อักษรจรัส รุ่น 42

ผศ.ดร.พิมพ์รำไพ เปรมสมิทธ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์รำไพ เปรมสมิทธ์ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำงานบริหารทั้งระดับคณะ และ มหาวิทยาลัย โดยดำรงตำแหน่งทางการบริหาร ระดับคณะ ดังนี้ รองคณบดีฝ่ายจัดการศึกษา (2539 – 2541) รองคณบดีฝ่ายวิชาการ (2541 – 2543) รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา(ต.ค. 2543-ก.ย. 2547) หัวหน้าภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ (ต.ค. 2547-ก.พ. 2548) ในระดับมหาวิทยาลัย ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานวิทยทรัพยากร (เดิมคือ สถาบันวิทยบริการ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2548 ถึง 2558


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์รำไพปฏิบัติหน้าที่ทั้งงานด้านบริหารและงานด้านการเรียนการสอน รวมถึงเป็นผู้นำการจัดกิจกรรมที่อำนวยประโยชน์แก่วงการห้องสมุดมากมาย อาทิ การจัดโครงการพัฒนา ห้องสมุด 3 ดีอย่างต่อเนื่อง การจัดทำคลังปัญญา จุฬาฯ (CUIR) ซึ่งให้บริการสารสนเทศในรูปแบบดิจิทัลแห่งแรกของประเทศไทย การจัดกิจกรรมเสียงธรรมแก่ผู้พิการทางสายตา และกิจกรรมมอบด้วยใจ ให้ด้วยรักแก่ผู้ด้อยโอกาส สำหรับงานด้านวิชาการและการเรียนการสอน อาจารย์ได้สร้างสรรค์ผลงานวิจัย ผลงานวิชาการ รวมถึงเป็นวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ตลอดจนพัฒนาหลักสูตรทั้งในระดับปริญญาบัณฑิต และระดับบัณฑิตศึกษา ทางด้านบรรณารักษศาสตร์ และ สารนิเทศศาสตร์/ สารสนเทศศาสตร์/สารนิเทศศึกษา แก่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ อีกด้วย


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์รำไพ เปรมสมิทธ์ ได้รับคัดเลือกจากสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ ให้เป็น "บุคคลดีเด่นในวิชาชีพบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ประจำปี 2557”

มลฤดี เกตุพันธ์

ปัจจุบัน มนดิ หรือ มนฤดี เกตุพันธุ์ เกษียณอายุเมื่อ 30 กันยายน 2560 ตำแหน่งสุดท้ายคือ
รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานมาตรฐานท่าอากาศยานและการบิน)
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

มนฤดี เกตุพันธุ์ ได้ปฏิบัติงานด้านกิจการการบินมาตลอด 38 ปีหลังจากจบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ โดยเริ่มการทำงานที่กรมการบินพลเรือน กองทัพอากาศเมื่อ พ.ศ.2521 ต่อมาหน่วยงานได้เปลี่ยนเป็นการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) รัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงคมนาคม และเมื่อ 30 ก.ย.45 ทอท.ได้แปลงสภาพเป็นบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จนถึงปัจจุบัน

มนฤดี มีประสบการณ์ในการทำงานที่เกี่ยวกับกิจการการบินในเกือบทุกด้าน เช่น การรักษาความปลอดภัยท่าอากาศยาน, การประชาสัมพันธ์, การบริหารการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ, การบริหารธุรกิจ, การตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย ท่าอากาศยานและอาชีวอนามัย, กิจการต่างประเทศในลักษณะของการทำข้อตกลง Sister Airport กับท่าอากาศยาน
ชั้นนำ เช่น มิวนิค, อินชอน, ปักกิ่ง, นาริตะ และคันไซ เป็นต้น

ชื่อเสียงของมนดิขจรขจาย เมื่อวันที่ 29 ส.ค.34 มนดิได้ทำหน้าที่เจรจาต่อรองกรณีการจี้ตัวประกันที่ท่าอากาศยานกรุงเทพ
(ท่าอากาศยานดอนเมืองในปัจจุบัน) ซึ่งสามารถเจรจาต่อรองจนสำเร็จและรักษาชีวิตของตัวประกันไว้ได้โดยไม่ได้รับอันตรายใดๆ

เมื่อได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต (ระดับ 11) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มนดิได้แสดงฝีมือเร่งรัดการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่จนแล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมที่เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบได้ในเดือนกันยายน 2559

มนฤดี สำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี 2521 และบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้ผ่านการศึกษาจาก วิทยาลัยการทัพอากาศ รุ่นที่ 41 นอกจากนั้นยังได้รับ Diploma จากหลักสูตร Airport Management Professional Accreditation Program (AMPAP) ซึ่งเป็นหลักสูตร ความร่วมมือระหว่าง International Civil Aviation Organization (ICAO) และ Airport Council International (ACI)

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University