เรื่องเล่าของนิสิตเก่า รุ่น 43

เรื่องเล่า อบ.43

ขอถ่ายทอดแต่ละเรื่องตามสำนวนของผู้เล่าแต่ละคน ประหนึ่งว่าเราทุกคนกำลังฟังเพื่อนคุยอยู่ด้วยกัน

  

เรื่องที่  จากต้อย (เพชรรัตน์ วนิชาชีวะ)  

เหตุการณ์ประทับใจในเทวาลัยคงหนีไม่พ้นเรื่องนี้ แม้จะผ่านมายาวนานถึง ๔๐ กว่าปีแล้วก็ตาม  วัย freshy ในรั้วจามจุรียังจำได้แม่นยำวันที่ไปเข้าชมรมดนตรีไทยกำลังซ้อมตีขิมอยู่กันอย่างเพลินๆใจ รุ่นพี่วิ่งเข้ามาบอกว่า

"สมเด็จพระเทพฯ กำลังเสด็จมาที่ชมรมฯ ขอให้ทุกคนทำตัวตามปกติ"

แต่น้องใหม่อย่างเราปกติไม่ไหว มันตื่นเต้นมาก ทำอย่างไรดี พระองค์ท่านเสด็จมาถึงแล้ว  และประทับข้าง ๆ เราซะด้วยสิ แล้วทรงถามเราว่า

"น้องตีฉิ่งเป็นไหม"

เอาละสิ จะตอบอย่างไร “เพคะ”  “พะย่ะค่ะ”  อะไรดี  สับสนวุ่นวาย  จึงได้แต่ยิ้ม แล้วก็ส่ายหัวไป-มา  เรานี่เกร็งไปหมด  แต่พระองค์ท่านทรงน่ารักมาก  เป็นกันเองมาก ๆ  ไม่ถือพระองค์เลย  นี่คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำไมคนไทยจึงรักเจ้าฟ้าหญิงองค์นี้มาก

พระองค์ท่านก็ทรงดนตรีต่อไปอีกระยะหนึ่ง  แล้วก็เสด็จกลับ

นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้เข้าเฝ้าพระองค์ท่านใกล้มากขนาดนี้  นับเป็นความทรงจำประทับใจ  และปลื้มปิติ  ไม่รู้ลืมเหตุการณ์หนึ่งในชีวิตเลย

 

 

กลับขึ้นด้านบน

เรื่องเล่า อบ.43 เรืองที่ 2 จากต้อย

เรื่องที่ ๒ จากต้อย (เพชรรัตน์ วนิชาชีวะ)  

ภาพประทับใจที่ไม่เคยลืมเลือน  ยังจำได้จนปัจจุบันนี้  เพื่อน ๆ คงจำได้ว่า  ที่คณะเรามีคุณลุงอายุมากแล้ว ผอม ๆ ตัวเล็กๆ รับจ้างขัดรองเท้าปกติจะนั่งอยู่แถวๆหลังหอประชุม

เย็นวันนั้น เจอขบวนเสด็จของสมเด็จพระเทพฯ ที่โถงทางเดินตึกอักษรศาสตร์ ๑  พระองค์ท่านกำลังจะเสด็จกลับวัง โดยมีรถตู้มารอรับอยู่ที่หลังหอประชุม  เราตั้งใจว่าจะส่งเสด็จพระองค์ท่าน  จึงตามหลังขบวนเสด็จของพระองค์ไป  ซึ่งก็ทำให้ได้เห็นภาพประทับใจ  ติดตา  ตรึงใจที่สุดในวันนั้น

พระองค์ท่านไม่ได้เสด็จผ่านเลยคุณลุงนั้นไป  แต่ได้ประทับคุกเข่าลงข้าง ๆ คุณลุง  และทรงปฏิสันถารกับคุณลุงอยู่พักใหญ่ๆ โดยไม่ถือพระองค์เลย  แล้วก็เสด็จขึ้นรถตู้ไป

เรานี้น้ำตาซึมเลย  ไม่คิดเลยว่าจะได้เห็นภาพเช่นนี้

พระองค์ท่านทรงมีพระเมตตากับประชาชนทุกหมู่เหล่าจริงๆ  เจ้าฟ้าหญิงติดดินของชาวไทย  ขอพระองค์จงทรงพระเจริญยิ่งยืนนานเทอญ

 

กลับขึ้นด้านบน

เรื่องเล่า อบ.43 เรื่องที่ 3 จากนุ้ย ม.ล. รังสิยา เหล็กกล้า

 เรื่องเล่าจากนุ้ย (ม.ล. รังสิยา เหล็กกล้า)

 

                                                                  

รุ่นเรา..โดยความเก่งวอลเล่ย์บอลของม้อนท์..ได้ตั้งทีมชายนักวอลเลย์อักษร..คนที่เล่นไม่เป็นม้อนท์จะฝึกสอนจนเก่ง..อย่างน้อยก็รับลูกตบโหดๆจากทีมวิดวะ วิดยา ได้ ทำให้ทีมชายวอลเล่ย์อักษรติดอันดับ..ม้อนท์เป็นตัวทำคะแนนด้วยลูกตบฝังหน้าเน็ต...เท่าที่จำได้..ผู้เล่นม้อนท์ ถึก โหด..ติ๊ดตี่..ทำให้ชาวอักษรพร้อมใจกันต้องตามไปเชียร์ทีมวอลเล่ย์ชายของคณะ..ทุกนัด..แพ้ก้อช่างสนามวอลเล่ย์ข้างตึก ๔ จึงเป็นที่เล่นที่ซ้อมของนักกีฬาหลายคณะ..ทีมวิดวะ วิดยา หมอ เภสัช..มาเล่นวอลเล่ย์กับชาวอักษร..สนามไม่แห้ง..ว่างั้นเลยยย  ที่ภูมิใจคือม้อนท์กับ กุ้ง (ช่อ) ไปเป็นนักกีฬาวอลเล่ย์ให้ สจม.จ้ะ  ทีมวอลเลย์ชายของเราอยุ่ในแนวหน้าเชียวนะ..แพ้แค่วิดวะ วิดยา ครุพละเท่านั้นเอง รู้สึกว่าภาณุกับไก่ก้อเล่นนะตอนปี ๑...แต่พอเราปี ๒ ๓ ๔ ทีมคณะมีพี่ๆน้องๆ คนอื่นร่วมเล่น..จำไม่ได้แล้วอ้ะว่ามีใครบ้าง.

แล้วก้อเทนนิสหญิง..สมัยนั้นเทนนิสดูเป็นกีฬาที่หนัก..เล่นยาก..รุ้สึกว่าอ้อยอารยาจะเล่นเทนนิสให้คณะ..สนามเทนนิสตอนนั้นมีที่คณะครุหรือที่สนามจุ๊บ..(จำไม่ได้อ้ะ)..อ้อยต้องสะพายไม้เทนนิสเดินไกลไปซ้อม..อ้อยอารยาจะเป็นนักกีฬาและเล่นได้หลายอย่าง..ปิงปองก้อเก่ง..ที่มันส์มากคืออ้อยไปหัดเตะตะกร้อ..สงสารมากเลยตอนเล่นใหม่ๆขาช้ำหน้าช้ำ..

เตะตะกร้อน่ะเจ็บนะ..เห็นลูกเล็กๆ อย่างงั้นแต่เป็นหวาย..หนักและแข็ง...แต่แล้วด้วยความเยี่ยมยอดของอ้อยอารยา..วันนึงเห็นอ้อยโหม่งลูกตะกร้อแบบไม่กลัวเจ็บ..ยอดเยี่ยมจริงๆ (ถ้าโหม่งไม่เป็นละก้อ..ขนาดผุ้ชายยังหน้าผากแตกคิ้วแตกเลย)

ทีมวอลเล่ย์หญิงของคณะเราก้อเก่งมากนะ..จำได้แต่รุ่นเราว่ามีกุ้ง อ้อย ภัทราวรรณ..แล้วก้อรุ่นพี่..ล้วนแต่สวยและเล่นเก่งทุกคน..สาวอักษรลงแข่งวอลเล่ย์เมื่อไหร่จะมีหนุ่มๆ คณะอื่นมาให้กำลังใจช่วยเชียร์อีกเพียบ

ใครเล่นบ้างจำไม่ได้เลยอ้ะจ้ะ..ทีมวอลเล่ย์หญิงคณะจะเป็นรุ่นพี่ส่วนมาก 

อยากฟังฝ่ายนักว่ายน้ำหญิง ทีมโปโลน้ำอักษร..บ้างค่ะ...นุ้ยก้อตามไปเชียร์หลายนัดน้าาา..แต่จำไม่ได้..

กลับขึ้นด้านบน

เรื่องเล่าจากเจี๊ยบ ผศ. ดร. วีรวิทย์ (วิทยา) เศรษฐวงศ์

เรื่องเล่าจากเจี๊ยบ (วีรวิทย์ เศรษฐวงศ์)

แด่คณาจารย์ผู้เป็นความทรงจำ ตำนาน ของหนุ่มอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

ผศ. ดร. วีรวิทย์ (วิทยา) เศรษฐวงศ์

หัวหน้าภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมตะวันตก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

เมื่อกัลยาณมิตรชาวอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย คุณ ปู กษมา สุวรรณกุล กู้ตลาด ส่งเมสเสจทางเฟสบุ้คมาหาผู้เขียนให้ช่วยเขียนความทรงจำอันถือเป็นตำนานในฐานะอดีตนิสิตเทวาลัยรหัส ๑๘๑๑๕๗๒ ที่ได้ใช้วิชาอักษรศาสตร์ทำมาหากินจนเป็นหลักเป็นฐานได้ระดับหนึ่งทุกวันนี้  ทั้งยังได้ใช้วิชาวรรณศิลป์ที่ได้รับการอบรมบ่มเพาะจากคณะฯ เขียน แปล หนังสือจนได้รับรางวัลทางวรรณกรรมระดับประเทศชาติถึง ๒ รางวัล คือ รางวัลนักเขียนบทความดีเด่นคนแรกของกองทุน มรว.อายุมงคล โสณกุล ในปี พศ.๒๕๓๐  และ รางวัลนักแปลดีเด่นสุรินทราชา ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ( ไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึงรางวัลบทกวีรับน้องใหม่ดีเด่นในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ จากชมรมวรรณศิลป์ จุฬา )

ผู้เขียนก็ไม่ลังเลที่จะตอบไปทันทีที่ได้รับข้อความว่า เขียนเสร็จแล้วในสมอง แต่ยังไม่ได้เขียนลงกระดาษหรือพิมพ์ลงในคอมพิวเตอร์ เข้าใจว่า คุณปูเองน่าจะตกตะลึง อึ้งกิมกี่ เมื่อได้รับคำตอบเช่นนั้นแบบฉับพลันราวกับการบรรลุธรรมแบบปัจจุบันทันด่วน ซาโตริ ( Satori or Sudden enlightenment ) ของปรัชญาตะวันออก ลัทธิเซน ที่มิได้เน้นการบริจาคทำบุญอย่างไร้สติเยี่ยงธรรมโกยจนทำให้ศาสนิกชนจำนวนมากมายมหาศาลในสังคมไทยต้องหมดเนื้อหมดตัว สิ้นไร้ไม้ตอก โดยปราศจากการเหลียวแลใดๆจากเจ้าลัทธิ

คำตอบของผู้เขียนข้างต้นมาจากทฤษฎีและหลักการทางสุนทรียศาสตร์ที่ผู้เขียนได้ศึกษาเล่าเรียนมาจากคณะอักษรฯ โดยตรงในวิชาสุนทรียศาสตร์ ที่สอนโดย อ.ดร.นิพาดา เทวกุล ซึ่งในวิชาแห่งความงามในเชิงปรัชญานั้น ท่านอาจารย์ผู้สอนเคยตั้งคำถามไว้ว่า ภาพประกอบการสร้างโลกจากพระคัมภีร์ไบเบิ้ลภาคปฐมกาลที่ปรากฏอยู่บนฝาผนังหลังคาด้านในของวิหาร Sisteen Chapel of Michael Angelo ในบริเวณประเทศวาติกันนั้น เคยมีใครทราบไหมว่า ก่อนที่ไมเคิ่ล แอนเจโลจะรังสรรค์งานแห่งอมตะภาพนั้นลงในวิหาร เขาได้เข้าไปนอนลืมตาดูฝาผนังด้านบนหลายเดือนโดยยังมิได้ลงมือวาดใดๆทั้งสิ้น  แต่ในทางทฤษฎีสุนทรียศาสตร์ถือว่า แม้โดยผิวเผิน ไมเคิ่ล แอนเจโลยังมิได้จรดพู่กันใดๆลงไป  แต่อัครศิลปินอมตะท่านนี้ได้กำลังลงมือวาดภาพศิลปะลงในสมอง ใน Cortex ของท่านตลอดเวลาที่ท่านจ้องมองผนังด้านในหลังคาอยู่  เมื่อสร้างงานในมโนทัศน์เรียบร้อยแล้วในสมอง ไม่กี่เดือนหลังจากนั้น  ท่านจึงได้ลงมือระบาย วาด แต่งแต้มสีสันต่างๆลงไปในอิฐฉาบปูนของมหาวิหาร อันเป็นกระบวนการ ขั้นตอนสุดท้ายของการสร้างสรรค์งานศิลปะ ที่สำเร็จเสร็จสิ้นภายในจิตวิญญาณ ภายในมันสมองของศิลปินตั้งแต่ยังไม่ปรากฏต่อสายตาของสาธารณชน  นี่คือที่มาของคำตอบของผู้เขียนที่ให้กับคุณปู เพื่อนที่หวังดีกับผู้เขียนตลอดมา

แน่นอนที่สุด ในฐานะศิษย์จากรั้วเทวาลัย ก็อดไม่ได้ที่จะเขียนถึง อาจารย์ ผู้อบรมวิชาประสิทธิ์ประสาทสั่งสอนมา ทั้งนี้ เพราะกรอบของการมองระบบการศึกษาไม่ว่าของชาติใดในโลก ก็หนีไม่พ้น  ๑.สถาบัน  ๒. หลักสูตร  ๓. ผู้สอน  ๔. ผู้เรียน หรือ นิสิต นักศึกษา  ในบทความนี้จะเน้นเฉพาะอาจารย์ ผู้สอนในหัวข้อที่สามเท่านั้น

คณาจารย์อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ถือเป็นความคิดเห็นเชิงอัตวิสัย(Subjective Opinion)ของผู้เขียนล้วนๆ แต่เพียงผู้เดียว  กระนั้น หลายท่านที่อ่านอยู่อาจจะเห็นพ้องต้องกันด้วยอย่างแน่นอน

อาจารย์อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ที่เปรียบเสมือนบุพการี บิดา มารดา ที่สองของศิษยานุศิษย์ผู้ชายเทวาลัย ได้แก่ ศ.ดร.เพ็ญศรี ดุ๊ก  ศ.ดร.วิทย์ วิศทเวทย์  ศ.สดใส พันธุมโกมล  อาจารย์พวงร้อย ดิศกุล  ลักษณะร่วมกัน ( Common characters )ของคณาจารย์ที่ผู้เขียนสวดภาวนาให้ทุกวันตามวิสัยคริสตชนก็คือ เคร่งครัด ดุมากเมื่ออยู่ในห้องเรียน  ตรงกันข้าม เมื่อออกมานอกห้องเรียน จากครูบาอาจารย์ที่ดุ เอาจริงเอาจังในทางวิชาการ เอาเป็นเอาตายกับการทดสอบในชั้นเรียน กลับแปรเปลี่ยนโดยสิ้นเชิงมาเป็นพ่อพระ แม่พระ ที่ใจดีอย่างที่สุด  รักนิสิตทุกคนเหมือนลูกหลานของตนโดยไม่ถือชั้นวรรณะ  ยิ่งกว่านั้น ยังหาทางช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมจริงจังให้กับศิษยานุศิษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก อาทิ ท่านอาจารย์ สดใส พันธุมโกมล ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ผู้เขียนประสบมรสุมอันหนักหน่วงจนแทบเอาชีวิตไม่รอด  ท่านมีเมตตาเรียกให้ผู้เขียนซึ่งกำลังตกงานอยู่ในช่วงหฤโหดแห่งชีวิตอันมีสาเหตุมาจากการกลั่นแกล้งของผู้ใหญ่ไร้คุณธรรมลางตัวที่เห็นอำนาจคือธรรม ( Might is Right)  ท่านอาจารย์ สดใส ให้ผู้เขียนไปสอนภาษาฝรั่งเศสให้ลูกชายคนโตของท่าน คือ น้องจริง ถึงที่บ้านสัปดาห์ละ ๓-๔ ชั่วโมง โดยจ่ายค่าสอนให้เพื่อให้ผู้เขียนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในโลกทุนสามานย์ที่เต็มไปด้วยการแก่งแย่งแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น  ท่านอาจารย์ เพ็ญศรี ดุ๊ก ผู้เปรียบเสมือนมารดาคนที่สองที่คอยดูแล เอาใจใส่ ผู้เขียนราวกับเป็นบุตรอีกคนหนึ่งของท่านด้วยการหาขนมมาให้กินในช่วงเป็นนิสิตอักษรศาสตร์  ท่านอาจารย์วิทย์ ที่ช่วยเหลือผู้เขียนในด้านอาซีพการงาน โดยใส่ชื่อของศิษย์ที่ไม่ค่อยจะดีเท่าไรนักคนนี้เข้าไปในบัญชีของนักวิจัยแห่งชาติ ตราบจนกระทั่งทุกวันนี้

ใช่แต่เท่านั้น  ท่านอาจารย์ ภาวรรณ หมอกยา แห่งภาคภาษาอังกฤษ ที่เคยสอน วิชา Prose ในตอนปี ๑ เช่นเดียวกับท่านอาจารย์ พวงร้อย ดิศกุล ก็ถือเป็นอาจารย์อีกท่านหนึ่งที่สอนให้เราคิดอย่างเป็นตัวของตัวเอง ในปี พศ.๒๕๑๘ ที่กระแสความคิดทางสังคมนิยมแนว Marxism, Leninism, Maoism แพร่หลายกว้างขวางในสังคมอุดมศึกษาของประเทศไทยนั้น ท่านอาจารย์ภาวรรณ กลับสอนให้เราไม่ไหลตามกระแสเชี่ยวกรากนั้นโดยเน้นให้ศิษยานุศิษย์ลุ่มลึกทางความคิดในด้านชีวทัศน์ อาทิ เราจะรู้จักคนอย่างแท้จริงก็ในยามยากเท่านั้น  ในยามปกติธรรมดาสามัญ  เราจะไม่มีวันรู้ว่าใครเป็นใคร หลายครั้งที่ผู้เขียนได้รับเชิญไปอภิปราย ไปปาฐกถา ท่านอาจารย์ภาวรรณ ก็ตามไปฟังและให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ที่สุดหลังการบรรยายในมิติ ในมุมที่ผู้เขียนคิดไม่ถึงมาก่อน

ยิ่งกว่านั้น ทุกวันนี้ที่ผู้เขียนสอนระบบไวยากรณ์ฝรั่งเศสให้กับนักศึกษาศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ตั้งแต่ปีพศ.๒๕๓๒ จนใกล้จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน พศ.๒๕๕๙ นี้แล้ว (อีกไม่ถึง ๔ เดือน) ผู้เขียนดีใจ ปลื้มใจที่ได้เอ่ยชื่อของท่านกับนักศึกษามธ.ว่า ระบบไวยากรณ์ฝรั่งเศสโดยภาพรวมนั้น สามารถแบ่งได้ ๒ ส่วน คือ ๑. Partie variable : PAVAN เข้ารหัสว่า ภาวัน ย่อมาจาก Pronom, Adjectif, Verbe, Article, Nom ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สำคัญที่สุดเพราะหัวใจของภาษาทุกภาษาสถิตอยู่ที่ส่วนนี้ นั่นคือ กริยา  ทั้งยังกำชับนักศึกษาว่า ให้ถอดรหัสให้ดี  อย่าให้พลาด เนื่องจากสมองของมนุษย์มีพื้นที่จำกัด  เราไม่สามารถจำทุกอย่างเข้าไปได้  จึงต้องหาวิธีเข้ารหัส-ถอดรหัส ออกมาให้ได้  ยิ่งกว่านั้น  ในแต่ละหัวข้อ ยังประกอบด้วยหัวข้อย่อยอีกมากมาย อาทิ Pronom ซึ่งประกอบด้วยตัวย่อ PIRPID : Personnel, Interrogatif, Relatif, Possessif, Indéfini, Démonstratif ตัวย่อพีระมิดนี้จะคล้ายๆกับชื่อของเลขานุการคณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ที่ดีมากที่สุดคนหนึ่งสมัยที่ผู้เขียนเริ่มเข้ามารับราชการใหม่ๆในตำแหน่งอาจารย์ ในปี ๒๕๓๒ นั่นคือ คุณ พิรพรต หุ่นเจริญ

ท่านอาจารย์ ภาวรรณ หมอกยา คือ อาจารย์ที่ไม่เคยหวังร้าย คิดร้ายใดๆแม้แต่เศษธุลีต่อผู้เขียน  แม้ในทางกายภาพจะไม่ได้พบเจอท่านแต่ประการใด  แต่ในทางวิชาการ  ในทางจิตใจ ได้พบเห็นท่านเสมอ ทั้งในห้องเรียนและในยามภาวนา

ท่านอาจารย์ท่านสุดท้าย ๔ ท่านมาจากภาควิชาภาษาฝรั่งเศส ที่ผู้เขียนได้ศึกษามาโดยตรง รศ.รัตนาภรณ์ ธรานุรักษ์  ที่ช่วยฝากงานพิเศษตอนเย็นที่สถานทูต ฝรั่งเศส ช่วยให้ผู้เขียนสามารถหาเงินเลี้ยงชีวิตตัวเองโดยเลิกขอเงินจากบิดามารดาทั้งค่าขนมและค่าเทอมป.ตรี โท เอกตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๑๙ ในช่วงเรียนปี ๒ เทอมที่สองตลอดมา ๒๐ ปีเต็ม  ผศ.ดร.สามารถ สัมพันธารักษ์ ผู้อบรมคุณธรรม ความเป็นคนที่ดีหลากหลายให้กับผู้เขียนที่ได้รับอิทธิพลผิดๆบางอย่างมาจากคนบางคนในครอบครัว  ศ.คุณหญิง จินตนา ยศสุนทร ที่ถ่ายทอดศาสตร์และศิลป์แห่งการแปลให้ผู้เขียนจนสามารถหาเลี้ยงชีพตัวเองได้จากงานแปลและได้รับรางวัลนักแปลระดับชาติในที่สุด  และสูดท้ายคือ รศ.พูนศรี เกตจรุญ ครูผู้เปรียบเสมือนแฟน  ที่รัก  พี่สาว  และทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของผู้เขียนตลอดมาตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตจนปัจจุบัน

ขอขอบพระคุณคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เอื้ออำนวยเป็นสื่อกลาง ในฐานะสถาบันที่ช่วยให้ผู้เขียนได้พบเจอปูชนียบุคคล ครูบาอาจารย์ที่น่านับถือ  น่าเคารพ น่ากราบไหว้ได้อย่างสนิทใจในชีวิตสั้นๆของคนเราที่ไม่เกิน ๑๐๐ ปีนี้

ขอให้คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์จงธำรงการเป็นสถาบันที่มีคุณภาพสูงสุดในทางมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ตราบชั่วฟ้าดินสลาย อย่าให้เป็นไปตามวาทะ Denis DIDEROTของนักปราชญ์ในยุคแห่งความรู้แจ้งของประเทศฝรั่งเศสในศตวรรษที่ ๑๘ (Age of Enlightenment) ในบทความวิจารณ์ศิลปะที่ชื่อว่า

 « Tout s’anéantit, tout périt, tout passe. »

กลับขึ้นด้านบน

เรื่องเล่าจากแต้ว

เรื่องเล่าจากแต้ว (ปิยดา วัชรานันท์ บร้านช์)

เรื่องประทับใจที่สุดตอนอยู่อักษรฯ เห็นจะเป็นตอนอยู่ปีหนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรรุ่นพี่ หลังเสร็จพิธีกับแมวมัทนาสองคน วิ่งไปส่งเสด็จตรงบันไดหอประชุม มุดไปมุดมาได้ไปยืนส่งเสด็จอยู่ข้างหน้า เป็นครั้งแรกที่ได้เฝ้าใกล้ขนาดนั้น ทั้งสองพระองค์กำลังจะเสด็จกลับ สมเด็จฯทรงแย้มพระสรวลให้บรรดานิสิตที่มาออส่งเสด็จ และตรัสถามว่า

เหนื่อยไหม "     

เพียงเท่านั้น รู้สึกเหมือนหัวใจพองโต เกิดความรู้สึกรักท่านท่วมท้น

ความคิดแรกที่วิ่งเข้ามาในหัวคือ ถ้ามีใครจะมาคิดร้ายกับท่าน จะขอเอาชีวิตเข้าแลกได้ทันที มาคิดตอนนี้ นั่นคงเป็นบารมีของทั้งสองพระองค์นั่นเอง

กลับขึ้นด้านบน

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University