เรื่องเล่าของนิสิตเก่า รุ่น 44

เด็กอักษรฯ จบไปทำอะไรก็ได้

วันพัฒนาคณะอักษรฯ เมื่อปี พ.ศ. 2519... นับเป็นบุญล้นเหลือ...ข้าพเจ้าเป็นน้องใหม่สองแกละ นั่งหันหลังอยู่นั่น

จากที่บันทึกไว้ในไดอารี่สีเหลืองของข้าพเจ้า

ทูลหม่อมน้อยทรงตักไอศกรีมพระราชทานแด่เด็กอักษร ในงานอักษรสัมพันธ์ ปี ๒๕๑๙

เด็กอักษรฯ จบไปทำอะไรก็ได้

ขออนุญาตใช้โอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อส่งสารแสดงมุทิตาจิต โดยเล่าความประทับใจเล็กๆ น้อยๆ ในฐานะศิษย์เก่า รุ่นที่ ๔๔

เมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้เองในขณะที่เก็บกวาดทำความสะอาดบ้านขนานใหญ่ สมุดไดอารี่เล่มเหลืองที่บันทึกไว้ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ก็ปรากฏออกมาให้เห็น เมื่อเปิดอ่านแล้วก็ไม่อาจวางลงได้เลย จนทำให้กิจกรรม ๕ ส. ที่บ้านในคราวนั้นเป็นอันพับไป ทำได้เพียงครึ่งๆ กลางๆ

ไดอารี่เล่มเหลืองจึงเป็นที่มาของบันทึกฉบับนี้ และช่วงเวลาที่บันทึกนั้นอยู่ระหว่างการสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยอย่างเอาจริงเอาจังของนักเรียนมัธยมปลาย สายศิลป์ฝรั่งเศสคนหนึ่งจนถึงช่วงเวลาที่ได้เข้าเป็นน้องใหม่ในมหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติ

เมื่อเปิดอ่านไดอารี่เล่มเหลืองต่อไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๑๙ ซึ่งบันทึกไว้ว่าเป็นวันสอบวิชาสุดท้าย คือภาษาฝรั่งเศส ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ห้อง ๒๒๐) นั้น ความทรงจำเก่าๆ ผุดขึ้นมา จำได้ว่ารู้สึกตื่นเต้นมากๆ เมื่อได้เห็นอาคารทรงไทยงดงาม กับเด็กนักเรียนมัธยมปลายกลุ่มใหญ่ท่าทางมาดมั่น จนเราตัวลีบเล็ก แทบหมดกำลังใจ พี่น้อย (อาจารย์ติวเตอร์ภาษาฝรั่งเศสจากคณะครุศาสตร์ฯ) พาไปกราบพระบรมฉายาลักษณ์ของ ร.๕ ในห้องโถงตึก ๑ แล้วสุดท้ายข้าพเจ้าก็จับพัดจับผลูสอบติดที่นั่นจริงๆ ในไดอารี่วันเสาร์ที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๑๙ บันทึกไว้ว่า “ความฝันอันสูงสุด!”

ในพิธีรับน้องอันมีมนต์ขลัง พวกเราน้องใหม่ ปี ๑ เข้าไปอยู่ในห้องโถงตึก ๑ ชั้นล่าง แล้วพวกพี่ๆ ก็ขึ้นไปอยู่บนชั้น ๒ พี่ๆ ร้องเพลงจามจุรีศรีจุฬาฯ... ‘เมื่อต้นปีจามจุรีงามล้น เครื่องหมายของสิ่งมงคลทุกคนเริ่มต้นสนใจ เริ่มเวลารับชาวจุฬาน้องใหม่ เบิกบานสำราญฤทัย น้องเรามาใหม่หลายคน...’ พร้อมกับโปรยใบจามจุรีลงมาใส่น้องๆ ปลิวหล่นลงมาบนศีรษะ และทั่วตัวน้องๆ ก่อนลงไปเกลื่อนกลาดที่พื้นห้อง บรรยากาศแสนอบอุ่น ช่างมีมนต์สะกด ขนลุกซู่ และน้ำตาไหล

นับเป็นมหามงคลยิ่งที่พวกเราได้เข้าเป็นน้องใหม่ ในขณะที่สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ทรงเป็นรุ่นพี่ปีสุดท้าย ท่านได้ทรงเข้าร่วมรับน้องๆ พวกเราด้วย และทรงผูกข้อมือน้องๆ ด้วยพระองค์เอง รวมทั้งได้มีโอกาสใกล้ชิดพระองค์ท่านอยู่เนืองๆ ในไดอารี่เล่มเหลืองบันทึกไว้เมื่อวันเสาร์ที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๑๙ ว่า “วันนี้ไปพัฒนาคณะ หักร้างถางพง จนได้แผล ทูลหม่อมสิรินธรท่านน่ารักจัง ท่านฟันจอบใหญ่เลย ปลูกต้นไม้ ท่านทำจริงๆ เหงื่อหยดติ๋งๆ กระโปรง รองเท้าท่านเปื้อนขี้โคลนไปหมดเลย พอท่านเจอไส้เดือน ท่านกลับเอามือ หยิบไปปล่อยไว้ที่ต้นไม้ ไม่เกลียดเลย เห็นแล้วประทับใจ”

รวมทั้งในงานอักษรสัมพันธ์ ที่นิสิตอักษรทุกชั้นปีเข้าร่วมสังสรรค์ประจำปี พระองค์ท่านก็ได้พระราชทานไอศกรีมให้กับพวกเราด้วย ในรายละเอียดที่แม้จะลางเลือนมากในขณะนี้ แต่ยังคงเห็นภาพพระองค์ท่านที่แย้มพระสรวลตลอดเวลา และไม่ถือพระองค์เลยแม้แต่น้อย อย่างชัดเจน

ในรุ่น ๔๔ ของพวกเรามีเพื่อนผู้ชายเพียง ๑๐ กว่าคน มีบันทึกไว้ในไดอารี่เล่มเหลืองเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๑๙ ว่า “ผู้ชายอักษรฯ Man (น่าจะ Men) Club ๑๘ คน (มีเพื่อนท้วงว่าน่าจะ ๑๓ คน ไม่ทราบโผล่มาจากไหนอีก ๕!) เอากุหลาบมาให้ผู้หญิงทั้งหมด ๒๐๐ กว่าคน น่ารักจัง!” ซึ่งกุหลาบที่ข้าพเจ้าได้รับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ยังเป็นแบบทับแห้งเก็บไว้ จะประทับใจอะไรได้ขนาดนั้น

หลังจากนั้นพวกเราก็เจอของจริง เป็นช่วงเรียนอย่างหนัก จนบางคนอาจเริ่มท้อ โดยเฉพาะตัวเองที่เหมือนดั่งกบออกจากกะลา มาเจอแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาล ให้กระโดดข้ามไปหาแหล่งน้ำ การเรียนที่แตกต่างจากในโรงเรียน อักษรฯ สอนให้เป็นนักคิด นักวิเคราะห์ และในช่วงปี ๑ นั้นเจอวิกฤต เหตุการณ์ '๖ ตุลาคม ๒๕๑๙' ด้วย มีข่าวเพื่อนๆ รุ่นพี่หลายคนหลบเข้าป่าไปน่าเศร้าใจนัก และในปีนั้นเองก็งดจัดงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ที่เฝ้ารอคอย

ในช่วงปี ๓-๔ นอกจากทักษะด้านภาษาที่ต้องฝึกกันอย่างเข้มข้นแล้วยังได้ผ่อนคลาย สนุกสนานกับการเรียนศิลปะการละคร ความทรงจำที่ดีอีกหนึ่งที่มิอาจลืมได้ คือ ได้เรียนการเขียนบทละครเด็ก และได้จัดการแสดงขึ้นที่โรงละครอักษร (ตึก ๓) โดยมีครูแอ๋ว อ.อรชุมา ยุทธวงศ์ เป็นผู้สอนและกำกับการแสดง มีเพื่อนๆ มาร่วมแสดงใน “พี่หนุ่ยและน้องนุ่น” โดยแปลและปรับปรุงจากนิทานเด็กเรื่อง Hansel & Gretel

นอกจากการเรียนในคณะแล้ว พวกเราก็เข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ทั้งที่เป็นกิจกรรมจิตค่ายอาสาพัฒนาชนบท และกิจกรรมสันทนาการต่างๆ เด็กอักษร รุ่น ๔๔ จำนวนมากทีเดียวที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกในวงนักร้องประสานเสียง จุฬาฯ และได้มีโอกาสแสดงในวาระต่างๆ ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย ที่ประทับใจหาที่สุดมิได้คือ ได้แสดงหน้าพระที่นั่ง ในงานกาชาด ปี ๒๕๒๐ ณ พระที่นั่งสวนอัมพร ในปีนั้นเสด็จทุกพระองค์ทีเดียว

สุดท้าย การเรียนด้วยความพากเพียรมากบ้าง น้อยบ้าง ตลอด ๔ ปี ก็ได้ผลิตบัณฑิตของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคนหนึ่งออกมาอย่างภาคภูมิ ทำงานผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย รับผิดชอบงานหลากหลาย สารพัดหน้าที่ ตั้งแต่ ครูสอนพิเศษ นักข่าว เลขานุการ(ทูตเกาหลี) นักเขียน นักแปลอิสระ วิทยากร พิธีกร นักกฎหมาย (เรียนนิติศาสตร์ต่อ) นัก IT จำเป็น (ในหมู่นักกฎหมาย) อีกทั้งยัง ได้มีโอกาสเป็นตัวแทนหน่วยงาน สอบชิงทุน JICA เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทย เข้ารับการฝึกอบรมร่วมกับผู้แทนประเทศต่างๆ ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา ๓ เดือน ซึ่งทุกคนล้วนเป็นวิศวกรเว้นแต่เด็กอักษรคนนี้เพียงคนเดียว

จนกระทั่งปัจจุบันเป็นผู้บริหารของหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่งและใกล้เกษียณ ดูแลรับผิดชอบงานสถิติขององค์กร ทั้งๆ ที่คณิตศาสตร์คือยาขมของเด็กอักษร ตลอดจนได้รับขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรม ในทางล่ามและแปลเอกสารภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ จนถึงปัจจุบัน

ทั้งหมดทั้งปวงนั่น เพื่อจะบอกว่า เด็กอักษรฯ จบไปทำอะไรก็ได้ และใคร่ขอน้อมจิตคารวะ และสำนึกในบุญคุณอักษรฯ ยิ่งนักที่สร้างเด็กอักษรคนนี้เข้าสู่สังคม แม้อาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จในชีวิตการงานเท่าใดนัก แต่ก็ภูมิใจที่ได้ช่วยทำประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติ ไม่มากก็น้อย

 

ชลลดา ไพบูลย์สิน (พิศาลสงคราม) อักษรศาสตร์ รุ่นที่ ๔๔ (เลขสวย จำง่าย) 

  ไดอารี่เล่มเหลือง ปี ๒๕๑๙ ที่มาของเรื่อง 

  ผู้ชายอักษรมอบกุหลาบให้เพื่อนผู้หญิงในโอกาสวันคริสต์มาส ปี ๒๕๑๙  

 เขียนบทละครเด็กและจัดเพลงประกอบในการแสดง 

 บรรยากาศระหว่างรอการแสดงหน้าพระที่นั่ง ณ สวนอัมพร

 เป็นตัวแทนหน่วยงานและประเทศไทยเข้าอบรมที่ประเทศญี่ปุ่นในหมู่วิศวกรนานาชาติ

กลับขึ้นด้านบน

ระลึกพระคุณอาจารย์

ระลึกถึงพระคุณอาจารย์

เล่าโดย อริสา ฟรานเญ  อบ.44  

ได้เข้ามาเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นน้องใหม่ในปี๒๕๑๙  เป็นความยินดีอย่างที่สุด  เพราะสอบผ่านความยากนานาประการ และยังมีระยะเวลานานอีกถึงสี่ปีที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคไปให้ตลอดรอดฝั่ง

ชีวิตในมหาวิทยาลัยต่างจากในโรงเรียนโดยสิ้นเชิง  ไม่มีที่นั่งประจำ ไม่มีห้องประจำชั้น  ไม่มีครูประจำชั้น เปลี่ยนวิชา เปลี่ยนห้อง เปลี่ยนอาจารย์ผู้สอน  สำหรับเด็กวัยรุ่นอายุสิบแปดที่เพิ่งออกมาจากโลกใบเล็ก ขาดหลักให้ยึด ย่อมชวนให้เคว้งคว้าง

บุคคลที่เปรียบเหมือนพ่อคนหนึ่งคืออาจารย์ที่ปรึกษา อาจารย์ปรีชา ช้างขวัญยืน อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา เห็นท่าไม่ดีเมื่อดูคะแนนเทอมแรก จึงเรียกไปพบ ท่านให้ทั้งคำแนะนำ อธิบายผลที่จะตามมาเมื่อคะแนนวิชาบังคับไม่ดี 

ขณะที่พบ ได้ฟังคำตักเตือน ฟังแล้วรู้สึกอะไรในขณะนั้น  ไม่ทันได้รู้สึกอะไรเลย  เพราะกังวลเรื่องเรียนเรื่องสอบและหวั่นเกรงว่าคะแนนอาจไม่ถึงจนได้เรียนต่อ...

แต่เมื่อได้อยู่ตามลำพัง  เมื่อนั้นที่น้ำตาเอ่อท้นท่วมนัยน์ตา และน้ำตายังไหลพรั่งพรูแม้ในปัจจุบันยามระลึกถึงว่าอาจารย์เป็นห่วงเรามาก ถ้าจะมีหลักให้ยึดตลอดเวลาสี่ปี ก็เห็นจะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาผู้เมตตาต่อลูกศิษย์ในความดูแล  ความรู้สึกใดจะเทียบเท่าความรู้สึกที่มีคนห่วง มีผู้ปรารถนาดีต่อเรา

ด้วยความสนใจและความชอบเป็นทุนเดิม  จึงได้ตั้งเข็มไว้ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาเรียนคือจะเลือกวิชาภาษาฝรั่งเศสเป็นวิชาเอก  เมื่อมั่นใจและรู้ทิศทางของตัวเองก็ค่อยๆเก็บสะสมความรู้  ความชอบ ซึ่งเป็นคนละส่วนกับการสะสมคะแนน  วิชาที่เลือกเพราะชอบ ไม่ใช่วิชาที่ทำคะแนนได้ดีไปทั้งหมดทุกวิชา  แต่เป็นวิชาที่เปิดความคิด เปิดมุมมอง ต้องอ่านหนังสือมาก ผลคืออ่านไม่ทัน  ผลอื่นที่ตามมาคือได้พบอาจารย์ที่ปรึกษาบ่อยขึ้น

คะแนนเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะทุกวิชาวัดเกรดด้วยคะแนน แต่ความสำคัญที่มากกว่านั้นคืออาจารย์ผู้สอนมีบทบาท มีผลต่อความคิด  จิตวิญญาณของผู้เรียนจากวันแรกเรียนจนตลอดไปเหมือนได้อ่านหนังสือดี บทกวีดี  เนื้อหาจะประทับตราตรึงอยู่ไม่มีวันลืม อาจารย์หลายท่านได้เป็นแบบอย่างของความเลื่อมใสศรัทธามาตลอดโดยเฉพาะสองท่านนี้ อาจารย์ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา และอาจารย์ บุษกร กาญจนจารี

วิชาภาษาไทยและวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นวิชาที่ทำให้มั่นใจว่าได้เรียนในเรื่องที่ต้องรู้ เรื่องที่เกี่ยวกับเรา ภูมิภาครอบบ้านเรา มีแหล่งข้อมูลที่ต้องรู้เพิ่มขึ้น เมื่อได้ไปเรียนต่อต่างประเทศยิ่งเห็นประโยชน์จากสองวิชานี้  รู้ภาษาไทยอย่างดี รู้เรื่องบ้านเมืองตัวเองอย่างแท้จริง การสื่อสารได้ดีด้วยภาษาอื่นเป็นเพียงเครื่องมือแต่สาระและแก่นสารต้องมีอยู่ในตัวตนอย่างชัดเจนก่อน  

งานที่ได้ทำต้องเกี่ยวข้องกับภาษาต่างประเทศ เป็นลูกจ้างบริษัทฝรั่งเศสผู้นำเข้าเหล็กกล้าและอลูมิเนียม  เป็นล่าม และเป็นคนเขียนนิยาย ภูมิใจที่คนอ่านชมว่า ชอบภาษาของ “อิสรา”

ความทรงจำที่ไม่เคยเหือดหายคือความปรารถนาดีและคำสอนของอาจารย์  ขอน้อมกราบระลึกถึงพระคุณของท่านเสมอ 

 

 

กลับขึ้นด้านบน

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University