เรื่องเล่าของนิสิตเก่า รุ่น 36

นักเรียนอักษรศาสตร์ สดใส ขันติวรพงศ์

ที่คณะเราใช้คำครู นักเรียน กันเป็นปกติ อาจารย์ทุกท่าน แทนตัวด้วยคำว่า ครู และเรียกพวกเรา นักเรียน วัฒนธรรมที่แสดงความใกล้ชิดระหว่างครูกับศิษย์ที่ทุกวันนี้อาจเปลี่ยนไป เมื่อความเสมอภาคเข้ามา ฉันคิดว่าอาจารย์สมัยนี้เรียกนักศึกษา คุณ กันเป็นส่วนใหญ่แล้ว

นักเรียนอักษรศาสตร์ในยุคนั้นเรียนกันทั้งวัน จันทร์-ศุกร์ เราเคยคิดกันเคร่าๆ สัปดาห์หนึ่งเราเรียนถึง 33-35 ชั่วโมง ไม่มีชั่วโมงว่างที่จะไปเถลไถลที่ไหนได้ ออกจากห้องเรียนใหญ่ก็เข้ากลุ่มติว ส่วนตัวฉันไม่รู้สึกเครียดกับระบบการเรียนอย่างนี้ เพราะเราอยู่ในสถานที่สวยงาม ความมีชีวิตชีวาของครู ทำให้เราหย่อนใจได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว

          Mr. Cross สูงโย่ง สวมเสื้อสีสดใสเป็นประจำ เราคอยทายกันว่าวันนี้จะเหลือง เขียว หรือ ชมพู ฯลฯ

          Mr. Archbald เล็กเชอร์ไปกระแอมไป เราห่อเสตร็ปซิลส่งไปให้ พร้อมข้อความ "Clear your throat, Sir!"

          พวกเราเก่งพอที่หาเรื่องสนุกได้ในโลกของเรา

รุ่นฉันมีวลีที่พวกเราพูดกันติดปาก "สาวอักษรฉันเพล" เวลาว่างยาวๆ ตอนพักกลางวัน เป็นเรื่องสำคัญสำหรับเรา นี่คือเวลาที่มีค่า เราจึงต้องรีบไปกินข้าวเที่ยงตอนช่วงพัก 15 นาทีก่อนชั่วโมงสุดท้ายในภาคเช้า ถ้าไปกินที่สโมสรอาจารย์ใต้ซุ้มการเวก รีบสั่งเลยไม่ต้องคิดมาก ข้าวสตูว์ลิ้นวัว กับน้ำสตรอเบอร์รี่ ราคารวมราว 10 บาท ไม่อีกทีก็ไปกินที่ร้านอาหารกรมประชาสงเคราะห์ หลังตึกหอสมุด ข้าวราดแกงจานละ 3 บาท น้ำฟรี  รีบๆ กินให้ทันเสียงกระดิ่งที่ลุงสดเคาะเข้ารียนชั่วโมงก่อนเที่ยง ซึ่งพวกเราทำเวลาได้ดีเสมอ

พอพักเที่ยง 1 ชั่วโมงได้เวลาจับกลุ่มไปนั่งกินฝรั่งดอง ของกระจุกกระจิกตามมุมที่ถนัด บางทีเลยไปถึงหอประชุมใหญ่ เราต้องรีบกินและมีมุมส่วนตัว เพราะหนุ่มๆ แปลกหน้าชอบพากันมาอุดหนุนร้านอาหารที่คณะเราเต็มร้านเสมอ บางทีมาเตะฟุตบอลในลานหลังตึกเรา ลานข้างตึกก็ถูกจับจองโดยหนุ่มๆ จากคณะใกล้เคียง สาวๆ เจ้าของตึกจึงต้องหลบมุมไปหาที่ทางสงบของตน

พวกเราโชคดีอยู่ใกล้หอสมุด บางวันตอนเที่ยงปีนขึ้นไปห้องใต้หลังคาที่หอสมุด ซึ่งเป็นห้องสมุดดนตรี เปิดดนตรีคลาสสิกให้นักเรียนฟัง นั่นคือเวลาที่จะหลับพักผ่อนได้อย่างสบาย ถ้าไม่ขึ้นไปห้องใต้หลังคา ก็ลงบันไดไปสำรวจห้องใต้ดิน  สนุกยิ่งกว่าอ่านนิยายนักสืบ

การสอบปลายภาคเป็นเวลาทดสอบความแกร่งของพวกเราอย่างที่สุด สอบติดต่อกันทุกวันราวๆ 5-7 วัน เช้า 3 ชั่วโมง บ่าย 3 ชั่วโมง ข้อสอบอัตนัยทุกวิชา แจกกระดาษเขียนตอบกันเป็นเล่มๆ คิดดูเถิดนักเรียนประวัติศาสตร์ตอบอัตนัยวิชาละ 5 ข้อ หลายๆ วิชาติดต่อกัน พอถึงวันที่สาม ต้องผลัดกันนวดไหล่ แต่ใจสู้บางทีเขียนตอบวิชาละตั้งสองเล่ม เย้

 

          เทวาลัยใต้ร่มชงโค

          สอนเราให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

          สอนให้กล้าแสดง

          รู้ดัดแปลงสิ่งดีดี

          เทวาลัยนี้งามนัก

          ถิ่นฟูมฟักชาวอักษร

          ให้เห็นค่าปัญญาบวร

           เห็นความงามแห่งชีวี

           ขอกราบพระแม่เจ้า

           สุรัสวดีเทวีแห่งผองเรา

           ทุกวันสุขในเหย้า

           ด้วยพระแม่ทรงแลดู

           จากไกลใจยังรัก

           รู้ตระหนักรักของแม่

           ลูกอักษรไม่ผันแปร

           ขอแทนคุณแม่ด้วยสิ่งงาม

 

 เล่าโดย สดใส ขันติวรพงศ์

 

 

กลับขึ้นด้านบน

น้องใหม่คณะอักษรศาสตร์ รุ่น 36 สดใส ขันติวรพงศ์

นิสิตอักษรศาสตร์ที่เคยเรียนบนตึกเทวาลัย ไม่น่าจะมีใครลืมบรรยากาศวันรับน้องใหม่ที่ห้องโถงกลางในตึกนี้ นี่เป็นความทรงจำที่งดงามและเป็นมงคลแก่ชีวิตอย่างยิ่ง

          วันรับน้องใหม่มหาวิทยาลัยมีกิจกรรมทั้งวัน จำได้ว่าไปมหาวิทยาลัยตั้งแต่เช้ามืด ตอนเช้ารับน้องรวมของมหาวิทยาลัย พี่ๆ ทั้งที่กำลังเรียนอยู่และที่จบไปแล้ว มายืนเรียงรายรอรับเราตั้งแต่ที่ประตูใหญ่ คล้องมาลัยจามจุรีให้น้อง บางคนพกแป้งมาเขียนหน้าให้น้องบ้าง แต่ไม่ได้ใช้สีฉูดฉาดมากนัก เราหยุดยืนร้องเพลง บูมจุฬา หรือเพลง เคารพพี่  ที่พี่ๆ ทีมเชียร์ของคณะได้ฝึกซ้อมพวกเราไว้ก่อนแล้ว หลายครั้งที่พอร้องเพลงจบพี่ๆ จะให้เงินพวกเรา 1-5 บาท จำได้ว่าตอนเข้าหอประชุมใหญ่ ฉันได้ตังค์รวมตั้ง 70 บาท

รับน้องคณะตอนบ่าย เริ่มด้วยพิธีการขรึมขลัง น้องใหม่ทะยอยเข้าไปยืนในโถงกลางของตึกคณะอักษรศาสตร์ ที่มีบันไดหินอ่อนทอดขึ้นไปชั้นบน ที่กลางผนังเหนือชานบันไดประดิษฐานพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ผู้ทรงเป็นต้นกำเนิดแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามพระราชดำริแห่งพระองค์ และด้วยเงิน"หางม้า" ที่เหลือจากการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบรมรูปทรงม้า

ขณะที่น้องทะยอยขึ้นไปถวายบังคมพระบรมรูปทีละ 5 คน พี่ๆ ที่ยืนอยู่บนระเบียงด้านบนโปรยใบจามจุรีรับขวัญ พร้อมกับร้องเพลงมหาจุฬาลงกรณ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ประทานให้แก่มหาวิทยาลัยมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว

บรรยากาศขรึมขลังอย่างอบอุ่นใจนี้ มิใช่สิ่งที่จะลืมกันได้ง่ายๆ แค่ระลึกถึงก็น้ำตาไหลด้วยความตื้นตันใจ

ตอนเย็นพวกเราต้องลอดซุ้มที่พี่ๆ ในคณะจัดไว้ต้อนรับ ฉันจำได้ว่าตอนคลานผ่านหน้าพี่ๆ ที่นั่งเรียงรายดูลายมือน้อง แล้วให้คำพยากรณ์  พี่ผู้ชายคนหนึ่งเอากิ่งจามจุรีเคาะศีรษะของฉันเบาๆ พูดว่า น้องคนนี้จะเป็นครูที่ดี ฉันขนลุก รู้สึกว่านี่คือคำอวยพร

เมื่อเข้ามาเป็นนิสิตแล้วอย่างเต็มตัว ห้องโถงกลางนี้คือที่รวมจิตวิญญาณของพวกเรา พอมาถึงคณะตอนเช้า เราถวายความเคารพพระบรมรูป แล้วไปซื้อน้ำและขนมอบแสนอร่อย ทั้งครัวซอง เอแคล เดนนิช ฯลฯ ที่วางไว้หลายถาดใหญ่ในห้องโถงกลางนี้ ไม่มีคนยืนขาย เราจ่ายเงินใส่ถาดซึ่งวางไว้ใกล้ๆ ถ้าต้องทอนก็ทอนเอาเอง ความซื่อสัตย์ของนิสิตเป็นที่ไว้วางใจได้

ยืนกินขนมไป พร้อมๆ กับอ่านกลอนหรือข้อเขียนที่ใครๆ ก็สามารถนำมาแปะไว้ที่ป้าย "สวนอักษร" หรือจะนั่งจะยืนพูดคุยตามอัธยาศัย ก่อนแยกย้ายกันเข้าห้องเรียน

นิสิตปีหนึ่งรุ่นเรามี 110 คน นิสิตหญิง 100 นิสิตชาย 10 คน นั่งเรียนรวมกันในห้อง 10 ทางปีกด้านหน้าของตึก ห้องเรียนซึ่งมีลายปูนปั้นบนเพดานงดงาม มลิวัลย์เพื่อนฉันเคยพูดว่า เวลาง่วงนอนเธอชอบแหงนมองลายปูนปั้นบนเพดาน แล้วคิดถึงขนมโก๋ เพราะลวดลายปูนปั้นสีขาว สวยสะอาดเหมือนขนมโก๋ที่เพิ่งเคาะจากพิมพ์ใหม่ๆ

นักเรียนในห้องสิบนั่งเรียงตามตัวอักษร ฉัน ส นั่งอยู่แถวหลัง จึงเห็นคุณประดิษฐ์หรือพี่เมธินีมายืนเช็คนักเรียนว่าใครมาเรียนใครขาดเรียน อาจารย์ผู้สอนไม่ต้องทำหน้าที่นี้

นอกจากเรียนรวมในห้องใหญ่นี้แล้ว ที่คณะยังแบ่งนิสิตเป็นกลุ่มย่อย เพื่อติวบางวิชาที่เรียนในห้องใหญ่ ส่วนมากกลุ่มย่อยนี้จะติวภาษาอังกฤษ นักเรียนในกลุ่มนี้ค่อนข้างสนิทสนมกัน เพื่อนฉันหลายคนจากโรงเรียนเตรียมได้มาเรียนร่วมกันในกลุ่มย่อยนี้อีก บรรยากาศการเรียนจึงสนุกเป็นกันเอง และฉันคิดว่าอาจารย์หลายคนก็พลอยสนุกกับเราด้วย

กลับขึ้นด้านบน

เกิดเรื่องใหญ่ สดใส ขันติวรพงศ์

วันหนึ่ง อาจารย์สดใส พันธุมโกมล เข้ามาสอนวิชาการละครเบื้องต้นอย่างตื่นเต้น บอกพวกเราว่า ตอนนี้มีหนังเรื่อง The Graduate มาฉายที่โรงหนังสยาม แล้วอาจารย์ก็แจกแจงนัยทางการละครของหนังเรื่องนี้ ความสับสนของบัณฑิตหนุ่ม เพิ่งจบจากมหาวิทยาลัย ยังอ่อนเยาว์ต่อโลก แล้วมาพบกับผู้หญิงซึ่งจัดเจนโลก จนนำไปสู่ความซับซ้อนๆ นานา กว่าจะรู้ว่าความรักคืออะไร อาจารย์พูดถึง สัญลักษณ์การแบกไม้กางเขน ฯลฯ รวมถึงความหมายของเพลงไพเราะในเรื่องนั้น อย่าง The Sound of Silence, Scaborough Fair และความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาของอเมริกันชนในยุคทศวรรษที่ 60 อย่างได้อารมณ์เลยทีเดียว

ปกติอาจารย์สอนมีแอ๊กชั่นหนุกหนานอยู่แล้ว พอมีเรื่องเล่าสนุก ท่านบรรยายอย่างเห็นภาพ  อดใจไม่ไหวกันเลยเรา ในเมื่อทุกวันเรียนกันอย่างไม่มีชั่วโมงว่าง และหนังก็จะออกจากโรงในไม่กี่วัน ครั้นจะรอวันเสาร์-อาทิตย์ก็เกรงจะเสียโอกาส ขอ"โดดร่ม" ชั่วโมงประวัติศาสตร์บ่ายวันนี้หน่อยน่า  น่าจะคิดอย่างนี้กันหลายคน เพราะฉันไปเจอเพื่อนๆ กว่าสิบคนที่หน้าโรงหนัง

วันรุ่งขึ้นเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ คดีโดดเรียนเป็นสิบๆ คนไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ เรารู้ว่าอาจารย์วไลเสียใจมาก สุดท้ายต้องชวนกันไปขอขมาอาจารย์ อาจารย์เข้าใจ ทุกอย่างจึงผ่านไปด้วยดี

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ต้องไปขอขมาอาจารย์ ตอนอยู่ปีหนึ่ง อาจารย์ไพฑูรย์มายืนรอนานมาก ที่หลังห้องสิบ จะเข้าสอน แต่พวกเรายังคุยกันไม่ยอมหยุด อาจารย์คงเบื่อที่จะรอ และจะสอนเราโดยไม่ต้องใช้คำพูด ท่านเดินกลับไปห้องพัก พวกเรามารู้ตัวก็ตอนนี้เอง ภาสินี ศรหิรัญ หัวหน้าห้องต้องเป็นตัวแทนไปขอโทษอาจารย์ และท่านก็เข้าห้องสอนตามปกติ

เรื่องการรออาจารย์นี้ ศาสตราจารย์จิรายุ นพวงศ์ อาจารย์ผู้ใหญ่สอนวรรณคดีโบราณ อย่างหิโตปเทศ นิทานเวตาล  ท่านชอบพูดตลกหน้าตาย กระเซ้าพวกเราว่า ถึงเวลาเรียนเธอต้องรอ ถ้าครูธรรมดามาสาย ให้รอสิบนาที แต่ถ้าศาสตราจารย์มาสายให้รอยี่สิบนาที แค่นี้พวกเราก็หัวเราะกันครืน เพราะตอนนั้นท่านเป็นศาสตราจารย์แล้ว

บรรยากาศการเรียนการสอน ที่นักเรียนรู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่ในบ้านเช่นนี้ ได้ฝึกพวกเรา ให้เข้าใจความจริงของชีวิต ที่ผิดพลาดได้ แต่ต้องรู้ว่าจะแก้ไขสถานการณ์นั้นกันอย่างไร เราไม่เคยปล่อยให้ปัญหาคาราคาซัง  มีอะไรก็พูดจากัน ครูกับนักเรียนที่คณะเราไม่เคยขาดการสื่อสาร เพราะท่านไม่ได้วางตัวให้เรากลัว แต่เราเกรงใจความนิ่งอย่างเต็มด้วยเมตตาของท่าน เราจึงคลานเข่าเข้าไปขอขมาท่าน อย่างสำนึกผิดแท้จริง

เล่าโดย สดใส ขันติวรพงศ์ 

กลับขึ้นด้านบน

เรียนวิชาบรรณารักษ์ที่หอสมุดกลาง สดใส ขันติวรพงศ์

ตอนอยู่ปีหนึ่ง ปีสอง นักเรียนอักษรศาสตร์ต้องเรียนวิชาพื้นฐานรวมกันในห้องเรียนรวม วิชาพื้นฐานคือ ภาษาไทย ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภาษาอังกฤษ

นักเรียนที่เรียนฝรั่งเศส เยอรมัน หรือ คณิตศาสตร์ ถูกจัดกลุ่มตามสายของตน กลุ่มละราวๆ 15 คน และมีชั่วโมงติวภาษาไทย ภาษาอังกฤษเพิ่มเติม ส่วนมากเป็นเรื่องของการสนทนา และการฝึกเขียน

พอขึ้นปีสาม ทุกคนเลือกเรียนวิชาที่ตนถนัดแยกกันไป นอกจากเลือกเรียนภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์และอังกฤษทั่วไปแล้ว ฉันได้ลงเรียนวิชาบรรณารักษ์ด้วย คิดเองเสร็จสรรพว่าการเป็นครูต้องเกี่ยวข้องกับห้องสมุด ไม่คิดจะเป็นบรรณารักษ์แต่อยากรู้จักหนังสือ

ห้องเรียนบรรณารักษ์ก็คือหอสมุดกลางสุดโก้ อีกปีกหนึ่งของตึกเทวาลัยอาคารเรียนประจำของพวกเรา

การเรียนบรรณารักษ์มีรายละเอียดมาก โดยเฉพาะเรื่องการทำบัตรรายการ ซึ่งฉันไม่ถนัดเลย แต่ชอบรอยยิ้มของอาจารย์อัมพร ทีขะระ อาจารย์ยิ้มเยือกเย็น แค่เห็นก็เป็นสุข

วิชาที่ชอบในสาขาบรรณรักษ์คือ วิชาบรรณนิทัศน์ เรียนกับอาจารย์อัมพรอีกเหมือนกัน อาจารย์ให้เลือกอ่านหนังสือที่เราชอบ 10 เล่ม ทำบรรณนิทัศน์ (excerpt) แนะนำหนังสือส่งตอนปลายเทอม ฉันรู้สึกว่านี่เป็นวิชาอิสระที่สุด ได้อ่านหนังสือที่ตัวเองชอบ แล้วยังมีคะแนนให้ด้วย จำได้ว่าอ่านงานของคุณวิลาส มณีวัต มรว. คึกฤทธิ์ ปราโมท หลายเล่ม เป็นช่วงที่ได้อ่านหนังสือมากที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิต

การเดินเข้า-ออกหอสมุดกลางเป็นประจำ ทำให้รู้จักแทบทุกซอกมุมของอาคารหลังนี้ ห้องสมุดดนตรีบนชั้นใต้หลังคา ถือเป็นสวรรค์ในช่วงพักกลางวัน ชอบขึ้นไปฟังดนตรีคลาสสิกที่เขาเปิดกล่อมในช่วงพัก ฟังไปหลับไป แต่ช่วยให้ผ่อนคลายจากการเรียนวันละหลายๆ ชั่วโมงได้มาก

ชั้นใต้ดินของหอสมุดเป็นห้องโล่งๆ มีบันไดเดินลงไป บางทีก็แค่ไปสำรวจด้วยความอยากรู้ว่า ห้องใต้ดินมีลักษณะอย่างไร เพราะเวลาอ่านวรรณคดีอังกฤษ เขาจะเอ่ยถึงห้องใต้หลังคา กับห้องใต้ดินบ่อยๆ

อาจเป็นได้ว่าการต้องทำงานส่งครู เราจึงเลือกอ่านหนังสือที่ค่อนข้างมีสาระที่จะสรุปได้ ฉันจึงไม่ถนัดอ่านนิยายเริงรมย์ทั่วไป ซึ่งเพื่อนสนิทจะรู้กัน วันหนึ่งหยิบนิยายรักของนักเขียนคนหนึ่งจะยืมไปอ่าน จันทรัตน์ ประวาลปัทม์เพื่อนผู้รู้ใจ ฉวยหนังสืออีกมุมหนึ่ง หัวเราะบอกว่า เล่มนี้เธออ่านไม่ไหวหรอก มันจ๋อยเกินไป ฉันเชื่อวิจารณญาณของเพื่อน เลยไม่ได้อ่านงานของนักเขียนคนนั้นตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้

ตอนกลับไปเรียนปริญญาโท หอสมุดคือที่นัดพบของพวกเรา  เวลานัดคือ ภาคเช้า ภาคบ่าย ไม่ระบุเวลา หมายความว่า ถ้าเพื่อนยังไม่มาก็อ่านหนังสือรอไป ถ้าภาคเช้าก็ไม่เกินเที่ยง ภาคบ่ายก็ไม่เกินสี่โมง หอสมุดกลางจึงเป็นเสมือนบ้าน เป็นสถานนัดพบของพวกเรา

ทุกวันนี้ หอสมุดกลาง บ้านเก่าซึ่งเต็มด้วยตำรับตำรา วารสาร หนังสืออ่านเล่น เสียงดนตรี และหน้าตาผู้คนที่เรารู้จักคุ้นเคย คือคณาจารย์ผู้สอนวิชาบรรณารักษ์ พี่ๆ บรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ ล้วนมีชีวิตอยู่ในความทรงจำของฉันตลอดมา

ขอบคุณวันเวลางดงาม ที่ได้อยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้อย่างไม่เคร่งเครียด ไม่กดดันแข่งขัน หากแต่เปิดโอกาสให้เราได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ และค้นพบตนเองตลอดเวลา

เล่าโดย สดใส ขันติวรพงศ์

 

กลับขึ้นด้านบน

ไปค่ายอาสา สจม. สดใส ขันติวรพงศ์

ปิดเทอมใหญ่ก่อนขึ้นปีสอง สโมสรนิสิตจุฬาจัดค่ายอาสาพัฒนาชนบท ไปลงพื้นที่ที่อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ฉันกับแอนรัชฎา สมัครไปกับเขาด้วย

ขบวนรถไฟไปถึงปลายทางตอนเช้าตรู่ มีรถสกายแลปมารอรับหลายคัน นั่งรถตอนเช้ารู้สึกว่าบรรยากาศดีมาก จากนั้นไปลงเรือที่หนองหาน จำได้ว่าไปถึงหมู่บ้านตอนค่ำ ชาวบ้านจุดไต้ปักรายไปตลอดทางจนถึงโรงเรียนที่พัก

ที่ค่ายได้รู้จักพี่ๆ และเพื่อนใหม่หลายคน ที่จำได้คือพี่ดุก ผู้อำนวยการค่าย เราเรียกว่า "ผอก" พี่ลักษณะหญิงจากคณะเรา พี่สวยจากครุศาสตร์ เธอทำกับข้าวเก่งมาก รับหน้าที่แม่ครัวใหญ่ ได้รู้จักกับตุ๊กทิพยรัตน์ และอุบลเพื่อนเก่า จากคณะครุศาสตร์ คลับคล้ายคลับคลาว่านิสิตครุศาสตร์ไปกันหลายคน

ที่ค่ายนี้เป้าหมายคือสร้างอาคารเรียนให้โรงเรียน ระหว่างนั้นก็ทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ เช่น สอนหนังสือ ชวนพูดคุย ให้เด็กๆ หัดเขียนและวาดรูป ตอนค่ำ หลังจากประชุมสรุปงานทุกคืน เราต้องเหลาดินสอเป็นกำๆ ฉันจึงเหลาดินสอด้วยคัตเตอร์เก่งตั้งแต่บัดนั้น ทักษะนี้มีประโยชน์มากตอนเขียนวิทยานิพนธ์ในเวลาต่อมา ในยุคที่คอมพิวเตอร์ยังไม่เกิด สำหรับฉันแล้วการนั่งเหลาดินสอเป็นกิจกรรมเรียกสมาธิเตรียมความพร้อมก่อนทำงานได้ดีพอๆ กับเสียบมะลิก่อนทำการบ้านเลยทีเดียว

ฉันลูกทะเล มีทักษะการทำปลา(เตรียมปลาก่อนปรุงอาหาร) มาตั้งแต่เด็ก ๆ ขอดเกล็ดปลาตัวโต ๆ และเฉือนเนื้อปลา ช่วยแม่ครัวได้สบายมาก วันหนึ่งเพื่อนๆ ชวนกันมาดู ชมว่า ทำปลาเก่งจัง ฉันยิ้มในใจ นึกขอบคุณแม่ที่ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง จนเราจำมาทำได้อย่างสบาย

นึกขำตัวเอง เมื่อชาวบ้านพูดว่า ที่นี่น้ำท่าลำบาก ไม่มีน้ำทำนา ฉันเสนอทฤษฎีตามที่เคยเรียนวิชาอารยธรรมอียิปต์ พูดกับเขาว่า อยู่ใกล้หนองหานอย่างนี้ น่าจะขุดคลองชลประทานเข้ามาที่ไร่นาของตน ชาวบ้านหัวเราะตอบว่าทำไม่ไหวหรอกคุ้ณ นี่ก็พอจะเข้าใจได้ เฉพาะแต่กำลังแรงงานของชาวบ้านน่าจะยากจริงๆ โครงสร้างพื้นฐานอย่างนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐต้องจัดการ

ตอนไปเยี่ยมบ้านชาวบ้าน เห็นบ้านไม้ใต้ถุนสูงหลังใหญ่ๆ หลายหลัง ส่วนมากนามสกุล จันทรังษี ชาวบ้านพูดด้วยความภูมิใจว่าลูกหลานของบ้านนี้ คือคุณรัชนี จันทรังษี ดาราละครวิทยุชื่อดัง แห่งคณะกันตนา คือสาวจากบ้านนี้ พวกเราถึงบางอ้อ เข้าใจได้ทันที

ครึ่งแรกของการอยู่ค่ายหนึ่งเดือน เราได้รับอนุญาตให้ไปเปิดหูเปิดตาในเมืองสกลนคร ฉันหลงใหลขนมของชาวญวณในตลาดเช้า บรรยากาศคล้ายๆ แผงขายขนมตอนเช้าที่กระบี่และภูเก็ต ซื้อขนมกินอย่างไม่อั้น ชดเชยที่อดขนมหวานมานานหลายวัน

เราไปค่ายเดือนเมษายน แต่พอตกดึกอากาศเหน็บหนาวเข้ากระดูกเลยทีเดียว จำได้ว่าคืนหนึ่ง ลุกขึ้นเข้าห้องน้ำตอนดึก ไม่มีแสงไฟ ฉันเดินเหยียบลวดดัดฟันของแอนซึ่งนอนอยู่ใกล้ๆ หักยับเยิน เสียใจกับเพื่อน ยายแอนหัวเราะเฉยเลย แต่ฉันรู้ว่าเธอต้องไปทำลวดดัดฟันใหม่ น่าจะเสียไปหลายสตังค์

เมื่อเสร็จภารกิจ งานอำลาค่ายทำให้ใจหายไม่น้อย เมื่อชาวบ้านนำผ้าที่พวกเขาทอกันเอง มาให้ชาวค่ายทุกคน ฉันได้ซิ่นขิดย้อมครามมาหนึ่งผืน นุ่งหลายครั้งจนเปื่อยไป แต่ยังจำซิ่นอีสานผืนแรกในชีวิตได้ดี

ประสบการณ์ชาวค่าย นอกจากได้ไปเยือน และรู้จักภาคอีสานเป็นครั้งแรกแล้ว มิตรภาพระหว่างเราชาวค่ายได้ยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้

ขอบคุณกิจกรรมดีๆ ของสโมสรนิสิตจุฬา ที่เปิดโลกกว้างให้เพื่อนนิสิตได้ก้าวออกไปเรียนรู้ความจริงของชีวิต และสังคมไทย ได้ช่วยหล่อหลอมวิธีคิดที่ไม่ทอดทิ้งวัฒนธรรมและสังคมของตน ขอบคุณ ขอบคุณค่ะ

 

เล่าโดย สดใส ขันติวรพงศ์

 

กลับขึ้นด้านบน

ครูของเรา สดใส ขันติวรพงศ์

ฉันรู้สึกเสมอมาว่าครูของเราที่คณะอักษรฯ เป็นครูด้วยหัวใจ เป็นครูอย่างเต็มความหมายของคำว่า คุรุ ในภาษาสันสกฤต ที่แปลว่าผู้ขจัดความมืดจากใจศิษย์ ท่านเป็นแบบอย่างของผู้มีคุรุธรรม มีความหวังดีต่อศิษย์เป็นที่ตั้ง เมตตาต่อศิษย์อย่างที่เราสัมผัสได้

ตอนเราเรียนอยู่ที่คณะอักษรนั้น ศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์ เป็นคณบดี ท่านวางตัวเหมือนอาจารย์ทั่วไป ห้องทำงานของท่านนักศึกษาเดินเข้า-ออก ไปส่งงานได้ตามปกติ

วันหนึ่งตอนอยู่ปีหนึ่ง ฉันดูรายการโทรทัศน์ช่อง 4 มีรายการวาดภาพเล่าเรื่องราวของพ่อขุนรามคำแหง ให้นักเรียนนักศึกษาย่อเรื่องประกวดชิงรางวัลจากบริษัทผลิตยาสีฟันวิเศษนิยม ฉันนึกสนุก จะส่งย่อความเข้าประกวด พอทำงานเสร็จ เอาเข้าไปที่ห้องทำงานของคณบดี ขอให้อาจารย์รองช่วยดู ท่านอ่าน พยักหน้า บอกว่าใช้ได้ ฉันส่งเรียงความเข้าประกวด ชนะรางวัลที่สอง ได้เงินรางวัลห้าสิบบาท ปลื้มที่ได้รางวัลนั้นก็ปลื้ม แต่ปลื้มกว่านั้นคือความเมตตาที่ได้รับจากอาจารย์

รุ่นเราเป็นนิสิตรุ่นสุดท้าย ที่ใช้ระบบวัดผลแบบเดิม คือใช้เกณฑ์คะแนนตัดสิน ไม่ได้ใช้ระบบหน่วยกิต ที่นิสิตเลือกลงวิชาเรียนได้อย่างกว้างขวางเหมือนในยุคหลังๆ  ตอนอยู่ปีสี่ ฉันเลือกเรียนสามหมวดวิชา คือภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และอังกฤษ1 หรือ อังกฤษทั่วไป ความตั้งใจที่จะเป็นครูสอนสังคม ยังไม่เปลี่ยนแปลง

ครูสอนประวัติศาสตร์ทุกท่านเมตตาเราในลักษณะที่แตกต่างกันไป ทุกเช้าที่พบกันอาจารย์เพ็ญศรี ดุ๊ก ยิ้มหวาน ทักสวัสดี ถามสารทุกข์สุขดิบ วันหยุดไปเที่ยวที่ไหน อะไรทำนองนี้ สอนพวกเราทางอ้อมให้รู้จักทักทายผู้คน

อาจารย์วไล ณ ป้อมเพชร อาจารย์ฐิติมา พิทักษ์ไพรวัลย์ อาจารย์แสงโสม เกษมศรี แต่ละท่านมีบุคลิกประจำตัวที่ทำให้เราจำท่านไม่ลืม คือกิริยายิ้มแย้ม เป็นมิตรอย่างที่เราเข้าใกล้ได้อย่างสบายใจ

อาจารย์วิลาสวงศ์ นพรัตน์ พงศะบุตร ถือเป็นครูประวัติศาสตร์ในดวงใจ อาจารย์พูดจาฉะฉานชัดเจน วิเคราะห์ประวัติศาสตร์อย่างน่าฟัง ท่านยกตัวอย่างง่ายๆ เข้าใจได้ ทำให้เราเห็นความดีงามของมนุษย์อย่างไม่ติดทฤษฎี  อาจารย์ย้ำกับเราเสมอ ว่าการเรียนประวัติศาสตร์ต้องวิเคราะห์ตามข้อมูล บริบทของสังคมและวัฒนธรรมนั้น อย่าเอาทฤษฎีมาตั้ง แล้วเลือกใช้แต่ข้อมูลที่สนับสนุนทฤษฎีนั้น ซึ่งอาจไม่ยุติธรรมกับภาพรวมของประวัติศาสตร์

อาจารย์ยกตัวอย่าง ชี้ให้เห็นความเป็นครูของอาจารย์รอง ที่ปฏิบัติกับนักศึกษาอย่างปราศจากอคติ ช่วยเท่าที่ช่วยได้ เราฟังเรื่องราวที่อาจารย์วิลาสวงศ์พูดถึงอาจารย์รองด้วยความเข้าใจ ยิ่งรักและศรัทธาศาสตราจารย์ท่านคณบดีของเรามากขึ้นไปอีก

อาจารย์วิลาสวงศ์อีกนั่นแหละ ที่อธิบายความหมายสีธงประจำคณะให้เราเข้าใจ ท่านพูดว่า โลกนี้ ชีวิตนี้ ไม่มีหรอกที่ขาวดำแยกกันเด็ดขาด บางครั้งดำมาก บางครั้งขาวมาก ชีวิตมันก็สีเทาๆ อย่างสีธงคณะเรานี่แหละ และต่อมาเมื่อฉันได้ฟังเพื่อนอาจารย์ที่สอนศิลปะ พูดว่าสีเทาเป็นสีหวานที่สุด เพราะช่วยเสริมสีอื่นให้เด่นขึ้น ฉันยิ่งนึกขอบคุณผู้ที่เลือกสีเทาเป็นสีประจำคณะเรา ท่านคิดเป็น เข้าถึงหัวใจของปัญญาความรู้อย่างแท้จริง

           วาทะสุดท้ายที่อาจารย์วิลาสวงศ์เตือนเรา ก่อนสอบปลายปีสุดท้าย ท่านพูดว่า อีกไม่นานพวกเธอจะได้ชื่อว่าเป็นบัญฑิต เมื่อจบออกไป ไปทำงานก็จงทำอย่างบัณฑิต แม้เป็นพนักงานจัดเอกสารก็ต้องจัดอย่างบัณฑิต สำหรับนิสิตอักษรศาสตร์ที่เคยเรียน หิโตปเทศ กับศาสตราจารย์จิรายุ นพวงศ์ และผ่านการกล่อมเกลาจากศาสตราจารย์วิสุทธิ์ บุศยกุล มาแล้ว ไม่จำเป็นต้องขยายความคำบัณฑิตไปให้มากมาย พวกเรารู้จักคำนี้อย่างซึ้งใจ รู้ว่าบัณฑิตมิได้มีความหมายแค่การครอบครองใบปริญญา

เมื่อได้ทำงานในฐานะครูในเวลาต่อมา ฉันระลึกถึงสิ่งที่อาจารย์วิลาสวงศ์ได้พูดกับพวกเราที่ตั้งใจเป็นครูว่า  "อุปกรณ์การสอนดีที่สุดคือตัวเธอเอง" ฉันจารึกวลีนี้ไว้ในหัวใจเลยทีเดียว

 ศาสตราจารย์ไพฑูรย์ พงศะบุตร อาจารย์รัชนีกร บุญหลง อาจารย์สอนภูมิศาสต์ และผู้ประกาศผลการสอบที่ห้องโถงกลาง สองท่านนี้ไม่มีนักเรียนอักษรศาสตร์ในยุคนั้นคนใดไม่รู้จักท่าน

นอกจากอาจารย์ในภาคประวัติศาสตร์ ฉันระลึกถึงอาจารย์ท่านอื่นๆ ด้วยความอบอุ่นใจ ประทับใจบุคลิกและความเป็นตัวของตัวเองของแต่ละท่าน คิดถึงท่านด้วยรอยยิ้ม ไม่ว่าความมีชีวิตชีวาของ ศาสตราจารย์คุณหญิงจินตนา ยศสุนทร อาจารย์สดใส พันธุมโกมล อาจารย์ดวงใจ ชุมพล โดยเฉพาะ อาจารย์ฉลวย วุธาฑิต ที่ตอบคำถามนักศึกษาด้วยเสียงเรียบเฉย แต่คมบาดใจ

คราวหนึ่งเพื่อนในชั้นเรียน ลุกขึ้นถามอาจารย์ฉลวย ว่าทำไมเราต้องเรียนหนังสือยากๆ อย่างพระราชพิธีสิบสองเดือน ที่มหาวิทยาลัยอื่น (ระบุชื่อมหาวิทยาลัย) เขาเรียนเรื่องราวทันสมัยกันแล้วทั้งนั้น คำตอบของอาจารย์ฉลวยคือ "เพราะที่อื่นเขาไม่เรียน พวกเธอจึงต้องเรียน"

ความมีสง่าราศีและสำเนียงภาษาอังกฤษที่ไพเราะของศาสตราจารย์ คุณหญิง นพคุณ ทองใหญ่ คือประกายสว่างไสวส่องใจนักเรียนอักษรศาสตร์ในยุคนั้น เราฝันอยากงามสง่า ยิ้มง่าย พูดอังกฤษได้อย่างอาจารย์ แม้ทุกวันนี้ภาพและเสียงของอาจารย์ก็ยังไสวอยู่ในใจฉันอย่างไม่เสื่อมคลาย

รุ่นเราโชคดีได้เรียนกับอาจารย์พิเศษผู้ทรงความรู้หลายท่าน ฉันได้เรียนวิชาการแปลกับคุณพระเรี่ยมวิรัชภาค และ อาจารย์โอวาท สุทธิวาทนฤพุทธิ์ จากกระทรวงการต่างประเทศ เรียนภูมิศาสตร์กับอาจารย์สวาท เสนาณรงค์ และนาวาตรีประเสริฐ สุนทโรทก จากกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ที่แสนจะอดทนกับพวกเรา เมื่อท่านสอนเรื่องการคำนวณน้ำฝน แล้วเราคิดเลขกันไม่ค่อยจะได้

คณาจารย์และอาจารย์พิเศษที่กล่าวนี้ คือยอดคุณครูผู้เปี่ยมด้วยปัญญาและเมตตา ท่านคือโพธิสัตว์แห่งชีวิตศิษย์ชาวอักษรศาสตร์อย่างแน่แท้

เล่าโดย  สดใส ขันติวรพงศ์

 

กลับขึ้นด้านบน

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University