อักษรจรัส รุ่น 65

จีรวรรณ ด้วงนาม แฮร์เรียต

อักษรจรัส อบ.65

จีรวรรณ ด้วงนาม แฮร์เรียต

(อักษรศาสตร์ เอกศิลปะการละคร)


ตำแหน่งในการทำงานปัจจุบัน: บรรณาธิการ เว็บไซต์สโมสรลิเวอร์พูล ประจำประเทศไทย
เว็บไซต์ Thailand.liverpoolfc.com
ทวิตเตอร์ @ThaiLFC
เฟซบุ๊ก www.facebook.com/ThailandLiverpoolFC
อินสตาแกรม @lfcthailand

ความรักทางไกล กับเส้นทางเดินสายสีแดงลิเวอร์พูล
เรื่องราวความรักของเด็กบ้านสวน และสโมสรลิเวอร์พูล เกิดขึ้นเมื่อปี 1994 เมื่อมองย้อนกลับไป มันแทบจะเป็นความรักทางไกลที่ไม่มีทางเป็นไปได้ และความฝันบนเส้นขนานที่ไม่มีวันบรรจบ
หลังจากได้ชมนักฟุตบอลในชุดสีแดงเพลิง เลี้ยงบอลอย่างเชื่องเท้า ลัดเลาะผ่านคู่แข่งแต่ละคนด้วยความเชี่ยวชาญ ต่อบอลเป็นทีมราวกับเครื่องจักรสีแดงบนพื้นสนามสีเขียวชอุ่ม ตัวเองรู้ได้ในทันทีว่า ทีม ‘ลิเวอร์พูล’ คือทีมฟุตบอลทีมแรกและทีมเดียว ที่ยึดพื้นที่ในหัวใจไว้ได้หมด และเมื่อได้เข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ นอกเหนือจากบทละครเล่มโต จะมีหนังสือพิมพ์ฟุตบอลรายวันเสียบรวมอยู่ด้วยอย่างกลมกลืนเสมอมา ไม่ว่าจะในห้องเรียน โรงละคร หรือแม้กระทั่งซอกหลืบหลังเวที…
พอดีกับตอนที่สำเร็จการศึกษา ข่าวการมาเยือนประเทศไทยของทีมจากเมอร์ซีย์ไซด์เริ่มพูดถึงกันในกลุ่มแฟนฟุตบอล และสื่อต่างๆ ซึ่งการก้าวออกจากโลกละคร และก้าวสู่วงการสิ่งพิมพ์ที่ไม่เคยมีความรู้มาก่อน ด้วยเพราะอยากใกล้ชิดกับทีมฟุตบอล เป็นการตัดสินใจที่สุดโต่งครั้งหนึ่งในชีวิตของคนอายุยี่สิบนิดๆ เลยทีเดียว แต่ลึกๆ ก็มั่นใจว่า ถ้าเราใส่ความพยายาม และ ‘ใจ’ ลงไปทั้งหมด มันคงเป็นส่วนผสมพิเศษที่ช่วยผลักดันให้ตัวเองไปจนสุดทาง และคว้าโอกาสเมื่อมีความพร้อมสูงสุด
เวลา 12 ปี ในวงการสิ่งพิมพ์ จากนักเขียน สไตล์ลิสต์แฟชั่น รองบรรณาธิการ และบรรณาธิการนิตยสาร ช่วยฝึกฝน และขัดเกลาทักษะด้านต่างๆ ให้มีความพร้อม เมื่อสโมสรลิเวอร์พูลเปิดแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ภาษาต่างประเทศ ที่ไม่เพียงแต่ขยายฐานแฟนๆ ลิเวอร์พูลทั่วโลก แต่ยังรวมถึงการกระชับความสัมพันธ์ของแฟนๆ เหล่านั้นให้แนบชิดกับสโมสรมากขึ้น ในภาษาของตัวเอง ซึ่งขั้นตอนการคัดเลือก ทั้งการส่งใบสมัคร การสัมภาษณ์ในรอบคัดเลือก และรอบสุดท้ายจากฝ่ายผู้บริหารระดับสูงของสโมสร ไม่ยากเท่าความกดดันในการเป็นหนึ่งในทีมบุกเบิก และการสร้างชุมชนทางทวิตเตอร์ @ThaiLFC โครงการนำร่องแรกของสโมสร ให้เห็นว่าโครงการนี้นั้นทำได้จริงในทางปฏิบัติ
จากปี 2012 จนถึงปัจจุบัน ‘ลิเวอร์พูล ประเทศไทย’ หรือ ‘LFC Thailand’ คือชุมชนออนไลน์ของแฟนๆ ลิเวอร์พูลที่หนาแน่นที่สุดในโลก โดยเฉพาะบนเฟซบุ๊กที่มียอดติดตามกว่า 4 ล้านคน ซึ่งสำหรับตัวเอง รอยยิ้มจากการทำงาน ไม่ได้อยู่ที่ตัวเลข ยอดการติดตาม และการทำลายสถิติต่างๆ ของสโมสรเสียทีเดียว แต่คือ ความสุขที่ได้ติดตามสโมสรในระยะประชิดดั่งฝัน แล้วได้ถ่ายทอด และแบ่งปันเรื่องราวต่างๆ ในหมู่แฟนๆ หงส์แดง ทั้งในยามชนะ และพ่ายแพ้ รวมทั้งการได้กล่าวขอบคุณ ‘สตีเวน เจอร์ราร์ด’ นักเตะที่มอบแรงบันดาลใจในการเลือกทางเดินชีวิต และการได้ทำงานนอกสนามร่วมกับทีมงานลิเวอร์พูลในประเทศต่างๆ ที่ช่วยกันตีโอบโลก ในระหว่างที่นักเตะกำลังทำงานหนักในสนาม เพื่อเก็บเกี่ยวเกียรติยศต่างๆ กลับมาสู่สโมสรแห่งนี้ เพื่อ ‘รอยยิ้ม’ ที่กว้างกว่าเดิม ของทุกๆ คนที่รักทีมลิเวอร์พูล
You’ll Never Walk Alone

ฐานิดา เมนะเศวต

 อักษรจรัส อบ.65

ฐานิดา เมนะเศวต (ฐา)

อักษรศาสตร์รุ่น 65 เอกภาษาอังกฤษ

ฐาเรียนจบแล้วไปฝึกงานที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้ไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยในบ้านเราหลายแห่งจนทำให้สนใจงานด้านสิทธิมนุษยชนและการต่างประเทศ ก่อนได้ทุนรัฐบาลไปเรียนต่อปริญญาโทสาขา Gender and International Relations ที่ University of Bristol ประเทศอังกฤษ และกลับมาใช้ทุนที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ 1 ปี จนมีโอกาสได้ทำตามฝันของตัวเองโดยได้มาเริ่มงานที่กระทรวงการต่างประเทศ
งานแรกของฐาที่กระทรวงการต่างประเทศอยู่ที่ฝ่ายมนุษยธรรม กรมองค์การระหว่างประเทศ ฐาได้ทำงานเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย การค้ามนุษย์ และการส่งเสริมผลประโยชน์ของไทยในองค์การระหว่างประเทศตามที่ตั้งใจ ปีต่อมาฐาโชคดีได้รับโอกาสให้เป็นหนึ่งในผู้แทนไทยในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UN General Assembly) สมัยที่ 61 ที่นิวยอร์กเกือบ 4 เดือน โดยได้ร่วมเจรจาข้อมติและเป็นตัวแทนของประเทศในการประชุมด้านสิทธิมนุษยชนและสังคม พอกลับจากนิวยอร์กก็ครบรอบที่ต้องเปลี่ยนงานพอดี โดยได้ไปอยู่ฝ่ายญี่ปุ่น กรมเอเชียตะวันออก ทำงานส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่นและได้ใช้ทักษะ karaoke diplomacy เจรจาความเมืองผ่านการร้องคาราโอเกะ
อยู่ปีกว่า ๆ จนได้ออกประจำการต่างประเทศครั้งแรกที่สถานทูตไทยที่เวียงจันทน์ 4 ปี
ฐาบอกว่าชอบการทำงานในประเทศเพื่อนบ้านนี้มาก ได้งัดทักษะการฝึกภาษาที่เรียนรู้ที่อักษรจนพูดและเขียนภาษาลาวได้ รวมถึงได้หัดฟ้อนรำแบบลาว แม้ไทยและลาวจะมีประวัติศาสตร์ที่ไม่ราบรื่นตลอดเวลา แต่ฐาเชื่อว่าการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมลาวจะเปิดประตูสู่ใจพี่น้องคนลาวที่ฐาต้องทำงานด้วยว่าเราตั้งใจดี ที่เมืองลาวนี้
ฐาได้ทำงานแปลกใหม่มากมาย ได้เป็นเจ้าหน้าที่ประจำทีมนักกีฬาไทยในการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 25 เมื่อปี 2552 และได้รับเหรียญตราแรงงานจากรัฐบาลลาวในฐานะที่มีผลงานดีเด่นในการช่วยเหลือลาวเพื่อเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ ฐายังได้ผลักดันความร่วมมือกับฝ่ายลาวเกี่ยวกับโครงการในพระราชดำริและโครงการด้านการพัฒนาต่าง ๆ รวมทั้งทำงานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและเยาวชน สตรี คนพิการ และงานต่อต้านการค้ามนุษย์ ตามนโยบายการทูตเพื่อประชาชนเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับรัฐบาลและประชาชนลาว นอกจากนี้ ฐายังต้องคอยสอดส่องและผ่อนหนักเป็นเบาเมื่อปรากฎข่าวหรือเหตุการณ์ที่อาจเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” ในความสัมพันธ์ เช่น กระแสต่อต้านไทยในโซเชียลมีเดีย หรือการกล่าวถึงคนลาวในแง่ลบโดยสื่อไทยด้วย
เมื่อสลัดผ้าซิ่นกลับจากลาวมาอยู่กรุงเทพฯ ฐาได้ทำงานที่กรมองค์การระหว่างประเทศเหมือนเดิมแต่ได้เปลี่ยนหน้าที่ใหม่ โดยได้อยู่ฝ่ายสิทธิมนุษยชน งานที่ท้าทายคือการประสานท่าทีขององค์การระหว่างประเทศกับหน่วยงานไทยเพื่อยกระดับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนของไทย และงานสร้างความเข้าใจกับต่างชาติเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในบ้านเรา ฐายังได้เข้าร่วมการประชุมในกรอบคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ และได้เรียนรู้งานองค์การระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น
แต่ชีวิตคนทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศต้องย้ายที่ตลอดเวลา ปัจจุบัน ฐาได้ออกประจำการต่างประเทศอีกครั้ง โดยอยู่ที่สถานทูตไทยที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ โดยรับผิดชอบงานด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์และการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก
ฐาคิดเสมอว่าการเป็นเด็กอักษรช่วยให้ฐาเป็นนักการทูตในแบบที่ฐาเป็นในทุกวันนี้ สิ่งที่ได้จากคณะทำให้ฐาสนใจที่จะเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมใหม่ ๆ พยายามมีความยืดหยุ่นและปรับตัวเข้ากับสถานการณ์และ คนกลุ่มใหม่ ๆ ในทุกที่ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ ฐาบอกว่าอักษรไม่ได้ให้แต่วิชาความรู้ แต่ช่วยสร้างตัวตนของฐาด้วย

ทิชา สุทธิธรรม (ซอส) อักษรจรัส อบ.65

อักษรจรัสอีกคนที่ฉายแววตั้งแต่กำลังศึกษา คือ ซอส ทิชา สุทธิธรรม  ซึ่งในสมัยเรียน ซอสคว้ารางวัลชนะเลิศ Miss University League 2001-2002 ด้วยความสามารถในการกล่าวสุนทรพจน์ภาษาญี่ปุ่นและอังกฤษ จากนั้นก็ได้เริ่มก้าวเข้าสู่แวดวงสื่อสารมวลชน  โดยเริ่มจากเป็นผู้ประกาศข่าวช่อง TNN  ซอสได้รับการทาบทามให้ทำงานร่วมกับหลายช่อง และที่ช่อง 9 นี่เองที่ทำให้ซอสเริ่มต้นในงานข่าวเศรษฐกิจ ประเดิมด้วยการดำเนินรายการวิพากย์หุ้น ซึ่งต้องเริ่มทุกอย่างจากศูนย์ ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ของเด็กอักษรฯ  จากนั้นซอสก็เริ่มสนใจข่าวเศรษฐกิจการลงทุนอย่างจริงจัง "ซอสเชื่อว่าเศรษฐกิจนำการเมือง" ถ้าเศรษฐกิจดี บ้านเมืองก็จะเดินได้ดี  ซอสติดตามข่าวเศรษฐกิจทุกด้าน และมักได้รับเชิญเป็นวิทยากร/         ผู้ดำเนินเสวนาด้านอสังหาริมทรัพย์เเละเศรษฐกิจอยู่บ่อยครั้ง ซอสหลงใหลการวิเคราะห์เศรษฐกิจโลกเป็นพิเศษเพราะส่งผลอย่างมากต่อภาวะความเป็นไปในประเทศ เธอยืนยันว่าเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับเด็กอักษรฯ

เรื่องที่น่าจดจำของซอส คือ ครั้งหนึ่ง สถานี TNN ได้จัดสรรเวลาให้ซอสคิดรูปแบบรายการเอง ซึ่ง

ซอสทำได้ดีจนได้เพิ่มเวลาออกอากาศ ได้ทำรายการเกี่ยวกับ World News ซึ่งใช้ความรู้อย่างเต็มที่และได้รับการตอบรับดีมาก จากนั้น ซอสได้ร่วมงานกับช่อง 7 มีผลงานที่น่าจดจำ ไม่ว่าจะเป็นรายการเช้านี้      ที่หมอชิต  เจาะเกาะติด ได้บินไปทำข่าว  Exclusive การเลือกตั้งสหรัฐ และเป็นนักข่าวไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับเลือกให้ร่วมซักถามโต๊ะกลม อดีตประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ ในโครงการ  Habitat สร้างบ้านเพื่อผู้ยากไร้

จากการที่ได้ทำในสิ่งที่รักและรักในสิ่งที่ทำ  ซอสได้รับรางวัลการทำงานมากมาย อาทิ รางวัลพระกินรี รางวัลระฆังทอง และรางวัลเทพทองพระราชทานในฐานะสื่อสารมวลชนผู้จัดรายการวิทยุโทรทัศน์ดีเด่น  ปัจจุบัน ซอสเป็นผู้ประกาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง3 HD ดำเนินรายการจอโลกเศรษฐกิจ วิทยุครอบครัวข่าว FM106  มีธุรกิจของตัวเองในฐานะผู้จัดร่วมผลิต และยังทำช่อง Money Channel รายการ Money 360  ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งงานเกี่ยวกับด้านธุรกิจ การลงทุนที่เธอรักนั่นเอง

นิรามย์ วัฒนสิทธิ์ (เด่น) อักษรจรัส อบ.65

เส้นทางการทำงานของนิรามย์ วัฒนสิทธิ์ เริ่มต้นจากความหลงใหลเสน่ห์สื่อสิ่งพิมพ์ประเภทนิตยสารซึ่งมีเนื้อหาหลากหลายและนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ ระหว่างช่วงปิดเทอมก่อนขึ้นชั้นปีที่ 4  นิรามย์จึงเข้าไปฝึกงานที่นิตยสารแพรวสุดสัปดาห์ ซึ่งเป็นโอกาสแรกที่เขาได้ตีพิมพ์ผลงานและเห็นความสามารถของตัวเอง จึงตัดสินใจทำงานด้านนี้มาโดยตลอด โดยเริ่มต้นจากกองบรรณาธิการนิตยสารแพรวสุดสัปดาห์ สู่ตำแหน่ง Beauty Editor จากนั้นย้ายไปทำงานที่นิตยสาร HELLO! ตั้งแต่ครั้งแรกที่เปิดตัวในเมืองไทยด้วยตำแหน่ง Beauty Editor เป็นเวลา 7 ปีเต็ม

        จากการทำงานดังกล่าว ทำให้นิรามย์ได้มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศเพื่อนำเสนอข่าวและสัมภาษณ์บุคคลที่มีอิทธิพลทางด้านแฟชั่นและความงามในระดับสากล เช่น แฟชั่นดีไซเนอร์ นางแบบ นักปรุงน้ำหอม  ขณะเดียวกัน ยังเปิดโลกให้เขาพบความสนใจอีกด้านเกี่ยวกับอาหารและไลฟ์สไตล์ จนก่อตั้งแบรนด์ขนมชื่อ Eden's Kitchen เมื่อ 5 ปีก่อน และต่อยอดไปสู่การเป็น Creative Director ของนิตยสารไลฟ์สไตล์ฟรีก็อปปี้ “Lips LOVE” พร้อมกับขยายการทำงานไปสู่เส้นทางใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงกับโลกของอาหารและนิตยสาร เช่น เป็น food stylist ให้กับสิ่งพิมพ์ ร้านอาหารและแคมเปญต่างๆ เป็น prop stylist/set designer ให้กับแคมเปญโฆษณาสินค้าแบรนด์แฟชั่น งานอิเว้นท์ เป็นที่ปรึกษาโปรเจ็กต์ร้านอาหาร ซึ่งตลอดปี 2559 นิรามย์เป็นเชฟรับเชิญของร้านอาหาร It's Happened to be A Closet

        ถึงแม้ว่าประสบการณ์มีจะไม่ยิ่งใหญ่หรือวัดได้จากการประสบความสำเร็จ แต่เขามีความสุขที่สุดเมื่อได้แบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้ให้แก่บุคคลอื่นๆ เช่น เป็นวิทยากรรับเชิญในมหาวิทยาลัยและกองข่าวสำนักราชเลขาธิการ เป้าหมายที่ชัดเจนต่อจากนี้ของนิรามย์ คือการเพิ่มเติมความรู้และส่งต่อประสบการณ์ในแวดวงสิ่งพิมพ์ รวมทั้งการออกหนังสือหรือเว็บไซต์เกี่ยวกับอาหารและไลฟ์สไตล์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้ทั้งกับตนเองและผู้ที่เห็นคุณค่าของการใช้ชีวิตอย่างรื่นรมย์

ปวีณา สุภิมารส (ปอมม์) อักษรจรัส อบ.65

หลังสอบเสร็จวิชาสุดท้ายชั้นปี 4 ได้เพียงสามวัน ปอมม์สลัดชุดนิสิตก้าวเข้าสู่ชีวิตคนทำงานทันทีด้วยตำแหน่ง Copy Writer บริษัทโฆษณา อยู่ได้ไม่นานเกิดตระหนักว่าอยากใช้ความรู้ความสามารถทำงานเพื่อประเทศชาติมากกว่าจะทำเพื่อธุรกิจเอกชน ด้วยความมุ่งมั่นอยากเข้ารับราชการ ปอมม์สอบทุน ก.พ. ไปศึกษาต่อด้าน Women’s Studies สาขาใหม่เอี่ยมในเมืองไทยซึ่งสมัยสิบกว่าปีก่อนเอ่ยชื่อไปก็มีแต่คนทำหน้างงว่าไปเรียนอะไรกันแน่ เลือกสมัครเรียนมหาวิทยาลัยดังที่ฝรั่งเศสตามความฝันของคนจบเอกภาษานี้ส่วนมาก แต่ชะตาก็พลิกผันให้ต้องเปลี่ยนเป้าหมายไปเรียนที่อังกฤษแทน ณ University of Leeds ที่ซึ่งปอมม์คว้าปริญญาโทและปริญญาเอกสาขา Gender Studies กลับมา ระหว่างเรียนได้มีโอกาสร่วมงานกับ agencies ล่ามแปลหลายแห่ง ซึ่งทำให้ได้ใช้ความรู้ทางภาษาช่วยเหลือคนไทยตกทุกข์ได้ยากในต่างแดนหลายต่อหลายราย

ปอมม์เริ่มบรรจุเข้ารับราชการครั้งแรกที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รับผิดชอบเรื่องการดำเนินงานตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสตรีทุกสิ่งอย่าง ทั้งในกรอบคณะกรรมาธิการอาเซียนด้านสตรี ความร่วมมือเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน ความร่วมมือเอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation) ไปจนถึงการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี (Commission on the Status of Women) ที่สำนักงานใหญ่ UN ในนิวยอร์ก ระหว่างนี้ยังได้มีโอกาสกลับมาเยือนถิ่นเก่าที่คณะอักษรฯ ในฐานะอาจารย์พิเศษหลักสูตรนานาชาติ วิชา Gender and Cultural Representation อีกด้วย และยังได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการระบบข้าราชการผู้มีผลสัมฤทธิ์สูง ของสำนักงาน ก.พ.

            ขณะที่การงานกับกรมกิจการสตรีฯ กำลังรุ่ง ปอมม์ก็เกิดมาค้นพบตัวเองว่างานที่กำลังทำอยู่ถึงจะรักแค่ไหนแต่มันก็ยังไม่ใช่  จากการทำงานด้านต่างประเทศมาหลายปีทำให้ปอมม์ตระหนักว่างานด้านการทูตน่าจะเป็นคำตอบที่ค้นหามานาน ว่าแล้วปอมม์ก็แอบซุ่มเงียบสมัครสอบเข้ากระทรวงการต่างประเทศด้วยความมุ่งมั่น ใช้เวลาเพียงหนึ่งเดือนกว่าๆ ทำงานประจำไปด้วย อ่านหนังสือเตรียมสอบไปด้วยแบบสู้ตายถวายชีวิต ในที่สุดก็ฝ่าด่านอรหันต์ในการสอบคัดเลือกหลายด่าน เข้ารับการบรรจุเป็นนักการทูต กระทรวงการต่างประเทศอย่างเต็มภาคภูมิ แต่นั่นหมายถึงการเริ่มต้นสายงานอาชีพใหม่ในวัย 30 ต้นๆ เริ่มต้นสตาร์ทเงินเดือนและตำแหน่งกันใหม่ (คือถ้าไม่ติสท์จริงทำไม่ได้นะเนี่ย!) ถามว่าคิดนานมั้ยถึงตัดสินใจมาทางนี้ ก็นานอยู่เหมือนกัน (นานจนสมัครสอบเอาทันวันสุดท้ายพอดี) แต่สุดท้ายก็บอกตัวเองว่า อยากทำอะไรก็ทำ ดีกว่ามาเสียใจทีหลังที่ไม่ได้ทำ เลือกเดินในเส้นทางที่หัวใจบอกว่าใช่ แล้วเราจะมีความสุข จากนั้นอะไรๆมันจะหาทางให้ชีวิตมันลงตัวเอง นี่คือสิ่งที่เราเชื่อ ปัจจุบัน ปอมม์สังกัดกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (เด็กอักษรต้องทำได้ทุกอย่างสิน่า!) รับผิดชอบด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขง ช่วงนี้เลยรักประเทศเพื่อนบ้านมากเป็นพิเศษ อยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศสนุกอยู่อย่างตรงที่ว่าเราจะได้มีการหมุนเวียนเปลี่ยนกรมไปเรื่อยๆ เพื่อเรียนรู้งานอย่างทั่วถึง และมีโอกาสได้ออกประจำการต่างประเทศ ทุกวันนี้ปอมม์มีความสุขกับเส้นทางที่เลือก รอลุ้นกันต่อไปว่าเส้นทางนี้จะพาเราไปไหนต่อ รู้อย่างเดียวว่ามันต้องสนุก!

          

ปิยธิดา สุพัฒนะ ( ธีรกุลชัยกิจ) (ตาล) อักษรจรัส อบ.65

ตาลเลือกเรียนภาษาจีนเพราะมีเชื้อสายจีน จึงมีความตั้งใจที่จะสืบสานความสัมพันธ์ไทย-จีนในหลายมิติ หลักเรียนจบ ตาลเริ่มทำงานที่บริษัท McKinsey & Company ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวผ่านจากโลกแห่งวรรณกรรมอันแสนคุ้นเคยสู่โลกแห่งธุรกิจ ก่อนที่จะตัดสินใจย้ายงานเพื่อให้ได้ใช้ภาษาจีนอีกครั้ง โดยไปทำงานที่ไต้หวันด้วยวัยเพียง 21 ปี ในตำแหน่ง Assistant to Construction Manager ที่ High Speed Rail C295 Project โครงการร่วมทุนระหว่างบริษัทอิตาเลียนไทยและบริษัท เอเวอร์กรีนของไต้หวัน ซึ่งการทำงานที่นั่นทำให้ตาลรู้ว่าตาลชอบภาษาจีนและชอบอยู่ในแวดวงธุรกิจ

เมื่อตาลได้รับทุนการศึกษาบางส่วนจากคณะบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ตาลจึงตัดสินใจกลับมาเรียนต่อปริญญาโท และเข้าทำงานที่ธนาคารกสิกรไทยด้านการตลาดที่เน้นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนตามที่เคยตั้งใจ ตาลมีโอกาสได้ทำงานในส่วนพัฒนาธุรกิจซึ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ของธนาคารฯ เพื่อขยายธุรกิจไทย-จีนของธนาคารฯ เช่น งานกลยุทธ์ งานบริหารความเสี่ยง งานบริหารเงิน งานทรัพยากรบุคคล และงานพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการของสาขาต่างประเทศ เป็นต้น ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ตาลจึงเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนธุรกิจไทย-จีนเสมอ เช่น เป็นหนึ่งในคณะทำงานที่ทำให้ธนาคารกสิกรไทยสามารถเริ่มทำธุรกรรมการชำระเงินด้วยสกุลหยวน (RMB Settlement) ได้เป็นธนาคารแรกๆ ในประเทศ และเป็นหนึ่งในคณะทำงานที่ทำให้ธนาคารได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกรรมเงินหยวนในประเทศจีนได้สำเร็จ

ด้วยใจรักและมุ่งมั่นในการทำงานทำให้ตาลได้รับรางวัล Star awards จากธนาคารในปี 2549-2552 และได้รับรางวัล K Heroes ซึ่งถือเป็นรางวัลแห่งความภูมิใจของพนักงานที่มีผลการดำเนินงานยอดเยี่ยมสูงสุดในปี 2552 และ 2556 ปัจจุบันตาลทำงานตำแหน่งผู้บริหารงานพัฒนาธุรกิจลูกค้าข้ามประเทศ (Head of World Business Solution Development) ดูแลและให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าไทย-จีน   ที่ต้องการลงทุนในประเทศจีนและประเทศไทย

ปิยเนตร ฉั่วสมบูรณ์ (ส้ม) อักษรจรัส อบ.65

“ส้ม” เป็นนิสิตเอกฝรั่งเศสที่ปัจจุบันทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศของบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ประจำอยู่ที่หอบังคับการบินสุวรรณภูมิและห้องเรดาร์ควบคุมจราจรทางอากาศสนามบินสุวรรณภูมิ (Bangkok Radar Approach Control) มีหน้าที่หลัก คือ ให้คำแนะนำสั่งการกับนักบิน จัดระเบียบเครื่องบินที่บินมาจากทุกทิศทุกทางให้ลงจอดได้อย่างปลอดภัย และคอยควบคุมดูแลไม่ให้เครื่องบินเข้าใกล้กันเกินมาตรฐานจนอาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยได้

คนส่วนใหญ่แปลกใจว่าจบอักษรฯ มาทำงานสายนี้ได้ด้วยหรือ เพราะค่อนข้างแหวกแนวจากเพื่อนๆ คำตอบ คือ ได้ ถ้าเรามีความรักและความสนใจในสิ่งที่เราทำ ช่วงแรกกังวลอยู่พอสมควรตั้งแต่กระบวนการสอบที่กินระยะเวลาถึง 6 เดือน ต้องมีการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ การสอบวัดผลและทบทวนความรู้ที่สอบกันเป็นประจำจนกระทั่งบัดนี้ เพราะงานเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศต้องการความถูกต้องแม่นยำที่สุด ไม่มีคำว่าผิดพลาดในงาน เพราะนั่นหมายถึงทรัพย์สินและชีวิตมนุษย์ที่ไม่สามารถประเมินค่าได้

นอกจากงานประจำที่หอบังคับการบินแล้ว ส้มยังทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้ความรู้ คำแนะนำเกี่ยวกับงานด้านการบินและงานควบคุมจราจรทางอากาศ ซึ่งเป็นงานที่รู้สึกดีและภูมิใจที่อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่ที่สนใจคณะอักษรศาสตร์และงานควบคุมจราจรทางอากาศได้บ้าง ซึ่งนับจากวันที่เริ่มเข้ามาทำงานนี้ รวมเวลาเกือบ 12 ปีแล้ว ส้มยังคงมีความสุขกับงานทุกวัน ส้มบอกว่าสิ่งที่ภูมิใจมากที่สุดในชีวิตสองสิ่งคือการได้เข้าไปเป็นนิสิตอักษรฯ และการได้นำความรู้ที่ได้จากคณะมาทำตามความฝัน เป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ คอยดูแลเครื่องบินและผู้โดยสารให้เดินทางถึงจุดหมายปลายทางด้วยความปลอดภัย

ภาณิศา ภูวภิรมย์ขวัญ

อักษรจรัส อบ.65

ภาณิศา ภูวภิรมย์ขวัญ (ลูกพีช)

เอกไทย

เป็นนิสิตในโครงการช้างเผือก ภาษาและวรรณคดีไทย รุ่นที่๘ เป็นหัวหน้านิสิตชั้นปีที่๑ ที่ได้ตำแหน่งมาอย่างงงๆ และก็พากองเชียร์เฟรชชี่อักษรฯทำตัวเถื่อนเอาสีทาหน้าทาตาไปนั่งแซวทุกคณะแม้แต่วิศวะและสัตวแพทย์!

เนื่องจากเลือก ศิลปะการละคร เป็นวิชาโท จึงเริ่มชีวิตการทำงานด้วยอาชีพ นักเขียนบท มีผลงานออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์หลายช่อง จากนั้นไปศึกษาต่อด้าน The Master of The Arts Management ที่ The University of Melbourne ประเทศออสเตรเลีย กลับมาทำงานกับ ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน ที่โรงละครภัทราวดี ซอยวัดระฆัง ในตำแหน่ง The Artist in Residency Program Director คอยประสานงานศิลปินจากต่างประเทศ ที่มาร่วมงานกับโรงละคร และ ทำทุกอย่างที่ทำได้

จากนั้นร่วมกับสามี เปิดบริษัท ซี สตูดิโอ จำกัด รับผลิตรายการโทรทัศน์ มีผลงานละครและรายการต่างๆมาอย่างต่อเนื่อง จึงผันตัวเองจากคนเขียนบทมาเป็นโปรดิวเซอร์ จากที่เคยคิดว่าเรียนอักษรฯ แล้วจะได้สวัสดีลาก่อนกับคณิตศาสตร์ก็กลายเป็นว่า หน้าที่หลักตอนนี้คือ คุมบัญชีบริษัท แต่ทุกวิชาที่อักษรศาสตร์ให้มา ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ในฐานะผู้ควบคุมการผลิตที่ต้องดูแลทุกแง่มุมของงาน

เป็นคนไม่ค่อยคิดหน้าคิดหลังเลยตัดสินใจเปิดพื้นที่เพื่อศิลปวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง ชื่อว่า Creative Industries เป็นสตูดิโอขนาด๑๕๐ที่นั่ง และปรับเปลี่ยนได้ทุกรูปแบบ จะเอาเวทีอยู่ซ้ายขวาหน้าหลังหรือห้องโล่งๆ ได้หมด

ภาสุรี ลือสกุล อักษรจรัส อบ.65

ไหม อักษรศาสตร์รุ่น 65 เอกสเปน เริ่มทำงานเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาสเปน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2547 หลังจากจบปริญญาตรี ไหมได้ไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านลาตินอเมริกาศึกษาและปริญญาเอกด้านวรรณคดีลาตินอเมริกา ที่มหาวิทยาลัยซาลามังก้า ประเทศสเปน และกลับมาบุกเบิกการสอนด้านลาตินอเมริกาศึกษาในสาขาวิชาภาษาสเปน ปัจจุบันไหมเป็นหัวหน้าสาขาวิชาภาษาสเปนและผู้อำนวยการศูนย์ลาตินอเมริกาศึกษา หัวข้อที่เชี่ยวชาญคือวรรณกรรม วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ลาตินอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการศึกษาเปรียบต่างจากมุมมองไทย นอกจากงานวิชาการแล้วไหมยังมีผลงานแปลวรรณกรรมอย่าง กวีนิพนธ์แห่งรักยี่สิบบทและบทเพลงความสิ้นหวังหนึ่งบท ของปาโปล เนรูดา กวีรางวัลโนเบลชาวชิลี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตชิลีในประเทศไทย ในวาระครบรอบหนึ่งร้อยปีปาโบล เนรูดา (2547) นวนิยาย สุดขอบโลกที่ฟินิสแตร์เร ของมาเรีย โรซา โลโฆ โดยได้รับทุนตีพิมพ์จากโครงการสนับสนุนการแปล”ซูร์” กระทรวงการต่างประเทศอาร์เจนตินา และได้รับรางวัลชนะเลิศ หนังสือแปลดีเด่น "รางวัลพระยาอนุมานราชธน" ประจำปี พ.ศ. 2558 ผลงานเล่มล่าสุดไหมเป็นบรรณาธิการต้นฉบับแปล บทกวีนิพนธ์ของเซซาร์ บาเยโฆ จัดทำในโอกาสครบรอบ 50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทยและเปรู ทั้งสามเล่มนับเป็นงานวรรณกรรมเล่มแรกของทั้งสามประเทศที่มีการแปลเป็นภาษาไทย

วรวรรณ ชูเรืองสุข เทอร์เนอร์ อักษรจรัส อบ.65

เมื่อเข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์ชั้นปีที่สอง  วรวรรณเพิ่งตระหนักว่าตัวเองไม่อยากเป็นครูสอนภาษาอังกฤษหรือนักภาษาศาตร์  แต่กลับสนใจที่จะเรียนรู้พฤติกรรมของมนุษย์    วรวรรณจึงเลือกเรียนหลายวิชาจากคณะจิตวิทยาที่เพิ่งเริ่มเปิดใหม่ในยุคนั้น  ยิ่งได้เรียนก็ยิ่งมั่นใจว่าความรักด้านภาษาเป็นเพราะต้องการเข้าใจคนอื่นและความเป็นมาของแต่ละคน  วรวรรณมุ่งหวังจะเรียนต่อปริญญาโทด้านจิตวิทยา

หลังเรียนจบปริญญาตรีเอกอังกฤษ โทอิตาเลี่ยนและจิตวิทยา วรวรรณทำงานเป็นเลขาให้กับผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างท่อบำบัดน้ำเสียในกรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างคนงานไทยและฝรั่งอยู่สองปีครึ่งจนเมื่อโครงการใกล้จบ        วรวรรณเข้าเรียนต่อปริญญาโทด้านจิตวิทยาการให้คำปรึกษา (Counseling Psychology) ที่  St. Mary’s University of Minnesota     หลังจากจบปริญญาโทจึงเริ่มทำงานกับผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตเรื้อรังและมีปัญหายาเสพติด และในช่วงการทำงานนี้ทำให้ได้เข้าใจเภสัชวิทยาที่ใช้กับผู้ป่วยโรคจิต และเรียนรู้ทรัพยากรในท้องถิ่น (community resources) ที่ผู้ป่วยสามารถใช้สอยเพื่อที่จะได้อาศัยอยู่ในชุมชนอย่างเป็นปกติ 

หลังจากสอบผ่านและได้รับใบประกอบวิชาชีพเป็นนักจิตวิทยาแล้ว  วรวรรณทำงานในคลินิกที่ให้คำปรึกษาผู้หญิงที่เป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว ติดยาเสพติด และผู้มีปัญหาทางอารมณ์โดยทั่วไป ในตอนนี้เองวรวรรณสมัครเรียนต่อและได้รับคัดเลือกให้รับทุนการศึกษาปริญญาเอก ด้านจิตวิทยาการให้คำปรึกษา  (Counseling Psychology) ในช่วงสี่ปีนี้วรวรรณได้ประสบการณ์หลายหลาก นอกจากให้คำปรึกษาผู้ที่มีประสบการณ์ความบอบช้ำทางจิตใจ (trauma) เช่น ผู้ที่ถูกข่มขืน  ถูกทารุณในวัยเด็ก วรวรรณได้ฝึกการทดสอบ IQ  บุคลิกภาพ และแนวอาชีพเป็นต้น 

ปีสุดท้ายก่อนเรียนจบปริญญาเอกวรวรรณได้ ฝึกงานที่ Hazelden Foundation สิ่งเป็นสถานบำบัดผู้ติดยาเสพติดทอันดับต้นๆ ของโลก  แม้ว่าวรวรรณได้รับข้อเสนอให้ทำงานต่อหลังจากฝึกงานจบ  วรวรรณเลือกที่จะทำงานต่อที่คลินิกเดิมจนกระทั่งปี พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา  วรวรรณเปิดกิจการให้คำปรึกษาเป็นของตัวเอง  นอกจากให้คำปรึกษาและทดสอบจิตวิทยา (psychological testing) วรวรรณได้รับเชิญบ่อยครั้งให้สอนนักศึกษาปริญญาโท และบรรยายให้เพื่อนร่วมงานด้านจิตวิทยาเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชาวไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วริศรา ศรเพชร

อักษรจรัส อบ.65

วริศรา ศรเพชร (เอย)

อบ.65 เอกภาษาอังกฤษ

วริศรา หรือ เอย เป็นที่รู้กันในกลุ่มเพื่อนว่าเป็นปัจเจกชนที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง หลังเรียนจบไม่นาน เอยเดินเข้าสู่งานทีวี สิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ ต่อด้วยงานด้านการสื่อสารให้กับ NGO ระดับนานาชาติในตำแหน่ง Regional Communications Manager ทำหน้าที่ให้คำแนะนำกลยุทธ์การสื่อสารแก่ประเทศต่างๆ ทั่วเอเชีย ในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิเด็ก ตลอดจนลงพื้นที่คลุกคลีกับผู้ประสบภัยพิบัติเพื่อเล่าเรื่องราวของพวกเขาผ่านสื่อต่างๆ และสร้างการรับรู้ให้คนทั่วโลกหยิบยื่นความช่วยเหลือให้ ไม่ว่าจะเป็นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย พายุไต้ฝุ่นที่ฟิลิปปินส์ แผ่นดินไหวที่อินโดนีเซีย น้ำท่วมที่อินเดีย ความขัดแย้งในติมอร์ตะวันออก จนถึงกับมีชื่อเล่นในหมู่เพื่อนร่วมงานว่า “A human disaster” ผลงานของเอยได้รับการตีพิมพ์ผ่านสื่อมากมาย อาทิ The Guardian, BBC, CNN รวมทั้งปรากฏบนจอยักษ์ที่ Time Square ด้วย จากงานในภูมิภาค เอยไปทำงานที่สำนักงานใหญ่ที่ประเทศอังกฤษ เป็นผู้นำทีมสื่อสารแคมเปญเพื่อสิทธิเด็กหญิง “Because I am a Girl” ร่วมกับทีมต่างๆ ใน 69 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเอยร่วมเปิดตัวแคมเปญนี้ที่นิวยอร์ก และมีบทบาทในการผลักดันการเปลี่ยนนโยบายระดับชาติเพื่อให้เด็กผู้หญิงทั่วโลกมีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น


ปัจจุบันเอยดำรงตำแหน่ง Acting Managing Director ของ Change.org Asia และ Campaigns Director/ Country Lead ของ Change.org ประเทศไทย ให้คำปรึกษาเรื่องยุทธศาสตร์การทำแคมเปญแก่ ผู้ที่มาสร้างเรื่องรณรงค์ผ่าน Change.org ซึ่งเป็นพื้นที่ออนไลน์เปิดให้คนทั่วไปสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองอยากเห็นได้ เอยรักงานนี้เพราะได้เป็นทางเลือกให้กับคนตัวเล็กๆ และคนที่คิดต่างได้แสดงจุดยืนและรณรงค์ในเรื่องอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเล็ก ใหญ่หรือหลุดโลก ขณะนี้ มีเรื่องรณรงค์ที่ประสบความสำเร็จมากมาย ตั้งแต่การผลักดันให้วาฬบรูด้าขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์สงวน เปลี่ยนกฏหมายเกี่ยวกับการทารุณกรรมเด็กให้เข้มงวดขึ้น ไปจนถึงการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคด้านต่างๆ เอยได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรตามมหาวิทยาลัยต่างๆ และยังได้รางวัลหลายรางวัลจากองค์กร ทั้งแบบจริงจังและรางวัลอย่าง “Most Likely To Be Quoted out of Context ด้วย ซึ่งสะท้อนถึงบุคลิกอีกด้านหนึ่งของเอยที่เพื่อนๆ คุ้นเคยได้เป็นอย่างดี

วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล อักษรจรัส อบ.65

สมัยเรียนเอกภาษาญี่ปุ่น ผมโชคดีได้ไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่น 1 ปี ที่ University of the Ryukyus, Okinawa เมื่อเรียนจบได้ตระเวนสอนภาษาญี่ปุ่นในสถาบันต่างๆ และทำงานประจำที่บริษัท Nippon Production Service ซึ่งทำข่าวและรายการโทรทัศน์ให้ช่อง NHK ของญี่ปุ่น  จากนั้น ผมสอบชิงทุนรัฐบาลญี่ปุ่นไปทำวิจัยและปริญญาโทที่ International Christian University ก่อนจะศึกษาระดับปริญญาเอกที่ Keio University ซึ่งแม้จะเรียนไม่จบในระยะเวลาที่ทุนกำหนด ผมก็ได้รับปริญญาโทใบที่สอง ระหว่างการเรียน ผมได้ทำงานสอนภาษาไทยให้คนญี่ปุ่น และเป็นล่ามอิสระของงานต่างๆ ด้วย

เมื่อกลับมาไทย ผมยังทำงานเป็นอาจารย์ภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ และเป็น Marketing Consultant ให้บริษัท Corporate Directions, Inc. ก่อนจะลาออกมาเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยต่างๆ

ทำงานโทรทัศน์ทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง และเป็นวิทยากรอิสระด้วย ที่ดีใจที่สุดคือได้เป็นล่ามให้ Mr. Yukihiko ของวง L' Arc-en-Ciel ที่มาเล่นคอนเสิร์ตที่เมืองไทย ต่อมา ทางปัญญาภิวัฒน์ (เครือ CP) มีแผนจะตั้งสาขาวิชาญี่ปุ่นธุรกิจ จึงต้องการหาคนที่ “ได้ทั้งวิชาการและธุรกิจ” เพื่อวางหลักสูตรและแผนการตลาด ผมได้ไปเป็นหัวหน้าสาขาญี่ปุ่นธุรกิจที่นั่น ปัจจุบัน ผมย้ายมาทำงานในสถาบันการเงินชื่อ AIRA Capital และในวันเสาร์-อาทิตย์ เป็นนักศึกษาปริญญาเอกสาขา Intercultural Business Communications ที่คณะศิลปะศาสตร์

          ผมคิดว่าคุณสมบัติที่เด่นของผมคือ "ความอึดถึกและบึกบึน" เพราะสมัยเรียน ผมก็ไม่ได้เรียนเก่งโดดเด่น แต่ผมเชื่อว่ามนุษย์มีวิวัฒนาการได้ ผมจึงสนุกกับการทำสิ่งใหม่ๆ ที่ท้าทาย ทั้งการเรียนและ    การทำงาน จึงอยากจะพัฒนาและวิวัฒนาการตัวเองไปให้ถึงขีดสูงสุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะไปได้ในช่วงชีวิตนี้ ซึ่งถึงแม้จะเหนื่อย แต่ก็มีความสนุกกับความเหนื่อยนั้น

อรอนงค์ เสนะวงศ์ (ไข่หวาน) อักษรจรัส อบ.65

 

หลังจากคว้าปริญญาตรีอักษรศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ  และปริญญาโทสาขา British Cultural Studies จาก University of Warwick ประเทศอังกฤษแล้ว ไข่หวานเลือกทำงานเป็นฟรีแลนซ์ด้านการแปล และเขียนคอลัมน์ซึ่งเป็นงานด้านภาษาที่เธอรัก เพื่อใช้เวลาส่วนใหญ่สานต่องานด้านการอนุรักษ์งานดนตรี ในฐานะกรรมการ-ผู้ช่วยเลขานุการของมูลนิธิสุนทราภรณ์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราช โดยมูลนิธิก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2545 มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และสืบสานงานเพลง      สุนทราภรณ์ให้คงอยู่คู่กับสังคมไทยต่อไป

สิบกว่าปีที่ผ่านมา ไข่หวานมีส่วนร่วมในการส่งต่อและเผยแพร่งานเพลงของสุนทราภรณ์อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การประกวดร้องเพลงสุนทราภรณ์ระดับเยาวชน การประกวดขับร้องเพลงสุนทราภรณ์ ชิงถ้วยพระราชทาน การจัดทำอัลบั้ม “บีเอสโอบรรเลง    สุนทราภรณ์” การทำละครเพลง “สุนทราภรณ์ เดอะ มิวสิคัล” ตัวเธอเองเป็นวิทยากรพิเศษ และเป็นผู้ร่วมจัดทำและรับหน้าที่วิทยากรรับเชิญให้กับ“พิพิธภัณฑ์บ้านครูเอื้อ... อัมพวา” ในโครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ ของมูลนิธิชัยพัฒนา  และเมื่อในปี 2553 ซึ่งครบรอบ 100 ปีชาตกาลของครูเอื้อ สุนทร-สนาน ไข่หวานเป็นหนึ่งในคณะทำงานที่รวบรวมประวัติผลงานของครูเอื้อ และเรียบเรียงเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเสนอต่อองค์การยูเนสโก จนครูเอื้อฯ ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านวัฒนธรรมดนตรีสากล ประจำปี พ.ศ. 2553

สำหรับปี 2559 นี้ ไข่หวานเป็นหนึ่งในคณะทำงานของคอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติครบ ๗๐ ปี และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย ทูลเกล้าฯ ถวาย โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการจัดงานคอนเสิร์ตที่สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์จะจัดขึ้น เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ อีกด้วย

 

อังคาร มหาวนา (มีน) อักษรจรัส อบ.65

ดิฉัน อังคาร มหาวนา หรือทุกคนเรียกกันสั้นๆ ว่า "มีน" หลังจากจบอักษรฯ ชีวิตฉัน คือ ชีวิตที่ต้องดิ้นรน เส้นทางคดเคี้ยวบ้าง ขรุขระบ้างแต่มีสีสัน ฉันรักชีวิตอิสระ จึงเลือกที่จะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง แต่มันไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะการทำธุรกิจต้องมีทั้งความรู้และเงินลงทุน  ฉันจึงเรียนต่อเฉพาะทางในสิ่งที่ชอบ คือการทำเสื้อผ้าจนจบการทำเสื้อผ้าชั้นสูงจากโรงเรียนสอนตัดเสื้อพรศรี  วันที่ 1 กันยายน 2546 ฉันเปิดร้านเสื้อผ้าของตัวเองร้านแรก ชื่อร้าน "Dresstokill" มันคือร้านรูปตัวแอลเล็กๆ ใต้โรงหนังลิโด้  ตอนนั้นฉันไม่มีความรู้เรื่องการทำธุรกิจใดๆ ต้องลองผิดลองถูกด้วยตัวเองทั้งหมด  ฉันทำหน้าที่แทบทุกอย่าง เป็นพนักงานขาย คนทำความสะอาด ช่างทำแพทเทิร์น ฝ่ายจัดซื้อ โชคดีลูกค้าให้การตอบรับอย่างดีจนร้านมีชื่อเสียง เสื้อผ้าได้ลงนิตยสารดังหลายเล่ม เช่น CLEO และ ELLE รายการทีวีดังหลายรายการยืมเสื้อผ้าไปใส่ถ่ายรายการ เช่น ดาวกระจาย รายการวันวานยังหวานอยู่   

หลังแต่งงานในปี 2548 ฉันกับสามีร่วมกันทำงานและขยายธุรกิจออกไปอีกหลายอย่าง เช่น ร้าน ladybird เสื้อผ้าขายส่ง ร้าน Secretary ทำเสื้อผ้าชุดทำงาน ซึ่งเป็นจุดกำเนิดให้เราได้เปิดบริษัทดีทีเค รีเลชั่น โปดักซ์ จำกัด ซึ่งฉันรับตำแหน่งกรรมการบริษัท เราทำงานหลายรูปแบบ เช่น ชุดพนักงานบริษัท เสื้อยืด เสื้อโปโล ตัวอย่างลูกค้าที่ใช้บริการ อาทิ สำนักงานกรุงเทพมหานคร บริษัท Sanofi Aventis, Berlinger, Smirnoff, Black Label ผลงานทุกร้าน ทุกงาน ฉันทำด้วยใจรักและฉันยังมีโปรเจ็คใหม่ที่อยู่ในขั้นตอนการผลิต คือ เสื้อผ้าออกกำลังกายภายใต้ชื่อแบรนด์ “FINN" ซึ่งจะเน้นขายทางอินเตอร์เนต   

เรื่องสำคัญที่ฉันขอยกเป็นผลงานและความภาคภูมิใจ คือ การได้เป็นแม่ของมนุษย์น้อยๆ สองคน  ซึ่งเป็นภารกิจและหน้าที่หลักในช่วงเวลานี้และตลอดไป การเป็นแม่และทำงานไปด้วยในเวลาเดียวกันค่อนข้างหนักทีเดียว แต่เมื่อฉันเห็นหน้าลูก พวกเขาคือคำตอบ ปัญหาและอุปสรรคเป็นเรื่องสามัญของชีวิต  หนทางยังอีกยาวไกลค่ะ เด็กอักษรฯ คนนี้ก็ยังต้องสู้ต่อไป ขอบคุณโอกาสที่ทำให้ได้รู้จักทุกคน และมีทางเดินชีวิตร่วมกันในรั้วอักษรฯ

อำนรรฆพัชร พรประพันธ์ (มิ้ม) อักษรจรัส อบ.65

เมื่อตอนเรียนจบใหม่ๆ มิ้มได้ปฏิเสธโอกาสในการทำงานในบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ตนเองใฝ่ฝันมาโดยตลอด  แต่กลับเลือกทำงานให้กับองค์กรช่วยเหลือสังคม “Plan International”  ในสายงาน HR เพราะความต้องการใช้ความรู้เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ปัจจุบันมิ้มยังคงอยู่ในเส้นทางของงานพัฒนาสังคม โดยทำงานให้กับองค์กร SAVE THE CHILDREN  ในตำแหน่ง Humanitarian Human Resources Manager  

ด้วยจิตใจที่มุ่งมั่นที่จะอุทิศตัวเองทำงานช่วยเหลือสังคม  มิ้มเป็นผู้หนึ่งที่ลงพื้นที่ประสบภัยพิบัติต่างๆ ของโลกโดยไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก หรือกังวลว่าจะเกิดอันตรายกับตนเอง เช่น  เมื่อครั้งไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนถล่มฟิลิปปินส์เมื่อปี พ.ศ. 2556  มิ้มเดินทางเข้าร่วมกลุ่มชุดลงพื้นที่หลังจากเกิดเหตุเพียงไม่กี่วัน ซึ่งขณะนั้น ฟิลิปปินส์ขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มอย่างหนัก ความช่วยเหลือเข้าไปไม่ถึงประชาชนส่วนในของเกาะ งานสร้างขวัญและกำลังใจพร้อมกับการให้ความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยจึงจำเป็นอย่างยิ่ง และอีกครั้งกับเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้ออีโบล่าในทวีปแอฟริกาเมื่อปี พ.ศ. 2557  มิ้มอาสาสมัครไปทำงานที่ประเทศไลบีเลีย (Liberia) หนึ่งในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคมากที่สุด  โดยทำงานฝ่ายสนับสนุนร่วมกับทีมปฏิบัติการในพื้นที่ (ทีมแพทย์และหน่วยกู้ภัย)  ซึ่งสำนักงานมีกฎมากมายเพื่อป้องกันไม่ให้คนทำงานติดเชื้อ เช่น  การล้างมือวันละหลายสิบรอบ  การห้ามสัมผัสตัวกันไม่ว่ากรณีใดๆ และยังมีความยากลำบากเรื่องอาหารการกินที่แตกต่างจากประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง   กว่าสิบปีที่ผ่านมาที่มิ้มยังคงเดินทางต่อในสายอาชีพนี้ด้วยความตั้งใจมั่น  เราจึงขอยกให้เป็น “อักษรจรัส”  ของอบ. 65 ค่ะ

แป้ง สุดาวดี อักษรจรัส อบ.65

อาจารย์ แป้ง สุดาวดี

เอก ฝรั่งเศส คนนี้มีใจรักภาษาและวัฒนธรรมฝรั่งเศสเป็นอย่างยิ่งตั้งแต่สมัยยังไม่เข้ามหาวิทยาลัยและยิ่งมาเรียนที่คณะอักษรฯ ความรัก ความทุ่มเทในด้านนี้ก็ยิ่งชัดเจนและเพิ่มมากขึ้นไปอีกตลอดระยะเวลา 4 ปี   หลังจากเรียนจบอักษร แป้งก็ได้ไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศสเพื่อไปตามความฝันของเธอที่ต้องการจะเป็นครูสอนภาษาฝรั่งเศส โดยได้รับทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสเพื่อไปศึกษาต่อที่เมืองตูลูสในระดับปริญญาตรีจนกระทั่งถึงปริญญาเอก   

ตลอดระยะเวลาที่อยู่ที่ฝรั่งเศส เธอก็ได้สอนภาษาฝรั่งเศสให้แก่คนไทยที่อยู่ที่โน่นและเพิ่มพูนประสบการณ์ด้วยการทำงานตำแหน่งพิสูจน์อักษรให้แก่สำนักพิมพ์เล็กๆในเมืองที่ศึกษาอยู่  

หลังจากอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศสได้เกือบสิบปีจนกระทั่งเรียนจบปริญญาเอกด้านภาษาศาสตร์ เธอก็ได้กลับมาประเทศไทยเพื่อมาทำความฝันตั้งแต่สมัยเด็กให้เป็นจริง นั่นก็คือ การทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ทางด้านที่เรียนมา  เธอเล่าให้ฟังว่าตอนจบใหม่ๆไฟแรง และก่อนกลับมาได้อธิษฐานกับร. 5 ว่า อยากทำเหมือนหมอคือรักษาโดยไม่เลือกคนไข้ ฉะนั้น เธอจึงได้มาสมัครที่วิทยาลัยานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากรซึ่งเป็นที่แรกที่เธอเห็นเปิดรับสมัครอาจารย์  ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ทำงานที่ศิลปากร  นอกเหนือจากงานด้านการสอนแล้ว เธอยังผ่านการทำงานบริหารในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบัณฑิตศึกษาและวิจัยของวิทยาลัยนานาขาติที่สอนอยู่  และเป็นหนึ่งในทีมที่เดินทางเจรจาความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยประเทศต่างๆ และแน่นอน หนึ่งในนั้นก็มีมหาวิทยาลัยที่ประเทศฝรั่งเศสด้วย

นอกจากนั้น อาจารย์แป้งยังได้ผลิตผลงานวิชาการออกมาเป็นประจำเสมอ ทั้งได้ไปนำเสนอผลงานวิจัยที่ต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นที่ประเทศออสเตรเลียและประเทศไซปรัส และมีผลงานตีพิมพ์ลงวารสารทั้งในประเทศและของประเทศฝรั่งเศส   เมื่อไม่นานมานี้ อาจารย์แป้งได้รับการโหวตจากอาจารย์และเจ้าหน้าที่ให้เป็นบุคลากรดีเด่นของคณะ  ตอนนี้เธอกำลังสนุกสนานกับการจัดกิจกรรม French Club ให้ลูกศิษย์ที่คณะซึ่งเป็นกิจกรรมที่เธอได้รับแรงบันดาลใจมาจากกิจกรรมที่เคยเข้าร่วมตอนอยู่คณะอักษรฯ เพราะเธออยากให้ลูกศิษย์เข้าใจวัฒนธรรมอื่นและเรียนรู้ความแตกต่างของคนแต่ละชาติเพื่อให้ทำงานและอยู่กับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ตอนนี้เธอกำลังขะมักเขม้นทำงานวิจัยและแต่งตำราภาษาฝรั่งเศสอยู่ คาดว่าน่าจะเสร็จในเร็วๆนี้  เราก็ขอเอาใจช่วยให้เธอสนุกสนานกับงานในสายอาชีพนี้ต่อไปเรื่อยๆนะจ้ะ   

 

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University