เรื่องเล่าของนิสิตเก่า รุ่น 48

เล้าไก่และอ้อยหวาน สมใจ เจริญชัยกรณ์ และ ธีรยุพา สุคนธพันธุ์ (อบ.48)

เล้าไก่และอ้อยหวาน

เล่าโดย สมใจ เจริญชัยกรณ์  และ ธีรยุพา สุคนธพันธุ์ (อบ.48)

      เหตุที่ผู้เขียนสิงสถิตอยู่โต๊ะหน้าตึกสี่และอพยพไปมาระหว่างป่าเชอร์วู้ด กับตึกสี่ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณอาคารมหาจักรีสิรินธร (ป่าเชอร์วู้ดคือที่รกร้างข้างตึกสี่ ด้านหลังติดรั้ว มศว. ได้รับการขนานนามตามแบบของชาวอักษรฯ) เมื่อแดดร้อนสาดส่องโต๊ะหน้าตึกตามฤดูกาล ชีวิตจึงวนเวียนไปมาระหว่างป่าเชอร์วู้ด ตึกสาม และตึกสี่ ที่แน่ๆ โรงอาหารคณะอักษรฯ ก็เป็นจุดศูนย์กลางระหว่างสถานที่ทั้งสามตำแหน่ง

     โรงอาหารอักษรฯ ในสมัยนั้นมิได้ใหญ่โตแต่มีเอกลักษณ์อย่างยิ่งจนนิสิตทั้งหลายตั้งฉายานามว่า “เล้าไก่” นอกจากรสชาติอาหารแล้วอีกสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดนิสิตจากคณะอื่นมาเยี่ยมเยียนเล้าไก่แห่งนี้ไม่ขาดสายคือ กิตติศัพท์ความงามของสาวอักษรที่มีมันสมองเป็นเลิศ

    หากเดินเข้าโรงอาหารจากด้านป่าเชอร์วู้ดหรือศาลารวมใจ เจ้าแรกทางขวามือคืออาหารตามสั่งที่พวกเราขนามนามว่า ร้านป้าเตี้ยโอเป็ค   นอกจากอาหารตามสั่งแล้วป้าก็มีอาหารสำเร็จในถาดสำหรับให้นิสิตสั่งราดข้าว ผัดไส้กรอกที่หั่นเป็นชิ้นบางๆ ผัดกับกระเทียมและเคลือบด้วยน้ำตาลอ่อนๆ จะมีให้เลือกทุกวันไม่มีขาด นิสิตทานกันตั้งแต่รู้สึกแปลกๆ เมื่อเข้าคณะใหม่ๆ จนกระทั่งสี่ปีผ่านไป กลายเป็นอาหารติดตา ติดปาก และติดสมอง  ถัดไปคือ ร้านก๋วยเตี๋ยวน่องไก่ตุ๋นนุ่มจนละลายเมื่อสัมผัสปลายลิ้น เย็นตาโฟรวยเครื่องเลิศรส ก๋วยเตี๋ยว 20 คำถามที่คนขายต้องการรายละเอียดยิบก่อนลงมือลวกเส้น ขนาดมหึมาของโถแก้วบรรจุเครื่องปรุงก๋วยเตี๋ยวต่างๆ ซึ่งตั้งอยู่หน้าร้านยังคงฝังในความทรงจำของนิสิตบางคน ร้านข้าวหมกไก่และสลัดแขกที่ป้าแสนใจดีช่วยเอาลูกปิงปองยุบแช่น้ำร้อนให้พองเป็นประจำเพื่อนักตบประจำคณะได้กลับไปใช้งานใหม่ ร้านลูกชิ้นปิ้งพร้อมน้ำจิ้มสุดแสนอร่อยอันลื่องชื่อลือไกล  ร้านส้มตำ ร้านหอยทอดที่ต้องรอคิวยาวเป็นขบวนรถไฟ  เปาะเปี๊ยะสดที่มีอาซิ้มและอาเจ้ที่เป็นลูกสาวช่วยกันขาย ถัดไปคือน้ำแข็งไส น้ำปั่น และร้านน้ำรสต่างๆ ที่เปิดบริการอาทิตย์ละเจ็ดวัน

      สาเหตุที่ขนานนามร้านป้านี้ว่าโอเป็ค เพราะป้าเจ้าของร้านไม่เคยประหยัดน้ำมันที่เทใส่กะทะเลย เรียกว่าน้ำมันเยิ้มทุกเมนูไม่ว่าไข่เจียว ผักกะเพรา หรือข้าวผัด แม้แต่ผัดไส้กรอกหรือผัดวุ้นเส้นในถาดก็หยาดเยิ้มไปด้วยน้ำมัน อาหารโปรดที่สั่งร้านนี้ประจำคือต้มยำวุ้นเส้น นิสิตบางคนติดใจต้มยำกุ้งตัวจิ๋วแน่นชาม ทุกครั้งที่ยืนรออาหารก็จะสังเกตวิธีปรุงอาหารของป้า สาบานได้เลยว่าป้าจะหยิบตะไคร้ ใบมะกรูด พริกออกจากถุงพลาสติกใหญ่ที่แกหิ้วลงจากรถสามล้อ ทุบเบาๆหั่นแล้วโยนลงกะทะทันที ไม่เคยผ่านการล้างเลย นิสิตก็ไม่มีใครรังเกียจแถมอุดหนุนสม่ำเสมอและไม่มีใครเจ็บไข้ได้ป่วยจากอาหารที่คณะเลย (เท่าที่รู้) เจ้ร้านเปาะเปี๊ยะสดก็แสนน่ารักเพราะจะคุยกับนิสิตและรายงานสถานการณ์ต่างๆในโรงอาหารทุกวัน เรียกได้ว่าสามารถไปเก็บข้อมูลกับเจ้ได้ทุกวันในช่วงบ่าย ได้เคยรับรายงานว่าร้านใดถูกตักเตือน ร้านใดกำลังจะถูกยกเลิกหรือมิให้ต่อสัญญา

      ไม่มีใครไม่รู้จักสปอร์ตี้สุนัขแสนรู้ประจำเล้าไก่แห่งนี้ นอกจากได้สิทธิเท่ากับนิสิตทั้งหลาย มันยังขออาหารกินอย่างง่ายดายด้วยการยกเท้าหน้าสะกิดสะโพกผู้ที่นั่งทานอาหาร สำหรับนิสิตคณะเราต่างแบ่งปันอาหารให้มันเป็นประจำเพราะรู้หน้าที่ ส่วนแขกขาจรหลงมานั่งทานอาหารถูกสะกิดก็จะสะดุ้งทุกรายไปและยอมจำนนแบ่งปันลูกชิ้นให้มันแต่โดยดี 


      รุ่นเราเกือบทุกคนคงจะจำนิสิตอักษรนอกสังกัดทบวงที่ชื่อ "อ้อยหวาน" สาวประเภทสองรูปร่างสูงเพรียวที่เดินไปมาทั่วคณะ และเป็นมิตรกับนิสิตหลายกลุ่มโดยที่เธอจะแวะเวียนสับเปลี่ยนนั่งตามโต๊ะต่างๆ อัธยาศัยดี และใส่ชุดนิสิตจุฬาฯเหมือนพวกเราเกือบทุกวัน ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าเธอเป็นใคร บ้างก็ว่าเธอเคยเอ็นทรานซ์ติดหมอแล้วรีไทร์เลยเพี้ยน แต่ทุกคนก็ยอมรับเธอเป็นสหายร่วมคณะโดยไม่รังเกียจเดียดฉันท์ นี่คือความน่ารักของพวกเราชาวอักษรศาสตร์

      วันหนึ่ง อ้อยหวานเดินปรี่เข้ามาโต๊ะนิสิตอักษรฯกลุ่มหนึ่งซึ่งขณะนั้นนั่งกันอยู่สองสามคน และพูดกับนิสิตที่นอนฟุบอยู่กับโต๊ะว่า “นี่...เธอ ไม่ใช่ชั่วโมง sleepy logy นะ ตื่นๆๆๆๆๆ” เอ๊ะ เธอคิดศัพท์คำนี้ได้ยังไง sleepy logy  กลายเป็นเรื่องฮาที่นิสิตกลุ่มนั้นจำได้ไม่ลืมว่าโดนคนไม่เต็มต่อว่าเป็นภาษาอังกฤษ....  สมกับอยู่คณะอักษรฯ จริงๆ

       ภาพเหล่านี้ยังอยู่ในความทรงจำไม่รู้ลืม จึงอยากมาแบ่งปันกับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ เพื่อย้อนนึกถึงอดีตระหวางสี่ปีใต้ร่มชงโค ณ ดินแดนเทวาลัยของพวกเราค่ะ 

กลับขึ้นด้านบน

โวหารบาดทรวง ธีรยุพา สุคนธพันธุ์ และ สมใจ เจริญชัยกรณ์ (อบ.48)

โวหารบาดทรวง

เล่าโดย ธีรยุพา สุคนธพันธุ์  และ  สมใจ เจริญชัยกรณ์ (อบ.48)


“อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก
แต่ลมปากหวานอยู่ไม่รู้หาย
แม้นเจ็บอื่นหมื่นแสนจะแคลนคลาย
เจ็บจนตายเพราะเหน็บให้เจ็บใจ...”
 
     สุนทรภู่กล่าวไว้ไม่ผิดเลย ใจเรายังเจ็บอยู่แม้เมื่อคิดถึงคำพูดที่ทำร้ายจิตใจเราหลายสิบปีก่อน (ทางพุทธเขาว่าไม่รู้จักปล่อยวาง แต่ก็... นะ... มันทำยากจัง)  อย่างไรก็ดี เราไม่รู้ว่า สุนทรภู่พูดไว้ที่ไหนหรือเปล่าว่า คำพูดที่เชือดเฉือนใจจากบางคนไม่ทำให้เราเจ็บเลย แต่กลับทำให้เรามองความหลังครั้งนั้นด้วยหัวใจซาบซ่านไปด้วยความรักต่อวัยหวานและผู้พูด
 
    ใช่ค่ะ เราอาจรักและระลึกถึงผู้ที่ประชดเสียดสีหรือแม้แต่ด่าทอเราได้ เพราะเรารู้ว่าท่านกล่าวออกมาจากจิตที่ปราศจากอกุศลต่อเราโดยสิ้นเชิง
 
    ต่อไปนี้คือเรื่องราวของนิสิตหนุ่มสาวเมื่อสามทศวรรษก่อนกับโวหารบาดทรวง...
 
    นักเรียนอักษรบางคนตั้งใจเรียนมาก บางสนุกสนานกับวัยแรกแย้ม บางคนอยากสนุกแต่ห่วงคะแนน

    วันหนึ่ง ความคิดชั่วร้ายเข้าสิงนิสิตสาวเธอหนึ่ง เธอจึงไปลงทะเบียนเรียนวิชาภาษาสเปน 1 เพื่อไป "เก็บ A" เพราะได้ข่าวลือมาว่าง่ายมาก และมันก็ง่ายจริงๆ นะ
 

    สัปดาห์แรกๆ เธอก็ตั้งใจดีแต่พอเห็นมันง่ายมาก เธอเลยโดดเรียนมั่ง เข้าสายมั่ง ฯลฯ ถึงเวลาสอบเธอก็ได้ B น้ำตาซึมเสียใจนิดๆ แต่เมื่อพิจารณาว่า ขี้เกียจสุดชีวิตแบบนี้ ก็ยังได้B อีก ถือว่า เก่งมากทีเดียว ทว่า ความภาคภูมิใจในสติปัญญาอันเหลือล้ำของตนก็ต้องหล่นตุ้บตกน้ำในสระจุฬาฯ เมื่อภายหลังมีเพื่อนมาเล่าว่า อาจารย์เดโช (อุตรนที) ผู้สอนท่านพูดลอยลมว่า               "วิชานี้ ใครได้ C ถือว่าเป็นกระบือไร้เทียมทาน*"
 
      จากวันนั้นจนวันนี้จะ 40 ปีแล้ว แต่เธอก็ไม่เคยลืมความสนุก (บวกซึมจ๋อย) ในช่วงนั้นเลยขอกราบอาจารย์เดโช ด้วยความรักและนับถือ ไม่ว่า ณ ตอนนี้ ท่านอยู่ที่ใด ขอให้ท่านมีความสุขเสมอ
 (*ตอนนั้น หนังจีนเรื่อง กระบี่ไร้เทียมทานกำลังดังมาก)
 
     นิสิตหนุ่มเนื้อหอมแห่งรุ่น แก้ว (ชาญวุฒิ) ก็มีเรื่องมาเล่าแบ่งปันความเจ็บปวดเช่นกัน
 
     หนุ่มรวยเสน่ห์ของรหัส ๒๓ ชอบการละครและมีความสุขสนุกสนานเสมอเวลาเรียนวิชาการละคร โดยเฉพาะจะสนุกและขำได้ตลอดชั่วโมงเมื่อเรียนกับอาจารย์ บรูซ แกสตัน  แก้วจำได้ไม่เคยลืมว่า ในชั่วโมงเรียนวิชา musical เวลานิสิตร้องเพลง ครูบรูซฟังจบแล้ว จะเอามือกุมขมับเดินไปที่กำแพง เอาศีรษะโขกกำแพงพลางบ่นพำว่า

     "เพราะฉิบหายเลย!"
 
      อันที่จริง ที่นิสิตร้องกันนั้นไม่ใช่เพลงนะ เป็นเพียงเสียงโน้ต DO DO DO RE RE ME FA ME RE ME... เท่านั้น บางครั้ง เสียงร้องจากสรวงสวรรค์ (ในความคิดเห็น) ของนักเรียนก็ทำให้ครูบรูซโขกศีรษะกับกำแพง แต่เปลี่ยนคำพูดเป็น 

      "เลวมาก... ร้องได้เลวมาก..."
 
      หนอนแก้วไม่ได้บอกผู้เขียนว่า วิชานั้นหนอนแก้วได้เกรดอะไร เราก็ไม่กล้าถาม เกรงเธอจะสะเทือนใจ (ฮ่า ฮ่า)
 

      เรื่องของหนอนแก้วทำให้นึกถึงนิสิตสาวๆ ที่ชอบร้องเพลง โดยเฉพาะนิสิตสาวกลุ่มหนึ่งที่นั่งประจำที่หน้าตึก 4 
 
      สายๆ วันหนึ่ง นิสิตกลุ่มนี้เกิดอารมณ์เคลิ้มเปิดเพลงฝรั่งฟังกัน เมื่อถึงตอนที่ว่า Tonight I celebrate my love for you ทุกคนก็พร้อมใจร้องเสียงดังแข่งกับวิทยุอย่างเร้าใจโดยลืมไปว่าห้องเรียนเหนือศีรษะกำลังมีการเรียนการสอนอยู่ อาจารย์ศักดิ์ศรี (แย้มนัดดา) โผล่หน้าจากหน้าต่างมองลงมา เผอิญเห็นนิสิตมุ่ยกำลังตั้งหน้าตั้งตาเสริมสวย อาจารย์จึงตะโกนว่า 

      "แม่คนนั้นกำลังทาปากอยู่ยังพูดได้"
 
        ทุกคนตะลึงและปิดวิทยุทันที พร้อมกับรีบเดินหนีจากโต๊ะด้วยการเดินขึ้นตึกเข้าห้องน้ำเพื่อหลบศึก หารู้ไม่ว่าเป็นการเดินเข้าถ้ำเสือเพราะอาจารย์ท่านยืนรอท่าหน้าห้องเรียนตรงข้ามห้องน้ำเพื่อเอ็ดนิสิตเสียงทองทั้งหลายต่อ นิสิตมุ่ยและสหายรีบจ้ำเข้าห้องน้ำหญิงแต่ก็ไม่วายได้ยินเสียงอาจารย์บ่นตามหลังมา
 
        ส่วนนิสิตเอกญี่ปุ่นคนหนึ่งเล่าว่าไม่เคยเจออาจารย์บ่นเลย แต่...
 
        บ้านนิสิตคนนี้อยู่ไม่ไกลจากคณะ แต่ติดปัญหาที่ไม่มีรถเมล์สายไหนจะตรงมามหาวิทยาลัยได้ เมื่อนั่งรถเมล์ต่อเดียวไม่ได้ต้องลำบากเปลี่ยนรถ เธอก็เลยตัดปัญหาด้วยการเดินมาเรียนทุกวัน  ชีวิตก็ลงตัวดี จนกระทั่งถึงปี 3 อาจารย์นำเข้าจากญี่ปุ่นท่านหนึ่งเกิดจัดเวลาเรียนให้เริ่ม 7 โมงเช้า อุแม่เจ้า! มันเช้าเกินไปนะ! เธอก็เลยตกเป็นเหยื่อความง่วง มาเรียนสายเกือบทุกครั้ง และนานวันเข้า ก็ไม่เข้าเรียนเลยเพราะลืมตื่น!
 
         วันหนึ่ง นิสิตตื่นสายคนนี้ ขณะเดินผ่านศาลารวมใจ (ซึ่งเหลือเพียงแต่ชื่อที่ไพเราะกับความทรงจำเกี่ยวกับรุ่นพี่ที่สวยๆ เท่านั้น) โชคชะตาฟ้าลิขิตให้เผอิญเดินสวนประจันหน้ากับอาจารย์นำเข้าท่านนั้น!  เปล่าค่ะ ท่านไม่ได้ดุ ท่านไม่ได้ทำหน้าบึ้งใส่ท่านยิ้มกว้างมาแต่ไกลและกล่าวทักทายด้วย  นิสิตที่เข้าตำราวัวสันหลังหวะอยากจะหลบ แต่ก็หลบไม่ได้ เธอจึงทำใจดีสู้เสือ อาจารย์ท่านทักทายภาษาญี่ปุ่นและต่อท้ายอีก 2-3 คำก่อนเดินจากไปด้วยรอยยิ้มหวานจับจิต กว่านิสิตตื่นสายจะได้สติจับใจความได้ก็ใช้เวลาเกือบ 20 วินาที ที่แท้ท่านพูดภาษาไทยสำเนียงญี่ปุ่นว่า 
 
               "ไม่เรียน ระวังสอบตก!"
 
        นิสิตเอกญี่ปุ่นคนเดียวกันนี่แหละเล่าว่า ตอนอยู่ปีหนึ่ง เทอมสอง เธอลงเรียนวิชา Natural Science สถานที่เรียนคือที่ห้องบรรยายใหญ่ คณะวิดยา (คณะวิทยาศาสตร์) ลักษณะห้องเป็นเวทีตรงกลางและที่นั่งนักเรียนจะสูงลดหลั่นจากหน้าไปหลังแบบอัฒจันทร์ บ่ายวันอากาศดี มีการสอบกลางภาค ก่อนเริ่มอนุญาตให้นิสิตลงมือทำข้อสอบ อาจารย์ผู้คุมสอบท่านอธิบายกฎเกณฑ์มารยาทการสอบต่างๆ พร้อมย้ำว่า

       "เอาแต่เนื้อๆ นะ ไม่เอาน้ำ"
 
        ทันใดนั้น จะด้วยเหตุอันใดไม่ปรากฏชัดแจ้ง (แต่เราเดาว่า เธอคงเบื่อที่อาจารย์ท่านย้ำแล้วย้ำอีก หรือเธออยากจะรีบลงมือทำข้อสอบเพื่อจะได้รีบกลับบ้าน) สาวอักษรนางหนึ่งที่นั่งแถวหลังๆ สวนกลับอาจารย์ด้วยเสียงก้องกังวานว่า
 
       "เอาแต่เนื้อๆ ไม่เอาน้ำ ก็ถลอกปอกเปิกหมดสิคะ อาจารย์"


        ไม่ทราบว่านิสิตคนอื่นมีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง แต่นิสิตเอกญี่ปุ่นคนนี้นั่งอ้าปากหวอด้วยความตกตะลึงแกมขำ ได้แต่แอบชำเลืองมองหน้าอาจารย์ซึ่งนิ่งขึงไป ไม่มีเสียงใดๆ รอดออกจากปากเลย
 
        ต้องเรียกว่าโวหารของลูกศิษย์ก็คมกริบไม่แพ้อาจารย์เลยนะคะ

กลับขึ้นด้านบน

ครูใหญ่ที่รัก สมใจ เจริญชัยกรณ์ (อบ.48)

"  ครูใหญ่ที่รัก  "

ล่าโดย  โดย สมใจ เจริญชัยกรณ์ (อบ.48)

               นิสิตอักษรฯ รหัส 23 ทุกคนคงมิอาจลืมห้อง 116 ณ อาคารเทวาลัย 1 สถานที่ประวัติศาสตร์ในยุคเราเนื่องจากทุกคนต้องรวมตัวกันในห้องนั้นเพื่อเรียนวิชาภาคบังคับในช่วงปี 1 - 2 ห้องใหญ่มหึมาสามารถรองรับนิสิตมากกว่าสองร้อยคน เพดานสูงออกแบบตามสถาปัตยกรรมไทยโบราณทำให้อากาศสามารถถ่ายเทลดอุณหภูมิห้องในยามบ่าย ห้องมีลักษณะทอดยาว ด้านหลังห้องติดกับลานนนทรี แม้ยุคนั้นเทคโนโลยีใหม่มีแค่ไมโครโฟนและการฉายแผ่นสไลด์ กระดานดำยังใช้ชอล์กเขียน แต่การเรียนการสอนก็เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  นิสิตก็ดูดีมีความรู้ ฉลาดปราดเปรื่องก็หลายคนอยู่

               ในบรรดาวิชาที่เรียนในห้องดังกล่าว คงไม่มีนิสิตรหัส 23 คนใดลืมวิชาสังคมและวัฒนธรรม “ยำไทย” (อารยะธรรมไทย) ซึ่งแตกแขนงไปเป็น “ยำออก” (อารยธรรมตะวันออก) สำหรับนิสิตที่คิดจะเอกวิชาภาษาตะวันออก และ “ยำตก” (อารยธรรมตะวันตก) สำหรับนิสิตที่คิดจะเอกวิชาภาษาตะวันตก  ในบรรดาวิชาเรียนรวม (วิชาบังคับมหาวิทยาลัยและบังคับคณะ)  วิชาที่น่าสนุกวิชาหนึ่งคือ วิชาประวัติศาสตร์การละคร ที่อาจารย์ สดใส พันธุมโกมล บรรยายด้วยอารมณ์และซุ่มเสียงอันเร้าใจ ถ่ายทอดจินตนาการอย่างสมจริง จนนิสิตคล้อยตามน้ำเสียงของท่าน ผมบ็อบแสกข้างยาวระต้นคอที่แกว่งไหวไปมาขณะที่ท่านบรรยาย ประกอบกับแว่นตาทรงใหญ่กรอบหนาสีเดียวกับชื่อท่าน (สดใส) นับเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท่าน (จากการค้นหาข้อมูลเพื่อเขียนบทความนี้ พบว่า อาจารย์ท่านนิยมใส่กรอบแว่นลักษณะนี้ตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตอักษรฯ...  เปรี้ยวจี้ดข้ามศตวรรษเลยค่ะ อาจารย์) 

               สิ่งที่ประทับใจมากคือเวลาท่านยกตัวอย่างคำพูดจากบทละคร ไม่ว่าจะเป็น Mac Beth "Fair is foul and foul is fair; Hover through the fog and filthy air" หรือ จูเลียต ซีซาร์กับนางคลีโอพัตรา น้ำเสียงของท่านสามารถนำพานิสิตให้ล่องลอยไปกับมโนภาพตามคำบรรยาย ประหนึ่งได้กลับไปสู่ยุคนั้นๆ  นิสิตหญิงตาลอยวาดภาพจูเลียต ส่วนนิสิตชายก็เคลิ้มไปกับภาพนางคลีโอพัตราในฝันของตน และเมื่อเสียงออดหมดชั่วโมงดังขึ้น ทุกคนก็ตื่นจากภวังค์กุลีกุจอรวบรวมข้าวของเพื่อเดินไปเรียนวิชาต่อไป  

 

               นิสิตแจ้ (อัฉรา ฉายากุล) ยังจดจำความหมายคำว่า Irony ได้จนถึงบัดนี้ ท่านยกตัวอย่างให้ฟังเรื่องหนึ่งว่า ชายคนหนึ่งใช้เวลายาวนานในการเก็บเงินในกระปุกออมสินจนเต็ม แล้วในวันหนึ่งที่จะนำกระปุกออมสินไปธนาคารเพื่อฝากเงิน  แต่ถูกรถยนต์ชนจนเสียชีวิตระหว่างข้ามถนนไปธนาคาร เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็น Irony 

 

               ระหว่างภาคการศึกษานั้น สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง (ถ้าสมองน้อยๆ จำไม่ผิด คิดว่าน่าจะเป็นช่อง 5 กองทัพบกนะคะ) มีรายการประจำสัปดาห์ประกาศเกียรติคุณบุคคลดีเด่นที่มีความสามารถและคุณความดีที่น่ายกย่อง และบังเอิญในคืนหนึ่งก่อนที่จะมีชั่วโมงเรียนวิชาของท่านในวันรุ่งขึ้น รายการดังกล่าวออกอากาศเกี่ยวกับอาจารย์ สดใสของพวกเรา ข้อมูลและภาพต่างๆ บนจอโทรทัศน์เป็นสิ่งที่เราคิดไม่ถึง แทบไม่เชื่อสายตาตนเองเลย อาจารย์ สดใสเคยเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประกวดนางงามจักรวาล (ปี 1959) จนพิชิตตำแหน่งนางงามมิตรภาพ! ภาพที่น่าปลื้มอีกภาพคือ ภาพอาจารย์ถ่ายคู่กับอดีตประธานาธิบดี Ronald Reagan (สมัยที่ Reagan ยังหล่อเหลามากๆ) ในช่วงที่ท่านแสดงละครเวทีร่วมกันที่สหรัฐอเมริกา ไม่เพียงแต่ความปลื้มปิติในตัวอาจารย์ที่เปี่ยมล้นใจของข้าพเจ้า  ความภูมิใจที่ตนเองได้มีโอกาสเป็นลูกศิษย์ท่านนั้นยิ่งมากมายทวีคูณ


               บ่ายวันรุ่งขึ้น เสียงโจษขานเกี่ยวกับรายการที่ออกอากาศคืนที่ผ่านมากระหึ่มห้อง 116 ก่อนชั่วโมงการบรรยายของท่านจะเริ่ม พวกเราชาวรหัส 23 พร้อมใจกันที่จะทำอะไรสักอย่างให้แก่อาจารย์ นั่นคือ ขณะที่อาจารย์ย่างเท้าแรกเข้าห้อง พวกเราปรบมือให้ท่านและไม่หยุดจนกระทั่งท่านเดินขึ้นเวทีบรรยาย ใบหน้าท่านเริ่มแดง หันหน้าทางกระดาน (อาจเพื่อตั้งหลัก) และหันกลับมาจับไมค์บอกให้นิสิตหยุดปรบมือ ท่านแก้เขินโดยกล่าวว่า "พวกเธอทำอะไรกัน บุคคลดีเด่นอะไรกัน เหลวไหล เริ่มเรียนได้แล้ว" แล้วท่านก็เริ่มการบรรยายอย่างรวดเร็ว จนพวกเราต้องรีบจับปากกาจดบรรยายแทบไม่ทัน   (อย่างไรก็ตาม เพื่อนๆที่นั่งแถวหน้าเห็นอาจารย์แอบอมยิ้มขนาดยักษ์เมื่อหันหน้าไปทางกระดาน)

               แก้ว (ชาญวุฒิ พรหมสาขา ณ สกลนคร) หนุ่มหล่อเนื้อหอมในรุ่นเราเล่าว่า ท่านเป็นผู้มีอิทธิพลสร้างแรงบันดาลใจให้เขาเรียนวิชาการละคร อาจารย์สดใสที่ใครๆ เรียกติดปากว่า "ครูใหญ่" เป็นผู้ก่อตั้งภาควิชาศิลปการละครในคณะอักษรศาสตร์ ซึ่งนับเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดสอนสาขาวิชาการด้านนี้ ผลิตนักแสดง ผู้กำกับ ผู้เขียนบทละครและอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จระดับแนวหน้าหลายคนในสาขาการละครและภาพยนตร์ นอกจากนั้น ท่านยังประพันธ์เพลงให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหลายเพลงรวมทั้งเพลง C.U. Polka ที่โด่งดัง   
 
               ภาพอีกมุมหนึ่งที่ยังตรึงในความทรงจำของจ้าพเจ้าจนบัดนี้ คือ ในเวลาเย็น ชายวัยกลางคนรูปร่างสันทัดผมสีเทาแซมขมับทั้งสองข้างจะเดินขึ้นตึกสามจากด้านหน้าไปยังปีก (ซ้าย) ของตึก  อีกสักครู่ใหญ่ ชายท่านนั้นก็เดินกลับออกมาพร้อมด้วยตะกร้าหวายขนาดใหญ่ในมือโดยภายในตะกร้าบรรจุของจุกจิกต่างๆ บุคลลที่เดินตามหลังออกมาคือ ครูใหญ่แว่นตาโตของพวกเรา   ท่านทั้งสองเดินลงจากตึกไปพร้อมกัน  ภาพนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนข้าพเจ้าเกิดความอยากรู้เกี่ยวกับชายดังกล่าว  หลังจากสอบถามเพื่อนนิสิตและอาจารย์ต่างๆ จึงทราบว่า ชายท่านนั้นคือ นายแพทย์ ตรง พันธุมโกมล คู่ชีวิตของท่าน  ข้าพเจ้ารู้สึกประทับใจในชีวิตครอบครัวที่อบอุ่น  ของท่านยิ่งนัก  ท่านเป็นทั้งครูผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ อีกทั้ง ยังเป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิตที่งดงามให้ชนรุ่นหลังพยายามก้าวตาม
 
               ขอกราบเรียนครูใหญ่นะคะว่า ลูกศิษย์รหัส 23 ทุกคนยังเคารพรักท่านไม่เสื่อมคลายค่ะ 

กลับขึ้นด้านบน

ชงโคชะเง้อ สมใจ เจริญชัยกรณ์ และ ธีรยุพา สุคนธพันธุ์ (อบ.48)

" ชงโคชะเง้อ"

ล่าโดย สมใจ เจริญชัยกรณ์  และ ธีรยุพา สุคนธพันธุ์ (อบ.48)                                                                       

       ชงโคราว ๒๓๐ ดอกเริ่มชูช่อในรั้วสีชมพู ชงโคเหล่านี้เป็นดอกตูมที่ห่อหุ้มด้วยกลีบเลี้ยงและเตรียมแย้มหน้าออกมาชมโลกใหม่ในวันอากาศแจ่มใสของเดือนมิถุนายนปี ๒๕๒๓

      ในวันเปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดแห่งนี้ เทวาลัยอันงามสง่าได้ต้อนรับหนุ่มสาววัยแรกผลิที่สลัดเครื่องแบบมัธยมปลายอย่างกระตือรือร้นเพื่อสวมสถานภาพนิสิตน้องใหม่เท้าด่างตามประเพณีการแต่งกายที่งดงามเป็นเอกลักษณ์ งานรับน้องของคณะ ตามด้วยงานรับน้องมหาวิทยาลัยทำให้ชงโคใสซื่อบริสุทธิ์ทุกดอกเปี่ยมด้วยความหวัง อีกทั้งตื่นเต้นกับโอกาสที่จะได้เผชิญความท้าทายในชีวิตใหม่ ความอบอุ่นจากแสงแดดที่เล้าโลมทำให้ดอกไม้แสนสวยทั้งหลายเริ่มแย้มบานเป็นที่ต้องตาต้องใจชายในรั้วเดียวกัน

      วันเวลาผ่านไป หมู่ภมรต่างแวะเวียนวนกันมาชื่นชมเสนอไมตรี บ้างก็ได้สร้างสื่อสัมพันธ์ตามใจปรารถนา บ้างก็เดินคอตกกลับไป ชงโคทรงเสน่ห์บางดอกสามารถดึงดูดใจชายมากกว่าหนึ่งจนกระทั่งต้องเลือกตัดสัมพันธ์กับคนใดคนหนึ่ง บางดอกก็รักพี่เสียดายน้องจนต้องขอความร่วมมือกับเพื่อนในกลุ่มให้ช่วยสับรางรถไฟเป็นกิจวัตร

      หนึ่งในชายที่แวะเวียนมาประจำคือหนุ่มเนื้อหอมจากคณะสถาปัตย์ในยุคนั้น เกือบทุกวัน พี่ตั้ว (คุณศรัณยู วงษ์กระจ่าง) จะเดินลัดเลาะจาก “ถาปัด” ผ่านทางคณะเภสัชฯ ทะลุตึกสามมายังตึกสี่ พี่ตั้วไว้ผมยาวประบ่า ใส่กางเกงยีน สะพายกระเป๋าสายยาว ไม่ว่าพี่ตั้วจะเดินท่าไหน เดินช้าเร็วอย่างไร ผมประบ่าจะสลวยสะบัดพลิ้วงดงามหรือกระเซิงทุกทิศทางด้วยขาดการดูแลด้วยต้องตรากตรำทำงานอดหลับอดนอนมา แต่พี่ตั๋วก็ดูเก๋ ดูเท่ในสายตาชงโคสาวๆ ทั้งหลายเสมอ

      ส่วนเพื่อนชงโคดอกหนึ่งที่เอกอังกฤษเล่าว่า เธอไม่สนใจพี่ตั้วเพราะมีคนสนแยะแล้ว และไม่สนชงโคหนุ่มร่วมรุ่นเพราะพวกเขาเป็นเพื่อนที่แสนดี เช่น หมอ (ศ. สถาพร ทิพยศักดิ์ ที่น่าเคารพแห่งภาควิชาภาษาสเปน) จึงมองเห็นเป็นแค่แรงงานที่ชอบเรียกให้ช่วยยกโต๊ะ ย้ายเก้าอี้ให้แก่ชงโคบอบบางทั้งหลาย ใจเธอนั้นแอบไปปลื้มอาจารย์อเมริกันรูปหล่อ (ในสายตาชงโคที่เพิ่งเผยอเปลือกตาดูโลก) ชื่อ Edward Stone ซึ่งสอนวรรณคดีอังกฤษ แต่แค่การพบในห้องเรียนนั้นไม่สามารถทำให้จิตใจชุ่มชื่นได้ยาวนาน จึงชอบนั่งดักทางที่อาจารย์เดินผ่าน เรียกว่า ยอมนั่งรอทั้งวัน เพื่อขอให้เห็นหน้าสักแว้บก็ยังดี บางครั้งบางคราก็ทำท่าโง่ (จะแค่ท่าทางหรือเรื่องจริง ก็เชิญวินิจฉัยกันตามสะดวกนะคะ) ไปขอคำแนะนำหรือคำอธิบายการบ้านภาษาอังกฤษวิชาอื่น นอกจากได้เห็นยิ้มเสน่ห์ในระยะสองสามฟุตแล้ว ยังได้วิสาสะอย่างใกล้ชิดเป็นที่เอิบอิ่มใจยิ่งนัก

       วันหนึ่ง ด้วยความโง่บวกขี้เกียจ ตลอดจนฉวยโอกาสหาเรื่องพูดกับอาจารย์ ชงโคเอกอังกฤษคนนี้ก็ขอให้อาจารย์ช่วยวิชาแปลเพราะทราบมาว่า ท่านพูดภาษาไทยได้เนื่องจากเป็นอาสาสันติภาพอเมริกันที่เมืองไทยมาแล้วหนึ่งปี คำศัพท์ที่ถามอาจารย์วันนั้น ชงโคดอกนี้มิเคยลืมตลอดชีวิตคือคำว่า “heel” ท่านอาจารย์ตอบเสียงดังฟังชัดว่า “ส้นตีน!” ทำเอาชงโคสาวและเพื่อนพ้องที่นั่งตาลอยฟังอยู่ด้วยกันต้องสะดุ้งโหยง อาจารย์เจ้าขา ใครสอนภาษาไทยให้อาจารย์เจ้าคะ

       เมื่อหัวใจรวดร้าวไปกับคำว่า “heel” ภาคภาษาไทยเดิมของอาจารย์ Stone ชงโคเอกอังกฤษดอกนี้ก็ยักย้ายถ่ายเทหัวใจไปกับอาจารย์หนุ่มอีกท่านหนึ่ง ท่านอาจไม่มีเสน่ห์เท่าอาจารย์ Stone แต่สมองท่านปราดเปรื่องน่าเลื่อมใสยิ่งนักเพราะท่านได้เกียรตินิยมจาก Cambridge อาจารย์ Simon Jonathan Landy (เห็นไหมคะว่า หลงใหลในเสน่ห์ท่านมาก ถึงขั้นขวนขวายไปทราบชื่อกลางของท่านได้ ปัจจุบันท่านเป็นสมาชิกหอการค้าอังกฤษค่ะ) ท่านสอนวรรณคดีอังกฤษอีกเช่นกัน แม้จะไม่ใช่หนุ่มหล่อเร้าใจสไตล์อเมริกัน แต่อาจารย์ Landy ก็มีเสน่ห์แบบน่าเอ็นดูจนชงโคสาวต้องไปนั่งเฝ้าบันไดตึกสาม คอยอาจารย์เดินขึ้นลงบันไดเพราะภาควิชาภาษาอังกฤษอยู่ชั้น 2 ของตึก 3 นี้ เพื่อนๆ ชงโคในกลุ่มขนานนามบันไดตึก 3 นี้ว่า “บันไดพิศวาส” เสียดายที่บันไดนี้ถูกทุบทำลายไม่เหลือ รุ่นน้องจึงไม่ทราบว่า บันไดธรรมดาๆ ของตึกเก่าๆ แห่งนี้มีเรื่องหวานๆ ซ่อนอยู่

       นอกจากชงโครหัส ๒๓ นี้แล้ว ชงโครุ่นพี่รหัส ๒๒ หลายดอกก็แอบชื่นชมเหมือนกัน (แต่ไม่ออกนอกหน้าประเจิดประเจ้อเท่า) และด้วยความที่อาจารย์ชอบใส่เสื้อลายตารางสี่เหลี่ยม วันหนึ่ง รุ่นพี่ก็นัดกันทั้งห้องให้ใส่เสื้อลายตารางเพื่อล้อท่าน และเขียนบนกระดานในห้องเรียนตามแนวสาวอักษรฯ เอกวรรณคดีอังกฤษว่า “To wear or not to wear, that is the question” (ขออภัยที่พาดพิงรุ่นพี่ อบ. 47 นะคะ)

        กลับมาที่ชายไทยบ้างนะคะ

        ชายเนื้อหอมอีกหนึ่งรายในยุคนั้นคือ อาจารย์ซูไรมาน (ผศ.กฤษรา วริศราภูริชา หรือครูปุ๊) ประจำแผนกศิลปะการละคร ท่านเป็นอาจารย์ใจดี สุภาพอ่อนโยน และเป็นกันเองกับลูกศิษย์ทุกคน ชงโคดอกนี้โชคดีมีโอกาสเรียนวิชาต่างๆ ในแผนกดังกล่าว เช่น Acting I (กับอาจารย์ Asa - อะสา ปาโลเมรา) Acting II (กับครูช่าง - อาจารย์ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง) Stage Light (กับครูแว่น - อ.ศิริลักษณ์ เสรีวัลย์สถิตย์) ได้คุมไฟละครหนึ่งเรื่องทุกรอบ และ Stage Craft (กับครูปุ๊) และที่โชคดีที่สุดคือมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับอาจารย์ระหว่างการสร้างเวทีละครเรื่องหนึ่ง (หมายเหตุ - ใกล้ชิดนี้เป็นเพียงสำนวนภาษาไทยอันหมายความว่า ได้พบได้เห็นเป็นประจำ มิได้หมายความเป็นอย่างอื่นนะคะ) ยังจำได้ว่าท่านสวมแว่นตาแบบเดียวกับมหาตมะ คานธี นอกจากดูหล่อแบบน่าเลื่อมใสแล้ว ท่านยังหอมกรุ่นด้วยกลิ่นโคโลญทุกวัน เป็นที่ชื่นจิตชื่นใจของลูกศิษย์โดยทั่วหน้า บางวัน ท่านจะเปลี่ยนแนวหล่อเป็นหนุ่มลุยด้วยกางเกงยีนและเสื้อยืดสีดำในวันที่พวกเราต้องมีการลงไม้ลงมือตอกตะปูสร้างเวที นอกจากมีรูปลักษณ์เป็นที่ปลื้มของชงโคสาวๆ แล้ว ท่านยังมีคุณสมบัติที่ประทับใจอีกอย่างคือ ความอดทนอย่างยิ่งกับลูกศิษย์ที่หยิบจับเครื่องไม้เครื่องมือเก้ๆ กังๆ หรือตอกโน่นตอกนี่ผิดพลาดไปหมด (จะเนื่องเพราะใจสะท้านหรือเพราะความสามารถด้อย ก็ขอให้ท่านทั้งหลายไปพิจารณากันเอง)

        สำหรับชงโคที่มีนิสัยช่างสังเกตชอบเก็บข้อมูลรอบตัวดอกนี้ สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดคือ ไม่ใช่แค่ชงโคแรกแย้มร่วมรุ่น แต่ชงโครุ่นพี่ๆ หลายดอกก็ออกอาการชื่นชมท่านเช่นกัน ซึ่งท่านเองคงพอทราบ แต่สามารถวางตัวอย่างดีไม่เคยทำให้สัมพันธภาพระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ต้องมัวหมอง จำได้ว่ามีการเปิดสอนภาษามาเลย์ โดยมีการให้ทดลองเรียนก่อนจ่ายเงินลงทะเบียน ชงโคดอกนี้จึงมิรอช้า รีบเข้าเรียนฟรีหนึ่งชั่วโมงเนื่องจากอาจารย์ซูไรมานท่านเป็นผู้สอน ยังจำความรู้ภาษามาเลย์ที่ได้จากชั่วโมงนั้นอย่างดี คือ “ ส่าย้า สุค้า มาคั้น โรตี ” แปลว่า ฉันชอบกินขนมปัง

        อย่างไรก็ดี ความฝันทั้งหลายทั้งมวลย่อมมีตอนจบ วันหนึ่ง ชงโคดอกนี้ไปติดต่อสำนักงานการท่องเที่ยวมาเลเซียซึ่งขณะนั้นตั้งอยู่บนถนนสีลม ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง เธอเป็นสาวงามคมคายแถมยังพูดเพราะและมีน้ำใจให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี ทว่า มาทราบภายหลังว่า สาวสวยผู้นั้นเป็นคู่หมั้นของอาจารย์ซูไรมาน! ณ วินาทีที่ทราบเรื่อง ชงโคดอกนี้มีอาการขาดน้ำกะทันหัน กลีบดอกเริ่มเหี่ยวเศร้าและอิดโรย ได้แต่ทำใจ (ที่แหลกสลาย) พยายามยอมรับว่า อาจารย์ท่านมีรสนิยมเป็นเลิศ และเก็บความชื่นชมอาจารย์ไว้ในใจจนถึงทุกวันนี้

กลับขึ้นด้านบน

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University