เรื่องเล่าของนิสิตเก่า รุ่น 45

เอากับฉัน (อ้ำ) สิ ฤทัยวรรณ (ศรีศักดา) วงศ์สิรสวัสดิ์ อบ.45

เอากับฉัน(อ้ำ)สิ

บันทึกความทรงจำ โดย

ฤทัยวรรณ (ศรีศักดา) วงศ์สิรสวัสดิ์                         

Identification number 2011264

อักษรศาสตร์ รุ่น 45

 

“อ้ำ อย่างเธอเนี่ยนะเคยเป็นเอ็มดีเอเจนซีโฆษณาอันดับหนึ่งของประเทศไทย” 

“อือ ใครมีปัญหาเหรอ”

 พ.ศ.2520 เป็นปีที่อดีตเด็กคนหนึ่งที่เรียนดีมากจากบดินทรเดชาได้รู้จักเสรีภาพแต่ไม่รู้จักหน้าที่ ฉันรู้จักโดดเรียนอย่างเนียน พวกคลาสวิชาบังคับที่เรียนในห้องใหญ่ตึก1 อาจารย์ไม่เช็คชื่อนี่นะ แล้วพวกรุ่นพี่วิศวะ

ที่ลานนนทรีนั่นเขาก็ต้องการคนสำคัญอย่างฉันไปร่วมวงลาบน้ำตกที่สามย่านด้วยสิ  นอกจากปาร์ตี้ก็ยังมีกีฬาน้องใหม่ประเภทลู่ประเภทลานที่ต้องการฉันอีก เสรีภาพทำให้ฉันรู้จักเกรด C ในวิชาที่เด็กส่วนมาก

ได้ A และเป็นชนกลุ่มน้อยของคณะที่ได้เกรดเฉลี่ยปีหนึ่งเกิน 2.5 มานิดนึง

 

พ.ศ.2523 ฉันเป็นเด็กอักษรที่มีมลทินของรุ่น 45  จากอาชญากรรมที่ฉันก่อ จนน่าจะติดคุก

ฉันปลอมลายเซ็นอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อถอนวิชาที่ฉันเรียนแล้วคิดว่าไม่รอด   รู้สึกจะเป็นวิชาแปลนะ

อาจารย์ทำโทษสถานเบา โดยให้ฉันรับปริญญาช้ากว่าเพื่อนร่วมรุ่น 1ปี ฉันไม่ได้ขอโทษอาจารย์ใน   วันนั้น  แต่ความรู้สึกผิดก็ฝังอยู่ในใจฉันมาเนิ่นนาน   ผิดก็คือผิดนั่นแหละ  ถ้าเราย้อนเวลาได้และฉันมีวุฒิภาวะกว่านี้เรื่องขาดสตินี้ก็คงไม่เกิด 

การขาดสติทำให้ฉันไม่มีรูปถ่ายในชุดครุยพร้อมเพื่อน และไม่มีใบทรานสคริปต์ไปสมัครงานในปีนั้น

แต่เนื่องจากนายซัคเคอร์เบิร์คคงยังกินนมอยู่ เราเลยยังไม่มีเฟสบุ๊คไว้ให้อวดความสำเร็จในชีวิต ฉันก็เลยไม่รู้สึกหดหู่หรือทดท้อเพราะว่าเราไม่ต้องเปรียบเทียบกับเพื่อนๆเหมือนหนุ่มสาวสมัยนี้

ตรงกันข้ามฉันรู้สึกตัวเองแจ๋วมากด้วยซ้ำที่หางานได้โดยที่ส้นรองเท้าคู่แรกยังไม่ทันสึก เอากับฉันสิ

 

ฉันคิดว่าการเป็นเด็กอักษรทำให้ฉันมีสิทธิมั่นใจว่าตัวเองมีดีพอ โดยเฉพาะงานที่ใช้ภาษา ถ้าเจอคู่แข่งคณะอื่นแบบหมัดต่อหมัด ฉันพิสูจน์ได้แน่ (แม้จะเสียงสั่นเล็กๆและขาสั่นน้อยๆก็ตาม)

 

ฉันเริ่มเป็นครูสอนที่โรงเรียนกวดวิชาแห่งหนึ่งซึ่งไม่ต้องการทรานสคริปต์แต่ใช้วิธีทดสอบการสอน

ซึ่งวิชาการสอนนี้ก็คงจะมีแต่เด็กครุศาสตร์กระมังที่เรียนมา แต่อานิสงส์ที่เคยเป็นประธานเชียร์และโต้วาทีก็ทำให้ฉันสามารถสอนให้เด็กรู้เรื่องอย่างสนุกไปด้วย  ฉันเป็นครูใหม่คนเดียวที่เงินเดือนๆแรก 2,800บาท ได้ปรับเป็น 4,000บาทในเวลา 1ปี เอากับฉันสิ


จากนั้นก็ย้ายร่างไปเป็นเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์โรงแรมสี่ดาวแห่งหนึ่งอยู่ 3ปี เพราะเพื่อนอักษรคนหนึ่งแนะนำว่าที่นี่เขาหาคนมีเพอร์ซันแนลลิตี้ (แปลว่าไม่ต้องสวย) และที่โรงแรมนี้ พอเจ้านายมอบหมายให้ฉันดูแลชิ้นงานโฆษณาที่เอเจนซีทำมาเสนอบ่อยๆ เข้า เด็กอักษรคนนี้ก็อยากเป็นคนเขียนข้อความโฆษณาเสียเอง  ฉันจึงหาโอกาสและหนทางให้ตัวเองด้วยการโทรศัพท์ไปสมัครงานที่เอเจนซีเปิดใหม่เอี่ยมแห่งหนึ่ง...

“คุณมีพอร์ตโฟลิโอ เอิ่ม ผลงานก๊อปปี้ไรติ้งของคุณมั้ย” “ไม่มีค่ะ”

“ผมต้องการคนที่มีผลงานแล้ว” “อ้าว เหรอคะ เอ...เอาไงดีคะ”

“แต่ผมว่าอย่างคุณเหมาะจะเป็นแอ็คเค้าท์เอ็กเซ็คคิวทีฟ” “ยังไงนะคะ”

“คุณพูดและเขียนได้ดีทั้งไทยทั้งอังกฤษ แล้วคุณก็มีเพอร์ซันแนลลิตี้ที่พรีเซนทะเบิ้ล ตลกหน่อยๆ”

“อ๋อค่ะ งั้นแอ็คเค้าท์ก็ได้ค่ะ”

“แล้วคุณเขียนคอนเฟอเร้นซ์รีพอร์ตได้มั้ย”

 “คะ?”

 “รายงานการประชุมน่ะครับคุณเขียนได้มั้ย”

“อ๋อ...ยังไม่เคยเขียนเลย เอิ่ม.. แต่เป็นคนเรียนเร็วค่ะ”

...เอากับฉันสิ

 

แล้วคนเรียนเร็วเช่นฉันก็เติบโตมาในสายงานโฆษณา   จากเออีที่ชอบเข้าไปขอช่วยงานเขียนส่วนลดชุดชั้นในสตรีในสื่อสิ่งพิมพ์โฆษณาห้างสรรพสินค้า   วันหนึ่งฉันก็ขอโอกาสเปลี่ยนผ่านสู่ก๊อปปี้ไรเตอร์ ฉันเป็นก๊อปปี้ไรเตอร์ที่พรีเซนต์งานตัวเองได้ดีมาก   และเมื่อฉันเลื่อนชั้นเป็นครีเอทีฟไดเร็คเตอร์ ฉันก็เป็นหัวหน้าที่ช่วยพัฒนางานลูกน้องไม่ใช่สักแต่ยิงทิ้ง  และที่สุดเมื่อวันที่เอเจนซีมีวิสัยทัศน์ว่าถึงเวลาที่สายงานสร้างสรรค์จะชูธงบ้าง ฉันก็ได้รับเลือกเป็นกรรมการผู้จัดการที่บริษัทเจ วอลเตอร์ ทอมป์สันในปี พ.ศ.2545

ซึ่งเป็นยุคที่บริษัทเสริมยอดขายให้ลูกค้าด้วยงานครีเอทีฟดีๆ กวาดรางวัลทั้งในและนอกประเทศ   เหตุมาจากเรามีทีมที่เก่งที่ดี และฉันเป็นประธานเชียร์ที่สนุกไปกับพวกเขา   ดูเหมือนว่าทุกวันนี้ใครๆที่ร่วมยุคกับฉันยังกล่าวขวัญกันอยู่ว่า   “พี่อ้ำเป็นเอ็มดีที่จัดปาร์ตี้บ่อยที่สุด”

…เอากับฉันสิ 

…………………….

ในช่วงชีวิตของคนๆหนึ่ง มีหลายเหตุหลายปัจจัยและองค์ประกอบปลีกย่อยที่ส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จ

การเรียนเร็ว อ่านเก่ง เข้าใจคน มีจินตนาการและสร้างสรรค์เป็นนั้นคณะอักษรศาสตร์ให้ฉันมา

การเชียร์เป็น นำเป็น พรีเซนต์เป็น และทำงานเหมือนเล่นนั้นคณะอักษรศาสตร์ก็ให้ฉันมา

การใช้ภาษาได้ดีนั้น  นวนิยาย เรื่องสั้น เพลง กลอน บดินทรเดชาและคณะอักษรศาสตร์ให้ฉันมา

ฉันมั่นใจในระดับสูงสุดว่าความสำเร็จในอาชีพของฉันไม่ใช่โชคชะตาฟ้าลิขิต

ส่วนความตลกหน่อยๆ ที่เป็นดีเอ็นเอของฉันนั้นก็คงมีส่วนบ้างนิดๆ… เข้าใจตรงกันนะ

 

หมายเหตุ : การมั่วสุมกับรุ่นพี่วิศวะมิได้ส่งผลให้ฉันได้แฟนเป็นเด็กวิศวะแต่อย่างใด เป็นเพียงกุศโลบายในการอยู่ร่วมพื้นที่กับเด็กคณะอื่นที่เนียนเข้ามายึดลานนนทรีของเราไว้เตะบอล

------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

กลับขึ้นด้านบน

จากละครอักษรสู่ละครชีวิต ผศ.อนุรัชนี จาตุศรีพิทักษ์ อบ.45

จากละครอักษรสู่ละครชีวิต 
เล่าโดย    โดย ผศ.อนุรัชนี จาตุศรีพิทักษ์ 


        หากให้ย้อนรำลึกถึงความผูกพันของดิฉันที่มีต่อคณะอักษรศาสตร์ ภาพในอดีตหลายต่อหลายภาพปรากฏซ้อนขึ้นมามากมาย ภาพตัวเองและกลุ่มเพื่อนสนิทนั่งพัก ทำการบ้านอยู่ในห้องโถงกลาง ภาพห้องเรียนรวมทั้งชั้นปีที่ตึก1  เพื่อนๆในห้องต่างส่งเสียงคุยกันจ้อกแจ้กก่อนทึ่อาจารย์จะเข้ามาสอน  ภาพห้องเรียนกลุ่มย่อยที่ชั้นใต้ดินตึก2  แต่ละห้องไม่มีประตู บรรยากาศอึมครึมมาก 
             อย่างไรก็ตาม แม้ดิฉันจะเป็นนิสิตที่เรียนพอใช้ได้คนหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไป 30 กว่าปี ภาพการเรียนต่างๆได้ค่อยๆเลือนไปจากความทรงจำจนเกือบจะหมดสิ้น คงเหลืออยู่เพียงภาพเดียวที่เด่นชัดที่สุด และจะไม่เลือนไปจากความทรงจำเลย นั่นคือภาพโรงละครอักษรศาสตร์ ที่ตึก4   
          สมัยที่ดิฉันเรียนอยู่ปี4 ครูหนุ่ย ( เสาวนุช ภูวนิชย์) จะทำละครภาควิชา แนว Noh เรื่องหมอนแห่งเมืองกันตัน ครูกรุณามาตามดิฉันและ ตุ้ม (ผุสชา โทณะวณิก) ให้ไปทดลองบท โดยบอกว่า จะให้แสดงละครภาควิชานะ ให้ทั้งสองคนแสดงเป็นนักเต้นรำ 
 
       ละครเรื่องกันตัน เป็นละครแนวNoh ของญี่ปุ่น นำแสดงโดย ครูแอ๋ว ( อรชุมา ยุทธวงศ์)   ครูช่าง (ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง)   ครูแตน  (ภาวิณี นานา)   พี่อู๊ด ( สมพล ชัยสิริโรจน์) และนิสิตชายต่างคณะ อีกมากมาย  ตามบท เราสองคนแสดงเป็นนักเต้นรำที่เปรียบเสมือนกิเลศ ซึ่งมายั่วยวนพระเอกคือจิโร่ 

       ในช่วงฝึกซ้อมอย่างเข้มข้น ได้ ครูอาซ่า สกอร์สกี้  มาช่วยกำกับลีลาการเต้น ท่าเต้นที่ครูอาซ่าให้เราสองคนเต้นช่างเป็นท่าที่ล้ำลึกมากค่ะ มีการยักย้ายส่ายสะโพกเป็นรูปเลขแปด และอื่นๆอีกมากมาย ตอนนั้นดิฉันคงยังอายุน้อย ไร้เดียงสามาก ครูให้ทำอะไร ก็ตั้งใจทำตามเต็มที่ และไม่เข้าใจจริงๆ ว่า เหตุใด เวลาซ้อม มักจะมีนิสิตหนุ่มๆทั้งคณะเราและคณะเพื่อนบ้านมาดูฝูงใหญ่ และนั่งซุ่มอยู่ในความมืด พร้อมทำเสียงฮือฮา 
   
          ความหวังที่จะได้แสดงเป็นดาวเต้นเซ็กซี่ของดิฉัน ได้หายวับไป เนื่องจากครูหาความเซ็กซี่ในตัวดิฉันไม่เจอจริงๆ นอกจากเสียงจะแหลมสูงแล้ว ยังมีท่าทางติงต๊องนิดๆ ครูจึงตัดสินใจว่า "ตุ้ม เสียงทุ้มลึก จงเซ็กซี่ร้ายลึก ส่วนหนูเล็ก เธอเป็นตัวตลกไปแล้วกันนะ" 
            จากวันนั้น ในฉากนี้ เป้าหมายของนักเต้นรำหนูเล็กคือพยายามยั่วยวนจิโร่ ( ครูช่าง) อย่างสุดฤทธิ์ และจะต้องเป็นความพยายามที่ตลกอย่างโง่ๆด้วยค่ะ  จังหวะที่คนดูชอบมากที่สุดคือตอนที่ตุ้มโน้มคอครูช่างลงไปหาตัวเองจนเกือบจะจุมพิตกัน ส่วนเล็กซึ่งนั่งอยู่กับพื้นต้องทำกระฟัดกระเฟียด รอจนครูก้มต่ำมาก แล้วจึงรีบลุกไปกระชากกลับมา มีอยู่รอบหนึ่ง เล็กมัวแต่กระฟัดกระเฟียดเพลินไป ตุ้มบอกว่า นึกว่าจะไม่มากระชากครูกลับเสียแล้ว เพราะ ทั้งครูทั้งตุ้ม ต่างโน้มต่ำเกือบจะตกเตียงแล้วจริงๆ 
        การได้มีโอกาสแสดงละครให้ภาควิชาศิลปการละครในครั้งนั้น นับเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่ายิ่งแก่นิสิตตัวเล็กๆอย่างเรา ได้มีโอกาสสังเกตวิธีการทำสมาธิก่อนแสดงของบรรดาครูๆ เรียนรู้การทำงานเป็นทีม ยอมรับความผิดพลาดของตนเองและแก้ไข และฝึกความมีวินัยแบบมืออาชีพ  ทั้งหมดนี้ คือบทเรียนชีวิตจริงที่คณะอักษรศาสตร์ได้หยิบยื่นให้ดิฉันตั้งแต่อยู่ปี4  เมื่อมองย้อนกลับไป ดิฉันไม่ได้เพียงแค่โอกาสการเป็นนักแสดงเท่านั้นแต่ยังได้โอกาสฝึกงานละครจริงๆ ที่แสดงต่อเนื่องเป็นสิบๆรอบ มีผู้ชมซื้อบัตรเข้าชม นั่นคือการฝึกงานให้นิสิตที่ดีที่สุด เพราะทุกอย่างคือของจริงทั้งสิ้น ต้องขอขอบพระคุณอาจารย์และคณะอักษรศาสตร์ที่เปิดหนทางสู่โลกการละครที่แท้จริงให้แก่ดิฉัน จนตัดสินใจศึกษาต่อทางสาขานี้ 
           การแสดงละครให้ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ เป็นประสบการณ์ที่ดีมากแก่ชีวิตดิฉัน นอกเหนือจากการเรียนรู้สิ่งต่างๆแล้ว ยังได้มีโอกาสรู้จักกับรุ่นพี่รุ่นน้องที่ทำละครด้วยกัน จนสนิทสนมและรักกันมาตลอดจนทุกวันนี้ แม้ละครเรื่องนั้นจะจบไปนานมากแล้ว แต่นักแสดงและผู้ทำงานเบื้องหลังต่างยังโลดแล่นอยู่บนถนนชีวิตของแต่ละคน ในยามที่ชีวิตดิฉันประสบทุกข์ ก็จะมีพี่ๆน้องๆละครอักษรเหล่านี้หยิบยื่นความช่วยเหลือมาให้อย่างน่าซาบซึ้งใจยิ่ง และเช่นเดียวกัน ในยามที่จังหวะชีวิตเอื้อโอกาสให้ดิฉันได้ตอบแทนพระคุณคณะอักษรศาสตร์  ไม่ว่าจะเป็นการระดมทุนเพื่อโรงละครสดใส พันธุมโกมล หรือการร่วมแสดงละครการกุศลต่างๆ ดิฉันจึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้มีส่วนทำงานเพื่อช่วยพัฒนาคณะอักษรศาสตร์อันเป็นที่รักของพวกเรา 

       "ดีมาก ดีมาก ทุกคนยอดเยี่ยมมาก" เสียงครูใหญ่ หรือ อาจารย์สดใส พันธุมโกมล จะดังขึ้นในกรีนรูม ทุกครั้งหลังจากที่การแสดงทุกรอบเสร็จสิ้นลง  กำลังใจจากผู้อำนวยการแสดงในวันนั้นยังคงฝังลึกอยู่ในความทรงจำของนักแสดงสมัครเล่นตัวเล็กๆอย่างดิฉัน กำลังใจเช่นนี้เป็นทั้งเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและแนวทางปฏิบัติในชีวิตให้แก่ดิฉันเสมอมา 

       ละครกันตัน ที่คณะอักษรศาสตร์ ได้ปิดฉากลงไปสามสิบกว่าปีแล้ว ละครชีวิตเรื่องอื่นๆได้เริ่มขึ้นและทยอยจบลงเป็นเรื่องๆไป ในฐานะศิษย์เก่าอักษรศาสตร์ ดิฉันคิดว่าพวกเราต่างได้พยายามแสดงอย่างสมบทบาทในทุกๆเรื่องแล้ว ไม่มีคำว่าเสียดาย หรือขอย้อนกลับไปแก้ไขสิ่งใดอีกเลย 
 
       ละครเรื่องต่อไปกำลังเปิดรับสมัครนักแสดงค่ะ  ขอเชิญทุกท่านที่สนใจสมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ เรามีบทให้ทุกคนแสดง และมีงานให้ทุกคนได้ร่วมแรงร่วมใจทำกันค่ะ  ละครเรื่องนี้ ชื่อ "อักษรฯจุฬาฯ 4.0" ค่ะ 

กลับขึ้นด้านบน

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University