อักษรจรัส รุ่น 56

กรองจิตต์ จตุปาริสุทธิ์

“มุก--กรองจิตต์ จตุปาริสุทธิ์” หรือ “เชฟเคซีย์”

เชฟสาวไทยผู้สร้างชื่อในต่างแดนด้วยงานแกะสลักผักผลไม้

     

"มุก--กรองจิตต์ จตุปาริสุทธิ์” หรือ "เชฟเคซีย์" ผู้เป็นที่รู้จักในสหรัฐอเมริกาจากฝีมือการทำอาหารไทย การจัดดอกไม้สไตล์เซน และการแกะสลักผักผลไม้อันวิจิตรบรรจง จนผลงานของเธอได้รับการเผยแพร่ผ่านทาง Food Network 

นอกจากนี้เธอยังเป็นเจ้าของบริษัทในมลรัฐโคโลราโด จำหน่ายเครื่องครัวและของแต่งบ้านคุณภาพพรีเมี่ยมจากเมืองไทย เพื่อสนับสนุนให้ศิลปินพื้นบ้านชาวไทยสามารถผลิตผลงานได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อการอนุรักษ์วิชาช่างฝีมือที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ให้เลือนหายไปตามกาลเวลา

ปัจจุบันมุกย้ายกลับมาเมืองไทยพร้อมครอบครัว เพื่อทำงานที่เธอรักอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ การสอนนักศึกษาหลักสูตรบริหารธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และยังเป็นที่ปรึกษาด้านการพัฒนาธุรกิจและบุคลากรอีกด้วย

กุลกนก เหลืองสร้อยทอง

ลิลลี่--กุลกนก เหลืองสร้อยทอง”

เลขานุการ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)

จิ๋วแต่แจ๋ว ต้องเธอคนนี้ “ลิลลี่--กุลกนก เหลืองสร้อยทอง” ผู้รับผิดชอบงานที่ทั้งใหญ่และละเอียด กับงานเลขานุการ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ "เอ็กโก" ซึ่งนั่นหมายความว่า ลิลลี่มีบทบาทเป็นต้นทางในการกำกับดูแลให้บริษัทและบุคลากรน้อยใหญ่ในองค์กรและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ และกฎระเบียบต่างๆ ของตลาดหลักทรัพย์ ให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามหลักการต่างๆ บนพื้นฐานของธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารจัดการอย่างมีความรับผิดชอบและถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

กลุ่มเอ็กโกเป็นองค์กรใหญ่ มีบริษัทย่อยและบริษัทร่วมทุนมากกว่า 50 แห่งทั้งในและต่างประเทศ นอกจากหน้าที่เลขานุการบริษัท ลิลลี่ยังได้รับมอบหมายให้ควบตำแหน่งเลขานุการคณะกรรมการบริษัทด้วย บางครั้งเธอต้องทำหน้าที่เป็นล่ามในการประชุม ไหนจะต้องดูแลผู้ถือหุ้น ฯลฯ เธอภูมิใจกับทุกงานที่ได้ทำ แต่ที่สาวเล็กพริกขี้หนูคนนี้ภูมิใจมากเป็นพิเศษ คือการเป็นผู้ริเริ่มและผลักดันให้กลุ่มเอ็กโกเข้าร่วมในโครงการต่อต้านคอร์รัปชั่น และเธอยังเป็นหนึ่งในคณะทำงานชุดนี้ด้วย

      ลิลลี่ทุ่มเททำงานให้กับบริษัทตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แม้จะต้องดูแลลูกชายวัยกำลังโต 2 คน ซึ่งอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ แต่สาวหุ่นกะทัดรัดคนนี้ก็ทำทั้งสองงานอย่างเต็มที่ งานหลวงก็ไม่ขาด งานราษฎร์ก็ไม่บกพร่อง ผลงานชิ้นโบว์แดงที่ภาคภูมิใจที่สุดในฐานะแม่ คือการเคี่ยวเข็ญลูกชายคนโตจนสามารถสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ ขณะที่ลูกชายคนรองก็เริ่มเข้าที่เข้าทาง วางเป้าเข้ามหาวิทยาลัยเร็วๆ นี้

      กล่าวได้ว่า ลิลลี่เป็น Working Mom ตัวจริงในยุคสหัสวรรษนี้ ที่ดาบก็ต้องแกว่ง เปลก็ต้องไกว และเธอก็ทำได้ดีทั้งสองอย่างเสียด้วย

!

ฐากร อุ่นภมรชัย

ต้น ฐากร อุ่นภมรชัย   หรือ “เชฟโทนี่”

สุดยอดอาหารไทยในต่างแดน ประกาศศักยภาพของเชฟไทย

“ต้น--ฐากร อุ่นภมรชัย” หรือ “เชฟโทนี่” เชื่อว่า การปรุงอาหารไม่ใช่แค่เรื่องของรสชาติ หากต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นพลังขับเคลื่อน ผนวกกับความใส่ใจในรายละเอียดของวัตถุดิบ และเครื่องปรุงทุกสิ่งอย่างที่จะนำมาผสมผสานให้ลงตัว เพื่อนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้กับบรรดานักเปิบ

เมนูอาหารไทยจากภัตตาคาร 3 แห่งของเชฟต้น ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา จึงเป็นที่กล่าวขานและสร้างชื่อเสียงจนได้รับรางวัลมากมาย เช่น Petaluma Magazine’s People Choice Award นอกจากนี้ภัตตาคาร SEA Thai Bistro ของเชฟต้นยังติดอยู่ใน MICHELIN Guide to San Francisco 2013.

 

ดร. ซอทอง บรรจงสวัสดิ์

แม่พิมพ์เกรดเอบวกผู้ถ่อมตน

"ความฝันของเราอาจเป็นเพียงแค่การต่อเติมฝันของคนอื่นให้เป็นจริง..."

จะมีใครทราบบ้างไหมว่า “ซอทอง” หรือ "ซอ" ของเพื่อนๆ สมัยอยู่ปี 4 ได้รับทุนจากสถานทูตฝรั่งเศส ไปเรียนภาษา 1 เดือนที่เมือง Besançon ประเทศฝรั่งเศส และกลับมาเรียนอักษรศาสตร์จนจบด้วยเกียรตินิยม อันดับ 1 เหรียญทอง

ต่อมา เมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ซอตัดสินใจก้าวออกจากวงการโฆษณา เธอคิดว่าสินค้าต่างๆ ที่เคยเสนอขายในสมัยเป็น Copywriter สุดท้ายแล้วไม่มีอะไรเลยที่จำเป็นที่สุดต่อชีวิต ความรู้เท่านั้นจะช่วยคนให้พ้นอวิชชาได้

ซอเลือกสมัครเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างจังหวัด ซึ่งทำให้เธอยิ่งแน่ใจว่ากรุงเทพฯ ไม่ใช่เมืองไทย ซอเห็นปัญหาหลากหลายรูปแบบ เห็นข้อจำกัดซึ่งอาจส่งผลให้ลูกศิษย์ไปไม่ถึงฝั่งฝัน ถึงจะรู้สึกย่อท้อกับอุปสรรคที่อยู่ตรงหน้า แต่ซอก็กัดฟันสู้

18 ปีกับการให้ความรู้ ให้คำแนะนำ และคำปรึกษาในทุกๆ เรื่อง ซอช่วยลูกศิษย์คนแล้วคนเล่า สร้างความฝัน ผลักดันให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น เธอคิดเสมอว่าศิษย์ของตนต้องได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ด้วยมาตรฐานการสอนระดับเดียวกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ

ด้วยเหตุนี้ซอจึงตัดสินใจไปศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกที่ Paris Descartes University ประเทศฝรั่งเศส และนำความรู้กลับมาสู่ประเทศไทยเพื่อร่วมผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพออกสู่สังคมไทยต่อไป

"ดร. ซอทอง บรรจงสวัสดิ์" รองคณบดีฝ่ายแผนและประกันคุณภาพ และอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก

ดร. พิทยา ปลัดร้อย

ฝน ดร. พิทยา ปลัดร้อย

ด้วยพื้นฐานวิชาความรู้จากคณะอักษรศาสตร์ "เหลย" หรือ "ฝน--ดร. พิทยา ปลัดร้อย” จึงชื่นชอบภาษา วรรณกรรม และวัฒนธรรมอันหลากหลาย ประกอบกับตัวฝนเองแสวงหาประสบการณ์ที่แตกต่าง เมื่อเรียนจบเธอจึงเข้าทำงานกับชาวต่างชาติ เริ่มตั้งแต่เป็นผู้ช่วยนักวิจัยชาวฝรั่งเศส ทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยสังคมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นไปเป็นเลขานุการของทูตวัฒนธรรมประจำสถานทูตโปรตุเกส ต่อมาได้เป็นเลขานุการด้านสังคมของเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย ควบคู่ไปกับการเรียนต่อปริญญาโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่แล้วก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่ทำให้เธอไม่สามารถเรียนจนจบได้ดังที่ตั้งใจ 

ถึงกระนั้นฝนก็ไม่ละความพยายาม เธอเบนเข็มไปทำงานกับแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการผลิตของนิตยสารภาษาอังกฤษ “Manager” เป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถอีกด้านหนึ่งของฝน จนกระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในพ.ศ. 2540 นิตยสารต้องปิดตัวลงอย่างน่าเสียดาย

ด้วยเหตุที่ฝนทำงานกับชาวต่างชาติมาโดยตลอด เธอจึงมักถูกขอร้องให้ช่วยสอนภาษาไทยให้เสมอ จากที่สอนเล่นๆ ยามว่าง ก็เริ่มสอนจริงจัง ในช่วงที่ประเทศไทยถูกมรสุมทางเศรษฐกิจโหมกระหน่ำนั้นเอง ฝนหันมารับงานประจำสอนภาษาและวัฒนธรรมไทยให้กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ UNICEF, FAO และ UN รวมไปถึงผู้จัดการต่างชาติขององค์กรเอกชนใหญ่ๆ เช่น Procter & Gamble, Hewlett Packard, Unilever, Siemens และ Bank of Nova Scotia

ปี พ.ศ. 2547 ฝนตัดสินใจไปเรียนปริญญาโทด้าน Cultural Studies in Education โดยได้รับทุนจาก Ohio University หลังจากนั้นก็ได้รับทุนการศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกในสาขาเดียวกัน และเริ่มสอนภาษาไทยในฐานะ Teaching Associate ต่อมาในพ.ศ. 2552 ฝนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย และเป็นผู้ประสานงานภาษาอุษาคเนย์และภาษาฮินดีให้กับ Center for International Studies ของมหาวิทยาลัย ควบคู่ไปกับงานสอนภาษาไทยก็คือ งานเผยแพร่สาขาวิชาไทยศึกษาไปสู่สถาบันการศึกษาต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา

ฝนมีความสุขที่ได้ช่วยเป็นสื่อกลางส่งเสริมความเข้าใจระหว่างนักศึกษาและชาวอเมริกันกับชาวไทย เธอเชื่อมั่นว่า ในโลกแห่งความเชื่อมโยงนี้ ภาษาและวัฒนธรรมเป็นเครื่องมืออันสำคัญยิ่งที่จะช่วยให้ทุกคนเปิดโลกทัศน์และเรียนรู้เพื่อสร้างความเห็นอกเห็นใจต่อกัน เพื่อร่วมประสานความแตกต่างให้เป็นหนึ่งเดียว

ทศพร อินทรบำรุง

เฟิสต์  ทศพร อินทรบำรุง

ผู้ใฝ่รู้ 

ถึงแม้ “เฟิสต์--ทศพร อินทรบำรุง” จะเรียนเอกภูมิศาสตร์ แต่ความกระหายใฝ่เรียนภาษาต่างๆ ที่เปิดสอนอยู่ในคณะก็ทำให้เขาเลือกวิชาโทคู่ภาษาอิตาเลียนและสเปน ซึ่งนำไปสู่ความสนใจภาษาตะวันตกอย่างลึกซึ้ง เมื่อเรียนจบจากคณะอักษรศาสตร์แล้ว เฟิสต์จึงเดินทางไปศึกษาต่อปริญญาตรีวิชาเอกภาษาและวรรณคดีอิตาเลียน คู่กับภาษากรีกโบราณและละติน ที่มหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐแมสซาชูเซตส์ เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา

หลังจากจบการศึกษา เฟิสต์เข้าทำงานที่ห้องสมุดประชาชนในบอสตัน จนเกิดแรงบันดาลใจเข้าเรียนต่อปริญญาโทด้านบรรณารักษศาสตร์ ณ วิทยาลัยซิมมอนส์ และทำงานเป็นบรรณารักษ์ทั่วไปที่ห้องสมุดเดิม ต่อมาย้ายไปประจำห้องสมุดวิทยาลัยกิบส์ และวิทยาลัยชุมชนร็อกซ์เบอรี่ และที่สถาบันสุดท้ายนี้เองที่ความสามารถของเฟิสต์เป็นที่ยอมรับของเพื่อนร่วมงานและผู้บังคับบัญชา จนได้เลื่อนขั้นเป็นผู้ประสานงานบริการห้องสมุด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บริหารห้องสมุดของสถาบัน

ความก้าวหน้าทางการงานไม่ได้หยุดความใฝ่รู้ของเฟิสต์ กลับทำให้เขาอยากเข้าถึงศาสตร์แขนงอื่นๆ ต่อไป เขาศึกษาวิชาการออกแบบสื่อการศึกษาที่มหาวิทยาลัยของรัฐจนได้รับปริญญาโทอีกหนึ่งใบ เฟิสต์เล่าเรื่องที่เขาเรียนรู้จากสิ่งรอบตัว จากการอ่านหนังสือ และจากอินเตอร์เน็ตผ่านหน้าเฟซบุ๊กของเขาอย่างสม่ำเสมอ

      ถึงแม้ว่าเฟิสต์จะห่างบ้านเกิดตั้งแต่เรียนจบจากคณะอักษรศาสตร์ เขาไม่เคยลืมครอบครัวและประเทศไทยที่เขารัก ทุกๆ เดือนเขาจะส่งรายได้มาช่วยเหลือครอบครัว เพื่อให้ทางบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เฟิสต์สนับสนุนทุนทรัพย์เพื่อให้หลานชายทั้งสองคนได้รับการศึกษาขั้นสูงสุด นอกจากนั้นเขายังร่วมรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี และภาษาไทย โดยค้นคว้าหาข้อมูลมาร่วมแบ่งปันในหน้า "ลักษณะไทย" ในเฟซบุ๊กอย่างต่อเนื่อง

ความเชี่ยวชาญในอาชีพบรรณารักษ์ การเป็นที่ยอมรับของคนต่างชาติ ความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการีและมาตุภูมิ และการเอื้อเฟื้อ "ปัญญาทรัพย์" ต่อเพื่อนร่วมสังคมในโอกาสต่างๆ นี้เอง จึงเป็นข้อพิสูจน์ความสามารถของเฟิสต์ บัณฑิตอักษรฯ ผู้ไม่เคยหยุดเรียนรู้

นันทวัน รุ่งวงศ์พาณิชย์

บ๊วย--นันทวัน รุ่งวงศ์พาณิชย์

การดูละคร คือ การเรียนรู้สิ่งผิดเพื่อทำสิ่งถูก

นักเขียนบทละครโทรทัศน์ และนักประพันธ์ระดับแนวหน้า ผู้พิสูจน์แล้วว่า ละครโทรทัศน์และนิยายไม่จำเป็นต้อง "น้ำเน่า" เสมอไป หากแต่สามารถนำเสนอปัญหาสังคม ตัวอย่างชีวิต คำสอน ค่านิยมที่ดี และเป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้ชมและผู้อ่านได้อย่างได้ผล

      *ตัวอย่างผลงานด้านการเขียนบทละครโทรทัศน์: ปดิวรัดา, คุณชายรณพีร์, บ่วง, ทาสรัก

      *ตัวอย่างผลงานด้านบทประพันธ์: สู่แสงตะวัน, กิ่งแก้วกลางใจ, ดั่งดวงตะวัน

      *รางวัลที่เคยได้รับ: โทรทัศน์ทองคำ และคมชัดลึกอวอร์ด

 

บุญส่ง นาคภู่

สืบ--บุญส่ง นาคภู่

ปลาเป็น ที่ว่ายทวนน้ำ...

อย่ามองเขาจากท่าทีที่เขาแสดงออก อย่ามองเขาจากบทบาทที่เขาได้รับ อย่ามองแต่สิ่งที่อยู่ภายนอก เพราะถ้าคุณได้รู้จักเนื้อในของเขา เขาคือคนที่ "ซื่อสัตย์" ที่สุดในวงการหนัง... ไม่โกหก ไม่หลอกลวง ไม่สร้างภาพ ไม่ตามกระแส เพราะหนังคือ "การแสดงออก" อย่างซื่อสัตย์

สืบ--บุญส่ง นาคภู่  ผู้กำกับภาพยนตร์ นักแสดง และ Acting Coach

 

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดินาร์ บุญธรรม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดินาร์ บุญธรรม

อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

     “ความสุขของนักประวัติศาสตร์และโบราณคดี คือ การได้ตามค้นหาอดีตที่อยู่ไกลจากตัวเรามากๆ ด้วยระเบียบวิธีที่เป็นเสมือนการทดลองวิทยาศาสตร์ แล้วนำผลการค้นคว้าไปสอนลูกศิษย์ ไปเขียนงานวิจัย ตำรา หรือหนังสือเผยแพร่ต่อไป”

     “ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดินาร์ บุญธรรม” ศึกษาวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยใจรักทั้งในระดับปริญญาตรี โท เอก ทั้งได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาในการทำงานวิชาการเพื่อสังคมมาโดยตลอด 

      การทำงานและผลงานวิชาการที่สำคัญของ ผศ. ดร. ดินาร์ ได้แก่

      - อนุกรรมการศึกษาประวัติและจัดสร้างเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 ของกองทัพเรือ ในวโรกาสพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2539 

      - หนังสือสารคดี และบทสารคดี "พระมหากษัตริย์ไทยกับพระพุทธศาสนา" 

      - บทการ์ตูนประวัติศาสตร์ชาติไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัยถึงรัตนโกสินทร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ผลิตโดยสำนักพิมพ์อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊ป ฯลฯ

      - ดำเนินรายการวิทยุ “ไทยศึกษา” เผยแพร่สาระความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีไทย ทางสถานีวิทยุจุฬาฯ 101.5 MHz ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-10.30 น.

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปวิตร มหาสารินันทน์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปวิตร มหาสารินันทน์ 

หัวหน้าภาควิชาศิลปการละคร และผู้อำนวยการศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

                             

แรงบันดาลใจและความใฝ่ฝันมีพลังต่อความสำเร็จของคนเราเสมอ “ครูป้อม--ผศ. ปวิตร มหาสารินันทน์” หัวหน้าภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในความสำเร็จนั้น จากนักเรียนผู้รักและสนุกกับการเรียนภาษาอังกฤษจากการชมภาพยนตร์ อ่านวรรณกรรม และบทละครเวที ทั้งของไทยและต่างประเทศ จนสามารถเขียนวิจารณ์ภาพยนตร์ไปลงนิตยสารได้อย่างมีอรรถรสตั้งแต่ยังอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เมื่อเข้ามาเป็นนิสิตอักษรศาสตร์ ครูป้อมเลือกเรียนวิชาเอกภาษาอังกฤษ วิชาโทศิลปการละคร ด้วยความใฝ่ฝันจะทำงานในวงการศิลปะการแสดงของเมืองไทยและนานาชาติ เมื่อสำเร็จการศึกษาก็ได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์ในภาควิชาศิลปการละครทันที ความมุ่งมั่นในการวิจารณ์ภาพยนตร์และละครเวทีที่มีมาตั้งแต่เป็นนักเรียนมัธยม ทำให้ครูป้อมเลือกที่จะสร้างชื่อเสียงในด้านนี้ ครูป้อมได้รับเชิญให้เป็นนักวิจารณ์ละครเวทีและนาฏศิลป์ของหนังสือพิมพ์ “The Nation” มาตั้งแต่พ.ศ. 2544 และเป็นประธานคนแรกของชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง (International Association of Theatre Critics--Thailand Centre) นอกจากนั้นยังได้รับเชิญไปเป็นผู้วิจารณ์ภาพยนตร์ในงานเทศกาลภาพยนตร์ที่จัดขึ้นในต่างประเทศ ทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา 

ครูป้อมมีผลงานการแต่งและแปลบทละครเวทีนับสิบเรื่อง นอกจากนี้ยังได้รับเชิญไปบรรยายร่วมจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านละครเวทีในประเทศฝรั่งเศส อิสราเอล ญี่ปุ่น อังกฤษ เกาหลี และประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะกับประเทศฝรั่งเศส ครูป้อมให้ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนศิลปะการแสดงของไทยและฝรั่งเศสมาโดยตลอด เป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศ จนได้รับเกียรติจากรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สาขาศิลปศาสตร์และอักษรศาสตร์ ชั้นอัศวิน เป็นเกียรติยศ เมื่อพ.ศ. 2558

อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของอักษรศาสตรบัณฑิต รุ่น 56 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปวิตร มหาสารินันทน์ หัวหน้าภาควิชาศิลปการละคร และผู้อำนวยการศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล คณะอักษรศาสตร์

พบจันทร์ ลีลาศาสตร์สุนทร

จู พบจันทร์ ลีลาศาสตร์สุนทร 

ครูใหญ่บ้านเรียนละครมรดกใหม่

สาวเอกละคร ผู้พาเด็กๆ น้อยใหญ่ออกจากระบบการเรียนการสอนแบบเดิมๆ ก้าวเข้าสู่โลกใหม่แห่งการเรียนรู้ผ่านการแสดงและดนตรี ทั้งไทยและสากล ท่ามกลางธรรมชาติแห่งทุ่งนาริมคลองรังสิต

      บ้านเรียนละครมรดกใหม่ เป็นโรงเรียนกินนอนขนาดเล็ก มีนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปรับหลักสูตรมาจากการศึกษาแบบสำนัก ที่เน้นการสร้างคนให้ "คิดเป็น มีทักษะ มีหิริโอตตัปปะ" 

      เด็กๆ ในโรงเรียนมาจากหลากหลายสิ่งแวดล้อม ทุกคนมาอยู่ที่นี่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยกระบวนการการเรียนรู้อาศัยปรัชญา 6 ข้อในการอยู่ร่วมกัน คือ 1) พร้อมใจกันทำ พร้อมใจกันเลิก เน้นความเป็นหนึ่งเดียวเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ 2) ทำแล้วทำเล่า จนทำได้ เพื่อพัฒนาทักษะการคิด การอ่าน การเขียน และการละคร 3) แผ่วที่ผล ทำที่เหตุ เน้นการคิดวิเคราะห์ 4) อยู่อย่างต่ำ ทำอย่างสูง อยู่อย่างเรียบง่ายพอเพียง 5) ไม่มีเรื่องที่เล่าไม่ได้ มีแต่ที่เล่าไม่เป็น คือการเน้นที่อุดมการณ์ในการทำเพื่อผู้อื่น และ 6) เป็นอย่างที่กิน เป็นอย่างที่อ่าน เป็นอย่างที่สอน เน้นการทำเป็นตัวอย่าง

      ภายใต้การนำของครูช่าง--อาจารย์ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง จูอุทิศชีวิตตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเป็นทั้งผู้จัดการโรงเรียน หาทุน ดำเนินการจัดการแสดง หาแบบเรียนและข้อมูลวิชาการ หาคุณครู เป็นครูผู้สอน และยังเป็นทั้งแม่ พี่สาว และเพื่อนของเด็กในโรงเรียนทั้งหมด ทั้งนี้ ตามปณิธานของมรดกใหม่ คือ ทำเพื่อผู้อื่น

      และนี่คือความสุขที่สุดในชีวิตของ “จู--พบจันทร์ ลีลาศาสตร์สุนทร” ครูใหญ่ผู้ยินดีอุทิศทั้งแรงกายและแรงใจ เพื่อมอบมรดกชีวิตให้แก่เด็กรุ่นใหม่ในอุปการะ

พันเอกหญิง บุษยะมาส ทรรทรานนท์

พันเอกหญิง บุษยะมาส ทรรทรานนท์

อาจารย์ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

 “ปัด” หรือ “บุษ” ที่เพื่อนๆ ทั้งรุ่นรู้จักดี พูดง่ายๆ ว่า หลายคนเรียนจบมาได้เพราะเลกเชอร์ของบุษ ทั้งอ่านง่าย ลายมือสวย จดละเอียดยิบ แถมบุษมีน้ำใจมาก ยอมให้เพื่อนๆ ยืมเสมอ ความน่ารัก มีน้ำใจ มองโลกในแง่ดี เมตตาต่อผู้อื่น เป็นที่ปรึกษาให้คนรอบข้าง คือ คุณสมบัติที่ฝังแน่นในตัวบุษตลอดมา แม้ว่าหลายครั้งบุษต้องผ่านบททดสอบหนักหนาสาหัสในชีวิต แต่บุษก็ผ่านมันมาได้เสมอด้วยใบหน้ายิ้มแย้มและอารมณ์ดี ความรักในอักษรศาสตร์ พาให้บุษไปเป็นอาจารย์ประจำกองวิชาอักษรศาสตร์ ผู้สอนภาษาอังกฤษแก่นักเรียนนายร้อย    

"อาจารย์บุษ" เพียบพร้อมด้วยจรรยาบรรณแห่งความเป็นครู เต็มเปี่ยมด้วยความเมตตา และคอยให้คำปรึกษาโดยใช้หลักจิตวิทยาทั้งศาสตร์และศิลป์แก่ลูกศิษย์ที่มีความทุกข์ใจสารพันปัญหา ทั้งยังต้องห่างจากครอบครัวมารับการฝึกทหารอย่างหนัก อาจารย์บุษจึงกลายเป็นที่รักของนักเรียน นอกจากนี้ ยังได้รับเชิญไปสอนภาษาอังกฤษให้แก่สถาบันมีชื่อเสียงภายนอก ซึ่งก็สร้างความประทับใจและความสนุกสนานสอดแทรกไปกับความรู้ จนกระทั่งสามารถเปลี่ยนทัศนคติให้นักศึกษารู้สึกสนใจพัฒนาภาษาอังกฤษจนประสบความสำเร็จในการศึกษา

 

พินทิพย์ เอี่ยมนิรัตน์

ไม่ว่าภารกิจใด ก็ดูจะเป็นเรื่องกล้วยๆ

ถ้าผ่านมือ “กล้วย--พินทิพย์ เอี่ยมนิรัตน์”

   “กล้วย--พินทิพย์ เอี่ยมนิรัตน์” เป็นหญิงแกร่ง เก่งกล้า เธอเป็นสุดยอดพีอาร์ที่เก่งไม่น้อยหน้าใคร งานของเธอในองค์กรระดับชาติและระหว่างประเทศ เช่น สวทช. ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด หรือ PTTGC แสดงถึงความสามารถของตัวเธอที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ถึงกับได้รับการทาบทามและดึงตัวจากองค์กรต่างๆ เป็นระยะๆ 

   ครั้นเมื่อเปลี่ยนเส้นทางอาชีพเข้ามาจับงานในสายนวัตกรรมของบริษัทด้านปิโตรเคมี เธอได้รับมอบหมายภารกิจพิเศษในการสานพลังประชารัฐ ในโครงการ Bioeconomy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ ทดแทนอุตสาหกรรมเดิมที่เริ่มลดการขยายตัวลง

   ด้วยความสามารถที่รวมเอาความเปรี้ยว น่ารัก สดใสเอาไว้อย่างกลมกลืน ผนวกกับความสามารถพิเศษในการใช้คารม จิกกัด หยอกเหย้าเพื่อนๆ ให้เป็นที่เฮฮาได้อย่างสม่ำเสมอ ผสมผสานกับความสามารถทางภาษาของเธอ จึงไม่น่าแปลกที่เธอสามารถรับงานด้านพิธีกรได้อย่างไม่น้อยหน้ามืออาชีพ ศักยภาพด้านฝีปากของเธอนั้นหาตัวจับยาก

   กล้วยกระตือรือร้นเสมอที่จะช่วยเพื่อนๆ ในงานด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการประสานงานในการจัดงานเลี้ยงรุ่น หรืองานราษฎร์ งานหลวงใดๆ ที่ต้องการความร่วมมือจากคนจำนวนมาก และผลจากการทุ่มเทของเธอก็ทำให้งานต่างๆ เหล่านั้นประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์อย่างน่าชื่นชมเสมอ

   กล้วยเป็นที่รักของเพื่อนๆ และมีความสามารถเป็นเลิศในการจดจำรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต แถมยังต่อยอดเล่าออกมาได้อย่างออกรส จนบางครั้งเจ้าของเรื่องเองยังงงว่า เธอเก็บรายละเอียดเอาไว้ในสมองได้มากกว่าเจ้าตัว (ที่บางครั้งลืมเรื่องเหล่านั้นไปแล้ว) ได้อย่างไร

   คือแค่เรียกกล้วยมา...ก็ฮาได้แล้วค่ะท่านผู้ชม

รองศาสตราจารย์ ดร. หนึ่งฤดี โลหผล

รองศาสตราจารย์ ดร. หนึ่งฤดี โลหผล

ผู้มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอิตาลี

หลังเรียนจบจากคณะอักษรศาสตร์แล้ว “รองศาสตราจารย์ ดร. หนึ่งฤดี โลหผล” หรือ "หนึ่ง" ของพวกเราเดินทางไปศึกษาต่อภาษาอิตาเลียนระดับปริญญาโทที่ Middlebury College รัฐเวอร์มอนต์ สหรัฐอเมริกา โดยหลักสูตรนี้จัดให้นักศึกษาได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยในอิตาลีด้วย ต่อมาหนึ่งจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแห่งเมืองปิซา นับเป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาและประวัติศาสตร์ศิลปะอิตาเลียนคนสำคัญคนหนึ่งของไทย

นอกจากภาระงานสอน งานบริหาร งานวิจัยทางวิชาการ และภารกิจต่างๆ มากมายที่สาขาวิชาภาษาอิตาเลียน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้ว รองศาสตราจารย์ ดร. หนึ่งฤดี โลหผล อดีตหัวหน้าภาควิชาภาษาตะวันตก ยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมอิตาเลียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ศิลปะและวิทยาการอิตาเลียนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศไทย ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

      รัฐบาลอิตาลีเองก็เห็นว่า อาจารย์หนึ่งฤดีนั้นเป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการเผยแพร่ภาษาและวัฒนธรรมอิตาเลียนในประเทศไทย จึงได้มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ "CAVALIERE DELL'ORDINE DELLA STELLA DELLA SOLIDARIETA' ITALIANA" แก่หนึ่งเมื่อพ.ศ. 2551 (นับแต่นั้นมาพวกเราก็เลยล้อหนึ่งเล่นว่า "คุณหญิง" บ้าง "บารอเนซา" บ้างอยู่เสมอ) 

หนึ่งเขียนหนังสือ ตำรา บทความวิชาการมากมาย มีผลงานลงตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีงานแปลและงานล่ามภาษาไทย-อังกฤษ-อิตาเลียนที่เจ้าตัวถนัดมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนิสิต หนึ่งมักได้รับเชิญเป็นผู้บรรยายในการประชุมทางวิชาการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสยามและอิตาลี แต่ผลงานเด่นๆ ของหนึ่งไม่ได้มีเพียงงานวิจัยประวัติศาสตร์ศิลปะอิตาเลียน-ไทย และไม่ได้หยุดอยู่เพียงการจัดนิทรรศการ "จิตรกรสองแผ่นดิน ผู้รังสรรค์งานศิลป์ในพระที่นั่งอนันตสมาคม" ซึ่งเป็นนิทรรศการที่นับได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่เจ้าตัวยังคงทำงานวิจัยต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ปัจจุบันหนึ่งกำลังคร่ำเคร่งทำงานวิจัยชิ้นสำคัญเพื่อนำองค์ความรู้ออกเผยแพร่สู่สังคม ด้วยความเชื่อที่ว่าเราต้องช่วยกันศึกษาอนุรักษ์ความทรงจำ เรื่องราว องค์ความรู้หลากหลายที่มนุษย์ได้บันทึกไว้บนแผ่นกระดาษ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงสมบัติของชาติใดชาติหนึ่ง แต่เป็นมรดกของมนุษยชาติซึ่งควรค่าแก่การศึกษาและอนุรักษ์ไว้สืบไป

วัฒนีพร ปั้นมณี

แป๋ว--วัฒนีพร ปั้นมณี

ผู้ปลูกดอกไม้ให้เบ่งบาน...ในสวนอักษรอันรื่นรมย์

 “วัฒนีพร ปั้นมณี” หรือ "แป๋ว" เรียนอักษรศาสตร์ตามความฝันจากนวนิยายที่จุดประกายให้เธอตั้งแต่เด็กๆ เธอเติบโตมาโดยมีหนังสือเป็นทั้งเพื่อน พี่ และญาติผู้ใหญ่ ที่พร่ำสอนเรื่องต่างๆ ของชีวิต ความฝันมาชัดเจนขึ้นเมื่ออยู่อักษรฯ ชั้นปีที่ 4 เมื่อหนึ่งในวิชาเอกภาษาฝรั่งเศสของเธอให้นิสิตลองเขียนโฆษณา เธอจึงรู้ชัด ณ บัดนั้นว่า นักโฆษณาคืออาชีพในฝัน

 เธอทำงานเป็น Copywriter ผลิตงานโฆษณาที่เธอหลงรักอยู่ถึง 12 ปี ผลงานของแป๋วในช่วงหนึ่งเคยปลุกแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ ด้วยแคมเปญ Freedom จาก วัน-ทู-คอล! ได้รางวัลส่งเสริมสังคมดีเด่น ในชุด ครูเคท ที่ทำให้เด็กๆ หันมารักภาษาอังกฤษ และได้รับรางวัลโฆษณาทางวิทยุยอดเยี่ยม (ITV)

      หลังจากเก็บเกี่ยวความรู้ในศาสตร์ต่างๆ จากเวิร์คช็อปมากมาย พร้อมกับการปฏิบัติธรรม เธอได้เริ่มเขียนหนังสือเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิต เป็นคอลัมนิสต์ให้นิตยสาร IMAGE เขียนบทความลงใน SECRET และรวบรวมผลงานเป็นหนังสือ 2 เล่ม คือ “16 คนผู้เปลี่ยนโลกให้เป็นสวรรค์สำหรับฉัน” และ “แม่บ้านตะกอนคะนอง” ภายใต้นามปากกา “ตาแป๋วมองโลก” รวมทั้งเพจ “ตาแป๋วมองโลก” ที่บอกเล่าเรื่องราวรอบกายอย่างซื่อๆ ง่ายๆ แฝงอารมณ์ขัน หวังให้ผู้อ่านอิ่มเอมไปกับความสุขใสๆ ในแบบฉบับของเธอ

หนังสือของแป๋วเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านใช้ชีวิตอย่างมีสติ เพื่อให้เกิดความสุขสงบในใจ ด้วยแป๋วเชื่อว่า ความสุขจะทำให้คนเรามีสันติต่อกันได้ง่ายขึ้น...ดั่งดอกไม้ที่เบ่งบาน...เป็นรมณียสถานในใจของผู้คนในสวนอักษร

วีรณา โอฬารรักษ์ธรรม

แมว--วีรณา โอฬารรักษ์ธรรม

จากเจ้าแม่รายการทอล์คโชว์

สู่การสร้างสรรค์สาระความรู้และสื่อการสอน

เพื่ออนาคตการศึกษาไทย

 

"แมว--วีรณา โอฬารรักษ์ธรรม” ผู้มุ่งมั่นกับการกระตุ้นต่อมความคิด และสร้างแรงบันดาลใจ 

อดีต Creative Director รายการดังอย่าง "เจาะใจ" "สุริวิภา" และ "จันทร์พันดาว" จะเรียกแมวว่า "เจ้าแม่" รายการทอล์คโชว์ วาไรตี้ก็คงได้

ปัจจุบัน แมวก้าวเข้ามาเป็น Executive Director บริษัท ทีซีบีเอ็น จำกัด ผู้ผลิตงาน Knowledge Communication นำความรู้ไปสู่ผู้ชม ด้วยการทำโครงการโทรทัศน์ครู ของกระทรวงศึกษาธิการ ผลิตสื่อดีๆ เพื่อพัฒนาวิชาชีพครู สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ และพัฒนาการสอนให้ครูไทย 

เมื่อโครงการของรัฐบาลเลิกไป แต่เพราะยังมุ่งมั่นต้องการมีส่วนช่วยพัฒนาวงการการศึกษา แมวจึงกลายมาเป็นผู้ผลิตรายการให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อนำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยไปสู่สาธารณชน ในชื่อ Mahidol Channel ที่ทุกคนคงเคยผ่านตา เช่น รายการ "ยาหมอบอก" ทางช่องไทยพีบีเอส 

ล่าสุด แมวได้ใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาจากคณะอักษรศาสตร์ ช่วยพัฒนาภาษาอังกฤษให้เด็กไทย ผ่านทางโครงการ eng24 ผลิตสื่อภาษาอังกฤษให้ครูไทยได้ใช้สอนนักเรียนอย่างสนุกสนาน และเปี่ยมไปด้วยสาระ 

การศึกษาไทย มีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง ส่วนหนึ่งก็เพราะความตั้งใจมั่นของ "แมว" และทีมงาน

สมบูรณ์ ทองประไพแสง

บูรณ์--สมบูรณ์ ทองประไพแสง

ชีพจรไม้เท้าไร้พรมแดน

แม้มีโรคโปลิโอเป็นเพื่อนตั้งแต่จำความได้ "ครูเกาลัด--สมบูรณ์ ทองประไพแสง” หรือ "บูรณ์" ของเพื่อนๆ ก็ใช้ความวิริยะอุตสาหะ ฝ่าฟันอุปสรรคทางกายภาพต่างๆ ในชีวิตตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็กน้อย มิได้ย่อท้อหมดกำลังใจ ขึ้นบันไดลงบันได ขึ้นรถลงเรือ พร้อมไม้เท้าคู่ใจ ไปไหนไปกัน จนหลายๆ ครั้งเพื่อนๆ ลืมไปว่าสมบูรณ์ขาพิการ

สมัยเรียน สมบูรณ์เข้าร่วมกิจกรรมของคณะอักษรศาสตร์อย่างสม่ำเสมอ จนเพื่อนๆ ให้ความไว้วางใจ มอบตำแหน่งหัวหน้าชั้นปี 4 ให้ ซึ่งนั่นหมายความว่า สมบูรณ์จำเพื่อนได้ทุกคน! 

เมื่อสมบูรณ์เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ในยามว่างจากภารกิจการสอน จะขึ้นเขาลงห้วยท่องเที่ยวไปในโลกกว้าง ทั้งที่ไกลและใกล้ เพื่อนำประสบการณ์ตรงแห่งชีวิตมาปรับใช้และถ่ายทอดผ่านงานสอนที่ตนรัก ด้วยอุดมการณ์ที่จะผลิตทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพแก่สังคม และยังพร้อมให้แรงใจกับคนรอบข้างอย่างไม่รู้จบ เพราะความพิการทางกายภาพมิได้เป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตแต่อย่างใด

"ครูบูรณ์/ครูเกาลัด--สมบูรณ์ ทองประไพแสง” อาจารย์ภาควิชาภาษาอังกฤษ ประจำมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

สุภัทราพร ตันอธิคม

ไหม--สุภัทราพร ตันอธิคม

นางฟ้าผู้ไม่ยอมแพ้

นางฟ้าผู้เคยโบยบินอยู่บนท้องฟ้า แต่อุบัติเหตุทำให้เธอต้องตกสวรรค์อย่างไม่ทันตั้งตัว...

จากแอร์โฮสเตสสาว...กลายมาเป็นผู้พิการที่ต้องพึ่งรถเข็นตลอดชีวิต แต่ความพิการไม่ทำให้ไหมยอมแพ้ หากแต่เป็นบทพิสูจน์ที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเธอ ในการต่อสู้เพื่อชีวิตที่มีคุณค่าและมีความหมายของผู้พิการอื่นๆ

เธอคือผู้แต่งหนังสือ "Beyond Shoulders จากหัวไหล่...ไปถึงเบื้องบน" และ "ไหม...ผู้ไม่ยอมแพ้ในร่างพิการ" ที่สร้างกำลังใจแก่ผู้อ่าน

ปัจจุบัน “ไหม--สุภัทราพร ตันอธิคม” ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ องค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

สุไลพร ชลวิไล

นุ่ม--สุไลพร ชลวิไล

โลกหมุนได้ด้วยความแตกต่าง

บนพื้นฐานของความเคารพและความเข้าใจ

 

"นุ่ม--สุไลพร ชลวิไล” นักวิจัยและนักเคลื่อนไหวเพื่อรณรงค์เชิงนโยบายเกี่ยวกับ "สิทธิ" ซึ่งยังถูกละเลยอยู่มากในประเทศไทย แม้ในปัจจุบัน ชาย-หญิง จะมีสิทธิเท่าเทียมกันมากขึ้น หากแต่ผู้หญิงเองก็ยังไม่สามารถใช้ "สิทธิ" ของตนได้เต็มที่ เช่น สิทธิในการทำแท้งอย่างปลอดภัย ซึ่งยังเป็นประเด็น "ต้องห้าม" ของสังคมไทย

นอกจากนี้ เธอยังรณรงค์เพื่อสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้สังคมตระหนักว่า คนเราสามารถจะรักได้ทุกเพศ และเรียกร้องให้สังคมเข้าใจว่า คำพูดบางอย่างที่หลายคนมองเห็นว่าเป็นการพูดเล่น แท้จริงแล้วแสดงถึงอคติและความเกลียดชังต่อผู้หญิงที่มีอัตลักษณ์ทางเพศเป็นทอม หรือผู้หญิงที่เลือกมีวิถีทางเพศแบบรักเพศเดียวกัน หรือรักสองเพศ

นุ่มยังมีบทบาทในการช่วยเหลือผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้ที่อยู่ร่วมกับเอชไอวีอีกด้วย

นี่สิ...นักเคลื่อนไหวตัวจริง

อภิวัฒน์ วงศ์ภาคำ

จุ๊บ--อภิวัฒน์ วงศ์ภาคำ

วิทยากรระดับ 9 หัวหน้าแผนกบริหารความรู้

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

"จินตนาการอาจจะสำคัญกว่าความรู้" แต่องค์ความรู้ทั้งเก่าและใหม่ หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี ไม่สามารถถ่ายทอดหรือต่อยอดให้กับคนอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นหลังๆ ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย ที่องค์ความรู้ทั้งหลายจะหล่นหายไปตามกาลเวลา...

และนี่คือภารกิจหลักของกองส่งเสริมการเรียนรู้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งรับหน้าที่โดยหนึ่งในเดือนล้อมดาวของเรา “จุ๊บ--อภิวัฒน์ วงศ์ภาคำ” หนุ่มนักเรียนทุนเอเอฟเอส เจ้าของบุคลิกเงียบๆ สุขุม นุ่มลึก ผู้ได้รับความไว้วางใจให้เป็นหัวหน้าชั้นปี ตั้งแต่ปีแรกในรั้วจามจุรี

อาวุธ นิตยสมบูรณ์

เณร--อาวุธ นิตยสมบูรณ์

กรรมการและรองผู้จัดการทั่วไป

บริษัท ฟูจิคูระ คาเซอิ (ประเทศไทย) จำกัด

 

จากโค้ชวอลเลย์บอลเฟรชชี่ ขวัญใจเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ในสมัยที่ยังไม่มีใครรู้จัก "โค้ชอ๊อด" ปัจจุบัน "อาวุธซัง" หรือ "เณร" หนุ่มอักษรศาสตร์ท่าทางขี้เล่นและทะเล้นคนนี้ ดำรงตำแหน่งกรรมการและรองผู้จัดการทั่วไป บริษัท ฟูจิคูระ คาเซอิ (ประเทศไทย) จำกัด โดยใช้ภาษาญี่ปุ่นซึ่งเป็นวิชาเอกที่ร่ำเรียนมาเป็นใบเบิกทางเข้าสู่ธุรกิจผลิตและจำหน่ายสีรถยนต์ และค่อยๆ เก็บเกี่ยวความรู้ สั่งสมประสบการณ์ในส่วนงานต่างๆ จนเติบโตก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรได้สำเร็จ

      แต่ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะอะไร เณรเต็มที่ หวังดี และมีน้ำใจกับเพื่อนๆ เสมอ เณรอาสาเป็นธุระเรื่องอาการเจ็บป่วยของพระชื้อ (รณชัย ปิ่นเจริญถาวร) ตั้งแต่ในวันแรกๆ ช่วยดูแล ปรนนิบัติ รวมทั้งให้กำลังใจพระชื้อในห้วงเวลาที่ท่านเจ็บปวดทรมานอย่างที่สุด และเณรยังคงทำหน้าที่เป็นเพื่อนที่ดี จวบจนวาระสุดท้ายของพระชื้อ

ในวันนี้ แม้คิ้วเข้มๆ ของเณรจะไม่ได้เป็นที่กรี๊ดกร๊าดเกรียวกราวในหมู่สาวๆ แล้ว แต่ความจริงใจที่มีให้กับทุกคนรอบข้างของเณร เป็นที่รับรู้และชื่นชมเสมอมา นอกเหนือจากการเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี เป็นสามีที่น่ารัก และเป็นยอดคุณพ่อที่ลูกสาวทั้งสองแสนจะภูมิใจ

Rare Item จริงๆ หนุ่มอักษรฯ คนนี้ 

 

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University