เรื่องเล่าของนิสิตเก่า รุ่น 28

เรื่องเลาของ อบ.28

เรื่องเล่าของรุ่น  28

กลอนสดุดี อักษรรุ่น 28 

      มีหมู่ดาวพราวพร่างกระจ่างฟ้า     

คืออักษรารุ่นสองแปดที่สาดแสง

ผลงานดีมีประโยชน์โชติช่วงแรง

ประจักษ์แจ้งแผ่กว้างต่างทางทิศ  

     คือเทวาลัยใช่แน่ที่เพาะบ่ม

ฝึกอบรมผองเราประทับจิต

ขอวันทาพระคุณคุณครูผู้อุทิศ

สั่งสอนศิษย์ให้เก่งกาจฉลาดดี   

     เทวาลัยแห่งนี้ที่ยิ่งใหญ่

ศิษย์จบไปได้ทำงานเป็นศักดิ์ศรี

เคี่ยวกรำศิษย์ด้วยศาสตร์ศิลป์อันมากมี   

พวกเรานี้ขอชูเชิด เทิดพระคุณ 

  โดย ศ.เกียรติคุณ ดร.ศรีเรือน แก้วกังวาล

 

พวกเรารุ่น 28 มีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้นั่งเรียนในตึกเทวาลัยที่สวยสง่าเป็น landmark ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นลูกที่เข้าไปเรียนในปี 2538  ต้องย้ายไปเรียนที่ตึกสยามบรมราชกุมารีแล้ว ห้องเรียนที่ตึกเทวาลัยกว้างใหญ่ เพดานสูง ประตูกว้าง  ทำให้ห้องเรียนสว่าง  ลมพัดเย็นสบายโดยไม่มีแอร์  เรานั่งเรียนตามลำดับตัวอักษรอย่างมีความสุข                                                                                                                            

การเรียนในคณะอักษรศาสตร์เมื่อ 50 กว่าปีที่พวกเราเรียน แตกต่างจากรุ่นปัจจุบันมาก  ยุคนั้น ไม่มีการลงทะเบียนเรียนวิชาที่เรียนประกอบด้วยวิชาภาษาไทย ภาษาตะวันตก มีแค่ภาษาอังกฤษกับภาษาฝรั่งเศส

ภาษาตะวันออก ได้แก่ ภาษาบาลี สันสกฤต ภาษาเขมร   สังคมศึกษา ได้แก่  ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์    

วิชาบรรณารักษ์ ซึ่งเป็นวิชาใหม่ในยุคนั้น  ภาษาอังกฤษเป็นวิชาหลักที่การเรียนเข้มข้นตั้งแต่ปี 1 สำหรับทุกคนทั้งทางด้านภาษา วรรณคดี และ คำประพันธ์  ในช่วงแรกๆ ยังมีการเรียนวิชาคณิตศาสตร์สำหรับพวกสายศิลป์หรือสายวิทยาศาสตร์ทีเลือกสอบเข้าด้วยวิชาคณิตศาสตร์ ส่วนใหญ่นักเรียนจะเลือกภาษาฝรั่งเศสเป็นวิชาหลักในการสอบเข้า   ปี1 ปี 2 จึงมีผู้เรียนภาษาฝรั่งเศสเป็นจำนวนมาก  แต่พอขึ้นปี 3 จำนวนผู้เลือกเรียนภาษาฝรั่งเศสก็จะลดลงมาก พอถึงปี 4 เหลือผู้เลือกเป็นวิชาเอกเพียงสิบกว่าคน  ผู้ที่สอบเข้าด้วยคณิตศาสตร์ มีจำนวนไม่มาก เป็น”ชนกลุ่มน้อย”   ก็จะเรียนคณิตศาสตร์ต่อไปทุกปีจนถึงปีที่ 4 เรียนเป็นวิชาเอก  จริยศึกษา พวกเราต้องเรียนวิชาธรรมวิภาค วิชาเหล่านี้ ทำให้พวกที่เรียนอักษรศาสตร์เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ใช้ภาษาอังกฤษ และหรือ ภาษาฝรั่งเศส ตักตวงความรู้ด้านต่างๆ ได้รับการอบรมบ่มนิสัยจากวิชาธรรมวิภาค ทำให้เป็นคนที่พร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรม   

การเรียนในมหาวิทยาลัยแตกต่างจากการเรียนในระดับมัธยมศึกษาอย่างมาก การเรียนภาษาต่างประเทศ ทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ผู้สอนจะสอนโดยไม่พูดภาษาไทยเลย ขอเล่าเรื่องเกี่ยวกับการเรียนภาษาฝรั่งเศสในปี1 นิสิตส่วนใหญ่จะฟังเล็กเชอร์ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วรรณคดี ฝรั่งเศสไม่เข้าใจเลย เพราะเรียนในมัธยมมาแบบอ่าน-แปล ไวยากรณ์ อาจารย์คุณหญิง มรว.ดวงใจ(จิตรพงศ์) ชุมพล เป็นผู้สอนพูดปี 1 ท่านพูดภาษาฝรั่งเศสเพราะมาก เหมือนเจ้าของภาษาทีเดียว ท่านนำเพลง chansons folkloriques มาให้ร้อง สอนสนุก ทั้งร้อง เต้น ทำท่าประกอบ ทำให้ได้เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมฝรั่งเศสไปพร้อมกับพูด จดจำสำนวนจากเพลงไปใช้ได้ง่าย ศาสตราจารย์คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร สอนวรรณคดีฝรั่งเศส เป็นชั่วโมงที่ไม่ค่อยมีคนขาดเรียน การสอนของท่านทำให้เราอยากเรียน อยากรู้ วรรณคดีฝรั่งเศสมากขึ้น คุณพ่อบาทหลวงคณะ Jésuite Père Bonningue สอนประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส ท่านไม่พูดภาษาไทยเลย แต่ท่านจะทำตาโต ชี้นิ้วไปที่คนตอบผิดว่า“โต๊..ก..ละ”(ตกละ) ก่อนมาอยู่ประเทศไทย ท่านอยู่ประเทศจีนที่กลายเป็นคอมมิวนิสต์ แล้วจับท่านไปไถนาแทนควาย  พวกเรารักท่านมากๆ ท่านใจดี ได้คะแนนเต็มวิชานี้ไม่ยาก ผู้ที่เรียนวิชาเอกภาษาฝรั่งเศสปี 4 มีอยู่ 12 คน มีฉายาว่า”นางสิบสอง”ก็จะได้เรียนกับอาจารย์ใหญ่ๆมีชื่อเสียง เช่น อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ผู้เขียนพจนานุกรมฝรั่งเศส-อังกฤษ-ไทย  คุณพระเรี่ยมวิรัชชพากย์  อีกท่านหนึ่งที่สำคัญมากคือ หม่อมเจ้าขจรจบกิตติคุณ กิตติยากร  พวกที่เรียนปริญญาโท ก็จะได้เรียนกับ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเปรมบูรฉัตร ท่านรู้ลึกทางด้านวรรณคดี พวกเราภูมิใจที่ได้เป็นศิษย์ของท่าน รวมถึงอาจารย์ท่านอื่นๆ เช่น ศาสตราจารย์คุณหญิงเกื้อกูล เสถียรไทย อาจารย์กรรติกา ณ สงขลา  ดร.วรรณี จันทราทิพย์ พวกเราได้เติบโต งอกงาม นำความรู้ภาษาฝรั่งเศสไปใช้ในการทำงาน และรับใช้ประเทศชาติ  ด้วยความระลึกถึงพระคุณของทุกท่าน

คณาจารย์ในคณะอักษรศาสตร์ ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ตั้งใจสอน สอนสนุก สอนให้นักศึกษารู้จักคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ รู้จักวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเกี่ยวกับสังคมและมนุษย์อย่างมีเหตุผลจากนานาวิชาที่เรียน ทั้งวิชาภาษา วรรณคดี    ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ โบราณคดีและศิลปะ ซึ่งสมัยนั้นเราต้องเรียนวิชาในกลุ่มเหล่านี้ในชั้นปีที่ 1 และ ปีที่ 2  แล้วมาเลือกเรียนเฉพาะกลุ่มวิชาที่ตนสนใจพิเศษในปี 3  ปี 4     จึงเป็นการเรียนอย่างซึมซับ ทำให้เราเอามาใช้ในชีวิตจริงได้เมื่อจบออกไป                               

อาจารย์ที่ประทับใจที่มีหลายท่าน จะกล่าวถึงสัก 3 ท่าน ท่านแรกคือศาสตราจารย์วิลาสวงศ์ พงศะบุตร (นพรัตน์) ท่านสอนประวัติศาสตร์อเมริกันสนุกมาก ท่านสอนโดยวิธีการวิเคราะห์ วิพากษ์เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์อเมริกาอย่างเป็นเหตุเป็นผล นิสิตจะตั้งตาคอยให้ถึงชั่วโมงอาจารย์ และฟังอาจารย์บรรยายอย่างตั้งใจและรู้สึกสนุกกับวิชาประวัติศาสตร์ ทำให้เข้าใจความหมายของประวัติศาสตร์ซึ่งครอบคลุมหลายมิติทั้งการเมือง สังคมและบุคคล วรรคทองของอาจารย์ก็คือ “History repeats itself”  ความรู้จากอาจารย์เพิ่มพูนสมรรถภาพให้นิสิตรู้จักวิเคราะห์ วิจารณ์ ซึ่งเป็นฐานความรู้สำคัญ ที่สามารถนำมาใช้ทั้งในชีวิตส่วนตัวและชีวิตการงาน                            

ท่านที่สองที่ประทับใจมาก คือศาสตราจารย์ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล  ซึ่งสอนวิชาโบราณคดี ความรู้จากท่านเป็นฐานแนวคิดด้านศิลปะยุคโบราณและร่วมสมัย ทำให้เมื่อไปท่องเที่ยว ชมศิลปะของนานาชาติ ทั้งเอเซียและยุโรป ได้อย่างสนุกและเพลิด เป็นความรู้ที่ไม่สูญหาย ติดตัวติดใจตลอดไป

และท่านที่สามคือศาสตราจารย์หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ ผู้สอนวิชาแปล หลักการแปลของท่านและวิธีสอนของท่านทำให้นิสิตรู้สึกสนุกกับการเลือกคำและการแปลงคำจากภาษาหนึ่งไปยังอีกภาษาหนึ่ง ซึ่งท้าทายสมรรถภาพในการสื่อความหมาย ความรู้จากท่านทำให้นิสิตหลายคนเป็นนักแปลและผู้สอนวิชาแปล   เราภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นศิษย์ของท่านอาจารย์ ความเป็นครูที่ดีของท่าน ในโอกาสชาตกาล 100 ปี ในปี 2555  หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ์ ได้รับเกียรติยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของยูเนสโกในฐานะนักเขียนและครู ความประทับใจในท่านอาจารย์ต่างๆ ทำให้การเรียนที่คณะอักษรศาสตร์เป็นเรื่องสนุก   เมื่อถึงยามสูงวัย ก็รู้สึกว่าโชคดีที่เราได้เรียนที่คณะนี้    วิชาต่างๆ ที่เรียน  สามารถนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตทั้งชีวิตส่วนตัวและการงาน

ตอนเรียนอังกฤษ 2 ในปี4 พวกเราประทับใจศาสตราจารย์สดใส พันธุมโกมล (วานิชวัฒนา) มาก อาจารย์เพิ่งเรียนจบปริญญาโทมาสอนพวกเรารุ่นแรก พวกเราได้ยินชื่อเสียงของอาจารย์ที่ไปประกวดมิสยูนิเวอร์สและได้รับรางวัล “มิตรภาพ” อาจารย์สอนร้องเพลง”เจ้าทุย” ที่แปลเป็นอังกฤษชื่อ "My Buffalo"  อาจารย์สอนด้วยเพลงที่อาจารย์แต่งเอง เช่น  CU Polka สอนวิธีร้องเพลงให้สนุก เช่นเพลง Magic Beams เพลง Wishing Ring ปีนั้นอาจารย์หมั้นกับหมอตรง พันธุมโกมล พออาจารย์เข้าสอน พวกเราก็ร้องเพลง Wishing Ring พร้อมกันให้ท่าน  อาจารย์ทำตัวเหมือนรุ่นพี่เอาใจใส่ดูแลช่วยเหลือตามที่ร้องขอ อีกท่านหนึ่งที่พวกเราโชคดีได้เรียนกับท่านคืออาจารย์ หม่อมราชวงศ์สุพิชชาโสณกุล ท่านสอนเก่ง ใจดี และน่ารักมาก เป็นช่วงหนึ่งที่มีความสุขมากๆ ในการเรียน และยังประทับใจมาจนถึงทุกวันนี้

วิชาบรรณารักษศาสตร์เป็นวิชาใหม่ ที่ให้เราเลือกเรียนเป็นวิชาเอกตอนปี 3 และปี 4   ชั่วโมงเรียนส่วนใหญ่เรามักจะได้ไปเรียนกันที่ตึกหอสมุดกลางที่เป็นส่วนหนึ่งของ “เทวาลัย” ทำให้เราคุ้นเคยกับบรรยากาศหอสมุดอันขลังและศักดิ์สิทธิ์ ผู้ประสิทธิ์ประศาสน์วิชาการให้แก่เรา ล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศทางด้านหนังสือ และเนื่องจากวิชานี้ยังไม่แพร่หลายนักในประเทศไทย อาจารย์หลายๆท่านจึงมิใช่อาจารย์ประจำของคณะฯ แต่ได้กรุณาสละเวลามาสอนพวกเรา เรายังจำได้ดีถึงภาพที่อาจารย์กำธร สถิรกุล ผู้สอนวิชาการพิมพ์ รีบเร่งลงจากรถที่นำท่านมาจากโรงพิมพ์คุรุสภาเพื่อมาให้ทันชั่วโมงสอนอย่างตรงเวลาและไม่เคยขาด อาจารย์อุทัย ทุติยโพธิ์ ที่มาไกลจากห้องสมุดศิริราช ท่านใจดีมาก ตอนใกล้ปีใหม่ ท่านนำฟรุทเค้กกระป๋องใหญ่ซึ่งเป็นของแปลกใหม่ในยุคนั้น มาให้พวกเราได้ฉลองกันอย่างเอร็ดอร่อยและสนุกสนานเป็นที่ประทับใจ ส่วนอาจารย์ใหญ่ของเราคือศาสตราจารย์กิตติคุณ สุทธิลักษณ์ อำพันวงศ์ ผู้เป็นทั้งบรรณารักษ์หอสมุดกลางและเป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งภาควิชานี้ขึ้นมา เราได้เรียนวิชาแปลกๆใหม่ๆ เช่น วิชาเกี่ยวกับหนังสืออ้างอิงที่อาจารย์จารุวรรณ (ชาลิโต) สินธุโสภณ สอน ทำให้เรารู้จักพลิกแพลงค้นหาข้อมูลที่ต้องการจากหนังสือต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว จนแม้กระทั่งทุกวันนี้ ในวัยสุกงอมกว่าเจ็ดสิบปี เรายังสามารถใช้ประโยชน์จาก“กูเกิ้ล”ได้อย่างคล่องแคล่ว ด้วยพื้นความรู้เดิมที่เคยเรียนมาแล้วกว่าห้าสิบปี เราได้รู้จักการให้บริการของห้องสมุดชนิดต่างๆ ไม่เพียงแต่ห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดมหาวิทยาลัย ห้องสมุดสาธารณะ แต่ยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับห้องสมุดเด็กที่ยังไม่มีในประเทศไทยขณะนั้น ถึงกับมีชั่วโมง“เล่านิทาน” ที่เราทุกคนต้องผลัดกันออกไปเล่านิทานหน้าชั้น เป็นที่สนุกสนานครื้นเครง เพราะแต่ละคนพยายามงัดไม้เด็ดมาประกอบการเล่าเพื่อให้น่าสนใจ

พวกชนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มคณิตศาสตร์ ปี 1 ในรุ่น 28 มีเพียง 10 คน พวกเรามีความยุ่งยากในการเรียนพอสมควรเนื่องจากห้องเรียนในตึกเทวาลัยไม่เพียงพอ และมีปัญหาด้านผู้สอน เนื่องจากอาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ไม่สามารถมาสอนได้ ต้องให้นิสิตเดินจากคณะอักษรศาสตร์ไปรียนที่ตึกคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นตึกเล็กๆระหว่างตึกใหญ่ของคณะวิทยาศาสตร์ กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ พวกเราก็ไม่ประสงค์จะไปเรียนร่วมกับนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ที่เรียนคณิตศาสตร์เป็นวิชาหลัก ทำให้ปีต่อๆมา นิสิตกลุ่มอักษรศาสตร์คณิตศาสตร์เหลือรอดเพียง 6 คน  นอกจากปัญหาห้องเรียน  ยังมีปัญหาวิชาที่จะเลือกเรียนในปีที่สูงขึ้น พวกเราจึงเกาะกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น เลือกเรียนวิชาเดียวกันตลอด 4 ปี  ปีที่ 3 เป็นปีที่ต้องเลือกเรียน 3 วิชาหลัก พวกเราจึงเลือกภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษซึ่งเป็นวิชาบังคับตลอดทั้งสี่ปี   พอขึ้นปี 4 กลุ่มคณิตศาสตร์ก็ยืนหยัดเลือกคณิตศาสตร์ต่ออีก และเลือกภาษาอังกฤษ 2 ซึ่งเข้มข้นยิ่งขึ้น แม้อาจารย์จะขอร้องให้เลิกเรียนคณิตศาสตร์พวกเราก็ไม่ยอม  พวกเราไปขอร้องอาจารย์คณิตศาสตร์ของคณะวิทยาศาสตร์ให้หาห้องเรียนให้   อาจารย์บางท่านก็กรุณาเดินทางมาสอนเราที่ตึกเทวาลัย สรุปก็คือ พวกเราทั้ง 6 คน จบหลักสูตรอักษรศาสตร์บัณฑิตสาขาคณิตศาสตร์ ควบคู่กับภาษาอังกฤษ 2  พร้อมกันในปี 2506  อย่างไรก็ดี น่าเสียดายมากที่ปัจจุบันนี้ไม่มีอักษรคณิตอีกต่อไปในคณะอักษรศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พวกเราประสบความสำเร็จก้าวหน้าในการงานอย่างดี เพราะโดยทั่วไป คนส่วนใหญ่จะเก่งภาษาต่างๆทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ แต่ไม่เก่งคณิตศาสตร์ คิดเลขไม่เป็นเลย จึงทำงานด้านธุรกิจไม่ได้ หรือทำได้ก็ไม่ดี  พวกที่เก่งทั้งภาษาอังกฤษ แล้วยังเก่งคณิตศาสตร์ด้วยจะมีภาษีเหนือกว่า ผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นหนึ่งในรุ่น 28 ที่ได้ดำรงตำแหน่งสูงที่สุดในรุ่น และเป็นตำแหน่งระดับสูงมากของประเทศ   เป็นหนึ่งในหกของกลุ่มผู้เรียนคณิตศาสตร์ กล่าวว่า เธอใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ที่สำนักงบประมาณรับผิดชอบเรื่องรายรับทั้งหมดของประเทศ ประมาณการล่วงหน้าทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อเป็นตัวกำหนดรายจ่ายภาครัฐในแต่ละปีว่าควรเป็นเท่าใด ได้ใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์อย่างเต็มที่  ต่อมาเป็นนักวิจัยก็ยังคงใช้คณิตศาสตร์มากเช่นกัน       ลำดวน ภวัครานนท์ เป็นอักษรคณิตอีกคนหนึ่ง ทำงานที่สภาพัฒน์ เกี่ยวข้องกับตัวเลข ได้ทุนเรียนต่อทางเศรษฐศาสตร์กำลังคน ดูแลการวางแผนกำลังคนของประเทศเป็นหลัก ดังนั้นการเรียนคณิตศาสตร์จากคณะอักษรศาสตร์ จึงช่วยให้ได้ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศอย่างเอนกอนันต์ ส่วนวิชาภาษาไทย บาลี สันสกฤต เขมร ที่ได้จากการเรียนอักษรศาสตร์ เป็นพื้นฐานสำคัญในการทำงาน เช่น การยกร่างระเบียบต่างๆที่ใช้ในการปฏิบัติราชการ โดยเฉพาะระเบียบสารบรรณ ภาษาอังกฤษได้ใช้ในการไปประชุมต่างประเทศ ต้องกล่าวสุนทรพจน์ รวมทั้งการทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม การที่ใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว ทำให้ผานิตได้รับเลือกเป็นประธานผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งเอเซียและกรรมการบริหารผู้ตรวจการแผ่นดินนานาชาติอีกด้วย เธอกล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า “ความรู้ภาษาอังกฤษที่ได้มาจากคณะอักษรศาสตร์ช่วยได้เต็มที่ เป็นบุญอย่างยิ่งที่ตัดสินใจเลือกเรียนคณะอักษรศาสตร์  ทั้งๆที่จบมาจากสายวิทยาศาสตร์”

กว่า 50 ปีแล้วที่จบจากคณะอักษรศาสตร์ แต่ยังรู้สึกเหมือนจากมาไม่นาน เพราะในทุกช่วงชีวิต ไม่ว่าวัยทำงานจนถึงหลังเกษียณอายุราชการ ได้พึ่งพาและภาคภูมิใจในความรู้ที่คณะอักษรศาสตร์ประสิทธิ์ประสาทให้อยู่ตลอดมา  กล่าวได้ว่า ชาวอักษรได้รับการอบรมให้มีชีวิตอย่างประเสริฐ  ตระหนักในคุณค่าวัฒนธรรมและผืนแผ่นดินไทย  รวมทั้งมีความเข้าใจในสังคมและมวลมนุษยชาติ ทั้งนี้โดยผ่านกระบวนการการศึกษาวิชาต่างๆ ด้านภาษา วรรณคดี ภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์ เป็นพื้นฐานสำคัญ  วิชาหนึ่งที่ควรกล่าวถึงคือ  วิชาธรรมวิภาค  เป็นหลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่ทุกคนต้องเรียนในปี 1  สอนโดยอาจารย์พิเศษคืออาจารย์มหาเกษม  บุญศรี  ท่านอาจารย์เคยบวชเรียนและมีความรู้ลึกซึ้งในพระพุทธศาสนา ถึงจะลาสิกขาบทแล้วทุกคนก็ยังเรียกท่านว่ามหาเกษม เราได้ฟังการบรรยายหลักธรรมที่ลึกซึ้ง ต่างไปจากที่เคยเรียนในชั้นมัธยม แม้จะเป็นหลักธรรมเดียวกัน เช่น อริยสัจ 4 เป็นต้น อาจารย์มีความสามารถพูดโน้มน้าวให้ลูกศิษย์ซาบซึ้งในหลักธรรมและนำไปพัฒนาจิตพัฒนาตนต่อไป  จำได้ว่าครั้งที่อาจารย์บรรยายเกี่ยวกับพระคุณแม่ เพื่อนเราคนหนึ่งต้องวิ่งออกจากห้องไปร้องไห้นอกห้อง ผู้ที่สนใจวิชาธรรมวิภาค จะรู้สึกสนุกเมื่อนำไปเชื่อมโยงกับการเรียนภาษาบาลี ซึ่งเป็นวิชาบังคับที่ทุกคนต้องเรียน อย่างไรก็ตาม วิชาธรรมวิภาคก็ทำให้หลายคนหนักใจและเรียกวิชานี้ใหม่ว่า ธรรมวิบาก

อีกกลุ่มวิชาหนึ่งที่ทำให้คิดถึงคณะอักษรศาสตร์อยู่ทุกวันคือ วิชาภูมิศาสตร์ ทางคณะกำหนดให้ผู้ที่เลือกเรียนวิชาภูมิศาสตร์จนถึงปี 4  นั้น ต้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์ควบคู่ไปด้วย รุ่น 28 มีผู้เรียนภูมิศาสตร์-ประวัติศาสตร์ ประมาณ 15 คน ผู้สอนเป็นอาจารย์ประจำในคณะ 2 ท่าน คือ ศาสตราจารย์ไพฑูรย์ พงศะบุตร และ ศาสตราจารย์รัชนีกร บุญ-หลง   อาจารย์พิเศษ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์สูงในสาขาที่ท่านสอน เราได้รับรู้อุปสรรคและปัญหาในการปักปันเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน  ปัญหาการบุกรุกทำลายป่าและแหล่งต้นน้ำลำธาร จากวิชาภูมิศาสตร์ประเทศไทยที่สอนโดยอาจารย์ พันเอกพูนพล อาสนจินดา ท่านถ่ายทอดประสบการณ์ตรงของท่าน  ปัญหาที่เรารับรู้เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ก็ยังเกิดอยู่และรุนแรงจนถึงขณะนี้  เราสามารถเชื่อมโยงวิชานี้ไปยังวิชาการสำรวจและการทำแผนที่ของอาจารย์พันเอกบัลลังก์ ขมะสุนทร  และวิชาภูมิศาสตร์การเมืองจากอาจารย์สวาท เสนาณรงค์ ได้เป็นอย่างดี ทุกวันนี้เมื่อมีข่าวปัญหาลมฟ้าอากาศแปรปรวนไปทั่วโลก  หรือข่าวแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด  แผ่นดินทรุด หรือปัญหาการขุดแร่ เหล่านี้ กลายเป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย ด้วยพื้นฐานความรู้ในวิชาอุตุนิยมวิทยาสอนโดยอาจารย์นาวาเอกประเสริฐ สุนทโรทก จากกรมอุตุนิยมวิทยา   สำหรับวิชาธรณีวิทยา สอนโดยอาจารย์สมภพ  จันทรประภา   พวกเราระลึกถึงท่านมากเป็นพิเศษ ท่านกล่าวกับพวกเราว่า ท่านยินดีมาสอนที่คณะอักษรศาสตร์อย่างยิ่ง เพราะทำให้ท่านได้มาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้มาเห็นคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ท่านเป็นศิษย์เก่า  ห้องเรียนของเราอยู่ทางด้านคณะวิศวะฯ  ก่อนเข้าสอนสักครู่หนึ่ง อาจารย์สมภพจะยืนที่ระเบียงหน้าห้อง มองนิ่งที่ตึกวิศวะฯ ตอนนั้นพวกเราขำกัน  นึกสงสัยว่าทำไมอาจารย์จึงรักคณะวิศวะเป็นนักหนา ตอนนี้เรารู้ซึ้งแล้ว 50 กว่าปีที่จากมา เราไม่เคยลืมคณะอักษรศาสตร์เลย วิชาความรู้อันลึกซึ้งหลากหลายจากเทวาลัย หล่อหลอมอยู่ในเลือดเนื้อวิญญาน ความรัก ความปรารถนาดีจากครูอาจารย์ เป็นพลังให้เราก้าวไปข้างหน้า นำวิชาความรู้มาพัฒนาตน พร้อมกับทำประโยชน์แก่สังคม ประเทศชาติ และมวลมนุษยชาติ ตามอย่างไม่แพ้รุ่นพี่ที่นำทางไว้ และเป็นตัวอย่างแก่รุ่นน้องต่อไป

การเรียนภูมิศาสตร์ควบคู่กับประวัติศาสตร์ทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับแผ่นดินถิ่นอาศัย  เป็นสื่อให้เข้าใจความเป็นอยู่ของชนชาติในภูมิภาคต่างๆของโลก ที่สำคัญคือคนในบ้านเมืองของเรา  ศาสตราจารย์หม่อมราชวงค์สุมนชาติ  สวัสดิกุล ได้เปิดโลกทัศน์การศึกษาประวัติศาสตร์ไทย วิธีการสอนของท่าน มีทั้งการบรรยายและทัศนศึกษาสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ ทำให้เราสนใจในการคิดวิเคราะห์และกระตือรือล้นที่จะค้นคว้าเพิ่มเติม ความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในประวัติศาสตร์เป็นผลให้เพิ่มพูนความรัก ความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทย  ตระหนักในความเสียสละของบูรพกษัตริย์และบรรพชนที่บำรุงรักษาบ้านเมืองไว้ให้เราอยู่อย่างเป็นสุข  พร้อมกับเกิดความกตัญญู คิดสนองคุณแผ่นดินต่อไป  ศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์ สอนประวัติศาสตร์เอเซีย ทำให้เรารู้จักและเข้าใจมิตรประเทศในเอเซีย อาจารย์บรรยายด้วยหน้าตายิ้มแย้มอย่างมีความสุข  ทำให้เราเรียนอย่างมีความสุขไปด้วย ถึงแม้ว่าจะต้องตั้งสติในการจดเลคเชอร์มากหน่อยก็ตาม    ความรู้จากประวัติศาสตร์เอเซียเป็นพื้นฐานอย่างดีให้กับวิชาโบราณคดีที่ท่านศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล สอนในปี 3 เราสนุกกับความรู้ทางโบราณคดี เกี่ยวกับพระพุทธรูป พุทธสถานในเมืองไทย ศาสนาสถานในกัมพูชา เช่นนครวัด นครธม ในอินเดียเช่น สถูปเมืองสาญจี  คู่มือการเรียนของท่านคือภาพขาว-ดำของสถานที่ต่างๆที่ท่านสอน ภาพเหล่านี้ต้องเก็บไว้ทบทวนบ่อยๆ เพราะจะปรากฎในข้อสอบ  ช่วงการสอนที่เราชอบมากคือชั่วโมงที่ท่านฉายสไลด์ ต้องปิดไฟมืด เมื่อจบการบรรยายเราต้องรีบปลุกเพื่อนบางคนก่อนไฟสว่าง ทำให้การเรียนมีสีสันบันเทิงดีไม่น้อย   เมื่ออยู่ปีที่ 4 มีข่าวสะเทือนโลกคือ ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคเนดี้ ถูกลอบยิงตาย จำได้ว่าพวกเราไปรุมล้อมศาสตราจารย์วิลาศวงศ์ พงศะบุตร (นพรัตน์)  ขอให้ท่านวิเคราะห์ในฐานะที่ท่านสอนประวัติศาสตร์อเมริกา ในชั่วโมงเรียน อาจารย์มีลีลาการบรรยายที่คล่องแคล่วฉับไว เราตื่นตาตื่นใจ เห็นภาพอเมริกาเป็นฉากๆ จุดประกายให้เราอยากไปอเมริกากันมาก

การสอนของอาจารย์ในคณะอักษรศาสตร์ไม่เพียงแต่ให้ความรู้ในเนื้อหาวิชาต่างๆเท่านั้น แต่ยังให้ข้อคิดในการดำเนินชีวิตด้วย ตัวอย่างเรื่องที่ยังจำได้แม่นคือ เมื่ออาจารย์ชาวอังกฤษ Mr.Smithies มาสอนวิชาหนึ่ง ไม่ทราบว่าท่านมาจากภาคไหนของประเทศอังกฤษ ท่านออกเสียงในลำคอ พวกเราฟังไม่ออก จดเลคเชอร์ลำบาก วิชานี้เห็นทีว่าจะไม่รอด ไม่ทราบว่าใครเป็นต้นคิด ส่งตัวแทนไปร้องเรียนศาสตราจารย์คุณหญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ในฐานะหัวหน้าแผนกภาษาอังกฤษเพื่อขอเปลี่ยนอาจารย์ผู้สอน คุณหญิงท่านจึงเรียกประชุมนิสิต ท่านกล่าวเป็นภาษาอังกฤษใจความว่า “ถ้าผลไม้อยู่บนยอดสูง เอื้อมเด็ดก็ไม่ถึง ก็ควรเขย่งหรือกระโดด ก็จะเก็บผลไม้ได้”  สรุปก็คือว่าไม่เปลี่ยนผู้สอน เมื่อท่านไม่เปลี่ยน พวกเราก็ต้องเขย่ง กระโดดกัน ช่วยเหลือกัน ในที่สุดเราก็ผ่านวิชานั้นมาได้

เรามีบุญที่ได้เป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์  

เรารักคณะอักษรศาสตร์มากมายจริงๆ

กราบขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านเป็นอย่างสูง จุฬาฯ ของเรา

และคณะอักษรศาสตร์ของเรา ให้เราทุกอย่าง

  " อักษรศาสตร์รุ่น 28"

กลับขึ้นด้านบน

ถึงเพื่อนๆ กระยาทิพย์ ประภาวัต

ถึงเพื่อนๆจุฬา ที่รักทุกคนและทุกวัย.. 
          
          ชีวิตพลิกผัน จากแต่ก่อน ที่เป็นพุทธตามในทะเบียนบ้าน ค่อนข้างจะมีมิจฉาทิฐิ เพราะไม่(ปักใจ) เชื่อเรื่องสวรรค์นรก และการเวียนว่ายตายเกิด คงจะเป็นจิตที่ตั้งไว้ดีแล้วในกาลก่อน หรือที่เรียกว่า (ปุพเพกตปุญญตา) ทำให้ได้ศึกษาพระพุทธศาสนา ด้วยการอ่านพระไตรปิฎก ได้อาศัยกัลยาณมิตร คือครูบาอาจารย์ ที่แนะนำ พร่ำสอนตักเตือน ทั้งที่เป็นพระภิกษุและฆราวาส ได้เจริญไตรสิกขา คือทาน ศีล ภาวนา ตามคำสั่งสอนของ ครูบาอาจารย์ที่เป็น บัณฑิตมาได้ระยะหนึ่ง ได้ความเข้าใจมากขึ้น จนกล้าทำตัวสวนกระแสสังคมของชาวโลก มั่นใจว่า นี่เป็นหนทางที่ถูกต้องแล้ว เป็นอริยมรรคมีองค์ 8 ที่พระพุทธองค์ ทรงวางไว้ ให้พวกเรา ดำเนินรอยตาม เพื่อการตรัสรู้อริยสัจ 4 ที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว หลังการบำเพ็ญบารมีมาช้านาน เริ่มเข้าใจถึงทุกข์ของการเวียนว่ายตายเกิด ทั้งทุกข์ที่ชาวโลกเข้าใจและทุกขอริยสัจ
           จึงอยากจะบอกเพื่อนๆว่า อย่ามัวเมาประมาทอยู่เลย เรามีบุญนักหนาแล้ว ที่ชาตินี้ ได้เกิดเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา ชาติต่อๆไป ยังไม่รู้ว่าจะมีบุญอย่างนี้อีกหรือเปล่า ลองใช้เวลาที่เหลืออยู่นี้ เข้ามาศึกษาธรรมะอย่างจริงจัง ด้วยความเคารพและศรัทธา... 
           ยินดีแนะนำผู้ที่อยากจะศึกษา แต่ไม่รู้จะไปทางไหนนะคะ ควรพิจารณา วัดหรือพระ ที่จะเข้าไปขอความรู้ มิฉะนั้นจะโดน ฟังพระสัทธรรมปฏิรูป พระก็จะเป็นพระ ที่ไม่ได้บวชเข้ามาเพื่อหวังพ้นทุกข์ เหมือนที่มีอยู่ดาษดื่นทั่วไป ก็จะกลายเป็นช่วยกันเหยียบย่ำทำลาย พระพุทธศาสนาของเรา ให้อันตรธานไปเร็วยิ่งขึ้นนะคะ.
          
         ด้วยความปรารถนาดีอย่างจริงใจ.
          กระยาทิพย์ ประภาวัต
  
 
  

กลับขึ้นด้านบน

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University