยอดเยี่ยมจากคุรุสภา เรื่อง”ครูในบ้าน” รับรางวัลจากรมต. กระทรวงศึกษาธิการ และรวบรวมเพื่อนอักษรตอนยังไม่จบทำหุ่นเชิดมือ สำหรับเด็ก ช่วยกันนั่งเย็บนั่งสอยกัน หมูสร้างบทในธีมเรื่อง “จินตนาการ” ประกวดที่ช่อง ๓ ได้รางวัลเอาเงินมาแบ่งกัน นี่เป็นเพียงแค่น้ำจิ้มนะจ๊ะ

เมื่อเป็นบัณฑิต ได้แรงบันดาลใจจากปัจฉิมนิเทศ ฟังพี่อักษร พี่พรสวรรค์ ศิริถาพร พูดถึงการเป็น copywriter หรือ creative งานโฆษณา และพอทราบจากพี่หน่อย จำนรรจ์ ศิริตัน ว่ามีคนออกจาก Far East ก็เลยไปสมัคร สอบแล้วก็ได้เลย เรียกว่าจบปุ๊บก็ได้งานปั๊บ  ทำอาชีพ คิดๆเขียนๆบทโฆษณา มีครูดี เป็นพี่วรรณศิลป์ชื่อบริบูรณ์ จันทร์เพ็ญ แล้วย้ายมาทำฝ่ายผลิตภัณฑ์ต่อที่สหพัฒน์ให้นายห้างเทียม โชควัฒนา

จากนั้นแรงผลักในฐานะชาวสิบสี่ตุลา บวกตามใจคุณแม่ หมูลองไปสอบ เป็นนักวิชาการด้านโทรทัศน์ศึกษา ที่กรมวิชาการ ผู้สัมภาษณ์งานหรือผอ.ที่ประทับใจจนบัดนี้ เป็นรุ่นพี่อักษร มล.จินตนา นพวงษ์ หรือนักเขียนนาม จินตะหรา 

ที่นี่แววโดดเด่นของหมูได้เปล่งประกายจรัสออกมาอีก หลังได้ทุนรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ไปอบรมที่ RNTC ได้ Certificate ทาง TV Program Making กลับมาร้อนวิชาทำรายการ”เพื่อนของเด็ก” ทางทีวีช่อง ๙ แน่นอนว่าหมูทำอะไรก็ได้รางวัล รางวัลเมขลาที่ได้คือรางวัลยอดเยี่ยมประเภทรายการเด็ก ในนามกระทรวงศึกษาธิการ

หมูรับราชการอยู่ 5 ปี ประสบการณ์ที่มีอยู่พร้อม ทำให้โดนดึงตัวกลับมาทำโฆษณา เป็น Senior Writer ที่ McCann-Erickson เอเจนซี่อินเตอร์ ท็อปหนึ่งใน 3 ของไทย เลื่อนเป็น Concept Group Head  ระหว่างนี้ไปทำหนังที่ Hong Kong บ่อย สัมมนาที่ Singapore และ เวิร์คชอป Asia-Pacific ที่ Manila ยุค Marcos  ก่อนย้ายมาเป็น Associate Creative Director ให้กับ Lintas Bangkok ช่วงนี้ทำงานให้ลีเวอร์ จอห์นสัน มีผลงานมากมายขายดี และ SCG รางวัล Tact ที่ได้ คือ Corporate Campaign ของ SCG  ได้ไปดูงานที่ ลินตาส Paris London และ Amsterdam ร่วมงานเทศกาลหนังโฆษณาที่ Cannes ปี1986 ทำตำแหน่งนี้จนเป็น Creative Director ของ Lintas IMC หมูบอกว่า “ความเป็นนักกลอน สาราฯ นักเขียนบท และนักโต้วาที ที่ฝึกฝนมาจากชีวิตในจุฬา ทำให้ทำงานสนุก  เพราะต้องทั้งฟัง ทั้งคิด ทั้งประมวลออกมาเป็นคอนเส็ปท์ ต้องพรีเซนท์ ต้องกำกับภาพรวม ต้องเป็นนักการตลาด เซลส์แมน และศิลปินในเวลาเดียวกัน ท้าทาย โหด มัน เคี่ยว ขมมาก” เฮ้อ.. ฟังดูแล้วหมูไม่น่าจะเป็นคนร่วม Gen เดียวกะเรา เธอน่าจะเป็น Gen X ปนกะ Gen Y

หลังจาก 7 ปีเต็มที่ Lintas หมูก็ Burn out จึงลาออกไปเที่ยวอเมริกาเอาประสบการณ์ ก่อนจะกลับมาเป็น Senior Creative Director ให้ Prakit Associates ทำได้สามปี ก็ย้ายไปทำเอง เป็นหุ้นส่วนเปิด The Magus ทำโฆษณาทั้งในและต่างประเทศอีกสิบปี และสุดท้าย ขยับกลับมาเป็น International Business Development Director ของกลุ่มผู้ผลิตรองเท้าของไทย ให้แบรนด์อินเตอร์ ทำให้ต้องเดินทางบ่อย

อย่างที่กล่าวในตอนแรกว่าหมูเป็นเก่งรอบด้าน ผลงานทางวิชาการของหมูก็มี คืองานสอนเป็นอาจารย์พิเศษ วิชา Creative Development /Art Direction/ Copywriting ในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งเอกชนและรัฐ

ผลงานจัดทำเอกสารการสอน ชุดวิชาการสร้างสรรค์และผลิตสื่อโฆษณาประเภทวิทยุ  ให้แก่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สาขาวิชานิเทศศาสตร์     และยังเป็นวิทยากรผู้ร่วมเสวนาหัวข้อต่าง ๆ เรื่องการส่งออก การตลาดต่างประเทศ  การออกแบบรองเท้าร่วมกับครูอิตาลี ซึ่งงานเหล่านี้เป็นประจักษ์พยานถึงความรอบรู้เชี่ยวชาญในงานที่หมูทำจนเป็นที่ยอมรับ

ในส่วนของกิจกรรมทีทำเพื่อสังคม อักษรจรัสคนนี้มีบทพิสูจน์มากมายจากประสบการณ์ที่เคยเป็นนายกสโมสรโรตารีท่าเรือกรุงเทพ 2001-2002, 2016-2017 เป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าพระหฤทัยคอนแวนต์ (2545-2548)  เป็นนายกสมาคมส่งเสริมอุตสาหกรรมรองเท้าไทย (2558-2559) และเป็นกรรมการสมาคมนักเรียนเก่าเนเธอร์แลนด์อย่างต่อเนื่อง

ในวัยที่เพื่อน ๆ เกษียณนี้ เพื่อน ๆ เริ่ม slow life แต่หมูยังคงทำงานอยู่  โดยเฉพาะช่วงที่เป็น International Business Development Director เพื่อนทุกคนที่ตามข่าวหมูจะสับสนมากกับการเดินทางไปทำงานต่างประเทศของหมูที่วันนี้อยู่อิตาลี อ้าวอีกสองวันไปอีกประเทศหนึ่งแล้ว อาทิตย์หน้าไปโผล่อีกประเทศหนึ่งจนแทบไม่มีเวลาอยู่เมืองไทยเลย เราแอบเหนื่อยแทน  คนอะไรไม่รู้เอาเรี่ยวแรงมาจากไหน   ปัจจุบันแม้จะเลิกทำงานประจำแล้วแต่หมูยังคง  มีจิตวิญญาณของการทำงานสร้างสรรค์ เป็น travel blogger ใน oknation.net ที่เขียนเรื่องการเดินทางและถ่ายรูปเอง โดยใช้นามแฝงว่า “เฟื่อง”  ทั้งยังทุ่มเทให้กับงานของส่วนรวม  มีจิตอาสาที่จะทำเพื่อเพื่อน เพื่อสังคม และเพื่องานอักษร 100 ปี เราเชื่อว่าเพื่อนอักษรรุ่น 39 ทุกคนล้วนภูมิใจในตัวหมู  Gigi กัลยา กล่อมวิทย์ หนึ่งในอักษรจรัสที่คู่ควรจารึกไว้ใน Hall of Fame ไปชั่วกาลนาน

 

กุลจิรพัส ธัชกุลอิศม์เดช

กุลจิรพัส ธัชกุลอิศม์เดช  อักษรจรัส อบ. 39

หรือ ชื่อเดิมสมัยเป็นนิสิตที่คณะอักษรฯ ว่า ลดาพร รวิรัฐ มีชือเล่นว่า แป้น แต่ไม่ใครรู้ว่าเธอชื่อแป้น  เพื่อนๆทุกคนเรียกเธอว่า โต และ โตกลายเป็นชื่อเล่นเป็นทางการของเธอ ที่ทุกคนเรียกเธอว่าโต เพราะเธอมีจมูกโตเป็นพิเศษ

โตเรียนเอกวิชาภาษาอังกฤษ เรียนโทวิชาภาษาฝรั่งเศส และ ประวัติศาสตร์ เธอไม่ใช่เด็กเรียน ไม่ใช่เด็กแต่งตัว ไม่ใช่คนที่โดดเด่นแต่โตเป็นคนสนุกสนาน ชอบเที่ยวเน้นทำกิจกรรม และเล่นกีฬาเป็นหลัก  หลังจากเรียนจบ โตทำงานเป็นนักวิชาการ ที่สำนักอธิการบดีจุฬาฯ ดูแลงานวิเทศสัมพันธ์ งานศึกษาต่อเนื่องของจุฬาฯ และเป็นนักวิจัย ที่ศูนย์รัฐวิสาหกิจ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ  ประมาณปีพ.ศ.2545 โตได้เข้าร่วมโครงการเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของรัฐบาล โดยได้เกษียณอายุราชการก่อนกำหนด และมาทำธุรกิจเครือข่าย ประสบความสำเร็จเป็นนักธุรกิจแอมเวย์ระดับเพชร ซึ่งความสำเร็จนี้เกิดจากการช่วยเหลือคนให้มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้มีความมั่นคงในอาชีพ เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศในชั้นธุรกิจปีละหลายครั้งจากธุรกิจนี้ ธุรกิจนี้เป็นมรดกที่ส่งต่อทางตำแหน่งไปสู่ลูกๆได้ เธอเป็นนักธุรกิจแอมเวย์ระดับเพชรคนเดียวที่มาจากอักษรฯ ซึ่งนักธุรกิจแอมเวย์ระดับเพชรส่วนใหญ่จะสำเร็จการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์  บัญชี ศึกษาศาสตร์  เธอประสบความสำเร็จในสาขาอาชีพที่ต่างจากเพื่อนอักษรฯ คนอื่นๆโดยสิ้นเชิง  เพื่อนๆอักษรฯส่วนใหญ่สำเร็จในอาชีพสายข้าราชการ เช่น รองปลัดกระทรวง, ผู้ว่าราชการจังหวัด, เอกอัครราชทูต ฯลฯ

โตเป็นคนหนึ่งที่ได้นำความรู้ทางด้านศาสตร์และศิลป์ ที่ได้จากจากคณะอักษรศาสตร์ ไปประยุกต์ใช้จนประสบความสำเร็จ ทั้งงานราชการและธุรกิจส่วนตัว ซึ่งสมกับคำที่ว่า "ไม่มีอะไรที่บัณฑิตอักษรศาสตร์ทำไม่ได้"

..ทั้งหลายทั้งปวงฉายภาพให้เราเห็นเด่นชัดถึงศักยภาพ  ทัศนคติเชิงบวก ความมุ่งมั่นศรัทธาในสิ่งที่ทำ  อุตสาหะ วิริยะอดทน ยึดมั่นในปรัชญาแห่ง คุณงามความดีอย่างมั่นคง

โตกุลจิรพัส "นักธุรกิจแอมเวย์ระดับเพชร" อาจจะส่องประกายแสงสีที่แตกต่างออกไป

แต่ก็โดดเด่นควรค่าแห่งความเป็นหนึ่งใน  "อักษรฯจรัส" ของชาวอักษรศาสตร์ รุ่น 39 ของเรา...

วรภา ชัยเลิศวณิชกุล

เธอคือไฟที่ไม่มีวันมอด...... 

ด้วยความที่เป็นคนมุ่งมั่น จริงจัง งานทุกอย่างที่อยู่ในความรับผิดชอบของเธอคนนี้ จึงล้วนผ่านการวางแผนมาเป็นอย่างดี และทำให้เธอมีศักยภาพในการทำงานหลาย ๆ อย่างได้พร้อม ๆ กัน .....   ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้  เปี่ยมไปด้วยไฟแรงกล้าที่ส่งพลังสร้างสรรค์ประโยชน์ ให้กับทั้งองค์กร  และประโยชน์ส่วนรวมเพื่อประเทศชาติได้อย่างมากมายมหาศาล   

เมื่อจบการศึกษาเธอสอบเข้ารับราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมได้เป็นที่ 1  และเลือกบรรจุที่สำนักงานก.พ.ที่ให้ประสบการณ์กับเธอมากมาย หลังทำงานได้ 2 ปี เธอก็สามารถสอบชิงทุนรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ไปศึกษาต่อและกลับมาพร้อมดีกรี   M.D.S (Master of Development Studies) Public  Policy and Administration , Institute of Social Studies  เธอทำงานอยู่ในสายพัฒนาทรัพยากรบุคคลมาโดยตลอด ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่สำนักงาน ก.พ.ในฐานะนักฝึกอบรมมืออาชีพ วิทยากร พิธีกรในงานสำคัญ   และยังได้ช่วยงานทางศาสนาด้วยการถวายความรู้แด่พระภิกษุในเรื่องต่าง ๆ เช่นเรื่องเทคนิคการ present  การทำสื่อการสอนให้วัดธรรมกาย  การทำชุดหลักสูตรพุทธบุตรพุทธธรรมให้วัดปัญญานันทาราม บรรยายเรื่องการเรียนรู้และเทคนิคการถ่ายทอดให้มูลนิธิพระอภิธรรม    เรื่องเทคนิคการประชุมให้พระสงฆ์ที่จะไปทำหน้าที่พระธรรมทูตในต่างประเทศ ฯลฯ ความสามารถของเธอขณะนั้นเป็นที่ยอมรับมาก

อ. วรภา ได้ชื่อว่ามีประกาศนียบัตร ด้านความรู้และความสามารถ ทั้งที่หน่วยงานส่งไปและสอบแข่งขันกับหน่วยงานอื่นมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศ  คือมีกว่า 20 ฉบับ  ในปี 2530 เธอสอบแข่งขันได้รับทุนของ ILO อบรม  Management of Training Institution, Turin, Italy  ปี2535เธอได้รับตำแหน่งผู้ช่วยที่ปรึกษาฝ่ายการศึกษาประจำกรุงแคนเบอร์ร่า ออสเตรเลีย  เมื่อครบเทอมก็ได้กลับมาทำงานที่กลุ่มช่วยอำนวยการหรือ Executive Staff  ต่อมาหลังประเทศเจอวิกฤติเศรษฐกิจ เธอได้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการโครงการ Administrative Renewal Project หรือราชการเพื่ออนาคต ซึ่งบทพิสูจน์แห่งเกียรติยศของเธอก็คือ  ....   รางวัล  เพชรจรัสแสงจากสำนักงาน ก.พ. ปี 2542 

เธอได้รับโปรดเกล้าฯ จากองค์สภานายิกาสภากาชาดไทยให้เป็นนายกเหล่ากาชาดอยู่ 2 จังหวัดตามสามีที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด  คือที่ราชบุรี 6 เดือน และที่สตูล18 เดือน  ที่นี่เธอได้ใช้ความไฟแรงของเธอสร้างสรรค์งานแบบทุ่มสุดตัวเกินร้อย ทั้งงานที่กำหนดให้ทำ และงานที่เธอคิดริเริ่มขึ้นเอง  โดยใช้จุดแข็งของการเป็นวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับ มาใช้ในการทำงานให้กับกาชาด

ผลงานกาชาดที่โดดเด่นไม่เหมือนที่ไหนๆ เพื่อคนไทยใต้และชาวไทยมุสลิม

  • หาวิธีรณรงค์และกลยุทธ์ ให้คนหันมาบริจาคโลหิตให้มากขึ้น  ภายใต้แคมเปญ  จะชักชวนให้ใครทำอะไร ตนเองต้องทำเป็นตัวอย่างก่อน  และยังสามารถสร้างแนวคิดใหม่และความเข้าใจที่ดีกับคนมุสลิม โดยให้ประธานคณะกรรมการกลางอิสลามจังหวัดสตูลมาเป็น presenter บริจาคโลหิตคู่กับผู้ว่าฯ ถ่ายรูปขึ้นป้ายประชาสัมพันธ์  รวมทั้งการไปออกรายการวิทยุที่ทำให้นักเรียนและชาวบ้านหันมาสนใจบริจาคโลหิตกันมากขึ้น
  • งานด้านการพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นแกนหลักจัดหาเรือพยาบาลฉุกเฉินและอุปกรณ์ช่วยชีวิตประจำเรือให้แก่ชาวบ้านตำบลเกาะสาหร่าย ที่อดีตมีผู้ป่วยที่ต้องเสียชีวิตเพราะไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลได้ทันเวลา หาจักรยานพ่วงข้างเพื่อใช้เดินทางขนของบนเกาะแก่ชาวบ้านเกาะสุไหงบูโซะ และยังส่งเสริมให้มีโอกาสได้เรียนหนังสือมากขึ้น รวมทั้งจัดหาคอมพิวเตอร์ให้แก่โรงเรียนบ้านเหนือคลอง 
  • การรณรงค์ป้องกันยาเสพติด ริเริ่มและบูรณาการงานทั้งจังหวัดโดยเหล่ากาชาดจังหวัดสตูลได้ร่วม กับอบจ. และสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จัดโครงการค่ายอบรมครอบครัวสตูล สร้างสายใยปกป้องลูกหลานให้ห่างไกลยาเสพติด
  • การสงเคราะห์ผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาส ได้สำรวจ ลงตรวจเยี่ยม และติดตามอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะความช่วยเหลือต่อเด็กที่พ่อแม่เสียชีวิตจากโรคเอดส์ ซึ่งแม้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วก็ยังให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเป็นการส่วนตัวเพื่อการศึกษาแก่เด็กที่มีปัญหา เลี้ยงอาหารพร้อมมีรางวัลให้แก่เด็กบ้านเอมิเรตส์ที่เรียนเก่งในแต่ละชั้นด้วย ในส่วนของเด็กเล็กได้ไปให้การอบรมเรื่อง “จิตวิทยาพัฒนาการเด็ก”ในการประชุมสัมมนาการเลี้ยงดูเด็กและพัฒนาการเด็กปฐมวัย แก่ผู้ดำเนินกิจการและผู้ดูแลสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน
  • พัฒนากลุ่มสตรีของจังหวัดสตูลให้เป็นปึกแผ่นโดยการออกเดินสายประชุมสัญจรไปยังอำเภอต่าง ๆ และเป็นผู้บรรยายเรื่องทิศทางแนวทางการพัฒนาสตรี จ.สตูลและชักชวนให้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครกาชาด เป็นวิทยากรโครงการสานฝันสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้ / วิชาบทบาทสตรีกับการพัฒนาครอบครัว / บทบาทของสตรีในสังคมปัจจุบัน และจัดกิจกรรมวันสตรีไทย เรือนจำจังหวัดสตูล  จัดบรรยายและการประชุมสมัชชาสตรี ในหัวข้อ  “สถานการณ์ปัญหาและความก้าวหน้าของประเทศไทยตามแผนปฎิญญาและแผนปฏิบัติการปักกิ่งเพื่อความก้าวหน้าของสตรี”

ชีวิตเกษียณปัจจุบัน เธอยังคงทำงานเป็นที่ปรึกษาอิสระด้านทรัพยากรบุคคลการบริหารและการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ให้แก่ราชการ วิสาหกิจ เอกชนและองค์กรต่างๆ   ดังนี้แล้ว.... สมญาเธอคือ ไฟที่ไม่มีวันมอด จึงควรคู่และควรค่าการเป็นดาวจรัสที่สุกสกาวอยู่บนฟากฟ้าได้นานแสนนาน   

วรภา ชัยเลิศวณิชกุล ...... อักษรจรัส  รุ่น 39        

วรรณิดา บุญประคอง

เธอคือ ...... ความเจิดจ้าของความสมบูรณ์แบบ

วรรณิดา  บุญประคอง

เธอมีความโดดเด่นตรงที่ " ผิวขาวผ่อง" และ บุคลิกที่งามสง่า เสมือนมีแสง " aura " อยู่รอบตัวเธอ เธอสามารถพูดภาษาฝรั่งเศสได้อย่างคล่องแคล่ว ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เมื่อเธอได้ปฏิบัติหน้าที่ด้าน งานวิเทศสัมพันธ์ ของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย  และด้วยศักยภาพที่เปล่งประกายในตัวเธอ เธอจึงได้ขึ้นถึงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการจังหวัด สมุทรปราการ ในปี 2554-2555    ผู้ว่าราชการจังหวัดหญิงเพียงหนึ่งเดียวของรุ่น 39

ผลงานที่ภาคภูมิใจ

  1. บริหารงานดูแลผู้อพยพโดยคำนึงถึงเรื่องความมั่นคงของชาติ และมาตรฐานการดูแลผู้อพยพตามหลักสากลให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ปี 2528-2542 โดยได้ร่วมเป็นคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมสหประชาชาติว่าด้วยผู้ลี้ภัย ณ นครเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 10ปี แก้ไขปัญหาผู้อพยพที่ผ่านประเทศไทยกว่า 5 ล้านคน ในด้านเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของชาติ  เช่นการหลบหนีออกไปทำงาน ประกอบอาชญากรรม หรือปัญหาการเกิดของเด็กผู้อพยพ  เหล่านี้ทำให้เกิดการยอมรับและการสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่อการลดภาระของรัฐบาลไทยปีหนึ่งๆมากกว่า 100 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ                 
  2. การแก้ไขปัญหายาเสพย์ติดของจังหวัดสมุทรปราการ :  ร่วมออกตรวจจับผู้ค้ายาร่วมกับ ปปส. ในพื้นที่ /  ออกตรวจเยี่ยมให้โอวาทแก่เยาวชนที่ติดยาที่เข้ารับการบำบัด ในทุกๆรุ่นทุกพื้นที่ของจังหวัด เพื่อมิให้กลับมาเสพย์อีก  /  ประชุมเร่งรัดการดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับจังหวัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม /   สนับสนุนโครงการ to be number one เป็นหนึ่งได้ได้โดยไม่พึ่งยาเสพย์ติด จนได้รับรางวัลที่สองในงานด้านการรณณรงค์ป้องกันยาเสพย์ติด 2 ครั้ง ขณะเธอดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัด
  3. งานด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม : แก้ไขปัญหาขยะ จากโรงงานอุตสาหกรรม 7,000 โรง สถานประกอบการ กว่า 10,000 แห่ง รวมทั้งสนามบินสุวรรณภูมิ โดยได้หารือกับภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในที่สุดได้เกิดโครงการกำจัดโดยนำขยะมามาแปรเป็นพลังงานไฟฟ้าเป็นผลสำเร็จ โดยมีบริษัท Eastern Energy Plus เข้ามาดำเนินการ ในพื้นที่ อำเภอเมือง สมุทรปราการ นับเป็นโครงการกำจัดขยะที่เป็นระบบทันสมัยครั้งแรกของจังหวัด สามารถลดปัญหาภาวะมลพิษในเขตจังหวัดได้ :   รณรงค์เพิ่มพื้นที่สีเขียว ในจังหวัด โดยความร่วมมือของภาคราชการและประชาชน โดยสั่งการและจัดสรรงบประมาณสนับสนุน / ละให้รางวัลแก่หมู่บ้านภูมิทัศน์สวยงาม / สนับสนุน และเข้าไปมีส่วนร่วมในการปลูกป่าชายเลนเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง โดยเฉพาะแนวชายทะเลที่ บางปู
  4. 4. การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว งานด้านวัฒนธรรม :  ที่อัมพวา  เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม  โดยร่วมจัดระเบียบการคมนาคม  การไม่ทำลายหิ่งห้อย  ให้อัมพวาอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นควบคู่กับการพัฒนาการท่องเที่ยว ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณท์เบญจรงค์เป็นสินค้า handmade โดยช่วยหาตลาด ออกสื่อให้เป็นที่รู้จักและ นำสื่อไปเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ / ตำบลบางน้ำผึ้ง สมุทรปราการ ได้ ร่วม Promote กิจกรรมต่างๆในสวนบางกระเจ้า ซึ่งเป็นปอดที่เหลือแห่งเดียวของคนกรุงเทพ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ส่งเสริมกิจกรรมตลาดน้ำ โดยผู้ว่าจะไปจัดกิจกรรมและตรวจเยี่ยมอยู่เสมอ
  5. 5. นายกเหล่ากาชาดของจังหวัดสมุทรปราการ : จัดหาทุนสนับสนุนกิจการของกาชาด  หาผู้บริจาคโลหิต ร่วมกับสมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัด มีกลยุทธ์ในการหาผู้บริจาคโลหิตเพิ่มเติม เช่นการเชิดชูเกียรติ การจัดงานรื่นเริงเป็นต้น / พบปะเยี่ยมประชาชนผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน รับฟังปัญหาและช่วย บรรเทาทุกข์อย่างเหมาะสม /  แนะนำแนวทางการรักษาสุขภาพอนามัยร่วมกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขเพื่อลดภาระการรักษา แจ้งเตือนเรื่องโรคระบาดต่างๆเป็นต้น
  6. 6. งานเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ :    สมุทรปราการเป็นจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของสนามบินสุวรรณ  ภูมิ  จึงเป็นความภาคภูมิใจที่เธอได้มีโอกาสรับและส่งเสด็จพระราชวงศ์ทุกพระองค์ทุกครั้ง เมื่อมีการเสด็จพระราชดำเนินผ่านทุกครั้งไม่เคยขาด เพื่อถวายพระเกียรติและประสานงานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ด้วยเรื่องราวแห่งภาระหน้าที่อันยังประโยชน์สู่แผ่นดินไทยของเธอผู้นี้ อักษรจรัส จึงควรค่ากับเธอ ผู้เจิดจรัสไปด้วยการอุทิศใจและกายให้กับประเทศชาติและปวงชนชาวไทย

 

 วรรณิดา บุญประคอง อักษรจรัส รุ่น 39

 

 

อรพิน อัศวนิก

เธอคือ.... น้ำเย็นที่หล่อเลี้ยงไฟ

อรพิน มีเพื่อนมาก และเป็นเพื่อนที่มีน้ำใจเป็นที่สุด ความที่เป็นคนคิดเร็ว พูดเร็ว ทำเร็ว และชอบช่วยเหลือ เพื่อน ๆ หล่อหลอมให้เธอกลายเป็นนักบริหารโดยไม่รู้ตัว ยิ่งเมื่อเธอได้สำเร็จปริญญาโท สาขาการจัดการ จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์  แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ยิ่งฉายชัดศักยภาพของความเป็นนัก บริหารจัดการออกมาได้อย่างโดดเด่น และทำให้เธอได้ไปถึงตำแหน่งบริหารระดับสูงของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ( ตำแหน่งสูงสุดคือผู้ว่าการนั้นต้องมาจากการสมัครคัดเลือกและแต่งตั้งเท่านั้น) ซึ่งเธอได้ครองตำแหน่งนี้ในหลากหลายฝ่าย อาทิ  รองผู้ว่าการ (แผนยุทธศาสตร์) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.)            /   รองผู้ว่าการ (แผนยุทธศาสตร์และการเงิน) กปภ. /  รองผู้ว่าการ (บริหาร)  กปภ. และยังพ่วงตำแหน่ง  ที่ปรึกษา กปภ.(ด้านการเสริมสร้างภาพลักษณ์องค์กรและการประชาสัมพันธ์) /  คณะทำงานจัดตั้งบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำ  ภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน)  และเป็น คณะทำงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ดร.ธวัช วิชัยดิษฐ์)

เธอคือความภาคภูมิใจของชาวอักษรศาสตร์

ข้อแรก สายงานหลักของ กปภ. ที่มักจะมีการแต่งตั้งพนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีคุณวุฒิโดยตรง ยังไม่เคยมีการแต่งตั้งพนักงานที่จบอักษรศาสตร์บัณฑิตมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในตำแหน่งระดับสูงเช่นรองผู้ว่าการ ซึ่งแม้จนกระทั่งปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มี.... เป็นที่รู้กันดีว่าพนักงานที่จะมีโอกาสไต่เต้าขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงโดยส่วนใหญ่แล้วจะจบการศึกษาทางสายช่างคือวิศวกรเนื่องจากเป็นสายวิชาชีพ  และเป็นสายงานหลักของ กปภ. เช่นสายงานแผนยุทธศาสตร์ วิศวกรรมและ IT เป็นต้น

ข้อสอง   เธอเป็นหญิงเดียวใน กปภ. ที่บริหารและบัญชาการเหล่าวิศวกร และ IT ที่กว่า 80% เป็นชายล้วน และต้องอยู่กับงานที่ชาวอักษรฯ ยากจะเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็น หอถังสูง ท่อประปา ถังน้ำใส สารส้ม คลอรีนฯลฯ ซึ่งต้องใช้ความ มานะ วิริยะ อุตสาหะ อย่างสูง รวมทั้งความอดทน และตั้งใจเรียนรู้ในสิ่งใหม่ ๆ อย่างยิ่งยวด

ข้อสาม  เธอคือผู้บริหารที่ได้หัวใจของเหล่าผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นที่รัก ที่วางใจและศรัทรา   ด้วยการวิเคราะห์และตัดสินใจ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เฉียบคม และน้ำใจที่กว้างใหญ่ไพศาล..... น้ำใจที่ไม่รู้ลืมของเธอต่อเหล่าพนักงานส่วนภูมิภาคที่ต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง คือการผลักดันในเรื่องของสวัสดิการและเบี้ยเลี้ยง ทั้งในเรื่องบ้านพักและวัสดุอุปกรณ์ในการทำงาน เนื่องเพราะเธอได้เคยทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่มากับพวกเขาเหล่านี้   

ข้อสี่    ทุกครั้งที่เธอได้ไปดูงานต่างประเทศ  เธอจะนำกลับมาถ่ายทอดโดยละเอียด สร้างแรงบันดาลใจ และตั้งเป้าที่จะปรับปรุง การประปาส่วนภูมิภาค ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี่ ระบบการทำงาน และสวัสดิการ  ให้ได้ทัดเทียมนานาประเทศที่มีชื่อเสียงในเรื่องการประปา ซึ่งการอบรมและสัมมนาของเธอมี อาทิ ด้าน Water Supply Management ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี      พ.ศ.2525 / ด้าน Water Supply Management เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น พ.ศ.2530 /     ระบบประปาประเทศโปแลนด์ และฟินแลนด์ พ.ศ.2532 /   โครงการเอกชนร่วมลงทุนระบบประปา ประเทศอังกฤษ และประเทศฝรั่งเศล พ.ศ.2537 /  โครงการเอกชนร่วมลงทุนระบบประปา เมืองเมลเบิร์นและเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย พ.ศ.2537 /  สัมมนาด้าน Public Private Partnerships in Water and  Wastewater Infrastructure กรุง วอชิงดัน ดี.ซี. และรัฐฟลอริด้า  ประเทศสหรัฐอเมริกา พ.ศ.2539 / โครงการเอกชนร่วมลงทุนระบบประปา บริษัท DBIHAYET สาธารณรัฐอุซเบกิสถาน พ.ศ.2541 /     สัมมนา World Water Forum ครั้งที่ 3 เมืองโตเกียว และโอซาก้า  ประเทศญี่ปุ่น พ.ศ.2546 / ระบบประปา บริษัท K-Water และสหภาพแรงงาน ประเทศเกาหลี พ.ศ.2553

พูดได้เต็มปากว่า อรพิน อัศวนิก คือหนึ่งเดียวที่เป็นศูนย์รวมใจ ให้ผู้รายรอบก่อเกิดพลัง ผลักดันงานอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชนชาวไทยและต่อประเทศชาติ และอย่างที่ไม่เหมือนใคร เธอจึงเป็นเสมือน น้ำเย็นที่หล่อเลี้ยงไฟ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ 

 อรพิน อัศวนิก  .... อักษรจรัส  รุ่น 39

อรพิม ตันตระกูล

อรพิม ตันตระกูล  

อดีตเธอคือ ดรัมเมเยอร์ไม้หนึ่งคนสวย

ของคณะอักษรศาสตร์   รุ่นที่ 39   ที่เจิดจรัสที่สุดคนหนึ่งในจุฬาฯและเธอก็เป็น "อ้อย อรพิม"  ที่น่ารักของเพื่อนๆทุกคน

ปัจจุบัน เธอคือ Orapim Bernart Tantrakul   เธอเป็นบุคคลหนึ่ง  ที่สมควรได้รับการกล่าวถึงอย่างยิ่งในอักษรจรัส  จากการที่เธอได้ศึกษาภาษาเยอรมันเป็นวิชาเอก  ดังนั้น เมื่อเธอเรียนจบจึงได้ไปศึกษาต่อในประเทศเยอรมนี  และเธอก็ได้ทำงานและใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น  งานของเธอคือ :

เป็นอาจารย์สอนภาษาไทยและไทยศึกษาแก่นักศึกษาชาวเยอรมันในแผนก  Southeast Asian Studies,   Goethe University Frankfurt และอาจารย์พิเศษสำหรับภาษาไทยที่คณะมานุษยวิทยา  Heidelburg University

เป็นล่ามและผู้แปลภาษาไทย-เยอรมันที่ได้รับการสาบานตนจากศาล    จากการประกอบอาชีพเป็นล่ามในศาล  และ หน่วยราชการเยอรมัน    ทำให้เธอได้รับทราบปัญหาชีวิต ที่หลากหลายของหญิงไทยที่ได้รับความลำบากเดือดร้อน จึงให้คำแนะนำและช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ในทุกๆด้าน เช่น กรณีที่มีปัญหา เรื่องการสื่อสาร ระหว่างมารดาของเด็กกับโรงเรียน,   ให้คำแนะนำ หรือพาคนไทยไปติดต่อ สถานที่ราชการต่างๆ  ตามความจำเป็นและปัญหาของแต่ละคน    ในกรณีที่ไม่ได้รับความยุติธรรมจากคนในครอบครัว หรือให้คำแนะนำในด้านการศึกษาต่อ  ช่องทางในการประกอบอาชีพเป็นต้น  

จากประสบการณ์ที่ได้รับทราบปัญหามากมาย ของหญิงไทยในต่างแดน       ดังนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2534  อ้อย อรพิม ได้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง  "สมาคมธารา"     ซึ่งเป็นกลุ่มของหญิงไทย ที่รวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือหญิงไทยและเด็ก ที่ได้รับความเดือดร้อน หรือ ประสบปัญหาต่างๆ     และในเวลาต่อมาอีกหลายปี   สมาคมนี้จึงได้รับการจดทะเบียน อย่างถูกต้องตามกฎหมาย   อ้อย ได้ทำงานด้านสังคม สงเคราะห์อย่างเงียบๆ หลายสิบปี โดยไม่เคยคาดหวังที่จะได้รับผลตอบแทนใดๆ       

ณ กรุงเบอร์ลิน วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2557 เธอได้รับพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์   ในฐานะชาวไทยในต่างประเทศที่กระทำความดีความชอบ   เป็นประโยชน์แก่ประเทศ ชาติ ศาสนา และ ประชาชน

ในมุมส่วนตัว   อ้อย อรพิม    เป็นพุทธศาสนิกชนที่น่าชื่นชม  ถึงแม้ว่าเธอจะอยู่ต่างแดน     แต่อ้อย ก็ความสนใจใฝ่หาความรู้ทางด้านศาสนา   เพื่อเป็นการปฏิบัติบูชา   ในพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง  เพราะทราบว่า  ทุกๆวัน   อ้อยจะรีบเปิดอ่าน สาระธรรมที่เพื่อนส่งไปให้ก่อนสิ่งอื่นใดในชีวิตประจำวันของเธอ 

Orapim Bernart Tantrakul  จึงเป็นแบบฉบับที่น่ายกย่องอย่างแท้จริง  ของอักษรศาสตร์บัณฑิต ผู้อุทิศตนทั้งชีวิตช่วยเหลือประชาชนชาวไทยผู้ประสบความทุกข์ยากในต่างแดน  ขณะเดียวกันเธอก็ได้เผยแพร่ความรู้ทางภาษา และ วัฒนธรรมไทย   เพื่อนชาว อักษรฯ รุ่น 39  จึงขอยกย่องให้  อรพิม ตันตระกูล  เป็นอักษรจรัส  ที่ส่องแสงประกาย สุกใส  สว่าง งดงาม ด้วยความมีเมตตา   และ ความปรารถนาดี       จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ     ไปสู่ชนชาวไทยใน ประเทศเยอรมนี  

ขอแสดงความชื่นชมอย่างจริงใจ แด่  อ้อย อรพิม    อยากจะบอกเธอแทนเพื่อนทุกคนว่า... "รักและคิดถึงอ้อยเสมอ"

 # เขียนบรรยายโดย สุภาพร ชูแสง (สุภาพร วงศ์ใหญ่)  อักษรศาสตร์บัณฑิต รุ่นที่ 39

 # ข้อมูลโดย อรพิม ตันตระกูล

     

เธียรทิพย์ ไชยชิต (ฉัตรแก้ว)

เธียรทิพย์ ไชยชิต (ฉัตรแก้ว) หรือ แนช อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานตลาดและพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด อักษรจรัสดวงหนึ่งของรุ่น 39

ภายหลังจบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ วิชาเอกภาษาฝรั่งเศส แนชได้ใช้ความรู้ทางด้านภาษาฝรั่งเศส สอบชิงทุน กพ.ไปศึกษาต่อด้านบริหารการไปรษณีย์ที่โรงเรียนการไปรษณีย์และโทรคมนาคมแห่งชาติ (Ecole Nationale Supérieure des Postes et Télécommunications  - ENSPTT)  กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส  โดยได้เข้าศึกษาที่สถาบันรัฐประศาสนศาสตร์นานาชาติ (Institut International d' Administration Publique - IIAP) กรุงปารีส ก่อนด้วย

เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนการไปรษณีย์และโทรคมนาคมของประเทศฝรั่งเศสแล้ว แนชได้ทำงานที่กองสื่อสารระหว่างประเทศ การสื่อสารแห่งประเทศไทย ใช้ความรู้ด้านบริหารการไปรษณีย์ในการจัดการระบบงานไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ต่อมาการสื่อสารแห่งประเทศไทยได้แปลงสภาพและแยกออกเป็นบริษัท กสท. โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)(CAT Telecom Public Co., Ltd) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (Thailand Post Co., Ltd) แนชก็ได้ทำงานที่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด รับผิดชอบด้านการวางแผนและพัฒนาบริการไปรษณีย์

ด้วยความเชี่ยวชาญในด้านกิจการไปรษณีย์ ประกอบกับความรู้ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส แนชได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมในคณะผู้แทนของการไปรษณีย์ไทยในการประชุมระหว่างประเทศอยู่เสมอ ทั้งระดับภูมิภาค (ASEAN  / Asia Pacific) จนถึงระดับสหภาพสากลไปรษณีย์ (Universal Postal Union)

แนชก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานตลาดและพัฒนาธุรกิจ กำกับดูแลงานด้านตลาดสื่อสาร ขนส่ง การเงิน และสินค้าไปรษณีย์ รวมทั้งตราไปรษณียากร โดยดำรงตำแหน่งนี้จนเกษียณอายุในปี 2556  จัดเป็นผู้บริหารหญิงแถวหน้าที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชา ทั้งยังเป็นที่รักใคร่ชื่นชมของผู้ใต้บังคับบัญชา

ท้ายที่สุด ความสามารถของแนชที่ไม่อาจละเว้นที่จะกล่าวถึง คือพรสวรรค์และใจรักด้านนาฏศิลป์ไทย ย้อนหลังไปในสมัยเรียนที่โรงเรียนสตรีวิทยาและคณะอักษรศาสตร์ แนชได้รับคัดเลือกให้แสดงความสามารถด้านศิลปะการรำไทยทั้งทางโทรทัศน์และบนเวทีในงานต่าง ๆ อยู่เป็นเนืองนิจ โดยเฉพาะการรำเป็นตัวพระ ด้วยรูปร่างที่สูงโปร่ง แนชมีท่วงท่าที่สง่างาม สร้างความประทับใจและเป็นที่จดจำของผู้ที่ได้ชมการแสดงมาจนทุกวันนี้

โสภาพรรณ รัตนัย

เธอคือ .....ภาพลักษณ์ของอักษรศาสตร์บัณฑิต

โสภาพรรณ รัตนัย

คาดคิดของบุคคลภายนอกที่มีต่อสาวอักษร แน่นอนว่าต้องเป็นคนที่โดดเด่น เชี่ยวชาญในงานเขียนบทความ นวนิยาย งานแปลหนังสือของต่างประเทศมาเป็นภาษาไทย ดังนั้นในบรรดาบัณฑิตอักษรศาสตร์รุ่น 39 ที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดในเรื่องนี้ไม่มีใครเกิน โสภาพรรณ รัตนัย  เพื่อนเราคนนี้ อย่างไม่มีข้อกังขาโดยมี รางวัลเกียรติยศ  (Lifetime Achievement ) / รางวัลนักแปลดีเด่น “รางวัลสุรินทราชา” จากสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยเป็นบทพิสูจน์ แถมด้วยรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น  จากสมาคมศิษย์เก่าราชินี

เธอเป็นเด็กมัธยมที่ราชินีบน นักเรียนแลกเปลี่ยนทุน AFS สหรัฐอเมริกา Lincoln Northeast High School, Nebraska , U.S.A.(1970)ก่อนจะมาเป็นอักษรรุ่น 39

เธอเริ่มทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด แล้วย้ายไปบริษัทปูนซิเมนต์ไทย(มหาชน) จำกัด ในตำแหน่งเลขานุการผู้จัดการใหญ่ ,หัวหน้างานอบรมงานด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมแห่งละ 4 ปี จนปีพ.ศ..2545 และหลังค้นพบตัวตนของตนเองก็ Early Retire เพื่อประกอบอาชีพอิสระ(แปล/ล่าม/วิทยากร)

ประสบการณ์ด้านงานแปล:

พ.ศ.  2518-2543  - แปลบทความต่างประเทศลงในนิตยสาร แพรว ลลนา ดิฉัน  Esquire  Star&Style  (เคยเป็นคอลัมน์นิสต์ประจำในนิตยสาร, นะดี,  เปรียว, แม่และเด็ก, นะคะ, ผู้หญิง)

พ.ศ.  2518-2552 -เป็นนักเขียน-นักแปลอิสระ-นักฝึกอบรม -ล่าม                                   

พ.ศ.2552 ถึงปัจจุบัน-คอลัมนิสต์ประจำนิตยสารแม่และเด็ก,นักแปลประจำนิตยสาร Slimming, Mother & Baby      และ ผลงานแปล/เขียนรวมเล่มหนังสือรายชื่อตามแนบ)

พ.ศ.2550-2553-นักฝึกอบรม-หลักสูตรต่างๆของสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย

นามปากกา: โสภาพรรณ, ธาวิตา, รัตนัย, โสรัต, ธนาธิป

นามปากกาที่ใช้กับนวนิยาย: ธณิกานต์, “ภาวิตา , ภาพรรณ”, พรรณิตา, พรรณโสภา

นามปากกาโรมานซ์ :  บลูเบอรี, ภาวิณี, น้ำฝน, มาลาตี, ทิชา, มัณตา, นลินี, สิตางค์,  โนริ, มาริลิน นามปากกาเรื่องสืบสวน/แอคชั่น  :  ธนาธิป , นรุตฆ์ ,”โสภี,พรรณรัต, พรรณราย

 

เธอมีความสามารถทำงานได้ทุกประเภท  ไม่ว่าจะเป็น วิชาการ/ บันเทิง/ สืบสวน/ นวนิยาย2 how to/ และมีความสนใจพิเศษในการเขียนเรื่องสุขภาพและ lifestyle  น่าทึ่งว่า ผลงานทั้งหมดของเธอมีมากกว่า 150 ชิ้น อาทิ   

  • งานแปล/เขียนรวมเล่ม POCKET BOOK  พศ.  2527 - 2559:หนังสือแนวแม่และเด็ก  เตรียมตัวเป็นแม่ และขวบปีแรกแห่งชีวิต (รวมบทความที่เขียนลงแม่และเด็ก) พิมพ์ 11 ครั้ง-สำนักพิมพ์ข้าวฟ่าง /  เขียนคอลัมน์ประจำในนิตยสาร Mother&Baby ชื่อคอลัมน์ “หัวใจของวัยเด็ก”   ขอเป็นแค่พ่อแม่เต็มเวลา-สำนักพิมพ์ซีเอ็ดยูเคชั่น  / how to  / คอลัมน์บันเทิงประจำในนิตยสารผู้หญิง ชื่อคอลัมน์ Profile
  • หนังสือวรรณกรรมเยาวชน/นิทาน 16 เรื่องอาทิ ความลับของเอลวิส (วรรณกรรมเด็ก แปล)-สำนักพิมพ์ธรรมชาติ /  Redwall เล่ม 1 /  วรรณกรรมเด็ก-สำนักพิมพ์เพิร์ล /ต้นไม้  Fluke หมาก็มีหัวใจ (แปล)-สำนักพิมพ์น้ำฝน  การ์ตูนชุด Power Puff Girl รวม 7 เล่ม –สำนักพิมพ์อักษรเจริญทัศน์ / ซัมเมอร์แลนด์ Summerland(วรรณกรรมเยาวชน)สำนักพิมพ์ Bear Publishing /   ตู้อิสรภาพของกาบี-สำนักพิมพ์ Godgiving /  ปริศนาตำรามหาเวทย์ เล่ม 1 The Nobody, -สำนักพิมพ์มังกรยิ้ม
  • งานแปล หนังสือแนว How To 22 เรื่อง เช่น ทำนายรักจากดวงดาว/ เรียนรู้ใจผู้ชาย /   โสดอย่างมีสไตล์ /  สร้างเงินล้านจากธุรกิจเล็ก) พิมพ์ 3 ครั้ง-สำนักพิมพ์ข้าวฟ่าง / ฉันรู้ ฉันทำ ฉันจำ  / . ทดสอบรักทำนายใจ(รวมบทความที่เขียนลงนิตยสารเปรียว) / เปิดตำราหารักแท้)สำนักพิมพ์ซีเอ็ดยูเคชั่น  / กฎของความสำเร็จ(Law of Success) 4 เล่ม/ชุด เดล คาร์เนกี-สำนักพิมพ์บุ๊คแบงก์ /  เรื่องวุ่นวายของสาววัยใสกับหัวใจที่เปลี่ยนแปลง-สำนักพิมพ์แสงดาว

 

นี่คือเบื้องลึกที่เจาะถึงผลงานหลากหลายและมากมายของเธอ หากปรารถนาที่จะให้ครบคงแทบไม่ต้องทำอย่างอื่นเพราะคงต้องใช้เวลาเป็นปี ๆ   มีหลายเรื่องที่เราติดใจได้อ่านโดยไม่รู้ว่าเป็นผลงานของเธอคนนี้   เช่นนี้แล้วคงไม่มีใครปฎิเสธความเป็นอักษรจรัสของเธอ      โสภาพรรณ  รัตนัย หนึ่งในความภาคภูมิใจของอักษรศาสตร์รุ่น 39 ทุกคน

 โสภาพรรณ  รัตนัย .... ดาวจรัสอักษรศาสตร์ รุ่น 39

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University