อักษรจรัส รุ่น 53

นวลศิริ ไวทยานุวัตติ

นวลศิริ ไวทยานุวัตติ สาวอักษร นางฟ้าหัวใจทองคำ
นวลศิริ ไวทยานุวัตติ หรือ แนท ของเพื่อนๆ เป็นสาวมั่น บุคลิกดี และที่สำคัญคือจิตใจ และหัวใจของเธอที่ชอบช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ คนตกทุกข์ได้ยาก...โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนชรา คนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้....”แนท” คือ นางฟ้า.. แนทไม่รั้งรอที่จะช่วยเหลือ และนี่คือเรื่องราวความรู้สึกของ “นวลศิริ” ทีถ่ายทอดเป็นตัวอักษรให้พวกเราได้สัมผัส
ความช่วยเหลือต่างๆ ที่ให้กับคนชราไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าจะต้องมีลักษณะอย่างไร เพราะเวลาเห็นคนชราที่ต้องตรากตรำทำงาน หรือดูเหมือนหลงทางก็จะเดินเข้าไปถามว่ามีอะไรให้ช่วยหรือเปล่า หรือถ้าเห็นขายขนม ผลไม้ อยู่ก็จะเหมา ไม่ก็ให้เงินเกินจำนวนของมากๆ เพื่อที่จะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในเดือนนั้นๆ ของคุณตาคุณยาย เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เรียนมัธยม ถ้าเงินตัวเองไม่พอ ก็จะมาขอเรี่ยไรเพื่อนที่คณะ เป็นอย่างนี้หลายครั้งอยู่เหมือนกัน (เพื่อนอาจจำไม่ได้)
บางกรณีอาจจะเห็นจากข่าว หรือข้อมูลทางนิตยสารก็จะสืบหาว่าคนชราที่ลำบากแต่ละคนนั้นอาศัยอยู่ที่ไหน ก็จะออกไปตามหา แต่ถ้าอยู่ต่างจังหวัดไกลๆ ก็จะให้จ่าจินต์ (จากรายการคนค้นคน ซึ่งสนิทกัน) ช่วยเดินทางเอาข้าวของ และเงินไปให้ ถ้าเป็นไปได้ก็จะช่วยอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะมั่นใจว่าคนชรานั้นๆ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็จะประสานให้ทางการดูแลต่อ บางรายถ้าไม่มีห้องน้ำใช้ หรือบ้านผุพัง ก็จะขอให้จ่าจินต์ช่วยติดต่อคนงาน หรือช่างแถวๆ นั้นให้ช่วยซ่อมบ้าน หรือสร้างห้องน้ำให้
มีคุณยายอยู่รายหนึ่งที่เป็นมะเร็งที่เต้านม ลูกติดคุก และต้องเลี้ยงหลานตามลำพัง คุณยายเอาที่ดินไปจำนองเพื่อรักษามะเร็ง และมีความทุกข์ใจเป็นอย่างมาก ไม่มีรายรับใดๆ นอกจากเก็บผักแถวๆ บ้านไปขายคนข้างบ้าน คุณยายกลัวว่าถ้าตายไปก่อนที่ลูกจะออกมาจากคุก หลานจะต้องลำบาก ไม่มีที่อยู่อาศัย และลูกจะไม่มีที่อยู่เมื่อออกมาจากคุก ตอนนั้นได้ยินเรื่องนี้จากจ่าจินต์ ก็ตัดสินใจปลดหนี้ที่คุณยายไปจำนองออกมาทั้งหมด จากวันนั้นถึงวันนี้คุณยายอาการดีขึ้นมาก ทั้งร่างกาย และจิตใจ ตอนที่ตัดสินใจช่วยก็เพราะเชื่อจริงๆ ว่าจะสามารถช่วยชีวิตคนได้ถึง 3 คนในเวลาเดียวกัน และไม่ได้คิดเสียดายเงิน เพราะตัวเองมีรายได้ประจำ

การช่วยเหลือที่ผ่านมา จะช่วยตามกำลัง แต่เป็นกำลังที่ใช้ความใส่ใจด้วย ไม่ใช่ให้แต่ปัจจัยเท่านั้น คุณยายคนหนึ่งตาบอด อาศัยอยู่ในบ้านสังกะสีคนเดียว และบ้านยายก็ทรุดโทรมมาก ทำให้หลายๆ ครั้งสังกะสีบาดมือ สิ่งที่ช่วยเหลือก็จะเป็นการสร้างห้องน้ำ และปรับภูมิทัศน์รอบๆ บ้านให้ปลอดภัยสำหรับคนตาบอด รวมทั้งซื้อข้าวของเครื่องใช้ที่คุณยายบอกว่าต้องการมาตลอดชีวิต แต่ไม่เคยมี

กรณีของคุณยายยิ้ม คุณยายอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ลำบากสำหรับคนชรา เช่น หลังคาบ้านไม่กันฝน ฝาบ้านมีไม่ครบ และบันไดก็ชัน เป็นอันตรายในการเดินขึ้นลง คุณยายยิ้มใช้ชีวิตเป็นตัวอย่าง เป็นแรงบันดาลใจ และเป็นกำลังใจให้กับหลายๆ คนในการทำความดี การใช้ชีวิตที่พอเพียง และการใช้ชีวิตที่เคารพธรรมชาติ คนอย่างนี้ แม้ว่าจะใช้ชีวิตที่ไม่ได้ต้องการอะไรมาก เราก็สามารถให้ความช่วยเหลือด้วยการทำที่อยู่อาศัยให้สะดวกสบายขึ้นได้ สิ่งที่ได้ทำให้คุณยายคือการทำบันไดบ้านที่แข็งแรงให้ยาย ซ่อมบ้าน ติดตั้งหลังคา ฝาบ้าน สร้างครัวเพื่อไม่ให้หนูเข้ามากัดกินอาหาร สร้างห้องน้ำให้ยาย เพราะในขณะที่ยายได้บ้านที่แข็งแรงขึ้น คนที่เดินทางขึ้นไปเยี่ยมยาย ก็สามารถใช้ห้องครัวนั้นเป็นที่นอน และใช้ห้องน้ำได้อย่างสะดวก ทำให้พวกเขาสามารถทำกิจกรรม ทำความดีต่างๆ กับยายได้โดยไม่ต้องลำบากนัก

อยากจะบอกว่าเราไม่ได้มีเงินเยอะนะด๊ะห์ แต่เรามีแต่เจตนาที่ดี และเชื่อมาตั้งแต่เป็นเด็ก ได้แค่ค่าขนม จนบัดนี้มีงานมีเงินเดือนใช้จ่ายได้พอประมาณว่า เรากลับบ้านมาเรามีครอบครัวที่อบอุ่น มีข้าวปลาอาหารให้กินอย่างที่เราอยากจะกิน เราให้เขาไปมากๆ เรากลับบ้านมาเรายังมีกิน มีใช้ แต่การเดินผ่านคนที่ลำบากไปโดยที่ไม่ช่วยเขา มันน่าเศร้ากว่าที่จะให้เราเทเงินออกจากกระเป๋าสตางค์ให้พวกเขาจนหมด แล้วกลับมาบ้านกับความรู้สึกแห้งแล้งในหัวใจ

รศ.ดร.ถนอมพร เลาหจรัสแสง

รศ.ดร.ถนอมพร เลาหจรัสแสง สาวอักษร หัวใจไอที

ใครจะเชื่อว่าสาวอักษรที่สนุกสนานกับการขีดๆเขียน ร่ำเรียนวรรณกรรม นวนิยาย กันชนิดนับจำนวนเล่มที่อ่านไม่หวาดไม่ไหว จะมีหัวใจเผื่อแผ่ให้กับศาสตร์อย่าง เทคโนโลยีสารสนเทศ...หรือ IT และหนึ่งในกูรูด้าน E-Learning ที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงจากคนในวงการสารสนเทศ คือสาวอักษรศาสตรบัณฑิตรุ่น ๕๓ ของเรา รศ.ดร.ถนอมพร เลาหจรัสแสง หรือ “โต๋” ของเพื่อนๆ
รศ. ดร.ถนอมพร เลาหจรัสแสง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และรองศาสตราจารย์ ภาควิชาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีภารกิจหลักคือดูแล และพัฒนาไอทีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้วยังเป็นผู้กำกับดูแล E- Learning ของมหาวิทยาลัย รวมทั้งได้รับทุนวิจัยจากหน่วยงานต่างๆทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ
ผลงานของ รศ.ดร.ถนอมพร เลาหจรัสแสง เป็นที่ประจักษ์ทั้งในระดับประเทศ และในระดับนานาชาติ โดยมีหลากหลายรางวัลเป็นเครื่องรับประกัน ได้แก่ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐดีเด่น สาขานวัตกรรมทางไอที พ.ศ. ๒๕๔๕ รางวัล ASEAN e- learning Network (AEN) Award ณ ประเทศสิงคโปร์ พ.ศ. ๒๕๔๗ และได้รับคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทยส่งผลงานเข้าประกวด WSA Grand Jury 2007 ประเภท E-content ณ ประเทศออสเตรีย
รวมถึงรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประเภทคิดค้น และรางวัลประกาศเกียรติคุณประจำปี ๒๕๓๓ จากผลงานการพัฒนา Game-based e-Learning ต้นแบบสำหรับการศึกษาระดับอุดมศึกษา จาก สกว. รางวัล Best Practice การจัดระบบ e-learning ในระดับอุดมศึกษา จาก สกอ. ปี ๒๕๕๔ และล่าสุดคือรางวัล Thailand Excellence Award 2015 อันดับ ๒ (Core Process Improvement Project) จากผลงาน CMU HRIS

ศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์

ศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์...ศาสตราจารย์คนแรกของรุ่น
ยอดนักประชาสัมพันธ์

ศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ เมื่อเอ่ยชื่อนี้ในวงการนักประชาสัมพันธ์ นักสื่อสารมวลชน ต้องบอกว่าไม่มีใครไม่รู้จัก “ดร. โฉ” ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปัจจุบันยังดำรงตำแหน่ง กรรมการบริหาร บริษัท MCOT จำกัด (มหาชน) และกรรมการ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และ นายกสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย
ศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ ถือว่าเป็นคนแรกของรุ่นที่ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ และเป็นศาสตราจารย์ที่ถือว่าอายุน้อยมากๆ นอกจากผลงานและประสบการณ์การทำงานแล้ว ยังมีหลากหลายรางวัลทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติที่เป็นเครื่องรับประกันถึงคุณภาพในฐานะนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน และนักสื่อสารมวลชนมืออาชีพ ได้แก่ รางวัลกิตติคุณสัมพันธ์สังข์เงิน นักวิชาการประชาสัมพันธ์ดีเด่นจากสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย รางวัล เปรียว อวอร์ด จากนิตยสารเปรียว รางวัลนักวิชาการด้านประชาสัมพันธ์อาเซียน จาก ASEAN PR Network และรางวัลดารา อวอร์ด จาก เสถียรธรรมสถาน

สุกัญญา เอื้อชูชัย

สาวอักษรผู้ผสานศาสตร์และธุรกิจเข้าด้วยกัน...กับความภาคภูมิใจในชีวิต “เครื่องราชอิสริยาภรณ์จากประธานาธิบดีฝรั่งเศส”

ในความเป็นอักษรศาสตร์หลายคนอาจจะมองว่า เด็กอักษรศาสตร์ถ้าจะเก่งก็เก่งแต่เรื่องภาษา แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่อักษรศาสตร์สอนเรา นอกจากภาษาแล้ว ยังสอนให้เราเป็นนักคิด นักอ่าน เป็นผู้ที่ใฝ่รู้ พร้อมที่จะแสวงหาความรู้แปลกๆใหม่ๆ ไม่เคยหยุดนิ่ง เหล่านี้คือคุณสมบัติของความเป็นอักษรศาสตร์... สุกัญญา เอื้อชูชัย สมัยเรียนหนังสือก็เป็นผู้ที่ได้รับความชื่นชม ยกย่อง ในเรื่องความเก่งกาจ และได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส คะแนนเฉลี่ย 3.89 แต่ถ้านับเฉพาะภาษาฝรั่งเศสที่เป็นวิชาเอก...”สุกัญญา” ได้ 4 ทุกวิชา
เมื่อจบก็ได้ทุนรัฐบาลฝรั่งเศสไปศึกษาต่อที่ Sorbonne กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หากแต่ความน่าชื่นชมที่ควรค่าแก่การเป็น “อักษรจรัส” มิได้อยู่ที่การเป็นอักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง หรือการได้ทุนรัฐบาลไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศสเท่านั้น หากทว่า “สุกัญญา” ได้ใช้ความรู้ ความสามารถและความใฝ่รู้อันเป็นอุปนิสัยของเด็กอักษรศาสตร์เมื่อร่วมทำงานกับหอการค้าฝรั่งเศส – ไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานส่งเสริมให้เกิดการค้า การลงทุนระหว่างสองประเทศ ต้องผสมผสานศาสตร์ทั้งในแง่ของการสร้างความสัมพันธ์ การสร้างเครือข่าย การมองลู่ทางและโอกาสทางการตลาด รวมถึงการก่อให้เกิดความเป็นไปได้ในการเข้าไปลงทุน หรือส่งเสริมให้เกิดการลงทุนระหว่างกัน.... หลายต่อหลายครั้งที่ “สุกัญญา” ได้นำผู้บริหารภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชนเข้าไปศึกษาดูงาน และลู่ทางการค้าการลงทุน เช่น งาน Maison d’objet ที่ประเทศฝรั่งเศส ...ซึ่งด้วยความพยายามอย่างหนัก ทำให้งาน Maison and Objet Paris เป็นงานที่นักธุรกิจหรือผู้ประกอบการไลฟ์สไตล์ไทยปรารถนาที่จะมีผลงานของตนไปร่วมงานแสดงสินค้านี้
นอกจากนี้ “สุกัญญา” ยังเป็นหนึ่งในคนที่ริเริ่มงาน Bonjour French Fair ที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง และมีการจัดต่อเนื่องกันมาหลายปีต่อกัน และมีผู้สนใจเข้าร่วมงานมากขึ้นในแต่ละปี ซึ่งทุกอย่างเหล่านี้เกิดขึ้นด้วยความทุ่มเทมาตลอดระยะเวลาร่วมยี่สิบปีของ “สุกัญญา” ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสโดยประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น Chevalier de l’ordre national du mérite แก่ “สุกัญญา” ซึ่งมีอายุเพียงแค่ 38 ปีในเวลานั้น ....ถือเป็นคนไทยอายุน้อยที่สุดที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากประเทศฝรั่งเศส

อินทิรา ใจอ่อนน้อม

อินทิรา ใจอ่อนน้อม
รู้แจ้งประวัติศาสตร์ไทย ผสานสองแผ่นดินไว้ด้วยกัน

ช่วงเวลานี้ เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว มีหนังสือเล่มหนึ่งถือกำเนิดขึ้น
เพื่อเฉลิมฉลองในวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี
นอกจากผู้เรียบเรียงชาวเดนมาร์กที่ได้รับมอบหมายจาก
สมเด็จพระบรมราชินีนาถแห่งราชอาณาจักรเดนมาร์ก
ให้รวบรวมเรื่องราวจากฝั่งเดนมาร์กแล้ว
ยังมีผู้เขียนหลักฝ่ายไทย
ที่นำความรู้เกี่ยวกับอาณาจักรอยุธยาและประวัติศาสตร์ของไทย
มาเรียบเรียงเรื่องราวการสานสัมพันธไมตรีระหว่างสองประเทศ
อีกทั้งยังแปลส่วนของนักเขียนชาวเดนมาร์กเป็นภาษาไทย
เพื่อให้หนังสือเล่มนี้สมบูรณ์พร้อมสำหรับผู้อ่านทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

เธอผู้นั้นคือ อินทิรา ใจอ่อนน้อม อักษรศาสตร์บัณทิตรุ่นที่ ๕๓
ซึ่งใช้เวลาถึง ๖ เดือนในการรวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลมากมาย
มาร้อยเรียงเป็นหนังสือแห่งประวัติศาสตร์ระหว่างสองประเทศ

“สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน” หรือ “A Tale of Two Kingdoms”
นับเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์
ระหว่างราชอาณาจักรไทย กับราชอาณาจักรเดนมาร์กที่สมบูรณ์ที่สุด
รวมทั้งได้รับพระปรมาภิไธยคำนำจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระบรมราชินีนาถแห่งราชอาณาจักรเดนมาร์ก
พร้อมภาพส่วนพระองค์ที่หายากจากทั้งสองพระองค์



อินทิรา เป็นผู้ทรงความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์ทั้งไทยและอังกฤษ
โดยเฉพาะประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาที่มีระยะเวลายาวนานถึง ๔๑๗ ปี
ภายใต้การปกครองของ ๕ ราชวงศ์ และกษัตริย์ ๓๓ พระองค์
ความโดดเด่นในความรอบรู้ของอินทิราอยู่ที่ความจำเป็นเลิศ และการเล่าเรื่องที่น่าติดตาม
ด้วยเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ทำให้ผู้ฟังหรือผู้อ่าน มีความเข้าใจในเรื่องราวมากขึ้น

อินทิราสามารถจำชื่อราชวงศ์ ชื่อกษัตริย์ทุกพระองค์
รวมไปถึงชื่อผู้นำฝ่ายพม่าที่เกี่ยวข้องในแต่ละรัชกาลได้อย่างแม่นยำ
เล่าเรื่องได้แตกฉาน ด้วยรู้ลึกถึงความสัมพันธ์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ซึ่งคุณลักษณะเช่นนี้ นอกจากความสามารถที่มีมาแต่กำเนิดของอินทิราแล้ว
การเล่าเรียนในคณะอักษรศาสตร์ ยังได้บ่มเพาะความสนใจในเชิงลึกของเรื่องราว
การใฝ่รู้และใฝ่ศึกษาค้นคว้าอย่างไม่ยอมระย่อ การเรียบเรียงข้อมูลมากมายให้เข้าใจง่าย
ผ่านการใช้ภาษาที่ถูกต้อง สละสลวย น่าติดตาม

อินทิรา จึงสมควรได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน “อักษรจรัส” ของรุ่น
ที่ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติด้านความรู้ความสามารถทางอักษรศาสตร์และประวัติศาสตร์
นำมาใช้ประโยชน์ในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
สืบสานความรู้ความเข้าใจ ถ่ายทอดสู่คนไทยในวันนี้และวันหน้าได้อย่างสมบูรณ์แบบ
เขียน ณ วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๙
อันเป็นวาระเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ ๗๐ ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ในวาระโอกาสที่คณะอักษรศาสตร์ ครบรอบ ๑๐๐ ปี ในวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๖๐
และครบรอบ ๒๐ ปีของหนังสือ “สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน”

เขียนโดย ชลัมพร พิมลเสถียร

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University