เรื่องเล่าของนิสิตเก่า รุ่น 19

จำได้...ไม่รู้ลืม

จำได้...ไม่รู้ลืม ชีวิตนิสิตอักษรศาสตร์จุฬาฯ

รุ่น 19  ปีการศึกษา 2494-2497

ปริมาณ    : นิสิตอักษรศาสตร์จุฬาฯ รุ่น 19  จำนวนแรกเข้า 90 คน  ชาย 13 คน  หญิง 77 คน

คุณภาพ   : ปีที่ 1-4

ปีที่หนึ่ง    : การได้เข้าเป็นน้องใหม่ Freshy (เฟรชชี่) ของคณะอักษรศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะที่ทุกคนใฝ่ฝันอยู่          นับเป็นบรรยากาศของความน่าตื่นเต้น ปลาบปลื้มใจ ดังที่มีผู้เขียนกลอนไว้ว่า

          “ปีที่หนึ่ง – กำลังทึ่ง        กำลังเห่อ    เอ้อระเหย

                    ให้เอิบอิ่ม           กระหยิ่มใจ กระไรเลย

                    ด้วยไม่เคย         ได้มาคุ้น    เป็นบุญจริง”

        พวกเรายังจำความรู้สึกดังกล่าวได้ถึงวันแรกที่แต่งเครื่องแบบนิสิตจุฬาฯ ไปมหาวิทยาลัย จำได้ถึงรายละเอียดของชุดเครื่องแบบ การติดกระดุม เก็บชายเสื้อ คาดเข็มขัด และติดเข็มกลัดรูปพระเกี้ยวสีเงินวาววับที่หน้าอกซ้ายได้เป็นอย่างดี ราวกับเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นาน ทั้งๆที่เวลาได้ผ่านไปถึงกว่า 60 ปีแล้ว

        ชีวิตการเรียนปีที่ 1 ของพวกเราเริ่มต้น ณ ตึกอักษรศาสตร์อันงดงามด้วยแบบสถาปัตยกรรมไทยในการก่อสร้าง บรรยากาศในห้องเรียน ซึ่งเป็นห้องโถงใหญ่ เพดานสูง เหมือนนั่งในโบสถ์โบราณ สงบ เย็น ทำให้มีสมาธิในการเรียนดียิ่ง ตัวตึกอยู่ท่ามกลางสวนและต้นไม้ที่ร่มเย็น มีระเบียงเดินได้รอบตึก  พอขึ้นบันไดตึกพญานาคอันแสนสง่างามมาก็เข้านั่งเรียนที่ห้องหมายเลข 10 ซึ่งเป็นห้องเรียนรวมของนิสิตปีที่ 1  นั่งเรียงกันตามตัวอักษรรายชื่อตั้งแต่ ก–ฮ ซึ่งเป็นที่นั่งประจำตัวตลอดทั้งปี ดังนั้นลักษณะกลุ่มความสัมพันธ์จึงมักเชื่อมโยงกับที่นั่งตามตัวอักษรที่อยู่ใกล้กัน ยกเว้นพวกที่มีกลุ่มเพื่อนติดมาจากโรงเรียนเดิม เช่น จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มาแตร์เดอี ราชินี เป็นต้น

การเป็นน้องใหม่เริ่มต้นอย่างเป็นทางการจากงานวันต้อนรับน้องใหม่ที่รุ่นพี่ของคณะจัดให้ น้องๆได้กลัดเข็มกลัดใบจามจุรี เดินลอดซุ้มกิ่งจามจุรีที่พวกพี่ๆยืนถือกิ่งโน้มให้เราเดินลอดไปพร้อมได้ฟังคำกล่าวต้อนรับที่อบอุ่น นุ่มนวล จนเข้าหอประชุมใหญ่ เมื่อเสร็จพิธีการแล้วทุกคนยืนร้องเพลง “มหาจุฬาลงกรณ์” ซึ่งเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้จุฬาฯ ซึ่งพวกเราร้องเพลงกันด้วยความซาบซึ้งใจ น้ำตาคลอและในใจก็ตั้งปณิธานว่าจะเป็นนิสิตที่ดี เพียรสร้างแต่คุณงามความดี ตอบแทน “พระคุณของแหล่งเรียนมา”

ในช่วงเวลาที่เป็นนิสิตชั้นปีทีหนึ่ง มีเหตุการณ์ที่ประทับใจและจำได้แม่นยำ คือการที่เหล่านิสิตได้มีโอกาสไปตั้งแถวรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์ท่านเสด็จพระราชทานปริญญาบัตร นิสิตได้มีโอกาสเห็นพระองค์ท่านอย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรก เพราะพอรถพระที่นั่งแล่นผ่าน พระองค์ท่านก็ทรงเปิดกระจกและโบกพระหัตถ์ให้ ก่อให้เกิดความปลาบปลื้มใจอย่างที่สุด กลับไปนอนฝันกันอยู่หลายคืน

ส่วนเรื่องทางลบที่ทำให้พวกเราซึ่งยังอ่อนเยาว์ต่อการเมืองตกใจกันมากคือเรื่องการที่รุ่นพี่ถูกลงโทษด้วยการโยนบก (จากเวทีหอประชุมลงมาพื้นล่าง) ซึ่งทำให้พวกเราตกใจกลัว และทำให้พลอยหวาดกลัวรุ่นพี่ๆที่เป็นกรรมการสโมสรนิสิตของมหาวิทยาลัยไปด้วย เมื่อไรที่ต้องพบ เดินผ่านหรือเดินสวนท่านเหล่านั้น พวกเราจะกลั้นหายใจ ทำตัวลีบ รีบเดินให้เร็วหรือบางทีก็หลบลงข้างทางเสียเลย

สำหรับเรื่องการเรียนการสอน บรรยากาศในสมัยนั้นนับว่านิสิตมีโอกาสอันประเสริฐที่ได้มีครูบาอาจารย์ล้วนเป็นระดับปรมาจารย์ในแต่ละสาขาวิชา เป็นท่านอาจารย์ที่เพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิและชาติวุฒิ คือสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา (ภาษาฝรั่งเศส)  พระองค์เจ้าเปรม  บุรฉัตร ฉัตรชัย (วรรณคดีอังกฤษ)  ศาสตราจารย์ ม.ร.ว. สุมนชาติ สวัสดิกุล (ประวัติศาสตร์ไทย)  ศาสตราจารย์ ม.ร.ว. แสงโสม เกษมศรี (ประวัติศาสตร์ตะวันตก)  ศาสตราจารย์ ม.ล.จิรายุ นพวงศ์ (ภาษาบาลี สันสกฤต)  ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา (ภาษาอังกฤษ)  ศาสตราจารย์คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร (ภาษาฝรั่งเศส)  ศาสตราจารย์พระวรเวทย์พิสิฐ (วรรณคดีไทย)  และอีกมากมายหลายท่านซึ่งล้วนเป็นปรมาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงสุดของประเทศในสาขาวิชาที่นิสิตเลือกเป็นวิชาเอก-โท  นิสิตอักษรศาสตร์จึงนับว่าได้อยู่ในบรรยากาศวิชาการที่ “ขลัง” และสูงค่าอย่างแท้จริง ทำให้ลูกศิษย์ทุกคนประทับใจในบรรยากาศและแหล่งความรู้จากปรมาจารย์ดังกล่าวจึงมีความตั้งใจเรียนและสามารถประสบความสำเร็จในการเรียนได้อย่างยอดเยี่ยม

        ส่วนการดำเนินชีวิตในช่วงที่เป็นนิสิตปีที่ 1 นั้น ก็นับว่าต้องมีการปรับตัวมากพอสมควร เพราะถึงแม้สมัยนั้นจะยังไม่มีระบบซ้อมเชียร์หรือรับน้องใหม่อย่างเต็มรูปแบบดังในปัจจุบัน แต่ทุกกลางวันก็มีหัวหน้านิสิตหญิง/นิสิตชาย และทีมงานมาประชุม พบปะและอบรมสั่งสอนน้องทุกวัน ซึงพวกเรารู้สึกว่าต้องเคารพเชื่อฟังท่านคล้ายเป็นผู้ปกครองของเรา นอกจากนั้นก็มีกิจกรรมคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของคณะไปเล่นและแข่งกีฬาประเภทต่างๆ กับคณะอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยและบางทีก็ไปแข่งกับมหาวิทยาลัยอื่นๆด้วย ซึ่งบางทีพวกเราก็เพลิดเพลินไปกับกิจกรรมดังกล่าวจนลดความตั้งใจในการเรียนไป ตัวผู้เขียนเองยังเคยต้องได้รับคำเตือนจากอาจารย์เก่าโรงเรียนสตรีวิทยาว่าให้ตั้งใจเรียน อย่ามัวแต่ไปเล่นกีฬา เดี๋ยวจะสอบตก เสียชื่อความเป็นศิษย์เก่าดีเด่นคนหนึ่งของโรงเรียน (สอบได้ที่ 2 ของประเทศ) เลยตั้งสติได้ทันการ นอกจากนั้นพวกเราก็มีกิจกรรมบันเทิงกระจุ๋มกระจิ๋มเป็นต้นว่า ตอนเช้าถ้ามาได้เร็วก่อนเข้าเรียนก็จะไปดักดูรุ่นพี่ที่เป็นสาวสวยเด่น เป็นดาวของคณะประจำรุ่นต่างๆ จำได้ว่าติดใจรุ่นพี่คนหนึ่งซึ่งทั้งสวยจับตาแล้วยังมีอัธยาศัยดี พอเห็นเราไปดักดูก็หันมาพยักหน้าและยิ้มหวานให้ ทำให้น้องๆปลาบปลื้มชื่นใจไปทั้งวัน พอตอนกลางวันก็จะมีกองทัพหนุ่มๆ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตย์ และรัฐศาสตร์ มาเยี่ยมและห้อมล้อมดาราประจำรุ่นของเรา ซึ่งก็มีสวยๆน่ารักหลายคนไม่แพ้รุ่นพี่  ส่วนอีกกิจกรรมหนึ่งที่เวลาว่างๆไม่มีอะไรทำเป็นพิเศษก็จะเที่ยวเดินดูว่าคนอื่นโดยเฉพาะพวกพี่ๆ ชั้นอื่นเขาทำอะไรกันบ้าง  ยังจำได้ว่าเคยเห็นรุ่นพี่คนหนึ่ง หลังอาหารกลางวันจะใช้เวลาท่องศัพท์ภาษาอังกฤษจากดิกชันนารี่อยู่เสมอเป็นประจำ ซึ่งเราเห็นแล้วก็มากระซิบกันว่าท่าจะเพี้ยน แต่ภายหลังมาปรากฏว่าท่านผู้นั้นสามารถสอบชิงทุนไปเรียนต่อระดับปริญญาโท-เอก ต่างประเทศได้ และได้กลับมามีตำแหน่งงานที่เจริญก้าวหน้าระดับเป็นอธิบดี  จึงนับว่าเราได้เรียนรู้ตัวแบบไปโดยไม่ได้ตั้งใจ

ปีที่สอง  : เมื่อขึ้นเป็นนิสิตปีที่สอง ซึ่งมีเพื่อนเรียกเชิงล้อเลียนว่า Suffer more แทนคำว่า sophomore นั้น สำหรับตัวเองและเพื่อนๆที่มาจากต่างจังหวัดกลับเป็นช่วงที่มีความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้มีความสุขสบายเพิ่มขึ้น คือได้มีโอกาสเข้าเป็นนิสิตหอพักเจ้าจอม ซึ่งเป็นหอพักนิสิตหญิงที่จุฬาฯ ตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก อยู่ริมถนนพญาไท ตรงกันข้ามกับโรงเรียนอุเทนถวาย การเดินทางจากหอพักมามหาวิทยาลัยจึงนับว่าสะดวกสบาย และเป็นความทรงจำติดตาตรึงใจ ที่ยามเช้าเราแต่งตัวนิสิต เดินกันไปเป็นกลุ่มตามทางเข้าริมคลองขนาบถนนพญาไท มีร่มเงาต้นจามจุรีใหญ่อายุร่วมร้อยปี และในคลองก็มีดอกบัวสีต่างๆงามสะพรั่งเต็มคลองตลอดทางไปจนถึงประตูใหญ่ของจุฬาฯ  พอถึงหน้าฝน น้ำท่วมจุฬาฯ เป็นประจำ นิสิตก็ต้องถอดถุงเท้า รองเท้า เดินลุยน้ำเข้าไปจนถึงตึกอักษรศาสตร์ ซึ่งอยู่ส่วนท้ายสุดของรั้วมหาวิทยาลัย บรรยากาศดังกล่าวได้ซึมซับเข้าไปอยู่ในจิตใจของพวกเราให้รู้สึกรักมองเห็นคุณค่าของสภาพแวดล้อมและความเป็นธรรมชาติของชีวิตผสมผสานไปกับบรรยากาศทางวิชาการของมหาวิทยาลัย

        ในชั้นเรียนปีที่สองนี้ นับว่าเริ่มเป็นผู้ใหญ่ขึ้นแล้ว ในปีนี้จึงมีกิจกรรมเสริมการเรียนการสอนเพิ่มขึ้น ทั้งในเรื่องของทัศนศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มประวัติศาสตร์ ซึ่งมีศาสตราจารย์ ม.ร.ว. สุมนชาติ สวัสดิกุล และ ศาสตราจารย์ ม.ร.ว. แสงโสม เกษมศรี ไปร่วมดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้มีลูกศิษย์รุ่นนี้เลือกเรียนวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาเอกเป็นจำนวนมากกว่ากลุ่มวิชาอื่นๆ และประสบผลสำเร็จ ได้เกียรตินิยมทางประวัติศาสตร์กันมากมายหลายคน  ส่วนกลุ่มที่เลือกวิชาเอกภาษาฝรั่งเศส ได้มีโอกาสพิเศษสุดคือได้เรียนกับสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ที่เสด็จทรงเป็นพระอาจารย์พิเศษสอนวิชาภาษาฝรั่งเศส ซึ่งในช่วงแรกนิสิตก็ประหม่าเกรงกลัวพระองค์ท่านเป็นอย่างมาก ขนาดที่พอพระองค์ท่านรับสั่งถามและชี้ผู้ตอบ เคยมีนิสิตที่ตกใจจนเป็นลม พระองค์ท่านจึงทรงเมตตา พระราชทานเลี้ยงน้ำชารับขวัญให้นิสิตทั้งกลุ่มที่วังสระปทุม จนมีผู้ที่ได้บันทึกภาพงดงามเป็นประวัติศาสตร์กับพระองค์ท่านไว้เป็นระลึกของชีวิต

นอกจากนั้น ในปีนี้มีอาจารย์ชาวอังกฤษชื่อ Blofeld ได้แต่งบทละครชื่อ The Three Sisters ขึ้นและจัดให้ลูกศิษย์ได้แสดงละคร นับเป็นการแสดงละครภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะสมัยนั้นคณะอักษรศาสตร์ยังไม่มีแผนกวิชาศิลปการละครเหมือนในปัจจุบัน

สำหรับกิจกรรมที่ตื่นเต้นเร้าใจมากที่สุดก็หนีไม่พ้นเรื่องของกีฬา ซึ่งนิสิตอักษรศาสตร์รุ่นที่ 19 ได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่เพราะเป็นปีที่มีนิสิตชายถึง 13 คน มากกว่าทุกรุ่นที่ผ่านมา ส่วนนิสิตหญิงนั้นเป็นดาวเด่นอยู่แล้ว และมักจะเป็นคู่แข่งชิงชนะเลิศกีฬาประเภทต่างๆ กับคณะบัญชี ซึ่งมีนิสิตหญิงสวยงามเป็นจำนวนมากพอๆกับคณะอักษรศาสตร์  กิจกรรมหลักตอนเย็นของพวกเราคือการไปแข่งกีฬาหรือเชียร์กีฬากันอย่างครึกครื้นสนุกสนาน กีฬาที่นิสิตอักษรศาสตร์ลงแข่งมักมีกองเชียร์จากหนุ่มๆ คณะอื่นๆ ของจุฬามาเชียร์กันอย่างหนาแน่น เพราะได้ยลโฉมทั้งนักกีฬาและกองเชียร์สวยๆ จำได้ว่ากีฬาเนตบอลซึ่งเป็นกีฬายอดนิยมสมัยนั้น มีผู้เข้าเชียร์มากเป็นพิเศษ เพราะมีรุ่นพี่คนหนึ่งซึ่งมีสไตล์การรับลูกบอลด้วยหน้าอกอันหนักแน่นเสียงดังปั๊บๆ เป็นที่ถูกใจกองเชียร์ยิ่งนัก  ชีวิตในช่วงปีที่สองของนิสิตอักษรศาสตร์ก็ผ่านไปอย่างรื่นรมย์ดังกล่าว

ปีที่สาม  : พอขึ้นชั้นปีที่สาม ช่วงนี้เป็นการแยกกลุ่มเรียนตามวิชาเอก-โทที่เลือกไว้ จึงหาเวลาพบเป็นกลุ่มรวมได้น้อยลงมาก และแทบทุกคนก็ล้วนคร่ำเคร่งตั้งใจเรียนและพัฒนาตนให้บรรลุเป้าหมายสูงสุดคือการได้รับพระราชทานปริญญาบัตร และเนื่องจากเป็นรุ่นที่ผลการเรียนดีมาตลอดตั้งแต่เริ่มต้น จึงล้วนมุ่งหวังเกียรตินิยมอันดับหนึ่งหรือสอง บรรยากาศในช่วงนี้จึงค่อนข้างเป็นการใกล้ชิดกับเพื่อนกลุ่มวิชาเอก-โทเดียวกัน มีการ “ติว” กันอย่างเข้มข้น มีเรื่องตื่นเต้นบ้าง เวลาทำสมุดจดเลคเชอร์หายหรือหาไม่พบ ผู้คนล้วนคร่ำเคร่ง และไม่สนใจข้อคิดขำขันของอากง ขายฝรั่งดองเจ้าประจำขวัญใจนิสิตที่ว่า “จุฬาเข้า-ออกง่ายจะตาย เข้าประตูนี้แล้วก็ออกประตูโน้น”

 

ปีที่สี่  : เมื่อถึงบันไดขั้นสุดท้าย คือชั้นปีที่ 4 เหนือความปลื้มปิติทั้งหลายทั้งปวง ก็คือการได้เข้าคุกเข่ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีสมเด็จพระบรมราชินีนาถผู้ทรงพระศิริโฉมประทับเคียงข้างอยู่ด้วย พวกเราทุกคนน้อมรับพระบรมราโชวาทใส่เหนือเกล้าเพื่อเป็นหลักในการดำเนินชีวิตของเราต่อไปในอนาคต และด้วยความภาคภูมิใจที่ขอบันทึกไว้เป็นพิเศษในความสำเร็จของบัณฑิตรุ่น 19 ที่ได้รับปริญญาเกียรตินิยมอันดับสองถึง 15 คน ซึ่งเป็นสถิติที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะสมัยนั้นการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนใช้แบบอิงเกณฑ์จากคะแนน 100 เปอร์เซ็นต์ การได้เกียรตินิยมจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก และมักได้เพียงปีละ 1-3 คน ในทุกคณะของมหาวิทยาลัย จึงนับว่าบัณฑิตอักษรศาสตร์รุ่นที่ 19 ได้ทำสถิติการได้เกียรตินิยมไว้สูงอย่างน่าภาคภูมิใจ

        สำหรับตัวดิฉันเอง หลังจากสำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมแล้ว ได้เข้าศึกษาต่อในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.) ของแผนกวิชาครุศาสตร์ ซึ่งสังกัดคณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ ในปีพ.ศ.2498 เพื่อมุ่งที่จะเป็นอาจารย์ตามเจตนารมณ์ที่เคยรับทุนการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในการเรียนอักษรศาสตร์มา  จนได้สำเร็จปริญญาครุศาสตรบัณฑิต หรือที่เรียกกันว่า ค.บ. 2 ปี ในปีพ.ศ. 2500  แล้วได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์คณะครุศาสตร์ที่แยกเป็นคณะจากอักษรศาสตร์อย่างเป็นทางการในปีแรก โดยได้มีบทบาทหลักในการเปิดรับนักเรียนสาธิตจุฬาฯ ชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งรุ่นแรก แต่เมื่อทำงานได้เพียง 1 ปี ก็ได้รับทุน ก.พ. ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา และเมื่อกลับมาก็ได้รับตำแหน่งเป็นอาจารย์ประจำแผนกวิชาจิตวิทยาของคณะครุศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมาจนเกษียณอายุราชการ

                  แผนกครุศาสตร์ (เดิมแผนกฝึกหัดครู) ได้เริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2491 ทำให้มีการเปลี่ยนชื่อคณะอักษรศาสตร์เป็นคณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ เพื่อวัตถุประสงค์ให้นิสิตอักษรศาสตร์ที่เรียนวิชาครูมีสิทธิที่จะได้รับปริญญาครุศาสตร์ต่อไป ซึ่งก็บรรลุวัตถุประสงค์นี้ใน พ.ศ. 2496 ที่สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้คณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์เปิดสอนวิชาครุศาสตร์ถึงปริญญาได้  เรียกว่า ปริญญาครุศาสตร์หลักสูตร    2 ปี (โดยยังมีอนุปริญญาครุศาสตร์หลักสูตร 1 ปี และ 2 ปีคงไว้) ในการศึกษาครุศาสตร์ขั้นปริญญานี้มีวัตถุประสงค์หลัก คือ 1) เพื่อเตรียมให้มีพื้นฐานความรู้ทางครุศาสตร์โดยกว้างขวาง ลึกซึ้งจนสามารถทำหน้าที่หัวหน้างานทางการศึกษาได้  2) เตรียมให้เป็นผู้ชำนาญการในแขนงต่างๆ ของงานทางการศึกษา ทั้งด้านประถมศึกษา มัธยมศึกษาและงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และ 3) ให้เป็นผู้มีความสามารถในการค้นคว้ารวบรวมวิชาการจากข้อเท็จจริงและตำราอันเป็นแนวทางให้จัดสรรตำราขึ้นเองหรือประกอบกิจการใดๆ เพื่อความก้าวหน้าในวงการศึกษา

        การเปิดหลักสูตรปริญญาครุศาสตร์ หลักสูตร 2 ปีซึ่งได้รับผู้ที่ได้ปริญญาบัณฑิตมาแล้ว นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เพราะผู้เข้าเรียนเป็นทั้งนิสิตเก่าที่ได้ปริญญาจากคณะต่างๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเข้าเรียนและสำเร็จปริญญา คบ. ในช่วง พ.ศ. 2497-2500 (4 รุ่น) เป็นจำนวนถึง 165 คน ซึ่งมีสังกัดสถานที่ทำงานที่หลากหลายทั่วประเทศทั้งราชการ พลเรือน ตำรวจและทหาร ดิฉันเองนั้นเป็น 1 ใน  44 คนที่สำเร็จปริญญา คบ. (2 ปี) พ.ศ. 2500เป็นรุ่นสุดท้าย ก่อนที่คณะครุศาสตร์จะแยกออกมาจากคณะอักษรศาสตร์อย่างเป็นทางการ เท่าที่พอจำได้ในรุ่นนั้นมีนายภิญโญ  สาธร  นางสาวจุไร  ลียากาศ           นางสาวประคอง  ตันเสถียร  นางสาวสุภากร  นาคเสวี  นายสมัย  ชินะผา  นางสาวอาภรณ์ ชาติบุรุษ             นางสาวประภาศรี  ศิริจรรยา  นางสาวกิติยวดี ณ ถลาง  ซึ่งท่านเหล่านี้ต่อมาได้ทำงานด้านการศึกษา เป็นคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเอกชน รวมทั้งได้เป็นผู้ร่วมงานทำโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ กับดิฉันในโอกาสต่อไปด้วย

ในช่วงเวลา 2 ปีที่ศึกษาในแผนกครุศาสตร์ของอักษรศาสตร์ ดิฉันได้มีโอกาสเป็นลูกศิษย์ของท่านปรมาจารย์ทางการศึกษาและทางจิตวิทยาหลายท่าน ที่สำคัญที่สุดคือท่านอาจารย์พูนทรัพย์  ไกรยง (ต่อมาคือศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์  นพวงศ์ ณ อยุธยา) ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกครุศาสตร์ ซึ่งได้รับการอนุมัติให้เปิดสอนวิชาครุศาสตร์ถึงขั้นปริญญาตั้งแต่ พ.ศ. 2496 และต่อมาได้ก่อตั้งเป็นคณะครุศาสตร์ขึ้นใน พ.ศ. 2500 ช่วงเวลา พ.ศ. 2498-2500 ที่ดิฉันศึกษาอยู่จึงนับเป็นช่วงสุดท้านของแผนกวิชาครุศาสตร์ที่เตรียมแยกออกมาจากคณะอักษรศาสตร์ ดิฉันจึงได้มีโอกาสได้เห็นตัวอย่างของการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของท่านอาจารย์ พูนทรัพย์และทีมงานของท่าน ซึ่งประกอบด้วย อาจารย์ดวงเดือน  พิศาลบุตร  อาจารย์พวงเพชร เอี่ยมสกุล  อาจารย์ประชุมสุข อาชวอำรุง  อาจารย์สุรางค์  โค้วตระกูล  และอาจารย์พิเศษซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและปรมาจารย์ทางการศึกษาและทางจิตวิทยาหลายท่านจากภายในและภายนอกจุฬาฯ ทุกท่านร่วมทำงานกันเป็นทีมอย่างเข้มแข็ง ทำงานกันจนถึงกลางคืนดึกดื่นแทบทุกวันภายในสถานที่ค่อนข้างจำกัดอยู่ส่วนหนึ่งของตึกอักษรศาสตร์ชั้นล่าง โดยมีห้องเรียนใหญ่เลขที่ 100 เป็นห้องเรียนรวมของนิสิต  ดิฉันได้รับความประทับใจจากทั้งคุณวุฒิ วิธีการสอนแบบกัลยาณมิตร และบุคลิกภาพอันโดดเด่นของท่านคณาจารย์หลักสูตรครุศาสตร์     ซึ่งแตกต่างไปจากคณาจารย์คณะอักษรศาสตร์ในแง่มุมที่เน้นผู้เรียนซึ่งเป็นผู้ใหญ่มีวุฒิภาวะแล้ว และเน้นการใช้ประสบการณ์จากการทำงานของผู้ที่ทำงานอยู่แล้ว และจากการฝึกสอนและฝึกประสบการณ์ในสภาพการณ์จริงของโรงเรียน สถานศึกษา และกิจกรรมต่างๆ (สำหรับบัณฑิตอักษรศาสตร์ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา) โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านอาจารย์พูนทรัพย์  ไกรยง  ซึ่งทำหน้าที่สอนวิชาจิตวิทยาการศึกษาให้กับพวกเราด้วย  ดิฉันได้มีโอกาสรับแบบอย่าง และความประทับใจจากท่านทั้งในแง่ของบุคลิกภาพภายนอกอันสง่างาม เข้มแข็ง แสดงความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มุ่งพัฒนา และเป็นต้นแบบของนักบริหารการศึกษาที่มีความคิดริเริ่ม กล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ กล้าเผชิญกับปัญหา อุปสรรคมากมายด้วยความเสียสละ อดทน ตั้งใจมั่น ไม่ย่อท้อ โดยทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมในการพัฒนาคน พัฒนาครูที่มีคุณภาพทั้งด้านความรู้และคุณธรรมให้แก่ประเทศชาติและสังคม แบบอย่างจากท่านอาจารย์พูนทรัพย์  ทำให้ดิฉันได้เลือกที่จะศึกษาต่อ และทำงานทางด้านจิตวิทยาการศึกษาต่อมาจนถึงปัจจุบัน

      นอกจากนั้น จากการเรียนหลักสูตรครุศาสตร์ 2 ปี ทำให้ดิฉันยิ่งตระหนักถึงคุณค่าและประโยชน์จากต้นทุนทางวิชาการและประสบการณ์ที่ได้รับการอบรมบ่มเพาะมาจากคณะอักษรศาสตร์ ที่สำคัญคือ ความสามารถแสวงหาและสร้างความรู้ด้วยตนเอง ความสามารถในการอ่าน จับใจความ สรุปประเด็นสำคัญ เก็บจำอย่างเป็นระบบ สามารถเขียนแสดงความรู้ความเข้าใจได้อย่างกะทัดรัด ชัดเจน สื่อความหมายด้วยการใช้ภาษาที่ถูกต้อง เหมาะสม รวมทั้งความสามารถในการคิดไตร่ตรอง (reflective thinking) ซึ่งนับเป็นคุณลักษณะที่สำคัญ จำเป็นสำหรับคนทุกยุคสมัย โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 21 นี้ ซึ่งปรากฏว่า สมรรถนะและทักษะชีวิตที่คนรุ่นใหม่ต้องการมีความสอดคล้องกับคุณลักษณะที่พวกเรานิสิตอักษรศาสตร์ได้รับจากการเรียนการสอน การเรียนรู้ดูแบบอย่างจากคณาจารย์ จากเพื่อนๆ และจากบรรยากาศทางสังคมของคณะอักษรศาสตร์ที่มีความเป็นธรรมชาติในการปรับตัวเข้ากับความหลากหลายของพื้นเพคนในเมืองและภูมิภาค คนที่มีความสามารถ ความถนัดและความสนใจแตกต่างกันรวมทั้งคนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมแตกต่างกัน ซึ่งการเรียนรู้ดังกล่าวได้เกิดขึ้นทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว แต่เมื่อได้รับต้นทุนดังกล่าวมาต่อยอด เชื่อมโยงและบูรณาการกับศาสตร์และวิธีการแนวใหม่ๆ ทางการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การพัฒนาความใฝ่รู้ สร้างความรู้ด้วยตนเองและการคิดอย่างเป็นระบบ ก็น่าจะประเมินได้อย่างแท้จริงว่าพวกเราชาวอักษรศาสตร์จุฬาฯ ได้รับมรดกเป็นต้นทุนทั้งทางด้านวิชาการและคุณภาพชีวิตที่สามารถดำรงตนเป็นทรัพยากรบุคคลของประเทศและสังคมได้อย่างยั่งยืน จนถึงปัจจุบันซึ่งพวกเรานิสิตอักษรศาสตร์รุ่น 19 ผู้มีวัยอายุเกิน 80 ปีแล้ว ก็ยังมุ่งดำรงตนด้วยความสุข ความสำเร็จและศักดิ์ศรีในความเป็น “น้องพี่สีชมพู” ที่มุ่งระลึกถึง “พระคุณของแหล่งเรียนมา” ด้วยความภาคภูมิใจว่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของเราจะอยู่ยั่งยืนยง ตลอดรอบร้อยๆปีต่อไป

 

 

ผู้เรียบเรียง :    ประสาร (นุชสภาพ) มาลากุล ณ อยุธยา

                      รองศาสตราจารย์ ดร.ประสาร  มาลากุล ณ อยุธยา

                      นิสิตอักษรศาสตร์ รุ่น 19    (2494 - 2497)

                      อักษรศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม)   (2497)

                       ครุศาสตรบัณฑิต              (2500)

            M.S. in Ed. (Child Development)       (2504)

            Ph.D. in Educational Psychology      (2517)

 

หมายเหตุ : เพื่อนรุ่น 19 ที่ร่วมส่งข้อมูลสำหรับบทความ :

          กิติยวดี (ณ ถลาง) บุญซื่อ    จารุวรรณ (ชาลิโต) สินธุโสภณ    จินดา (ไชยชนะ) โพธิ์เมือง   

          ประณาลี  สิงหรา ณ อยุธยา    เพ็ญศรี (สุกัณหะเกตุ) ทองใหญ่ ณ อยุธยา                    

          สุปาณี (เปรมะบุตร) เศาภายน    เอมอร (พุกกะพันธุ์) เจริญรัถ

 

แหล่งอ้างอิง : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะครุศาสตร์ (2550). เพลิงชมพูพิพัฒน์จรัสโรจน์ 

                  : 5 ทศวรรษ ครุศาสตร์ จุฬาฯพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาประเทศ. กรุ'เทพฯ

                  : คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

 

 

กลับขึ้นด้านบน

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University