เรื่องเล่าของนิสิตเก่า รุ่น 25

อักษรศาสตร์ รุ่น2500 ธิดา -เยาวลักษณ์ - สุมาลี

อักษรศาสตร์ รุ่น2500

 ผู้เล่า    ธิดา (พรหมมาณพ)  บุญธรรม  - เยาวลักษณ์ (หรูวรรธนะ) อ่องจริต  - สุมาลี  (พิทยากร)Slack

อักษรศาสตร์รุ่นของเราเป็นรุ่นที่จำง่ายเพราะเป็นรุ่นกึ่งพุทธกาล รัฐบาลโดยการนำของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้จัดเฉลิมฉลองพุทธศตวรรษในปีนั้นด้วย ถือเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญเหตุการณ์หนึ่งของประเทศ...

ที่ห้องสิบ ...

ที่ห้องสิบ นิสิตน้องใหม่ 160 คน ใช้ห้องสิบชั้นล่างเป็นที่เรียน

ที่ห้องสิบ นิสิตใหม่นั่งเรียนเบียดเสียดยัดเยียด เรียงชื่อตามอักษร

ที่ห้องสิบ นิสิตใหม่ได้รู้จักท่านคณบดี อาจารย์รอง ศยามานนท์

ที่ห้องสิบ อดีตนักเรียนมัธยมได้รู้จักการเรียนแบบรวมฟังเลคเชอร์

ที่ห้องสิบ ได้ฟังเลคเชอร์ หลักภาษาไทยของคุณพระวรเวทย์พิสิษฐ์

ที่ห้องสิบ ได้ฟังเลคเชอร์ ประวัติศาสตร์ไทยของอาจารย์ ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล

ที่ห้องสิบ ได้ฟังเลคเชอร์ ประวัติศาสตร์สากลของอาจารย์ ม.ร.ว.แสงโสม เกษมศรี

ที่ห้องสิบ ได้ฟังเลคเชอร์ Histoire de Franceของอาจารย์ คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร

ที่ห้องสิบ ได้ฟังเลคเชอร์Phonétiqueของอาจารย์ ดร.จิตรเกษมสีบุญเรือง

ที่ห้องสิบ ได้ฟังเลคเชอร์ภูมิศาสตร์ของอาจารย์ไพฑรูย์ พงศะบุตร

ที่ห้องสิบ ได้ฟังเลคเชอร์ ของอาจารย์สวอน ชาวอังกฤษ

ที่ห้องสิบ ได้ฟังเลคเชอร์ ของอาจารย์ เดอ โบเว ชาวฝรั่งเศส

ที่ห้องสิบ เราร้องเพลงเชียร์กัน “เทา เทา เทา เราเชียร์...” ถึง “ซีมะโด่ง...”ของหอพักนิสิตฯ

ที่ห้องสิบ เขามีเรื่องมาประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบ

 ที่ห้องโถงกลาง

ที่โถงกลางนี้มีทางเข้าได้หลายทาง ทางหนึ่งคือบันไดด้านที่อยู่ตรงข้ามปราสาทแดงของคณะวิศวะฯ เดินผ่านใต้บันไดขึ้นชั้นสองของตึก ที่มุมนี้มีตู้น้ำเย็นที่ใช้เท้ากดแป้นให้น้ำเย็นพุ่งขึ้นมา แล้วผู้กดก้มลงดื่มน้ำนั้น แถบนี้จะมีหนุ่มๆมาเดินเล่น ทำทีมาอาศัยดื่มน้ำเย็น แล้วสอดส่องส่ายตามองสาวๆไม่ขาดสาย ประตูอีกด้านหนึ่ง เปิดออกสู่ทางเดินที่หันไปทางถนนอังรีดูนังต์ ก่อนออกสู่ประตูนี้เล็กน้อย เป็นบริเวณที่ในอดีตเป็นจุดที่สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำพิธีวางศิลาฤกษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2458 ซึ่งวันที่ 3 มกราคม ถือเป็น “วันอักษรศาสตร์”

บันไดที่ใกล้ด้านหลังหอประชุมจุฬาฯ นั้นขึ้นสู่ห้อง 10 ซึ่งเป็นห้องเรียนรวมของนิสิตชั้นปีที่ 1

บรรดาบันไดที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นทางนำไปสู่ห้องโถงกลางทั้งสิ้น และที่บันไดใหญ่ซึ่งหันหน้าไปทางทิศเหนือเป็นบันไดกว้างขึ้นสู่ชั้น 2 แยกเป็น 2 ข้าง ซ้ายและขวา ช่วงตรงกลางเป็นชานบันได เหนือชานพักบันไดนี้ จะมีพระบรมฉายาลักษณ์ขนาดใหญ่ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ประดิษฐานอยู่เป็นสง่าราศีแก่นิสิตของคณะอักษรศาสตร์อย่างยิ่ง เมื่อนิสิตขึ้น-ลงบันได ไม่ว่าจะแยกซ้ายหรือขวา หรือแค่เดินผ่านพระบรมฉายาลักษณ์ จะทำความเคารพทุกครั้ง แม้นิสิตคณะอื่นที่เดินผ่านห้องโถงกลางก็จะปฏิบัติเช่นเดียวกัน

เราทำอะไรกันที่ห้องโถงกลาง

ถ้าเป็นเรื่องพิธีการมีเพียงเรื่องเดียว คือการประกาศผลการสอบไล่ประจำปีของนิสิตทุกชั้นปีของนิสิตทั้งหมดในคณะอักษรศาสตร์ ซึ่งไม่เหมือนคณะใดในจุฬาฯ เมื่อคณาจารย์ที่ประชุมเรื่องคะแนนสอบของนิสิตเสร็จแล้ว ท่านคณบดี ศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์ จะเดินลงบันไดหน้าห้องโถงกลาง และหยุดอยู่ตรงชานพักบันได เริ่มอ่านผลสอบเริ่มจากชั้นปีที่ 4 เรื่อยลงมาจนถึงชั้นปีที่ 1 โดยอ่านชื่อนิสิตก่อน แล้วระบุว่าเกียรตินิยมอันดับ 1-2, สอบได้, สอบตกซ้ำชั้น, สอบตกวิชา… บรรดาเหล่านิสิตที่ยืนฟังจะมีทั้งดีใจสุดขีดที่ได้เกียรตินิยมดีใจที่สอบได้และส่วนหนึ่งเสียใจที่สอบตกซ้ำชั้นและสอบแก้ตัวซึ่งต่างก็จะเล่นบทกรรแสงกันถ้วนหน้า

ห้องโถงกลาง ก็คือ “common room” ของนิสิต ในสมัยของเรา นิสิตนั่งพักผ่อนยามว่างที่ไม่มีชั่วโมงเรียน มีกระดานหมากรุก หมากฮอส ให้เล่น อีกมุมหนึ่ง มีตู้แช่ .... น้ำหวาน น้ำขวดของกรรมการของคณะชาย เพื่อนำผลกำไรให้กิจการนิสิต เราจะเห็น “พี่วิจิตร ศรีสอ้าน” นักการศึกษาใหญ่สาละวนกับงานชิ้นนี้อย่างเอาจริงเอาจัง การนั่งขายน้ำหวานที่โถงกลางนี้เป็นเหตุให้มีการ “ลันดูแก แลดูกัน” ระหว่างสุริย์ ด่านสวัสดิ์ และเยาวภา เวชพงค์จนสุดท้ายลงเอยด้วยการเป็นคู่แต่งงานของรุ่น

ที่โถงกลางนี้เองที่เราจะได้รับความอบอุ่น “การแนะแนว” ในการเรียนของรุ่นพี่ ซึ่งแต่ละคนเป็นเอตทัคคะในหลายเรื่อง เช่น เรื่องกาพย์กลอน เราถึงได้เห็นกลอนบทหนึ่งที่พี่มะเนาะ ยูเด็น และพี่ประยอม

ซองทอง เขียนถึงเพื่อนเราว่า

“คนผอมบางร่างสง่าแต่ท่าเก๋    มีเสน่ห์ใบหน้าตาชวนฝัน  

  ดูแย้มยิ้มอิ่มสุขอยู่ทุกวัน     คนคนนั้นใครก็เห็นว่าเป็นเซียน”  

 (เซียนเป็นชื่อเล่นของน้องใหม่ รุ่น 2500)

ที่มีการเปลี่ยนแปลง ...

เราอย่าเรียกว่าเปลี่ยนแปลงเลย เรียกว่า “เพิ่มเติม” น่าจะเหมาะกว่า  อักษรรุ่นเรา ต้องเรียนวิชาธรรมวิภาค ในชั้นปีที่1  พวกเราได้อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้สอน นิสิตเรียกท่านว่า อาจารย์มหาเกษม บุญศรี ซึ่งบ่งบอกเอตทัคคะของท่านด้านธรรมและภาษาบาลี จุดประสงค์ (เราคิดเอง) คงอยากจะให้เรามีความเป็นบัณฑิตอย่างสมบูรณ์แบบ มีเรียนวันแรกๆที่มหาวิทยาลัยเปิด ดูตื่นเต้นดี อยู่ต่อไป คุยกันจุ๊กจิ๊ก ทำให้ “ไทนี อนรรฆสันต์” หัวเสีย ตาเขียวใส่เพื่อน เสียงดุของเธอ “นุ่ม” และ“ใส” เพื่อนโกรธไม่ลง

ในปีหนึ่งอีกที่ทุกคนต้องเรียนวิชาห้องสมุด ของท่านอาจารย์สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ เรารู้จักจอห์น ดิวอี้ จัดหนังสือแบบไหน ค้นอย่างไร ก็มีประโยชน์ดีเมื่อไปศึกษาต่อ เมื่อถึงปีที่ 4 เป็นวิชาเอก ซึ่งมีเอกรุ่นแรกทางวิชาห้องสมุด ก็รุ่นเรา ปัจจุบันเรียกวิชา “สารสนเทศ” ขอบข่ายกว้างขวาง จบออกมาหางานทำได้อย่างดี

เรื่องที่เหลือเชื่อแต่ก็จริง... อักษรฯรุ่นกึ่งพุทธกาลต้องเรียนวิชา “วิทยาศาสตร์ทั่วไป” ทุกคนว่าง่าย เข้าแถว เดินอย่างน่ารักน่าเอ็นดูไปตึกวิทยาศาสตร์ ประโยคทอง “นางสาวอบอวน... อบ.ปม. ถูกไฟดูดตาย” ประโยคซึ่งอาจารย์ทองศุข พงศทัต พูดตลอดเวลา ท่านสอนสนุก เราเรียนกระทั่งเทคนิคการหาดวงดาว ท่านอาจารย์รวี ภาวิไลสอนเอง เวลาท่านสอน หน้าของท่านจะเชิดสายตาพุ่งสูงขึ้นไปเบื้องบน ดาวเด่นหลายดวง

นั่งอยู่แถวบนๆของ amphitheatre

ที่นี่มีประตูหลายบาน...

ในยุคนั้นใน พ.ศ. นั้นไม่มีที่ไหนเลยที่สอนภาษาต่างประเทศระดับสูงและหลากหลายภาษา

สำหรับปีหนึ่ง เราเจอแต่อาจารย์ชาวอังกฤษ อาจารย์มิสเตอร์ ปี และอาจารย์ สวอน ซึ่งหน้าตา แบบชาวอังกฤษหล่อน้อยกว่า David Cameron นิดหน่อย เป็นครั้งแรกที่ออกจากชั้นมัธยม มาเจออาจารย์ Native เลย แต่ทุกคนก็เอาตัวรอด... ชอบการสอนว่าวิชา “English Story” “American Story” มาก เพราะมีการเรียนนอกสถานที่ อาจารย์อเมริกันพาไปร้องเพลงที่ศูนย์กลางนักเรียนคริสเตียน สะพานหัวช้าง ร้องเพลง folklore ประทับใจยังนำไปสอนนักเรียนอีกด้วย

สิ่งที่ลืมไม่ลงคือตอนเรียนปี 3 เราโชคดีที่เราได้มีโอกาสเรียนกับพระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ซึ่งตอนเราอยู่ปี 1 ปี 2 เรานึกว่าท่านเป็นมหาราชาหนุ่มแห่งแคว้นใดแคว้นหนึ่งของมัธยมประเทศ

ท่านสอนบทละคร “Faust” และ Mcbeth โดยท่านเข้ามามีหนังสือเล่มเดียวของท่าน คือ บทละครแล้วท่านก็สนุกสนานกับลีลาการอ่านบทละคร เสียงสูง เสียงต่ำ เสียงกระซิบ มองเห็นภาพ Lady Mcbethคงจะทำอะไรไม่ดี เสียงกระซิบกระซาบ เสียงสูง เสียงต่ำ อะไรเกิดขึ้นหรือ...

ทำไมท่านอาจารย์ เดินขึ้นเดินลงจาก podium เพราะวีรกรรมของเพื่อนเรา สุมาลี  พิทยากร หรือ “เบื๊อก” ของเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ทั่วมหาวิทยาลัย

สุมาลี เพื่อนเราคุยอย่างภาคภูมิใจว่า “พระองค์เปรมทรงทราบดีว่า ในชั่วโมงของท่าน คือวิชา English drama” ของปีที่ 3 ท่านเลคเชอร์ในเวลาที่เหมาะสมอะไรเช่นนั้น คือบ่ายโมง หลังอาหารเที่ยง ท่านเสด็จลงมาจาก podium ทรงเลคเชอร์ตรงหน้าเบื๊อกพอดี เบื๊อกลืมตาตื่น พยายามจะจดข้อความที่ท่านสอน เมื่อเห็นว่าตื่นแล้ว ท่านก็เสด็จกลับขึ้นไปทรงยืนอยู่ที่เดิม แล้วเบื๊อกก็หลับต่อ...” เบื๊อกเล่า...

รุ่นเรามีคนเก่งภาษาอังกฤษหลายคน ภคศินี ศรีพิจารณ์  กนิษฐา กรรณสูต และอุบล รักษ์บำรุง ถึงได้บรรจุเป็นอาจารย์ภาษาอังกฤษของคณะเมื่อเรียนจบ สำหรับภาษาฝรั่งเศส ชั้นเรียนรวม เจอแต่อาจารย์เจ้าของภาษา มัดมัวแซล  เดอโบเว  มัดมัวแซล  เซอเม  เมอร์ซิเออร์  บาร์เก้ ท่านทูตวัฒนธรรมฝรั่งเศส แถมยังมีคุณพ่อบาทหลวงจากบ้านซาเวียร์มาสอนอีก “ไม่เก่งวันนี้ แล้วจะเก่งวันไหน”  การเรียนภาษาฝรั่งเศสมีเพื่อนรัก โกวิท สีตลายัน  ซึ่ง เยาวลักษณ์  หรูวรรธนะ  เล่าให้ฟังถึงวีรกรรมของโกวิท ไว้อย่างสนุกสนานว่า “ครั้งหนึ่งฉันซึ่งเรียนฝรั่งเศส กรุ๊ปเดียวกับโกวิท ซึ่งเจ้าตัวขาดเรียนเสมอ ฉันก็ตะล่อมว่า “เฮ้ ชั่วโมงนี้เรียนหน่อยนะ” โกวิทยิ้ม ไม่ตอบ ฉันพูดต่ออีกว่า คราวที่แล้วอาจารย์ถามว่า “Où est Kovite?” เงียบไม่มีเสียงตอบ อาจารย์จึงหันไปเขียนกระดานเป็นรูปหลุมฝังศพ ปักไม้กางเขน แล้วพูดว่า “Bon, Kovite est mort” ไม่ว่าฉันจะเกลี้ยกล่อมอย่างไร ก็ไม่ได้ผลแถมยังแหย่ฉันอีกว่า “ไม่เรียนร้อก ไปละ จะไปงานศพ” “ศพใคร?” ฉันถาม คำตอบคือ “ศพป้าอ้อง” ฉันได้สติร้องลั่นว่า “ไอ้บ้าไปเลยไป๊”

“ ขออโหสินะเพื่อนที่เอานายมาขายในข้อเขียนนี้ ” โกวิท สีตลายัน จากพวกเราไปหลายปีแล้ว เขาคือนักหนังสือพิมพ์ คอลัมนิสต์ “มังกรห้าเล็บ” “รามสูร” ถึงตอนเรียนเพื่อนขาดบ้างมาบ้าง แต่บางครั้งในข้อเขียนของเพื่อน สอดแทรกปรัชญา ความคมแหลมของนักปราชญ์ นักเขียนฝรั่งเศส และของโลกตะวันตกอยู่เนืองๆ

สุมาลี  พิทยากร สารภาพว่า “ฉันชอบเรียน วิชาฝรั่งเศสมาก” มีทูตวัฒธรรมฝรั่งเศสมาสอน เขาเปิดโลกทรรศน์เกี่ยวกับศิลปะและวรรณคดีของฝรั่งเศส “เมื่อฉันทำงาน ฉันได้ไปชมพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ได้อย่างมีความสุข อาทิเช่น ฉันหลงใหลในสิ่งเหล่านี้ ที่ Louvre , Jeu de Paume,งานของ Picasso และ Van Gogh”

การเรียนภาษาต่างประเทศ หลายๆ ภาษา เหมือนเปิด “ประตู” เปิด “หน้าต่าง” มองและเข้าใจโลกได้อย่างดี หรือ ใครจะเถียง...

ที่ตักศิลา...ภาษาและวัฒนธรรมไทย

ถึงจะมีภูมิปัญญาน้อยนิด แต่เราก็ทราบดีว่า ทำไมจึงต้องเรียนภาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาเขมร เพราะความเกี่ยวพันทางศาสนา ศิลปะ และวรรณคดี ในภาคพื้นของโลกซีกนี้ จะมีใครที่ไหนที่ได้เรียนกับ ขุน หลวง พระ พระยา เหมือนเรา เราได้เป็นศิษย์ของพระยาอนุมานราชธน ของคุณพระวรเวทย์พิศิษฐ์มหาฉ่ำ ทองคำวรรณ ประธานสภา มหาเกษมบุญศรี บางวัน พราหมณ์ ป ส ศาสตรี ในชุดพราหมณ์แห่งชมพูทวีป เดินอย่างสง่างามขึ้นเทวาลัยอย่างขลังและอลังการ จะมีใครในตอนนั้นลุกขึ้นอ่านวรรณคดีฉบับเต็ม เรื่องรามเกียรติ์ ขุนช้างขุนแผน อิเหนา ลิลิตพระลอ เยี่ยงพวกเราบ้าง

สำหรับภาษาบาลี ท่านมหาเกษมเตรียมพวกเรา เหมือนเตรียมเณรน้อย ภิกษุน้อย ไปสอบ “นักธรรมสนามหลวง”

ที่เทวาลัยแห่งนี้ คือตักศิลาแห่งภาษาและวัฒนธรรมเพื่อนเรา ปรานี ฬาพานิช เธอเก่งไม่เบา ได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์ภาควิชาภาษาไทย เธอเชี่ยวชาญสันสกฤต และไปได้ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ขอนำประโยคทองมาเล่าให้ฟัง...ใครที่ไม่เลือกวิชาเอกภาษาไทย จงจดจำไว้

“ที่นี่เป็นที่แห่งเดียวในโลก ที่สอนภาษาไทยถึงขั้นสูงสุด เธอคิดว่าเธอจะไปเรียนภาษาไทยกันที่ไหน...อเมริกาเรอะ...” อาจารย์ ม.ร.ว. ดวงใจ ชุมพล กล่าวให้เราคิด... “อาจารย์เน้นว่าการเรียนภาษาไทย บาลี สันสกฤต เขมร ใน “เทวาลัย” มีแห่งเดียวในโลกจริงๆ...”

ที่แห่งนี้ทำให้เข้าใจ...ฤาประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว. สุมนชาติ สวัสดิกุล สอนประวัติศาสตร์ไทย โดยสอดแทรกสังคมวิทยา ทุกคนตื่นเต้นกับการเรียนประวัติศาสตร์ยุคโบราณ “ลุ่มน้ำไทกรีส ยูเฟรติส” ของอาจารย์ ม.ร.ว. แสงโสม เกษมศรี ประวัติศาสตร์ยุโรปกับปรมาจารย์ รอง ศยามานนท์ ผู้โยงศักราชได้อย่างแม่นยำ เรารู้จัก “สงครามครูเสด” “สงครามนโปเลียน” “สงครามโลก...” อาจารย์วิลาศวงศ์ สอนประวัติศาสตร์อเมริกัน เหมือนเหตุการณ์เกิดเมื่อวันวาน ทางด้านภูมิศาสตร์นั้น เราทำ Map Projection ผู้สอนเป็นปรมาจารย์จาก “กรมแผนที่ทหารบก” การเปลี่ยนแปลงของผิวโลก จากหนุ่มน้อยจากเคมบริดจ์ อาจารย์ไพฑรูย์พงศะบุตร รุ่นเรามีคนเก่ง ได้บรรจุเป็นอาจารย์ภูมิศาสตร์ของคณะ ผู้นั้นคือ พรศุภศรี จามรมาน (ศุภชลาศัย) ถึงทุกวันนี้แต่ละวันที่ดูข่าวฟังข่าวได้แต่ถามตัวเองว่า “ฤาประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย” (History repeats itself…)

ใครที่มิได้เรียนวิชาเอกประวัติศาสตร์ ก็คิดออกกันทั้งนั้น

ที่ประจักษ์

หลังจากที่เรียนจบ  ต่างก็แยกย้ายไปประกอบอาชีพ เราเข้ามาเรียนในสถาบันแห่งนี้ ถ้าเราไม่เล่า เรื่องนี้ แล้วเราจะเล่าอะไร เราไม่มีโอกาส “ฝันร้าย” ไม่มีโอกาสที่จะทำให้ “เวลาเป็นของไร้ค่า” เรา “ตักตวง” ความรู้ “ความสนุกสนาน” เราเข้าใจถึง คำ “มิตรภาพ”

เราสำนึกบุญคุณของพระองค์ ผู้ทรงวางรากฐาน “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เราสำนึกบุญคุณของปรมาจารย์ทุกท่าน เราภูมิใจที่คณะของเราพัฒนาไปไม่หยุดยั้ง สร้างบุคลากรทางมนุษยศาสตร์ และสังคมศาตร์ให้แก่ประเทศและแก่โลก

เราเดินทางจาก “เทวาลัย” พร้อมด้วยกระเป๋าเดินทางใบใหญ่ บรรจุ “Golden Tresuries” เราเดินทางไปบ้านเล็กบ้าง กลางบ้าง ใหญ่บ้าง เราตกแต่งบ้านเรา ทำบ้านให้น่าอยู่ เราสร้างคน เราอบรมคน

หน่วยของสังคม ของบ้าน เราทำหน้าที่ของเราต่อสังคม และประเทศชาติตามสายงานอาชีพ

เราเรียนศาสตร์ที่ใครๆ เขาบอกว่า “มิใช่วิชาชีพ” แต่เรามี “กลยุทธ์” รู้จักปรับ รู้จักเปลี่ยน อย่างที่เราได้ทำมา นามของเพื่อนเหล่านี้เป็นที่ประจักษ์

 อรุณ งามดี  อดีตอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์

 สมศักดิ์ ศรีวรรธนะ  อดีตผู้ว่าราชการหลายจังหวัด

 สุริย์ ด่านสวัสดิ์    ผู้บริหารธนาคารระดับสูง 

ชัชสรี บุนนาค  รองผู้ว่าการเคหะฯ

สายจิต เหมินทร์ วันเพ็ญ สุรฤกษ์ และ นวลศิริ วงศ์ทางสวัสดิ์ เป็นศาสตราจารย์ ทั้ง 3 ท่าน ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ยุพา  บัวธรา   ผู้บริหารระดับสูง ของเครือซิเมนต์ไทย

ศรีศักร วัลลิโภดม  ผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดี

โกวิท  สีตลายัน คอลัมนิสต์ชื่อดังและสุมาลี พิทยากร ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ที่ใช้วิชา “ อักษรศาสตร์ ”ทำมาหากินจนกระทั่งอายุจะเข้าแปดสิบแล้ว...   

กลับขึ้นด้านบน

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University