ทรงเป็นนิสิตที่ดี

       สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงชนะใจชาวจุฬาฯ ทุกคนนับตั้งแต่พระอาจารย์และพระสหายตลอดจนคณาจารย์และบุคลากรร่วมชั้นด้วยพระจริยาวัตรอันงดงาม และทรงเข้าร่วมกิจกรรมในด้านต่าง ๆ อย่างเต็มพระราชหฤทัยไม่ว่าจะเป็นการทรงดนตรี หรือการทรงเข้าร่วมแข่งขันกีฬา ส่วนทางด้านการเรียนนั้น ทรงมีผลการเรียนดีเด่นจนทรงได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาในปี ๒๕๒๐ แล้ว ได้ทรงศึกษาต่อ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสาขาวิชาภาษาตะวันออก (ภาษาบาลีและสันสกฤต) จนจบหลักสูตรอักษรศาสตรมหาบัณฑิต

       นับถึงวันนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินเยือนถิ่นศึกษาดั้งเดิมอยู่เป็นประจำในโอกาสสำคัญต่าง ๆ และทุกครั้งจะทรงได้รับการยกย่องเทอดทูนจากดวงใจของชาวจุฬาฯ อย่างมิรู้เสื่อมคลาย

 

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ รัชนีกร บุญ-หลง

       สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีนั้น  ทรงเป็นที่กล่าวกันว่า “เป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรก” ที่ทรงศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย  ซึ่งก็คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปีการศึกษา 2516 ซึ่งเริ่มในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2516  เพราะขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น  “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดาฯ”  ส่วนคณะอักษรศาสตร์ขณะนั้นศาสตราจารย์ไพฑูรย์ พงศะบุตร เป็นคณบดีคณะอักษรศาสตร์

       เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเริ่มการศึกษาในคณะอักษรศาสตร์ในเดือนมิถุนายน 2516 นั้น  ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ในภาควิชาภูมิศาสตร์  และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้มีโอกาสเป็นผู้ถวายการสอนรายวิชา AG211 ภูมิศาสตร์กายภาพ  รายวิชานี้มีเวลาเรียนสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง  การสอนเป็นแบบบรรยายแก่นิสิตที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชานี้ทั้งชั้น  ในชั้นแรกนี้ข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดาฯ” ทรงสนพระทัยในการเรียนอย่างสม่ำเสมอในทุกครั้งที่เสด็จมาเข้าห้องเรียน  แต่เนื่องจากทรงมีพระราชกิจ โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ไปในภูมิภาคต่างๆ เป็นส่วนใหญ่  ทำให้ไม่สามารถเสด็จมาเข้าชั้นเรียนได้อย่างสม่ำเสมอเช่นนิสิตอื่นๆ  แต่ไม่ได้ทรงละทิ้งการเรียนเลย ในช่วงเวลานี้จะมีเจ้าหน้าที่จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐานมาบันทึกคำบรรยายของอาจารย์ผู้สอน  แล้วจะทรงนำไปศึกษาด้วยพระองค์เองต่อไป  เมื่อว่างจากพระราชกิจดังกล่าวแล้ว จะเสด็จมาทรงเข้าชั้นเรียนตามปกติ  สิ่งเหล่านี้แสดงถึงพระวิริยะอุตสาหะในการศึกษาเล่าเรียนของพระองค์ท่านเป็นอย่างดี  ซึ่งเป็นที่ชื่นชมและซาบซึ้งแก่ข้าพเจ้าผู้เป็นผู้สอนเป็นยิ่งนัก

       สมเด็จเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดาฯ ไม่ได้เสด็จมาแต่เข้าห้องเรียนเท่านั้น  แต่ทรงเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ  ทั้งกิจกรรมในหลักสูตรและกิจกรรมนอกหลักสูตรทุกครั้งที่ทรงมีเวลา  เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ข้าพเจ้ามีความประทับใจในน้ำพระทัยของสมเด็จเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดาฯ ตลอดมา

       สมเด็จเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดาฯ  ยังมีพระราชอัธยาศัยอันเป็นที่ชื่นชมของข้าพเจ้าอย่างมากอีกเรื่องหนึ่ง คือ ทรงเคารพครูอาจารย์  ทรงมีพระเมตตาพระราชทานสิ่งของให้ครูอาจารย์ในโอกาสอันควร และยังทรงมีพระเมตตาต่อเนื่องมาแม้ว่าจะทรงสำเร็จการศึกษาไปแล้ว  และมีพระราชกรณียกิจมากมายที่จะต้องทรงปฏิบัติข้าพเจ้ามั่นใจว่ามีบุญที่ได้มีโอกาสรับใช้ “เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา” และมั่นใจว่าจะยังคงรำลึกถึง “เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดาฯ” ในพระกรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานแก่ข้าพเจ้าตลอดมา  ตั้งแต่ยังทรงพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดาฯ  ตราบจนดำรงพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี”

ข้าพระพุทธเจ้า ศาสตราจารย์กิตติคุณ รัชนีกร บุญ-หลง

กลับขึ้นด้านบน

นิสิตที่ดีของครู โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฐานิสร์ ชาครัตพงศ์

        สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  เมื่อครั้งทรงเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนิสิตที่มีความขยันหมั่นเพียร มุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการศึกษาเล่าเรียนรายวิชาต่าง ๆ ตามหลักสูตรอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติพระองค์ในฐานะศิษย์กับอาจารย์เช่นเดียวกับนิสิตทั่วไป ทั้งการเข้าชั้นเรียนและการร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะ รวมถึงกิจกรรมของน้องใหม่ทุกอย่างด้วยความเต็มใจและสนุกสนาน

       ข้าพเจ้าได้รับการบรจุเข้ามาเป็นอาจารย์ใหม่ เมื่อ พ.ศ.2514 จึงได้รับมอบหมายจากหัวหน้าภาควิชาภาษาตะวันออก (ศาสตราจารย์ฉลวย วุธาทิตย์) ให้รับผิดชอบสอนทบทวนบาลีไวยากรณ์ของนิสิตทุกกลุ่ม และรายวิชาอื่น ๆ เช่น ธัมมปทัฏฐกถา และมังคลัตถทีปนี จึงเป็นโอกาสให้ได้รู้จักและคุ้นเคยกับนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับว่าเป็นบุญกุศลอย่างล้นพ้นที่ได้มีโอกาสถวายพระอักษรและรับพระกรุณาธิคุณนานัปการจากทูลกระหม่อมพระองค์นี้อย่างหาที่สุดมิได้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

       ในการศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่น่ายินดีที่ข้าพเจ้าถวายพระอักษรสาขาภาษาบาลีบางวิชา ตลอดหลักสูตร 4 ปีการศึกษา พระองค์ทรงเข้าชั้นเรียน ทำแบบฝึกหัด และการบ้านอย่างสม่ำเสมอ บางครั้งตามเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถไปต่างจังหวัด จึงต้องลาเรียน แต่ก็มิได้ปล่อยให้รายวิชานั้น ๆ ผ่านพ้นไปโดยมิได้ฟังคำสอนของอาจารย์ ได้มอบให้เจ้าหน้าที่มาบันทึกเทปคำสอนของอาจารย์โดยตลอด เพื่อส่งไปให้ฟังทั้งในต่างจังหวัด หรือยามที่ทรงมีเวลาว่าง หากมีข้อสงสัยในคำสอนก็ส่งจดหมายหรือโทรศัพท์สอบถามข้อสงสัยนั้น ๆ อยู่เสมอ จนมีการเรียกเทปบันทึกคำสอนนั้นอย่างสนุกสนานว่า “เทปาจารย์” จนกระทั่งจบการศึกษา รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 และปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ในหัวข้อวิทยานิพนธ์ “ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท

        เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว พระองค์ก็ยังพระราชทานความเคารพครูบาอาจารย์อย่างยิ่ง เช่น พระราชทานน้ำสงกรานต์อาจารย์อาวุโสในชมรมบาลีสันสกฤต และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศอาจารย์ที่เคยถวายพระอักษรซึ่งล่วงลับไปแล้ว สำหรับข้าพเจ้านับเป็นพระเมตตากรุณาเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ที่พระราชทานแก่ข้าพเจ้าในฐานะอาจารย์ เช่น ทรงวิริยะอุสาหะร่วมกับพระสหาย คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ อดีตคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่งคำประพันธ์จารลงใบลาน พระราชทานพรให้อาจารย์ในวันมงคลสมรสอีกด้วย 

กลับขึ้นด้านบน

นิสิตที่ดีของครู โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วไล ณ ป้อมเพชร

       ปีพุทธศักราช 2516 เป็นปีสำคัญ มีเหตุการณ์ที่ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวคณะอักษรศาสตร์ ได้รับความประทับใจอย่างไม่รู้ลืม คือ เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสอบเอ็นทรานซ์เข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

       ในช่วงระยะเวลาสี่ปีที่ทรงศึกษาอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์  ข้าพเจ้าได้มีโอกาสถวายพระอักษรในวิชาอารยธรรมตะวันตก  โดยเฉพาะอารยธรรมยุคกลาง เมื่อทรงเรียนในชั้นปีที่ 1  ต่อมาในชั้นปีที่ 3 และ 4 ได้ถวายพระอักษรวิชาประวัติศาสตร์อังกฤษ และประวัติศาสตร์รุสเซียสมัยใหม่   ตลอดระยะเวลาสี่ปีที่คณะอักษรศาสตร์ ข้าพเจ้ามีความประทับใจในพระองค์ท่านเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะที่ทรงเป็น “นิสิตที่ดีของครู” ซึ่งถือได้ว่าเป็นแบบอย่างที่ดีที่นิสิตทั้งหลายพึงปฏิบัติตาม  พวกเราบรรดาอาจารย์ที่ถวายพระอักษรใช้คำว่า  “ทูลกระหม่อม” กับพระองค์ท่านและในหมู่พวกเรา และพระองค์ท่านจะทรงเรียกพวกเราว่า “อาจารย์” ทรงเป็นนิสิตที่ดีเยี่ยมในทุกกรณี  ทรงให้ความเคารพและทรงเป็นกันเองกับครู  เวลาเรียนในห้องเรียนจะทรงตั้งใจฟัง ทรงจับเนื้อหาที่สำคัญได้  ถ้ายังสงสัยจะทรงซักถามจนทรงเข้าใจอย่างชัดแจ้ง  เวลาสอบก็ทรงตอบข้อสอบได้ตรงจุด  สั้นไม่เยิ่นเย้อ แต่ได้ความชัดเจน  ข้าพเจ้าสังเกตว่า เวลาเรียนถ้ายังทรงสงสัยหรือยังไม่ทรงเข้าใจชัดเจน ก็จะเสด็จไปหาครูให้อธิบายจนแจ่มแจ้ง  และจะรับสั่งว่า “เข้าใจแล้ว”  แม้ในช่วงระยะเวลาที่ทรงเรียนอยู่ในคณะอักษรศาสตร์  จะมีพระราชกรณียกิจต้องตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถบ่อยครั้ง  แต่ก็ทรงติดตามการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี  เพราะทรงสนพระทัยในการเรียนด้วยความรับผิดชอบ  จนการเล่าเรียนไม่เคยบกพร่อง  ตรงกันข้าม กลับทรงเรียนได้ดีมากในทุกวิชา  คงจะทรงถือว่าการเรียนรู้วิชาเป็นความรับผิดชอบของนิสิต  เมื่อเป็นความรับผิดชอบแล้วก็จะต้องทำให้ดีที่สุด

       นอกเหนือจากการที่ “ทูลกระหม่อม” ทรงให้ความเคารพครู และทรงตั้งพระทัยเรียนอย่างดียิ่ง เป็นแบบอย่างที่ดีงาม แก่นิสิตในคณะอักษรศาสตร์ผู้เป็นพระสหายร่วมชั้นเรียน  ตลอดจนนิสิตอื่นๆแล้ว  การปฏิบัติพระองค์ก็สร้างความชื่นชมให้แก่บรรดาครูและนิสิตทั้งหลายด้วย  พระองค์ทรงเรียบง่าย ไม่ถือพระองค์ ทรงมีพระอารมณ์ขัน พร้อมที่จะหัวเราะอย่างร่าเริง ทรงตรงไปตรงมา มีเหตุผล เข้าใจง่าย และทรงพร้อมที่จะฟัง พร้อมที่จะเข้าใจ และพร้อมที่จะรับสั่งแสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจน

       สิ่งที่ข้าพเจ้าประทับใจยิ่งอีกประการหนึ่ง คือทรงเอาพระทัยใส่ และทรงมีพระเมตตาต่อครูอาจารย์ ทรงเป็นห่วงในเวลาป่วยไข้  ข้าพเจ้าได้รับพระราชทานนมสดจากสวนจิตรลดาหลายครั้ง  บางครั้งก็ทรงแบ่งอาหารเที่ยงมาพระราชทาน  นับเป็นโชคดีของข้าพเจ้าและบรรดาอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์  เพราะห้องประทับและห้องเสวยพระกระยาหารอยู่ติดกับห้องทำงานของพวกเรา  ทรงให้ความสนิทสนมกับครูทั้งหลาย  ยามว่างจะเสด็จมาประทับที่โต๊ะทำงานของครู เพื่อทรงทักทาย ทรงให้ความสนิทสนมกับครู ซักถามเรื่องต่างๆที่ทรงสนพระทัย และมีพระราชดำรัสถึงเรื่องต่างๆ นอกเหนือไปจากเรื่องวิชาการบ้างในบางครั้ง  ครั้นเมื่อทรงสำเร็จการศึกษาไปแล้ว ก็ยังมีพระมหากรุณาธิคุณต่อบรรดาครูอาจารย์ต่อมาจนทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นยามป่วยไข้  ยามแก่ชรา หรือยามปรกติ  ข้าพเจ้าเองได้รับพระเมตตาในฐานะที่เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรอยู่เสมอ และมีความซาบซึ้งในพระกรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง 

กลับขึ้นด้านบน

นิสิตที่ดีของครู โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.อำภา โอตระกูล

       ในสมัยที่ทูลหม่อมยังทรงเป็นนิสิตอยู่นั้น อาจารย์อำภายังไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าถวายพระอักษร ได้แต่แอบชื่นชมพระองค์อยู่ไกลๆ วันหนึ่งได้เห็นทูลหม่อมทรงวิ่งขึ้นรถ เบียดไปกับพระสหายกลุ่มหนึ่ง พากันไปเที่ยวที่ไหนไม่ทราบ ก็รู้สึกประทับใจว่า ทูลหม่อมทรงปฏิบัติพระองค์เช่นนิสิตทั่วๆไป มีการเฮฮาพากันไปเที่ยวสนุกข้างนอกบ้าง ทรงแจ่มใสเป็นกันเองกับเพื่อนๆดี

       ประมาณอีก 10 ปีต่อมา เมื่อทรงมีเวลาและทรงสนพระทัยที่จะศึกษาภาษาต่างประเทศเพิ่มขึ้น เช่น จีนและเยอรมัน อาจารย์อำภาจึงโชคดี มีโอกาสได้ถวายพระอักษรภาษาเยอรมัน ทำให้ได้เข้าเฝ้าทูลหม่อมใกล้ชิดในฐานะครู-ลูกศิษย์ ก็มีความประทับใจว่า ทรงเป็นลูกศิษย์ที่ดี ทรงมีความขยัน ตรงต่อเวลา ทรงตั้งพระทัยเรียนทุกอย่างอย่างกระตือรือร้น ทรงสนุกกับความรู้ใหม่ๆ ทรงรู้กว้าง และทรงมีปฏิภาณดี ทรงสามารถแลเห็นความเชื่อมโยงของวิชาความรู้ต่างๆอย่างรวดเร็ว เช่น เมื่อทรงบทโคลงภาษาเยอรมัน ก็ทรงเปรียบเทียบกับโคลงของภาษาจีนได้อย่างน่าสนใจ

       สิ่งที่น่าประทับใจมาก คือ ความเป็นธรรมชาติของทูลหม่อม เช่น เมื่อทรงเล่าถึงเพลงที่ครูไม่รู้จัก   ครูขอให้ทรงร้องให้ฟังหน่อย พระองค์ก็จะทรงร้องเสียงใสทันทีอย่างไพเราะ น่ารักมาก

กลับขึ้นด้านบน

สมเด็จเจ้าฟ้านิสิตอักษรศาสตร์ โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ประพิณ มโนมัยวิบูลย์

       ปีพุทธศักราช ๒๕๖๐ เป็นปีที่มีความหมายพิเศษ เนื่องจากเป็นปีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะอักษรศาสตร์สถาปนามาได้ ๑๐๐ ปี  การเฉลิมฉลองวาระสำคัญเช่นนี้  ชั่วชีวิตหนึ่งจะมีโอกาสร่วมก็เพียงครั้งเดียวเท่านั้น  ดังนั้นดิฉันจึงรับปากทันทีเมื่อศิษย์เก่าอักษรศาสตร์รุ่น ๔๑ ขอให้เขียนถึงความทรงจำอันงดงามเกี่ยวกับเจ้าฟ้านิสิตอักษรศาสตร์ผู้ทรงเป็น “สมเด็จพระราชูปถัมภิกาของคณะอักษรศาสตร์” ทรงเป็นนิสิตเก่าซึ่งรักและผูกพันกับคณะอักษรศาสตร์อย่างหาผู้ใดเสมอเหมือนมิได้  พระราชทานพระมหากรุณาแก่คณะอักษรศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสมอมา เป็นที่ปลาบปลื้มแก่ชาวอักษรฯ  และชาวจุฬาฯ อย่างหาที่สุดมิได้

       ดิฉันกลับจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันมาเริ่มเปิดวิชาภาษาจีนกลางเป็นรายวิชาเลือกในหลักสูตรอักษรศาสตร์เมื่อปีการศึกษา ๒๕๑๖ ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยมีสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกทรงเข้ารับการศึกษาระดับ อุดมศึกษา ณ มหาวิทยาลัยในประเทศ  มีพระปรีชาสามารถในการเรียน  ได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่งและได้รับพระราชทานเหรียญทอง  เพราะทรงทำคะแนนยอดเยี่ยมตลอดหลักสูตรและทรงสอบได้คะแนนสูงสุดในวิชาเอก  พระองค์ท่านยังทรงเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของคณะอักษรศาสตร์และของมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับนิสิตอื่นๆ อย่างไม่ถือพระองค์ เช่น การประชุมเชียร์  การแข่งกีฬา  และพิธีรับน้องใหม่  จำได้ว่า ดิฉันซึ่งในขณะนั้นยังเป็นอาจารย์รุ่นเด็กในคณะฯ ได้ไปดูการรับน้องใหม่  รุ่นพี่ที่คณะฯ ทูลขอให้พระองค์ท่านซึ่งทรงเป็นน้องใหม่ลอดซุ้มยาวหลายเมตรแต่สูงไม่ถึงเมตรที่ทำจากกิ่งจามจุรี วิธีเดียวที่จะลอดซุ้มนั้นได้คือต้องคลาน  พระองค์ท่านก็ทรงลอดซุ้มตามที่รุ่นพี่ทรงทูลขอ  ดิฉันยังจำภาพพระพักตร์เมื่อทรงโผล่พ้นซุ้มซึ่งดูมอมแมม มีพระเสโทชุ่ม แต่ทรงพระสรวลอย่างร่าเริงนั้นได้จนถึงวันนี้

       นอกจากทรงเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ แล้ว  พระองค์ท่านยังทรงร่วมเป็นกองบรรณาธิการวารสารรายเดือน อักษรศาสตรพิจารณ์ ซึ่งชุมนุมวิชาการอักษรศาสตร์จัดพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อมิถุนายน ๒๕๑๖ พระองค์ท่านได้พระราชทานพระราชนิพนธ์บทความหลายเรื่องลงพิมพ์ในวารสารนี้  และทรงทำหน้าที่ประจำกองบรรณาธิการทุกด้าน เป็นต้นว่า การพิสูจน์อักษร  ซึ่งบางครั้งเมื่อหนังสือออกแล้วพบที่ผิด  ก็ต้องแก้กัน  ครั้งหนึ่งมีบทความเกี่ยวกับภาษาฝรั่งเศสซึ่งพิมพ์ผิด ไม่ได้พิมพ์เครื่องหมาย accent เลย  พระองค์ท่านต้องทรงเติมเองทั้งหมด ๒,๐๐๐ เล่ม คณะผู้จัดทำวารสารต่างประทับใจความใส่พระทัยในรายละเอียด และตระหนักตั้งแต่นั้นว่าการพิสูจน์อักษรต้องละเอียดถี่ถ้วน

       ตลอดระยะเวลาที่ทรงศึกษาอยู่ ณ คณะอักษรศาสตร์ พระองค์ท่านมีพระเมตตาพระราชทานความเป็นกันเองกับพระอาจารย์ พระสหาย และนิสิตในชมรมต่างๆ ของคณะฯ ด้วยพระจริยาวัตรงดงาม   พระราชทานความช่วยเหลือและพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาวอักษรฯ แก่คณะอักษรศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน    พระจริยาวัตรอันงดงาม น้ำพระทัย และความมีเมตตาของพระองค์ท่านเป็นความทรงจำที่เป็นความสุข ความปีติ ความอิ่มเอมใจ และซาบซึ้งใจเสมอเมื่อนึกถึง และรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้

กลับขึ้นด้านบน

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรทิพย์ พุกผาสุข

       ข้าพเจ้าโชคดีและนับว่ามีบุญอย่างยิ่งที่ได้ถวายการสอนวิชาการใช้ภาษาไทย   แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี   เมื่อครั้งที่เสด็จฯ มาทรงศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ในปีพุทธศักราช  ๒๕๑๖  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงเป็นนิสิตที่น่ารัก  ทรงอ่อนน้อมถ่อมพระองค์อย่างยิ่ง  เมื่อจะทรงซักถามอะไรจะทรงยกพระหัตถ์เพื่อทรงขออนุญาตก่อนเสมอ  ทรงให้ความเคารพอาจารย์ทุกคน  เวลาทรงพระดำเนินผ่านอาจารย์จะทรงแสดงความเคารพอาจารย์เสมอ  ทรงเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของคณะฯ อย่างไม่ทรงถือพระองค์  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงเป็นมิ่งขวัญ  เป็นที่รักและเคารพเทิดทูนของอาจารย์และนิสิตทุกคน

       เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาแล้ว  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  ก็ยังเสด็จฯ มาร่วมงานต่างๆ ของคณะอักษรศาสตร์อยู่เสมอ  เช่น  เสด็จฯ มาทรงบาตรในวันเกิดคณะฯเสด็จฯ มาทรงร่วมงานคืนสู่เหย้าของนิสิตเก่า  ทรงทักทายอาจารย์และนิสิตที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ อย่างไม่ทรงถือพระองค์    นอกจากนี้  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี   ยังทรงมีพระมหา-กรุณาธิคุณต่อคณะอักษรศาสตร์อย่างยิ่ง  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งมูลนิธิมหาจักรีสิรินธรเพื่อคณะอักษรศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน  และการวิจัยของคณะฯ  รวมทั้งการดูแลตึกเรียนของคณะฯ ด้วย  และทรงพระเมตตารับเป็นประธานของมูลนิธิฯ นี้

       พระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงมีต่อคณะฯ  คณาจารย์  และนิสิต  จะจารึกอยู่ในความทรงจำของพวกเราตลอดไป  ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน                            

กลับขึ้นด้านบน

รำลึกความเก่า โดย สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์

“... ปีการศึกษา ๒๕๑๕ ฉันจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ อันเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียน ยอดปรารถนาของนักเรียนมัธยม คือ การเข้ามหาวิทยาลัย และมักต้องเลือกคณะที่เหมาะสมกับคะแนนของตน

สำหรับคนที่ได้คะแนนสูงๆ ในแผนกศิลปะสมัยนั้น ส่วนใหญ่จะต้องเลือกคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เพราะว่าคะแนนสูง ...”

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สายธารแห่งสำนึก*

       ในช่วงหน้าร้อน ก่อนเริ่มต้นปีการศึกษา ๒๕๑๖  ข้าพเจ้ามีภารกิจพิเศษ คือ การคุมสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐ  ซึ่งอาจารย์รุ่นเยาว์สมัยนั้นนิยมสมัครทำ  ในปีนั้น ความตื่นเต้นขั้นสุดพิเศษ คือ หนึ่งในจำนวนผู้เข้าสอบในห้องนั้นคือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์   

       ข้าพเจ้าจำได้ไม่แม่นยำนัก แต่คิดว่าการเข้าที่นั่งสอบของผู้สมัคร การคุมสอบ ไม่มีอะไรต่างไปจากที่เคยปฏิบัติ  รวมทั้งการติดป้ายบอกชื่อและหมายเลขประจำตัวผู้เข้าสอบ วิชาที่ต้องสอบ และมีรูปผู้เข้าสอบติดอยู่บนโต๊ะสอบด้วย ส่วนที่ต่างไปจากเดิมสักหน่อยคือ ในระหว่างการสอบ มีราชองครักษ์จากศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) และนางสนองพระโอษฐ์ บางครั้งก็เป็นนางพระกำนัล นั่งอยู่ที่ระเบียงนอกห้องสอบ  ซึ่งเป็นห้องที่มีประตูสูงใหญ่รอบ ด้าน ลมผ่านเย็นสบาย

       ทั้งวัน  (ช่วงบ่าย ๆ บางทีก็เห็นผู้เข้าสอบบางคนฟุบหลับ คงทำข้อสอบเสร็จแล้วด้วยความสบายใจ  หรือไม่ก็อาจกำลังทำสมาธิ ค้นหาคำตอบข้อสอบอย่างขะมักเขม้น)   ในวันสุดท้าย ก่อนปิดห้องสอบ  ข้าพเจ้าได้กระทำการที่สมควรจะกราบพระบาทขอพระราชทานอภัยไว้ในโอกาสนี้ด้วย คือได้แกะป้ายติดโต๊ะสอบที่มีพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ ไปเก็บไว้ หลังจากได้ถามผู้ใหญ่ทุกท่านแล้วว่าข้าพเจ้าจะมีความผิดหรือไม่  เมื่อท่านตอบว่าไม่เป็นไร  จึงได้นำมาเก็บไว้เป็นที่ระลึก  (และได้ส่งคืนไปเมื่อทราบว่ากลุ่มพระสหายมีดำริจะจัดทำห้องสะสมสิ่งของส่วนพระองค์)

       หลังจากการทำหน้าที่ผู้คุมสอบในการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยครั้งนั้นแล้ว ข้าพเจ้าก็แน่ใจว่า จะได้มีโอกาสเฝ้าฯ ที่คณะอักษรศาสตร์อีกอย่างแน่นอน  แต่ไม่ได้คาดเลยว่าจะได้รับความไว้วางใจจากอาจารย์ผู้ใหญ่ ให้เป็นอาจารย์ผู้สอนประจำกลุ่ม ในวิชาการใช้ภาษาไทย (ภาษาไทย ๑๑๑)  ซึ่งเป็นวิชาบังคับสำหรับนิสิตชั้นปีที่หนึ่ง การเรียนการสอนวิชาภาษาไทย ๑๑๑  มีทั้งการบรรยายในห้องเรียนรวมและการแบ่งกลุ่มเพื่อฝึกทักษะการใช้ภาษา เช่น ทำแบบฝึกหัดเก็บคะแนน  เขียนเรียงความ ทำรายงานกลุ่มส่งตอนกลางภาคและปลายภาค  อาจารย์ที่รับผิดชอบวิชานี้มีประมาณ ๕-๖ คน  กลุ่มที่ข้าพเจ้ามีหน้าที่เป็นผู้สอนประจำกลุ่มนั้น มีพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ อยู่ในรายชื่อนิสิตประมาณ ๒๐ คนด้วย  ก่อนเปิดภาค ข้าพเจ้าวิตกกังวลว่าจะทำอะไรที่ก่อปัญหาบ้างหรือไม่ ทั้งโดยความประมาท ความพลั้งเผลอ หรืออะไรก็แล้วแต่  เพราะตนเองก็เพิ่งจะสอนหนังสือมาได้เพียง ๓ ปีการศึกษา

       การสอนบรรยายนั้นไม่มีปัญหา เพราะเป็นห้องเรียนรวมห้องใหญ่  แต่ในชั่วโมงการเรียนเป็นกลุ่ม  ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่า เมื่อครูเข้าห้องเรียน และนิสิตจะไหว้ครู (พร้อมกันบ้างไม่พร้อมบ้าง เพราะไม่มีหัวหน้าชั้นบอกกราบแบบโรงเรียน)

       ครูคือข้าพเจ้าจะทำอย่างไรดี   ปรกติตามธรรมเนียมชาวอักษรฯ เมื่อนิสิตไหว้ ครูก็จะรับไหว้  ข้าพเจ้าไปเรียนถามอาจารย์ผู้ใหญ่ว่า ต้องถอนสายบัวไหม  ยังจำได้ว่าท่านหัวเราะและบอกว่า ก็รับไหว้นักเรียนทั้งกลุ่ม อย่าไปทำอะไรแปลกแยก แต่ถ้าพบ “ทูลกระหม่อม” นอกห้อง ถ้าถอนสายบัว(ทัน) ก็ทำได้  ข้าพเจ้าจึงโล่งใจไปอย่างหนึ่ง  ส่วนการเรียนการสอนในห้องก็ไม่มีปัญหา  เพียงแต่ไม่พยายามไปจ้องอยู่จุดใดจุดหนึ่ง หรือตรงกันข้าม พยายามหลบเลี่ยงการมองไป ณ จุดใดจุดหนึ่ง

       นอกจากนั้น ที่ระเบียงนอกห้องเรียน จะมีราชองครักษ์หนึ่งคนและนางพระกำนัลหนึ่งคนนั่งอยู่ด้วย  ส่วนมากจะเป็น ม.ล. นราวดี ชัยเฉนียน ซึ่งบางทีก็นั่งถักโครเชต์ ถักลูกไม้ หรืออะไรก็ไม่ทราบแน่  ข้าพเจ้าคุ้นหน้าคุ้นตาทั้งสองท่านนี้ตลอดภาคการศึกษา  และต่อมา ได้เคยปรารภกับเพื่อนอาจารย์ว่า น่าจะมีหนังสือสำคัญรับรองความรู้มอบให้ท่านบ้าง เพราะรู้สึกว่าท่านตั้งอกตั้งใจฟังการสอน  จนบางทีต้องระวัง ไม่เผลอไปเรียกท่านตอบคำถาม เวลาเห็นท่านมีสีหน้าเข้าอกเข้าใจเนื้อหา

       ที่สอน มากกว่านิสิตในกลุ่มซึ่งบางทีก็คุยกันบ้าง  และครูก็ไม่ได้ห้ามหรือเคร่งครัด  (เพราะครูก็เพิ่งเรียนจบมาไม่นาน  ยังจำความรู้สึกนักเรียนได้ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุยหรือเรื่องหลับ แต่ขอร้องว่าอย่าคุยกันเอิกเกริกจนลืมว่ากำลังเรียน และถ้าหลับก็พยายามอย่าถึงกับส่งเสียงรบกวน เพราะโรคหลับในชั่วโมงเรียนนั้นเป็นโรคติดต่ออย่างหนึ่งแน่นอน ) 

เนื้อหาของวิชาการใช้ภาษาไทย ๑๑๑ นั้น แบ่งเป็น ๔ หัวข้อใหญ่ คือการใช้คำ  การพูด  การอ่าน และการเขียน        

       การเรียนการสอนแต่ละหัวข้อก็ดำเนินไปด้วยดี ทั้งในห้องใหญ่และห้องเรียนกลุ่ม นิสิตทั้งหมดในกลุ่มของข้าพเจ้าไม่เคยทำให้เกิดปัญหาใด ๆ เลย ครูจึงสบายอกสบายใจมาก  การตรวจแบบฝึกหัดหรืองานเขียนก็จะอ่านละเอียด เขียนข้อบกพร่องและการแก้ไข รวมทั้งสรุปหรือวิจารณ์งานเขียนชิ้นนั้น ๆ  อย่างชัดเจน  ครั้งหนึ่ง ได้เขียนวิจารณ์ท้ายงานเขียนชิ้นหนึ่งว่า

       เขียนดี  ชัดเจนตรงประเด็น  แต่ใช้สำนวนภาษาแบบ ‘แก่วัด’ “  (คือ ติดสำนวนบาลีแปลบางคำ)  ต่อมาอีกหลายสิบปีนิสิต” เจ้าของงานเขียนยัง (อุตส่าห์) จำได้และเล่าให้ “พระสหาย” ฟัง ว่าข้าพเจ้าเคยวิจารณ์ว่าใช้สำนวนแบบสำนวนวัด ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าทั้งปลื้มใจและออกจะอายใจ เพราะคำวิจารณ์ดังกล่าวก็ใช้ความรู้สึกของตนเองเป็นที่ตั้งเท่านั้น

       จนกระทั่งมาถึงแบบฝึกหัดวิชาการอ่าน ในหัวข้อการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ คือ อ่านแล้วนำมาพิจารณาและเสนอความคิดเห็น  ไม่ใช่อ่านแล้วเชื่อไปทุกสิ่งทุกอย่างที่อ่าน  อาจารย์ผู้บรรยายซึ่งต้องรับผิดชอบกำหนดแบบฝึกหัดเป็นการบ้านให้ส่งอาจารย์ประจำกลุ่มด้วย  กำหนดงานให้นิสิตอ่านบทความในคอลัมน์หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง เกี่ยวกับ

       ฐานทัพของต่างชาติในประเทศไทย  และเขียนแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นในบทความ   ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และความประมาท  ผู้สอนประจำกลุ่มทุกคนก็สั่งงานในกลุ่มตามนั้น  ปรากฏว่างานการบ้านในกลุ่มของข้าพเจ้าส่งไม่ครบ ซึ่งในตอนแรกก็ไม่ได้แปลกใจ  แต่ต่อมาอาจารย์ผู้ใหญ่ของภาควิชาเรียกข้าพเจ้าไปพบและบอกว่า ให้สั่งการบ้านในประเด็นใหม่ เพราะ “เจ้านายทุกพระองค์จะไม่ทรงวิจารณ์ประเด็นการเมืองการปกครองใด ๆ”    ข้าพเจ้าตกใจมาก และได้ติดต่อท่านผู้ใหญ่ที่รับราชการสนองพระเดชพระคุณ เพื่อกราบทูลขอพระราชทานอภัย หรือขอรับพระราชอาญา แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  แต่ท่านก็ได้ตอบมาว่า ไม่มีความจำเป็นและไม่มีโทษ   อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ก็ได้กลายเป็นประเด็นข่าวและการตำหนิติเตียนอย่างรุนแรง (รวมทั้งขยายโทษ เช่น ผู้สอนควรจะลาออก) จากสังคมสื่อสิ่งพิมพ์ในสมัยนั้น 

       เมื่อข้าพเจ้าได้รับการบ้านในหัวข้อใหม่และกราบทูลขอพระราชทานอภัย  “ทูลกระหม่อม” รับสั่งว่า  ‘ ทำใหม่แล้ว  หัวข้อนี้ชำนาญเพราะเป็นดนตรีไทย แต่อาจารย์อย่าหักคะแนนที่ส่งช้าก็แล้วกัน’   

       การเรียนการสอนในวิชาการใช้ภาษา ๑๑๑  ประจำภาคต้น ปีการศึกษา ๒๕๑๖  จึงจบลงด้วยดี  ไม่มีใครสอบตกและได้คะแนนต่าง ๆ  กันไปตามผลสอบและผลงาน  รวมทั้งคะแนนเข้าห้องเรียนที่มีการ “เช็คชื่อ” กันอย่างเคร่งครัดในสมัยนั้น  ข้าพเจ้าเก็บรักษารายงานประจำภาคของนิสิตในกลุ่ม (ที่แบ่งกลุ่มย่อยทำงานรายงานร่วมกัน)  ทุกชิ้นไว้เป็นอย่างดี รวมทั้งชิ้น “การศึกษารวบรวมคำสแลง” ที่หุ้มปกด้วยผ้าไหมสีน้ำเงินสด ด้วย “ฝีมือ” ของ “หัวหน้ากลุ่มรายงาน”  ที่นอกจากจะเข้าเล่มทำปกเองแล้วยังเขียนเนื้อหารายงานด้วย “ลายพระหัตถ์” ตลอดทั้งเล่ม  

       คงเป็นด้วยคุณค่าอันสำคัญยิ่งของรายงานนี้ แม่คงคาในวาระสมัยแห่งมหาอุทกภัย จึงเข้ามาเยี่ยมเยียนชั้นหนังสือของข้าพเจ้าและกวาดขอยืมหนังสือและเอกสารที่หวงแหนทั้งหมดในชั้นนั้น ไปอ่านและไม่ยอมส่งคืนจนบัดนี้

       ตลอดเวลา ๔ ปี (พ.ศ. ๒๕๑๖ – พ.ศ. ๒๕๑๙) ข้าพเจ้าได้มีโอกาส “ถวายพระอักษร” ร่วมกับอาจารย์ผู้ใหญ่ในการสอนวิชาวรรณคดีบางวิชา  แต่ไม่มีความทรงจำใดจะเทียบได้กับความทรงจำอันประทับใจยิ่ง จากวิชาการใช้ภาษา ๑๑๑    ในปีการศึกษา ๒๕๑๖   

       ขอพระราชทานพระราชานุญาต กราบถวายบังคมแทบพระบาท “ทูลกระหม่อม” มา ณ ที่นี้ ด้วยความสำนึกในพระกรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น       

กลับขึ้นด้านบน

พระมิ่งขวัญ โดย รองศาสตราจารย์อรชุมา ยุทธวงศ์

       บ่ายวันหนึ่งที่ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ ขณะอยู่ในห้องพักอาจารย์กับรองศาสตราจารย์สดใส พันธุมโกมล มีนิสิตสองคนเคาะบังตาแล้วผลักเข้ามา ฉันเห็นอาจารย์สดใสเงยขึ้นมองแว่บหนึ่ง พยักหน้าให้ ทำท่าจะก้มทำงานต่ออีกสักนิด แต่แล้วก็ได้ยินเสียงอาจารย์ร้องว้าย แล้วรีบลุกขึ้นยืนถอนสายบัวกุกกักอยู่หลังโต๊ะ ฉันรีบทำตาม ภาพที่เห็นคือสมเด็จพระเทพฯ และเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯในเครื่องแบบนิสิตนักศึกษา ทั้งสองพระองค์เสด็จฯมาเยือน ประมาณว่าพี่จุฬาฯพาน้องม.เกษตรฯมาเที่ยวมหาวิทยาลัยพี่ แล้วแวะมาทักทายครูอย่างไม่มีพิธีรีตองใดๆ 

       ตลอดเวลาที่สมเด็จพระเทพฯทรงศึกษาอยู่ที่จุฬาฯ ชาวอักษรศาสตร์จะได้เห็นพระจริยวัตรที่ทรงเป็นกันเองอยู่เนือง ๆ ทรงเตะบอล ร้องเพลงเชียร์ บูมจุฬาฯ ร้องและเต้นประกอบเพลง เล่นละคร ทรงคว้าไมค์เป็นโฆษกงานคืนสู่เหย้า นำเดินขึ้นตึกที่จะมีการทุบทิ้งเพื่ออำลาอาลัย เสวยไอติมหวานเย็นที่มีผู้ถวาย แม้ขณะจะเสด็จฯเข้าในงานวันเกิดคณะอักษรศาสตร์เมื่อพระสหายซึ่งเป็นคณบดีกราบทูลเตือนให้ทรงซื้อตั๋วเข้างานก่อน พระองค์ท่านก็ทรงจ่ายพระราชทรัพย์ให้ทันที ราวกับทรงเกรงว่าจะไม่ได้เข้างานที่เสด็จฯ มาเป็นองค์ประธาน ทรงวางพระองค์อย่างธรรมดาเป็นที่สุด และยิ่งทรงเป็นธรรมดาที่สุดเท่าไร ชาวจุฬาฯ ทั้งหลายก็ยิ่งเทิดทูนพระองค์ท่านไว้เหนือเกล้าฯ

       พระเมตตานั้นยังได้แผ่ไพศาลมายังครอบครัวเล็กๆของฉัน สามีได้รับพระราชทานภาพวาดก๊อดซิลล่าฝีพระหัตถ์ เพื่ออัญเชิญมาเป็นปกหนังสือ"วิทยาศาสตร์เพื่ออะไร" ลูกทั้งสองได้เข้ารับพระราชทานน้ำสังข์ แม้กระทั่งลูกของผู้ช่วยงานที่บ้านก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้ได้เข้าเรียนในโรงเรียนพระดาบส ได้มีวิชาชีพติดตัวรอดพ้นจากอบายทั้งปวง

       ฉันมีโอกาสได้เฝ้าชมพระบารมีใกล้ชิดและถวายงานเมื่อคุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย จัดงานถวายเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ เนื่องในวโรกาสฉลองพระชนมายุ ๖๐ พรรษา  มีการแสดงหน้าที่ประทับ ณ ข่วงเมืองน่าน หน้าวัดภูมินทร์ และถ่ายทอดโทรทัศน์ทั่วประเทศ ฉันได้รับมอบหมายจากคุณบัณฑูรให้เป็นแม่งานการแสดงครั้งนี้ รู้สึกเต็มตื้นและเป็นบุญที่ได้มีโอกาสทำงานถวายเจ้านายอันเป็นที่รัก ทุกครั้งที่มีโอกาสเช่นนั้นจะรู้สึกเสมอว่าอะไรที่เป็นเรื่องยากจะคลี่คลายโดยเร็ว ประตูทุกบานจะเปิดออก ขอความร่วมมือจากใครก็สำเร็จตามต้องการ ทุกอย่างเป็นไปได้ ไม่ต้องออกแรงเหนื่อยยากมากมาย อุปสรรคผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว เป็นสุขราบรื่นตลอดการทำงาน เพราะพระบารมีคุ้มเกล้า

ขอจงทรงพระเจริญ เป็นพระมิ่งขวัญของปวงประชาชั่วกาลนาน

“ ครูแอ๋ว “

รองศาสตราจารย์อรชุมา ยุทธวงศ์

กลับขึ้นด้านบน

ความประทับใจในพระราชนิพนธ์ เรื่อง “ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท” โดย อาจารย์แม่ชีสุภาพรรณ ณ บางช้าง

ประธานหอพระไตรปิฎกนานาชาติ  คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

       “ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท” เป็นวิทยานิพนธ์ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทำในการศึกษาหลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาบาลี - สันสกฤต บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๒๔

       วิทยานิพนธ์นี้แสดงพระปรีชาสามารถและความรอบรู้ในด้านภาษาบาลีและคัมภีร์ทางพุทธศาสนาของพระองค์อย่างยิ่ง  ทุกเรื่องที่นำเสนอ ทรงค้นคว้าจากคัมภีร์ทางพุทธศาสนาและหนังสือที่เกี่ยวเนื่องอย่างละเอียด แล้วนำมาเสนออย่างเป็นขั้นตอน พร้อมทั้งทรงวิเคราะห์วินิจฉัยอย่างเฉียบคม เช่น การวิเคราะห์ความหมายของคำว่า “บารมี” ตามรูปศัพท์และการประกอบศัพท์ด้วยการเสนอความเห็นของนักไวยากรณ์โบราณและนักไวยากรณ์รุ่นหลัง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวตะวันตกที่ศึกษาภาษาบาลี) แล้วทรงสรุปพระราชวินิจฉัยของพระองค์

ในที่นี้ขอยกตัวอย่างสาระในวิทยานิพนธ์ที่ผู้เขียนประทับใจมา ๒ เรื่อง กล่าวคือ

       ในเรื่อง “วิวัฒนาการของความคิดเรื่องบารมีในวัฒนธรรมไทย” ทรงเปรียบเทียบบารมีกับทศพิธราชธรรม  การอธิบายในส่วนนี้ มิใช่เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น แต่เป็นคำอธิบายที่มาจากประสบการณ์ของพระองค์ในการทำหน้าที่ต่อประชาชน  เช่น ทรงอธิบายเรื่อง “ทาน” ว่า

       ทาน ในทศพิธราชธรรมกินความถึง การให้สิ่งของ ให้กำลังกายช่วยทำกิจการต่างๆ ให้วาจา เช่นช่วยพูดกิจการ ให้กำลังความคิด เช่นช่วยคิด แนะนำในกิจการ ให้กำลังปัญญา ให้ความรู้  แบ่งกว้างๆ ได้ว่า จำแนกทานออกได้เป็นสองประการ คือ วัตถุทาน การให้วัสดุสิ่งของ และธรรมทาน การให้ธรรม คือชี้แจงแสดงโอวาท หรือคำสั่งสอน แนะนำ

ข้อที่น่าสังเกตคือ ทานในบารมี เน้นหนักในด้านวัตถุทาน ขั้นต่ำให้สิ่งของนอกกาย ขั้นกลางให้อวัยวะ ส่วนขั้นสูงสุดคือให้ชีวิต

       ลักษณะของทานทั้งสองแนวนี้บ่งให้เห็นข้อแตกต่างระหว่างผู้ที่จะปฏิบัติธรรมทั้งสองหมวด  คือผู้ที่ปฏิบัติราชธรรม จะต้องอยู่ในสังคมในฐานะผู้ปกครอง นอกจากจะต้องเอื้อเฟื้อแบ่งปันสิ่งของให้ผู้อยู่ใต้ปกครองแล้ว การให้ความรู้ความคิดก็เป็นสิ่งสำคัญ เหมือนอย่างบิดาปกครองบุตร จำเป็นต้องอบรมสั่งสอน เพื่อให้บุตรมีความสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างถูกต้อง  แต่ผู้ที่มุ่งกระทำทานบารมีนั้น เพราะต้องการจะตัดความเกี่ยวข้องกับโลก ตัดความยึดถือเป็นตัวเราของเราได้” (1)

       อีกสาระหนึ่งที่มีคุณค่ามาก คือการที่ทรงยกการเปรียบเทียบบารมีกับอาสวะ ในหนังสือ   “ธรรมานุกรม” พระนิพนธ์ในสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ มาแสดง มีความตอนหนึ่งว่า

       บารมี.... ถ้าถือเอาความให้ชัดก็หมายความว่า เก็บดีเก็บถูก น่าจะตรงกันข้ามกับส่วนชั่วซึ่งเรียกว่า อาสวะ คนทำดีที่เรียกว่า เป็นบุญ เป็นกุศล ผลที่ดีก็ปรากฏเกิดขึ้นตามเหตุ เมื่อเสร็จแล้วก็แล้วไป, แต่ความคุ้นเคยในทางดีหรือความคุ้นเคยในทางบุญทางกุศลยังมีอยู่ไม่สูญไปตาม นี่เป็นชนิดบารมี คนทำชั่วที่เรียกว่าเป็นบาป ผลชั่วก็เกิดขึ้น เมื่อสำเร็จไปแล้วก็หมดไป แต่ความคุ้นเคยในทางชั่วยังมีอยู่ นี่เป็นชนิดอาสวะ

       เพราะฉะนั้น บารมีกับอาสวะ เก็บดีเก็บชั่วจึงเป็นคู่กัน แต่ตรงกันข้าม, เหมือนดังคนที่หลงทางไปคนเดียวในป่า และต้องการกินอาหาร, ถ้าบารมีส่งอุดหนุน ก็ให้แสวงหาอาหารในทางดี เช่นเก็บลูกไม้ใบไม้ที่พอจะกินได้กินแก้หิว, ถ้าอาสวะเกิดขึ้น ก็ให้มุ่งที่จะฆ่าสัตว์ มุ่งเอาเนื้อมาเป็นอาหาร  ลองพิจารณาดูเราเอง ในเวลาที่มีเหตุมาประสบแล้ว ทำอะไรลงไปเพื่อแก้เหตุนั้น ก็เป็นได้ทั้งสองทาง ทางดีก็ได้ทางชั่วก็ได้” (2)

       เมื่อได้แสดงข้อความของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ แล้ว ก็ทรงสรุปอย่างกระชับชัดเจนว่า “ข้อความนี้ เป็นพระมติของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ เกี่ยวกับบารมีโดยละเอียด...... ความหมายที่ชัดเจนคือ ‘เก็บดีเก็บถูก’ ตรงกันข้ามกับคำว่า ‘อาสวะ’ ซึ่งแปลว่าของหมัก ดอง มีความหมายว่า ‘การเก็บชั่วเก็บผิด’

       คนเขาเมื่อทำบุญและบาป จะได้ผลดีผลชั่วหมดไปเป็นคราวๆ ตามกฎแห่งกรรม แต่จะหลงเหลือ ความคุ้นเคยในทางดีและชั่ว อยู่ ชักนำให้เลือกทางดีหรือชั่วต่อไป เรียกว่า บารมี และอาสวะตามลำดับ

       คำอธิบายของท่าน นับว่าแปลกไปจากที่เคยอธิบายกันมาแต่ก่อนๆ ซึ่งจะกล่าวแต่ว่า บารมีคือคุณธรรมที่บำเพ็ญเต็มแล้วจะบรรลุพระโพธิญาณ มี ๑๐ ประการ  แต่ไม่เคยมีกล่าวว่าบารมีนี้ต่างและเกี่ยวเนื่องกับการกระทำคุณ หรือการประพฤติธรรมอย่างไร” (3)

กลับขึ้นด้านบน

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University