เรื่องเล่าของนิสิตเก่า รุ่น 41

ศึกชิงพื้นที่

เล่าความหลังครั้งเปิดศึกชิงพื้นที่คืนจากวิศวะฯ

      ปี 2518  ตอนที่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 3   เกิดศึกย่อมๆ ระหว่างสาวอักษรฯ  กับ หนุ่มวิศวะฯ   ด้วยเหตุความไม่พอใจที่ พวกวิศวะฯ เข้ามารุกพื้นที่ ทำรุ่มร่ามในบริเวณคณะอักษรฯ

      เริ่มจากการเข้ามาตั้งวงเตะตะกร้อ บริเวณสนามด้านหลังคณะฯ แล้วยังเขียนแซวตามม้าหิน สร้างความไม่พอใจให้กับสาวอักษรฯเป็นอย่างมาก  พวกเราพยายามแสดงความเป็นเจ้าของด้วยการกระจายกำลังกันไปนั่งตามม้าหินใกล้กับวงตะกร้อ  ซึ่งก็เสี่ยงกับการถูกลูกตะกร้อตกใส่  แล้วก็เกิดขึ้นจริง  เมื่อพวกวิศวะฯเตะตะกร้อมาถูก " ผ้อ " ( สุภาพร  อริยสัจจสี่สกุล )  ลูกตะกร้อติดผมม้า  ห้อยต่องแต่งอยู่ที่หน้าผาก ( เขียนถึงตรงนี้ นึกภาพแล้วก็ขำ  แต่ตอนนั้นขำไม่ออก ! )  ผ้อคงจะเจ็บไม่มากก็น้อย

      อีกเรื่องหนึ่งคือ พวกวิศวะฯ มาเล่นไพ่กันที่ตึกศิลปะการละคร   หนึ่งในพวกเราเลยจัดหนัก โดยการโทรศัพท์ไปแจ้งตำรวจให้มาจับ !!!

      เรื่องที่ผู้เขียนรู้สึกขุ่นใจมากเป็นพิเศษ   คือ การมาเดินผ่านห้องโถงกลางของกลุ่มวิศวะฯ   พอใกล้เที่ยง กลุ่มวิศวะฯกลุ่มใหญ่ ราว 20 คน   จะยกขบวนกันไปรับประทานอาหารที่โรงอาหารของคณะอักษรฯ ( ส.จ. ) โดยเดินผ่านห้องโถงกลางของคณะฯ  

      เสียงรองเท้าหนังของผู้ชาย กับน้ำหนักตัวคนราว 20 คน  ย่ำกึงๆบนพื้นไม้ของห้องโถงกลาง ดังสะท้อนสะเทือนไปทั้งห้อง  บวกกับเสียงพูดคุยเอะอะ แบบไม่ให้ความเคารพในสถานที่  ทำลายความสงบของห้องโถงกลาง เป็นเช่นนี้ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกวัน   โดยที่พวกเขาไม่รู้ตัวสักนิดว่ากำลังเบียดเบียนผู้อื่น !

      ผ่านไปจากห้องโถงกลาง  กลุ่มวิศวะฯก็ไปยึดพื้นที่ในโรงอาหาร ส.จ. นั่งกันเต็มจนพวกเราไม่มีที่นั่ง  และอาหารก็หมดด้วย !

      ด้วยเหตุความไม่พอใจหลายอย่างตามที่เล่ามาข้างต้น  ทำให้เกิดการ  ต่อว่าต่อขาน  กระทบกระทั่งกัน  ถึงขนาดใช้ไม้กวาดไล่ตีพวกวิศวะฯ  ( แต่ก็มีวิศวะฯบางคนที่เข้าใจความอึดอัดใจของชาวอักษรฯ กลายเป็นเพื่อนกันไปก็มี )

      ก่อนที่เหตุการณ์จะลุกลามใหญ่โตไปมากกว่านี้   คณบดีในขณะนั้นคือ ผศ.เกื้อกูล  เสถียรไทย   ได้เปิดห้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายเข้ามาเจรจากัน   ผู้เขียนได้เข้าไปร่วมรับฟังพร้อมกับเพื่อนอีก 2-3 คน  คือ " ปุ๊ย " ( จันทรา  สินธวณรงค์ )  และ" หน่อง " (สาลินี  ทองสะพัก )  ซึ่งฝ่ายอักษรฯจะเป็นฝ่ายระบายความอึดอัดใจเสียมากกว่า  บางคนโกรธจัด ใส่อารมณ์จนถูกพาตัวออกจากห้อง  จำไม่ได้ว่าฝ่ายวิศวะฯพูดว่าอะไรบ้าง  แต่คงจะพูดอะไรไม่ได้มาก  นอกจากเถียงข้างๆคูๆว่าตัวเองก็น่าจะมีสิทธิ์ได้ใช้พื้นที่ตรงนี้ด้วย !

      หลังจากนั้น อาจารย์ของทั้ง 2 คณะ คงจะมีการพูดคุยกัน และมีการปรามฝ่ายวิศวะฯให้เลิกการกระทำที่เป็นการรบกวนชาวอักษรฯ  ศึกจึงสงบลง

      หลังเหตุการณ์ลูกตะกร้อติดผมม้า ผ้อ  ผู้เขียน พร้อมกับเพื่อนอีก 2-3 คน คือ ปุ๊ย (จันทรา )  หน่อง (สาลินี) และ ผ้อ (สุภาพร)  ได้ชักชวนกัน ไปบุกตึกวิศวะฯบ้าง   ประมาณว่า เป็นการเอาคืน !   โดยไปเดินในตึกอะไรก็ไม่รู้  ต้องห้ามหรือเปล่าก็ไม่รู้  หาทางเข้าแทบไม่เจอ  พอเข้าไปได้  ก็เดินเป็นตัวประหลาด  ถูกมองจนทำตัวไม่ถูก  ลนลานหาทางออกกันแทบไม่ทัน !    อาจารย์วิศวะฯเห็นหน้าซีดเป็นไก่ต้มของพวกเราแล้วคงสงสาร   บอกให้ใจเย็นๆ     ตอนหลังคลับคล้ายคลับคลาว่า  เจอพี่วิศวะฯที่รู้จัก ชื่อ " พี่ประพัฒน์ "    พาออกมา ..... เข็ดไปอีกนานนนนนนน...

 

หมายเหตุ 

เขียนจากความทรงจำอันลางเลือนของผู้เขียน  รวมกับของเพื่อนๆ  ซึ่งก็เลือนลางไม่แพ้กัน  จึงอาจจะคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงบ้าง 

กลับขึ้นด้านบน

กาลเวลามิอาจทำลาย ทิพย์วรรณ ธรรมผุสนา อบ.41

กาลเวลาเปลี่ยนแปลงสรรพสิ่ง  แต่ไม่อาจทำลาย……… 

      เด็กผู้หญิงคนนั้นเดินเลาะเลียบถนนพญาไท จากโรงเรียนมัธยมใกล้ๆมาสู่คณะอักษรศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปีพ.ศ. ๒๕๑๖

การเลือกสถานศึกษาอาจเป็นไปตามค่านิยมแห่งยุคสมัย  อาจมิใช่เพราะความชัดแจ้งในใจว่าได้วาดหวังสิ่งใดไว้ในอนาคต  แต่เวลา ๔ ปีมิอาจผ่านเลยไปโดยไม่ทิ้งร่องรอยจารึกไว้ในจิตวิญญาณของผู้คน

      เมื่อกลับมาเยือนคณะอักษรศาสตร์ในวันหนึ่ง.....เมื่อวันวารผ่านไปหลายทศวรรษ  หลังจากที่ชีวิตนำพาให้จากบ้านเกิดไปเนิ่นนานและแสนไกล  จนมิได้ร่วมรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ซึ่งเกิดกับเทวาลัยที่คุ้นเคย  

     ยามนี้ที่ตึก ๑ ได้รับการเรียกขานว่าอาคารมหาจุฬาลงกรณ์  ตึก ๒ ได้รับการบูรณะอย่างหมดจดและมีนามใหม่ว่าอาคารมหาวชิราวุธ ในขณะที่ตึก ๓ และตึก ๔ จากไป ไม่ทิ้งร่องรอยให้คนอาลัยได้ร่ำลา

     รูปรอยของความหลังยังแจ่มจ้าในความทรงจำ............

      คิดถึงรุ่นพี่แสนรักผู้หยิบยื่นมาลัยมะลิพวงจ้อยให้ในวันรับน้อง  พร้อมกระดาษแผ่นน้อยสีเทาที่บอกเล่าถึงเยื่อใยความอาทร.......มาลัยตุ้ม ให้ตุ้มน้องไว้คล้องขวัญ   ในคืนวันแปลกใหม่ใต้ฟ้าเทา.......

      คิดถึงห้องโถงกลางที่เคยเป็นชีวิต เป็นจิตใจ  ห้องโถงกว้างใหญ่เป็นที่ตั้งโต๊ะไม้ตัวโตที่พวกเราเคยนั่งตามงานกับเพื่อนพ้องหรือบ่อยกว่านั้น คือที่ซึ่งพวกเรานั่งคุยกันเสียงเจื้อยแจ้ว  ตรงมุมนั้นนั่นไง ที่สาวๆชาวอักษรฯคนมีน้ำใจเคยผลัดกันอ่านตำราให้พี่ผู้ชายคนเก่งบันทึกเนื้อหาวิชาการเป็นอักษรเบรลล์ (Braille) ......น้ำใจของน้องพี่มิได้สิ้นสุดลงตรงนั้น  ครั้นถึงเวลาเที่ยงวัน ใครคนหนึ่งจะเดินคล้องแขนพี่ชายราวกับเป็นคนรักใคร่เพื่อพาพี่ไปยังโรงอาหารของคณะ.....ที่ซึ่งลูกชิ้นปิ้งราดน้ำจิ้มรสเด็ดและเย็นเตาโฟเจ้าอร่อยที่สุดในสามโลกรอเราอยู่ 

      คิดถึงบันไดหินอ่อนอันเป็นที่ฝึกความมั่นใจ  ที่ซึ่งสาวเทวาลัยเคยก้าวเดินขึ้นไปอย่างสำรวมแต่มุ่งมั่นเพื่อไปน้อมกราบถวายบังคมพระบรมรูปพระผู้ทรงสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

      คิดถึงทางเดินยาวที่เชื่อมตึก ๑ กับตึก ๒ ที่ถูกใช้เป็นหอสมุดกลางกับลานชงโคที่บัดนี้กลับกลายเป็นบ่อบัว  บริเวณนั้นนั่นเองที่บรรดาน้องใหม่เคยวิ่งไล่ขาย “อักษรศาสตร์พิจารณ์”   ให้กับครูบาอาจารย์ใจดีที่เผอิญเดินผ่านมา 

      ปีกหนึ่งบนชั้น ๒ ของตึกเทวาลัยเป็นมุมที่ทีมกลอนน้องใหม่เคยนั่งฝึกวิทยายุทธ์ตอนเที่ยงวัน  ภาระหน้าที่และเวลาในช่วงนั้นนำประสบการณ์อันประเมินค่ามิได้มาสู่ความทรงจำ  ด้วยเป็นเวลาที่เราเฝ้ามองฟ้าโน้มองค์ลงมาสู่ผืนดินด้วยพระเมตตาอันเปี่ยมล้น ด้วยพระจริยาวัตรอันงดงาม  เป็นวันเวลาที่ความจงรักภักดีก่อร่างอย่างมั่นคงแน่นหนาในหัวใจ  เป็นวันเวลาที่ไม่มีผู้ใดสามารถลืมเลือน

       เราไม่เพียงมีพี่ๆและเพื่อนๆที่สวยและเก่งเท่านั้น  เรายังมีคณาจารย์หลายท่านที่เป็น idol   จำได้ว่าอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นสุภาพสตรีสาวผู้มีเส้นผมสลวยยาวตรง ดำสนิทเหมือนเส้นไหม  บ่อยครั้งที่อาจารย์สวมซิ่นฝ้ายมาสอนหนังสือ  อาจารย์เป็นกระแสลมแรงที่พัดพาอากาศสดมาสู่เทวาลัย  ยังจำบทสนทนาระหว่างอาจารย์กับเพื่อนคนหนึ่งได้เมื่อเพื่อนอ้อนว่า ทำไมเรามีชั่วโมงเรียนมากนัก  ด้วยเราลงวิชาเรียนเพียง ๑๘ หน่วยกิตแต่ต้องเข้าฟังการบรรยายถึง ๒๖ ชั่วโมงต่อสัปดาห์  อาจารย์ตอบเพื่อนง่ายๆว่า วันเพียงวันเดียวในชีวิตของคนเรามีตั้ง ๒๔ ชั่วโมงแล้วนะ

       การเรียนหนักของชาวอักษรศาสตร์ในช่วงเวลาที่มีบรรยากาศของเสรีภาพทางความคิด  การถูกอบรมบ่มเพาะให้ตั้งคำถาม ถึงความผิดชอบชั่วดี มีคุณูปการมากมายต่อนิสัยการทำงานและสำนึกรับผิดชอบต่อหน้าที่และสังคมของพวกเราในกาลต่อมา

      เทวาลัยในพ.ศ.๒๕๕๙ .......เมื่อมองรอบกายเหมือนจะเห็นได้เพียงความว่างเปล่า ด้วยไม่มีร่องรอยของชีวิตที่เคลื่อนไหวในรูปแบบที่คุ้นเคย   หัวใจดวงเก่าวูบไหวด้วยความรู้สึกอาลัยต่อสิ่งผูกพันที่ยังคงยึดมั่นไม่เสื่อมคลาย

      เทวาลัย....ยามนี้เหมือนจะหลับใหล แต่ตรงผืนดินที่ตึก ๔  เคยยืนตระหง่าน  บัดนี้คืออาคารเรียนใหม่ ๙ ชั้น......เส้นสายที่จารึกมงคลนามนั้นช่างคุ้นตา คุ้นใจ  

      ลมหายใจของคณะอักษรศาสตร์  ชีวิตใหม่ในจิตวิญญาณดวงเดิม  เหมือนจะพร่างพรายอยู่ในอาคารมหาจักรีสิรินธร

 ทิพย์วรรณ ธรรมผุสนา  อบ. ๔๑                

กลับขึ้นด้านบน

มิตรที่ดีของเพื่อน ณญาดา อมตวณิชย์ อบ.41

"สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  มิตรที่ดีของเพื่อน "

เมื่อสอบเข้าไปคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ปี 2516 สิ่งที่นิสิตใหม่คณะนั้น หรือแม้แต่ทุกคณะในปีนั้นปลาบปลื้ม และมีความสุขที่สุดในชีวิตคือ มีรายชื่อนิสิตใหม่ พระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ อยู่ด้วย ในปีแรกๆทุกคนเกร็งไม่มีใครกล้าเข้าไปพูดคุยกับทูลกระหม่อม แต่พระองค์ก็ทรงมีพระเมตตา ไม่ถือพระองค์ จนมีเรื่องราวเล่ากันมามากมายถึงความเปิ่นๆของเพื่อนทั้งในคณะและต่างคณะ

ในส่วนของการเป็นมิตรที่ดี เฉพาะในส่วนของผู้เขียนก็มีมากมาย จนเขียนไม่ได้หมด แต่เรื่องที่อยากจะเล่าให้ฟังเป็นเรื่องของเพื่อนคนหนึ่งที่เดินทางไปอยู่ต่างประเทศ ที่เดียวกับผู้เขียน คือเมืองลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา  ทูลกระหม่อมทรงมีพระเมตตากับเพื่อนคนนี้หลายครั้งหลายคราวจนเล่าครั้งใด ก็จะน้ำตาซึมด้วยความปลาบปลื้มแทนเพื่อนคนนั้น

เพื่อนคนนั้นชื่อ สายพิณ เมฆสกุล หรือด๋อง สมัยเรียนเป็นเพื่อนอักษรฯที่ฮามาก อารมณ์ดีที่สุดในรุ่น  ด๋องย้ายไปอเมริกาหลังจากจบไม่นาน ทำงานหนักทั้งเป็นล่าม หมอดู และทุกอย่างที่ทำได้ ด๋องแต่งงานกับนักหนังสือพิมพ์และมีลูกสาว 1 คน เราเจอกันพบปะกันที่ลอสแองเจลิสบ่อยๆ  เพราะเพื่อนรุ่นเดียวกันที่มาอยู่ลอสแองเจลิส มี ณัฏฐิยา เจียรานนท์ สุภางค์ ตันติยานนท์ ตั้งจิตนพ  ณญาดา (กรรณิการ์) อมตวณิชย์ และก็ด๋อง สายพิณ เมฆสกุล เราจึงติดต่อกันเสมอ

วันหนึ่งด๋องป่วยด้วยโรคมะเร็งที่คอ แต่ด๋องเป็นคนอดทน มองโลกในแง่ดี แบบทุกอย่างไม่ใช่ปัญหา ป่วยหนักยังยิ้มได้ รักษาตัวจนคอไหม้ พูดไม่ได้ ยังเขียนสื่อสารกันไปหัวเราะกันไป แม้เสียงหัวเราะจะเป็นเพียงเสียงแหบๆสั้นๆออกทางจมูกก็ตาม ยังทำผู้มาเยี่ยมหัวเราะด้วยความสนุกสนานไม่เหมือนมาเยี่ยมคนป่วย

จนวันหนึ่งด๋องโคม่า คอบวมเท่าหน้าและเป็นสีม่วง อาการน่าตกใจ เหมือนจะไม่รอด  เราก็ตกใจจึงติดต่อผ่านเพื่อน (เป้า พรพิมล) เพื่อขอพระราชทานกระเช้าดอกไม้ให้ด๋อง เพราะคิดว่าจะเป็นโอกาสสุดท้ายของด๋อง

เพียงสองวัน กงสุลใหญ่ในขณะนั้นคือท่านอิสินทร สอนไว เชิญแจกันดอกไม้พระราชทานมาถึงโรงพยาบาล แต่ดอกไม้เข้าห้องที่ด๋องพักรักษาตัวไม่ได้ ด๋องโคม่าอยู่ห้องกันเชื้อ แต่พยาบาลได้เข้าไปแจ้งด๋องว่า “You have received flower vase, it is from your Thai princess.”

หลังจากนั้นอัศจรรย์มาก อาการของด๋องค่อยๆดีขึ้นจนออกจากโรงพยาบาลได้ มาพักที่บ้าน

นี่คือพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ต่อด๋องอันดับแรก

ด๋องเป็นคนป่วยที่มองโลกในแง่บวก มีกำลังใจ สู้มาได้นานเป็นปี จนวันหนึ่งด๋องได้รับอนุมัติให้พักฟื้นในโครงการของรัฐบาลฟรีที่เมือง Torrance ใกล้สนามบินลอสแองเจลิส  ความทราบถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่เสด็จผ่านมาทางลอสแองเจลิส ท่านทรงทราบแม้กระทั่งว่าเพื่อนคนไหนอยู่ที่ลอสแองเจลิสบ้าง ตามที่คนรถของสถานกงสุลใหญ่เล่าให้ฟัง

ทูลกระหม่อมพระราชทานโน้ตมากับท่านกงสุลใหญ่ถึงด๋อง ตอนนั้นเราไปเยี่ยมด๋องอยู่พอดี ด๋องเอาโน้ตให้เราดู  ใจความเท่าที่จำได้ประมาณว่า  “ด๋อง เรามาเยี่ยมด๋องไม่ได้ เพราะไม่สบายมาก ขนาดพ่อกับแม่ของเรา หมอยังไม่ให้เราเข้าพบ กลัวจะเอาเชื้อหวัดไปติด แต่เราจะนั่งรถผ่านที่ด๋องพักอยู่และโบกมือให้” ด๋องยิ้มแบบมีความสุข มีเสียงฟู่ๆเบาๆออกจากจมูก นั่นแปลว่าด๋องหัวเราะดีใจ  ส่วนเราขนลุกและน้ำตาซึมด้วยความดีใจแทนด๋อง

หลังจากทูลกระหม่อม เสด็จถึงสนามบิน ทรงมีรับสั่งให้คนขับรถของสถานกงสุลไทยในลอสแองเจลิสชื่อคุณโชค พาผ่านมาทางที่พักด๋อง แต่แทนที่จะทรงโบกมือ ด๋องเล่าให้ฟังผ่านตัวอักษรว่าท่านเสด็จลงมาหาด๋อง และทรงสนทนากับด๋องอยู่นาน ประมาณ 30 นาทีเห็นจะได้ โดยที่ด๋องสื่อสารกับพระองค์ท่านด้วยการเขียน พร้อมทั้งทรงพระกรุณาให้ด๋องถ่ายภาพด้วย โดยที่การเสด็จครั้งนี้ ด๋องปลาบปลื้ม อย่างไม่นึกไม่ฝันว่าจะมีโอกาสเช่นนี้  

นี่คือพระมหากรุณาธิคุณต่อด๋องอันดับที่สอง

หลังจากนั้น ด๋องออกไปพักที่บ้าน และมีช่วงหนึ่งด๋องกัดฟันบินกลับไทยเพื่อพบเพื่อนรุ่นเดียวกัน ถือเป็นการพบกันเป็นครั้สุดท้ายของด๋องและเพื่อนอักษรฯ และเมื่อด๋องกลับมาลอสแองเจลิส ด๋องไม่ยอมให้เพื่อนได้เยี่ยมเยียนอีกเลย คาดว่าอาจจะอยากพักผ่อนเงียบๆ ด๋องมีชีวิตอยู่อีกหลายเดือน จนวันหนึ่งด๋องหมดทุกข์หมดความทรมาน  จากพวกเราไป  เราแจ้งเพื่อนเมืองไทยเพื่อขอพระราชทานพวงหรีด  ซึ่งเพียงไม่กี่วันท่านกงสลุใหญ่ อิสินธร สอนไว ก็เชิญพวงหรีดพระราชทานมาในชุดข้าราชการเต็มยศอย่างเป็นทางการ ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้คนไทยในแอลเอไม่ค่อยจะมีโอกาสเห็นกันมาก่อน  ครอบครัว เพื่อนสนิท มิตรสหาย ต่างก็กล่าวกันด้วยความปลาบปลื้มที่ด๋องได้รับพระกรุณาจากพระองค์ท่าน โดยที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะทรงเมตตาถึงสามคำรบ

นี่คือพระมหากรุณาธิคุณต่อด๋องอันดับที่สาม

สำหรับผู้เขียนเองตอนไปอยู่อเมริกาปีแรกๆก็ส่งส.ค..ส.ถวายท่านทางไปรษณีย์ โดยไม่คาดคิดว่าท่านจะพระราชทานส.ค.ส. กลับมาถึง 3 ปีซ้อน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณในฐานะมิตรคนหนึ่งอย่างหาที่สุดมิได้

ผู้เขียน ณญาดา อมตวณิชย์

อักษรศาสตร์บัณฑิต รุ่น 41

 

กลับขึ้นด้านบน

บัญชา บัญชา สุวรรณานนท์

 

เมื่อผมสอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ได้ ผมค่อนข้างงงและดีใจ เวลาสี่ปีผ่านไปรวดเร็วโดยที่ผมไม่ตระหนักเลยว่านี่จะกลายเป็นช่วงเวลาดีที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิต ผมคิดตามประสาเด็กว่าที่คณะนี้ผมคงจะได้เรียนแต่เรื่องภาษา แต่กลับได้เรียนเรื่องต่างๆ มากมายกว่านั้นมหาศาล ผมตระหนักว่าภาษาเป็นเพียงสะพาน แต่จะเป็นสะพานพาไปยังที่ใด ผมไม่รู้ได้เลย

 ในความเคว้งคว้างตลอดสี่ปีนั้น มีเรื่องต่างๆ ที่ประทับใจผมหลายเรื่อง ที่สำคัญคือประทับใจในความเมตตาจากคณาจารย์ ที่กรุณาอดทนกับความอวดดีของนิสิตเกเรชอบโดดเรียนอย่างผม ส่วนหนึ่งคงเพราะท่านเมตตานิสิตชายคณะอักษรศาสตร์เป็นพิเศษเนื่องจากเป็น “ชนกลุ่มน้อย” ในคณะ

 นิสิตชายคณะข้างเคียง อย่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ คงอิจฉาพวกผมอยู่ไม่น้อย ที่มีเพื่อนร่วมชั้นเรียนเป็นนิสิตหญิงมากมาย และมีห้องน้ำชายที่สะอาดสุดในจุฬาฯ มีเหตุการณ์หนึ่งซึ่งผมยังจำได้ คือสมัยที่น้ำท่วมในจุฬา ตอนนั้นหลังฝนตก น้ำท่วมเจิ่งขึ้นมาถึงราวๆ ข้อตาตุ่ม ตึกหนึ่งและตึกสองดูราวเกาะลอยกลางน้ำ นิสิตวิศวฯ ที่เดินสวนทางกัน ฝ่ายหนึ่งเดินถือรองเท้า ถกชายขากางเกงให้พ้นน้ำ ย่ำมาจากตึกหนึ่ง ทักถามอีกฝ่ายที่สวนทางกันว่า “ไปไหนวะ” ฝ่ายหลังซึ่งแน่นอนว่ากำลังย่ำน้ำจะไปอาศัยห้องน้ำชายของคณะอักษรศาสตร์ ก็ตอบเพื่อนว่า “ไปเกาะแม่ม่าย”

 ผมทั้งฉุนทั้งขำ

ห้องน้ำสะอาดที่สุดคือที่ชั้นสองของตึกหนึ่ง ผมเผชิญเหตุเหงื่อตกครั้งหนึ่งที่นั่น คือหลังชั่วโมงบรรยายวิชาปรัชญาเพื่อนคู่หูคนหนึ่งคือนายประสิทธิ์ รุ่งเรืองรัตนกุล จะต้องตรงดิ่งไปเข้าห้องน้ำเสมอ วันนั้นพออาจารย์เล็กเชอร์เสร็จ ประสิทธิ์ซึ่งนั่งอยู่แถวหน้าๆ ของห้อง ก็เดินออกประตูทางด้านหน้าไป โดยมีเพื่อนหญิงมะรุมมะตุ้มซักถามอะไรต่างๆ ไม่รู้เรื่องอะไร น่าหมั่นไส้เสียจริง แต่เดี๋ยวมันจะต้องไปเข้าห้องน้ำแน่ๆ เดี๋ยวเถอะ ไอ้สิทธิ์เอ๋ย ข้าจะจ๊ะเอ๋ให้เอ็งฉี่ราดเลย ว่าแล้วผมซึ่งนั่งอยู่แถวหลังห้องก็รีบออกไปทางประตูด้านหลังและรีบไปดักรอในห้องน้ำชาย ไปหลบอยู่ข้างประตูบานสวิง สักครู่หนึ่งประตูก็เปิดแง้มเข้ามา

 “จ๊ะเอ๋!”

 แต่ผู้เข้ามาคืออาจารย์ดร.วิทย์ วิศทเวทย์ !

อาจารย์ตกใจยืนนิ่งขึง ผมก็ตกใจ หัวใจหล่นไปกองที่ตาตุ่ม ผมรีบยกมือไหว้ขอโทษและบอกว่าผมคิดว่าเพื่อน อาจารย์ฉุนน่าดู ดุว่า “ห้องน้ำนี้ใครๆก็เข้าได้ คุณรู้ได้ไงว่าจะเป็นเพื่อนคุณ” หลังจากนั้นเมื่ออาจารย์เสร็จธุระออกไปแล้ว นายประสิทธิ์ก็เข้ามาในห้องน้ำ... ผมละอยากเตะมันสักป้าบตามประสาคนพาล

ผมโดดเรียนบ่อยมาก แต่ก็ไม่ได้ไปไหน มักนั่งอ่านหนังสืออยู่โรงอาหารบ้าง นั่งคุยกับเพื่อนรุ่นพี่บ้าง ทำกิจกรรมนู่นนี่บ้างไปตามเรื่อง ไม่ได้หนีไปเที่ยวเกเรที่ไหนเลย บางครั้งผมอยู่ที่คณะฯ จนค่ำ เพื่อรอเจอเพื่อนๆ ชนกลุ่มน้อยที่เรียนภาคสมทบ แล้วออกไปหาอะไรกินและเฮฮากันเล็กน้อย

มีครั้งหนึ่งที่ผมประทับใจว่ามิใช่คนเดียวที่โดดเรียนในวันนั้น คือเมื่อเดินสวนทางเสด็จฯ สมเด็จพระเทพฯ ท่านตรัสถามว่า “จะไปไหน ไม่เข้าเรียนเหรอ” ผมก็กราบบังคมทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าจะไปโรงอาหารพะยะค่ะ” ท่านตรัสตอบว่า “เอ้อ เราก็จะไปห้องสมุด”

 แม้จะโดดเรียนชั่วโมงนั้นเหมือนกัน แต่ก็ไปกันคนละทาง

ความที่โดดเรียนจนเลอะเทอะไปหมด ทำให้ผมสอบตกหลายวิชาอยู่ วิชาหนึ่งในจำนวนนั้น คือวิชาภาษาบาลี วิชาบังคับตอนปีสอง เมื่อไปฟังผลคะแนนสอบจากอาจารย์ ผมก็ได้รู้ผลการตัดเกรดกับคนที่เรียนเก่ง

 “คุณจะเลือกเรียนเอกวิชาภาษาตะวันออกหรือเปล่า” อาจารย์ผู้สอน คืออาจารย์วิสุทธิ์ บุษยกุล ถามผม

 “โอ๊ะ ไม่ครับอาจารย์ ผมจะเอกภาษาฝรั่งเศส”

 “นั่นสินะ ธรรมดา ถ้าคนที่ไม่ได้จะเรียนเอกภาษาตะวันออก...”

 อาจารย์พูดแค่นี้ผมก็เดาได้แล้วว่าจะออกมาในรูปใด

 “อ้อ คะแนนคุณอยู่นี่เอง เอ้อ.. ธรรมดา 49 จาก 100 นี่ ผมก็พอจะปัดเป็น D ให้ได้ แต่ปีนี้คงจะปัดให้ไม่ได้เสียแล้ว เพราะผู้ได้คะแนนสูงสุด ท่านทรงทำคะแนนได้ร้อยเต็มเลย...” 

 ผมล่ะเซ็งเลย

ความเป็น “ชนกลุ่มน้อย” ในคณะ ทำให้ผมจำต้องทำหลายสิ่งที่ไม่ถนัด เช่นลงแข่งขันฟุตบอลระหว่างคณะ รุ่นผมมีชนกลุ่มน้อย “ตั้ง” 12 คน (รุ่นก่อนๆ หน้านั้นมีน้อยกว่านี้)  คนหนึ่งสุขภาพไม่ค่อยดี (แต่เดี๋ยวนี้ล่ำบึก คือประพจน์ อัศววิรุฬหการ ซึ่งจบมาจากโรงเรียนสวนกุหลาบด้วยกัน) เลยเหลือนักกีฬาลงเล่น 11 คนพอดี ไม่มีตัวเปลี่ยน ผมเลยอดเป็นตัวสำรอง ไม่ถนัดก็ต้องลงเล่น ไม่งั้นไม่ครบคน คณะเราจะอดเข้าร่วมแข่งขันกีฬาฟุตบอลระหว่างคณะ ครั้นเมื่อลงสนามแข่งผมก็ได้แต่วิ่งไปวิ่งมา ขายหน้าประชาชี เพื่อนคนหนึ่งซึ่งเล่นอยู่ฝ่ายตรงข้ามและบ้ากีฬาฟุตบอล กับเพื่อนอีกคนในหมู่ผู้ชมผู้เชียร์จากคณะอื่น คงจะขำผมยิ่งกว่าใคร ทั้งสองคนนี้มีบ้านอยู่เยื้องกับบ้านผม เราเรียนหนังสือมาด้วยกัน รู้จักกันมาแต่เด็ก ผมก็รู้สึกอายเขายิ่งกว่าอายใครทั้งหมดในสนามนั้น

นอกจากกีฬาเล็กๆ น้อยๆ ผมก็ต้องช่วยแสดงรำลาวกระทบไม้ในงานของคณะ ผมมือแข็งเก้งก้างชี้โด่เด่ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับรุ่นพี่ที่รำอยู่ด้วยกัน คือพี่ปณิธิ หุ่นแสวง ผมหน้าก้มง่วน เหงื่อแตกพลั่กเพราะกลัวโดนลำไม้ไผ่หนีบข้อเท้า อายมาก แต่จำทน

เมื่อเพื่อนสตาร์ตรถไม่ติด สุภาพบุรุษกุ้งแห้งอย่างผมก็ต้องช่วยเข็น เรื่องก็คือปุ๊ย จันทรา ศานต์ตระกูล รถสตาร์ตไม่ติด ตอนนั้นเย็นแล้ว เพื่อนชายรายอื่นๆ ก็ไม่มีใครอยู่แถวนั้น  ผมก็ช่วยเข็นรถเขาวนรอบสนามคณะอยู่หลายรอบจนเหงื่อท่วม รถก็ไม่ติดเสียที ไม่มีอาการใดๆ วนฉิวรอบสนาม ผมชักสงสัย จนต้องถามว่าเธอสตาร์ตเครื่อง เข้าเกียร์และเหยียบคันเร่งบ้างหรือยัง? ปรากฏว่าหามิได้ เธอนั่งจับพวงมาลัยเฉยๆ เพราะคิดว่ารถจะติดได้เองเมื่อมีคนเข็น

ความประทับใจอีกครั้งที่ยังไม่ลืมคือเรื่องการที่ผมร่วมแสดงละคร ตอนปีหนึ่งหรือปีสอง เรื่อง "เกิดเป็นตัวละคร" ที่อาจารย์สดใส พันธุมโกมล  กำกับการแสดง (อาจารย์คงปวดหัวเพราะผมอยู่ไม่น้อย) แล้วตอนจบของเรื่องผมต้องทรุดลงคุกเข่าและมีอาการสติแตก แต่พอแสดงเข้าจริงรอบปฐมทัศน์ ปรากฎว่าสติไม่ยอมแตก เพราะพอคุกเข่าลงพ้นแสงไฟที่ส่องหน้าอยู่ จึงมองเห็นผู้ชมได้ชัดเจน คือสมเด็จพระเทพฯ ประทับนั่งอยู่แถวหน้า สติผมกลับคืนมาหมดเลย ไม่แตก

เรื่องเล็กๆ น้อยๆ บางทีก็ฝังใจเราไม่ลืม เรื่องอื่นๆที่ฝังใจมาโดยผมไม่รู้ตัว คือโลกทัศน์ที่หล่อหลอมขึ้นมาจากสรรพวิชาของคณะอักษรศาสตร์ ผมไม่อาจอธิบายได้ในที่นี้ แต่นิสิตอักษรศาสตร์ทุกท่านคงตระหนักดีอยู่แก่ใจ ความยิ่งใหญ่ของคณะอักษรศาสตร์อยู่ตรงนี้

ผมเชื่อว่าตลอดเวลาหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา คณะอักษรศาสตร์มีส่วนสร้างความเป็นผู้มีจิตใจสูงให้แก่ปัญญาชนจำนวนไม่น้อย และผมหวังว่าคณะอักษรศาสตร์จะยังคงสร้างคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติต่อไปอีกตราบนานเท่านาน

 บัญชา สุวรรณานนท์

กลับขึ้นด้านบน

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University