อาชีพชาวอักษรฯ

เรียนอักษรกับการเป็นทูต โดย นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี

เรียนอักษรศาสตร์กับการเป็นทูต

โดย  วิชาวัฒน์ อิศรภักดี

      ในชีวิตการรับราชการของผมที่กระทรวงการต่างประเทศนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่ผมได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตแล้ว มักจะมีผู้คนสอบถามผมด้วยความสนใจเสมอว่า ผมสำเร็จการศึกษามาด้านใด  และผู้คนดังกล่าวมักจะแสดงความประหลาดใจกันอยู่ร่ำไปเมื่อผมตอบด้วยความภาคภูมิใจว่า สำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยหลายท่านยังเผลออุทานว่า “โอ้ จบอักษรฯ แล้วเป็นทูตได้ด้วยหรือ ครับ/คะ”

      ท่านเหล่านั้นคงไม่เพียงแต่ฉงนใจว่าผมประสบความก้าวหน้าได้เป็นทูตได้อย่างไร แต่อาจสงสัยเลยไปถึงว่า ผมสอบเข้ากระทรวงการต่างประเทศได้อย่างไรด้วยซ้ำ ทั้ง ๆ ที่ผม “ไม่ได้เรียนมาด้านนี้โดยตรง” (ในความเห็นของท่านเหล่านั้น) ความคิดดังกล่าวอดทำให้ผมขำไม่ได้ เพราะในความเห็นส่วนตัวของผมแล้ว ไม่มีการศึกษาสาขาใดที่ผมเห็นว่า ช่วยเตรียมความพร้อมของผมในการเข้าทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศ มากกว่าสาขาอักษรศาสตร์แล้ว

     ผมนั้นอยากจะเข้ารับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่จำความได้ และผมมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะก้าวขึ้นเป็นเอกอัครราชทูตให้ได้ โดยที่คุณพ่อเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ และผมได้ติดตามคุณพ่อไปด้วยตั้งแต่อายุเพียง 2 ขวบ จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะเจริญรอยตามเท้าคุณพ่อในการรับใช้ชาติ อีกทั้งมีส่วนในการช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศอื่น ๆ

      เมื่อถึงเวลาเข้าศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ผมก็ตั้งใจที่จะเลือกคณะรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์เป็นอันดับต้น ๆ เพื่อช่วยเกื้อหนุนความใฝ่ฝันของผม แต่ผมต้องยอมรับว่าคุณพ่อเป็นผู้เกลี้ยกล่อมแกมบังคับให้ผมเลือกคณะอักษรศาสตร์เป็นอันดับแรก ทั้ง ๆ ที่ตัวท่านเองก็สำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายมา โดยท่านบอกว่า “วิชาอื่น ๆ นั้นสามารถเรียนได้ในภายหลัง แต่อักษรศาสตร์จะช่วยปูพื้นฐานความรู้ของลูกให้รอบด้าน และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว อยากจะไปทำอะไรก็ทำได้”

      ผมก็เลยต้องจำใจทำตามท่านโดยเลือกคณะอักษรฯ จุฬาฯ เป็นอันดับหนึ่งและเลือกคณะอื่นๆ (ที่ใจอยาก) เป็นอันดับรอง ๆ ไป โดยนึกอยู่ในใจว่า ถึงอย่างไร ผมก็คงสอบไม่ติดคณะอักษรฯ อยู่ดี แต่พอผลการสอบเอ็นทร้านซ์ประกาศออกมา และผมได้เข้าเรียนในคณะอักษรฯ ก็ถึงได้ตระหนักว่าเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดของผมครั้งหนึ่งในชีวิต และ รู้สึกขอบพระคุณคุณพ่อจนถึงทุกวันนี้

      การเข้าเรียนในคณะอักษรศาสตร์ช่วยเตรียมความรู้ ความสามารถของผมเป็นอย่างดีในการรับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศ ประการแรกก็คือการศึกษาด้านอักษรศาสตร์ให้ความรู้รอบด้าน สร้างคนที่เป็น generalist ในเบื้องต้น ซึ่งก็มีความเหมาะสมสำหรับผู้ที่จะรับราชการด้านการทูต และ การต่างประเทศเพราะช่วยให้เราสามารถรับงานด้านต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย  หล่อหลอมให้เราเป็นคนที่สามารถปรับตัวได้ง่ายต่อสถานการณ์และภาระหน้าที่ต่าง ๆ ที่ต้องประสบ  งานของกระทรวงการต่างประเทศนั้นมีอยู่มากมายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สารนิเทศ กงสุล พิธีการทูต ฯลฯ ซึ่งถึงแม้ว่าคนที่จบอักษรฯ จะไม่ได้เล่าเรียนด้านนี้มาโดยตรงก็ตาม แต่ก็มีพื้นฐานที่จะปรับตัวและไขว่คว้าหาความรู้เพิ่มเติม ที่จะปฏิบัติงานด้านต่าง ๆ เหล่านี้ได้ ดังนั้นถึงแม้ว่าชาวอักษรฯ จะเริ่มต้นด้วยการเป็น generalist ก็ตาม แต่ก็มีพื้นฐานที่เพรียบพร้อมสำหรับการก้าวไปสู่การเป็น specialist ด้านอื่น ๆ ได้หากมีความประสงค์

      ในช่วงที่ผมเข้าศึกษาคณะอักษรฯ จุฬาฯ เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ชาวอักษรฯ ทุกคนจะต้องเรียนวิชาบังคับเหมือนกันหมดในช่วงปี 1 และ ปี 2 และต้องรอจนขึ้นปี 3 ถึงจะสามารถเรียนวิชาที่เราชอบหรือถนัดแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งการกำหนดหลักสูตรเช่นนั้น สร้างความยากลำบากพอสมควรสำหรับนิสิตในขณะนั้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็ช่วยสร้างความแข็งแกร่งทางวิชาการ และสร้างพื้นฐานที่แน่นแฟ้นให้แก่ชาวอักษรฯ ทุกคนอย่างที่ไม่คาดคิด           

      แทบทุกวิชาที่ผมเรียนที่คณะอักษรฯ ในช่วง 2 ปีแรกนั้น ล้วนแล้วแต่ช่วยเสริมสร้างทักษะในการเป็นนักการทูตที่ดี และเตรียมความพร้อมของผมสำหรับการเข้ารับราชการที่กระทรวงการต่างประเทศด้วยกันทั้งนั้น

      วิชาภาษาอังกฤษ ช่วยในการเขียนภาษาอังกฤษโดยใช้ไวยกรณ์ที่ถูกต้อง ช่วยให้มีทักษะในการเขียนจดหมาย หนังสือราชการ บทความ หรือคำกล่าวต่าง ๆ  ผมยังมีโอกาสได้เรียนวิชาการแปล และ การสรุปข้อความด้วย  การได้อ่านวรรณคดี กลอน และบทประพันธ์ต่าง ๆ ที่เป็นภาษาอังกฤษช่วยในการขัดเกลาสำนวนของผมให้มีความไพเราะ ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

      การใช้ภาษาอังกฤษ เป็นทักษะที่สำคัญประการหนึ่งของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศในการปฏิบัติงานประจำวัน ซึ่งภายหลังจากเข้ารับราชการในกระทรวงฯ ผมก็ได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาให้ยกร่างสุนทรพจน์สำหรับผู้ใหญ่ในกระทรวง และในรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทักษะดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ช่วยเกื้อหนุนให้ผมประสบความก้าวหน้าทางการงานมาอย่างต่อเนื่อง

      วิชาภาษาไทย มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะในการปฏิบัติหน้าที่ประจำในฐานะนักการทูตนั้น เราจำเป็นต้องสามารถแต่งหนังสือราชการ บันทึก และ รายงานเป็นภาษาไทยที่ถูกต้อง กระชับ และ ชัดเจน

      ภาษาต่างประเทศ ที่เปิดสอนที่คณะอักษรฯ นั้น ไม่ว่าจะเป็นภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน จีน ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นทักษะเสริมที่เป็นประโยชน์ และเกื้อกูลต่อการปฏิบัติหน้าที่นักการทูต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีโอกาสไปประจำการในประเทศที่ใช้ภาษาดังกล่าว หรือ มิฉะนั้นแล้วก็อาจได้ใช้ในเวทีการประชุมระหว่างประเทศ

      ประวัติศาสตร์ ได้แก่การศึกษาประวัติความเป็นมาของประเทศต่าง ๆ และ เหตุการณ์สำคัญของโลก ซึ่งการศึกษาด้านนี้ช่วยอย่างมากในการปฏิบัติหน้าที่นักการทูต  ทั้งนี้วิชาประวัติ-ศาสตร์ที่เรียนที่คณะอักษรศาสตร์ ก็ไม่ได้ต่างไปมากจากวิชาประวัติศาสตร์การทูตที่ศึกษาในคณะรัฐศาสตร์ เพียงแต่อาจมีจุดเน้นที่ต่างกันและขาดเรื่องทฤษฎีทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ก็ยังเป็นพื้นฐานที่สำคัญอยู่ดีในการปฏิบัติหน้าที่ และ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศต่างๆ

      อารยธรรม เป็นอีกวิชาที่เรียนที่คณะอักษรฯ เช่นกัน ทั้งอารยธรรมตะวันออกและตะวันตก ทำให้เราสามารถเกิดความซาบซึ้ง และความเข้าใจในอารยธรรมของประเทศที่เราไปประจำการอยู่หรือเจริญสัมพันธไมตรีด้วย ทำให้เราสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ดีขึ้น และมีความสุขความพอใจกับประเทศที่เราไปประจำการอยู่ ไม่ว่าจะเป็นประเทศใด ซึ่งย่อมทำให้ประสบการณ์ดังกล่าวมีคุณค่ายิ่งขึ้น

      ภูมิศาสตร์ ช่วยให้เราเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับคุณลักษณะเฉพาะของภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับภูมิภาคและประเทศต่าง ๆ ตลอดจนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเหล่านี้ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของนักการทูตเช่นกัน

      ปรัชญา เป็นวิชาว่าด้วยหลักแห่งความรู้ และหลักแห่งความจริง ซึ่งการร่ำเรียนวิชาดังกล่าวทำให้เกิดความเข้าใจชีวิต เข้าใจความเป็นมนุษย์ และเข้าใจหลักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพื้นฐานของนักการทูตที่ดี

      ตรรกวิทยา เป็นวิชาของการใช้ความคิด เป็นวิชาแห่งการใช้เหตุและผลที่ดี ซึ่งในการเจรจาระหว่างประเทศนั้น ความสามารถในการพูดจาด้วยเหตุด้วยผล เพื่อโน้มน้าวคู่เจรจานั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นนักการทูตที่เก่งกาจ

      บาลีสันสกฤต เป็นวิชาที่พวกเราที่คณะอักษรฯ หลายคนเกรงกลัวเพราะรู้สึกว่ายากมากและต้องท่องจำ แต่วิชาดังกล่าวก็เป็นประโยชน์อย่างมากในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับรากศัพท์ของคำภาษาไทยของเรา เช่นเดียวกับภาษาลาตินช่วยให้เข้าใจภาษายุโรปหลายภาษาที่เป็นภาษา โรมานซ์ นอกจากจะช่วยเราในการใช้ภาษาไทยที่ดี และถูกต้องแล้ว ก็ยังเป็นประโยชน์อย่างมากตอนที่เอกอัครราชทูตต้องทำหน้าที่ประธานในพิธีทางศาสนาที่วัดไทยในต่างประเทศอีกด้วย

       แม้กระทั่งวิชาศิลปะการละคร หรือ Drama  ที่ผมต้องเลือกเรียนในช่วงสองปีแรกของการศึกษาที่คณะอักษรฯ นั้น ก็เป็นประโยชน์อย่างคาดไม่ถึงในการทำหน้าที่ทูต เพราะในการปฏิสัมพันธ์ และการเจรจาทางการทูตนั้น นอกจากจะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และความเข้าใจท่าทีของคู่เจรจาแล้ว ในบางครั้งก็ต้องอาศัยการเล่นละครบทต่าง ๆ อีกด้วย ทั้งบทพระเอก และบทผู้ร้าย ต้องรู้จักการเก็บซ่อนอารมณ์ไม่ให้คู่เจรจาได้เห็น หรือในบางครั้งก็ต้องแกล้งระเบิดอารมณ์เพื่อให้เขาเห็นความจริงจัง หรือความไม่พอใจของเราเหมือนกัน

       ถ้ากล่าวโดยรวมแล้ว ทุกวิชาที่ผมศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ฯ ได้ช่วยผมอย่างมากในการเป็นนักการทูตที่ดี สามารถจดบันทึก และสรุปใจความสำคัญได้อย่างกระชับ ชัดเจน สามารถสื่อสารทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะโดยวาจา หรือเป็นลายลักษณ์อักษร ช่วยให้ผมเป็นนักการทูตที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศที่ผมไปประจำการอยู่ และปฏิสัมพันธ์ได้ดีกับประชาชนของประเทศดังกล่าว  ด้วยเหตุนี้ ท่านคงพอจะเข้าใจบ้างแล้วว่า ทำไมผมจึงเกิดความประหลาดใจและขำขันเสมอ ทุกครั้งที่มีคนตั้งคำถามว่า “จบอักษรฯ แล้วเป็นทูตได้หรือ

 

ประวัติผู้เขียน

 นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี  ( คิด)  อบ.44

 ตำแหน่งปัจจุบัน  2559       

-  เอกอัครราชทูตประจำประเทศแคนาดา  ตรินิแดดและโตเบโก  จาเมกา และ สาธารณรัฐโดมินิกัน

-  ผู้แทนถาวรประจำองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization -- ICAO)

 

ตำแหน่งในอดีต

-  เอกอัครราชทูตประจำประเทศสหรัฐอเมริกา (2556-58)

-  รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (2555-56)

-  อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ (2554-55)

 

การรับราชการกระทรวงการต่างประเทศ  

สอบเข้ากระทรวงการต่างประเทศเมื่อ พ.ศ. 2533 โดยสอบได้ที่ 1 ของรุ่น 

  

 

 

กลับขึ้นด้านบน

ครูสอนความดี

ฉันเลือกเป็นครูสอนวิชาความดี

ดร. ดาราวรรณ 

      “โตขึ้นอยากเป็นอะไร”  เป็นคำถามที่เด็กๆ เกือบทุกคนถูกถาม  ฉันเองก็เช่นกัน  เมื่อเจอคำถามนี้ฉันตอบอย่างหนักแน่นไม่มีความลังเลเลยว่า  “อยากเป็นครู”  เป็นคำตอบจากใจ  จากจิตใต้สำนึกลึกๆ อาจเป็นเพราะฉันอยู่ใกล้ชิดแวดล้อมด้วยครูดีๆ ที่เป็นต้นแบบให้ฉันหลายท่าน  ตั้งแต่คุณแม่  คุณอาสะใภ้  พี่สาว  แล้วก็ยังมีคุณปู่ซึ่งแม้ฉันจะเกิดไม่ทันท่าน  แต่ก็ได้ซึมซับจิตวิญญาณครูมาโดยสายเลือดก็ว่าได้

      ความรักในการ  “สอน”  แสดงออกทางพฤติกรรมตั้งแต่วัยเด็ก  ยังไม่ทันเข้าโรงเรียน  แต่ฉันชอบเล่นเป็นครู  จับเพื่อนๆ น้องๆ เป็นนักเรียนหมด  ตอนเรียนมัธยมอยู่ที่ ร.ร.สตรีวิทยา  ฉันก็ชอบสอน  ชอบติวเพื่อนในวิชาที่ฉันถนัดคือภาษาฝรั่งเศส  และคณิตศาสตร์  เรื่องติวนี่  ฉันมักจะเป็นฝ่ายขอติวเพื่อนด้วยความเป็นห่วงกลัวเพื่อนสอบตก  บางคนต้องตามไปขอติวถึงบ้านก็มี

      เมื่อเรียนจบมัธยมปลาย  ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย  คณะแรกๆ ที่ฉันเลือกคือ  อักษรศาสตร์และครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เพราะจะนำทางฉันไปสู่วิชาชีพครูได้ตรงที่สุด  หลังจากเรียนจบอักษรศาสตร์บัณฑิต  ฉันไปสอบบรรจุครูที่กระทรวงศึกษาธิการแห่งเดียว  ไม่สนใจไปสมัครที่หน่วยงานอื่นๆ ไว้เป็นทางเลือกสำรอง  ตั้งใจเด็ดเดี่ยวว่าถ้าปีนี้ไม่ได้รับการบรรจุ  ปีหน้าจะมาสอบใหม่  แต่โชคดีที่ฉันได้รับการบรรจุเป็นครูสอนภาษาฝรั่งเศส  ที่        ร.ร.วัดมกุฏกษัตริย์  ฉันมีความสุขมากที่ได้เป็นครู  ตั้งใจสอน  พยายามหาวิธีการสอนที่จะทำให้เด็กเรียนเก่ง  ใครเรียนอ่อนก็สอนพิเศษให้ตอนเย็นเกือบทุกวัน  ตรวจการบ้านและแก้ไขงานเด็กอย่างเข้มงวด 

      ต่อมาการสอนภาษาฝรั่งเศสปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบ  audivisuel  ครูต้องเข้ารับการอบรมการสอนแบบใหม่  อบรมแล้วจะมีการสอบและคัดเลือกผู้ที่ได้รับคะแนน 20 อันดับแรก  ไปฝึกอบรมที่ประเทศฝรั่งเศส  ฉันกลัวการไปต่างประเทศมาก  และปฏิเสธโอกาสที่จะสอบชิงทุนแบบนี้ไปหลายครั้ง  แต่ครั้งนี้ฉันตั้งใจทำข้อสอบมาก  ไม่ใช่เพราะอยากไปเมืองนอก  แต่อยากประเมินตัวเองว่ามีความสามารถพอที่จะสอนแนวใหม่นี้หรือไม่  ผลปรากฏว่าฉันสอบได้ที่ 1  จำใจต้องไปฝึกอบรมที่ฝรั่งเศสตามเงื่อนไข  อีก 2 ปีต่อมาไปสอบชิงทุนอีกครั้งเพื่อกลับมาเป็นศึกษานิเทศก์วิชาภาษาฝรั่งเศส  ก็สอบได้อีก  เป็นศึกษานิเทศก์ได้ 3 ปี  ก็สอบชิงทุนไปทำปริญญาเอกที่ประเทศฝรั่งเศส  จบปริญญาเอกสาขาภาษาศาสตร์และการสอนภาษาต่างประเทศ  จากมหาวิทยาลัย Grenoble III  ด้วยคะแนนเกียรตินิยมดีเยี่ยม

      การได้รับทุนทุกครั้งต้องทำงานใช้ทุน 2 เท่า  ฉันไม่เคยคิดว่าเป็นการทำงานใช้หนี้  แต่ฉันทำงานเพราะฉันรักงานนี้  คุณแม่เคยแนะนำด้วยความสงสารว่าเป็นครูลำบาก  เงินเดือนน้อย  ใช้ทุนแล้วไปทำงานบริษัทซึ่งเงินเดือนมากกว่าดีไหม  ฉันตอบไปว่า  ฉันทำงานแบบได้เงินเยอะแต่ไม่ได้บุญไม่เป็น    เคยมีหลายหน่วยงานทั้งมหาวิทยาลัยหลายแห่ง  และองค์กรระหว่างประเทศ  มาลองใจฉันอยู่หลายครั้ง  ด้วยการชักชวนไปทำงานด้วย  เพราะเห็นว่าฉันจบปริญญาเอกในสาขาที่มีคนจบมาน้อย และฉันจบมาด้วยคะแนนสูงมาก  แต่ฉันตอบปฏิเสธไปโดยไม่ลังเลทุกครั้ง  ที่จริงการเป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัยก็ยังอยู่ในแวดวงครูอยู่  แต่ฉันรู้สึกว่าการศึกษาบ้านเรา  ยิ่งระดับสูงยิ่งมุ่งความเป็นเลิศทางวิชาการ  แล้วมีพื้นที่ให้คุณธรรมน้อยลงทุกที  ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาที่หลงทิศทาง  ฉันจึงเลือกเป็นศึกษานิเทศก์ที่ดูแลการศึกษาระดับมัธยมศึกษาต่อไป

      ชีวิตการเป็นศึกษานิเทศก์  เปิดโอกาสให้ฉันได้บุญมากขึ้น  เมื่อได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานปลูกฝังคุณธรรมควบคู่กับการนิเทศการสอนภาษาฝรั่งเศส  เพราะหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์  เห็นว่าฉันชอบปฏิบัติธรรม  ฉันมีประสบการณ์การทำสมาธิภาวนามาหลายปี  เพราะมีความทุกข์และเลือกที่จะแก้ทุกข์ที่จิตด้วยการปฏิบัติจิตตามแนวทางพระธุดงคกรรมฐานสายพระป่า  และได้พบว่ากระบวนการพัฒนาจิตโดยหลักไตรสิกขา (ศีล  สมาธิ  ปัญญา)  ตามแนวทางของพระพุทธเจ้ามีประสิทธิภาพที่สุด  สามารถแก้ปัญหาพฤติกรรมได้ตรงจุด  คือแก้ที่จิตซึ่งเป็นผู้สั่งกาย  เมื่อ   จิตดี  กาย  วาจา  ก็ดี

      ภาระงานเริ่มหนักขึ้นเมื่อต้องรับผิดชอบงานสร้างคนเก่ง  (นิเทศการสอนตามนโยบายของกรมสามัญศึกษาและวิชาภาษาฝรั่งเศส)   และสร้างคนดี (จัดอบรมพัฒนาจิต ครู-นักเรียน  ที่วัดวะภูแก้ว  ตามคำขอของโรงเรียน)  จริงๆ แล้ว  กรมฯ ก็มีนโยบายปลูกฝังคุณธรรมครู-นักเรียน  ชัดเจนมากอยู่แล้ว  โดยอิงทฤษฏีของนักจิตวิทยาฝรั่งเป็นหลัก  แต่ครูที่ผ่านการอบรมพัฒนาจิตหรือนำนักเรียนมาเข้ารับการอบรม  มีความเชื่อมั่นและศรัทธาทฤษฏีของพุทธศาสนามากกว่า  เพราะเห็นผลชัดเจนว่าสามารถเปลี่ยนจิตสำนึกและพฤติกรรมได้เร็วและยั่งยืนกว่า

      เมื่อโรงเรียนเรียกร้องให้จัดอบรมพัฒนาจิตมากขึ้น  ฉันจึงต้องวิ่งรอกทำงานสลับกันระหว่างวัด, หน่วยงาน, โรงเรียน  จนแทบไม่มีวันหยุด  เคยทำงานต่อเนื่องถึง 60 วัน  จนบางครั้งล้มป่วย  ในที่สุดฉันต้องตัดสินใจเลือกทางเดียวเพื่อให้ทำงานได้ดีที่สุด  ถ้าจะเหยียบเรืองสองแคม  อาจบกพร่องทั้งสองทางก็ได้

      ฉันตัดสินใจโดยไม่ลังเลอีกครั้งคือ ขอเลือก “การสร้างคนดี”  เพราะเห็นว่าคนเก่งสร้างไม่ยาก  และคนเก่งก็มีมากในสังคมนี้  ฉันจึงขอลาออกจากราชการก่อนอายุครบเกษียณถึง 10 ปี เพื่อรับผิดชอบโครงการอบรมพัฒนาจิต  ที่ศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ  วัดวะภูแก้ว  แห่งเดียว

      เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพที่สุด  ฉันจึงต้องพัฒนาตัวเอง  พัฒนาคณะทำงาน  พัฒนาเนื้อหาหลักสูตรการอบรม (โดยบูรณาการประสบการณ์การปฏิบัติจิตและจิตวิทยาการเรียนรู้ที่เก็บเกี่ยวตอนเป็นศึกษานิเทศก์  เข้าด้วยกัน)   อย่างต่อเนื่อง

      หลายคนเสียดายความรู้ทางโลกที่ฉันร่ำเรียนมามากมาย  แล้วมาเลือกทางธรรม  แต่ฉันไม่เสียดายเลยเพราะฉันไม่ได้ทิ้งโลก  ฉันใช้ธรรมทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น  ฉันลาออกจากราชการ  แต่ฉันไม่ได้ลาออกจากความเป็นครู  เพียงแต่ฉันเลือกเป็นครูสอนวิชาความดี  ซึ่งฉันเห็นว่าทำให้ฉันเป็นครูที่สมบูรณ์แบบขึ้น  เวลาเกือบ 30 ปีที่ฉันตั้งใจทำงานนี้  ได้อบรมทั้ง  ครู  นักเรียน  ข้าราชการ  ตำรวจ  บุคลากรด้านสาธารณสุข  ผู้ต้องขัง ฯลฯ  ไปกว่า 300,000 คน  ผู้ที่ผ่านการอบรมส่วนใหญ่ให้ข้อมูลป้อนกลับมาว่า  สมาธิทำให้เขาเรียนเก่งขึ้น  จากเด็กที่ไม่เห็นอนาคตกลับกลายเป็นคุณหมอ  วิศวกร  นายทหาร  ตำรวจ ฯลฯ  จากคนที่ทำงานไปวันๆ ไม่ศรัทธาในวิชาชีพของตัวเอง  ก็ตั้งใจทำงานด้วย  “ใจ”  โดยเฉพาะงานบริการสาธารณสุขและชุมชน,  งานด้านการศึกษา  วัยรุ่นและผู้ต้องขังที่เดินทางผิด  จมอยู่ก้นหลุมดำ  ก็เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์  หันหลังให้กับสิ่งผิด  สร้างคุณค่าให้กับชีวิตของตนเอง 

      ทางสายนี้เป็นทางที่ฉันเลือก  เพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน  ตอบแทนคุณโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทุกแห่งที่หล่อหลอมทุกความดี  และความเก่งให้กับฉัน

'''''

             

 

    

“ครู”  คืออุดมการณ์  ไม่ใช่เพียงงานเลี้ยงชีพ

 

      อักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   เป็นฝันอันสูงสุดของเด็กๆ ที่เรียนในสายศิลป์ภาษา  ฉันเองก็ใฝ่ฝันที่จะเข้าเรียนในสถาบันแห่งนี้  ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง  เป็นที่ยอมรับในคุณภาพเท่านั้น  แต่ฉันมั่นใจว่าสถาบันแห่งนี้จะนำทางฉันไปถึงเป้าหมายชีวิตที่ฉันตั้งไว้ตั้งแต่เด็ก  และไม่เคยแม้แต่คิดจะเบนเข็มทิศชีวิตไปสู่จุดหมายอื่น  นั่นคือวิชาชีพ “ครู”

     และแล้วอักษรฯ ก็นำพาฉันไปถึงจุดหมายได้อย่างสง่างามและไกลเกินฝัน

     ฉันได้เป็นครูสอนภาษาฝรั่งเศสให้เด็กๆ โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์  กทม.

     ต่อฝันไปเป็นครูสอนครู  ในฐานะศึกษานิเทศก์  กรมสามัญศึกษา  เขตการศึกษา ๑๑  รับผิดชอบงานนิเทศการสอนภาษาฝรั่งเศส  และงานปลูกฝังคุณธรรมในโรงเรียนมัธยมศึกษา  ๕  จังหวัด   คือ  นครราชสีมา  ชัยภูมิ  บุรีรัมย์  สุรินทร์  และศรีสะเกษ

     และฝันที่ไม่เคยฝันว่าจะเป็นคือเป็นครูสอนธรรมะ  มีลูกศิษย์หลายแสนคนทั้ง  พระ  เณร  หมอ  พยาบาล  ครู  ทหาร  ตำรวจ  ผู้ต้องขัง  เด็กๆ ในสถานพินิจ  ผู้สูงวัย  เด็กนักเรียนตั้งแต่ตัวเล็กๆ ระดับประถม ๔  ไปจนถึงนักศึกษาปริญญาโท ฯลฯ

     องค์ความรู้ที่ได้รับจากอักษรฯ  ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฉันประสบความสำเร็จในชีวิต  คือ  ภาษาฝรั่งเศส  และภาษาไทย  ซึ่งฉันเลือกเรียนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๑  ถึง ปี ๔

     ฉันมีโอกาสสอนภาษาฝรั่งเศสให้ลูกศิษย์ในโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์เพียง ๒ รุ่น  ประมาณ ๔ ปี  แต่ก็สร้างความประทับใจให้เด็กๆ มาก จนทุกวันนี้ลูกศิษย์ในวัยเกษียณกลุ่มหนึ่งก็ยังโทรมาพูดคุยถามไถ่ทุกข์สุข  มาเยี่ยมเยียน  นัดไปรับประทานอาหารด้วยกันเป็นครั้งคราว  มีการติดต่ออย่างต่อเนื่อง

     ด้วยทักษะการใช้ภาษาฝรั่งเศสที่ครูบาอาจารย์ที่คณะอักษรฯ เคี่ยวเข็ญมา ๔ ปี  ทำให้ฉันมีภูมิพอที่จะทำให้เด็กๆ มั่นใจและศรัทธา  ฉันนำความรู้ไปถ่ายทอดและเคี่ยวเข็ญเด็กๆ ต่อ  ยอมเหนื่อยสอนพิเศษเพิ่มตอนเย็นหลังเลิกเรียนให้เด็กที่เรียนอ่อน  และก็ได้รับผลตอบแทนคุ้มเหนื่อย  เด็กบางคนที่เรียนฝรั่งเศสอ่อนมากๆ สามารถพัฒนาขึ้นได้เป็นสิบเท่าและสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของประเทศได้

     ด้วยความที่ฉันเป็นครูด้วยจิตวิญญาณ  ฉันไม่ได้มุ่งเน้นสอนเด็กๆ ให้ “เก่ง”  เท่านั้น  ฉันถ่ายทอด “ความดี”  ให้พวกเขาด้วย  ด้วยการทำตัวเป็นแบบอย่าง  พูดคุย  สั่งสอน  ตักเตือน  อยู่เสมอ  ถึงจะไม่มีคาบศีลธรรมให้สอน  คอยสอดส่องดูแลพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของเด็กๆ และหาทางช่วยเหลือถึงจะไม่ได้เป็นครูแนะแนว  แอบเจียดเงินเดือนอันน้อยนิดที่ครูบรรจุใหม่ได้รับ (ขณะนั้นเพียง ๑,๒๕๐ บาท)  ให้ทุนการศึกษาเด็กยากจน  เดือนละ ๑๐๐ บาททุกเดือน  ไม่ขาดตลอดระยะเวลาที่เป็นครูอยู่ในโรงเรียนนี้

     ด้วยต้นทุนทางภาษาฝรั่งเศสที่มั่นคงพอควรทำให้ฉันได้ต่อยอด  และเพิ่มต้นทุนได้อีกมากอย่างไม่เคยคิดมาก่อน  ฉันสามารถสอบชิงทุนรัฐบาลฝรั่งเศสไปเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ที่ประเทศฝรั่งเศสถึง ๓ ครั้ง

 

     ครั้งแรก  ไปฝึกอบรมการสอนที่เมือง  Besancon

     ครั้งที่ ๒  ไปฝึกอบรมการสอนเพื่อเตรียมเป็นศึกษานิเทศก์ที่เมือง Grenoble

     ครั้งที่ ๓  ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก  ที่เมือง Grenoble

     และยังได้รับการคัดเลือกจากผู้เชี่ยวชาญจากประเทศฝรั่งเศส  ไปเป็นคณะทำงานเขียนสื่อการสอนภาษาฝรั่งเศส  ๒  ครั้ง  ที่เมือง  Vichy  และ  Besancon

     ก้าวต่อไปที่ไกลกว่าฝันคือการเป็น  “ครูสอนครู”  เมื่อฉันมารับตำแหน่ง ศึกษานิเทศก์ ภาษาฝรั่งเศส  หลังจากกลับจากฝึกอบรมที่ประเทศฝรั่งเศส ครั้งที่ ๒  ด้วยความที่ฉันให้ความสำคัญกับการสร้างคนดีควบคู่กับความเก่ง  จึงได้รับมอบหมายงานนิเทศงานปลูกฝังคุณธรรมเพิ่ม

     ในบทบาทศึกษานิเทศก์  ฉันถ่ายทอดความรู้และทักษะการสอนให้ครูด้วยการจัดประชุม  อบรม  สัมมนา  ทำสื่อการสอน  ทั้งด้านภาษาฝรั่งเศส  และงานปลูกฝังคุณธรรม  ต้องใช้ทั้งทักษะการใช้ภาษาฝรั่งเศสและภาษาไทยในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์  ซึ่งฉันก็ทำงานได้ดี  มีประสิทธิภาพ  ได้รับคำชื่นชมจากครู  เพื่อนร่วมงาน  และผู้เกี่ยวข้องมาโดยตลอด

      อีกบทบาทหนึ่งของความเป็น “ครู”  คือ “ครูสอนธรรมะ”  เป็นงานที่สูงส่งมากสำหรับฉันจนไม่กล้าฝันที่จะเป็น  แต่ก็มีเหตุปัจจัยผลักดันให้ฉันก้าวมาถึงจุดนี้  สืบเนื่องมาจากช่วงที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานปลูกฝังคุณธรรม  ฉันได้พบว่ากระบวนการปลูกฝังคุณธรรมที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนที่สุด  คือ  การพัฒนาจิตตามหลักไตรสิกขาในพระพุทธศาสนา  ได้จัดโครงการอบรมพัฒนาจิตสำหรับครูและนักเรียน  ปรากฏผลเป็นที่น่าพอใจมาก  โรงเรียนต่างๆ จึงขอให้จัดอบรมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนขยายผลไปยังหน่วยงานอื่นๆ หลายหน่วยงาน

     ในที่สุดอุดมการณ์ของฉันก็ตกผลึก  ขอเลือกอุทิศชีวิตที่เหลือเป็นครูสอนความดี – ครูสอนธรรมะ  ซึ่งเป็นงาน (ไม่ใช่อาชีพ)  ที่ขาดแคลนบุคลากรเป็นอย่างมากในสังคมยุคนี้  และเป็นงานที่มีคุณค่าสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวมได้อย่างกว้างขวาง  ฉันจึงตัดสินใจลาออกจากราชการ  วางงานศึกษานิเทศก์  มาเป็นครูสอนธรรมะอย่างเดียว  ทุ่มเทแรงกาย  แรงใจ  ปฏิบัติธรรมเพื่อพัฒนาภูมิธรรมของตัวเอง  และถ่ายทอดธรรมะให้ผู้อื่น

     การเป็นครูสอนธรรมะให้ประสบผลสำเร็จ  ต้องสั่งสมประสบการณ์ทั้งภาคทฤษฎี (ปริยัติ)  และปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง  และมีวิธีการถ่ายทอดที่น่าสนใจและมีประสิทธิภาพ

     ฉันได้สะสมประสบการณ์การปฏิบัติสมาธิภาวนามาอย่างยาวนาน  จากพ่อแม่ - ครูอาจารย์  พระกรรมฐานสายพระป่า  ซึ่งเป็นแนวทางที่ฉันศรัทธาและถนัด

     ส่วนการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้านปริยัตินั้น  อักษรฯ ได้ปูพื้นฐานการเป็นนักอ่านและนักค้นคว้าหาความรู้มาอย่างเข้มข้น  สมัยเป็นนิสิตอักษรฯ เราต้องอ่านหนังสือทั้งในเวลานอกเวลา  สัปดาห์ละหลายเล่ม  หลายภาษา  ทำให้รู้สึกว่าการแสวงหาความรู้ไม่ใช่ภาระที่หนักหรือน่าเบื่อ  แต่กลับเห็นเป็นเรื่องสนุกและเพลิดเพลิน

 

 

 

     ฉันทำงานเผยแผ่ธรรมะหลาย

กลับขึ้นด้านบน

“ครู” คืออุดมการณ์ ไม่ใช่เพียงงานเลี้ยงชีพ

“ครู”  คืออุดมการณ์  ไม่ใช่เพียงงานเลี้ยงชีพ

       อักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   เป็นฝันอันสูงสุดของเด็กๆ ที่เรียนในสายศิลป์ภาษา  ฉันเองก็ใฝ่ฝันที่จะเข้าเรียนในสถาบันแห่งนี้  ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง  เป็นที่ยอมรับในคุณภาพเท่านั้น  แต่ฉันมั่นใจว่าสถาบันแห่งนี้จะนำทางฉันไปถึงเป้าหมายชีวิตที่ฉันตั้งไว้ตั้งแต่เด็ก  และไม่เคยแม้แต่คิดจะเบนเข็มทิศชีวิตไปสู่จุดหมายอื่น  นั่นคือวิชาชีพ “ครู”

      และแล้วอักษรฯ ก็นำพาฉันไปถึงจุดหมายได้อย่างสง่างามและไกลเกินฝัน

      ฉันได้เป็นครูสอนภาษาฝรั่งเศสให้เด็กๆ โรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์  กทม.

      ต่อฝันไปเป็นครูสอนครู  ในฐานะศึกษานิเทศก์  กรมสามัญศึกษา  เขตการศึกษา ๑๑  รับผิดชอบงานนิเทศการสอนภาษาฝรั่งเศส  และงานปลูกฝังคุณธรรมในโรงเรียนมัธยมศึกษา  ๕  จังหวัด   คือ  นครราชสีมา  ชัยภูมิ  บุรีรัมย์  สุรินทร์  และศรีสะเกษ

      และฝันที่ไม่เคยฝันว่าจะเป็นคือเป็นครูสอนธรรมะ  มีลูกศิษย์หลายแสนคนทั้ง  พระ  เณร  หมอ  พยาบาล  ครู  ทหาร  ตำรวจ  ผู้ต้องขัง  เด็กๆ ในสถานพินิจ  ผู้สูงวัย  เด็กนักเรียนตั้งแต่ตัวเล็กๆ ระดับประถม ๔  ไปจนถึงนักศึกษาปริญญาโท ฯลฯ

      องค์ความรู้ที่ได้รับจากอักษรฯ  ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฉันประสบความสำเร็จในชีวิต  คือ  ภาษาฝรั่งเศส  และภาษาไทย  ซึ่งฉันเลือกเรียนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๑  ถึง ปี ๔

      ฉันมีโอกาสสอนภาษาฝรั่งเศสให้ลูกศิษย์ในโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์เพียง ๒ รุ่น  ประมาณ ๔ ปี  แต่ก็สร้างความประทับใจให้เด็กๆ มาก จนทุกวันนี้ลูกศิษย์ในวัยเกษียณกลุ่มหนึ่งก็ยังโทรมาพูดคุยถามไถ่ทุกข์สุข  มาเยี่ยมเยียน  นัดไปรับประทานอาหารด้วยกันเป็นครั้งคราว  มีการติดต่ออย่างต่อเนื่อง

      ด้วยทักษะการใช้ภาษาฝรั่งเศสที่ครูบาอาจารย์ที่คณะอักษรฯ เคี่ยวเข็ญมา ๔ ปี  ทำให้ฉันมีภูมิพอที่จะทำให้เด็กๆ มั่นใจและศรัทธา  ฉันนำความรู้ไปถ่ายทอดและเคี่ยวเข็ญเด็กๆ ต่อ  ยอมเหนื่อยสอนพิเศษเพิ่มตอนเย็นหลังเลิกเรียนให้เด็กที่เรียนอ่อน  และก็ได้รับผลตอบแทนคุ้มเหนื่อย  เด็กบางคนที่เรียนฝรั่งเศสอ่อนมากๆ สามารถพัฒนาขึ้นได้เป็นสิบเท่าและสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ของประเทศได้

      ด้วยความที่ฉันเป็นครูด้วยจิตวิญญาณ  ฉันไม่ได้มุ่งเน้นสอนเด็กๆ ให้ “เก่ง”  เท่านั้น  ฉันถ่ายทอด “ความดี”  ให้พวกเขาด้วย  ด้วยการทำตัวเป็นแบบอย่าง  พูดคุย  สั่งสอน  ตักเตือน  อยู่เสมอ  ถึงจะไม่มีคาบศีลธรรมให้สอน  คอยสอดส่องดูแลพฤติกรรมและความเป็นอยู่ของเด็กๆ และหาทางช่วยเหลือถึงจะไม่ได้เป็นครูแนะแนว  แอบเจียดเงินเดือนอันน้อยนิดที่ครูบรรจุใหม่ได้รับ (ขณะนั้นเพียง ๑,๒๕๐ บาท)  ให้ทุนการศึกษาเด็กยากจน  เดือนละ ๑๐๐ บาททุกเดือน  ไม่ขาดตลอดระยะเวลาที่เป็นครูอยู่ในโรงเรียนนี้

      ด้วยต้นทุนทางภาษาฝรั่งเศสที่มั่นคงพอควรทำให้ฉันได้ต่อยอด  และเพิ่มต้นทุนได้อีกมากอย่างไม่เคยคิดมาก่อน  ฉันสามารถสอบชิงทุนรัฐบาลฝรั่งเศสไปเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ที่ประเทศฝรั่งเศสถึง ๓ ครั้ง

 

      ครั้งแรก  ไปฝึกอบรมการสอนที่เมือง  Besancon

      ครั้งที่ ๒  ไปฝึกอบรมการสอนเพื่อเตรียมเป็นศึกษานิเทศก์ที่เมือง Grenoble

      ครั้งที่ ๓  ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก  ที่เมือง Grenoble

      และยังได้รับการคัดเลือกจากผู้เชี่ยวชาญจากประเทศฝรั่งเศส  ไปเป็นคณะทำงานเขียนสื่อการสอนภาษาฝรั่งเศส  ๒  ครั้ง  ที่เมือง  Vichy  และ  Besancon

      ก้าวต่อไปที่ไกลกว่าฝันคือการเป็น  “ครูสอนครู”  เมื่อฉันมารับตำแหน่ง ศึกษานิเทศก์ ภาษาฝรั่งเศส  หลังจากกลับจากฝึกอบรมที่ประเทศฝรั่งเศส ครั้งที่ ๒  ด้วยความที่ฉันให้ความสำคัญกับการสร้างคนดีควบคู่กับความเก่ง  จึงได้รับมอบหมายงานนิเทศงานปลูกฝังคุณธรรมเพิ่ม

      ในบทบาทศึกษานิเทศก์  ฉันถ่ายทอดความรู้และทักษะการสอนให้ครูด้วยการจัดประชุม  อบรม  สัมมนา  ทำสื่อการสอน  ทั้งด้านภาษาฝรั่งเศส  และงานปลูกฝังคุณธรรม  ต้องใช้ทั้งทักษะการใช้ภาษาฝรั่งเศสและภาษาไทยในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์  ซึ่งฉันก็ทำงานได้ดี  มีประสิทธิภาพ  ได้รับคำชื่นชมจากครู  เพื่อนร่วมงาน  และผู้เกี่ยวข้องมาโดยตลอด

      อีกบทบาทหนึ่งของความเป็น “ครู”  คือ “ครูสอนธรรมะ”  เป็นงานที่สูงส่งมากสำหรับฉันจนไม่กล้าฝันที่จะเป็น  แต่ก็มีเหตุปัจจัยผลักดันให้ฉันก้าวมาถึงจุดนี้  สืบเนื่องมาจากช่วงที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานปลูกฝังคุณธรรม  ฉันได้พบว่ากระบวนการปลูกฝังคุณธรรมที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนที่สุด  คือ  การพัฒนาจิตตามหลักไตรสิกขาในพระพุทธศาสนา  ได้จัดโครงการอบรมพัฒนาจิตสำหรับครูและนักเรียน  ปรากฏผลเป็นที่น่าพอใจมาก  โรงเรียนต่างๆ จึงขอให้จัดอบรมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนขยายผลไปยังหน่วยงานอื่นๆ หลายหน่วยงาน

     ในที่สุดอุดมการณ์ของฉันก็ตกผลึก  ขอเลือกอุทิศชีวิตที่เหลือเป็นครูสอนความดี – ครูสอนธรรมะ  ซึ่งเป็นงาน (ไม่ใช่อาชีพ)  ที่ขาดแคลนบุคลากรเป็นอย่างมากในสังคมยุคนี้  และเป็นงานที่มีคุณค่าสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวมได้อย่างกว้างขวาง  ฉันจึงตัดสินใจลาออกจากราชการ  วางงานศึกษานิเทศก์  มาเป็นครูสอนธรรมะอย่างเดียว  ทุ่มเทแรงกาย  แรงใจ  ปฏิบัติธรรมเพื่อพัฒนาภูมิธรรมของตัวเอง  และถ่ายทอดธรรมะให้ผู้อื่น

      การเป็นครูสอนธรรมะให้ประสบผลสำเร็จ  ต้องสั่งสมประสบการณ์ทั้งภาคทฤษฎี (ปริยัติ)  และปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง  และมีวิธีการถ่ายทอดที่น่าสนใจและมีประสิทธิภาพ

      ฉันได้สะสมประสบการณ์การปฏิบัติสมาธิภาวนามาอย่างยาวนาน  จากพ่อแม่ - ครูอาจารย์  พระกรรมฐานสายพระป่า  ซึ่งเป็นแนวทางที่ฉันศรัทธาและถนัด

      ส่วนการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้านปริยัตินั้น  อักษรฯ ได้ปูพื้นฐานการเป็นนักอ่านและนักค้นคว้าหาความรู้มาอย่างเข้มข้น  สมัยเป็นนิสิตอักษรฯ เราต้องอ่านหนังสือทั้งในเวลานอกเวลา  สัปดาห์ละหลายเล่ม  หลายภาษา  ทำให้รู้สึกว่าการแสวงหาความรู้ไม่ใช่ภาระที่หนักหรือน่าเบื่อ  แต่กลับเห็นเป็นเรื่องสนุกและเพลิดเพลิน

      ฉันทำงานเผยแผ่ธรรมะหลายรูปแบบ  มีทั้งการจัดอบรมพัฒนาจิต  ซึ่งฉันเป็นผู้อำนวยการอบรมและเป็นวิทยากรหลัก  เป็นวิทยากรบรรยายธรรมตามคำเชิญของหน่วยงานต่างๆ  ทำหนังสือธรรมะ  เผยแผ่ธรรมะและถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์  โทรทัศน์  วิทยุ   ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยทักษะการใช้ภาษาในการถ่ายทอดธรรมะให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจ  และมีศรัทธาที่จะนำธรรมะไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

      การทำงานเผยแผ่ธรรมะ  สอนคนให้เป็นคนดี  คืนคนดีให้สังคม  ที่ฉันทุ่มเททำมากว่า ๓๐ ปี  นับว่าประสบผลสำเร็จมาก  เสียงสะท้อนจากผู้รับการอบรม  ผู้ฟัง  ผู้อ่าน  ไปในทิศทางเดียวกันในหลายประเด็น  เช่น

  • ใช้ภาษาง่ายๆ เป็นลำดับขั้นตอน เข้าใจง่าย  ทำให้ธรรมะซึ่งเคยคิดว่าเป็นเรื่องยากดูเป็น   เรื่องง่าย
  • ทำให้ธรรมะที่คิดว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อ กลายเป็นเรื่องน่าสนใจ  น่าปฏิบัติตาม
  • มีวิธีพูดโน้มน้าว มีเหตุผล  มีหลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์  น่าเชื่อถือ  ทำให้ผู้ฟังคล้อยตาม  เชื่อเรื่องบุญ-บาป  และอยากละชั่ว  ทำดี  กลับตัวกลับใจเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่  เป็นคนดีของสังคม
  • ทำให้เห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนา จากที่ไม่เคยสนใจ  ไม่เห็นคุณค่า  คิดว่าเป็นศาสนาที่งมงาย  ไร้สาระ  เปลี่ยนความคิดโดยสิ้นเชิง  กลับยอมรับ  เกิดศรัทธา  และเต็มใจปฏิบัติตามคำสอนของพุทธศาสนา

ฯลฯ

        งาน “สร้างคน”  นับว่าเป็นคนที่ยิ่งใหญ่และทำได้ยาก  การที่ฉันสามารถทำงานนี้ได้สำเร็จทั้งสร้างคนเก่ง  และสร้างคนดี  เท่าที่แรงกาย  แรงใจ  สติปัญญา  และความสามารถของฉันจะทำได้  ถือว่าเป็นบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่  ขอน้อมถวายบุญกุศลนี้บูชาพระคุณพ่อแม่ครูอาจารย์ฝ่ายกรรมฐาน  และครูอาจารย์คณะอักษรศาสตร์  ที่ได้ชี้นำ  อบรมสั่งสอน  หล่อหลอมจิตวิญญาณ  และสติปัญญา  จนสามารถสร้างคุณค่าให้แก่ชีวิตของตนเองได้มากขึ้น  และสามารถทำประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างกว้างขวาง

 

 

กลับขึ้นด้านบน

ฉันจะเรียน “อักษร” ใครจะทำไม ?

ฉันจะเรียน "อักษร" ใครจะทำไม

โดย ศ.ดร.วิจิตร ศรีสะอ้าน ( อบ. 23 อักษรศาสตร์ดีเด่น พ.ศ.2538 )

      เมื่อตอนเป็นเด็ก ในวัยที่เข้าเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ ไม่ได้เข้าโรงเรียนเพราะบ้านอยู่ไกลโรงเรียนและเป็นคนอ่อนแอ  ทางเดียวที่จะไปโรงเรียนคือเดินเท้าตามคันนา จึงต้องเรียนหนังสือที่บ้าน มีพ่อซึ่งทำนาและค้าขายของชำเป็นครูสอนจนจบเล่มหนึ่งตอนปลาย อ่านออกเขียนได้เมื่ออายุย่างเข้าเก้าขวบ  ได้รับคำชมจากพ่อว่า “อ่านหนังสือเก่ง เขียนหนังสือสวย ลายมือดี”  พร้อมแนะนำว่าน่าจะเป็น “ครู” และเรียนภาษาให้แตกฉานลึกซึ้งยิ่งขึ้น จะได้เป็นครูที่ดี คำชมและคำแนะนำกลายเป็น “คำสอนและคำสั่งของพ่อ” ที่ฝังใจไม่รู้ลืม ไม่ใช่การชี้นำแต่เป็นการชี้ทางที่ยึดเป็นวิถีชีวิตได้

      เมื่อตอนเข้าเรียนชั้นประถมหนึ่งที่โรงเรียนวัดซึ่งเป็นโรงเรียนประชาบาล เป็นเด็กโคร่งอายุมากกว่าเพื่อนนักเรียนร่วมชั้นราวสองปี แต่อ่านออกเขียนได้แล้ว ครูประจำชั้นจึงมอบให้ช่วยครูต่อหนังสือให้กับเพื่อนนักเรียน ได้เป็นหัวหน้าชั้นและเป็นผู้ช่วยครูมาตั้งแต่เริ่มเข้าโรงเรียน เมื่อเลื่อนชั้นขึ้นไปตามลำดับในโรงเรียนวัดและโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอจนถึงมัธยมหก ครูประจำชั้นและเพื่อนร่วมชั้นเรียนขอให้ทำหน้าที่หัวหน้าชั้นและเป็นผู้ช่วยครูประจำชั้นมาโดยตลอด

      เมื่อจบมัธยมหก ถ้าจะเรียนต่อตามพ่อแนะนำต้องไปเรียนในโรงเรียนที่เปิดสอนมัธยมเจ็ดและแปดที่กรุงเทพฯ โชคดีได้ทุนจังหวัดเพราะสอบได้ที่หนึ่งของจังหวัดฉะเชิงเทรา จึงสมัครเข้าเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เชิงสะพานพุทธฯ ข้างวัดเลียบ จังหวัดพระนคร เลือกแผนกอักษรซึ่งเปิดรับนักเรียนห้องเดียว โชคดีสอบเข้าได้สมดังตั้งใจ ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าชั้นและเป็นผู้ช่วยครูเช่นเคย ทำให้ความหวังที่จะเรียนอักษรศาสตร์เพื่อเป็นครูเริ่มจะเป็นจริง เมื่อได้เรียนตามที่ใจรัก ทำให้การเรียนแผนกอักษรซึ่งส่วนใหญ่เรียนภาษาไทย ภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสได้ผลดี การจะจบมัธยมแปดสมัยนั้นจะต้องเข้าสอบข้อสอบกลางของกระทรวงศึกษาธิการร่วมกับนักเรียนทั่วประเทศ สอบได้ระดับหนึ่งในห้าสิบของประเทศ

      เมื่อต้องตัดสินใจเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ในสาขาตรงตามที่พ่อสั่งและตัวเองตั้งใจ จึงทำได้โดยไม่ยากเพราะในสมัยนั้นมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนด้านอักษรศาสตร์และต่อยอดด้วยครุศาสตร์มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย คือ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เรื่องที่ยาก คือ จะสอบคัดเลือกผ่านเข้าไปได้หรือเปล่า  เพราะมีคนสมัครมากและแข่งขันสูง  จำนวนที่รับเข้าศึกษาก็จำกัดประมาณหนึ่งร้อยคน การจะได้เป็น “หนึ่งในร้อย” จึงเป็นเรื่องที่ยากแต่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  การสอบคัดเลือกเข้าอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ถือเป็นการลิขิตเส้นทางชีวิตว่าจะได้เป็น “ครู” ตามที่มุ่งมาดปรารถนาหรือไม่ ?

      เมื่อได้เข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์ เส้นทางชีวิตของการเป็น “ครู” ก็เริ่มสดใสและใกล้ความจริง จึงมุ่งมั่นที่จะเป็นบัณฑิตอักษรด้านภาษาโดยการเลือกเรียนสามภาษา คือ ไทย (รวมโบราณตะวันออก ภาษาบาลีสันสกฤต และเขมร) อังกฤษและฝรั่งเศส  เพื่อจะได้เป็น “ครูภาษา” ในอนาคต ระหว่างเรียนอักษรได้มีโอกาสใช้ความรู้ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นอาชีพเสริมสอนพิเศษตามบ้านแก่นักเรียนมัธยม  ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ประกาศวิทยุศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากใช้ภาษาไทยได้ดี  ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้แทนนิสิตนักศึกษาไทยไปเข้าค่ายฝึกผู้นำค่ายอาสาสมัครนานาชาติ (International Leadership Training Voluntary Work Camp) ณ ประเทศอินเดีย รวมทั้งการเป็นผู้อำนวยการร่วม  (Co-Director) ค่ายอาสาสมัครนานาชาติที่องค์การวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ จัดตั้ง ณ ประเทศปากีสถานตะวันออก (บังคลาเทศในปัจจุบัน)  ในฐานะนิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชั้นปีที่สามและปีที่สี่  ได้มีโอกาสจัดตั้งค่ายอาสาสมัครขึ้นเป็นครั้งแรกของสโมสรนิสิตจุฬาฯ แล้วขยายผลไปสู่สถาบันอุดมศึกษาอื่นทั่วประเทศ กลายเป็นกิจกรรมนิสิตนักศึกษาต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้  ที่ทำได้เช่นนี้เพราะคณะอักษรศาสตร์และวิชาการด้านอักษรศาสตร์ได้เปิดโอกาสและเสริมสร้างความสามารถให้ทำได้ แม้จะอยู่ในช่วงที่เป็นนิสิต

      เมื่อจบ อ.บ. ก็สมัครเรียนต่อครุศาสตร์ ซึ่งได้รับการยกฐานะจากแผนกวิชาของคณะอักษรศาสตร์ เป็นคณะครุศาสตร์ หลักสูตรปริญญาสองปี เน้นการสอนภาษา ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษในฐานะภาษาต่างประเทศ ตั้งใจจะเป็นครูสอนภาษาระดับมัธยมศึกษา เมื่อเรียนจบ ค.บ. ก็ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นอาจารย์โท ทำหน้าที่หัวหน้าแผนกธุรการ และช่วยสอนภาษาไทยแก่นิสิตครุศาสตร์ ปีที่หนึ่งหลักสูตรสี่ปี ทำให้ได้ใช้ความรู้ภาษาไทยทั้งด้านบริหารธุรการและการสอน  การเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องมีคุณวุฒิสูง ถ้าเป็นปริญญาเอกยิ่งดี จึงสมัครขอรับทุนฟุลไบร์ทไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านบริหารการศึกษา ต้องผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษทั้งข้อเขียนและสัมภาษณ์  ความรู้ที่ได้จากอักษรศาสตร์ทั้งระดับมัธยมและ อ.บ. ทำให้ได้รับทุนฟุลไบร์ทไปศึกษาต่อ ณ มหาวิทยาลัยมินเนโซต้า (Minnesota) ประเทศสหรัฐอเมริกา  ภาษาอังกฤษที่ได้จาก อ.บ. ได้ช่วยให้เรียนปริญญาโทสาขาวิชาบริหารการศึกษาได้ดี ใช้เวลาหนึ่งปีเต็มและได้รับคัดเลือกจากมหาวิทยาลัยมินเนโซต้าให้ได้รับทุนประเภทผู้ช่วยอาจารย์ (Assistantship) เพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาเอก (Ph.D) ในช่วงที่เรียนปริญญาเอกที่นั่นต้องสอบภาษาต่างประเทศสองภาษาที่เกี่ยวข้องกับการทำวิทยานิพนธ์  ความเป็นบัณฑิต อ.บ. ได้มีส่วนช่วยอย่างสำคัญทำให้สอบผ่านภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสได้ในรอบเดียวโดยไม่มีปัญหา และได้ปริญญาเอกโดยไม่ต้องขอต่อเวลา

      เมื่อกลับมาปฏิบัติงานในฐานะอาจารย์ประจำของคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับผิดชอบสอนภาษาแก่นิสิตและนักเรียนสาธิต ร่วมกับการสอนวิชาด้านการบริหารการศึกษา ได้ดำรงตำแหน่งระดับสูงทั้งในจุฬาฯและระดับชาติ ในทุกหน้าที่ที่ทำไม่ว่าจะเป็นอาจารย์หรือผู้บริหารได้อาศัยความสามารถในการใช้ภาษาเป็นปัจจัยสำคัญของการทำหน้าที่ ความสามารถในการสื่อสารสื่อความให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนในลักษณะ “สุสาสโน” (ชี้แจง ชักจูง ปลุกใจให้เพลิน) คือพื้นฐานของการทำภารกิจ  ครั้งหนึ่งในขณะทำหน้าที่อธิการบดีผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางที่เปิดสอนเฉพาะสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาทิ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เกษตร แพทย์ พยาบาล และเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น  ผู้คนสงสัยกันเป็นอันมาก  ถึงกับมีผู้ถามอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยซึ่งส่วนใหญ่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ว่า “พูดกับอธิการบดีรู้เรื่องหรือ ?  เป็นไปได้อย่างไรที่นักอักษรศาสตร์จะมาตั้งและบริหารมหาวิทยาลัยเฉพาะทางที่ไม่ได้สอนทางอักษรศาสตร์โดยตรง ?”  อาจารย์ประจำเหล่านั้นได้ตอบว่า “พูดกับท่านรู้เรื่องดีและชัดเจนกว่าพูดกับอาจารย์ด้วยกันเองเสียอีก” จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า “ภาษาพาสาร” วิชาการอักษรศาสตร์ช่วยให้เป็นครูและผู้บริหารที่ดี ที่สามารถสื่อสารกับคนได้ผลตามเจตนา

      “ฉัน” ชื่อวิจิตร ศรีสอ้าน ผู้ที่มีชีวิตและจิตใจ ภาคภูมิและผูกพันกับความเป็นบัณฑิตอักษรศาสตร์ ฉันเป็นฉันอย่างที่เป็นทุกวันนี้ อักษรศาสตร์มีส่วนสำคัญที่ปลุกปั้นให้ฉันเป็น 

      นี่คือคำตอบคำถามที่ว่า “เรียนอักษรทำไม ?”

      และฉันจะเรียน “อักษร” ใครจะทำไม ?

 

 

กลับขึ้นด้านบน

จากอักษรศาสตร์สู่นิเทศศาสตร์

จากอักษรศาสตร์สู่นิเทศศาสตร์

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดวงกมล ชาติประเสริฐ

       เมื่อปลายเดือนเมษายน 2527 ดิฉันได้รับจดหมายแจ้งจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าที่ดิฉันได้ไปสมัครสอบเพื่อชิงทุนของคณะนิเทศศาสตร์ไปศึกษาต่อยังปริญญาโท และปริญญาเอก สาขา Agricultural Journalism ณ สหรัฐอเมริกานั้น ดิฉันเป็นผู้ได้รับทุนนั้น ดิฉันจำความรู้สึกวันนั้นได้อย่างแม่นยำว่า เป็นความรู้สึกภูมิใจ ระคนสงสัยและกังวลใจ ดิฉัภูมิใจที่สอบชิงทุนที่มีการแข่งขันกันสูงได้ สงสัยว่าดิฉันเป็นผู้ได้ทุนได้อย่างไรในเมื่อไม่ได้เคยเรียนวิชาทางด้านการสื่อสารหรือด้านการพัฒนาการเกษตรมาก่อน  และกังวลใจว่าถึงแม้จะได้ทุนแล้วดิฉันจะเรียนได้ประสบความสำเร็จหรือไม่

       จากวันนั้นมาถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้วที่ดิฉันได้เรียนจนสำเร็จการศึกษาและกลับมาสอนและทำงานบริหารในคณะนิเทศศาสตร์ ตลอดชีวิตการทำงานที่ผ่านมา แม้จะมาจากต่างคณะ ดิฉันมิได้รู้ลำบากใจอย่างที่เคยกังวล ดิฉันรู้สึกว่าดิฉันเป็นสมาชิกที่สามารถทำงานและสร้างผลงานที่มีคุณค่าให้แก่คณะนิเทศศาสตร์ได้ไม่น้อยไปกว่าเพื่อนอาจารย์ที่จบสาขาทางด้านนิเทศศาสตร์โดยตรง ความสบายใจนี้มีมากพอที่จะทำให้ดิฉันหวนนึกถึงพระคุณของคณะอักษรศาสตร์ที่เป็นที่ที่วางรากฐานให้ดิฉันเติบโตในการทำงานต่อมา

       ดิฉันเข้าศึกษาในคณะอักษรศาสตร์ในปี 2523 เมื่อแรกเข้า ดิฉันมีความฝันว่าจะเป็นนักการทูต แม้การศึกษาในคณะอักษรศาสตร์ไม่ใช่เส้นทางตรงที่สุดที่จะไปสู่ความฝันนั้น แต่ดิฉันก็เลือกเข้าเรียนคณะนี้ตามความประสงค์ของบิดาซึ่งขณะนั้นกำลังป่วยหนัก ท่านเห็นว่าดิฉันเรียนอักษรศาสตร์น่าจะดีกว่ารัฐศาสตร์ ในเวลานั้น ดิฉันพอมองเห็นว่าดิฉันตามใจท่านได้โดยไม่ได้ละทิ้งการตามความฝันเสียทีเดียว แต่ ลึก ๆ ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ด้วยบุคลิก ท่าทาง และความสนใจของดิฉันนั้น ดิฉันเหมาะที่จะเรียนคณะอักษรศาสตร์แน่หรือ ดิฉันใช่ “สาวอักษรฯ” แน่หรือ

       คำถามข้างตนค้างใจอยู่ได้ไม่นานก็เลือนหายไป ดิฉันจำได้ว่า ดิฉันได้รับหนังสือหลักสูตรอักษรศาสตร์บัณฑิตเล่มโตในวันที่มาลงทะเบียนเรียนวันแรก เปิดดูตั้งแต่ต้นจนจบเห็นว่าคณะอักษรศาสตร์มีสาขาวิชาเอกให้เลือกเรียนมากมาย ล้วนน่าสนใจทั้งสิ้น ในวันนั้น ดิฉันรับรู้ได้ว่าในคณะอักษรศาสตร์ ดิฉันจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ในมาตรฐานเนื้อหาที่ลึกซึ้งท้าทาย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดิฉันแสวงหาในรั้วมหาวิทยาลัย จึงไม่มีเหตุที่จะต้องกังวลอีก

      เมื่อได้เข้ามาเรียนจริงดิฉันก็ยิ่งมั่นใจว่าการเรียนสี่ปีในคณะอักษรศาสตร์คือการพัฒนาให้ดิฉันเป็นผู้ที่มีความพร้อมในการเรียนรู้ตลอดชีวิต วิชาแต่ละวิชาค่อย ๆ ดึงดิฉันออกจากกะลามาสู่โลกกว้าง ดิฉันจำได้ว่าในปีหนึ่ง ดิฉันตื่นเต้นที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จากวิชาการศึกษาทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นทางสังคมศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ ดิฉันเริ่มเข้าใจธรรมชาติ เข้าใจสังคม เข้าใจรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในขณะนั้นว่ามีสาระสำคัญอย่างไรและมีความเกี่ยวข้องกับคนในสังคมอย่างไร ในส่วนของวิชาเอก ดิฉันเลือกศึกษาภาษาอังกฤษที่เน้นวรรณคดี และเลือกวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาโท เมื่อประกอบกับวิชาพื้นฐานอื่น ๆ ของคณะแล้ว การเรียนในคณะอักษรศาสตร์พัฒนาดิฉันให้เป็นมนุษย์ที่เห็นความสำคัญของการเรียนรู้และมีความพร้อมในการเรียนรู้สิ่งใหม่ด้วยตนเอง อักษรศาสตร์สอนให้ดิฉันอ่านหนังสือเข้าใจลึกซึ้ง รู้จักวิเคราะห์วิจารณ์ สอนให้มีความรู้ด้านความเป็นไปของธรรมชาติ และความเป็นไปของสังคม และที่สำคัญที่สุด วิชาเอกและวิชาโทเมื่อเสริมด้วยและวิชาพื้นฐานอื่น ๆ ที่สอนในคณะ เช่น วิชาทางด้านปรัชญา ภาษาศาสตร์ วรรณคดีไทย และวิชาอารยธรรม ล้วนให้ความเข้าใจมนุษย์อย่างลึกซึ้ง มองเห็นคุณค่าของสิ่งรอบตัว และเป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์ และช่วยให้เข้าใจโลกทางสังคมทั้งสิ้น ถือว่าการเรียนในคณะนิเทศศาสตร์ทำให้ดิฉันมีเติบโตเป็นผู้ใหญ่ทั้งทางวิชาการและการมองสังคม

      นอกจากเนื้อหาของหลักสูตรแล้ว สิ่งแวดล้อมทางสังคมในคณะได้แก่ครูอาจารย์ และเพื่อนที่ร่วมเรียนด้วยกันมาล้วนเป็นแบบอย่างและสร้างแรงบรรดาใจในการพัฒนาตนเองทั้งสิ้น ดิฉันได้มีโอกาสเรียนกับอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิชาการและมีความเป็นครูมากมายหลายท่าน ดิฉันได้อยู่ในหมู่เพื่อนที่มีความรับผิดชอบและมีความเพียร  มีความสามารถที่จะทำกิจกรรมและเรียนได้อย่างดีเยี่ยมในเวลาเดียวกัน ดิฉันได้อยู่ในหมู่เพื่อนมีความกล้าในการเรียนรู้สิ่งใหม่ และกล้าในการแสดงความคิดเห็น ดิฉันแทบจะไม่เคยได้เห็นเพื่อนคนได้หลีกเลี่ยงวิชาที่เป็นประโยชน์เพราะเห็นว่ายากหรือจะทำให้ได้คะแนนไม่ดีทำให้การเรียนรู้สนุกและท้าทาย เพื่อนอักษรศาสตร์ส่วนใหญ่ของดิฉันจะเป็นนักสู้ และแบบอย่างเหล่านี้ทำให้ดิฉันบอกกับตนเองว่า ดิฉันควรจะปรับปรุงตนเองให้ได้ในระดับเดียวกันกับที่ดิฉันได้พบได้เห็นเช่นนั้นบ้าง

      เมื่อต้นปี 2527 หลังจากที่ต้นจามจุรีผลัดใบไปแล้ว 4 รอบ ดิฉันก็ได้เป็นอักษรศาสตรบัณฑิต ผู้เห็นความสำคัญในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเชื่อในความสามารถของตนเองในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ เมื่อมีทัศนคติเช่นนี้ สิ่งใดที่ดิฉันไม่รู้ ดิฉันไม่คิดว่าเป็นอุปสรรค ถ้ามีเวลา ที่ไม่รู้ก็ทำให้รู้เสีย ง่ายเพียงเท่านั้น

      โอกาสท้าทายความสามารถในการเรียนรู้ครั้งแรกมาถึงเมื่อดิฉันสอบชิงทุนไปศึกษาทางด้าน Agricultural Journalism ดังที่กล่าวมาตอนต้น แม้จะไม่ใช่งานด้านการทูตที่เคยใฝ่ฝัน ดิฉันก็ตัดสินใจมาสอบ เพื่อเปิดโอกาสในประกอบอาชีพใหม่  การสอบครั้งนั้นมีผู้เข้าแข่งขันทั้งที่จบนิเทศศาสตร์โดยตรง และที่จบปริญญาระดับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากสาขาที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก ดิฉันคะเนว่าดิฉันต้องเรียนรู้เรื่องทักษะและทฤษฎีวารสารศาสตร์ เรื่องการพัฒนาประเทศ และมีความรู้เรื่องการเกษตรอยู่บ้าง ในการเตรียมตัวดิฉันได้หาหนังสือที่เกี่ยวกับหัวข้อที่จำเป็นมาอ่านด้วยตนเองทำให้พอมีความรู้ในการวิเคราะห์ปัญหา ประกอบกับทักษะทางภาษาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่คณะอักษรศาสตร์บ่มเพาะมาเป็นอย่างดี ดิฉันจึงประสบความสำเร็จในการสอบชิงทุนเหนือความคาดหมายของทุกคนรวมทั้งตัวดิฉันเอง

      หลังจากนั้น ดิฉันใช้ทัศนคติเป็นมิตรต่อการเรียนรู้และการมองเห็นคุณค่า ๆ ของดิฉันในการฝึกฝนตนและปรับตัวในการเรียนและในการทำงานต่อมา ไม่ว่าจะเป็นการเรียนทักษะที่นักวารสารศาสตร์พึงมีเมื่อหลายสิบปีก่อน เช่น การถ่ายภาพ การพิมพ์ดีด การปรับตนเองจากการแนวทางการศึกษาแบบนักมนุษยศาสตร์มาเป็นนักสังคมศาสตร์ หรือการฝึกทักษะสมัยใหม่ ไม่ว่าการเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ระดับการเขียนโปรแกรม การสร้างฐานข้อมูล หรือการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปใหม่ ๆ การวิจัยหรือการใช้สถิติ ดิฉันสามารถพัฒนาตนเองได้ในระดับที่ดีพอที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในอาชีพการงานได้ นอกจากนี้ ดิฉันยังรู้สึกท้าทายและมีแรงบันดาลใจในการเรียนรู้งานด้านบริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานด้านการวางแผนและพัฒนา และงานด้านหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นทุนให้ดิฉันได้มีโอกาสทำงานด้านบริหารในตำแหน่งที่สูงขึ้นต่อมาเป็นลำดับ

      ความสามารถและความไวในการเรียนรู้สิ่งใหม่ของดิฉันเป็นที่ประจักษ์ในหมู่คนที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับดิฉัน อาจารย์ที่ปรึกษาที่ต่างประเทศเคยเล่าว่าเมื่อครั้งที่รับดิฉันเข้าเรียนใหม่ ๆ ท่านกังวลว่าดิฉันไม่มีพื้นฐานทางด้านสังคมศาสตร์เลย เมื่อมาเรียนสาขาใหม่จะมีปัญหาหรือไม่ ท่านบอกว่าผ่านไปภาคการศึกษาเดียวท่านก็หายกังวล แม้ทุกวันนี้ นิสิตรุ่นแล้วรุ่นเล่าของดิฉันยังเอ่ยให้ฟังบ่อย ๆ ว่าดิฉันสามารถทำความเข้าใจหนังสือ หรือบทความวิชาการใหม่ๆ ได้รวดเร็วอย่างน่าพิศวง และได้ถามว่าดิฉันทำได้อย่างไร ถ้าจะให้ตอบ ดิฉันคงเรียนว่าดิฉันไม่ได้มีคาถาอาคมใด ๆ แต่ดิฉันมีพื้นความรู้ทางวิชาการ แบบแผนการเรียนรู้ที่ ทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ และการเชื่อความสามารถของตนเองในการเรียนรู้ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ในการเรียนรู้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้โดยไม่ตกยุคตกสมัย ความรักในการเรียนรู้นี้คือขุมทรัพย์ที่ดิฉันมีค่ายิ่งที่ได้รับจากคณะอักษรศาสตร์เช่นเดียวกับรุ่นพี่รุ่นน้องรุ่นแล้วรุ่นเล่าเป็นร้อยรุ่น และผู้ที่จะเข้ามาใหม่ในลานชงโคแห่งนี้สืบต่อไป

 

กลับขึ้นด้านบน

อักษรศาสตร์ ศาสตร์ที่สร้างศักยภาพ

อักษรศาสตร์

ศาสตร์ที่สร้างศักยภาพในการคิดเชิงลึกและพัฒนาตนเอง

โดย  รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

      ผมเข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์ในปี พ.ศ. 2506 และจบในปี พ.ศ. 2509 หลังจากจบอักษรศาสตร์แล้วก็ได้เป็นอาจารย์อยู่ที่คณะ 2 ปี ก่อนจะไปเรียนต่อด้วยทุนรัฐบาลสเปนและฝรั่งเศสตั้งแต่ปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอกทางด้านรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Universidad Complutense de Madrid ที่ประเทศสเปน และทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Universite de Nancy ประเทศฝรั่งเศส หลังจากการจบการศึกษาก็ได้เป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนเกษียณอายุ ในขณะที่เป็นอาจารย์อยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ นอกเหนือจากการสอนด้านการเมืองการปกครองของยุโรปแล้ว ยังสอนเรื่ององค์การระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง ขณะเดียวกันก็เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาตลาดการเงินและการจัดการเชิงกลยุทธ์ในคณะพาณิชย์และการบัญชีของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ อีกทั้งเป็นอาจารย์พิเศษสอนภาษาสเปนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมมีโอกาสเป็นที่ปรึกษาและเป็นกรรมการอิสระขององค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจำนวนมาก เคยเป็นที่ปรึกษาของตลาดหลักทรัพย์และ ESCAP องค์การสหประชาชาติ ในทางการเมืองและเศรษฐกิจ มีโอกาสเป็นวุฒิสมาชิกและเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี

      การที่ผมได้เขียนสาธยายประวัติการศึกษาและประสบการณ์ในการทำงานในเบื้องต้นนั้นก็ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการแสดงให้เห็นว่า การที่มีโอกาสมาเรียนในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นได้สร้างศักยภาพในการคิดและในการทำงานทั้งในเชิงลึก เชิงกว้าง และสร้างพลวัตในการปรับตัวได้ดีมาก

      การเรียนรู้ภาษาที่คณะอักษรศาสตร์ทั้งด้านภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสทำให้ผมสามารถที่จะเข้าเรียนต่อภาษาสเปนทั้ง ๆ ที่ตอนไปเรียนนั้นไม่ได้มีความรู้ภาษาสเปนเลย ผมสามารถเรียนรู้ภาษาสเปนได้เร็วและสามารถเข้าเรียนและทำคะแนนได้ดีในคณะรัฐศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยให้ผมสอบได้รับทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสเพื่อเรียนต่อด้านเศรษฐศาสตร์ในฝรั่งเศสอีกด้วย ความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาสเปนทำให้ผมสามารถเรียนรู้ภาษาอิตาลีและภาษาโปรตุเกสได้เองโดยใช้ระยะเวลาอันสั้นจนสามารถที่จะใช้ทั้ง 2 ภาษาหลังนี้ในการติดตามข่าวสารหนังสือพิมพ์และอ่านหนังสือทางด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองจากภาษาที่หลากหลาย นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ กล่าวอีกด้านหนึ่ง ความเป็นนักภาษาศาสตร์ช่วยสร้างเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผม โดยช่วยย่นระยะเวลาในการเรียนรู้ภาษาใหม่ ๆ อีกทั้งสามารถติดตามความรู้ข่าวสารที่มาจากหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี และโปรตุเกส ได้ตลอดเวลา ยิ่งอยู่ในยุคสังคมความรู้ก็ยิ่งทำให้สามารถติดตามข่าวสารโดยผ่านหนังสือพิมพ์รายวันอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศต่าง ๆ อีกทั้งมีโอกาสได้เข้าถึงหนังสือทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ดี ๆ ในเชิงลึกและเชิงกว้าง

       ความเป็นอักษรศาสตร์ยังมีส่วนช่วยในการพัฒนาระบบคิด การเรียนรู้วิชาเรียงความซึ่งสอนให้เรารู้จักจับประเด็นและลำดับความสำคัญในการเขียนถือเป็นการสร้างให้มีความคิดในเชิงระบบ รู้จักเรียงลำดับความสำคัญ รู้จักสรุปประเด็นซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในด้านของการเขียนบทความและหนังสือ

      ผมมีโอกาสเรียนวิชาปรัชญาในคณะอักษรศาสตร์ซึ่งทำให้สามารถต่อยอดการเรียนวิชาความคิดทางการเมืองซึ่งเป็นวิชาที่ยากที่สุดวิชาหนึ่งในคณะรัฐศาสตร์ การเรียนปรัชญาและต่อยอดไปสู่ความคิดทางการเมืองนั้นช่วยทำให้ระบบคิดมีตรรกะและลุ่มลึก

      ผมมีโอกาสได้เรียนในสาขาศิลปะการละคร และเป็นลูกศิษย์ศาสตราจารย์สดใส พันธุมโกมล ความรู้ทางด้านการละครมีส่วนช่วยมหาศาลในการเพิ่มประสิทธิภาพทางการสื่อสาร โดยเฉพาะผมได้ใช้เทคนิคทางการละครที่เรียนรู้จากท่านอาจารย์สดใส พันธุมโกมล มาปรับใช้ในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพในการบรรยายและนำเครื่องมือเช่น การจดจำด้วยอารมณ์ (Emotional Memory) เพื่อช่วยให้ผู้ฟังสามารถจำจดประเด็นที่มีความสำคัญไปได้ตลอด

      การเรียนรู้เรื่องวรรณคดีตลอดจนการอ่านวรรณคดีต่าง ๆ มีส่วนช่วยให้ผมสามารถที่จะวิเคราะห์พฤติกรรมของคนจากสิ่งที่เราเรียกว่า Character Analysis การเรียนรู้ดังกล่าวทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการปรับใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมและแนวคิดของคนอื่น ๆ เช่นนักลงทุนในหุ้น พฤติกรรมและแนวคิดของผู้ฟัง ลูกศิษย์ พ่อค้า นักธุรกิจ และนักการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการวิเคราะห์การแข่งขันทางธุรกิจ เศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งล้วนเป็นผลลัพธ์ของพฤติกรรมและแนวคิดของคนเหล่านี้นั่นเอง

      การเป็นนักอักษรศาสตร์ทำให้ผมรักการอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ เพียงแต่เมื่อยึดอาชีพเป็นนักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ หนังสือที่อ่านแทนที่จะเป็นวรรณคดีก็กลายเป็นหนังสือรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ การอ่านหนังสือสำหรับผมจึงเป็นเสมือนยาเสพติดประเภทหนึ่ง อักษรศาสตร์ทำให้ผมเกิดความรักและหลงใหลในการหาความรู้ตลอดเวลา

     โดยสรุป แม้ผมจะมีภาพลักษณ์เป็นนักการเงิน นักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ นักวางแผนเชิงกลยุทธ์ แต่เสาหลักที่ทำให้ผมเป็นได้เช่นนี้ก็เพราะอานิสงส์จากการเป็นนักอักษรศาสตร์ที่มีส่วนช่วยพัฒนาระบบคิดและสร้างความได้เปรียบจากการรู้ภาษาที่หลากหลายนั่นเอง

กลับขึ้นด้านบน

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University