เรื่องเล่าของนิสิตเก่า รุ่น 32

รู้จักรุ่น 32 ของเรามั้ย

รู้จักรุ่น 32 ของเรามั้ย ? ”                                                                           

โดย       วิภา (ชุณหสวัสดิกุล) อุตมฉันท์              

วันก่อนประธานรุ่นส่งโพยมาทางไลน์พร้อมเมสเสจสั้น  ๆ..

“เขียน เรื่องเล่าของรุ่น ให้หน่อยซิ  จะเอาไปลงหนังสืออักษรศาสตร์ 100 ปี   รุ่นใครรุ่นมันเขียนเรื่องรุ่นของตัวเอง   อะไรก็ได้ไม่ต้องยาว  เร็วหน่อยก็ดีหนังสือจะออกต้นปีหน้า”

 โห..  ฟังดูเป็นงานใหญ่แต่จะเขียนออกมั้ยเนี่ย ?   จริงอยู่เคยเขียนเรื่องไปลงจดหมายข่าวของรุ่นบ้าง  แต่มันไม่เหมือนกันนะ  เขียนให้เพื่อนร่วมรุ่นอ่านอยากจะเขียนอะไรก็เขียน   เขียนดีหน่อยเพื่อนก็ชอบ  ตลกหน่อยเพื่อนก็หัวเราะ  ถ้าไม่ได้เรื่องเลยก็ไม่เห็นมีใครว่า  อย่างน้อยก็ช่วยสะกิดต่อมอารมณ์ดีให้คิดถึงเรื่องราวอดีตเมื่อ 50 ปีก่อน

แล้วนี่จะให้คนที่ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน   ซ้ำอายุยังห่างกันเกือบศตวรรษ  เอาเรื่องที่ต่างคนต่างประสบมาเล่าสู่กันฟัง   คิดแล้วมึนตึ้บ.. . จะหาจุดร่วมอะไรพอจะแชร์ให้กันฟังดีน้าาา ?

ตอนแรกมีความคิดว่าจะหาอะไรที่เป็น “เอกลักษณ์” ประจำรุ่น   แต่นึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก   เพราะมีแต่เรื่องดาด ๆ รุ่นไหน ๆ ก็มีเหมือนกัน  เช่น   หนุ่มอักษรที่ไม่ว่ารุ่นไหนก็หาทำยายาก   ปีนึงมีไม่เกินสิบคน...   หนุ่มวิศวะที่ชอบมาเหล่สาวอักษรฯจนแทบจะเดินชนกันตายแถวระเบียงกลาง...   บางหนุ่มอุตส่าห์พกสไลด์รูลมานั่งติดขอบสนามส่งเสียงเชียร์เฮ ๆ ลุ้นสาวอักษรฯให้ชู้ทลูกลงซักที...   เอ..หรือจะเอาเรื่องมือเหรียญทองมาคุยดีล่ะ ?  ก็ไม่เห็นเป็นเอกลักษณ์ที่ตรงไหน   สาวอักษรฯทุกรุ่นก็เก่ง ๆ กันทั้งนั้น..    

หา “เอกลักษณ์” ไม่เจอเลยไพล่ไปคิดถึงเรื่อง “อัตลักษณ์”   อัตลักษณ์ที่ว่านี้ฉันหมายถึงอะไรก็ได้ที่ทำให้เจ้าของอัตลักษณ์คนนั้นมีลักษณะพิเศษกว่าคนอื่น .. สวยโดดเด่นก็ได้..  แปลกอย่างโดดเด่นก็ดี..  แบบว่าถ้าเอ่ยถึงอัตลักษณ์คน ๆ นี้เมื่อไหร่..  “อ๋อ..พวกคุณรุ่นเดียวกันหรือ ?”  ตอบโจทย์ได้ทันทีเห็นมั้ย ?

อัตลักษณ์หาง่ายกว่าเอกลักษณ์ตั้งเยอะ   วิธีก็คือฉันจะคิดย้อนไปถึงเหตุการณ์ทุกครั้งที่บังเอิญได้พบใครคนหนึ่งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน  แต่คุยไปคุยมาก็รู้ว่าต่างก็เป็นอดีตสาวอักษรฯ   แล้วทั้งสองฝ่ายก็จะยิงคำถามใส่กันทันทีราวกับนัด..  “คุณอักษรฯรุ่นไหนล่ะ ?” 

ในเมื่อตัวเองไม่มีอัตลักษณ์พอจะทำให้คู่สนทนาจดจำรุ่นได้   ก็พยายามเฟ้นหาเพื่อนที่คิดว่าพอจะเป็นตัวแทน...   มาลองดูอัตลักษณ์ด้านความงามกันก่อนนะคะ..

 “ก็รุ่นที่มีนางนพมาศหน้าคมยังกับคลีโอพัตราไงล่ะ  เพื่อนสนิทฉันเองชื่อปาล์มจำได้ยังคะ ?”

 ตรงนี้บางคนก็จะ “อ๋อ”   แต่บางคนก็ยัง “เอ๋อ”..  ถ้างั้นลองอัตลักษณ์ด้านความแปลกดูบ้าง..

 “ก็รุ่นที่มีฝรั่งลูกครึ่งรูปร่างสูงใหญ่   ลูกสาวท่านอาจารย์นพคุณไง”

ตรงนี้แหละถ้าบังเอิญคน ๆ นั้นเป็นรุ่นที่เห็นหน้าเห็นหลังกันตอนเรียนที่คณะ 4 ปี  คำตอบก็มักไม่พลาด.. 

“งั้นคุณก็รุ่นหลังพี่  2 ปีน่ะซี”... ต่างดีอกดีใจที่ไล่เรียงรุ่นกันถูก   

เฮ้อ.. ตอนแรกคิดว่าได้ทำหน้าที่ตามที่ท่านประธานสั่งเสร็จสิ้นแล้ว   แต่สุดท้ายกลับต้องมานั่งเอะใจ..  นี่ฉันถูกหลอกหรือเปล่าเนี่ยให้เอาความลับมาเปิดเผย  ว่าที่ผ่านมาชอบแอบอ้างเพื่อนให้เป็น “ของแปลกประจำรุ่น” !!  ตาย..ตาย.. ต้องขอโทษจริง ๆ นีลเพื่อนรัก   คิดว่าทำประโยชน์ให้รุ่นก็แล้วกัน  คนอื่นจะได้จำรุ่นของเราได้ไง 

(แต่ให้พูดอีกที..  มันก็แปลกจริง ๆ นะ..  รุ่นไหน ๆ เค้าก็ไม่มีอย่างเรา ! )

เปิดประตูรุ่นค้างไว้แค่นี้นะคะ   เพื่อนคนอื่นจะมาพาท่านเที่ยวข้างในรุ่นของเราต่อไปค่ะ

                 

กลับขึ้นด้านบน

เทวาลัยในความทรงจำ พิมพาภรณ์ สุวัตถิกุล (อักษรศาสตร์ ๒๕๐๗)

เทวาลัยในความทรงจำ                                                โดย              พิมพาภรณ์  สุวัตถิกุล               (อักษรศาสตร์ ๒๕๐๗)

            ย้อนเวลาไปมากกว่าครึ่งศตวรรษความใฝ่ฝันที่จะเป็น “นิสิตอักษรฯ” เรืองรองในห้องความคิดมาก    เมื่อเห็นชื่อตัวเองอยู่บนป้ายประกาศว่าเข้าอักษรศาสตร์ได้จึงรู้สึกเหมือนโลกทั้งโลกมาวางกองตรงหน้า  เริ่มฝันถึงแบบฟอร์มของนิสิตจุฬาฯ  กับถุงเท้าขาวแสดงความเป็นน้องใหม่ที่พวกเราเรียกกันเองว่า “เฟรชชี่”  (แต่ฝรั่งบอกว่าไม่รู้จักคำนี้ –ฝรั่งจะมารู้อะไรนะ ... นี่มันเรื่องของเราใช่ไหม?)   ฝันต่อไปก็ไม่ใช่เรื่องเรียนเลยเพราะรู้ว่าไง ๆ ก็ต้องเรียนหนักอยู่แล้ว  อักษรศาสตร์ใคร ๆ ก็รู้เหมือนกับที่อาจารย์หลายท่านฝังหน่วยความจำไว้ในสมองว่า “จบอักษรศาสตร์แล้วคุณต้องทำได้ทุกอย่าง”  ถ้าไม่เพราะเรียนหนัก เรียนกว้าง  แล้วจะอะไรล่ะ    ขอย้อนกลับไปยังฝันต่อไปที่เกริ่นไว้  คือ “วันรับน้องใหม่” คืนวันสุก-ดิบ เรียกว่านอนแทบไม่หลับ  ทั้งตื่นเต้นทั้งกลัวว่าพี่ ๆ ทั้งของคณะตัวเองและคณะอื่นจะปฏิบัติการอะไรบ้าง  เกาะกันกับกลุ่มเพื่อนเตรียมพร้อมเผชิญสถานการณ์  แต่การกลับปรากฏว่าไม่โหดมากตามที่ไหวหวั่น  ความโหดกลับไปอยู่ที่เพื่อนน้องใหม่วิศวะ (หน้าตาดี) ที่เห็นพี่ ๆ บังคับให้ทานพริกขี้หนู   ยังจำภาพความเผ็ดร้อนบนใบหน้าของหนุ่มน้อยคนนั้นได้จนถึงวันนี้  (พี่ ๆ อย่าว่าอะไรหนูนะถ้าจะบอกว่า พี่ ๆ กลุ่มนั้น คือ พี่คณะอักษรฯ   แต่เชื่อว่าพี่ทำไปเพราะต้องการจะทดลองความอึดของคนที่จะเรียนวิศวะ)   ช่วงกลางวันผ่านไปด้วยความราบรื่น    ภาคเย็นมีการจัดเลี้ยงโต๊ะจีนในห้องกลาง   พวกเราได้ทานอาหารอร่อย  ได้เริ่มต้นสัมผัส ความเป็นหนึ่งเดียวของอักษรศาสตร์ทุกรุ่นในบรรยากาศของตึกเก่าที่เข้มขลังยิ่ง    และถึงตอนที่ประทับใจกว่า  ซาบซึ้งกว่า  อบอุ่นและตรึงใจมากมาย เมื่อ พี่ ๆ ผู้ชาย ที่มีอยู่ไม่กี่คนในคณะ รวมกลุ่มกันเป็นอาสาสมัครจัดรถไปส่งน้อง ๆ ที่อยู่ไกล     บ้านเราอยู่ในสวนฝั่งธนฯ   ด้วยความเกรงใจพี่ ๆ พอลงจากรถเราบอกว่าจะวิ่งเข้าไปเอง  พี่  ๆ ทำเสียงดุมาก (รุ่นพี่อักษรฯ ต้องทำเสียงดุมากเสมอเมื่อพูดกับน้อง ๆ โดยเฉพาะประธานเชียร์ – อาจเพราะกลัวใจอ่อนอันจะนำไปสู่การขาดวินัยของน้องใหม่ – คิดว่านะคะ  ถ้าพี่ ๆ ได้อ่านช่วยตอบด้วย) บอกว่าไม่ได้ พี่ ๆ จะเดินไปส่งถึงหน้าประตูบ้าน น่ารักปานนี้ถ้าไม่จดไม่จำมาจนถึงวันนี้ก็คงไม่ใช่สาวอักษรฯ       เสียดายที่จำชื่อพี่ ๆ เหล่านั้นไม่ได้เลย  เพราะยังใหม่ด้วย  กลัวด้วย   จึงมิอาจหาญที่จะถามว่า พี่ ๆ  ชื่ออะไรกันบ้างคะ  แต่โปรดรับความขอบคุณที่ยังติดค้างอยู่ในหน่วยความจำ

               จบเรื่องอบอุ่น ซาบซึ้ง ขอเปลี่ยนอารมณ์ไป บันทึกเรื่องที่น่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่ง คือ การประกาศผลสอบ  การประกาศผลสอบของคณะอักษรศาสตร์สมัยนั้นมีความเป็นเอกลักษณ์อย่างยิ่ง  พวกเราคงจำกันได้ว่าทุกคนในชั้นปียืนออกันตรงโถงของห้องกลาง  ไม่ทราบเพื่อน ๆ ที่เรียนเก่ง ๆ จะรู้สึกอย่างไร  แต่พวกเราที่ไม่เก่งมากรู้สึกเหมือนกำลังถูกตัดสินประหารชีวิต  และ เมื่อ อาจารย์ไพฑูรย์ซึ่งดู ดี๊-ดี ในแว่นขาววาวใส เดินอย่างกระฉับกระเฉงลงมาจากชั้นบน  หน้าตายิ้มแย้มประหนึ่งจะประกาศรางวัลอันทรงเกียรติ   เราเห็นเพื่อนบางคนรวมทั้งตัวเองใช้มือขวาจับมือเพื่อนที่สนิทที่สุด  มือซ้ายกุมหัวใจ รอฟัง “ประกาศอาญาสิทธิ์” – สอบได้  สอบซ่อม  ซ้ำชั้น    แน่นอนคนที่ได้ยินชื่อว่าตัวเองสอบได้ย่อมดีใจ  แต่ในกลุ่มเรามีเพื่อนที่ต้องซ้ำชั้น ความยินดีจึงหายไปเป็นครึ่ง แต่ในที่สุด  เมื่อผ่านช่วงเวลาแห่งการเรียนไปได้ เพื่อนที่ซ้ำชั้นก็สอบได้ทุนไปเรียนฝรั่งเศส  ทุกอย่างกลายเป็นอดีต ทิ้งความเป็นเพื่อนไว้เป็นปัจจุบัน   ส่วนช่วงวันเวลาในเทวาลัย ก็  เป็น  “อมตะมหานิรันดร์กาล”  ที่สถิตเสถียรในความทรงจำด้วยความภูมิใจในความเป็น “นิสิตอักษรฯ”  ที่เคยใฝ่ฝัน  ได้เป็น  และ ยังรู้สึกว่า “เป็นอยู่” ...

กลับขึ้นด้านบน

“ความทรงจำเมื่อเราเป็นนิสิตอักษรฯ” (อีกครั้ง) พิมพาภรณ์ สุวัตถิกุล (แมว) อบ 32

“ความทรงจำเมื่อเราเป็นนิสิตอักษรฯ” (อีกครั้ง)                                          โดย     พิมพาภรณ์ สุวัตถิกุล (แมว)  อบ 32

... เริ่มตรง “อีกครั้ง”  เพราะได้เขียน  “ความทรงจำเมื่อเราเป็นนิสิตอักษรฯ” ไปก่อนหน้านี้แล้วครั้งหนึ่งตอนประธานรุ่นขอให้เพื่อน ๆ ช่วยเขียนกันในเดือนตุลาคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา   เมื่อปั๊บประธานรุ่นผู้แข็งขันขออีก ก็เขียนให้อีกด้วยความเต็มใจ  เพราะเห็นว่า ทั้ง ประธาน ฯ และ เพื่อน ๆ ในรุ่นคึกคักกันเหลือเกินในการช่วยค้นหาเพื่อนร่วมรุ่น ช่วยกันทำกิจกรรมโน่น-นี่-นั่น ความคึกคักเหล่านี้ บอกเราว่า ๕๒  ปีที่ผ่านไปไม่ได้ทำให้น้องใหม่อักษร ฯ ๐๗  คลายความผูกพันมั่นเกลียวต่อกันเลย  ตรงข้ามยิ่งดูเหมือนว่ายามที่ วัน-วัย ผ่านผัน ยิ่งกลับผูกพัน   (มากบ้าง – น้อยบ้าง ตาม “เหตุ-ปัจจัย” ของแต่ละคน  แต่ละกลุ่ม ..แอบใช้คำที่เอียงไปทางศาสนาเล็กน้อยจะได้ดูขลัง) แต่ ... ในความทรงจำที่มากมายจะเลือกอะไรมาดีหนอ  ... ขอ เลือกพูดถึง “ความทรงจำ” กับ “การเปลี่ยนแปลง” ดีกว่า   อย่างที่พวกเรา ได้พบ  ได้เห็น และได้รู้สึก ...หลายปีมานี้รุ่นเราดูคึกคักมาก ติดต่อกันทุกวัน (ประมาณสามเวลา ก่อน และ หลังอาหาร ทาง line) ได้กลับมาพบกันค่อนข้างบ่อยในกิจกรรมหลากหลาย  โดยเฉพาะกลุ่ม “คนกรุง”  ทั้งการติดต่อและการพบเราจะมีภาพจำสมัยสี่ปีที่เทวาลัยโผล่เป็นภาพซ้อนกับปัจจุบันเสมอ  โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ หลายครั้งที่ไม่สามารถจะ “มโน” ได้เลยว่าใครเป็นใคร  เช่น ในงานสวดพระอภิธรรมศพของ ช้างชาย  (ศ.กิตติคุณ ปรีชา)  มีหญิงอวบคนหนึ่งมาขอถ่ายรูปกับเรา  เราเชื่อว่าเป็นเพื่อนแน่นอนก็ถ่ายรูปกันแบบสนิทสนมกลมเกลียว เสร็จแล้วไปแอบถามปลอบขวัญว่าชั้นถ่ายรูปกับใคร ได้ความจริงว่าเป็น “ช้างหญิง” – แม้จะเคยกิ๊กกั๊ก กันพอควรสมัยเรียน  แต่จบแล้วก็ไม่เคยเจอกันอีกเลย ในภาพจำจึงมีแต่ ช้างหญิง คนเก่า ที่ค่อนข้างจะต่างกับ “ช้างวัยปลาย” ที่ได้พบในวันนั้น  ตัวเราเองก็สร้างความอลหม่านในภาพจำของเพื่อนหลายคนเหมือนกัน   ในงานเดียวกันเราดีใจที่พบ นฤมล ซึ่งเคยสนิทสนมกลมเกลียวเที่ยวได้วิ่งไปฟัง concerts ชื่นชมศิลปวัฒนธรรมกันที่ สถาบันวัฒนธรรมเยอรมันช่วงที่ทำงานอยู่ที่ กรุงเทพฯ แล้วก็ร้างราไปหลายปี  กระไรเลยที่จะไม่ดีใจเมื่อได้เห็น นฤมล  มาปรากฏร่างในคืนนั้น  ตอนเราทักทายนฤมล  นางหันไปถามปลอบขวัญอีกตามเคย (ทำไมต้องเป็น ปลอบขวัญ ทุกทีที่มีการอ้างอิง??)  ว่าเราเป็นใคร  ปลอบขวัญบอกว่า “อ้ายแมวไง!”  นฤมล อุทานด้วยถ้อยคำที่น่าสะพรึงกลัวมากว่า “สมัยที่เจอมันยังพ่วงพีอยู่เลย”  (ภาษาของคนอักษรฯ นี่ ใครไม่คุ้น มีสิทธิเป็นลมล้มทั้งยืนได้ง่าย ๆ)   เรื่อง ความผอม และ ความพ่วงพี นี่พบเห็นกันได้มากมายอยู่ในกลุ่มผองเพื่อน  และเราเห็นบ่อย ๆ ที่มีการกระซิบถามกันในกิจกรรมพบปะต่างกรรม-ต่างวาระ ว่า ใครเป็นใคร  เวลานี่หนอทั้งสร้างสรรค์ และ ทำลายได้เกินกว่าจะจินตนาการ  เราจึงชอบการนำเสนอหนังสือรุ่น อักษรศาสตร์ ฉบับ ธันวาคม ๒๕๕๒ มากเป็นพิเศษที่คณะผู้จัดทำได้ลงภาพสมัย “กาลครั้งหนึ่ง”  คู่เคียงกันไป กับ “ภาพกาลครั้งนี้”  ช่วยปรับความทรงจำได้มากเลย  ข้อมูลที่ให้ไว้ก็น่ารัก จนต้องขออนุญาตบันทึกคณะผู้จัดทำ เป็นการแสดงความขอบคุณมากมายไว้ตรงนี้หน่อยนะ มี แก๋ง    จินตนา (พันธุฟัก)    นิตย์ (เคยผอม นามสกุล กาญจนะวรรณ)    ปลอบขวัญ (เคยผอมเหมือนกัน) พรทิพย์ แป๊ว – พรศิริ     สมลักษณ์    สุนันท์ โสมนัส (ทั้งสามคนนี้ไม่เปลี่ยนมากมาย) และ “แก่วิ” (เรียกกันอย่างนี้ในกลุ่มเพื่อนเพราะชอบทำเสียงแก่ โดยการใช้โทนเสียงที่ต่ำมาก  ชื่อจริง คือ วิรุฬห์รัตน์ – ขอวิจารณ์หน่อยว่า ชื่อเขียนยากจริง ๆ )

               ขอจบเรื่องราว “ความทรงจำ”  และ “การเปลี่ยนแปลง” ในมิติของ ระยะห่าง (spacing) สักหน่อยนะ  เชื่อว่าหลายคนก็มีประสบการณ์เดียวกัน คือ ประสบการณ์ที่เราไม่เคยพูดกับเพื่อนบางคนเลยตลอดสี่ปี ณ เทวาลัย รับรู้ (หรือบางรายอาจไม่รับรู้) ว่ารุ่นเดียวกัน  แต่เราห่างกันเหลือเกิน พอมาช่วงนี้ระยะห่างเหล่านั้นกลับแคบลง หรือ หายไปอย่างน่าดีใจ  เราชอบวัน-เวลาที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงนี้  แม้ว่า ความคิด-ความเห็น เรื่องการบ้านการเมือง จะทำให้กินแหนงแคลงใจกันบ้าง ก็เชื่อว่าเป็นเพียง “วาระจร”  เรารู้สึกจริง ๆ จัง มากว่าความเป็นเพื่อนของพวกเรามีคุณค่ากว่ามุมมองทางการเมืองที่มิควรให้เรามาแปลกแยกจากกัน ...

            บนเส้นทางสายยาวที่ก้าวผ่าน    เหมือนวันวานอยู่ตรงนี้ที่ “อักษรฯ”

          ในภาพวันแสนสนุกทุกวรรคตอน   คือภาพซ้อนของ “เพื่อน” มิเลือนลืม ...

กลับขึ้นด้านบน

รำลึกความหลัง โสมนัส ชูพินิจ (อบ.32)

รำลึกความหลัง                                                             โดย           โสมนัส ชูพินิจ   (อบ.32)

 

เพื่อนรัก,

               ไม่น่าเชื่อว่าเราเป็นเพื่อนกันมา  ๕๐ ปี  แล้ว  นับตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเท้าเข้ามาใน "เทวาลัย"   

               เราเริ่มต้นความสัมพันธ์กันที่  "ห้องสิบ"  ที่มีเก้าอี้เรียงลำดับตั้งแต่ ก. ไก่  จนถึง อ.อ่าง  เพื่อนๆที่เกาะกลุ่มกันเข้ามา  กระจายไปนั่งกันอยู่ที่ไหนหมดก็ไม่รู้  มองไปรอบๆตัว  เห็นแต่คนแปลกหน้า  ต่างฝ่ายต่างก็ยิ้มให้กันอย่างเคอะเขิน

               สองปีแรก  เราเรียนกันเต็มเหยียด  อาทิตย์ละ ๓๕ ชั่วโมง  หนุ่มจากคณะข้างๆ  ที่แวะเวียนมากินน้ำเหยียบที่ใต้กระไดในห้องกลาง  หวังจะได้เห็นหน้าแฉล้มของน้องใหม่ๆ  กลับเจอแต่หน้าเดิมๆของพี่ๆ แต่ก็ไม่ย่อท้อ เทียวไปเทียวมา  ไม่รู้เหมือนกันว่า  น้ำใต้กระไดตึกอักษรนี่  มันหวานเย็นกว่าที่อื่น  หริอเป็นเพราะไม่มีสตางค์ไปซื้อโอเลี้ยงที่โรงอาหาร 

               พวกเราต้องปรับตัวให้เข้ากับบรรยากาศของการเป็นนิสิต  ที่แตกต่างจากการเป็นนักเรียนมากมาย  เป็นชีวิตอิสระ  ที่เราต้องรับผิดชอบตัวเราเอง  ห้องเล็กเชอร์ที่มีนิสิตร้อยกว่าคน  เก้าอี้จะว่างสัก ๔-๕ ตัว  อาจารย์ก็ไม่ได้สนใจ  คนที่สนใจคือคุณประดิษฐ์  ที่มีหน้าที่คอยเช็คชื่อพวกเรา  ถ้าขาดเกินขีดจำกัด  ก็จะมีผลกระทบอย่างมากต่อการสอบ 

               แต่…..นิสิตที่ไม่ค่อยจะรักดี ก็ไม่ได้เกรงกลัว  คอยระวังอย่าขาดเกินกำหนดก็แล้วกัน  ชั่วโมงก่อนพักกลางวัน  จะเป็นชั่วโมงที่เก้าอี้ไม่เคยเต็ม 

               จำได้ว่า  มีอาจารย์อเมริกันสอน Civilization  ชื่ออ. เคนแมน  แหม..รูปหล่อ  ฉันไม่โดดแน่  ต้องตั้งใจเรียนหน่อย  ชอบอาจารย์  ไม่ได้ชอบวิชา  นั่งฟังเล็กเชอร์ได้ อาทิตย์เดียว  ก็ค้นพบว่า  วิชานี้  อาจารย์แจก sheet  โธ่!  ฉันจะมานั่งฟังทำไม รอให้อาจารย์แจก sheet รึบางทีก็รอให้คุณประดิษฐ์มาเช็คชื่อก่อน  แล้วก็ค่อยๆย่องออกประตูหลังไปอย่างสง่าผ่าเผย  นี่เป็นข้อดีของคนชื่อท้ายๆ   พวก ก.ไก่  อย่าหวังว่าจะทำได้

               ที่โรงอาหารมักจะแน่นไปด้วยนิสิตคณะข้างเคียง  ที่จับจองที่นั่งราวกับเป็นโรงอาหารของตัวเอง  มีความดีอยู่นิดเดียวคือเหลือที่ไว้ให้พวกเราหลายโต๊ะพอสมควร  จำร้านอาหารได้ ๒ - ๓ ร้าน  มีก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้น  ที่พวกเรามักจะสั่งลูกชิ้นป้ิงมาเป็นออร์เดิฟก่อนเสมอ  แล้วก็มีผัดซีอิ๊วไม่ใส่เส้น  เพราะสาวอักษรต้องรักษาเชฟ  แล้วก็มีน้ำของพ่อตง  ที่จะเดินมาถามเราที่โต๊ะว่า  จะรับน้ำอะไร  พอเราสั่ง  น้ำลำไย  โอเลี้ยง  น้ำมะพร้าว  พ่อตงก็จะตะโกนไปที่ร้านของตัว  เรามองตามไปว่า  ใครหนอคอยรับคำสั่ง  เปล่า….ไม่มีใครเลย  พ่อตงเป็นพ่อค้าน้ำโซโล  พอรับคำสั่งครบถ้วน  และตะโกนสั่งไปที่โหลใส่น้ำนานาชนิดแล้ว  พ่อตงก็จะเดินแกมวิ่งไปปรุงน้ำต่างๆมาเสริฟพวกเรา  ซึ่งไม่ค่อยจะผิดพลาด  ความจำเขาดีจริงๆ  น่าจะให้มาท่องหนังสือแทนเรานะ

               อีกคนที่จะขอกล่าวถึงคือหนูจุก หนูจุกคนนี้เป็นสาววัยรุ่น  ไม่ได้สะสวยเท่าไหร่  แต่รู้จักแต่งหน้าแต่งตาและแต่งตัวสวยทุกวัน  ร้านหนูจุกขายอะไรจำไม่ได้  แต่จำเรื่องหนูจุกได้  เพราะมีรุ่นพี่คนหนึ่งปรารภว่า  เด็กคนนี้มีวี่แววว่าจะได้เป็นคุณนายนายช่าง  เพราะเล่นตาชมดชม้อยกันนายช่างในอนาคตทั้งหลายอย่างสม่ำเสมอ  ไม่ใครก็ใครคงจะใจอ่อนเข้าสักวันแหละน่า  ไม่รู้เหมือนกันว่า  คำปรารภของพี่เขาเป็นจริงรึเปล่า

               ตกเย็น  พวกเรามักจะพากันมานั่งที่สนามกลมหน้าตึกอักษร  พร้อมกับถุงฝรั่งดองจากรถเข็นของเที่ยมมี่  (ใครไม่รู้จักเทียมมี่  คนนั้นไม่ใช่นิสิตอักษร) รอให้รถมารับเพื่อนในกลุ่ม  ก่อนที่จะเดินไปขึ้นรถเมล์ทางด้านถนนพญาไท  ระหว่างนั่ง  ก็ ….แน่นอน  ต้องวิพากย์วิจารณ์รถคันนั้นคันนี้  ตอนเป็นน้องใหม่  ไม่มีใครขับรถมาคณะ  พอขึ้นปี ๒ ชักขึ้นรถเมล์ไม่เป็น  ใครมีปัญญา  ก็ขับรถมา  ใครไม่มีปัญญา  ก็อาศัยเขาไป

               พอถอดถุงเท้าขาว  และโยนรองเท้าขาวทิ้งไปแล้ว  ตอนนี้ต้องใส่อะไรที่มีส้นนิดๆ  สักนิ้วก็ยังดี  เริ่มมีการใช้ลิปสติค  คิดว่าเป็นลังโคมเบอร์ ๑๖  รึอย่างไรนี่แหละ  ใครไม่มีเชยตายเลย  แล้วก็ต้องเดินไปเรียนวิชาที่สาวอักษรเกลียดที่สุดในโลก  คือวิทยาศาสตร์  (ไม่งั้นจะมาเรียนอักษรศาสตร์ทำไม)  เวลาเดินไปตึกวิทยา  ต้องผ่านต้นจามจุรี  เคยได้รับคำบอกเล่าจากพี่ๆว่า  น้องอย่าให้ฝักจามจุรีตกใส่หัวนะ  เพราะว่าจะสอบตก  เดินตลอดเทอม  ไม่เคยมีฝักจามจุรีตกใส่หัวสักโป๊ก  แต่ทำไมถึงสอบตกวิทยาศาตร์ก็ไม่รู้ (เมื่อสมัยอยู่โรงเรียนประจำ  มีต้นอย่างว่านี่เยอะแยะ  เราเรียกกันว่า  ต้นก้ามปู  แต่พอมาเข้าจุฬา  ต้องเปลี่ยนตามสมัยนิยมเป็นต้นจามจุรี)

               และเนื่องจากเราเริ่มแต่งหน้าแต่งตากันได้ตอนปี ๒  เลยไม่ค่อยแปลกใจที่บางวันเห็นพวกเราแต่งหน้าทำผมกันสวย  อย่างพี่พรสวรรค์  เราไม่แปลกใจ  เพราะพี่เขาสวยเช้งมาแต่ไหนแต่ไร  แต่เพื่อนเราอย่างหนูหนุงหนิง  (ที่เพื่อนเก่าเรียกหงุงหงิง) ลุกขึ้นมาแต่งหน้าทาปาก  ทำผมสวย  นี่ซิ  มันเรื่องอะไรกันจ๊ะ  แต่ไม่นานปริศนานี้ก็ถูกเฉลย  วันไหนสาวฝรั่งเศสสวยผิดปกติ  วันนั้นสอบปากเปล่ากับอ.ดร.จิตเกษม  ท่านชอบให้นิสิตของท่านสะสวย  สดชื่น (เหมือนท่าน)  ใครสะโหลสะเหลมา  ดีไม่ดีสอบตก  ไม่รู้ด้วยนะ

               ขึ้นปี ๓  ชั่วโมงเรียนลดลง  เรามีโอกาสเลือกเรียนวิชาที่ชอบ  ๓ วิชา  ส่วนใหญ่เรียนภาษาอังกฤษ  ๑ และ ๒  ส่วนอีกวิชาแล้วแต่อัธยาศัย  วิชาที่น่าสงสารที่สุด  คงจะเป็นภาษาเยอรมัน  มีคนเรียนคนเดียว  มิไยที่  Herr Heuser จะติดสินบนว่า  ถ้าใครเรียนถึงปี ๔ จะหาทุนให้ไปเรียนต่อที่เยอรมนี  เราก็เลยมี Frau Doktor นฤมล ง้าวสุวรรณ เพียงคนเดียว

               พวกเรียนบรรณารักษ์  เป็นพวกหัวสูง  เพราะต้องปีนกระไดขึ้นไปเรียนที่ห้องบนหลังคา (พูดเล่นน่ะ  ชั้น ๓)   ปีนั้นมีภาษาต่างประเทศให้เลือกอีก คือภาษาญี่ปุ่น  อิตาเลียนและสเปน พวกมองเห็นการณ์ไกล เลือกเรียนภาษาญี่ปุ่นเป็นแถวๆ  และแทนที่ไทยจะเสียดุลการค้า กลายเป็นได้สามีซามูไรมาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ได้ดุลจากต่างประเทศ  ก็ดีไปอย่างหนึ่ง  แต่มี ๑๐ กว่าคนที่เป็นพวกถอยหลังเข้าคลอง  เลือกเรียนภาษาไทย  และต้องเผชิญกับภาษาบาลี  (เจ้าเก่า  โดย อ. ฉลวยเจ้าเก่า)  ภาษาสันสกฤต  ภาษาเขมร  แถมมีภาษาถิ่นอีกด้วย  ไม่รู้เหมือนกันว่าฟาดฟันฝ่ามรสุมขึ้นมาเรียนปี ๔ ได้ยังไง

               พอถึงปี ๔  ต้องลาแล้วจามจุรี  เป็นความเศร้าที่แสนหวาน  ดีใจก็ดีใจ  ที่จะได้เรียนจบเสียที  เศร้าก็เพราะจะต้องไปเริ่มชีวิตใหม่  อนาคตข้างหน้าจะเป็นยังไงก็ยังไม่รู้  บางคนโชคดี  พอจบก็เตรียมตัวไปเรียนต่อเมืองนอก  บางคนเริ่มมองหางานตั้งแต่ยังไม่จบ  และมีบางคนอีกนั่นแหละ  ที่ใส่แหวนหมั้นมาวันรับปริญญาเลย

               จะว่าไปแล้ว  เรียนอักษรนี่ดีนะ  จบแล้วทำมาหากินได้สาระพัด  ทั้งที่ตรงกับวิชาที่เรียนมา  และไม่ตรง  แต่เราเก่งและสามารถประยุกต์ให้เข้ากันได้

               เรามีนายพลหลายคน  โดยเฉพาะ  นายพลผู้หญิง  หาไม่ได้ง่ายๆนะจ๊ะ

               นักการธนาคารระดับสูง  เราก็มีโดยไม่ต้องเรียนบัญชี มิหนำซ้ำบางคนยังเป็นถึง Budget Analyst ให้กับหน่วยงานสหรัฐฯอีกด้วยแน่ะ

               ที่น่าสนใจอีกอาชีพหนึ่งสำหรับสาวอักษร  คือนักธุรกิจ  นักอุตสาหกรรม  สาวอักษรที่ใครๆคิดว่า  วันๆได้แต่นั่งท่องกลอนสุนทรภู่  รึโค้ดคำพูดของเช็คสเปียร์ ที่ไหนได้  ลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของธุรกิจ  เจ้าของโรงงาน ทำงานกันชนิดผู้ชายอายไปเลย

               ส่วนเรื่องวิชาชีพของเราเองนั้น  ไม่ต้องพูดถึง  ไม่ว่าจะเป็นคณบดีของคณะอักษรศาสตร์ของเรา  รุ่นเราก็เป็นมาแล้ว  คณบดีของมหาวิทยาลัยอื่น  รุ่นเราก็ไปนั่งเก้าอี้มาเรียบร้อย 

               จริงอยู่รุ่นเราไม่มีใครเป็นทูต มีแต่ภรรยาทูต  แต่….ขอโทษ  ใครๆก็รู้ว่า  ภรรยาน่ะ  ใหญ่กว่าสามีแค่ไหน  ใช่ไหมจ๊ะ              

               เพื่อนรัก  ๕๐ ปี แล้วนะ  ตั้งแต่ที่เราได้พบกัน  ได้ประสบการณ์ชีวิตด้วยกัน  ความเป็นเพื่อนไม่ใช่หากันได้ง่ายๆ  บางคนร่ำรวยล้นฟ้า  แต่ไม่มีเพื่อน  ในขณะที่พวกเรามีกันและกัน  ขอให้เราเก็บความเป็นเพื่อนไว้  อย่าให้อะไรก็ตามมาเป็นอุปสรรคต่อความเป็นเพื่อนของเราเลยนะจ๊ะ

กลับขึ้นด้านบน

ฟื้นความหลัง โสมนัส ชูพินิจ อบ 32

ฟื้นความหลัง

 

คนอายุ  ๗๐  อะไรจะสนุกเท่าคุยถึงความหลังเป็นไม่มี โดยเฉพาะความหลังครั้งเรายังรุ่งโรจน์  เป็นสาว  บางคนต้องเติมคำว่าสวย  แต่ของฉันเอาแค่สาวก็คงจะพอนะ

ช่วงชีวิตที่สนุกที่สุดน่าจะเป็น  ๔ ปี ที่ปราสาทสีเทา  รึเทวาลัยของพวกเรา  

ตอนเป็น "เฟรชชี่"  ใส่รองเท้าขาว  ถุงเท้าขาว  ดูน่ารัก  กลับบ้านถึงจะต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้าน  แต่ไม่ใคร่ยอมถอดถุงเท้า  ใส่เดินทั่วบ้าน  ครั้น พอส้นถุงเท้าชักดำเอา  ดำเอา  จำต้องยอมถอดพร้อมรองเท้า  แต่กระนั้น  ตอนน้ำท่วมจุฬา (ใครจำได้บ้างเอ่ย)  เขามีรถรับส่งจากประตูถนนพญาไท วนส่งทุกคณะ  แต่รถค่อนข้างแน่น  และมาช้า  ก็เดินย่ำน้ำเอา  มาถึงคณะ  แทนที่จะถอดถุงเท้า  ก็ใส่มันทั้งเปียกๆ  เพราะอยากจะแสดงความเป็นน้องใหม่  จนรุ่นพี่ (ที่สนิทกัน) ทนไม่ได้  บอก "น้องจ๋า  ถอดถุงเท้าก็ได้นะ  เดี๋ยวเป็นหวัดตายหรอก"

 

การเรียนมหาวิทยาลัย  ช่างมีอิสระเสรี  เป็นที่ชื่นชอบของคนที่อยู่โรงเรียนประจำถึง  ๑๑ ปีอย่างฉัน    ได้ฝึกขึ้นรถเมล์ไปโรงเรียนเองตอนเข้าเตรียมอยู่  ๒ ปี  พอข้ามมาเรียนอักษร  ก็กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญการโหนรถเมล์ บ้านฉันอยู่หน้าวังสวนจิตร  รถเมล์จากหน้าบ้านถึงจุฬาฯ  คือสาย  ๑๘  หรือ "ไทยถาวร"  ซึ่งพวกเราที่ต้องอาศัยบริการของรถเมล์สายนี้  ได้พร้อมใจกันเปลี่ยนชื่อเป็น  "ไทยทรมาน"  บางวันฉันต้องยืนเกาะราวแน่นอยู่บนบันได  ไม่กลัวตก  เพราะมีคนยืนซ้อนข้างหลังอีกสองสามคน  รถสาย  ๑๘  ผ่านจุฬาด้านหน้า  คณะของเราอยู่ด้านถนนอังรีดือนองค์  ลงรถแล้วต้องเดินลัดเลาะบนถนน  ถ้าไปทางซ้ายก็จะผ่านคณะสถาปัตย์  ไปทางขวาก็เป็นวิทยาศาสตร์  ฉันน่ะ  ชอบพวกสถาปัตย์มากกว่าวิทยาเยอะ  แต่เลือกเลี้ยวขวา  เพราะหนุ่มวิศวะก็เดินถนนสายนั้น  ถึงแม้ว่าจะเดินอยู่ถึง  ๔ ปี  และไม่ได้มีบุพเพอาละวาด  หรือกรรมบันดาลอะไรก็เถอะ  แต่มันก็เป็นความสุขอย่างหนึ่งของสาวอักษรอย่างฉัน  เฮ้อ !  น่าเวทนานะ

 ตอนปิดเทอมปลายปีหนึ่ง  ฉันสมัครไปค่ายอาสาสมัครของจุฬา  สนุกสนานที่สุด  แต่ไม่มีใครรู้ว่า  ฉันแอบซ่อนความกลัวเอาไว้  อย่างที่พูดไปแล้ว  ชีวิตที่จุฬา  อิสระเสรีมาก  ฉันก็อิสระมากจนออกจะเกินไป  พอสอบมิดเทอม  ก็ตกภาษาเยอรมัน ไม่เป็นไร  เพื่อนฝูงชาวเยอรมันก็วิตกกังวล  ช่วยกันติวเข้ม  พอสอบปลายปี  ก็สบาย  แต่ที่ไหนได้  ระบบเยอรมัน  ถ้าตกวิชาไหน  ต้องสอบแก้ตัว  จะเอาวิชาอื่นมากลบเกลื่อนไม่ได้  ตอนมิดเทอมฉันตกวิชาประวัติศาสตร์เยอรมัน  เพราะฉะนั้น  ต้องสอบซ่อมวิชานี้  ฉันกลับมาจากค่ายอย่างสนุกครึ่ง  กลัวครึ่ง  แต่แบบฝรั่งว่า  To make the story short.  ในที่สุดฉันก็ผ่านวิกฤติเยอรมันมาได้  และได้ขึ้นมาเรียนปีสองพร้อมกับพวกเธอทั้งหลาย  ขอ เฮ้อ ! อีกที

 ยัง  วิกฤติของฉันยังไม่หมด  ปีสอง  เราต้องเดินไปเรียนวิทยาศาสตร์ที่คณะวิทยา  โธ่เอ๋ย  การที่ฉันเลือกเรียนอักษรเนี่ย  ก็เพราะฉัน "เกลียด" วิทยาศาสตร์  ให้ฉันไปเรียน  ฉันก็ตกอีกน่ะซิ  และถึงแม้เขาจะให้คนสอบตก (เศร้าจัง) มีโอกาส "แซม" ได้จนถึงปี ๔  หมายความว่าถ้าสอบไม่ได้  ก็สอบอีก  ให้โอกาส ๓ ปี แต่ฉันก็มีเพื่อนดีอีกนั่นแหละ  เพราะเพื่อนๆรู้สึกร้อนตัวที่ตัวเองเรียนเก่ง  ไม่เคยมีใครต้องแซมอะไรเลย  แล้วทำไมเราถึงปล่อยให้ไอ้โสมนัส  มันตกเอา  ตกเอา  อย่ากระนั้นเลย  ให้พวกเรามาช่วย "ติวเข้ม" กันอีกสักครั้งเถอะ  แล้วฉันก็ผ่านวิกฤติวิทยาศาสตร์มาได้อีกครั้ง

 

ปี ๓ ปี ๔ เราได้เรียนวิชาที่เราเลือกตามความถนัด  ฉันเลือก  อังกฤษ ๑ กับ ๒ และไทย ๒  คราวนี้  ผ่านฉลุย  ไม่ต้องซ่อม  แต่กว่าจะผ่านได้ก็เกือบแย่  เพราะต้องเรียนกับอาจารย์ฉลวย  ฉันกับรุจิรา โดนอาจารย์ "ด่า" ว่าระริกระรี้" (เพื่อนราชบัณฑิตช่วยแก้ไขตัวสะกด  รึแปลให้ด้วยนะจ๊ะ)  เพราะเราแอบหัวเราะนักเรียนครุศาสตร์ที่มาเรียนกับเราด้วย นอกจากนั้น  ภาษาอังกฤษที่ฉันชอบและคิดว่าตัวเองเรียนได้  ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด  เพราะกลายเป็นวิชาที่เรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง  จำได้ว่ามีอาจารย์มาจาก British Council ชื่อ Mr. Sharpe รึอย่างไรนี่แหละ  มาเล็กเชอร์อาทิตย์ละครั้ง  ฉันก็โดดได้โดดดี  เพราะตอนนั้นทำงานให้มหาวิทยาลัยเป็นประธานวรรณศิลป์  (พูดเสียโก้เลย)  ก็ต้องออกไปหาโฆษณามาพิมพ์หนังสือวรรณศิลป์ (ขายเล่มละบาท)  และออกไปทำอะไรก็ได้  ที่ไม่ต้องเรียนกับ Mr. Sharpe  ทางนี้ก็ให้น.ส.หนุ่ย (ม.ล.เอื้อมสุขย์) จดเล็กเชอร์ให้  ถ้าใครเห็นสมุดเล็กเชอร์ของฉันตอนนั้น  จะพบว่า  มีลายมือของหลายๆคน  ที่ไม่ใช่เจ้าของสมุด 

อย่างไรก็ตาม  ฉันก็ผ่านพ้นวิกฤติทั้งหลายมาได้  และมี อ.บ. เอาไว้เขียนใน resume เวลาสมัครงาน  และได้ความทรงจำที่สนุกสนาน  เอาไว้คิดถึงเวลาที่ อากาศหนาว  หิมะตก มองออกไปเห็นต้นไม้ที่มีแต่กิ่งสีน้ำตาล มีหิมะขาวเกาะอยู่ตามคาคบ  แค่นี้ฉันก็มีความสุขแล้ว

 

โสมนัส  ชูพินิจ อบ 32

Alexandria, Virginia

USA

 

กลับขึ้นด้านบน

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University