เรื่องเล่าของนิสิตเก่า รุ่น 33

กลุ่มพุทธฯ ตอนปีสอง ในความทรงจำ ภรณี นาถะเดชะ

กลุ่มพุทธฯ ตอนปีสอง ในความทรงจำ         

โดย ภรณี นาถะเดชะ

เข้าเป็นน้องใหม่อักษรฯ สมใจนึก ดีใจอย่างยิ่งที่จะได้เรียนในเทวาลัย ตึกที่หลงรักตั้งแต่ตอนจบ ม. 6 แล้วนั่งรถเมล์สายสีฟ้าผ่าน เมื่อครั้งเดินทางกับเพื่อนไปสมัครเรียนกวดวิชาแถวสุรวงศ์ที่มีครูเก่งๆ ที่มีชื่อเสียงสายวิทย์ เพื่อเตรียมตัวสอบแข่งขันเข้าเรียนสายวิทย์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา การเลือกเรียนสายวิทย์นี้ ครูสอนชั้นมัธยมของเราเองแนะนำให้เรียนเพราะได้คะแนนวิชาเคมี ฟิสิกส์ สูงสูสีกับภาษาอังกฤษมาโดยตลอด  แต่พอเห็นตึกเทวาลัยเท่านั้น เราก็เปลี่ยนใจ เมื่อถามเพื่อนว่าตึกอะไร สวยจัง แล้วเพื่อนตอบว่าตึกคณะอักษรฯ เลยบอกว่าไม่กวดวิชาสายวิทย์ตามที่ตกลงกันไว้แล้ว แต่จะกวดวิชาสายศิลป์เข้าเตรียมฯ แล้วต่อไปก็สอบเข้าอักษรฯ จุฬาฯ ถ้าสอบเข้าได้จะมีความสุขมากที่ได้นั่งเรียนในตึกนี้

ชีวิตน้องใหม่มีเรื่องให้ตื่นเต้นตลอดทุกวันกับกิจกรรมหลายหลาก ตั้งแต่เช้าจนเย็น ชั่วโมงเรียนก็ยาวทั้งวันไม่ต่างจากตอนเรียนมัธยม หรืออาจเลิกเรียนช้ากว่าด้วยซ้ำ  พอขึ้นปีสอง เมื่อเริ่มมีเวลาว่างขึ้นจึงได้โอกาสเดินสำรวจตึก วันหนึ่งเดินผ่านไปด้านข้างหอสมุดกลางเดิม รุ่นพี่ผู้หญิงหน้าตาท่าทางใจดีเข้ามาทักทายแล้วชวนให้เข้าไปฟังปาฐกถาในห้องตรงมุมตึก องค์ปาฐกคือ หม่อมเจ้าหญิง พูนพิศมัย ดิศกุล ณ อยุธยา จำเนื้อหารายละเอียดไม่ได้แล้ว  แต่รู้ว่าประทับใจมาก เลยบอกพี่ว่าจะไปทุกครั้งที่ท่านหญิงพูนฯ (คำย่อที่นิสิตเรียกกัน) เสด็จมา

ห้องมุมตึกนั้น คือ ห้องกิจกรรมของกลุ่มพุทธศาสตร์ฯ เข้าใจว่า ท่านหญิงพูนฯ เป็นองค์อุปถัมถ์ จำได้ว่าท่านเสด็จมาประจำและให้นิสิตเข้าเฝ้าทูลถามได้ทุกเรื่อง  คำถามของเราที่ยังจำได้จนทุกวันนี้ คือ เรื่องกิริยามารยาทของคนเชื้อสายเอเซียใต้ และเอเซียตะวันออก ที่เรารู้สึกว่าไม่สุภาพ  ก็ทรงอธิบายอย่างชัดเจนพร้อมตัวอย่างให้มองเห็น และเข้าใจความแตกต่าง และคล้ายคลึงระหว่างชนต่างเชื้อชาติ  ตอนนั้นฟังแล้วไม่ได้คิดอะไรมาก ครั้นมองย้อนกลับไปเมื่อมีประสบการณ์ชีวิตเพิ่มขึ้น จึงได้ตระหนักว่าท่านหญิงพูนฯ ประยุกต์ใช้หลักธรรม มรรค 8 สอนให้เข้าใจมุมมองสังคมที่คนพื้นฐานต่างกันจะอยู่ด้วยกันอย่างสันติ ความรู้ที่ได้รับจากท่านให้ประโยชน์มาก ต่อมาเมื่อเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ก็ได้ใช้เรื่องที่รับฟังหลายๆ เรื่องไปเป็นตัวอย่างประกอบการสอนหลายวิชา ทั้งปรัชญา ศาสนา สังคมวิทยา และมานุษยวิทยา แล้วยังได้นำวิธีวิเคราะห์ปัญหา มุมมองพฤติกรรมต่างๆ ที่ท่านเสนอแนะ มาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางดำเนินชีวิตตัวเองด้วย

ประสบการณ์ที่กลุ่มพุทธฯ เพิ่มมากขึ้นเมื่อพี่กรองกาญจน์ ทวีสิน (พี่อี๊ด รุ่น 32) ประธานกลุ่ม ชักชวนให้มาร่วมทำกิจกรรม จำได้ว่าได้ไปเลี้ยงและเล่นกับเด็กกำพร้าที่บ้านราชวิถี  สมัยนั้นเด็กเรียกนิสิตหญิงว่า “แม่” นิสิตชายว่า “พ่อ” ทีแรกรู้สึกขวยเขิน แล้วก็เข้าใจความต้องการทางจิตใจของเด็กๆ จึงแทนตัวเองว่า “แม่” อย่างสนิทใจ  ที่จำได้อีกอย่างคือไปทำบุญถวายอาหารพระภิกษุอาพาธที่โรงพยาบาลสงฆ์

นอกจากกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมแล้ว ก็มีกิจกรรมสนุกๆ ในจุฬาฯ ให้ทำด้วย จำได้ว่าช่วยกันทำกระทงเพื่อไปลอยในสระน้ำหน้ามหาวิทยาลัยในวันลอยกระทง เป็นครั้งแรกที่ได้หัดใช้โฟมแผ่นมาดัดแปลงตกแต่งประดิษฐ์เป็นกระทง  อีกอย่างที่ได้ฝึกหัดเป็นครั้งแรกที่กลุ่มพุทธฯ คือ การนั่งสมาธิ ฝึกท่อง “พุทโธ” กำหนดลมหายใจ เข้า ออก ช้าๆ เป็นการฝึกควบคุมจิต อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ให้มีความตั้งใจมั่น ระลึกมั่นที่ถูกต้อง  ซึ่งยากมากสำหรับนิสิตปีสองที่จิตวอกแวก คิดโน่นคิดนี่ตลอดเวลา เปรียบเสมือนลิงโหนกิ่งไม้จากต้นนี้ไปต้นโน้นสลับเปลี่ยนไปเรื่อย  อย่างไรก็ดี การเริ่มฝึกตอนนั้นนับเป็นพึ้นฐานที่มั่นคงเมื่อมาเข้ากลุ่มร่วมนั่งสมาธิแบบเซน ที่สำนักในฮอโนลูลู ตอนย่างเข้ามัชฌิมวัย

กิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับกลุ่มพุทธฯ ที่ทำให้ปลื้มปิติมาก และนับเป็นเกียรติยศมีอยู่สองอย่าง คือ (๑) ได้เข้าเฝ้า และรับประทานเลี้ยงน้ำชาจากสมเด็จพระราชชนนี ฯ ที่วังสระปทุม   (๒) ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนคณะไปร่วมงานของ องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) และในงานนั้นได้รับโล่ห์รางวัล “ผู้มีความประพฤติดี” จาก ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ รองประธาน พ.ส.ล. ทำหน้าที่แทนประธานฯ และต่อมาในปี พ.ศ.2527 ท่านก็ได้รับเลือกให้เป็นประธาน พ.ส.ล.

การเข้าไปร่วมทำงานในกลุ่มพุทธฯ ตอนเรียนปีสองทำให้ได้มีประสบการณ์ที่ประทับใจ และเป็นแรงดลใจให้อุทิศเวลา ความสามารถ ร่วมเป็นเลขาธิการช่วยก่อตั้งสมาคมพุทธนานาชาติในฮาวาย ซึ่งเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมความร่วมมือระหว่างชาวพุทธ สายเถรวาท มหายาน และ วัชรยาน ต่อมาเราก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานของสมาคมนี้  

กลับขึ้นด้านบน

เทวาลัยในฝัน สาลี่ เกี่ยวการค้า

เทวาลัยในฝัน

ภาพความหลังฝังใจไม่เลือนลับ     ยังคงกลับเยือนใจแม้ในฝัน

เทวาลัยส่องใจไปนิรันดร์             ยังเฉิดฉันงดงามในคำนึง

เทวาลัยให้แนวทางสร้างชีวิต       สร้างแนวคิดฝันไกลไปให้ถึง

พระคุณนี้ล้ำค่ายังตราตรึง           ยังเป็นหนึ่งถิ่นเก่าครั้งเยาว์วัย

เทวาลัยงามเด่นเป็นสง่า             ศรีจุฬาฯเฉิดฉันนิรันดร์สมัย

เธองดงามล้ำค่ากว่าสิ่งใด           เทวาลัยศรีจุฬาฯ สง่าแดน

สาลี่ เกี่ยวการค้า

กลับขึ้นด้านบน

นานาความทรงจำในชีวิตนิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาฯ หน่อย

นานาความทรงจำในชีวิตนิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

รุ่นเราที่สอบเข้าในปี 2508 มีด้วยกัน 146 ชีวิต (ผู้ชาย 7 คน) เป็น ม.6 รุ่นสุดท้าย ที่ต่อ มศ. 4 - 5 แล้วสอบรวมเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐ ซึ่งเลือกได้สูงสุด 5 คณะ แน่นอนว่า คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ อยู่ในอันดับต้นๆ ที่เด็กสายศิลป์เลือก แต่เป็นน้องใหม่อักษรฯ ต้องเรียนหนักสัปดาห์ละ 33 ชั่วโมง และเรียนทุกวิชาเหมือนกันทุกคน ยกเว้นวิชาเฉพาะที่เลือกตอนสอบเข้า คือ ฝรั่งเศส เยอรมัน และคณิตศาสตร์ กว่าจะเรียนน้อยลงก็ต้องรอจนขึ้นชั้นปีที่ 3 ที่เลือกเรียนได้ 3 หมวดวิชา และมีวิชาใหม่เพิ่มให้เลือกอีก 2 หมวด คือ ญี่ปุ่น และปรัชญา แต่แม้เรียนหนัก หลายคนก็หาเวลาไปเดินห้างไดมารู ราชประสงค์ โดยนั่ง taxi อัดกันไป 5 คน (ต้องนั่งก้ม ๆ ระวังไม่ให้ตำรวจเห็นว่าผู้โดยสารเกิน 4 คน) เพื่อไปขึ้น-ลงบันไดเลื่อนที่มีเป็นที่แรกของเมืองไทย และซื้อขนม กับของกระจุกกระจิก

ถึงเวลาสอบชั้นปีที่ 1 ต้องสอบทั้งวันจนเหนื่อย แถมสอบติดต่อกัน 5 วัน แต่หลายคนก็ดูสนุกกับการสอบ มีการขอสมุดมาพรรณนาคำตอบเพิ่มอีก 2-3 เล่มให้เพื่อนคนอื่นใจเสีย โดยเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ไทย พอสอบปลายปีเสร็จ ก็ลุ้นผลว่า จะ ab หรือจะ re ถ้า ab pass (absolutely pass) คือ สอบแต่ละหมวดวิชาได้เกิน 60% (คะแนนกลางปี 40% + ปลายปี 60%) ก็เฮกันไป แต่ถ้าต่ำกว่านั้น ก็ต้อง re exam แล้วถ้ายังสอบไม่ผ่านอีก ก็ต้อง repeat เรียนซ้ำชั้นวิชาที่ไม่ผ่าน หากเหตุการณ์ยังคงเป็นเหมือนเดิม ก็ต้อง retire ดังนั้น จึงต้องเรียนกันอย่างจริงจัง ไม่ให้พลาดเสียเวลาเปล่า

ห้องเรียนรวมชั้นปีที่ 1 คือ ห้อง 10 ตึกเทวาลัย (อาคารมหาจุฬาลงกรณ์) ด้านหน้าห้องมียกพื้น ตั้งโต๊ะและเก้าอี้อาจารย์ ด้านหลังโต๊ะเป็นกระดานดำใหญ่ซ้อนกัน 2 แผ่น ชักขึ้น-ลงสลับบน-ล่างได้ สำหรับอาจารย์ใช้ชอล์คเขียนประกอบบรรยาย ณ โถงกลางของตึกนี้มีระเบียงกลางเชื่อมต่อกับตึกห้องสมุด (อาคารมหาวชิราวุธ) ภายในโถงกลางมีบันไดขึ้นชั้นสอง ทางซ้ายของบันได มีตู้ “น้ำเหยียบ” ให้ดื่ม ทางขวามีบอร์ด “สวนอักษร” ติดผนังสำหรับใช้สำแดงฝีมือกวี  เดินตรงขึ้นบันไดไปมีโถงที่พักขั้นบันไดก่อนแยกซ้าย-ขวาขึ้นไปห้องเรียนรวม ชั้นปีที่ 2, 3 และ 4  ณ โถงนี้ มีพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ประดิษฐานบนฝาผนังเหนือโต๊ะหมู่บูชา ซึ่งพวกเราจะถวายความเคารพพระองค์ท่านด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อชาวจุฬาฯ ทุกครั้งที่เดินผ่านขึ้นไปเรียนชั้นสอง เดินขึ้นบันใดไปทางซ้ายจนสุดแล้วเลี้ยวซ้าย จะเห็นระฆังแขวนที่ระเบียงทางเดิน มีคุณลุงคนหนึ่งนั่งเก้าอี้อยู่ใกล้ๆ ทำหน้าที่ตีระฆังบอกเวลาเริ่มและหมดชั่วโมงเรียน รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้สาวๆ ได้พึ่งพิงในวันนั้นของเดือนประหนึ่งเป็นพนักงานร้านสะดวกซื้อ

การเรียนในห้อง 10 ทุกคนต้องนั่งตามเก้าอี้ที่จัดเรียงตามลำดับตัวอักษรชื่อ จากหน้าห้องมาหลังห้อง โดยครึ่งปีแรกเรียงจาก ก. มา ฮ. แล้วสลับเป็น ฮ. มา ก. ในครึ่งปีหลัง แต่ละชั่วโมงเรียน มีเจ้าหน้าที่หญิงหนึ่ง (จำชื่อไม่ได้) และชายหนึ่ง (คุณประดิษฐ์) ผลัดกันมาเช็คชื่อ พี่ผู้หญิงความจำดีมาก หากใครย้ายที่ เพียงหันไปสบตาเวลาเช็คชื่อ พี่เค้าก็จะพยักหน้ารับทราบ บางชั่วโมงตอนบ่ายที่ง่วงมาก หลังเช็คชื่อแล้วและอาจารย์หันหน้าไปเขียนกระดาน บางคนก็หาเรื่องตื่นเต้นทำโดยการมุดลอดบังตาประตูบานสูงใหญ่หลังห้องออกไปข้างนอก ทั้งๆ ที่ไม่มีที่ไป แต่ก็มีความสุขที่หนีเรียนได้ ครั้งหนึ่ง “หมู สุ” มุดออกมาแล้วไปจ๊ะเอ๋กับคุณประดิษฐ์ที่ห้องกลาง เล่นเอาจ๋อยไป แต่คุณประดิษฐ์ก็แสร้งเป็นไม่เห็น บางครั้งถ้าแอบหนีหลายคน ก็ต้องเตรียมการเอาเก้าอี้ออกบ้างเพื่อให้ที่นั่งดูเต็ม

ห้องสำหรับเรียนกลุ่มย่อยภาษาอังกฤษ (แยกตามระดับความสามารถ) ภาษาฝรั่งเศส และภาษาเยอรมัน ใช้ห้องเล็กในตึกเทวาลัย และตึกห้องสมุด แต่กลุ่มคณิตศาสตร์ต้องไปเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ บางครั้งระหว่างเดินไปคุยไปก็เจอนิสิตชายที่ส่องกล้องแถวสนามแกล้งหันกล้องมาบ้าง ทำให้เดินขาแทบขวิด ถ้าอยากเลี่ยงก็ต้องใช้ทางลัดผ่านหน้าตึกจักรพงษ์ และสระว่ายน้ำ ในวันปฐมนิเทศที่ห้องประชุมคณะวิทยาศาสตร์ มีนิสิตทั้งจากอักษรฯ ครุฯ บัญชี และวิทยาฯ ทำให้ “ติ๋ม วาส” ตื่นเต้นประทับใจมาก และรู้สึกว่าห้องประชุมทั้งใหญ่และทันสมัย มีแถวเก้าอี้นั่งพร้อมที่พับเปิด-ปิดจัดเรียงแบบโรงละคร ครั้นเรียนจริงกลับปวดศีรษะมากจนต้องคลายเครียดด้วยการว่ายน้ำ พอสอบผ่านเลยทำเท่โดยการเอาตำราเรียนเล่มหนาๆ ไปใส่ปกพลาสติกใสถือแนบอกทุกวัน ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีเรียน แถมชวนเพื่อนผลัดกันถ่ายรูปกอดหนังสือโชว์ปกข้างหอประชุมใหญ่ด้วย

พอขึ้นปีที่ 3 จำนวนคนที่เลือกเรียนคณิตศาสตร์เหลือน้อยลง จนเมื่อขึ้นชั้นปีที่ 4 ก็เหลือเพียง “จิ๋ม” “หนูนิด” และ “สมิต” ทั้งสามคนประทับใจที่อาจารย์ขยันและมุ่งให้ความรู้แก่ศิษย์มาก เมื่อไปถึงห้องเรียนปรากฏว่ามีสูตรต่าง ๆ เต็ม 3 กระดานแล้ว ทำให้ต้องผูกมิตรกับเพื่อนวิทยาฯ เพื่อขอยืมสมุดจดสูตรมาลอก แม้หมดเวลาเรียนแล้วอาจารย์ก็ยังคงสอนต่อช่วงเปลี่ยนห้องเรียน ท่านคงลืมไปแน่เลยว่ามีนิสิตที่ต้องใช้เวลาเดินข้ามคณะมาเรียน

พูดถึงคณะวิทยาศาสตร์ อดนึกถึงต้นจามจุรีตรงข้ามคณะไม่ได้ “ตุ๋ย” เดินผ่านมาโดยไม่ได้สังเกตว่ามีผึ้งที่ต้นบินว่อนอยู่ พอเอามือปัดฝูงผึ้งก็รุมต่อยทันที “ตุ๋ย” ต้องก้มหน้าวิ่งๆๆๆ หนีหัวซุกหัวซุน วิ่งไป ปัดไปจนถึงตึกจักรฯ พี่ๆ น้องๆ แถวนั้นต้องช่วยกันปัดไล่คนละหนุบละหนับจนผึ้งยอมถอยทัพหนี  ศึกครั้งนี้ทำให้ “ตุ๋ย” ถึงกับไข้ขึ้นทีเดียว เพราะพิษเหล็กในผึ้งที่ฝังหนังหัวจนปูดปม ต้องเอาเข็มบ่งออกจึงหายปวด

มาถึงกลุ่มภูมิศาสตร์ กลุ่มนี้นับว่าพิเศษกว่าใครที่ได้เรียนห้องใต้ดินตึกห้องสมุด บางวันที่ฝนใกล้ตก อาจารย์ก็ให้เดินขึ้นไปดูว่าเมฆบนท้องฟ้าเป็นเมฆชนิดใด กลุ่มนี้มี Ms. Smith เป็นอาจารย์สอนแผนที่ที่เน้นเรื่องล้างปากกา “Rotring” ให้สะอาด เพื่อจะได้ขีดเส้นตั้งและเส้นนอนให้บรรจบกันโดยไม่มีช่องว่าง พอจบเทอมทุกคนก็ทำแผนที่เป็น “สุวัฒน์” ทำแผนที่เกาะสมุยได้ทั้งที่ไม่เคยไป และเมื่อได้ไปภายหลังก็รู้สึกคุ้นเคยกับก้อนหินเกือบทั้งเกาะ นอกจากนั้น กลุ่มนี้ยังได้กำไร เพราะในการสอนภูมิศาสตร์ อ. รัชนีกร กับ อ. ไพฑูรย์ ท่านจะสอนประวัติศาสตร์แถมด้วย ทำให้บัณฑิตอักษรฯ มีอัตลักษณ์ชัดเจนแตกต่างจากที่อื่น นอกจากทำและอ่านแผนที่เป็นแล้ว ยังอธิบายแผ่นดินโดยมีเรื่องราวความเป็นมาของผู้คนประกอบด้วย สามารถเล่าประวัติสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศได้เหมือนอยู่ในเมืองนั้นๆ นับว่าอาจารย์ภูมิศาสตร์ของเรามีวิสัยทัศน์อย่างยิ่ง ทำให้ “สุวัฒน์” ต่อยอดเป็นนักผังเมืองได้อย่างง่ายดาย

นอกจากนั้น ห้อง 10 ยังใช้เป็นห้องซ้อมร้องเพลงเชียร์อีกด้วย โดยรุ่นพี่จะมายืนรวมกันหลังห้องเวลาประมาณ 12.30 น. เพื่อต่อเพลงให้  รุ่นน้องก็ต้องรีบรับประทานอาหารกลางวันและมาเข้าห้องประชุมเชียร์ให้ทัน สมัยนั้น โรงอาหารของคณะเป็นเพิงเตี้ยๆ ติดกับรั้วด้านถนนอังรีดูนังต์ ด้านหน้าและด้านข้างโรงอาหารติดสระน้ำเล็กๆ และ “สามแยกปากหมา” ทางเข้าจากถนนด้านหน้า มีโต๊ะอาหารเรียงรายไปจนถึงร้านอาหารด้านหลัง แต่โต๊ะแรกๆ มักมีนิสิตคณะข้างๆ มาจับจองเป็นประจำ ถ้าไม่อยากผ่านเข้าด้านนี้ให้หูชา ก็ต้องไปใช้ “ทางหมาเดิน” ริมขอบสระน้ำ

มีครั้งหนึ่งที่พวกเราไปยืนเกาะระเบียงด้านหน้าดูพี่บัณฑิตที่หอประชุมช่วงเวลาซ้อมเชียร์ วันต่อมาจึงถูกลงโทษให้วิ่งรอบลานชงโคเป็นที่แตกตื่นกันไปทั่วเพราะไม่เคยปรากฏว่ามีน้องใหม่อักษรฯ โดนทำโทษลักษณะนี้มาก่อน ขัดกับภาพลักษณ์ สวย เรียนเก่ง และเป็นกุลสตรี ขนาดเนื้อเพลง “จุฬาของเรา” ยังร้องว่า “อักษรศาสตร์คนสวย ชื่นชวยสำรวยเริงร่า งามล้ำตำรา ขลังกว่าคาถา จะสาธยายร่ายมนต์” แต่พวกเราก็ไม่สลด คงวิ่งหัวเราะกันคิกคัก เพราะส่วนใหญ่เป็นเด็กลุย ทั้งเตะบอลกับคณะโบราณคดี ศิลปากร (จริงๆ วิ่งไล่บอลกันมากกว่า) ทั้งเป็นเชียร์ลีดเดอร์หญิงคนแรกของจุฬาฯ (“แหว”) ทั้งจับกลุ่มเกาะราวด้านล่างอัฒจันทร์สนามจุ๊บ ตากฝนร้องเพลงเชียร์วันแข่งบอลระหว่างจุฬาฯ กับใครจำไม่ได้ จนพี่ธานี ประธานเชียร์ สจม. ต้องตะโกนถามว่าเป็นน้องใหม่คณะไหน แล้วไปชมกับพี่โกร่ง ประธานเชียร์อักษรฯ ให้เป็นปลื้ม แต่ใช่ว่ารุ่นเราลุยแล้วจะไม่สวยนะ แม้รุ่นพี่จะให้สมญาว่ารุ่น “สังคโลกโขกไม่แตก” ก็ยังมีหนุ่มอเมริกัน นักศึกษาแลกเปลี่ยนจาก St. Olaf มาติดใจ “หนู” ถึงขั้นขอแต่งงานเมื่อเรียนจบ และไปครองคู่อยู่ด้วยกันที่อเมริกาจนถึงบัดนี้ ส่วน “ปุ้ม” ก็สวยจนได้รับเลือกเป็นนางเอกละครเรื่อง “นางเสือง”

วันแข่งฟุตบอลประเพณี จุฬา – ธรรมศาสตร์เป็นอีกวันหนึ่งที่ประทับใจ พวกเราสนุกสนานกันมากกับการใส่เสื้อเชียร์สีชมพูนั่งรถกระบะตระเวนร้องเพลงเชียร์ไปทั่วกรุงก่อนเข้าสนามศุภชลาสัย ส่วนเพื่อนบางคนก็ไปช่วยเตรียมงานเชียร์ โดยรีดผ้าสำหรับแปรอักษรที่หอหญิง และนำไปจัดวางเป็นชุดๆ ที่อัฒจันทร์ หลังแข่งเสร็จ นิสิตนักศึกษา จุฬาฯ และธรรมศาสตร์ ก็เดินร้องเพลงไปสนุกกันต่อที่มหาวิทยาลัยที่เป็นเจ้าภาพ มีอยู่ปีหนึ่งที่เดินไปธรรมศาสตร์ คงใช้เวลาเดินนานไปหน่อย กว่าจะไปถึง อาหารบางอย่างที่เตรียมไว้ต้อนรับก็บูดเสีย ทานไม่ได้

ย้อนกลับมาที่เรื่องเรียน หลายคนประทับใจชั่วโมงเรียนวรรณคดี “Macbeth” เพราะ อ.สดใส อ่านบทกวีเหมือนตัวละครนั้นๆ พูด ทำให้สนุกและเข้าถึงเนื้อเรื่อง โดยเฉพาะเสียงเยียบเย็นของแม่มดในเรื่องยังคงก้องในหูจนทุกวันนี้  อาจารย์เป็น idol ของหลายคน ทำให้ “อรุณ” ชอบ Theater Arts และ “แอ๋ว” เจริญรอยตามเป็น “ครูแอ๋ว” สอนการแสดงที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน ส่วน “บุ๋ม” นอกจากประทับใจอาจารย์ที่สอนให้รู้จักใช้วิจารณญาณค้นหาความหมายที่แอบแฝงทั้งใน Poetry และ Drama แล้ว ยังชื่นชม อ.ท่านผู้หญิง นพคุณ พร้อมทั้งยึดถือเป็นแบบอย่างการวางตัวอีกด้วย “บุ๋ม” จำได้ว่าหากมีใครแอบคุยในชั่วโมง เพียงท่านมองไปแล้วยิ้ม คนที่คุยอยู่ก็หยุดคุยทันที  สำหรับ “แมว” ประทับใจ อ.สอ ที่เล่าแกมหัวเราะว่าได้แต่งพจนานุกรมระหว่างติดคุกที่เกาะตะรุเตา

“หนูนิด” รู้สึกโชคดีที่ได้เรียนวิชาภาษาบาลี กับ อ.ม.ล. จิรายุ ที่มีอารมณ์ขัน และยังจำเรื่อง “ลิงขี่จระเข้ข้ามฝั่ง” ในชาดกได้ว่า เมื่อถึงเวลาสอบอาจารย์เปลี่ยนโจทย์เป็น “จระเข้ขี่ลิงข้ามฝั่ง” ทำให้แปลผิดกันเกือบหมด นับว่าเป็นวิชาปราบเซียนอย่างแท้จริง ส่วน “ไก่” ฝังใจจำที่อาจารย์สอนเรื่อง “to be surprised” และ “to be amazed” ที่แม้มีความหมายเหมือนกัน แต่มี degree ต่างกัน ทั้งยังได้นำไปใช้เป็นตัวอย่างในการสอนลูกศิษย์ต่อไปด้วย

อ.คุณหญิงจินตนา มักมีเกร็ดย่อยมาเล่าให้ลูกศิษย์ฟังตั้งแต่เรื่องสมัยเรียนที่อเมริกา การมีส่วนร่วมในขบวนการเสรีไทย จนถึงเรื่องการครองเรือน และบทบาทหญิง-ชาย ซึ่ง “บุ๋ม” ชื่นชม และถืออาจารย์เป็นแบบอย่างของ feminists นอกจากนั้น “บุ๋ม” ยังชอบที่ อ.แถมสุข เล่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์ไทยสมัยต่างๆ จนเห็นภาพเหมือนได้ดูละคร ทำให้จำเหตุการณ์ได้ดียิ่งกว่าอ่านจากตำรา

พวกเราซาบซึ้งในเมตตาจิตของคณาจารย์ที่ประสิทธิประสาทความรู้ให้ และรู้สึกโชคดีมากที่ได้เรียนกับอาจารย์ที่รักการสอน เอาใจใส่นิสิต และชี้แนะแนวทางชีวิตในอนาคต ตลอดจนเป็นแบบอย่างของครูที่ดี

ระหว่างเรียนที่คณะ ในชั่วโมงหนึ่งของการเรียนชั้นปีที่ 2 ที่จู่ๆ พัดลมเพดานก็กวัดแกว่งไปมา สาเหตุจากแผ่นดินไหว พวกเราจึงต้องวิ่งอ้าวลงมาที่สนาม รอจนเหตุการณ์สงบแล้วค่อยกลับขึ้นไปเรียนต่อ แต่เมื่ออยู่ชั้นปีที่ 3 กลับมีเรื่องตื่นเต้นระทึกใจกว่า ขณะยืนที่ระเบียงหลังห้องเรียนรวมตรงข้ามกับปราสาทแดง รู้สึกผิดสังเกตที่นิสิตชายจับกลุ่มกันหลายกลุ่มใต้ต้นไม้ จากนั้นก็ถอนไม้ที่ปักเป็นรั้วเตี้ยๆ รอบโคนต้นไม้แล้ววิ่งฮือไปทางด้านหน้าจุฬาฯ ประหนึ่งยกทัพไปตีข้าศึก สักพักใหญ่ก็กลับมาด้วยสภาพเลอะเทอะ เสื้อเปื้อนเลือด เดินมาเองบ้าง หามกันมาบ้าง “ฮิต” เห็นเลือดแล้วกลัวมากจนร้องไห้ (เราอาจทะเลาะเบาะแว้งตีกันเองบ้างเป็นบางครั้งด้วยฮอร์โมนที่พลุ่งพล่าน แต่ถ้ามีใครมาเหยียดหยามจุฬาฯ แล้วละก็รับรองได้ว่า “เราไม่ยอม ๆ”)

ถึงจะเรียนหนัก พวกเราก็เข้าร่วมกิจกรรมอย่างไม่ขาดตกบกพร่องทั้งด้านกีฬา ดนตรีไทย และกิจกรรมอื่นๆ ของ สจม. แม้ว่ากีฬาหลายอย่างจะไม่เคยเล่นมาก่อน ยกตัวอย่างแบดมินตัน “นิด” และ “หน่อย” ก็เพิ่งมาหัดจริงจังไม่นานก่อนลงแข่งขันหญิงคู่ใน “กีฬาน้องใหม่” จึงสามัคคีตีลูกขนไก่พร้อมกันบ้าง ปล่อยให้ตกลงตรงกลางแบบต่างคนต่างมองหน้ากันบ้าง ทำให้จบเกมแบบไม่เหน็ดเหนื่อย  ส่วนกีฬาทางน้ำ เมื่อรุ่นพี่มาชวน คนที่พอว่ายน้ำแข็ง เช่น “ณี” “สุวัฒน์” “หมู สุ” “วัช” “ใหญ่” “อ้อย” “จั้น” และ “ติ๋ม วาส” ก็ยอมลงสระฝึกซ้อมเพื่อแข่งโปโลน้ำหญิงในนามคณะ แล้วพวกเราก็ได้ภูมิใจกับเหรียญทองแดงที่เพื่อนๆ นักกีฬาสู้เต็มที่ด้วยสปิริต และความสนุกสนาน แม้ซ้อมเพียงไม่กี่ครั้ง

นอกจากนั้น การเข้าร่วมกิจกรรมกับชมรมพุทธศาสตร์และประเพณี ก็ทำให้หลายคนรู้สึกมีบุญมากที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชชนนีฯ พร้อมกับบรรดากรรมการชมรมฯ เพื่อถวายพระพุทธรูป รวมถึงมีโอกาสนั่งรถไฟล่องใต้ไปทัศนศึกษาภายใต้การนำของอาจารย์ที่ปรึกษาฯ คือ อ.ดร. อาจอง ชาวคณะออกเดินทางตอนเช้าและไปถึงสุราษฎร์ธานี เช้าวันรุ่งขึ้น จากนั้นก็เดินทางต่อไปทำบุญที่สวนโมกขพลาราม อำเภอไชยา ได้นั่งพิงโคนต้นไม้ที่ลานหินโค้งฟังท่านพุทธทาสแสดงธรรมอย่างจดจ่อจนคำนับไปหลายครั้ง การไปครั้งนี้ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากรุ่นพี่ที่รับราชการที่ภาคใต้ ทั้งเลี้ยงอาหาร และสละเวลามาพูดคุยอย่างเป็นกันเอง

เรื่องเล่าชีวิตนิสิตจุฬาฯ นี้จะไม่สมบูรณ์ หากปราศจากเรื่อง “รับน้อง” และเรื่อง “ทรงดนตรี”

การรับน้องใหม่เริ่มต้นจากการตั้งแถวในตอนเช้า “ปิลันธน์” หัวหน้าห้องชาย ถือธงคณะสีเทานำหน้า ตามด้วย “จิ๋ม” หัวหน้าห้องหญิง ต่อด้วยแถวผู้หญิงเรียงลำดับตามความสูงและปิดท้ายด้วยน้องใหม่ชาย ทุกคนหน้าตาแจ่มใสมีพวงมาลัยจามจุรีคล้องคอเดินแถวผ่านซุ้มแต่ละคณะให้รุ่นพี่ทำพิธีรับน้อง บ้างก็เขียนสีบนหน้า บ้างก็ให้ร้องเพลงหรือเต้นระบำ บ้างก็เอาป้ายข้อความน่ารักๆ หรือขำๆ มาคล้องคอ แต่ถ้าพี่ผู้หญิงคณะเราไม่ขำด้วยก็จะปลดออก แถวน้องใหม่อักษรฯ ใช้เวลานานมากกว่าจะผ่านแต่ละซุ้ม บางครั้งพี่ๆ ที่น่ารักต้องตัดแถวไปซุ้มคณะอื่นจนเสร็จสิ้นเข้าหอประชุมพร้อมสีเลอะเทอะเต็มหน้า เมื่อทุกคณะเข้าหอประชุมครบแล้ว เพลงมหาจุฬาลงกรณ์ก็ดังขึ้น ทุกคนลุกขึ้นยืนเปล่งเสียงร้องพร้อมกัน  “น้ำใจน้องพี่สีชมพู ...” ที่ผูกพันเราในความเป็นจุฬาฯ แม้นึกขึ้นมาตอนนี้ก็อดน้ำตารื้นไม่ได้

วันมหามงคลที่พวกเรารอคอย คือ วันที่ 20 กันยายน อันเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พระเจ้าลูกยาเธอ และพระเจ้าลูกเธอ มาทรงดนตรีที่หอประชุมจุฬาฯ  ก่อนวันเสด็จฯ บรรดานิสิตได้ซ้อมร้องเพลงถวาย 2 เพลง คือ “Smile” กับ “When” ซึ่งล้วนมีเนื้อหาซึ้งตรึงใจ เมื่อถึงวันทรงดนตรี พวกเรานั่งรอกันเต็มหอประชุม ทั้งบนเก้าอี้ และบนพื้น “แอ๋ว” และ “อรุณ” สารภาพว่าไม่กล้าลุกไปไหนเพราะกลัวเสียเก้าอี้ ครั้นได้เวลาร้องเพลงถวาย “ต้อย” หนึ่งในตัวแทนน้องใหม่ก็ได้ขึ้นไปร้องนำบนเวที ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีบุญมากที่ได้ขับร้องบนเวทีเดียวกับที่พระองค์ท่านประทับ นิสิตทั้งหมดได้ร้องเพลง Smile กันอย่างพร้อมเพรียง “.. When you smile at one, he smiles at you. So one little smile makes two. …” ในวันนั้น เพลงที่บรรเลงและขับร้องล้วนไพเราะทั้งสิ้น เช่น เพลง “Joey” ขับร้องโดย อ.คุณกัญดา และ เพลง “Danny Boy” ขับร้องโดย อ.คุณหญิงจามรี  ส่วน “หนูนิด” ชอบ อ.คุณหญิงจินตนา ร้องเพลงคู่กับ อ.ดร. คลุ้ม “… เป็นผู้หญิงแท้จริงแสนลำบาก เป็นผู้ชายยิ่งยากกว่าหลายเท่า .........”

วันทรงดนตรีเป็นวันที่พวกเราปลาบปลื้มมีความสุขมาก และรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น รู้สึกว่าเป็นคนพิเศษที่มีบุญยิ่งใหญ่ เพราะจะมีใครกี่คนในประเทศไทยและในโลกใบนี้ที่พระมหากษัตริย์เสด็จฯ มาทรงดนตรีพระราชทาน ทำให้ประจักษ์ชัดถึงพระอัจฉริยภาพทางดนตรี และพระอารมณ์ขันที่มีพระราชกระแสรับสั่งอย่างขำขันกับอาจารย์ และผู้บริหารเป็นระยะๆ โดยเฉพาะนายกสภาฯ พลเอกประภาส จารุเสถียร  ครั้งหนึ่งเมื่อพิธีกรประกาศว่านายกสภาฯ บริจาค 20,000 บาท  พระองค์ก็ทรงแสร้งรับสั่งว่า “อะไรนะ 20,000 สองครั้งหรือ” พวกเราก็ได้แต่นั่งหัวเราะปนซาบซึ้งตลอดเวลาทรงดนตรี ช่างเป็นช่วงเวลาที่มีแต่ความสุขและความอิ่มเอมใจที่ได้เข้าเฝ้าฯ ใกล้ชิด ได้ชมพระสิริโฉมอันงดงามของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ซึ่งในสายตาของนิสิตตัวเล็กๆ เห็นว่าทรงพระสิริโฉมที่สุดในโลก ”พี่ตี้” นั้น นอกจากชื่นชมในพระสิริโฉมแล้ว ยังชื่นชอบฉลองพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ และจดจำได้ทุกองค์ อีกทั้งสะสมภาพพระราชกรณียกิจจำนวนมากไว้เป็นอัลบั้ม ได้อวดคนอื่นอย่างมีความสุขทุกครั้ง และสุดเสียดายเมื่ออัลบั้มหายไปตอนย้ายที่อยู่

ในวันนั้น พวกเราได้มีโอกาสโดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดลด้วย โดยบริจาคเงินใส่ขันใบใหญ่ที่ส่งเวียนต่อกันไปทั่วหอประชุม “ไก่” จำได้แม่นว่า อ. มล. จิรายุ หนึ่งในพิธีกร ได้กราบบังคมทูลว่าที่มีผู้โดยเสด็จพระราชกุศลจำนวนมากเพราะพระองค์ทรงเป็นเนื้อนาบุญของชาวไทย เงินทำบุญทั้งหมดนั้นได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายก่อนเสด็จฯ กลับ โอกาสนี้ตอนอยู่ปีที่ 3 “จั้น” ภูมิใจมากที่ได้ถวายเทปการแสดงแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย เมื่อสิ้นสุดการทรงดนตรี พวกเราได้ร้องเพลง “When” ถวายกันเสียงดังกระหึ่ม “…Oh won’t you please tell me when we two would meet once again....” แล้วก็ร้องท่อนสุดท้ายซ้ำไปมาไม่ยอมจบง่ายๆ ว่า “Please tell me when.” ครั้นถึงเวลาเสด็จฯ กลับจริงๆ ตอนค่ำ พวกเราก็กรูกันออกไปส่งเสด็จข้างหอประชุม ซึ่งรถพระที่นั่งต้องผ่านออกไป แล้วก็แยกย้ายกันกลับบ้านไปนอบหลับฝันดีอย่างมีความสุข

รวบรวมและเรียบเรียงโดย “หน่อย” ?? ช่วยตรวจทานโดย “อ้วน ร.”

    จากความทรงจำของ “พี่ตี้” “ติ๋ม” “ตุ๋ย” “ต้อย” “อ้อย” “แอ๋ว” “แมว” “ไก่” “หมู” “หนูนิด” “อรุณ” “บุ๋ม” “จั้น” “สุวัฒน์” และ “หน่อย”

 

กลับขึ้นด้านบน

Four Years at Chula Arun Sampanthvivat

Four Years at Chula

Four years at Chula, full of fond memories..

So many things happened...professors, friends...all faces, and me.

Wherever I go, whatever I do.

Whenever I feel so down, I also feel so free

'Cause Chula taught me to be proud...

She taught me to be ME!

Arun Sampanthvivat

กลับขึ้นด้านบน

ความทรงจำ ของ อรุณ

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University