เรื่องเล่าของนิสิตเก่า รุ่น 49

Memoir of an Arithmophobic Man

Memoir of an Arithmophobic Man

BY :  ตุลสถิตย์ ทับทิม (ตุล อบ.๔๙)

 

I chose the Faculty of Arts as an escape. My friends talked about their love for the languages, about roaming the world as a steward or stewardess, or about the prestige of being a diplomat or interpreter, but what drove me was purely my fears of mathematics, geometry and physics. They were not those routine apprehensions that give students migraines from time to time. My phobia materialized in recurring super nightmares that still happen nowadays, at the age of over 50.

As you can see, my ‘entrance’ options were limited. One had to be relatively good at numbers to study laws, and political science sounded very formal. I hated formal, so when people said the Faculty of Arts would fit me like a glove, I believed them. I'm glad I did.

This is not to say that the Faculty of Arts was for carefree youngsters. There were plenty of ‘formalities’ that students had to go through. In fact, I hadn't expect the English, French and Thai grammars taught at the faculty to be so tough. I flunked tests for fun. I blamed my failures partly on getting carried away with the freedom of university life, and partly on the unearthly ‘structure’ things  that I was dragged to study, kicking and screaming.

When the dust settled down, you began to sense that the grammars were meant to pave the way for things that were progressively “informal”. Faculty of Arts students were bombarded with reading materials that were anything but boring. I don't know what mass communications, law or political science students had to read, but I'm quite sure my faculty offered the most unorthodox reading content ever.

This was how the Faculty of Arts lived up to its ‘color’. We learned to explore, with a fair mind, a curious relationship between a mother and her grown son. We were asked to dig into the psyche of a modern-day warrior turned a cult figure and then tribal warlord. We were made to wonder, and then try to find out, why a man killed his best friend. Students were never encouraged to jump to a conclusion.

 “Do you know why our faculty's color is grey?” a senior student said to me once. “It's because we are being taught not to see the world in black and white. The Aksorn color is the world's true color.”

During my four years at the faculty, he told me many things else, but these remarks stood out. Other faculties prepare you to be a good or even great professional, but here you are groomed to see the world with absolutely human eyes, to truly respect all the differences and to know that the ‘informal’ makes our planet as much as the ‘formal.’ You are constantly prompted to search for lights in the ‘Heart of Darkness’, so to speak.

I was far from being a hard-working student. But even as I skipped classes and did panic catch-ups before exams all the time, the ‘grey’ principle followed me everywhere. On one hopeless day, I joined a group of friends for a pre-exam final review of a western novel we all were supposed to finish weeks earlier.  “If you don't know what to write, here are some magic words,” a friend told me, sympathetic to the fact that I hadn't started reading the 300-page book on the eve of a big test. The words are “Human complexities.”

In effect, that friend told me that I could cheat my way out of the big exam by revolving my answers around the theme that human thinkings and behaviors are complex, or that even if they seem simple, they are driven by things that are very complicated. “All the books they gave us to read carry that theme,” he said. “If you pretend that you know about the premise of the book, you'll pass.”

I scraped through, thanks to that. It was pretty much cheating, yes, but this isn't a story of a bad boy. This is meant to demonstrate what the Faculty of Arts gave, gives, tried to give and is trying to give its students. Let's just say that while other faculties would teach their students the scientific secrets of Steve Jobs' iPhone, how the device is marketed, why he and his company faced so many legal problems and what the product did to the world's economy, the Faculty of Arts would try to make its students understand why human nature led to iPhone in the first place, as well as all its pros and cons.

Many would argue that making iPhone is for boys whereas trying to be philosophical about it or writing a poem about it is for girls. The world needs both, I suppose. Science and art can't exist without each other. It takes science to create pen and it takes art to come up with what to do with it. And better still for the Faculty of Arts students, they are taught to deeply understand the linkage.

Being a man in the female-dominated faculty wasn't as tough as expected. Except for the high possibility of being picked out by lecturers no matter where you sit in the classroom, that is. I sleepwalked through the four years, in fact. If you weren't a total moron, the girls would willingly be your tutors. The daring ones even let you peek at their exam papers when the supervisors weren't looking. And mind you, although I was kicked out of a secondary school football team for my poor stamina and skills, I felt like Lionel Messi at the Faculty of Arts.

It gave me great four years, during which I probably had too much fun. Albert Camus, Jean-Paul Sartre and the likes whizzed past me during the time but the faculty's intention to have their effects linger on among its students was undisputed. I can only be thankful for what the faculty gave or tried to give me as well as its other students. This is not to mention the honor of being in the same educational camp as the country's beloved princess.

For an Arithmophobic man, the Faculty of Arts turned out to be a fantastic escape route, one which taught me not only how the world lives, but also how to live in this world.

 

กลับขึ้นด้านบน

ดวลเดี่ยว ปรัชญา วิชาโท

" ดวลเดี่ยว ปรัชญา วิชาโท "

เล่าโดย ศนิศรา แสงอนันต์ (เจี๊ยบ อบ.๔๙) 

ฉันไม่เคยเรียนที่โรงเรียนอื่นใดเลยนอกจากโรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์ที่สามเสน โลกทั้งโลกของฉันคือโรงเรียนที่แสนรักแห่งนั้น การเป็นคนที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของโลกแคบๆ ใบเล็กๆ ที่มีแต่โรงเรียน  ไม่เคยทำให้แน่ใจได้นักว่า จะเป็นคนเก่งของโลกนอกโรงเรียนด้วยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แบบที่สามารถสยบคู่แข่งได้ราบคาบทั่วทุกสารทิศ ญาติมิตรหลายคนคงเห็นทีท่ามาดมั่น(เหลือเกิน)ของฉัน เลยพยายามเตือนสติย้ำบอก ไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อมให้เตรียมใจว่า อย่าได้หวังมากเลยเชียว ว่าจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยไหนได้  เพราะฉันไม่เคยรู้จริงๆ แหละว่า สนามประลองของโลกนอกโรงเรียนนั้นมันเข้มข้น ดุดัน รุนแรงและร้ายกาจเพียงใด...

วันที่ได้ยินชื่อตัวเองว่าสอบผ่านเข้าไปได้เรียนที่คณะอักษรศาสตร์-จุฬาฯ จากการประกาศผลสอบทางสถานีวิทยุแห่งหนึ่งนั้น ฉันดีใจมาก แต่ฉันไม่ได้ดีใจเพียงเพื่อตัวเองเท่านั้น ฉันดีใจเพื่อที่แม่ของฉันจะได้ไม่อายใครว่า ลูกคนเก่ง ศิษย์เซนต์ฟรังของแม่ ไม่ใช่สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ เหมือนที่หลายคนคอยกรอกหูให้เราสองคนแม่ลูกต้องเตรียมใจ และที่สำคัญคือ ฉันดีใจที่จะได้มีโอกาสเป็นนิสิตอักษรศาสตร์-จุฬาฯ ที่ยิ่งใหญ่ระดับชาติ

ฉันคงใช้เรี่ยวแรงทั้งหมดกระโดดจากชั้นลอยของบ้านลงมาบอกข่าวดีกับแม่ แม่เองก็คงดีใจอยู่บ้างที่ลูกสอบได้ แต่ความดีใจของเราสองคนรวมกันก็ต้องจางหายไป เมื่อแม่ลูกต้องพากันไปหาหมอที่คลินิกแถวๆ บ้าน เพราะฉันข้อเท้าแพลงจากการกระโดดและเดินไม่ได้ถนัดซะแล้ว...คนแรกที่ร่วมแสดงความยินดีกับฉันจึงกลายเป็นหมอที่ช่วยตรวจและดูแลข้อเท้าให้ หมอจบจากจุฬาฯ และดีใจนักที่เด็กรุ่นน้องในละแวกบ้าน(คือฉัน)จะได้เป็นนิสิตน้องใหม่ของคณะอักษรศาสตร์-จุฬาฯ

ฉันจำได้ว่า วันที่ไปดูป้ายประกาศผลสอบที่จุฬาฯ กับเพื่อนๆ จากโรงเรียนเซนต์ฟรังฯ นั้น ฉันเดินกะเผลกๆ ไปเหมือนคนพิการ เพื่อนที่ไปด้วยกันคนหนึ่งก็โดนรองเท้ากัด ต้องถอดรองเท้าหิ้วต่องแต่งติดตัวไป และเดินเท้าเปล่าไปตลอดทั้งวัน กลุ่มของเราคงดูพิกล(และพิการ)น่าลบหลู่หยามเหยียด จึงไม่เห็นมีรุ่นพี่มาตามหยอกล้อ ตามโอ๋ ตามเข้าช่วยเหลือแสดงความเอ็นดูเหมือนที่เขาทำกับน้องๆ คนอื่นๆ ตลอดทางที่เรากะเผลกโผเผเซซวนผ่านและพานพบกันมาเลย เราพบเจอแต่พี่ๆ ที่หลีกทางให้พวกเราแบบตีวงกว้างห่างไกล และบางคนแทบจะหันหลังให้พวกเราเสียด้วยซ้ำ มีพี่บางคนที่เข้ามาทักเพียงเพื่อจะเสนอขายสมุดจดโน้ตของบางคณะกับเรา แม้พวกเราจะอ่อนหัดกับโลกนอกโรงเรียน แต่เราก็ดูออกว่า ที่พี่ๆ มาทำดีกับเรานั้น ก็แค่จะหลอกขายของให้รุ่นน้องอย่างเราหรอกน่ะ...เพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มเซนต์ฟรังของเราหันมากระซิบว่า “ฉันว่าจุฬาคงไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่หรอกแก”

วันที่มอบตัว ปฐมนิเทศ และรับน้อง ล้วนยังเป็นช่วงวันเวลาที่ฉันยังเดินกะโผลกกะเผลกไปที่จุฬาฯ  อาการของฉันดูไม่เอื้อให้เป็นเกียรติเป็นศรี สมกับได้เป็นส่วนหนึ่งของความเกรียงไกรของคณะอักษรศาสตร์และสมกับศักดิ์และสิทธิ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเอาซะเลย ตอนนั้นใครๆ ที่พบฉันในจุฬาฯ คงไม่รู้หรอก ว่า นั่นไม่ใช่อาการที่ฉันเป็นมาแต่กำเนิด...

เพื่อนๆ ที่ฉันได้มีโอกาสรู้จักที่คณะอักษรศาสตร์-จุฬาฯ นั้นมากันจากหลายโรงเรียน นอกจากนี้ก็ยังมีรุ่นพี่อีกหลายคนที่ได้ร่วมเรียนด้วยกันในวิชาต่างๆ ในคณะที่ได้สนิทสนมคุ้นเคยกัน เพียงแค่ได้มีเขาเหล่านั้นเข้ามาเป็น ‘เพื่อน’ ฉันก็รู้สึกถึงกำไรของชีวิตที่อักษรศาสตร์-จุฬาฯ ได้มอบให้แล้ว กาลเวลาอาจทำให้เราลืมเลือนบางเหตุการณ์ไปบ้าง แต่เราไม่เคยลืมเลยว่า ครั้งหนึ่งเราเคยมีกันและกันที่คณะอักษรศาสตร์-จุฬาฯ และที่สำคัญ...วันนี้ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน...เราก็ยังมีเราอยู่เหมือนเดิม

อาจารย์ที่ปรึกษาของฉันเป็นหัวหน้าภาควิชาปรัชญา อาจารย์เป็นหนุ่มลูกครึ่งที่หล่อ(มาก)ในขณะนั้น ฉันคาดเดาว่าอาจารย์ที่ปรึกษาของฉันคงเป็นรุ่นพี่เหล่านิสิตในคณะไม่กี่ปีนัก เพียงถ้าอาจารย์ยิ้ม นิสิตสาวๆ อาจหัวใจละลายได้ แต่อาจารย์ยิ้มยาก(มาก)  และเมื่อสอน...อาจารย์ก็มักตั้งใจสอน(มาก) มุ่งมั่นกับการสอน ไม่มีการนอกเรื่อง ไม่มีการหยอกล้อเป็นกันเอง...แต่ก็นั่นแหละนะ...วิชาปรัชญา จะนอกเรื่องไปได้ซักกี่เรื่อง แล้วจะหยอกล้อเรื่องอะไรกับใครกัน

อาจารย์ที่ปรึกษาของฉันไม่ค่อยให้คำปรึกษาอะไรนัก แค่เซ็นชื่อให้เรียนวิชาตามที่ขอให้เซ็น อยากเรียนอะไรก็เรียนไป ไม่อยากเรียนก็ไม่ต้องเรียน การให้คำปรึกษาของอาจารย์เกือบจะเป็นลักษณะของการถามคำตอบคำ และถ้าอาจารย์ตอบเกินหนึ่งคำ ฉันเองก็มักจะเริ่มงงกับคำพูดเฉียบคมแฝงเร้นปรัชญานานาสาระของอาจารย์ อาจารย์มักจะจบทุกการสนทนาระหว่างฉันกับอาจารย์ลงด้วยความคิดเห็นส่วนตัวของอาจารย์ว่า  “ผมไม่เชื่อว่า ยานอะพอลโล่ไปลงดวงจันทร์ และมีคนไปเหยียบดวงจันทร์ได้จริงหรอกนะ” ทุกครั้งที่อาจารย์พูดมาถึงยานอะพอลโล่และการไปเหยียบดวงจันทร์ แปลว่าอาจารย์จะจบเรื่องที่เรากำลังพูดกันแล้ว ฉันเตรียมเก็บเอกสารที่หอบมาให้อาจารย์เซ็น ให้พ้นไปจากโต๊ะของอาจารย์ได้เลย

แล้ววันหนึ่ง อาจารย์ที่ปรึกษาก็บอกว่า “ลงเรียนปรัชญาบ้างสิ ถ้าไม่มีใครเรียนก็จะต้องปิดภาควิชาปรัชญาแล้วนะ” นั่นเป็นครั้งแรกที่ฉันคิดว่าเป็นการแนะนำอย่างจริงจังเรื่องการเรียนจากอาจารย์ที่ปรึกษาของฉัน จนทุกวันนี้ ฉันก็ยังไม่รู้ว่าที่อาจารย์พูดมานั้นมีความจริงเจืออยู่ด้วยมากน้อยแค่ไหน หรือมันเป็นแต่เพียงวิธีการพูดของอาจารย์ ที่จะให้นิสิตคนหนึ่งลองเรียนปรัชญาดู แต่วิชาต่างๆ ของภาควิชาปรัชญานั้นน่ากลัวว่าจะยากมาก แม้ว่าทุกรายวิชาล้วนน่าสนใจและท้าทายกับการได้ใช้ความคิดและการใช้สมองอย่างยิ่งก็ตาม...

ไหนๆ อาจารย์ที่ปรึกษาก็อุตส่าห์ให้คำแนะนำมาเป็นครั้งแรกแล้ว ฉันเลยลองลงเรียนวิชาในภาควิชาปรัชญาดู

จากการลองลงเรียนหนึ่งวิชา กลายเป็นหลายวิชา จนเป็นการเรียนที่ได้หน่วยกิตมากพอ จนปรัชญากลายเป็นวิชาโทของฉันไปเลย และแน่นอนว่าหลายๆ วิชาในภาควิชาปรัชญาที่ฉันเลือกเรียนนั้น เป็นวิชาที่มีฉันเป็นนิสิตเพียงคนเดียวที่ลงเรียน การเรียนวิชาปรัชญาต่างๆ จึงเป็นการเรียนตัวต่อตัวกับอาจารย์อยู่บ่อยๆ  ทั้งเรียนกับอาจารย์ที่เป็นอาจารย์ประจำคณะ และอาจารย์พิเศษหรือท่านผู้ทรงคุณวุฒิตรงตามสาขาปรัชญาต่างๆ ที่ได้รับเชิญมาจากสถาบันอื่นๆ นอกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บางครั้ง อาจารย์บางท่านเป็นอาจารย์ต่างชาติที่ไม่ถนัดการใช้ภาษาไทยอีกต่างหาก การสอนของท่านเลยค่อยๆ กลายจากการเริ่มสอนด้วยภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษอย่างสะดวกสบายใจ(ของอาจารย์)ไปเลยก็มี...

การได้มีโอกาสเรียนกันแบบตัวต่อตัวกับอาจารย์หลายท่านนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ อาจารย์ทั้งหลายสามารถถ่ายทอดความรู้ ข้อมูล ความคิดเห็นต่างๆ ในแนวของปรัชญาแต่ละแขนงที่ฉันกำลังเรียนอยู่นั้นได้แบบเต็มที่ ในหลายแง่มุมและรอบด้าน ราวกับจะฝึกฝนให้ฉันไปแข่งชิงเหรียญทองปรัชญาโอลิมปิกโลกประเภทหญิงเดี่ยว และการได้เรียนแบบตัวต่อตัวกับอาจารย์นั้น ทำให้ฉัน(จำเป็น)ต้องแสดงออกให้ได้ว่าได้ใช้สมอง ใช้ความคิดมากกว่าใช้ความจำ ช่วยให้ฉันมีความมั่นใจที่จะพูด กล้าที่จะแสดงความคิดเห็น รู้จักการอภิปรายถกปัญหาด้วยเหตุผลและตรรกะในประเด็นและในกรอบของแนวปรัชญาที่กำลังเรียนอยู่ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ท้าทาย น่าสนใจ และน่าสนุกสำหรับฉัน แต่ข้อเสีย(สำหรับฉันเท่านั้น)คือ ฉันโดดเรียนไม่ได้เลย(ถ้าไม่ชวนอาจารย์โดดไปด้วยกัน) อย่าว่าแต่โดดเรียนเลย เพียงแค่เข้าห้องเรียนช้าไปบ้าง อาจารย์ก็ไปเดินตาม(จิก)ตัวให้มาเรียนแล้ว

วันหนึ่ง อาจารย์ท่านหนึ่งที่กำลังสอนปรัชญามาร์กซิสม์ ได้บรรยายมาถึงเรื่องความแปลกแยกในแนวคิดของคาร์ล มาร์กซ์ พูดไปพูดมา อาจารย์ก็วกออกไปอย่างแปลกแยกที่สุดว่า “คนที่เลือกเรียนปรัชญาได้น่ะ ต้องมีเงื่อนไขในชีวิตนะคะ” วันนั้นฉันได้แต่ฟังและพยักหน้ารับรู้ราวกับเข้าใจดีตามที่อาจารย์พูด แต่จริงๆ แล้วในขณะนั้นและแม้ตลอดช่วงระยะเวลาของการเป็นนิสิต ฉันก็ยังไม่เข้าใจว่า ‘เงื่อนไข’ ที่อาจารย์พูดขึ้นมานั้นหมายถึงอะไร ตอนนั้นฉันคิดอยู่เพียงว่า เรียนปรัชญาแล้วจะใช้ความรู้ปรัชญาที่เรียนมานั้นในชีวิตจริงได้อย่างไร–หรือไม่  และปรัชญาต่างๆ จะเข้ากันได้กับ ‘เงื่อนไข’ ของชีวิตแบบไหน-และอย่างไร

ในวันที่เป็นนิสิตอักษรศาสตร์-จุฬาฯ ...ในวันที่อยากเรียนปรัชญาและมีโอกาสที่จะเรียนได้ ฉันก็เพียงลองเรียนดูโดยไม่เคยคาดหวังมากนัก ถึงประโยชน์ของวิชาปรัชญา สิ่งที่ฉันไม่เคยรู้ตัวในขณะที่กำลังเรียนอยู่นั้นคือ ความรู้ เนื้อหา หลักการ และข้อมูลของปรัชญาต่างๆ ที่ได้เรียนรู้มานั้น มันติดอยู่กับความนึกคิดของฉัน  มันหลอมแน่นอยู่กับชีวิตของฉัน มันไม่เคยได้หายไปไหนเลย เมื่อมีความจำเป็นเกิดขึ้นในชีวิต บางแง่คิดของบางปรัชญาที่เคยเรียนรู้ ที่เคยวิเคราะห์ วิจารณ์ สอบถาม อภิปรายและปรึกษากับอาจารย์ มักผุดขึ้นมาให้ได้ใช้ ให้ได้คิด ได้เตือนใจ เตือนสติอยู่เสมอ โดยเฉพาะพุทธปรัชญา ที่สามารถใช้ได้และได้ใช้ในทุกกาลเวลาและสถานที่

จริงอยู่ว่า พุทธปรัชญานั้นใครๆ ก็สามารถเรียนรู้ได้ตามวัดทั้งจากการฟังธรรม การปฏิบัติธรรม และ/หรือ เรียนรู้ได้จากการอ่านเพื่อศึกษาด้วยตนเอง แต่ฉันโชคดีที่ครูบาอาจารย์ได้กรุณาตั้งใจสอนแบบตัวต่อตัวให้ฉันได้รู้ถึงแก่นของอภิปรัชญาของพุทธศาสนาโดยฉันไม่ต้องเข้าไปเรียนเองในวัด

นอกจากจะได้ใช้แง่คิดและแนวปฏิบัติจากพุทธปรัชญาในการดำเนินชีวิตแล้ว เมื่อฉันต้องไปประจำอยู่ที่ต่างประเทศ เช่น เมื่อคราวที่ต้องไปอยู่ที่ประเทศเดนมาร์ก ฉันได้มีโอกาสใช้ความรู้เกี่ยวกับพุทธปรัชญาที่ได้เรียนมา ไปช่วยสอนบรรยายในวัดไทยที่ประเทศเดนมาร์ก ให้แก่นักศึกษาชาวเดนมาร์กจากมหาวิทยาลัยในกรุงโคเปนเฮเกน ที่มาเยือนวัดอยู่เป็นประจำ ตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยที่มีวิชาพุทธปรัชญานี้บรรจุอยู่ด้วยทุกภาคการศึกษา และเมื่อฉันได้ไปประจำอยู่ที่กรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย ฉันได้รับเชิญให้ไปกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับพุทธปรัชญา และได้บรรยายเกี่ยวกับวิถีพุทธแบบไทยอยู่เนืองๆ ในงานสัมมนาทางวิชาการและในงานมหาสมาคมต่างๆ ทั้งจากสโมสรโรตารี และในแวดวงของนักการทูตนานาชาติ

เมื่อครั้งเป็นนิสิตอักษรศาสตร์-จุฬาฯ ฉันไม่เคยรู้ว่าเพื่อนฝูงและผู้คนรอบตัวมองฉันว่าเป็น ‘เด็กเรียน’หรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ ฉันรู้ตัวว่าฉันคร่ำเคร่งมุ่งมั่นพอสมควรกับการเรียนการสอบ เพราะฉันถือว่ามันเป็นหน้าที่ที่ควรต้องทำให้ดีที่สุด และที่สำคัญ มันเป็นสิ่งที่มากับการวัดผลที่เป็นรูปธรรมชัดเจนเพียงอย่างเดียวที่จะบอกได้ว่า ฉันยังสู้กับโลกนอกเขตโรงเรียนได้–อย่างน้อยก็ในด้านการศึกษา ฉันไม่เคยคิดว่าต้องเรียนแข่งกับใครและต้องเก่งกว่าใคร ฉันเพียงแต่ไม่ต้องการให้แม่ของฉันต้องพบกับความผิดหวัง ว่าลูกของแม่สู้กับโลกนอกโรงเรียนเซนต์ฟรังฯ ไม่ไหวซะจริงๆ

โลกของฉัน เมื่อพ้นรั้วอักษรศาสตร์-จุฬาฯ ออกมาแล้ว เป็นโลกที่กว้างใหญ่ ลุ่มลึก แผ่คลุมอาณาบริเวณไปหลายประเทศ ในหลายทวีป ทำให้ฉันได้มีประสบการณ์ตรงกับการต้องเผชิญชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างไปจากที่คุ้นเคยในประเทศไทยทั้งในด้านวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ศาสนา และแนวปฏิบัติของการดำเนินชีวิต ฉันมีโอกาสรู้จักพบเจอผู้คนหลายชาติ หลากเผ่าพันธุ์ ในรูปแบบและสภาพจิตใจที่ต่างๆ กันไป  สนามประลองในโลกของฉันเข้มข้น ดุดัน แรงร้ายเกินกว่าที่เคยคาดคิดไว้เมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนของโรงเรียนคอนแวนต์ หรือเป็นนิสิตของคณะอักษรศาสตร์-จุฬาฯ แต่การต่อสู้ของฉันในสนามของโลกกว้างใบนี้ ไม่ใช่เพื่อให้ได้รับชัยชนะที่ทำให้ฉันโดดเด่นกว่าใคร หรือเพื่อพิสูจน์ให้โลกได้รู้เห็นอีกต่อไปว่า ฉันยังคงเป็นคนเก่งที่สุดคนหนึ่ง หากแต่ฉันยังสู้...

เพื่อจะให้ชีวิตดำรงอยู่ให้ได้อย่างดีที่สุด ให้สุข สงบ สันติ และกลมกลืนไปกับโลกที่สุดตาม ‘เงื่อนไข’ ที่ชีวิตได้หยิบยื่นให้ต้องเป็นไป....   

กลับขึ้นด้านบน

ถุงเท้าสีขาว

“ ถุงเท้าสีขาว “

เล่าโดย  ‘จิตติมา’ (อบ.๔๙) 

     วันก่อนไปซื้อถุงเท้าที่ออกแบบเฉพาะสำหรับคนเป็นโรคเบาหวาน ต้องรีบออกตัวว่า ผู้เขียนยังไม่ได้เป็นโรคนี้ แต่ผู้อ่านคงพอเดาอายุผู้เขียนได้ละนะ ถุงเท้าเฉพาะนี้ออกแบบดีมาก ไม่มีปุ่มปมตรงส่วนโค้งมนที่ติดกับนิ้วโป้งและนิ้วก้อย และไม่มียางรัดแน่นตรงขอบบน ทำให้สวมสบายมาก เสียแต่ว่า มีแค่สามสี คือ ขาว ดำ และน้ำเงิน พอเห็นถุงเท้าสีขาว ทำให้นึกย้อนไปถึงสมัยเป็นนิสิตจุฬาฯ...

ตอนนั้น ยังคิดต่อต้านว่า ทำไมนิสิตปี ๑ ต้องสวมถุงเท้าสีขาวด้วยนะ (เพิ่งทราบว่า ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ในเรื่องสีขาวแต่อย่างใด แต่เป็นสีนิยม) ช่างไม่แตกต่างจากตอนเรียนมัธยมปลายเลย จะโตเป็นผู้ใหญ่ก็ไม่ใช่ จะเป็นเด็กก็ไม่เชิง ยังสวมถุงเท้าเหมือนเด็กนักเรียนอยู่ คิดหาเรื่องไปสารพัด ถุงเท้าสีขาวซักยากออก ไม่นานก็เปลี่ยนเป็นสีตุ่นๆ ละ แถมเมืองไทยเป็นเมืองร้อน ถ้านั่งเรียนอยู่ในห้องทั้งวันแบบตอนเป็นเด็ก ก็ไม่มีปัญหาอะไรหรอก นี่ต้องเดินไปเรียนทั้งวัน แถมต้องเดินไปไกลๆ ต่างตึกต่างคณะอีก เหงื่อออกมาก เท้าก็เปียกชื้น ถุงเท้ายิ่งเพิ่มความร้อนชื้นเข้าไปอีก เท้ามีกลิ่นอยู่เนืองๆ

ความที่เป็นคนอยู่ในกฎเกณฑ์พอสมควร จึงสวมถุงเท้าสีขาวไปเรียนตลอด อย่างที่เล่าว่าเป็นคนเหงื่อออกมาก จึงสวมรองเท้าสานเพื่อระบายความอับชื้น ตามกฎระเบียบให้ใช้รองเท้าหุ้มส้นหรือรองเท้าที่มีสายรัดส้นสีดำ แต่ด้วยความเป็นวัยรุ่น ต้องขอแสดงความต่อต้านเล็กๆ น้อยๆ ใส่รองเท้ารัดส้นตามกฎแล้ว ขอเปลี่ยนจากสีตุ่นๆ ทั้งหลาย คือ ดำ ขาว น้ำตาล กรมท่าและเทา เป็นสีนวลๆ หน่อยละกัน มองดูรอบๆ ตัว เพื่อนๆ ก็สวมรองเท้ากีฬาบ้าง รองเท้าหุ้มส้นสีต่างๆ บ้าง อาจจะตามแฟชั่นบ้างหรือจะคิดต่อต้านแบบผู้เขียนก็ไม่ทราบได้ ด้วยไม่เคยถกกันในเรื่องนี้แต่อย่างใด

     พอขึ้นปี ๒ ไม่ต้องสวมถุงเท้าไปเรียนแล้ว ดีใจมาก จะได้ดูเป็นผู้ใหญ่กับเขาเสียที แต่เท้าก็ยังมีร่องรอยว่า เคยสวมถุงเท้ามานานอยู่ กว่าข้อเท้าจะเปลี่ยนสีจากสองโทนเป็นโทนเดียว ก็ใช้เวลาหลายเดือนอยู่ เพื่อนๆ ส่วนใหญ่เปลี่ยนไปสวมรองเท้าส้นสูงกันบ้างแล้ว ก็ดูสวยดี ดูเป็นสาวระเหิดระหงมาก สีรองเท้าก็ยังมีหลายสีอยู่ ตามแต่โอกาสจะอำนวย ผู้เขียนก็ซื้อรองเท้าหุ้มส้นสีดำเก็บไว้เหมือนกัน เผื่อมีโอกาสที่จะต้องแต่งกายให้เรียบร้อย แต่โดยทั่วไปก็ยังติดที่จะสวมรองเท้าสานเหมือนเดิม คราวนี้ก็เลยมีปัญหาใหม่กับเท้า เนื่องจากเดินเหินทั้งวัน ฝุ่นมาก คราบไคลก็เลยมากตามไปด้วย ทำให้ต้องเสียเวลามานั่งขัดเท้าทุกเย็นค่ำ นึกในใจว่า ประโยชน์ของการสวมถุงเท้าก็มีนะ เท้าไม่สกปรก และไม่ดำแดด แต่จะกลับไปใช้ถุงเท้าอีกก็คงไม่เหมาะ เดี๋ยวจะโดนเพื่อนๆ ล้อเอา

     จริงๆ แล้วไม่ได้มีปัญหาเฉพาะถุงเท้า เรื่องเครื่องแบบก็ดูจะมีปัญหาเช่นกัน มิฉะนั้นอาจารย์บางท่าน คงจะไม่พูดถึงกฎการแต่งกายตั้งแต่เริ่มเรียนชั่วโมงแรก อาจารย์ว่า...ถ้าจะมาเรียนกับอาจารย์ ห้ามสวมรองเท้าแตะและนุ่งกางเกงยีนส์ ผู้เขียนมองดูเพื่อนๆ รอบตัวในห้องเรียน ก็ไม่เห็นมีใครแต่งตัวอย่างที่อาจารย์พูดถึงสักคน อาจารย์คงจะปรามไว้ก่อนกระมัง จำได้ว่า น้อยครั้งมากที่จะแต่งตัวแบบไปเที่ยวไปที่มหาวิทยาลัย ถ้ามีกีฬาสี ก็สวมเสื้อเชียร์ กางเกง และรองเท้ากีฬา เท่าที่จำได้ ผู้เขียนเองไม่เคยไม่แต่งเครื่องแบบเข้าห้องเรียนเลย แต่เรื่องเครื่องแบบนิสิตนักศึกษาก็ดูจะเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันอยู่ทุกยุคทุกสมัย กระทั่งมีการทำวิจัยทีเดียวว่า จำเป็นหรือไม่ที่นิสิตนักศึกษาจะต้องแต่งเครื่องแบบ

สมัยเป็นนิสิตก็ไม่ได้คิดอะไรมากนักเรื่องการแต่งเครื่องแบบ เมื่อมหาวิทยาลัยมีกฎเกณฑ์ให้แต่งกายอย่างไรก็แต่งตามนั้น มีต่อต้านเล็กๆ น้อยๆ เรื่องสีรองเท้าเท่านั้น เพื่อนบางคนก็สะพายย่ามกัน ก็ดูเข้ากันกับเครื่องแบบนิสิตและบุคลิกของผู้สวมใส่ จะว่าไป การมีเครื่องแบบก็ประหยัดดี ซื้อชุดนิสิตหนเดียวก็ใช้ไปทั้งปี ไม่ต้องซื้อแล้วซื้ออีกตามการเปลี่ยนแปลงของแฟชั่นเหมือนเสื้อผ้าสวมใส่ไปเที่ยว หรือไม่ต้องเสียเวลาคิดว่า พรุ่งนี้จะแต่งชุดอะไรดี เหมือนตอนที่ไปทำงานแล้ว แค่เตรียมกลัดกระดุมและพระเกี้ยวไว้ที่เสื้อตัวที่จะใช้วันถัดไปเท่านั้น เรื่องนี้ต้องยกนิ้วให้บูรพาจารย์ที่ออกแบบเครื่องแบบนิสิต ซึ่งถือเป็นการประหยัดอย่างยิ่ง ที่ซื้อกระดุม ๕ เม็ด พระเกี้ยว และหัวเข็มขัด เพียงครั้งเดียวก็ใช้ได้ตลอดเวลาที่เป็นนิสิต จะอ้วนจะผอม จำเป็นต้องเปลี่ยนเสื้อกระโปรงกี่ครั้งก็ยังใช้กระดุม ๕ เม็ด พระเกี้ยว และหัวเข็มขัดที่มีอยู่แล้วได้ หรือมีเสื้อ ๕ ตัวสำหรับใส่ไปเรียน ๕ วัน ก็ไม่จำเป็นต้องมีกระดุม ๕ ชุด เป็นต้น ทุกวันนี้ ผู้เขียนก็ยังเก็บกระดุมและพระเกี้ยวไว้เป็นที่ระลึกว่าครั้งหนึ่งมีโอกาสได้ไปเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  เครื่องแต่งกายนิสิตจุฬาฯ นี้มีการตราไว้ในพระราชกฤษฎีกาทีเดียว เรียกว่า พระราชกฤษฎีกา กำหนดเครื่องแบบนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๔๙๙ ลองค้นหาสาเหตุของการกำหนดเรื่องเครื่องแบบก็พบว่า เพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับนิสิตที่จะแต่งกายได้อย่างเหมาะสมกับกาลเทศะ เพราะการเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มิใช่เพียงทำหน้าที่แสวงหาความรู้ทางวิชาการเท่านั้น แต่ต้องเรียนรู้ที่จะเป็นผู้นำสังคม รู้จักการวางตน และเคารพระเบียบวินัยของสังคม และของมหาวิทยาลัย เรียกว่าเป็นกลยุทธ์ในการฝึกนิสิตทางอ้อม

     เหตุผลที่ระบุไว้ในเรื่องการกำหนดเครื่องแบบที่ว่า เป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญมากจริงๆ หากถามผู้เขียนในปัจจุบัน เพราะผู้เขียนเพิ่งได้รับคำร้องเรียนจากสถาบันที่ต้องการจ้างพนักงานต่างชาติว่า ทำไมองค์กรของเรา ถึงส่งคนที่ยังไม่พร้อมจะทำงานไปให้เขาสัมภาษณ์ ทำให้เขาเสียเวลา ซักไปซักมา ก็ได้ความว่า ผู้สมัครงานที่จัดส่งไปนั้น คุณสมบัติทางด้านการศึกษาและประสบการณ์ทำงานตรงตามที่ต้องการ แต่ไม่รู้จักกาลเทศะ แต่งตัวไม่เหมาะสม ไม่ให้เกียรติสถานที่ และผู้สัมภาษณ์งานนุ่งกางเกงยีนส์ขาดๆ ไปสัมภาษณ์งาน  หากรับเข้าทำงานก็จะทำให้ภาพลักษณ์ของสถาบันเสียหายได้ เป็นเรื่องเหลือเชื่อว่า คนที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนระดับปริญญาโท-เอก ผ่านการทำงานระดับนานาชาติมาแล้ว จะไม่รู้ว่าเมื่อไรควรแต่งตัวอย่างไร มาคิดๆ ดู อาจเป็นเพราะเขาไม่ได้แต่งเครื่องแบบสมัยเรียนระดับมหาวิทยาลัย จึงไม่ได้รับการปลูกฝังเรื่องกาลเทศะ

     นับเป็นโชคดีที่ผู้เขียนได้รับการปลูกฝังในหลายๆ เรื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้มีที่ยืนในจุดที่ผู้เขียนต้องการในปัจจุบัน และผู้เขียนยังคงชอบสวมถุงเท้าสีขาวไปเล่นกีฬาเสมอ แม้จะไม่ได้มีกฎเกณฑ์บังคับใดๆ แล้วก็ตาม

กลับขึ้นด้านบน

ไม่สายเพคะ

“ไม่สายเพคะ”

เล่าโดย  ชุฎารัตน์ วุฒิสว่างวงศ์ (ปุ๋ย อบ.๔๙)

             เมื่ออาจารย์วิลาสวงศ์ พงศะบุตร ท่านแจ้งข่าวดีแก่นิสิตในห้อง ๑๑๖ คณะอักษรศาสตร์ เราเป็นนิสิตคนหนึ่งที่ตื่นเต้นเมื่อได้ทราบว่าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯ มาทรงสอนวิชาอารยธรรมแก่นิสิตรุ่นเรา 

            เราไม่เพียงตื่นเต้นเรื่องพระองค์ท่านจะเสด็จฯ มาทรงสอนเท่านั้น แต่ตื่นเต้นว่าจะมาทันหรือไม่ด้วย  เพราะเราแทบจะไม่เคยมาทัน class ๘ โมงเช้า เนื่องจากบ้านอยู่ปากน้ำ สมุทรปราการ สมัยนั้นรถติดมาก เดินทางเช้า ๒  ชั่วโมง เย็น ๒ ชั่วโมง เพราะพ่อไม่ยอมให้ลูกอยู่หอ เราบอกให้เพื่อนจองที่นั่งให้ด้วย และคิดว่า แจง เพื่อนในกลุ่ม เธอจะจองโต๊ะหลังๆ เพราะรู้ว่าเราจะมาไม่ทัน แต่ไม่ใช่เลย...แจงกับโอ๋ผู้ชอบนั่งโต๊ะหน้าเสมอ…กลับจองที่เดิม

เราวิ่งลิ้นห้อยจาก ’ถาปัดมาถึงห้อง ๑๑๖ ก็ ๘ โมงเช้าแล้ว โอย !  เขาปิดประตูแล้ว วิ่งเลาะไปข้างหลัง  ประตูหลังเปิดอยู่ เข้าไปโผล่หน้า เย้ !  ยังไม่เสด็จ ฯ แต่มีราชองครักษ์ประจำทุกประตูแล้ว เราเห็นแจงกับโอ๋ลุกชะเง้อกวักมือเรียกอยู่ ฮ้า ! โต๊ะหน้า ! 

            ขณะที่เราผู้เหงื่อหยดเหงื่อย้อยลงนั่ง และกำลังควานหาสมุดปากกามาเตรียมจด สมเด็จพระเทพรัตน์ก็เสด็จฯ มาถึง ทรงเดินขึ้นไปบน stage ทุกคนยืนขึ้นแล้วถอนสายบัวทำความเคารพ สภาพเราขณะนั้นคงจะดูเหนื่อย ตื่น และไม่พร้อม เพราะเพิ่งหยิบสมุดและปากกาขึ้นมาได้  สมเด็จพระเทพรัตน์ทรงมองนาฬิกาข้อมือ  และทรงมองเรา ตรัสขึ้นว่า “สายมั้ยเนี่ย” เราไม่ทันตั้งตัว อึ้งขณะคิดว่า ‘ทรงถามใคร ’ ‘หมายถึงเราสายหรือ’ ‘แต่พระองค์ท่านก็สายนะ’ มัวคิดเยอะ อึกอักอยู่ และแล้วนางฟ้าก็เปล่งเสียงขึ้น...

“ไม่สายเพคะ” เสียงไพเราะสดใสของติ๊ก-ดารณี รัตนนุกรม รองหัวหน้าชั้นปีผู้มีปฏิภาณฉับไว กราบบังคมทูลขึ้น เธอนั่งหน้าเช่นกัน ว้าว !  มี “เพคะ” ด้วย ถ้าเราตอบคง “ ค่ะ” ธรรมดาแน่เลย ก็เด็กบ้านนอกนี่เนาะ เราจึงประทับใจติ๊ก-ดารณีมาตั้งแต่นั้น และจำเสียง “ไม่สายเพคะ” มาจนบัดนี้

            ระหว่างเรียน เป็นเด็กดี จดหมดทุกอย่าง สมเด็จพระเทพรัตน์คงจะทรงสังเกตเห็น จึงทรงเล่าว่า เวลาพระองค์ท่านเรียนก็จดบ้าง แต่บางทีก็วาดรูปเล่นเสียมาก รูปลายเส้นที่พระราชทานแก่มูลนิธิทำของที่ระลึกต่างๆ ก็ได้จากการ์ตูนที่ทรงวาดระหว่างเรียนนั่นเอง ฮ้า ! อย่างนั้นหรือ ท่านคงจะไม่ทรงอยากเห็นเราทำท่าจดชวเลขนั่นเอง

            ระหว่างทรงนั่งอยู่ที่โต๊ะหน้าห้อง ใต้โต๊ะปรากฏมียุงตัวร้ายคอยกัดแข้งกัดขา ทรงปัดอยู่เรื่อยๆ นิสิตก็ไม่รู้จะช่วยยังไง ได้แต่มองตากัน ครั้นพอหมดชั่วโมงสอน เสด็จฯ ออกจากห้องแล้ว เหมือนนัด ! นิสิตที่นั่งหน้า  พากันดิ่งไปที่โต๊ะตัวนั้น ช่วยกันมองหาเจ้ายุงตัวยุ่ง แต่หาเจอไม่ แปลก !   

การสอนในครั้งต่อมา เมื่อทรงนั่งก็มียุงมาอีก แย่จริงๆ พระโลหิตคงจะหวาน ส่วนสมุดเล็คเชอร์ครั้งนั้น เราเก็บไว้ แต่คงต้องหากันนานหน่อยละ ความรู้ที่ได้รับเป็นแบบต้องปะติดปะต่อ ทรงเล่านอกเรื่องบ่อยครั้ง  และมีเรื่องเล่าชวนให้ขำขันกันเสมอด้วยพระพักตร์นิ่งแบบ ‘ตลกหน้าตาย’ เราก็มัวมองพระพักตร์เพลินอยู่หลังจากที่รู้สึกว่าไม่ต้องจดทุกคำแล้ว แต่จะวาดรูปเล่นบ้างก็เกรงพระทัย...จนกระทั่งปัจจุบัน พระพักตร์ที่ร่าเริงแจ่มใส พระอิริยาบถที่เป็นกันเองก็ยังจารึกอยู่ในหัวใจเราตลอดมา 

            ต่อมา เมื่อจบปริญญาตรี  เราก็โชคดีได้เข้าทำงานที่ โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นเวลา ๔ ปี ๒ เดือน โครงการนี้มีสมเด็จพระเทพรัตน์เป็นองค์ที่ปรึกษา เราได้ไปประชุมที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ๒ ครั้งในหน้าที่ผู้ช่วยเลขานุการ จริงๆ ตำแหน่งของเราคือเจ้าหน้าที่งานต้นฉบับ แต่ขณะนั้นเราเป็นน้องเล็กสุดในที่ทำงาน ทำทุกอย่างที่พี่ๆ ใช้ เช่น ไปเอาหนังสือพิมพ์ วิ่งซื้อกาว ยกรีเฟล็กซ์ให้ฝ่ายศิลป์ ซื้อเล็กแห้งให้คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เลขานุการโครงการฯ  ไปเช็กสต็อกกับพี่ฝ่ายขาย พอมีประชุมในวัง พี่ซึ่งเป็นเลขานุการของคุณหญิงกัลยาก็เลยหนีบเราไปด้วย ด้วยความเอ็นดูยิ่ง มีคนอิจฉากันใหญ่ สมเด็จพระเทพรัตน์พระราชทานเลี้ยงน้ำชาคณะประชุมทั้ง ๒ ครั้ง 

            สมัยนั้น โครงการสารานุกรม ฯ มีพลโทพระยาศัลวิธานนิเทศ สมุหราชมณเฑียร เป็นประธาน เมื่อเริ่มประชุม สมเด็จพระเทพรัตน์ตรัสว่า  “เรากินกันก่อนเลยนะ”  ในถาดของแต่ละคนมีถ้วยน้ำชา มีขนม ๔ อย่าง คือเค้กเนย กะหรี่ปั๊ฟไส้ไก่ กับอะไรอีก ๒ อย่างจำไม่ได้ จำได้แต่ว่าเรากินหมดทุกอย่าง ทั้งน้ำชาด้วย รับประทานเกลี้ยงเกลาจริงๆ คุณหญิงมณฑินี มงคลนาวิน หันมายิ้มให้ เขินอะ...ก็มันอร่อย ! 

            พอเสวยและรับประทานกันเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ก็มาเก็บเครื่องใช้ทั้งหลายที่เกี่ยวกับการรับประทานออกไปจนหมด ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างที่ดีที่เรานำมาใช้ในการประชุม คือรับประทานให้เสร็จเรียบร้อยแล้วจึงประชุม  ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดอุบัติเหตุ เช่น แก้วน้ำหก โดยเฉพาะแก้วก้าน กาแฟหก หรือมัวปรุงชากาแฟจนขาดสมาธิในการประชุม เป็นต้น 

            เพื่อนๆ คะ กิจกรรมทุกอย่างในชีวิตที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ท่าน เราชื่นชมและรำฦกถึงตลอดมา ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนานเทอญ

 

ล้อมกรอบ ใช้กับเรื่อง “ไม่สายเพคะ”

ยุง !

นภาพร เตชางาม แสงแก้ว (แดง อบ.๔๙)

 

พ.ศ. ๒๕๒๕ เมื่อสมเด็จพระเทพรัตน์เสด็จฯ มาทรงสอนพวกเราที่ห้อง ๑๑๖ จำได้ว่ามีผู้ติดตามท่านมาสามสี่คน วันนั้นท่านขึ้นสอนบนเวที

ข้าพเจ้ารีบไปจองที่แถวหน้าสุดด้วยความเห่อ พวกเราเอาหนังสือไปแย่งจองที่กันใหญ่ ทุกคนตั้งใจเรียนมาก ชั่วโมงแรกไม่มีใครหลับเลย แล้วก็เอาแต่จ้องๆๆๆ พระพักตร์ของท่าน แต่หลังจากนั้นไม่นาน หลายคนก็กลับไปสิงที่หลังห้องเหมือนเดิม แล้วก็แอบนอนหลับ กรนครอกๆ อย่างไม่เกรงพระทัยท่านเสียเลย

ครั้งหนึ่งระหว่างที่สอนอยู่นั้น ท่านก็หยุดแล้วพูดขึ้นมาว่า " คันขาจัง ขอเกาขาก่อนนะ " แล้วท่านก็ก้มลงไปเกาขาด้านหน้า แควกๆๆๆ ข้าพเจ้านึกแล้วก็ขำไม่หายเลย หัวเราะกันใหญ่ ท่านก็หัวเราะ จำได้ติดตา

กลับขึ้นด้านบน

รำฎกถึงอักษร

“รำฦกถึงอักษร”

เล่าโดย   ‘ใบแก้ว’ (อบ.๔๙) 

     เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔ เป็นปีที่ชีวิตในเทวาลัยแห่งนี้เริ่มต้นขึ้น วันแรกที่ไปถึงคณะอักษรศาสตร์ ฉันมองเห็นตึกเก่าๆ ตรงหน้า ๒ ตึก รูปทรงคล้ายๆ วัดหรือเทวสถานแถวเสาชิงช้า รอบตัวตึกมีต้นชงโคกำลังออกดอกสีหวานกับลั่นทมดอกสีขาวนวล ส่งกลิ่นหอมเย็นจางๆ ดูขลัง ขรึม สงบและอบอุ่นอยู่ในที 

     เด็กฝั่งธนฯ อย่างฉันต้องนั่งรถเมล์มาเรียน อู่รถอยู่ด้านหลังคณะรัฐศาสตร์ ตอนขากลับ ระหว่างรอรถออกจากท่า ต้องสั่งผลไม้ดองจากรถเข็นอาแปะมากินฆ่าเวลา อาแปะชื่อเทียมมี่ ไม่ชอบใส่รองเท้า แต่แกกลับโด่งดังจนหนังสือพิมพ์ฝรั่งตีพิมพ์เรื่องของแกลงในสกู๊ปข่าวพิเศษ นอกจากคนขายฝรั่งดองแล้ว ฉันยังจำแขกขายถั่วที่คณะได้ บ่ายๆ อาบังจะเทินโต๊ะถั่วเล็กๆ เดินเข้ามาในตึก ๑ ตักถั่ววางบนหนังสือ หรือใส่กระทงเล็กๆ ให้พวกเราชิมฟรี ไม่ค่อยมีใครซื้อ แต่อาบังก็ยังมาเกือบทุกวัน  เหมือนพี่อ้อยหวานซึ่งมาที่นี่บ่อยๆ พี่อ้อยหวานเป็นผู้ชายแต่แต่งตัวคล้ายนิสิตหญิง หอบหนังสือตั้งใหญ่เดินไปมาในตึก มีแต่หนังสือปรัชญา แกทักคนนั้นคนนี้อย่างมีอัธยาศัย แว่วว่า พี่เคยเรียนที่จุฬาฯ แต่เสียศูนย์ไปเสียก่อน พี่จึงเป็นแบบนี้

      ในเทวาลัยมีเรื่องเล่ามากมาย...เทวาลัยคืออาคารคล้ายโบสถ์ในวัดไทยพุทธ หากเดินเข้ามาทางประตูด้านถนนอังรีดูนังต์ เทวาลัยตึก ๑ อยู่ทางด้านซ้ายมือ และตึก ๒ อยู่ด้านขวา สองตึกหน้าตาคล้ายกัน มีระเบียงทอดยาวเชื่อมตัวตึกทั้งสองไว้ บนชั้น ๓ ของตึก ๒ มีห้องสมุดและห้องเรียนไม่กี่ห้อง บรรยากาศวังเวง แถมยังมีห้องใต้ปีกหลังคาเล็กๆ ที่ดูเหมือนห้องขังหรือห้องลับอะไรสักอย่าง ฉันเคยย่องไปดู แต่รีบกลับลงมาก่อน เพราะรู้สึกเย็นๆ ที่สันหลัง 

     ส่วนตึก ๓ กับตึก ๔ ที่ปัจจุบันถูกรื้อทิ้งไปแล้ว เคยมีโรงละครเล็กๆ ให้พวกเราได้เข้าชมผลงานของนิสิตที่เรียนเอกการละคร ฉันได้ดูละครเวทีครั้งแรกในชีวิตที่นี่ คือละครเรื่อง พรายน้ำ มีอาจารย์ ..ว.อุษณิษา สุขสวัสดิ์ เล่นเป็นนางเอกคู่กับพี่ตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง ฉันเคยคิดในตอนนั้นว่า เพื่อนๆ พี่ๆ ที่เรียนเอกการละครดูแปลกๆ เหมือนมนุษย์ต่างดาว เคยเห็นพี่ยุ่น-ยิ่งยศ ปัญญา เดินไปพูดไป บางครั้งก็กระโดดขึ้นๆ ลงๆ ที่นี่มีอะไรสนุกๆ ให้ดูทุกวัน 

     ที่โรงอาหารเก่าคร่ำของคณะ  มีลูกชิ้นอักษรอันลือลั่น เคยเห็นเด็กนักเรียนจากโรงเรียนสาธิตฯ ปทุมวันและเตรียมอุดม มุดรั้วสังกะสีโย้เย้เข้ามาซื้อ หนึ่งในนั้นคือน้องหมิว-ลลิตา ปัญโญภาส ที่นี่มีคนดังหลายคน แต่คนดังที่ฉันจำได้แม่นที่สุดคือสาวแพรวคนแรก เป็นสาวอักษรรุ่นเดียวกับฉันชื่อ เก๋-เพ็ญประภา บุนนาค เธอสวยน่ารักสมตำแหน่ง และได้แต่งงานกับหนุ่มวิศวะตามตำนานเป๊ะ

     นอกจากนี้ ยังมีคนมีชื่อเสียงอีกหลายคน ทั้งวงการบันเทิงและวงการอื่นๆ เท่าที่พอนึกออกก็มี พี่จิ๊-อัจฉราพรรณ พี่ตุ้ม-ผุสชา พี่ตุ๊ก-ญาณี พี่ปุ๊ย-ผอูน น้องณัฐ-ช่างภาพ น้องนุสบา-นักแสดง น้องกระเต็น-วราภรณ์-ผู้ประกาศข่าว น้องป๋อมแป๋ม-พิธีกร น้องโบวี-เซ็กซี่สตาร์ และ น้องญาญ่า-อุรัสยา (ที่ฉันน่าจะเรียก “เหลน” มากกว่าน้อง) ที่สำคัญ ยังมีนักเขียนและกวีอีกหลายท่าน อาทิ คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ อาจารย์ประยอม ซองทอง และ ดร.ญาดา อารัมภีร์ ฯลฯ

       ส่วนเพื่อนร่วมรุ่นก็มีหลากหลาย หลายคนมาจากโรงเรียนฝรั่งมีชื่อของกรุงเทพฯ มีรถยนต์ส่วนตัวคันยาวมารับส่งหน้าตึก บางคนเป็นราชสกุล บางคนเป็นช้างเผือกมาจากต่างจังหวัด และอีกจำนวนหนึ่งเป็นลูกชาวบ้านที่ต้องเดินไปกินข้าวมื้อกลางวันที่ฝั่งนอกเมืองหรือฝั่งนิเทศ ด้วยทุนอาหารกลางวันของมหาวิทยาลัย  นี่คือชีวิตหลากสีสันที่ฉันได้พบเจอตลอดเวลา ๔ ปี เหมือนจะลืมเลือนเรื่องพวกนี้ไปนานแล้ว  แต่พอหวนระลึกถึง ฉันกลับจำมันได้อย่างไม่น่าเชื่อ แม้จะจำรหัสประจำตัวนิสิตของตัวเองไม่ได้แล้ว ก็ฉันรหัส ๒๔…… มันผ่านมากี่ปีแล้วล่ะ ปีนี้ ๒๕๕๙ อาจารย์หลายท่านเกษียณจากราชการ และบางท่านได้จากพวกเราไปแล้ว  อาจารย์ที่ปรึกษาคนแรกของฉันมาจากราชสกุล ครั้งแรกที่ได้เข้าพบท่าน ฉันแทบจะคลานเข่าเข้าไปหา ฉันเชื่อว่าอาจารย์ทุกท่านเมตตาเอ็นดูและอ่อนโยนกับลูกศิษย์เสมอ ไม่ว่าท่านจะมาจากที่ใด ทุกท่านทุ่มเทกับการสอน และรักษาชื่อเสียงของคณะที่เก่าแก่ที่สุดของจุฬาฯ ไว้อย่างดี คำว่า “เกียรติภูมิ” มีความหมายอย่างนี้เอง

       วันเวลาในเทวาลัยผ่านไปพร้อมเสียงหัวเราะ รอยยิ้ม และบางครั้งแทรกด้วยหยดน้ำตาประปราย ทุกเรื่องราวในชีวิตผ่านมา เพื่อจะผ่านไปอย่างมีความหมาย ที่นี่ไม่ใช่เพียงสถานศึกษาแต่เป็น ‘เทวาลัย’ ที่ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวในใจพวกเราทุกคน  ทุกครั้งที่กลับมาและได้กราบพระบรมรูปเขียนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ที่ตึก ๑ ฉันรู้สึกเหมือนได้กลับบ้าน หางหงส์ที่ชายคายังเป็นตัวเดิม  พญานาคที่เชิงบันไดยังยิ้มให้อย่างคุ้นเคย อาคารสถานที่อาจเปลี่ยนไปบ้าง นิสิตมากมายรุ่นแล้วรุ่นเล่าจบการศึกษา และออกไปเป็นกำลังสำคัญในสังคม พวกเขาเหล่านั้นสร้างชื่อเสียงและยังคงรักษาโลโก้ ‘เด็กอักษร’ ไว้อย่างเหนียวแน่น บางคนจะอยู่ต่างประเทศ บางคนอยู่ในจังหวัดเล็กๆ หลายคนอยู่ที่ตะเข็บชายแดน และอีกจำนวนไม่น้อยอยู่กลางเมืองหลวง บางคนเป็นแม่บ้าน เป็นเจ้าของกิจการ เป็นช่างภาพ นักข่าว เลขานุการ แอร์โฮสเตส ครูอาจารย์ ข้าราชการ และหลายคนเลือกเป็นดารา นักร้อง “เด็กอักษรเป็นอะไรก็ได้” รุ่นพี่คนหนึ่งเคยพูดไว้

       เพราะที่นี่คือบ้านในหัวใจ คือรากกำเนิด คือที่บ่มเพาะปลูกฝังสรรพศาสตร์ คือมิตรภาพที่ยืนยงและความผูกพัน ที่การจากลาไม่อาจลบเลือนความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อกันได้  ขอบคุณที่ฉันได้มีโอกาสมาที่นี่ ได้สุข เศร้า เหงา รัก และเรียนรู้ที่จะเติบโตบนหนทางของตนเอง 

       ๑๐ ปี ๑๐๐ ปี ที่นี่จะยังคงอยู่...เป็นบ้านของใครอีกหลายคน และเป็นภาพจำหนึ่งเดียวในใจของคนที่ผ่านมา กลีบสุดท้ายของดอกชงโคกำลังร่วงหล่นลงช้าๆ พญานาคที่เชิงบันไดแอบกระซิบกับฉันเบาๆ ว่า ใช้ชีวิตให้เต็มที่นะ…ใช้ชีวิตให้มีความสุขและมีความหมาย ที่นี่ต้องการให้เธอเป็นอย่างนั้นเสมอ...Live life to the fullest 

กลับขึ้นด้านบน

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University