อักษรศาสตร์ดีเด่น ปี 2560

คุณหญิงทิพยวรรณ ตันตกิตติ์

คุณหญิงทิพยวรรณ ตันตกิตติ์

(อักษรศาสตรบัณฑิต รุ่นที่ ๓๔)


หลังสำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์แล้ว ได้เข้าศึกษาที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เป็น วปอ. รุ่น ๓๖๖(ปรอ. ๖)  ในด้านการงานอาชีพ เป็นรองประธานกรรมการบริหาร โรงแรมมณเฑียร กรุงเทพ และ โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์ เป็นผู้ริเริ่มจัดการประกวดวาดภาพเขียนเด็กไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ และเป็นประธานและรองประธานในการจัดประกวดแข่งขันวาดภาพและนิทรรศการอีกหลายงาน ที่ยังทำอยู่จนปัจจุบันคือ ประธานคณะกรรมการจัดงาน “นิทรรศการศิลปกรรมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ” จัดโดยโรงแรมมณเฑียรร่วมกับสภากาชาดไทย ศิลปินอิสระ ๙๖ และบริษัท นูโวเทค จำกัด เพื่อนำเงินรายได้ทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลบำรุงสภากาชาดไทย ทางด้านการศาสนาได้ร่วมเป็นกรรมการระดมเงินบริจาคทั้งจากการทอดผ้าป่าสามัคคีหารายได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ร่วมกับศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจัดกิจกรรมบรรพชาสามเณรซึ่งเป็นเยาวชนที่อยู่ในระหว่างต้องคำสั่งศาลให้ควบคุมความประพฤติที่วัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแก่สมเด็จย่าแม่ฟ้าหลวงในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

จัด “โครงการมณเฑียรธรรม”เพื่อเผยแผ่ธรรมเชิงปฏิบัติเป็นประจำทุกเดือนโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย รวมทั้งจัดอบรมวิปัสสนา และจัดกิจกรรมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม เช่น นิทรรศการ “เครื่องว่างไทย และศิลปวัฒนธรรม ๔ ภาค” และจัดงาน “วัฒนธรรมไทย อาหารไทย สร้างสายใยศิลปาชีพ” นอกจากนี้ยังได้ทำงานการกุศลในองค์กรต่าง ๆ เช่น มูลนิธิกตเวทินในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิพัฒนาสถานอนามัยเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา นวมินทราชินี มูลนิธิการแพทย์สยามบรมราชกุมารี สโมสรซอนต้าสากล และสภาลูกเสือแห่งชาติ

เมื่อคณะอักษรศาสตร์หรือสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จัดกิจกรรมหาทุนหรือมีการประชุม ได้ให้การสนับสนุนด้านสถานที่จัดงาน และร่วมบริจาคเงินสมทบ เช่น การระดมเงินบริจาคเข้ากองทุนบรมราชกุมารี สนับสนุนการแสดงอุปรากรจีนพูดไทยเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง “แปดเซียนถวายพระพร” ที่หอประชุมจุฬาฯ ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ ๕ รอบ เป็นต้น

จากผลงานต่าง ๆ ที่ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง ให้การสนับสนุนกิจกรรมทั้งทางศาสนาและศิลปวัฒนธรรม สร้างประโยชน์แก่สังคมโดยรวม สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง คุณหญิงทิพยวรรณ ตันตกิตติ์ เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๐

ท่านผู้หญิงรวิจิตร์ สุวรรณบุบผา

ท่านผู้หญิงรวิจิตร์ สุวรรณบุบผา (อักษรศาสตรบัณฑิต รุ่นที่ ๓๒)


หลังสำเร็จการศึกษา ได้เข้าทำงานที่กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ จนได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์ฯ และเป็นนางสนองพระโอษฐ์จนถึงปัจจุบัน ได้ตั้งใจปฏิบัติงานอย่างดียิ่งด้วยสำนึกในความโชคดีที่ได้มีโอกาสถวายการรับใช้เบื้องพระยุคลบาทมานานกว่าสี่สิบปี แม้จะเป็นเพียงส่วนน้อยนิด แต่ก็ถือว่าได้โดยเสด็จในการทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน เมื่อแรกเข้าทำงาน มีหน้าที่ดูแลคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ได้ถวายการรับใช้ในการเสด็จเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในช่วงที่บ้านเมืองยังมีการก่อความไม่สงบ การเสด็จเยี่ยมราษฎรในบางพื้นที่เต็มไปด้วยอันตราย แต่ทุกพระองค์ก็มิได้ย่อท้อ ยังเสด็จไปพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรที่ยังลำบากยากจนในท้องถิ่นทุรกันดาร ท่านผู้หญิงมีหน้าที่เดินทางล่วงหน้าไปสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้ทราบข้อมูลเบื้องต้น ปัญหาความเดือดร้อน ทำบันทึกรายงานและพระราชเสาวนีย์เกี่ยวกับงานต่าง ๆ ว่าจะพระราชทานความช่วยเหลืออย่างไร ท่านผู้หญิงจะดำเนินการตามพระราชกระแสให้ลุล่วง ติดตามความก้าวหน้าและถวายรายงานเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยของราษฎร ได้ทรงแนะให้ผู้ปฏิบัติงานเห็นความสำคัญของการดูแลติดตามงานอย่างต่อเนื่อง คนป่วยเป็นภาระของครอบครัว ต้องหยุดงานมาดูแลกัน ทำให้ขาดรายได้ อาจต้องกู้หนี้ยืมสินมารักษา ทรงให้ดูแลจนรักษาหาย หางานอาชีพเสริมให้ จัดที่พักให้ทั้งคนเจ็บและญาติหากต้องมารักษาที่กรุงเทพฯ ทรงติดตามข่าวสารเสมอ หากมีราษฎรตกทุกข์ได้ยาก ก็จะทรงพระราชทานความช่วยเหลือ ส่งคนไปเยี่ยม ติดตามอาการ พระราชทานของและเงินเยี่ยมเพื่อนำไปจุนเจือครอบครัวระหว่างที่ยังเจ็บอยู่ในโรงพยาบาล รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่บาดเจ็บจากเหตุระเบิดที่ราชประสงค์ด้วย เพื่อให้เขารู้สึกปลอดภัยไม่ถูกทอดทิ้งและมีความรู้สึกที่ดีกับประเทศไทย

ด้วยภาระหน้าที่รับผิดชอบคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ทำให้ต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้านการแพทย์ อาการของโรค การรักษาที่ถูกต้อง ทำความเข้าใจระบบการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน วิธีการซักถามอาการป่วย เพื่อผ่อนภาระของแพทย์ในการวินิจฉัยเบื้องต้น รวบรวมรายชื่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ และโรงพยาบาลทั่วประเทศที่ให้ความร่วมมือในการรักษาผู้ป่วย อำนวยความสะดวกแก่แพทย์และพยาบาลผู้ถวายการรักษาพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนดูแลความเจ็บป่วยของข้าราชบริพารและผู้ที่ทำงานถวาย เป็นผู้จัดระบบการจัดอาสาสมัครเยี่ยมผู้ป่วย จัดทำฐานข้อมูลคนไข้ ทั้งยังได้ให้คำแนะนำช่วยเหลืออาจารย์และเพื่อนในคณะอักษรศาสตร์ที่เจ็บป่วยด้วย

การใช้ความรู้ความสามารถที่ได้รับจากคณะอักษรศาสตร์ ทั้งทักษะทางภาษา ความคิดสร้างสรรค์และการแสวงหาความรู้ทางการแพทย์เพื่อใช้ในงาน จนมีผู้กล่าวว่าเรียนมาทางอักษรศาสตร์การแพทย์ ได้ทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทมาอย่างดียิ่ง สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง ท่านผู้หญิงรวิจิตร์ สุวรรณบุบผา เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๐

นางเยาวภา พัธโนทัย

นางเยาวภา พัธโนทัย (อักษรศาสตรบัณฑิต รุ่นที่ ๓๖)
เมื่อสำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์แล้ว ได้เริ่มทำงานเป็นมัคคุเทศก์ที่บริษัท เมืองโบราณ จำกัด ได้ใช้ความรู้ทางด้านภาษาอย่างเต็มที่ ต่อมาได้เปลี่ยนไปทำงานเลขานุการและเจริญก้าวหน้าในการงานจนเป็นหัวหน้าแผนกพัฒนาพนักงานและกำลังพลที่บริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด จากนั้นได้ย้ายไปทำงานที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) รับผิดชอบงานด้านบริหารบุคคล จนได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้จัดการการพัฒนาระดับจัดการและผู้จัดการอบรมและพัฒนา ตามลำดับ ก่อนเกษียณอายุงานดำรงตำแหน่ง Talent Management Manager ได้ทำหน้าที่ดูแลและพัฒนาพนักงานของบริษัทอย่างจริงจังเพื่อให้เติบโตไปพร้อมกับองค์กรตามอุดมการณ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ทำให้พนักงานมีจิตสำนึกของการมีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อองค์กรและสังคม

หลักสูตรที่จัดอบรมจะมุ่งให้พนักงานได้เรียนรู้และเข้าใจการบริหารธุรกิจ บางหลักสูตรจะเชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างประเทศมาสอน จึงมีหน้าที่ติดต่อประสานงานและดูแลอำนวยความสะดวกแก่อาจารย์ต่างชาติที่มาสอน เตรียมความพร้อมของผู้เข้าอบรม บางหลักสูตรต้องเตรียมพนักงานให้ไปทำงานในต่างประเทศจึงได้พัฒนาหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อบริษัทจะส่งผู้บริหารไปสัมมนาต่างประเทศในหลักสูตรของ Harvard Business School นางเยาวภาจะมีหน้าที่เขียน Letter of Reference เพื่อให้ผู้สมัครได้รับการพิจารณารับเข้าอบรม นอกจากนั้นยังต้องบริหารจัดการและดูแลนักเรียนทุนของบริษัทที่จะส่งไปศึกษาต่อระดับปริญญาโททั้งในประเทศและต่างประเทศ ตั้งแต่การเตรียมความพร้อมด้านภาษาอังกฤษ การเขียน Essay เทคนิคในการสัมภาษณ์ ทำให้พนักงานได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศมากขึ้น ระหว่างเรียนก็ดูแลเรื่องความเป็นอยู่และดูแลค่าค่าใช้จ่ายให้เพียงพอ และจัดโปรแกรมศึกษางานหลังจบการศึกษากลับมาก่อนส่งไปปฏิบัติงาน นอกจากหลักสูตรของบริษัทแล้ว ยังได้มีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตรให้กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงการคลัง คือ “โครงการหลักสูตรฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับสมรรถนะที่ต้องการ” โดยได้ออกแบบโครงการหลักสูตรต่างๆ ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ (Vision) และพันธกิจ (Mission) ของกรมส่งเสริมการส่งออก เพื่อสร้างและพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพให้แก่สังคม
จากการที่มาร่วมการประชุมใหญ่และงานคืนสู่เหย้าที่สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จัดเป็นประจำ จึงได้รับการเสนอให้มาร่วมทำงานกับสมาคมฯ โดยทำหน้าที่เลขานุการสมาคม ๓ สมัย และอุปนายกสมาคม อีก ๒ สมัย ร่วมรับผิดชอบการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาคม เป็นกรรมการอำนวยการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ๖๐ พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโครงการ “อักษร-ศิลป์ เพื่อน้องโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์” เพื่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ให้โรงเรียนใช้จัดกิจกรรมต่าง ๆ และเป็นที่พักแรมสำหรับนิสิตนักศึกษาที่ไปออกค่าย

ด้วยความรู้ความสามารถ ประสบการณ์และความเสียสละ อุทิศตนทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมตลอดมา สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง นางเยาวภา พัธโนทัย เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๐

บุษยา มาทแล็ง

นางบุษยา มาทแล็ง (อักษรศาสตรบัณฑิต รุ่นที่ ๔๕)


จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ โดยได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง และได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ University of Michigan ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยสำเร็จการศึกษา 2 สาขาวิชา คือ Master of Arts (Political Science) และ Master of Arts (Asian Studies) เริ่มรับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่การทูต และเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานเรื่อยมา ได้ไปประจำการในหลายประเทศ เช่น เลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงราบัด อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน และเอกอัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดาการ์ กรุงมาดริด และกรุงบรัสเซลส์ ตามลำดับ เคยดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ และอธิบดีกรมยุโรป ปัจจุบันดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ขณะดำรงตำแหน่งอัครราชทูต ได้จัดโครงการจัดทำมุมไทย ณ Victoria and Albert Museum กรุงลอนดอน เพื่อส่งเสริมความร่วมมืออย่างใกล้ชิด จัดแสดงวัตถุโบราณของไทยในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เจริญพระชนมายุ ๘๐ พรรษา ร่วมมือกับสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ(สพร.) มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และมูลนิธิเพื่อทหารทุพพลภาพและพิการเซเนกัลจัดทำโครงการจัดตั้งโรงงานผลิตขาเทียม ที่โรงพยาบาลทหารวากัม กรุงดาการ์ ในโอกาสครบรอบ ๓๐ ปี แห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเซเนกัล เป็นผู้ริเริ่มโครงการความร่วมมือลักษณะ Public – Private – Partnership (PPP) เช่น ร่วมกับบริษัท ซี พี อินเตอร์เทรด จำกัด บริจาคข้าวไทยเพื่อเป็นอาหารกลางวันแก่นักเรียนในสังกัดสำนักเทศมนตรี กรุงดาการ์ ดำเนินการโครงการศึกษาลู่ทางด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศรวมทั้งองค์ความรู้ที่สเปนมีความเชี่ยวชาญเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ริเริ่มและผลักดันโครงการไทยศึกษาที่มหาวิทยาลัยลีดส์ สหราชอาณาจักร เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาชาวบริติชหรือชาวต่างชาติที่กำลังศึกษาอยู่ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทย รวมทั้งได้ส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศไทยกับสหภาพยุโรป โดยเฉพาะเรื่องความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมายและการปฏิรูปภาคประมงของไทย

ในฐานะปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำหน้าที่ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับต่างประเทศ เช่น เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการเร่งรัดความร่วมมือเพื่อสร้างเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับเวียดนาม และในการหารือยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐ ที่กรุงวอชิงตัน เพื่อเตรียมการเยือนสหรัฐอเมริกาของนายกรัฐมนตรีตามคำเชิญของประธานาธิบดี

นับได้ว่า นางบุษยา มาทแล็ง ได้นำวิชาความรู้ทางอักษรศาสตร์ไปใช้ในการทำงานจนประสบความสำเร็จสูงสุดในวิชาชีพ เป็นอักษรศาสตรบัณฑิตคนแรก และผู้หญิงคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศ สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง นางบุษยา มาทแล็ง เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๐

ผศ.ดุษฏีพร ชำนิโรคศานต์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดุษฎีพร ชำนิโรคศานต์ (อักษรศาสตรบัณฑิต รุ่นที่ ๓๑)


เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว อาจารย์ได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทสาขาวิชาภาษาไทย ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และได้รับทุน East-West Center ไปศึกษาระดับปริญญาโทสาขาวิชาภาษาศาสตร์ที่ University of Hawaii เริ่มรับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๑ เคยดำรงตำแหน่ง เลขานุการบัณฑิตศึกษา และรองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต จัดทำหลักสูตร Intensive Thai สำหรับชาวต่างประเทศในโครงการความร่วมมือระหว่างคณะอักษรศาสตร์กับกรมวิเทศสหการ

หลังเกษียณอายุราชการยังคงเป็นอาจารย์พิเศษและวิทยากรให้ภาควิชาภาษาไทย และหลักสูตรต่าง ๆ ในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ทั้งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและอีกหลายมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยรามคำแหง รวมทั้งหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เช่น โครงการอบรมครูภาษาไทยของกระทรวงศึกษาธิการและกรุงเทพมหานคร โครงการจัดทำหลักสูตรและการฝึกอบรมการสร้างและการตรวจข้อสอบอัตนัยวิชาภาษาไทย เคยเป็นประธานกรรมการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการสำนักวิรัชกิจและผู้อำนวยการสถาบันภาษาไทยสิรินธร ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นกรรมการและอนุกรรมการในคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ในจุฬาฯ ทั้งด้านงานวางแผน วิชาการ วิจัย และกิจการนิสิต จนถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้น ยังมีงานเขียน งานแปล และทำหน้าที่บรรณาธิกร หนังสือและบทความต่าง ๆ เช่น “ภาษาไทยวันละคำ” พจนานุกรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี วารสารภาษาและวรรณคดีไทย และงานแปลของศูนย์การแปล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ตลอดจนคำประกาศราชสดุดี หนังสือและคำกราบบังคมทูล คำกล่าวและเอกสารต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้อ่านและประเมินผลงานวิจัยของสถาบันต่าง ๆ ออกข้อสอบและกลั่นกรองข้อสอบให้ได้มาตรฐานเพื่อใช้ในการสอบและนำเข้าคลังข้อสอบของหน่วยทดสอบทั้งระดับมหาวิทยาลัยและระดับชาติ และเป็นกรรมการตัดสินการประกวดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย จนได้รับรางวัลผู้มีอุปการคุณต่อการใช้ภาษาไทย และรางวัลปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย จากกระทรวงวัฒนธรรม รวมทั้งเหรียญกาชาดสรรเสริญ (ชั้น ๒) และเหรียญกาชาดสมนาคุณ (ชั้น ๑) ในฐานะผู้บำเพ็ญประโยชน์แก่สภากาชาดไทยมาอย่างต่อเนื่อง

ด้วยความสามารถ และความเชี่ยวชาญในการใช้ภาษาไทยที่ได้สร้างผลงานมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ก่อให้เกิดประโยชน์ทางวิชาการแก่การศึกษาภาษาไทยในทุกระดับของประเทศ สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดุษฎีพร ชำนิโรคศานต์ เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๐

ม.ล.พูนแสง สูตะบุตร

ม.ล.พูนแสง สูตะบุตร (อักษรศาสตรบัณฑิต รุ่นที่ ๒๗)


หลังจบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ แล้ว ได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ University of Northern Colorado ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มทำงานที่สำนักข่าวสารอเมริกัน ในตำแหน่งบรรณารักษ์ เจ้าหน้าที่แนะแนวการศึกษา เจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษาและวัฒนธรรม จนได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ และที่ปรึกษาอาวุโสด้านข่าวสารและวัฒนธรรม ประจำสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

หลังเกษียณอายุงานแล้วได้ไปทำงานด้านสาธารณกุศลหลายแห่งจนถึงปัจจุบัน เช่น มูลนิธิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ กองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ มูลนิธิพระไตรปิฎกสากล และมูลนิธินิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะทำงานได้เป็นผู้ค้นหาข้อมูลการศึกษาและชีวิตความเป็นอยู่ของโรงเรียนในแถบมลรัฐแมสสาซูเซท เพื่อการเสด็จไปศึกษาระดับ High School ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชสุดา(พระอิสริยยศในขณะนั้น) และได้ค้นหาข้อมูลถวายในโอกาสต่อมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเป็นที่ปรึกษาอาวุโสด้านข่าวสารและวัฒนธรรมได้ทำหน้าทีส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาและวัฒนธรรมระหว่างองค์กรต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกาทั้งภาครัฐและเอกชน กับหน่วยงานในประเทศไทย ทั้งสถาบันการศึกษาและหน่วยราชการต่าง ๆ ประสานงานการเชิญผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการสาขาต่าง ๆ มาเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนแก่คณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะอักษรศาสตร์ คณะครุศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ม.ล.พูนแสง สูตะบุตร เป็นผู้นำวงดนตรีคลาสสิคที่มีชื่อเสียงระดับโลก และคณะบัลเล่ต์ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกามาแสดงในประเทศไทยในโอกาสสำคัญต่าง ๆ งานที่ภาคภูมิใจสูงสุดคือ การเชิญนักดนตรีแจ๊สวง Preservation Hall Jazz Band และ New Orlean Jazz ที่มีชื่อเสียงเป็นตำนานของสหรัฐอเมริกา มาบรรเลงถวายและร่วมบรรเลงกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเป็นการส่วนพระองค์ด้วยความสำราญพระราชหฤทัย

ด้วยผลงานและความสามารถที่ได้อุทิศเวลาและความตั้งใจในการสร้างสัมพันธไมตรีอันแน่นแฟ้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศไทย ก่อให้เกิดคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง ม.ล.พูนแสง สูตะบุตร เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๐

 

มนันยา ธนะภูมิ

นางมนันยา ธนะภูมิ (อักษรศาสตรบัณฑิต รุ่นที่ ๓๑)


หลังสำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว ได้บรรจุเข้าทำงานด้านต่างประเทศ ที่กรมชลประทาน ต่อมาได้ย้ายมาทำด้านงานบริหารบุคคล จนเกษียณอายุราชการในตำแหน่ง หัวหน้าฝ่ายฝึกอบรมด้านก่อสร้าง นอกจากทำงานที่กรมชลประทานแล้วยังเป็นนักเขียนเรื่องสั้นประจำในนิตยสารต่าง ๆ เช่น ศรีสัปดาห์ สตรีสาร ลลนา สกุลไทย ฟ้าเมืองไทย ผลงานเรื่องสั้นชุดชาวเขื่อน เป็นที่รู้จักและสร้างชื่อเสียงให้อย่างมาก ยังมีงานเขียนสารคดีท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ ที่ให้เกร็ดความรู้ต่าง ๆ มากมาย รวมถึงเรื่องราชวงศ์ของประเทศต่าง ๆ ด้วย ได้แปลหนังสือหลากหลายเรื่อง ทั้งประวัติศาสตร์ เรื่องสืบสวนสอบสวน เรื่องลึกลับ มีผลงานเขียนและงานแปลที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว ๑๖๕ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่อง “เด็กชาวเขื่อน” ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา

ส่วนงานที่เกี่ยวกับแวดวงวิชาการ ได้เป็นวิทยากรและอาจารย์พิเศษสอนเทคนิคการเขียนและการแปลวรรณกรรมให้แก่นิสิตระดับปริญญาโทของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นอดีตกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สร้างชื่อเสียงให้แก่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักเขียน และนักแปล ที่นำความรู้ในการใช้ภาษาที่ถูกต้องไปใช้ในงานเขียน ถือเป็นแบบอย่างแก่เยาวชนตลอดมา จนได้รับรางวัลนักเรียนดีเด่น ของ โรงเรียนราชินี รางวัลสุรินทราชาสำหรับนักแปลดีเด่น และรางวัลเชิดชูเกียรติจากกรุงเทพมหานคร ปี ๒๕๕๗ จากงานแปลพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เรื่อง “กลางใจราษฎร์” ซึ่งเป็นหนึ่งในวรรณกรรมประจำ ๕๐ เขตของกรุงเทพมหานครที่ประชาชนควรอ่าน

ด้วยความสามารถและประสบการณ์ทั้งในการทำงานและผลงานประพันธ์ต่าง ๆ ในแวดวงวรรณกรรม สร้างชื่อเสียงให้คณะอักษรศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง นางมนันยา ธนะภูมิ เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๐

 

วริยา ว่องปรีชา

นางสาววริยา ว่องปรีชา (อักษรศาสตรบัณฑิต รุ่นที่ ๔๓)


หลังจบอักษรศาสตรบัณฑิตด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับสอง ได้ตัดสินใจไปศึกษาต่อระดับปริญญาโททางด้านธุรกิจ วิชาเอกการเงิน ที่ Indiana University (Bloomington) สหรัฐอเมริกา และเริ่มทำงานที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จนได้เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อ และผู้อำนวยการฝ่ายวานิชธนกิจ ก่อนจะลาออกเพื่อมาทำงานที่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่เพิ่งก่อตั้งจนปัจจุบัน ได้ทุ่มเททำงานจนได้รับความไว้วางใจให้รับผิดชอบงานในหลากหลายกลุ่มงานที่สำคัญของกองทุน ทั้งงานด้านลงทุน งานกำกับการลงทุน งานด้านนโยบายการลงทุน งานบริหารความเสี่ยง และงานด้านปฏิบัติการ รวมทั้งได้เข้ารับการอบรมในหลักสูตรนักบริหารระดับสูงด้วย เนื่องจากเป็นกองทุนขนาดใหญ่ จึงต้องระมัดระวังมิให้เกิดผลกระทบต่อตลาดเงินโดยรวม ได้วางแผนขยายขอบเขตการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายความเสี่ยง คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของสมาชิกภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดต่าง ๆ เป็นผู้ร่างคู่มือการกำกับดูแลการปฏิบัติงานและจรรยาบรรณพนักงานฉบับแรกของ กบข. เมื่อผลตอบแทนติดลบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกก็ร่วมมือกับทีมงานนำพา กบข. ผ่านพ้นวิกฤตมาได้ ได้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการกลุ่มงานปฏิบัติการของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการก่อนจะเกษียณอายุงาน
พื้นฐานความรู้ที่ น.ส.วริยา ได้จากการเรียนในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ช่วยให้สามารถต่อยอดไปยังการศึกษาและการทำงานเฉพาะทางด้านการเงินได้อย่างดีและประสบผลสำเร็จ ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของผู้จบอักษรศาสตร์ ทั้งยังได้รับมอบหมายให้ช่วยกลั่นกรองงานเขียนที่ต้องอาศัยความรู้ภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ และเป็นตัวแทนพูดในที่สาธารณะหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับองค์กรต่างประเทศที่ติดต่อประสานงานด้วย นอกจากนั้นยังได้รับเชิญให้เป็นอนุกรรมการความเสี่ยงด้านการเงินของสภากาชาดไทย
ด้วยการใช้ความรู้ความสามารถทางอักษรศาสตร์หลากหลายด้านในการทำงานด้านการเงินจนประสบผลสำเร็จและมีประสิทธิภาพสูงเป็นที่ยอมรับในแวดวงธุรกิจการเงิน สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง นางสาววริยา ว่องปรีชา เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๐

ศ.ดร.อำภา โอตระกูล

ศาสตราจารย์ ดร. อำภา โอตระกูล (อักษรศาสตรบัณฑิต รุ่นที่ ๒๒)


เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ตรีประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๓ หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาวิชาภาษาเยอรมันจาก Goethe-Institut MÜnchen ต่อมาได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนีจนจบการศึกษาระดับปริญญาเอก

อาจารย์เป็นผู้ก่อตั้งและพัฒนาสาขาวิชาภาษาเยอรมันจนเป็นปึกแผ่น และรับหน้าที่หัวหน้าสาขาจนเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองศาสตราจารย์ เคยเป็นรองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต หลังเกษียณฯ ยังคงเป็นอาจารย์พิเศษเรื่อยมา จนได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นศาสตราจารย์พิเศษในปี พ.ศ.๒๕๔๖ ได้สนับสนุนและหาทุนให้นิสิตในสาขาไปฝึกอบรมที่ประเทศเยอรมนีอย่างต่อเนื่อง อาจารย์ยังเป็นผู้นำในการแปลวรรณกรรมเยอรมัน มีผลงานรวม ๔๙ เล่ม งานแปลดีเด่น ได้แก่ บทละครเรื่อง เฟาสท์ ของเกอเธ่ พระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน” ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และยังผลิตผลงานวิชาการอย่างต่อเนื่อง เช่น พจนานุกรม ไทย-เยอรมัน สุภาษิตเปรียบเทียบ ไทย-เยอรมัน และเขียนบทความทั้งภาษาไทยและภาษาเยอรมันอีกมากมาย นอกจากนี้ยังได้รับเชิญไปบรรยายทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมนีเป็นประจำทุกปี

อาจารย์เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมครูเยอรมันแห่งประเทศไทยและทำหน้าที่นายกสมาคมนานถึง ๑๐ ปี เป็นกรรมการและที่ปรึกษาให้กับสมาคมไทย-เยอรมัน สมาคมนักเรียนเก่าเยอรมันฯ และมูลนิธิวัฒนธรรมไทย-เยอรมัน

ปัจจุบัน ยังคงเป็นกรรมการผู้ตรวจและสอบวิทยานิพนธ์ภาควิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินผลงานวิชาการและจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาการสายวิชาภาษาและวรรณคดีเยอรมัน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ตลอดจนสอนภาษาไทยให้แก่อาจารย์ชาวเยอรมันที่มาสอนประจำที่สาขาวิชาภาษาเยอรมันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ผลของการทุ่มเทให้กับการสอนและพัฒนาสาขาวิชาภาษาเยอรมันมาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน ทำให้คณะอักษรศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่ยอมรับและได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำด้านการศึกษาและวิจัยภาษาเยอรมันในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ด้วยความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในสาขาวิชาที่เชี่ยวชาญมาอย่างยาวนาน มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในแวดวงวิชาการภาษาเยอรมัน สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงขอประกาศยกย่อง ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.อำภา โอตระกูล เป็นนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ดีเด่น ประจำปี ๒๕๖๐

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University