เรื่องเล่าของนิสิตเก่า รุ่น 35

คำสอนที่หล่อหลอมอุดมการณ์ โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์

  เรื่องเล่า  อบ.38   (  ยังไม่ได้ใส่รูปประกอบ ) 

  1. คำสอนที่หล่อหลอมอุดมการณ์

       สี่ปีที่คณะอักษรศาสตร์ได้ผนึกรากฐานความรู้เกี่ยวกับศิลปศาสตร์ ทักษะในภาษาต่างประเทศ สังคมศาสตร์ และที่เหนือกว่าสิ่งใด อุดมการณ์กับความรับผิดชอบที่พึงมีในฐานะปัญญาชนของชาติ ข้าพเจ้าหวนรำลึกถึงศาสตราจารย์คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร ถึงวันเวลาที่เคยได้ความอาทรห่วงใยจากท่าน ตลอดช่วงสี่ปีที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  คำพูด คำสอน คำบอกเล่า ตลอดจนบุคลิกของท่านอาจารย์ เป็นหนังสือทฤษฎีและตัวอย่างของแบบฝึกหัดสำหรับการปฏิบัติตนเพื่อการเป็นกุลสตรีที่มีคุณภาพ มีสติปัญญาและมีจริยธรรมสูง ท่านได้สร้างค่านิยมที่ดีแก่พวกเรา  ปูและชี้ทางของความจริง ความดีและความงามแก่ทุกคนที่มีโอกาสใกล้ชิดท่าน

       ท่านอาจารย์เป็นผู้ให้ความหวัง กระชับความตั้งใจมุ่งมั่น จนเป็นอุดมการณ์ชีวิตแก่ข้าพเจ้า ความเมตตาของท่านเป็นอภิสิทธิ์ที่ข้าพเจ้าจารึกไว้ในดวงใจ  และแม้วันเวลาจะผ่านไปสี่สิบห้าสิบปี

ทุกอย่างที่ท่านสอนและดลใจข้าพเจ้า ยังคงเข้มข้นในจิตวิญญาณของข้าพเจ้ามาจนถึงทุกวันนี้ 

ข้าพเจ้ายังจำประโยคของท่านที่เขียนลงในหนังสือรุ่น ๒๕๑๐ เล่มปกแดงของข้าพเจ้าว่า 

 

การเป็นนิสิตหรือนักเรียนไม่ใช่ง่ายๆ แต่เป็นครูยากยิ่งกว่า

บางคนเลือกเป็นครู ก็เพราะห่วงในอนาคต อนาคตที่ไม่ใช่ของตัวเอง

แต่เป็นอนาคตของโลกมนุษย์ ของประเทศชาติ ของลูกและลูกศิษย์นั่นแหละ

ขอฝากอนาคตนี้ไว้ด้วย.

จินตนา ยศสุนทร ๑๕ มกรา ๑๔.

      คำพูดนี้มีน้ำหนักเสมอหิน เสมือนภูผาแข็งแกร่งที่คอยกำบังลมพายุที่พัดกระหน่ำในช่วงต่างๆของชีวิต  ทำให้ข้าพเจ้าไม่ล่องลอยหลุดหายไปในกระแสค่านิยมที่ผิดๆ หรือหลงระเริงในความฉาบฉวย  ทำให้ข้าพเจ้ามีพลังจิตที่ยืนหยัดยึดมั่นในอุดมการณ์และเป้าหมายของการเป็นครูตามแบบอย่างท่าน ทำให้ข้าพเจ้าเพียรพยายามพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะอ้างตนว่า “เป็นครู”.
       ท่านเคยบ่นด้วยความน้อยใจบ่อยๆว่า ศิษย์รักศิษย์โปรดของท่าน เมื่อจากไปศึกษาต่อ ก็มักไปแล้วไปเลย คือไปตั้งถิ่นฐาน มีครอบครัวในต่างแดนเสียหมด ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นศิษย์รัก ไม่ได้ใกล้ชิดท่านมากไปกว่าสี่ปีที่ได้เห็นได้เรียนกับท่านที่คณะอักษรศาสตร์. และได้จากแผ่นดินไทยไปศึกษาต่อ

ไม่เคยได้กลับมากราบท่าน ละอายใจที่ไม่ได้กลับมารับใช้เป็นครูในหมู่คนไทย วันเวลาล่วงเลยไปเรื่อยๆ สามสิบกว่าปีผ่านไปแล้ว จึงได้กลับมายังบ้านเกิดเมืองนอน.

      แม้ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ที่ตั้งใจไว้ ไม่ได้ “เป็นครู” ในเมืองไทย ข้าพเจ้าก็ได้เพียรพยายามรักษาอุดมการณ์และพัฒนาจิตวิญญาณของ “ความเป็นครู” อย่างไม่ลดละมาจนทุกวันนี้ ด้วยการขยัน

หมั่นเพียรหาความรู้ และหาทางถ่ายทอดความดี ความงาม ความประณีตแบบใดๆ จากวัฒนธรรมตะวันตกที่ได้ไปศึกษามา หรือจากวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่ได้สัมผัสมาเป็นเวลานานปี เพื่อให้เป็นอุทาหรณ์

แก่รุ่นน้องๆ แก่ลูกหลานไทย ด้วยจิตคารวะและนบนอบต่อท่านอาจารย์ผู้ปูทางที่ดีที่สุด ที่ตรงที่สุด

ให้ข้าพเจ้าเดินไป และด้วยความสำนึกในบุญคุณต่อแผ่นดินที่ข้าพเจ้าเกิด     

       ข้าพเจ้าหวนนึกถึงชีวิตของท่านอาจารย์ อุดมการณ์และจุดยืนของท่านในสังคมไทย ในสังคมมหาวิทยาลัย ในฐานะ สุภาพสตรีปัญญาชนคนไทยผู้โดดเด่นที่สุด ผู้หนึ่งในศตวรรษที่ ๒๐ ของไทย  ท่านเป็นเสมือนเหง้าองุ่น เป็นต้นองุ่นที่ยืนหยัดในผืนดินที่แห้งแล้ง ในสภาพภูมิธรณีที่พืชผลอื่นมิอาจทนได้ ท่านเป็นต้นองุ่น เป็นปาฏิหาริย์ของธรรมชาติ ธรรมชาติที่ไม่ถดถอย ที่หยั่งลึกลงไปไกล ดูดอาหารและสิ่งดีๆ  เนรมิตผลองุ่นแล้วเป็นไวน์ที่กาลเวลามิอาจทำลาย. ไวน์ที่เป็นทั้งอาหารและเครื่องดื่ม ที่เป็นยาบรรเทาโรคของคนมาแต่ดึกดำบรรพ์ (หลุยส์ ปาสเตอร์ กล่าวว่า ไวน์เป็นเครื่องดื่มที่สะอาดและถูกสุขอนามัยที่สุดที่คนมี).

       ศาสตรจารย์คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร ท่านเป็นไวน์น้ำอมฤตนั้น เพราะสำหรับข้าพเจ้าและเพื่อนๆร่วมรุ่น ๒๕๑๐ ท่านเป็นน้ำอมฤตที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของเหล่าลูกศิษย์เสมอมา
                                                                                                                                       

      ชั่วโมงเรียนภาษาสเปนกับท่านอาจารย์ด็อกเตอร์เดโช อุตตรนที เป็นชั่วโมงแห่งการเรียนรู้ที่รื่นเริงคละเคล้าไปด้วยเสียงหัวเราะ ท่านอาจารย์เดโชทำให้การเรียนภาษาสเปนเป็นเรื่องง่าย ไม่มีใครสอบภาษาสเปนตก ท่านอาจารย์ยังชวนเหล่านิสิตไปที่บ้าน ทำก๋วยเตี๋ยวให้พวกเราทาน ได้พบกับภรรยาสเปนและลูกชายแสนน่ารักของท่านสองคน.

กลุ่มเรียนภาษาสเปนปีสาม ที่แสนจะรื่นเริง

      เมื่อข้าพเจ้าเรียนจบ มีโอกาสเป็นอาจารย์พิเศษ ช่วยสอนวิชาภาษาสเปนให้หนึ่งวิชาที่คณะอักษรฯ (กับภาษาฝรั่งเศสอีกหนึ่งวิชา) ท่านอาจารย์ก็เอาใจใส่เลี้ยงดูข้าพเจ้าเป็นอย่างดี ท่านพาข้าพเจ้าไปทานอาหารกลางวันเกือบทุกครั้งที่ข้าพเจ้าไปสอน เราไปหาอะไรกันทานนอกมหาวิทยาลัยหรือนอกสโมสรอาจารย์ อาจารย์ขับรถออกไปกับข้าพเจ้าสองคน ไปหาอะไรทานกันแถวสามย่าน นี่เป็นอภิสิทธิ์ที่ประทับฝังแน่นในดวงใจของข้าพเจ้า.

      ประโยคหนึ่งที่ข้าพเจ้าไม่เคยลืมมาจนถึงวันนี้คือ การเป็นอาจารย์ ต้องเพียรหาความรู้ เราจะสอนอะไรใคร เราต้องมีความรู้มากกว่าผู้ที่เราสอนอย่างน้อยเจ็ดเท่า การเป็นผู้ช่วยอาจารย์ทันทีที่เรียนจบปริญญาตรีนั้น นับว่าด้อยความรู้และประสบการณ์มาก ท่านอาจารย์จึงได้เตือนสติข้าพเจ้าให้พากเพียรหาความรู้ความชำนาญในภาษาที่สอน

      สิบปีต่อมาหลังจากจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยปารีสแล้ว ข้าพเจ้าได้รับเชิญให้ไปสอนภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งหนึ่งมีนักศึกษาเกาหลีคนหนึ่ง พูดกับข้าพเจ้าในห้องเรียนถึงอาจารย์เกาหลีท่านหนึ่งว่า อาจารย์ท่านนั้นพูดภาษาไทยไม่เก่ง ข้าพเจ้าหยุดสอน คำพูดของท่านอาจารย์เดโชดังขึ้นในสมอง ทำให้ข้าพเจ้าบอกกับนักศึกษาคนนั้นและกับทุกคนในห้องว่า นักศึกษาไม่มีความรู้อะไร ไม่มีวัยวุฒิ ไม่มีคุณวุฒิมากเพียงพอที่จะวิจารณ์อาจารย์เกาหลีคนนั้น เพราะแน่นอนอาจารย์เกาหลีคนนั้น อย่างน้อยรู้มากกว่าคุณเจ็ดเท่า. การที่อาจารย์คนนั้นพูดภาษาไทยไม่คล่องเท่าคนไทย ไม่ได้หมายความว่า ท่านไม่มีความรู้ ทักษะการพูดนั้นพัฒนากันได้เมื่อมีโอกาสใช้ภาษานั้นมากขึ้นๆ แล้วก็พูดต่อไปถึง การคิดตัดสินคนนั้นคนนี้ว่าเก่งหรือไม่ การตัดสินอย่างนั้น อย่างน้อยคุณต้องมีระดับคุณวุฒิใกล้เคียงกับคนนั้นหรือมากกว่า หรือมีความรู้ในแขนงเดียวกันเท่าเทียมกัน จึงวิจารณ์ได้ แต่พวกคุณยังไม่รู้อะไรนักเลย คุณอาจมีความรู้สึกว่าอาจารย์คนนั้นสอนดี เพราะคุณเข้าใจบทเรียนได้ดี นั่นคุณพูดได้ คุณแสดงความรู้สึกจริงของคุณได้ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร  แต่ไม่ว่ากรณีใดๆ นักศึกษาไปตัดสินอาจารย์คนไหนว่า เก่งไม่เก่งนั้น ไม่ได้  เหมือนเด็กเล็กๆที่บอกว่า แม่ฉันดีที่สุด เก่งที่สุดหรือสวยที่สุด. โลกของเด็กใหญ่แค่ไหน คำว่า“ดี เก่ง สวย” คืออะไร ในโลกของเด็ก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ถูกต้องและมีความหมาย คือความรู้สึกของเด็กว่าเด็กรักแม่ แต่แม่ของเด็กดี(เก่งหรือสวย)ที่สุดจริงไหมนั้น ไม่ใช่ประเด็นที่มีความสำคัญหรือมีนัยใดๆเลย

      ท่านอาจารย์เดโช ได้เตือนสติข้าพเจ้าในเรื่องการตัดสินใครหรืออะไร คนที่เป็นนักวิจารณ์ต้องมีความรู้มากและรอบด้านและมีความเที่ยงธรรมในจิตสำนึกด้วย มองทุกอย่างตามเนื้อผ้า เพราะฉะนั้นการวิพากษ์วิจารณ์อะไรหรือใคร จึงต้องรู้สถานะและขีดจำกัดของตน เราอาจพูดถึงความประทับใจหรือไม่ ความชอบหรือไม่ชอบเกี่ยวกับเรื่องหนึ่งหรือคนหนึ่ง แต่การตัดสินว่าอะไรดีหรือไม่ดี คือการตัดสินคุณภาพ ต้องมีหลักการ มีตัวอย่างจริงสนับสนุนชัดเจน เหมือนการตัดสินกรณีพิพาทที่ศาล

ผู้พิพากษาต้องมีความรู้จริงและรอบด้าน รวมทั้งมีระดับจิตวิทยาที่ลุ่มลึก คำพูดจึงมีน้ำหนักและน่าเชื่อถือ และไม่น่าขำหรือไร้เดียงสาเหมือนคำพูดของเด็กๆที่พูดถึงแม่ของเขาหรือสิ่งที่เขาชอบว่าดีที่สุด ที่ส่อให้เห็นความผูกพันในความรู้สึก มากกว่าการวัดการประเมินสิ่งที่เป็นนามธรรมเช่นความเก่งหรือความดี  ในสังคม เราต้องเติบโต เราไม่อาจคิดหรือพูดแบบเด็กๆอย่างนั้นได้

      วันนั้นนักศึกษาฟังอย่างครุ่นคิด หลังจากนั้นไม่มีใครวิจารณ์อาจารย์คนใดอีกเลย เปลี่ยนไปพูดว่า ขอบคุณอาจารย์ที่สอน ผมเข้าใจบทเรียนวันนี้แล้วครับ หรือหากไม่เข้าใจ ก็ขอให้อาจารย์อธิบายอีกครั้งหนึ่งเป็นต้น

      และนี่คือคำสอนของท่านอาจารย์เดโช อุตตรนที ที่ฝังใจข้าพเจ้าเสมอมา โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษา การคิด การวิจารณ์แบบฝรั่งเศสหรือสเปน เป็นไปไม่ได้เลยที่จะปล่อยคำพูดลอยๆอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นการพูดเล่น การพูดเพื่อมารยาท หรือพูดเยินยอ ต้องมีข้อมูลสนับสนุน มีตัวอย่างชัดเจนที่อ้างอิงได้ มิฉะนั้นก็เท่ากับประจานวุฒิภาวะของตนเอง

  

       ข้าพเจ้านึกถึงท่านผู้ช่วยศาสตราจารย์ มรว. ดวงใจ ชุมพล ผู้ได้มอบภาพพิมพ์ชาดกภาพหนึ่งให้ข้าพเจ้าเมื่อข้าพเจ้าลาไปศึกษาต่อที่ฝรั่งเศส ท่านยังได้กล่าวบทกลอนที่ท่านชอบและยึดถือเป็นแนวทางในชีวิตตลอดมาว่า « ให้มีปัญญาเหมือนพระศรีมโหสถ  ให้มีใจอดเหมือนพระเตมีย์  ให้มีใจดีเหมือนพระเวสสันดร » และข้าพเจ้าก็จำมาตั้งแต่นาทีนั้น. นึกถึงท่านอาจารย์คุณพ่อ Denis ผู้ได้เขียนใบรับรองความประพฤติให้ข้าพเจ้าเมื่อสมัครขอเข้าไปอยู่ในหอพักนักศึกษา Cité Universitaire ที่กรุงปารีส นึกถึงท่านศาสตราจารย์ ทัศนีย์ นาควัชระ ผู้ได้เขียนใบรับรองความประพฤติเพื่อนำไปยืนยันต่อมหาวิทยาลัยเทนรีในญี่ปุ่นผู้เชิญข้าพเจ้าไปสอนที่นั่น นึกถึงท่านรองศาสตราจารย์ ดร. นววรรณ พันธุเมธา (ราชบัณฑิตย์) ผู้เมตตาอ่านบทความของข้าพเจ้าและชี้ข้อบกพร่องในการใช้ภาษาไทย ทำให้ข้าพเจ้าเพียรพัฒนาการเขียน ตรวจทานการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องเรื่อยมา ท่านยังได้มอบหนังสือของท่านแก่ข้าพเจ้าอีกหลายเล่ม. 

      รุ่นเรามีโชคอนันต์ที่ได้เรียนกับท่านอาจารย์ทั้งหลายของพวกเรา และมีโอกาสได้สัมผัสความเป็นครูกับความเป็นผู้มีจิตเมตตาจากท่าน คำสอน คำแนะเตือนและจริยวัตรของทุกท่าน ได้วางฐานมั่นคงและหล่อหลอมอุดมการณ์ในชีวิตของข้าพเจ้าและของเพื่อนๆมาจนถึงทุกวันนี้  

      

โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์

๓๑ มีนาคม ๒๕๕๙.

 

                                                      

กลับขึ้นด้านบน

ร่วมเล่นหุ่นกระบอกของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต นพมาส แววหงส์ ( อบ. 35)

ร่วมเล่นหุ่นกระบอกของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต

โดย นพมาส แววหงส์    ( อบ.  35)

 

เมื่อรับปากจะเขียนเรื่องราวอันน่าจะเป็นที่สนใจของผู้อ่านชาวอักษรฯ เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบร้อยปีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ปัญหาแรกที่ผุดขึ้นในหัวคือ จะใช้ “เสียง” แบบไหนในการเขียนเรื่อง  ตัดสินใจว่าจะใช้เสียงเล่าอย่างไม่เป็นทางการเหมือนคุยทั่วๆไปก็แล้วกัน เพราะน่าจะเขียนง่ายที่สุด แล้วก็ไม่ใช่งานวิชาการด้วย  แต่ก็มานึกสะดุดอีกทีคือจะใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งว่ากระไรดี สำหรับผู้อ่านต่างรุ่น ทั้งรุ่นพี่ รุ่นเพื่อน รุ่นน้อง รุ่นครู รุ่นลูกศิษย์ และอาจจะมีรุ่นหลานแถมมาด้วย   ปกติเวลาเขียนคอลัมน์หรือคำนำหนังสือ ก็เรียกตัวเองว่า “ผู้เขียน” บ้าง “ดิฉัน” บ้าง  “เรา” บ้าง ตามแต่โอกาส  นึกไปนึกมา  เลยโมเมขอเรียกตัวเองในที่นี้ว่า “ข้าพเจ้า” แล้วกันนะคะ  อาจฟังดูโบราณและเป็นทางการอยู่สักหน่อยสำหรับข้อเขียนแบบเล่าสู่กันฟังนี้  ซึ่งรวมประสบการณ์ส่วนตัวเข้ากับผลงานศิลปะด้านหุ่นกระบอกของศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต

ข้าพเจ้าเริ่มรู้จักและร่วมงานกับอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๐  ตอนนั้นอาจารย์กำลังเตรียมงานเล่นหุ่นกระบอกเรื่อง “สามก๊ก  ตอนโจโฉแตกทัพเรือ”  ซึ่งเป็นหุ่นที่อาจารย์สร้างใหม่ทั้งชุด บทหุ่นก็เขียนขึ้นใหม่ทั้งเรื่องสำหรับการแสดง โดยพี่ต๋อง (วัลลภิศร์ สดประเสริฐ) ผู้เป็นกำลังสำคัญของอาจารย์จักรพันธุ์    อยู่มาวันหนึ่ง เพื่อนร่วมงานรุ่นพี่ที่ภาควิชาศิลปการละคร คือ พี่แอ๋ว (อรชุมา ยุทธวงศ์) มาชวนข้าพเจ้าหัดหุ่นกระบอก  ไม่รู้นึกยังไง ตกปากรับคำไป ทั้งๆที่อย่าว่าแต่เชิดหุ่นเป็นเรื่องเป็นราวเลย ตัวหุ่นยังไม่เคยจับด้วยซ้ำ  นอกจากนั้นก็มี พี่แต๋ว (ดร.พรทิพย์ พุกผาสุข)  ปณิธิ (ดร.ปณิธิ หุ่นแสวง) บุสก้า (สรรควัฒน์ ประดิษฐพงศ์ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นนิสิตอยู่)  กับนิสิตอีกสามสี่คน รวมเป็นกลุ่มที่อาจารย์จักรพันธุ์เรียกขานว่า “ทีมจุฬา” ซึ่งยังรวมคนที่ไม่ได้เชิดแต่กำกับหลังโรง และขับร้อง  คือพี่หนุ่ย (เสาวนุช ภูวนิชย์ที่ล่วงลับไปแล้ว)  พี่โก้ (ดร. สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร) พี่เป้า (พรรณรำไพ ดวงดี) อู๊ด (จารุวรรณ ชลประเสริฐ) และเล็ก (วัชราภรณ์ อาจหาญ)   ที่เรียกว่า “ทึมจุฬา” ก็เพราะยังมี “ทีมเกษตร” อีกทีม ที่ประกอบด้วยอาจารย์และนิสิตจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ซึ่งต่างฝ่ายต่างซ้อมโดยแทบไม่ได้เจอะเจอกัน จวบจนถึงเวลาซ้อมใหญ่และแสดงนั่นแหละจึงได้รวมทีมกันพร้อมพรั่ง  

แรกทีเดียว ก็ต้องหัดเชิดหุ่นด้วยท่าพื้นฐานสี่ท่า คือ กล่อมหนึ่ง  กล่อมสอง  ตุ๊บเท่ง  และต้อมต้อมม่าต้อมต้อม ตุมตุมม่าตุมตุม  ฝึกซ้ำๆซากๆอยู่สี่ท่านี้นับเดือนนับปี  โดยได้รับมอบหุ่นซ้อม ซึ่งเป็นหัวหุ่นโล้นเลี่ยนบนบ่าหุ่นต่อกับกระบอกให้มือจับ ยังไม่มีเสื้อผ้า เพื่อเอาไว้สำหรับซ้อมและฝึกมือที่บ้านและที่ทำงาน  ที่จุฬาฯ

  • 2 -

 

เรานัดซ้อมกันอาทิตย์ละสองวันเท่าที่ใครว่างจากการสอน แล้วก็นัดไปซ้อมให้อาจารย์ดูและติชม (มีแต่ติ ไม่มีชมค่ะ ก็เพิ่งหัด จะเก่งอะไรนักหนาให้ออกปากชมได้ล่ะคะ) อาทิตย์ละวันที่บ้านอาจารย์  หัดอยู่สี่ท่านั่นแหละ ไม่ได้เปลี่ยนไปไหน จนพอเริ่มคล่องมือ ก็ได้รับแจกบท กับเทปที่อัดเพลงสำหรับใช้ซ้อม  พร้อมกับตัวหุ่นซ้อมแบบใหม่ที่มีเสื้อเย็บเป็นถุงและตะเกียบสองข้างที่ต่อเข้ากับมือหุ่นสำหรับเชิดลีลาท่าทางต่างๆ   รวบรัดตัดความว่ารวมเวลาซ้อมทั้งหมดราวสองปี  

ข้าพเจ้าได้รับบท “บีฮูหยิน” ภริยาเล่าปี่ที่อุ้ม “อาเต๊า” กระเซอะกระเซิงหนีทัพโจโฉ ตั้งแต่ฉากแรก  จูล่งตามมาเจอขณะบาดเจ็บสาหัสเพราะถูกแทงที่ขา บีฮูหยินกลัวจะเป็นภาระหนักหน่วงถ่วงจูล่งในการฝ่าฟันทัพข้าศึกไป เลยส่งอาเต๊าให้จูล่ง แล้วตัวเองกระโจนลงบ่อตาย  บทนี้ร่วมเล่นกับอาจารย์อรชุมา  สองคนร่วมกันเชิดบทบีฮูหยิน แล้วก็พากันโดดบ่อตายเสียตั้งแต่เพิ่งเปิดเรื่องฉากแรก เสร็จแล้วก็นั่งรอหลังฉากอีกเกือบสามชั่วโมงเพื่อออกฉากสุดท้ายอีกที 

หุ่นเรื่อง “สามก๊กตอนโจโฉแตกทัพเรือ” แสดงที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๓๒  อย่างแน่นขนัดทุกรอบ รวม ๑๕ รอบ  แม้จะยังมีคนอยากดูอีกมาก แต่ก็ต้องเลิกรา เก็บหุ่นและฉากทั้งโรงกลับบ้าน... ก็บ้านอาจารย์สิคะ จะบ้านใครล่ะ ทั้งนี้ก็เพื่อเอาไปเข้ากรุในพิพิธภัณฑ์สำหรับการเรียนรู้ของอนุชนรุ่นหลังต่อไป 

ขอบันทึกด้วยความภาคภูมิใจของคณะหุ่นจักรพันธุ์ฯ ไว้หน่อย ณ ที่นี้  คือ คอลัมน์ “ซอยสวนพลู” ของอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันอังคารที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๒ เขียนวิจารณ์อย่างที่คัดมาบางตอนว่า

“คนเรา เมื่อได้รับของดีมากมายหลายอย่างพร้อมๆกัน และเป็นของที่ประเสริฐ มิได้เคยพบเห็นมาก่อน ก็ย่อมจะต้องตั้งตัวไม่ทัน  รับของดีที่มาตกแก่ตนนั้นไม่ได้ทั้งหมดพร้อมกันในวาระเดียวกัน  ผมเองก็เป็นเช่นนั้น เมื่อผมได้ไปดูหุ่นกระบอกของคุณจักรพันธุ์ โปษยกฤต ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้วมา....ผมไม่เคยดูหุ่นอะไรที่มีความประเสริฐเช่นเดียวกับหุ่นของคุณจักรพันธุ์ที่ได้นำมาแสดงคราวนี้  ความประเสริฐสุดนั้น อยู่ที่ความคิดในอันที่จะแสดงหุ่นเช่นนี้ขึ้นก่อน  ซึ่งนับว่าเป็นความคิดที่ประเสริฐสุด เพราะนอกจากจะได้รักษาไว้ซึ่งศิลปกรรมและการละเล่นของไทยชนิดหนึ่งคือหุ่นแล้ว ก็ยังเป็นความคิดสร้างสรรค์ ได้สร้างตัวหุ่นอันงดงามวิจิตรขึ้นและได้แต่งบท  หาเพลงมาประกอบ  สร้างฉากที่มีความลึกซึ้งประทับใจ และได้มีการเชิดหุ่นอย่างสวยงามเพื่อให้คนดูได้ชม  เหล่านี้รวมอยู่ในความคิดอันประเสริฐที่เกิดขึ้นแต่เบื้องต้น แล้วได้กลายมาเป็นจริงเป็นจังในระยะต่อมา....ผมได้ดูมาแล้ว ทั้งหุ่นไทย คือหุ่นกระบอก หรือละครเล็กของครูเปียก หุ่นใหญ่ของหลวง  ได้ดูหุ่นพม่า ซึ่งเขาชักใยจากข้างบนเวที ดูหุ่นฝรั่งซึ่งใช้

 

  • 3  -

เทคนิคเดียวกัน และดูหุ่นญี่ปุ่น ซึ่งมีความงาม ความละเมียดละไม และความลึกซึ้งในทางปัญญาที่ยังประทับใจผมอยู่  แต่ถึงอย่างนั้น ผมก็ต้องยอมยกให้หุ่นของคุณจักรพันธุ์นี้ เป็นหุ่นที่ทำให้ผมเกิดอารมณ์มากที่สุด  เกิดความประทับใจมากที่สุดและยากที่ผมจะลืมได้...หุ่นเรื่องนี้กินเวลาถึง ๓ ชั่วโมง แต่เวลา ๓ ชั่วโมงนี้ ผมมิได้เห็นว่าเสียเปล่าไปเลย  เพราะผมได้รับความชื่นใจ ได้รับความบันเทิงใจ และได้รับการจรุงใจมากกว่าครั้งไหนๆ ทั้งหมดในระยะเวลาหลายสิบปีในชีวิตผมนี้   ถ้าจะว่าไป ก็เหมือนคืนส่งตัวในงานแต่งงานของผมนั่นแหละ  พิลึกละ”

ข้อเขียนอันเลอเลิศของอาจารย์คึกฤทธิ์ชิ้นนี้ทำให้เกิดกำลังใจแก่คณะหุ่นสมัครเล่นคณะนี้เป็นอย่างมาก ผู้ร่วมงานทุกคนอ่านแล้วยิ้มแก้มปริด้วยความภาคภูมิใจที่มีส่วนร่วมอยู่ในผลงานที่เป็นที่ชื่นชอบ ไม่เพียงต่อสาธารณชน แต่ยังเป็นที่ชื่นชมของปูชนียบุคคลของประเทศท่านนี้

เล่น “สามก๊ก” เสร็จไม่กี่เดือน อาจารย์ก็เกิดความคิดจะทำหุ่นเรื่องใหม่ คือ “ตะเลงพ่าย” พี่ต๋องเจ้าเก่าเขียนบทเสร็จได้ดังใจหมายในเดือนเดียว 

ขอแทรกนิดว่าหุ่นเรื่องนี้ชื่อ “ตะเลงพ่าย” ไม่ใช่ “ลิลิตตะเลงพ่าย” อย่างที่มีคนชอบเรียกผิดๆนะคะ  ลิลิตตะเลงพ่ายเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสและพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ โดยใช้ฉันทลักษณ์เป็นร่ายสุภาพ สลับกับโคลงสองสุภาพ โคลงสามสุภาพและโคลงสี่สุภาพ   ส่วนบทหุ่น “ตะเลงพ่าย” เขียนเป็นกลอนแปด สลับด้วยบทเจรจา   

พอบทเสร็จ ก็เริ่มบรรจุเพลงร่วมกับครูดนตรีฝีมือขั้นเทพอย่างครูบุญยงค์ เกตุคง ครูบุญยัง เกตุคง และครูจำเนียร ศรีไทยพันธุ์  เริ่มซ้อมดนตรีปี่พาทย์และการขับร้อง  สร้างหุ่น (หุ่นตัวแรกที่สร้างคือ “พระสุพรรณกัลยา”  บันทึกไว้อีกนิดว่าหุ่นตัวแรกที่อาจารย์สร้างสำหรับ “สามก๊ก” คือ “บีฮูหยิน” ซึ่งน่าจะแปลได้ว่าอาจารย์มีความบันดาลใจแรกเริ่มจากตัวละครผู้หญิงที่เป็นตัวสำคัญทุกเรื่อง)  และตระเตรียมงานที่เรียกได้เต็มปากว่าเป็นงานช้าง (เพราะต้องสร้างหุ่นช้างตั้งแปดตัว สำหรับฉากยกทัพฝ่ายไทย ฝ่ายพม่า และฉากยุทธหัตถี)  คนเชิดเก่าๆล้มหายตายจากกันไปบ้าง มีภารกิจรัดตัวบ้าง หรืออาจจะนึกเบื่อที่มัวแต่ซ้อมอยู่นั่นแหละ ไม่ได้เล่นสักทีก็ไม่รู้  ก็มีการฝึกคนเชิดรุ่นใหม่ขึ้นมา  แต่ข้าพเจ้าก็ยังคงไม่ได้หนีไปไหน ยังคงป้วนเปี้ยนเวียนวนช่วยงานมูลนิธิฯอยู่ในตำแหน่งที่อาจารย์กรุณาตั้งให้เป็นที่ปรึกษามูลนิธิฯ แต่ไม่ได้ให้คำปรึกษาอะไรนักหนาหรอกค่ะ นอกจากช่วยงานธุรการและกิจการทั่วไป  ส่วนงานหุ่นก็ขอเปลี่ยนสถานะ พิจารณาปลดตัวเองจากผู้เชิด เพราะรู้ตัวว่ามือไม่นิ่งพอจะจับหุ่นให้เคลื่อนไหวได้ดังใจหมาย (อาการนี้มีชื่อเรียกทางประสาทวิทยาให้อวดใครอย่างโก้หรูด้วยว่า Essential tremor ซึ่งหมอประสาทวิทยาบอกว่าเป็นคนละโรคกับพาร์คินสันส์ค่ะ)  หมดโอกาสจะได้จับหุ่นเล่นบนเวที แต่ใจยังอยากทำประโยชน์เท่าที่ทำได้ อาจารย์เลยกรุณาเลื่อนให้ไปเป็นผู้กำกับหลังเวที

 

  • 4 -

หลังจากไปนั่งตีกรับให้จังหวะหุ่นอยู่พักหนึ่ง  ที่จริง บทบาทที่อาจารย์เรียกว่า “ผู้กำกับ” นี้ จะไม่เหมือนผู้กำกับการแสดง จะเหมือนผู้กำกับเวทีมากกว่า  แต่ก็มีอำนาจหน้าที่มากกว่าผู้กำกับเวทีนิดหน่อย ทำงานทุกอย่างเท่าที่พึงมีให้ทำเยี่ยง “จีบี” หรือ “เจเนอรัล เบ๊” แต่มีเบ๊ให้สั่งงานอีกทอด และช่วยดูงานโดยรวมด้วย เป็นพิธีกรอีกอย่าง  นอกเหนือจากนั้นงานที่อาสาทำเองโดยไม่มีใครร้องขอ คือแปลบทเป็นภาษาอังกฤษสำหรับคนดูชาวต่างชาติที่ตั้งใจมาดูหรือหลงเข้ามาดูอยู่เนืองๆ

มีเกร็ดเรื่องบทหุ่นที่ข้าพเจ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษชื่อ Taleng Phai ที่เกี่ยวข้องกับรุ่นพี่อักษรฯ ที่ข้าพเจ้าเคารพนับถือนิดหน่อย จึงขอแทรกไว้ตรงนี้ด้วย  กล่าวคือในการซ้อมใหญ่ที่จัดให้ผู้ชมเข้าชมเหมือนรอบการแสดงจริงหนหนึ่ง  พี่น้อย (ดร. ดวงทิพย์ สุรินทาธิป) มาดูและขอบทภาษาอังกฤษไปอ่านควบคู่ไป  หลังจากนั้นเธอมาบอกว่า “นพมาส มีคนนึกว่าฉันเป็นคนแปลบทเรื่องนี้....ฉันอ่านแล้วไม่มีคอมเม้นต์อะไรเลย นอกจากจุดเดียวคือคำว่า The Triple Gem ที่แปลว่าพระรัตนตรัยน่ะ เธอไม่ต้องใส่ s นะ”  ขอบพระคุณพี่น้อยมากค่ะที่ช่วยท้วงติง  ต่อไปนี้น้องจะจำใส่หัวไว้ ไม่เติมเอสให้แก้วสามประการอีกแล้ว ถึงจะต้องเถียงคอเป็นเอ็นกับฝรั่งทุกคนที่นึกว่าพิมพ์ตกก็ตาม

การกำกับหลังโรงของหุ่นโรงนี้จะว่าง่ายก็ไม่ง่ายนะคะ เพราะต้องรู้จักหุ่นทุกตัว (รวมๆแล้วกว่าร้อยตัว และท้ายสุดน่าจะไม่น้อยกว่าสองร้อย) ที่เป็นตัวละครสำคัญคือ พระนเรศวร พระเอกาทศรฐ พระมหาธรรมราชา พระสุพรรณกัลยา พระเจ้านันทบุเรง พระมหาอุปราชา ซึ่งบางองค์ใช้หุ่นมากกว่าหนึ่งตัวในเครื่องทรงต่างๆ  นอกจากนั้นยังมีเหล่าเทวดานางฟ้า เหล่านางระบำพม่า แล้วยังเสนาไทยเสนาพม่าในชื่อต่างๆ  ทหารไทย ทหารพม่า  ฯลฯ ฯลฯ   นอกจากรู้จักหุ่นแล้ว ยังต้องรู้จักคนในคณะหุ่นซึ่งเป็นคนเชิดในบทบาทต่างๆด้วย  เท่านั้นยังไม่พอ  บทเดียวกันอาจมีคนเชิดสลับสับเปลี่ยนกันหลายคนในการซ้อมที่หมุนเวียนกันไป  นอกจากนั้น ยังมีคนถือหุ่นที่ไม่ต้องรำหรือตีบท ซึ่งเปลี่ยนหน้ากันมาหลายรุ่นแล้วจนเล่าไม่หมด รวมๆแล้วห้าหกสิบชีวิตหลังโรง เดินชนกันไปชนกันมา หลีกทางกันแทบไม่ทันเพื่อให้ทันคิวแต่ละคิว  หน้าเวทีจะได้สวยงามราบรื่นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นหลังโรง   ดังนั้น เมื่อเพื่อนบางคนบอกว่าซ้อมมานานหลายปี คงหลับตาทำได้แล้วละสิ  ข้าพเจ้าก็ขอบอกว่าหลับตาทำไม่ได้หรอกค่ะ เพราะการซ้อมแต่ละครั้งหน้าเวทีอาจดูไม่ต่างกันมาก แต่หลังเวทีมีคนหน้าใหม่หน้าเก่าสลับสับเปลี่ยนกันไปมาอยู่ทุกหน  ต้องจับคนโน้นไปถือหุ่นตัวนี้ จับคนนี้ไปถือหุ่นตัวโน้น อยู่เป็นประจำ  โดยเฉพาะสำหรับบททหารถือหุ่นออกฉาก แบบที่ไม่ต้องรำหรือตีบท  แถมยังต้องคอยปล่อยคิว ดูจัดหุ่นให้ตั้งในปีกซ้ายปีกขวาพร้อมให้คนเชิดอัญเชิญออกฉาก (ที่เรียกว่าอัญเชิญเนื่องจากหุ่นโรงนี้มีประเพณีว่าหุ่นเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นจะจับจะวางก็ต้องเคารพนบไหว้ทุกครั้ง)  และบัญชาการการเปลี่ยนฉากหลังโรงที่มีแรงงานช่างประจำการสลับหน้ากันไปบ้าง  ชุลมุนพัลวันกันทุกหนแหละค่ะ  นี่ถ้าเล่นจริง

 

  • 5  -

ลงโรงจริงเมื่อไร คงยิ่งวุ่นหนักกว่านี้อีกหลายเท่า เพราะมีฉากเขียน ฉากไหว้ครู ฉากวังไทย วังพม่า ฉากป่า  ฉากยุทธหัตถี ฯลฯ ให้เปลี่ยนฉากอีกเยอะ แต่งานละครก็เป็นแบบนี้เองค่ะ คือหลังฉากวุ่นวายชุลมุนจนต้องซ้อมกันแทบล้มประดาตายเพื่อให้ภาพที่ปรากฏแก่ตาคนดูงดงามสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเนรมิตได้

คำถามที่พบบ่อยๆคือซ้อมมานานแสนนาน เมื่อไรจะเล่นจริงเสียที จะได้เตรียมซื้อบัตรไปดู  ขอตอบด้วยคำของอาจารย์ดังนี้ค่ะ  “เพราะเราไม่ใช่คณะหุ่นกระบอกอาชีพ ผมต้องเขียนรูป ต้องทำอะไรหลายอย่างถึงมีเวลาว่างกลับมาทำหุ่นกระบอก ทำดนตรีแล้วก็มาขับร้อง มาขับร้องอยู่อีกช้านาน ซ้อมกันอยู่ทุกอาทิตย์...”  พี่ต๋องเสริมว่า “จริงๆ ถ้าเราจะเล่นแบบสุกเอาเผากินก็เล่นได้แล้ว จบเรื่องแล้ว แต่ไม่ได้ มันไม่ครบอย่างที่ฝัน คือสร้างหุ่นเสร็จแล้ว ไปๆ มาๆ ต้องสร้างโรงสำหรับเล่นเอง เพราะว่าไม่สามารถจะไปเล่นที่อื่นได้หรอก เพราะว่ามันที่ไม่พอ พื้นที่ที่จะรองรับ ต้องหาทุนสร้างโรงเล่นเอง ที่มันไม่เสร็จตรงนี้หละ (หั

กลับขึ้นด้านบน

คืนใจรักกลับมาเทวาลัย กัณฑาทิพย์ สิงหะเนติ (ศิริผล) อบ 35

คืนใจรักกลับมาเทวาลัย

โดย  กัณฑาทิพย์   สิงหะเนติ (ศิริผล)

                                                                                                                      อบ 35

37728

จามจุรีที่รักกวักใบเรียก

          พร้อมเสียงเพรียกเสียงยินดีพี่ทั่วหน้า

เชิญน้องรักย่างเท้าเข้าจุฬา

เริ่มเวลาวันดีของชีวิต

          แม้เมื่อจบอักษร ฯมาแล้ว  เรายังไม่รู้สึกอาลัยอาวรณ์จุฬาเท่าไหร่  เพราะจบแล้วก็ทำงานวนเวียนอยู่ในจุฬานั้นแหละ  แค่ย้ายตึก  ย้ายสังกัด กว่า 25 ปี   ผ่านเทวาลัยของเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเมื่อไปทำงาน

            แต่หลังจากที่ได้ไปประจำการที่ใหม่ที่องค์การระหว่างประเทศ  “ซีมีโอ”  ร่วม 10 ปี   เส้นทางขับรถก็เปลี่ยนไป  แทนที่จะเป็นชุมนุมชนจุฬา  เดินตลาดนัดจุฬา  กลับต้องไปเป็นชาวสุขุมวิท เอกมัย ทองหล่อโน่น   ในช่วงนี้เองที่เห็นความสำคัญของการมาร่วมกิจกรรมของคณะ  ของจุฬา  งานสถาปนา  งานวันเกิดคณะ  ต้องพยายามมาร่วมเพื่อรำลึกถึงความหลัง  เพราะยังฝังใจในความเป็นจุฬา  การได้มาร่วมกิจกรรมในหอประชุมจุฬาบ้าง  มาฟังเสวนาบ้าง  ได้ไปเยือนโถงกลางอันศักดิ์สิทธ์   เดินขึ้นบันไดนาค  ความหลังครั้งก่อนเก่าก็พรั่งพรูเข้ามาเป็นฉาก ๆ.............

            ในวันที่พวกเราเข้ามาเป็นน้องใหม่เราต้องมีการปฎิญาณตนด้วย

            “ข้าพเจ้านิสิตใหม่   ขอปฎิญาณตนต่อพระบรมฉายาลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นที่เคารพสักการะ  และต่อหน้านิสิตรุ่นพี่ทั้งหลายดังต่อไปนี้

1.ข้าพเจ้าจะปฎิบัติตามระเบียบข้อบังคับของคณะ และมหาวิทยาลัยโดยเคร่งครัด

 

  • 2 -

2.ข้าพเจ้าจะเชื่อฟัง  และปฎิบัติตามคำสั่งสอนของอาจารย์  และคำแนะนำตักเตือนโดยชอบชองนิสิตรุ่นพี่ด้วยความเคารพ

3.ข้าพเจ้าจะขยันหมั่นเพียรศึกษาวิชาการพร้อมทั้งร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะและมหาวิทยาลัยจนสุดความสามารถ

4.ข้าพเจ้าจะปฎิบัติตามและรักษาไว้ซึ่งคำขวัญทั้งห้า  อันมี  อาวุโส  ระเบียบ  ประเพณี  สามัคคี  และน้ำใจ  และพยายามนำชื่อเสียงมาสู่คณะและมหาวิทยาลัย

               เราชื่อขึ้นต้นด้วย   “ก ไก่”  จึงถูกจับให้นั่งแถวหน้าด้านขวาเวลาฟังเลคเชอร์ห้องเรียนใหญ่  เริ่มมาจาก กนิษฐา กอบกุล  กรกช  แล้วก็ถึงเรา จะหลับท่ามกลางเลคเชอร์ตอนบ่าย  หรือโดดเรียนมั่งก็ลำบาก เพราะนั่งอยู่แถวหน้าสุด  สังเกตได้ง่าย  สมัยนั้นคุณประดิษฐ์  เป็นเจ้าหน้าที่คอยมาด้อมๆมองๆ   เช็คชื่อพวกเรา  แต่นั่งแถวหน้าก็มีข้อดีเหมือนกัน  เพราะมองเห็นกระดานดำชัด  เห็นอาจารย์  ฟังอาจารย์พูดได้ชัด บางที่ก็ชัดเกินไปก็มี  เช่นกรณีอาจารย์สาวฝรั่งชื่อ สต๊ารค   ได้เห็นหน้าอาจารย์หล่อ ๆ  อย่างเช่น  อาจารย์ลอชันได้ชัด  ได้เพื่อนใหม่ที่นั้งอยู่แถวหน้าใกล้ ๆ กันอีกหลายคน   พวกชื่อ ก ไก่ ข ไข่  ข้อดีของชื่อขึ้นต้นด้วยอักษรตัวแรก  มีดีอีกอย่างคือ  เวลาอาจารย์ประกาศผลสอบ  จะรู้ผลเป็นอันดับแรกๆ ไม่ต้องรอลุ้นนานเหมือนพวกสะกดด้วย ส เสือ  ออ่าง จนหัวใจจะวาย

กลุ่มเราที่มาจากโรงเรียนเตรียมมักได้ฉายาว่าเป็นทีมชาติ   ระหว่างที่อยู่คณะไม่ค่อยเอากิจกรรม จะว่าไปก็เป็นจริงบางส่วน    เราเองก็อยากจะเล่นกีฬากับเขาบ้างเหมือนกัน  แต่มันไม่มีทักษะเอาเสียเลย  ตัวอ้วน ๆ  กลม ๆ จะไปวิ่งแข่งหรือจะสู้คนรูปร่างผอมเพรียวเปรียวลมขายาวอย่าง อ็อด พรทิพย์  ติ๋ม ปัญญารส  กระไรได้  สู้ไปร่วมกิจกรรมเชียร์  เป็นกองเชียร์ให้เพื่อน ๆ ที่เขามีทักษะทางนี้ดีกว่า   พูดถึงเรื่องกิจกรรม  เล่นกีฬา  ก็หวนนึกถึง โอวาทของท่าน ศ. รอง ศยามานนท์  ซึ่งในขณะนั้นเป็นทั้งคณบดีของคณะ  และรองอธิการบดีฝ่ายปกครองด้วย  ท่านให้โอวาทกับนิสิตใหม่อย่างพวกเราว่า  “ขอให้ถือการเรียนมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง ถ้ามีเรื่องหรือกิจกรรมใด ๆ  จะมากระทบกระเทือนถึงการเรียน ขอให้หลีกเหลี่ยงหรืองดทำเรื่องกิจกรรมนั้น ๆ เสีย  ควรเกี่ยวข้องกิจกรรมบ้างเท่าที่เวลาว่างจะอำนวยให้   แต่อย่าให้กิจกรรมนั้นมาทำให้การเรียนเสียไป  ควรออกกำลังการบ้างพอควร  เพื่อรักษาสุขภาพให้สมบูรณ์อยู่เสมอ  ซึ่งจะช่วยให้การเรียนได้ผลดี”

 

 

  • 3 -

พวกเราร่วมกิจกรรมของคณะอย่างเต็มที่  เวลาซ้อมเดินแถวก็กลัวพวกพี่ ๆ ประธานเชียร์คุมแถวน่าดูเลย  ไม่อยากถูกพี่แมว  พี่เหม็น  พี่แหว  ว๊าก  วันกีฬาสีคณะ  พวกเราถูกจับนุ่งกระโปรงสั้นเหนือเข่า สำหรับเราไม่เคยนุ่งสั้นเท่านี้มาก่อนเลย  ใส่เสื้อแขนยาวผูกเนคไทซะอีก  เพื่อนรุ่นเรามีสวย ๆ หลายคนมาก  เขาจะได้รับการคัดเลือกเป็นขบวนกลองนำหน้า ที่จำแม่นก็มี จุ๋ง อารดา คนหนึ่งแหละ  ใส่หมวกแบเร่ด้วย  เรียกว่าเท่ห์มากเลย  ตอนลอยกระทง  พี่ ๆ ให้พวกเราแต่งตัวในขบวนเป็นสองชุด พวกตัวเล็ก ๆ หน้าตาจุ๋มจิ๋ม จะเกล้าจุก นุ่งโจง  เหมือนแม่พลอยตอนเด็ก ๆ หลุด มาจากสี่แผ่นดินตอนเข้าวังใหม่ ๆ ยังไงยังงั้น

ส่วนอีกพวกก็นุ่งโจงเช่นกัน แต่ห่มสไบสีสันฉูดฉาด เรียกว่าขับความสาวเปล่งปลั่งออกมากันทุกนางเชียว  และที่พวกเราภูมิใจที่สุด คือ นางนพมาสของคณะเราสวยงามแบบไทยจริง ๆ ชนะคณะอื่น ๆ อย่างขาดลอย ตอนแข่งบอลประเพณี  พวกเราที่หุ่นดีเพรียวลมสมส่วนก็ได้เป็นดรัมเมเยอร์อยู่หลายคน  ผู้อัญเชิญพระเกี้ยวและดาวสจมก็เพื่อนเราอีก  โอยรุ่นเราเนี่ยไม่ว่าจะมีตำแหน่งประกวดอะไร เพื่อนเรากวาดเรียบ  ปลื้มมากที่มีเพื่อนสวยๆงาม ๆ หลายคน  ที่ทำชื่อเสียงให้คณะ ให้รุ่น อบ. 35

พวกเราเรียนกันหนักตอน ปี 1 ปี 2 เช้าจดเย็น  บางวันมีเวลาทานข้าวกลางวันแค่สามสิบนาที  เพราะชั่วโมงบ่ายชั่วโมงแรกต้องไปเรียนแถวคณะวิทยาศาสตร์  ต้องเดินไปพอสมควร  ร้านอาหารประจำก็ร้านอาหารของกรมประชาสงเคราะห์  เพราะมีราคาย่อมเยาว์ดี  ถึงจะเรียนหนักแค่ไหน  พวกเราก็ไม่ท้อเพราะมีแม่แบบจดเลคเชอร์ฝีมือดีลายมือดี เช่น วารี  เป็นต้น  ของเรานั้นเหรอะ ลายมือเป็นไก่เขี่ย เพื่อนอ่านไม่ออกเอาเลย

พูดถึงเรื่องเรียนก็อดนึกถึงอาจารย์อีกท่านหนึ่ง อาจารย์วิสุทธิ์ บุษยกุลที่ให้ข้อคิดพวกเราน้องใหม่ไว้ว่า  “ความตั้งใจเรียนเท่านั้นจะทำให้นิสิตได้สิ่งที่ดีที่สุดจากสถาบันทางวิชาการที่เราเคารพและรักแห่งนี้”

เวลาประกาศผลปลายปี  พวกเราจะยืนออกันที่ห้องโถงเชิงบันได  คอยฟังอาจารย์ประกาศว่าใครสอบได้ ใครสอบไม่ได้  ใครได้รางวัลอะไร อะไรต่อมิอะไร  แม้กาลเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด  การได้มายืนที่ห้องโถงแห่งนี้ก็เป็นเสมือนการปลุกเวลาแห่งชีวิตให้หมุนย้อนกลับไปในวันนั้นอีกครั้งหนึ่ง

วันทรงดนตรีเป็นอีกวันหนึ่งที่มีความสำคัญต่อพวกเรามาก  ภาพของวันนั้น  วันที่พวกเรายืนเข้าแถวรอรับเสด็จวันทรงดนตรี  แล้วรีบวิ่งไปจองที่นั่งในหอประชุมเพื่อฟังเพลงที่ทรงในวันนั้นยังตราตรึงใจพวกเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  และก็เป็นที่น่าเสียดายว่ารุ่นน้องหลัง ๆ ไม่มีโอกาศนี้เหมือนพวกเราเสียแล้ว

 

  • 4  -

เมื่อเรียนจบอักษร ฯ  นับว่าเป็นโชคดีที่เราก็ยังวนเวียนอยู่กับจุฬา  ได้เปลี่ยนสถานะภาพจากนิสิตคณะอักษรศาสตร์มาเป็นอาจารย์คณะอักษรศาสตร์  ในแผนกภาษาอังกฤษ ซึ่งมี ศ. คุณหญิง นพคุณ ทองใหญ่ เป็นหัวหน้า  ตอนแรก ๆ ก็กลัวเหมือนกัน  ท่านให้สอนปี 1 คณะวิทยาศาสตร์ก่อน  ต่อมามอบหมายให้ไปสอนนิสิตปีสามคณะรัฐศาสตร์  ห้องเลคเชอร์ใหญ่ ลูกศิษย์บางคนอายุอานามแก่กว่าตัวอาจารย์เป็นไหน ๆ ใครจะไม่กลัว แต่ด้วยความเชื่อมั่นในท่านอาจารย์คุณหญิงนพคุณ  ผู้ซึ่งเป็นทั้งอาจารย์สอน  และเจ้านาย  ใน

          ข้อคิดคำสอนของท่านที่ได้ให้ไว้สมัยเราเป็นนิสิตใหม่ว่า “To the class of 2413, Whatever is worth doing is worth doing well.”  เราก็ก้าวผ่านเหตุการณ์นั้นไปได้ด้วยดี

ในฐานะอักษรศาสตรบัณฑิต  ขอถือโอกาสนี้กราบคารวะท่านอาจารย์ทุกท่านที่ประสิทธ์ประสาทวิชาที่เป็นแนวทางให้ใช้ชีวิตก้าวเดินต่อไปจนประสบความสำเร็จ  และสร้างสมมิตรภาพอันยืนยาวกับเพื่อน ๆ ร่วมสถาบันนี้อีกหลายคนที่มีจุดเริ่มต้นที่นี่  และงอกงามเติบโตไปกับชีวิตชองพวกเราทุกๆคน

 

“      สีชมพูแจ่มกระจ่างพร่างพรายแสง

เสมือนแรงเลิศล้ำนำเหตุผล

      ตราพระเกี้ยวเสริมสง่าเสริมค่าตน

มิ่งมงคลของชีวิตนิจนิรันดร์ ”

 

หมายเหตุ *ชื่อเรื่องได้แรงบันดาลใจมาจากกลอนของรุ่นพี่อักษร พี่อรฉัตร  สุขสวัสดิ์  และกลอนเปิดและปิด จากรุ่นพี่อักษรเช่นกัน  พี่พิมพาภรณ์  สุวัตถิกุล

 

 

กลับขึ้นด้านบน

ชีวิตนิสิตอักษร ปี 2510 ดาราณีย์ ตันชัยสวัสดิ์ ( อบ 35)

ชีวิตนิสิตอักษร ปี 2510

                                                 โดย  ดาราณีย์   ตันชัยสวัสดิ์  ( อบ  35)


เมื่อห้าสิบปีก่อน เด็กสาวๆอายุ 17-18 อ่านนวนิยายหวานแหวว นางเอกจะประมาณเรียนอักษรศาสตร์ทั้งนั้น
คงมีไม่น้อยที่เพริ่ดอยากจะเรียนอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ให้ได้ ที่จะคิดอะไรถึงอนาคตมากมายก็อาจไม่ใคร่จะมี
ตั้งใจมั่น เพียงว่าอยากเข้าเรียนอักษรก็ต้องรู้หนังสือ อ่านหนังสือ ให้มาก เขียนหนังสือให้เป็น  ฝึกกระทั่งเขียนโคลงกลอน ภาพเทวาลัยเป็นเหมือนดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ต้องสั่งสมบุญมาแต่ชาติปางก่อน ต้องมีคุณงามความดี และความสามารถมากล้น จึงจะไปได้ถึง หารู้ไม่ว่า เข้าไปแล้ว จะลอยนวลออกมาหาได้ไม่
เพราะถูกบีบ ถูกเค้น ถูกเคาะ นวด หวด  โหมกระหน่ำ ด้วยวิชาตำราสารพัด ที่เห็นภาพหอบหนังสือในอ้อมแขนสองสามเล่ม แล้วก็เดินเลี้ยวมุมตึก ชนกะชายหนุ่ม หนังสือหล่นกระจายน่ะ นิยายทั้งนั้น ตอนเรียนปีหนึ่ง เรียนตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงสี่โมงเย็นทุกวัน จันทร์ถึงศุกร์ อ้อ วันศุกร์เรียนถึงบ่ายสาม วันเดียวเท่านั้นในหนึ่งสัปดาห์
เรียนเยอะมาก ถึงมากที่สุด ทรมานสุดแสนจะทรมาน

วิชาที่เราต้องเรียนกันนั้น  มากมายเหลือคณานับ และแต่ละวิชา ต้องสอบได้ หกสิบคะแนนถึงจะสอบผ่าน
ต้องเข้าใจเนื้อหาที่เรียนมา เวลาสอบต้องขุดเอาความจำความเข้าใจออกมาคิดๆๆๆๆ  แล้วก็เขียนๆๆๆๆตอบ ใช่ว่าจะกาถูกผิด เดาๆเอาบ้าง เผื่อโชคช่วย อย่างนี้ไม่มีที่อักษรเรา จึงต้องสอบไม่ได้กันบ้างหละ อย่างวิชาภาษาบาลีสันสกฤต วิชาภูมิศาสตร์ที่มีเส้นคอนทัวร์ วิชาบรรณารักษ์ที่จัดหนังสือแบบดิวอี้
อันนี้เป็นวิชาตัวอย่างที่คนเล่าสอบตก ซึ่งยังมีอีกหลายวิชาที่ตกๆหล่นๆ

อาจารย์ทุกท่านแสนจะวิเศษ ไม่มีอิดหนาระอาใจกับความไม่เอาไหนของลูกศิษย์(อย่างคนเล่า)
ขนาดที่ว่าสอบตก  อาจารย์โทรเลขไปแจ้งผลสอบให้กับศิษย์ที่ตจว.  และบอกให้มาเรียนพิเศษเพื่อ "แซม" ที่ไหน ใครจะรักจะห่วงใยลูกศิษย์ถึงปานนี้ มีที่อักษร ที่นี่ ที่เดียว
                 คือว่า ห้าสิบปีที่แล้ว เราไม่มีมือถือ ไม่มีไลน์ ไม่ได้ส่งการบ้านทางอีเมล์  เราชาวอักษร ต้องฟังเลคเชอร์ ฟังครูสอน ให้เข้าใจ มือก็จดตาม ตามทันบ้างไม่ทันบ้าง กลับไปอ่านอีกที บางทีไม่รู้เรื่อง เพราะอ่านลายมือตัวเองที่จดมาไม่ออก คือพวกเราชาวอักษร จะมีงานอีกอย่าง คือเอาเลคเชอร์นั้นมาคัดลอกอีกที
พออ่านไม่ออก ไม่เข้าใจ ก็คัดลอกออกมาไม่ได้
ต้องไปถามอาจารย์ ถามเพื่อน หรือเข้าห้องสมุดค้นคว้าหาหนังสืออ่าน ไม่มีกูเกิ้ล กดปึ้ง ขึ้นมาร้อยคำตอบ ร้อยข้อมูล แต่พวกเราสมัยห้าสิบปีที่แล้ว ต้องเข้าห้องสมุด ต้องอ่านเอง อ่านๆๆๆๆ เวลาสอบก็ต้องคิดๆๆๆๆๆ แล้วเขียนๆๆๆๆตอบ

พวกเราเรียนกันมาแบบนี้ เรียกว่าลำบากยากเย็นแสนเข็ญ แต่เมื่อพวกเราเป็นอักษรศาสตร์บัณฑิต
วันที่ออกจากเทวาลัยไปสู่โลกของการทำงาน จึงสำนึกอย่างสุดแสนจะภาคภูมิใจในความเป็นอักษรศาสตร์บัณฑิตของพวกเรา
ในทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ที่พวกเราร่วมงาน พวกเราได้รับการยอมรับอย่างยิ่ง พวกเราเป็นที่ไว้าางใจในความคิด เป็นที่ยอมรับในความสามารถว่าทำงานอะไรก็ตาม เราใส่ใจ ศึกษาถึงแก่น และทำได้ดี ความเป็นคนอักษรเป็นแบบนี้

ฟัง คิด ถาม จดจำ  ร่ำเรียนและฝึกปรือกันมาในวิถีและวิธีของคนอักษร เป็นคนแบบนี้ แบบที่ใครๆก็ต้องการ ใครๆก็อยากให้ร่วมงาน หน่วยงานไหนๆ องค์กรไหนๆ ก็ต้องการคนแบบนี้ แบบคนอักษร อย่างพวกเรา

ประจักษ์พยานมีมากมาย คนอักษรทำงานที่ไหน ได้รับคำชมว่าทำงานเก่ง ทำงานดี เจริญเติบโตก้าวหน้า
แม้จะไม่ได้ทำงานด้านอักษรศาสตร์ มากมายหลายร้อยหลายพันของอักษรศาสตร์บัณฑิตที่ไปศึกษาต่อด้านอื่นๆ
เป็นนักเศรษฐศาสตร์ นักการเงิน นักบริหาร นักการตลาด ประสบความสำเร็จทั้งสิ้น และเชื่อได้เลยว่าทุกคน จะตอบถึงแก่นแท้ที่ทำให้ประสบความสำเร็จนั้นว่า คือความเป็นคนอักษร

พวกเราชาวอักษร จะบรรลุด้วยตัวเองว่า สี่ปีที่ร่ำเรียน คณาจารย์ที่เพียรกวด หวด พวกเรา หลอมเราเป็น คนอักษร
เป็นคนเก่งและดี

กลับขึ้นด้านบน

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University