เรื่องเล่าของนิสิตเก่า รุ่น 50

ความ ( ไม่ ) ว่างเปล่า อรรจน์ พานทอง อบ. 50

“ความ (ไม่) ว่างเปล่า”

เล่าโดย อรรจน์ พานทอง   อบ. 50

      ผมออกจะเป็นปลื้มเมื่อเพื่อนคนหนึ่งมาขอให้เขียนเรื่องความประทับใจสมัยเรียนอักษร ปลื้มจนลืมคิดถึงที่มาที่ไปและความเป็นได้ทั้งปวง คิดอยู่อย่างเดียวว่าทุกวันนี้ก็ทำมาหากินด้วยการเขียนรายงานภาษาอื่นส่งเป็นร้อย ๆ หน้าอยู่เป็นประจำ จะอะไรหนักหนากับอีแค่ขีดขุยขยุกขยิกขยับเขียนภาษาพ่อภาษาแม่แค่หนึ่งหน้าแค่นี้  ก่อนจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรก็ตกปากรับคำเธอไปเรียบร้อยแล้ว กว่าจะรู้สึกตัวว่าซี้ซั้วมั่วซั่วรับปากกันไปก็เมื่อ deadline มาถึงแล้วนั่นเอง....ผมไม่มีอะไรจะเขียน- เพราะไม่เคยมีความประทับใจอะไรสมัยเรียนเลย

 

ตอน entrance นั้นผมสมัครไว้แต่คณะพละศึกษาล้วน ๆ แค่แปะคุรุกับรัฐศาสตร์จุฬาไว้สองอันดับท้าย ไม่ใช่ว่าผมจะเป็นนักกีฬาตัวยงอะไรกับใครเขา แต่เข้าใจว่าพละนั้นเรียนง่าย เรียนไปเล่นไป ยังไงก็จบ ผมอาจจะไม่รู้ว่าอยากจะทำมาหากินอะไรต่อไปในอนาคต แต่ที่รู้อยู่แก่ใจแน่ ๆ ขณะนั้นคือ ตัวเองไม่มีวินัย, ไม่ชอบทำงานหนักและไม่รักเรียนหนังสือ แม่ผมมาพบโพยนี้เข้าก่อนส่งสมัครสอบเลยโดนฉีกทิ้งและแม่เขียนเองให้ใหม่เริ่มด้วยอักษรจุฬาอันดับหนึ่งและอะไรต่อมิอะไรซึ่งไม่ใช่ที่ผมอยากจะเรียนสักคณะมาเป็นลำดับต่อ ๆ ไป

      ชีวิตผมตั้งแต่เริ่มเข้าจุฬาก็เหมือนหนังเรื่อง Groundhog Day คือไม่อยากมา, ไม่ตั้งใจจะมาที่มาก็เพราะแม่เขียนโพยสั่งและหาเงินส่งให้มาเรียนเป็นเกียรติตระกูลก็ว่ากันไปตามบทนั้น วัน ๆ จึงมาเรียนมั่ง ไม่มามั่ง ขี้เกียจเรียนก็ไป drop เอา เมา ๆ มั่ว ๆ ทำอย่างนี้อยู่ทุกวันตลอดสี่ปีจนจบนับตั้งแต่วันแรกที่จบมาจนกระทั่งวันนี้ผมก็ไม่เคยกลับเข้าไปเหยียบรั้วจุฬาอีก เพราะไม่เคยคิดว่ามีความผูกพัน แม้แต่ปริญญาผมก็ไม่ได้ไปรับ

     ผมย้ายมาอยู่ที่ประเทศอังกฤษเกือบจะทันทีหลังจากที่เรียนจบ และใช้วิถีชีวิตซ้ำซากลุ่ม ๆ ดอน ๆเหมือนวงจรฝันร้ายเรื่อง Groundhog Day เรื่อยมา เพิ่งเริ่มจะออกจากวงจรนี้ได้เมื่อสักสิบปีที่แล้วหลังจากที่ได้ศึกษาอดีตและพัฒนาตัวเองจากโอกาสที่มีให้ซ้ำแล้วซ้ำอีกเหมือนดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัวอยู่ทุกวี่วัน ผมเริ่มรู้จักตัวเองดีขึ้น พร้อม ๆ กับที่เข้าใจและซาบซึ้งในคุณค่าความเป็นมนุษย์ของบุคคลรอบข้าง  เมื่อมองย้อนกลับไปจึงเข้าถึงความประทับใจเมื่อครั้งเรียนอักษร... ความรู้สึกเช่นนี้หาได้เกิดขึ้นมาขณะเรียนไม่

    ปรากฏการณ์ที่ผมประทับใจสูงสุดคือระดับของ social-emotional competencies ในตัวของแต่ละบุคคลที่ผมมีโอกาสสัมผัสด้วยตั้งแต่คณาจารย์, นักการภารโรง, พ่อค้าแม่ขายและเพื่อน ๆ ทุกคนที่ยังมีเมตตาคบหาสมาคมกันอยู่จนถึงทุกวันนี้ สำหรับครูบาอาจารย์ทั้งไทยและฝรั่งนั้น แม้ผมจะเป็นคนไม่เอาถ่านแค่ไหน แต่ไม่เคยมีสักครั้งตลอดสี่ปีที่ผมจะถูกดุ, ถูกทำโทษหรือเลือกปฏิบัติต่อเหมือนเป็นนิสิตระดับหางแถวอาจารย์มีเมตตาอย่างไรกับเพื่อน ๆ ระดับเกียรตินิยม ก็ให้ความปรานีกับผมเท่า ๆ กับเพื่อนระดับนั้นทั้งในชั้นเรียน, บทสนทนาตอนสวนกันบนระเบียงหรือยามปรึกษากันตัวต่อตัวที่โต๊ะอาจารย์ ครูช่าง- อาจารย์สุไลมาน และอาจารย์ชัตสุนี แม้ว่าจะถูกผมเบี้ยวทำงานเสร็จอย่างไม่สมบูรณ์พอจะเปิดนิทรรศการวัฒนธรรมอิตาเลียนก็เพียงแต่สอบถามและตักติงอย่างสร้างสรรค์ไม่ได้คาดโทษโกรธเคืองหรือต่อว่าให้เสียผู้เสียคน อาจารย์พรสมและ Señor Eduarado ภาควิชาภาษาสเปนนั้นให้ความกรุณากับผมอย่างสม่ำเสมอตลอดมาทั้งสี่ปี ความดีเช่นนี้จึงเป็นสาเหตุของความเกรงใจ ไม่กล้าโดด, ไม่กล้า drop แม้ว่าเราจะหาห้องเรียนกันได้ยากเย็นในเวลาโหดแค่ไหน เช่นตั้งแต่ 8 โมงเช้าและหลัง 5 โมงเย็น ผมก็จะตั้งใจไปไม่ให้ขาด

      ผมเป็นคนเมืองชล แม้จะมีที่พักอยู่ในกทม. แต่เพราะความรักบ้านรักถิ่นผมจึงไปกลับกทม-ชลบุรีทุกวัน การที่มาเรียนแต่เช้าและเลิกเรียนเย็นนั้นจึงถือเป็น big deal อย่างยิ่ง ดังนั้นถ้าจะมาเข้าเรียน 8 โมงเช้า  ผมต้องตื่นแต่ตีสี่มาโบกรถเพื่อมาถึงจุฬาประมาณ 7 โมง ถ้าสายกว่านี้รถจะติดกันมากมายอย่างที่รู้ ๆกันอยู่    ความที่มักจะเป็นนิสิตคนแรกที่มาถึงคณะก่อนใคร ผมจึงรู้จักกับนักการหลายๆ คนอย่างสนิทสนมกันดีมาก  บุคลากรเหล่านี้ แม้ไม่ได้มีหน้าที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับนิสิตแต่อย่างไร แต่ก็ให้ความเป็นกันเองกับผม    เหมือนลูกเหมือนหลาน ผมก็เรียกน้าแผน, ลุงชุบได้อย่างสนิทใจ วันไหนเที่ยวเพลินหลังเลิกเรียนดึกเกินกลับบ้าน น้า, ลุงก็เอ็นดูให้นอนตึกสี่ได้ถ้าไม่กลัวผี เพราะเห็นกันอยู่ตลอดสี่ปีว่าอีกไม่กี่ชั่วโมง ผมก็จะแหกขึ้ตามาเรียนตอนเช้าอีกเหมือนเดิม มองตารู้ใจไม่ต้องพูดจาอธิบายกันให้ยืดยาว ความสัมพันธ์ระดับพิเศษนี้ก็แผ่ขยายมาถึงเหล่าพ่อค้าแม่ขายที่โรงอาหารทุกเจ้าด้วย เพราะพวกเขาจะเห็นผมเป็นคนแรกตั้งแต่ขนของมาเปิดร้านตอนเช้า ตอนเย็นเก็บร้านกลับบ้าน ก็ยังเห็นผมโต๋เต๋อยู่ทุกวัน ผมจะเป็นลูกค้าคนแรกและคนสุดท้ายอยู่ประจำ ดังนั้นจึงออกจะเส้นใหญ่ได้กินอาหารจานโต ๆ ซื้อหนี่งแถมหนึ่งเกินหน้าเกินตาชาวบ้านเขาเสมอ

      อีกเรื่องหนึ่งที่ผมจดจำจากอักษรมาเป็นส่วนสำคัญของชีวิตอยู่ทุกวันนี้ก็คือ courage, passion และ conviction ของคณาจารย์และเพื่อน ๆ หลาย ๆ คน ในขณะที่คนทั่ว ๆ ไปอาจจะมองว่าอักษรเป็นคณะ คุณหนู, เป็นโรงเรียนเตรียมของคุณนายในอนาคตหรือเป็นวิชา Mickey Mouse เมื่อเทียบกับศาตร์อื่นอย่างหมอ, วิศวะ, ทันตะ, สถาปัตย์, บัญชีของสายวิทย์/คำนวณ หรือสายศิลป์ด้วยกันอย่างนิติ, รัฐศาสตร์, นิเทศน์ แม้ว่าขณะที่ผมยังเรียนอยู่นั้นยังไม่ได้เกิดนิมิตหมายชัดเจนของการดำรงชีวิตตามครรลองของความฝันอันสูงสุดเช่นนี้ แต่บุคคลที่เริ่มจุดประกายความคิดให้ผมและมั่นใจว่ารวมถึงศิษย์เก่าอีกจำนวนมากคือ ฝรั่งหัวใจไทย- อาจารย์ Bruce Gaston กิตติศัพท์ของอาจารย์นั้นยิ่งใหญ่เป็นที่รู้จักกันดีล้นออกไปนอกรั้วอักษรอย่างไม่ต้องการคำอธิบายอะไรเพิ่ม ลูกศิษย์ลูกหาของอาจารย์ที่ผมเองก็นับถือน้ำใจและความสามารถขนาดยกไว้เป็น hero/heroine ได้อย่างสนิทใจก็มีอย่างเช่น จิ๋ว- สุรพล, อ้อม- ดวงกมล และกาดูก- นพีสี   ผมถือว่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้ที่โชคดีที่สุดในโลกซึ่งนอกจากจะมีโอกาสได้ทำงานที่ตัวเองรักอยู่ทุกวันทุกลมหายใจแล้ว ยังเป็นคนที่จุดประกายความหวังให้คนรุ่นหลังได้สานศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ให้ทรัพยากรมนุษย์อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ชนิดที่ได้ผลงานเห็นกันจริงๆ จะ ๆ ดีกว่าแผนพัฒนาชาติฉบับไหน ๆ ทั้งสิ้น

     ผมเข้าไปเรียนอักษรด้วยความว่างเปล่า บวกลบคูณหารแล้วคุณค่าในการใช้เวลาสี่ปีที่นั่นของผมเท่ากับศูนย์  เมื่อเทียบกับมาตรฐานศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่าเกือบทุกคน แต่สามสิบปีผ่านมา ผมเริ่มซาบซึ้งกับ nothingness นั้น ผมเริ่มเข้าใจความไร้สาระประสาเด็กอักษรที่สามารถนั่งร้องไห้เวลาเห็นใบไม้ร่วงหรือยิ้มร่าเวลาดอกไม้บานได้ แม้ว่าผมจะไม่ได้ใช้วิชาที่เรียนมาเพื่อหากิน แต่สิ่งที่ตกผลึกข้างในคือความพึงพอใจกับชีวิต, ศิลปวัฒนธรรม, ความชื่นชมในศักยภาพของมนุษย์และความงามของธรรมชาติ ซึ่งเป็นบทเรียนอันยิ่งใหญ่เกินกว่ามหาวิทยาลัยไหน ๆ ที่เข้าไปเรียนหลังจากจบอักษรจุฬามาจะสอนให้ได้

     I wander'd lonely as a cloud

That floats on high o'er vales and hills,

When all at once I saw a crowd,

A host of golden daffodils,

…..   . . .  ……

(Daffodils by William Wordsworth)

อรรจน์ พานทอง

อบ. 50

 

กลับขึ้นด้านบน

เรื่องเล่า ชาวละคร นพีสี (นิมมานเหมินท์) เรเยส

เรื่องเล่า ชาวละคร “

เล่าโดย  นพีสี (นิมมานเหมินท์) เรเยส  

      ยุคนั้น ละครเวทียังไม่บูมมากเท่าสมัยนี้ ยังไม่มีโรงละครใหญ่โตหรูหรา  ยัง ไม่ค่อยมีการแสดง “เดอะมิวสิคัล” ที่ตระการตาแบบสมัยนี้   เด็กๆ สมัยนั้นจึงยังมองไม่ค่อยออกว่าเมื่อเรียนจบศิลปะการละครไปแล้วจะไปทำอะไรในวงการกันได้บ้าง รุ่นเรา (อักษรศาสตร์ รุ่น 50) จึงมีคนหาญกล้าเลือกเรียนเอกการละครเพียงแค่ 4 คน   และนอกจาก 4 คนนี้  ก็ยังมีเพื่อนๆ อีกไม่มาก ที่มาลงเรียนศิลปะการละครเป็นวิชาโทหรือวิชาเลือกเสรี  หรือตามมาสมทบเวลามีงานโปรดักชั่นต่างๆ เท่าที่นึกออกก็มีแอน/อภิญญา  (ศิวะดิตถ์) แอน/แววมณี (สาลักษณ์) อวบ/อุษณา ยุวจิตติ ฯลฯ

      จำได้ว่าศิลปการละคร เป็นวิชาเอกที่แสนจะอบอุ่น ห้องเรียนแต่ละวิชามักมีเรียนกันไม่กี่คน ครูผู้สอนกับนิสิตจึงสนิทสนมกันมากถึงมากที่สุด พวกเราชอบไปแฝงตัวอยู่ที่ตึก 3 ซึ่งเป็นอาคารเล็กๆ 2 ชั้น และมีห้องของภาควิชาภาษาอังกฤษ ภาควิชาภาษาศาสตร์และภาควิชาศิลปการละครอยู่ด้วยกัน ภาควิชาศิลปะการละครตั้งอยู่ปีกซ้าย ด้านล่างของตึก บริเวณนั้นมีห้องพักอาจารย์ของภาคฯ ละคร และยังมีห้องที่ใช้เรียนวิชาแอคติ้ง และเรียนรำไทยอยู่ด้วย ตรงนั้นแหละที่นิสิตภาคละครชอบไปจับกลุ่มนั่งพักและเตรียมงานกัน เด็กละครมักเป็นพวกแต่งกายไม่ค่อยจะเรียบร้อย หน้ามันตลอดเวลา จึงมีข้ออ้างว่าทำงานหลังเวทีหรือต้องเข้าคลาสแอคติ้ง ฯลฯ อยู่เป็นประจำ 

       ด้วยความที่มีนิสิตเรียนไม่เยอะ  พวกเราจึงได้เรียนรู้จากการทดลอง ได้ปฏิบัติกันจริงๆ  กับครูๆ ของพวกเราซึ่งล้วนแต่เป็นมืออาชีพผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนศิลปะการละครและการบันเทิงในสังคมสมัยนั้น พูดได้ว่าเราสนิทสนมกับครูๆ ละครมากถึงมากที่สุด

       พวกเราได้ฝึกทำงานเบื้องหลังที่โรงละครซึ่งตั้งอยู่ที่ตึก 4 ของคณะฯ  เราผลัดกันฝึกปฏิบัติงานทุกแขนงในนั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำฉาก แสง สี เสียง คอสตูม ฝึกกำกับเวที ฯลฯ

       นอกจากการเรียนในห้องเรียน  พวกเรายังได้มีโอกาสได้ติดสอยห้อยตามครูๆ ของพวกเราไปทำงานและไปดูงาน จึงได้เห็นตัวอย่างการทำงาน การเจรจา การแก้ปัญหาแบบมืออาชีพ  เราเคยติดตามครูปุ๊ (อจ.ซูไรมาน เวศยาภรณ์ – กฤษรา วริศราภูริชา) ไปทำฉากที่โรงละครแห่งชาติ ตามครูโมและครูช่างไปดูการถ่ายทำละครทีวี ตามครูอุ๋ย (อจ. พรรัตน์ ดำรุง) ไปทำละครเร่ในชนบทไกลปืนเที่ยงชนิดที่ต้องเดินข้ามเขาไปสามลูก แถมยังมีประสบการณ์ไม่รู้ลืมกับการท้องเสียยกคณะ ที่อาจมีสาเหตุมาจากการกินมาม่าต้มใส่รกวัว   เราเคยติดตามครูบรูซ (อจ. บรูซ แกสตัน) ไปดูคอนเสิร์ตล้ำยุคล้ำสมัยที่ครูเป็นคนจัด  เราได้เห็นฝีมือการกำกับการแสดงชั้นครููของครูใหญ่ (อจ.สดใส พันธุมโกมล)  ได้เห็นงานประพันธ์ แปล เรียบเรียง ของครูนพ (อจ.นพมาส แววหงส์) ที่ออกมาโลดแล่นเป็นงานแสดงจริงๆ  ได้เห็นตัวอย่างการทำงานอย่างจริงจังของครูหนุ่ย (อจ. เสาวนุช ภูวณิชย์) ครูแตน (อจ.ภาวิณี นานา) ครูแว่น (อจ.ศิริลักษณ์ เสรีวัลย์สถิตย์) ฯลฯ

        ในส่วนของเพื่อนร่วมวิชาเอก  เมื่อเราได้มีโอกาสเรียนละครในสถาบันที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เราก็โชคดีที่มีเพื่อนที่เก่งที่สุด  มีรุ่นพี่ รุ่นน้องที่เกิดมาเพื่อเป็นนักการละครหรือเพื่อทำงานในสายบันเทิง รุ่นเรามีเอกศิลปะการละครอยู่เพียง 4 คน และในจำนวนนี้ก็มีเพื่อนที่เก่งที่ีสุด ที่อยากจะบันทึกไว้ ณ ที่นี้  

       เพื่อนคนที่หนึ่ง คือ อ้อม (ดวงกมล ลิ่มเจริญ) เป็นคนที่เกิดมาเพื่ออยู่บนถนนสายบันเทิง อ้อมเก่งทั้งการเป็นนักแสดง  การกำกับ การจัดการ เมื่อเรียนจบออกไป อ้อมได้ไปทำงานสายภาพยนตร์เป็นโปรดิวเซอร์คนแรกๆ ที่ผลักดันให้ภาพยนตร์ไทยได้ไปต่างประเทศ แต่น่าเสียดายว่าในขณะที่ีชีวิตกำลังรุ่งเรืองถึงขีดสุด อ้อมก็เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็ง พูดได้ว่าวงการภาพยนตร์ไทยวันนี้อาจจะไปได้ไกลกว่านี้อีกหากอ้อมยังคงมีชีวิตอยู่   

        เพื่อนคนที่สอง เพื่อนผู้ชายเอกละครอีกคนคือ จิ๋ว (สุรพล สิทธิประสงค์) จิ๋วเป็นผู้ชายที่ลุยๆ ดิบๆ จึงสามารถทำงานละครประเภทลุยๆ ได้เป็นอย่างดี จิ๋วบวชเรียนอยู่พักหนึ่งแล้วก็ออกมามีชีวิตโลดแล่นทำงานสารคดี งานละครเร่ ตระเวนทำงานสาธารณกุศลต่างๆ อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย แต่จิ๋วไม่ได้แข็งแรงมากๆ อย่างที่เราคิด เขาจากเราไปเมื่อปีกลายนี้เองด้วยโรคมะเร็ง (อีกแล้ว) 

         เพื่อนคนที่สาม  คือเปิ้ล (ชลธาร  (ชลานันต์) ญาณารณพ) ซึ่งปัจจุบันนี้ได้ผันตัวไปทำงานบริษัทประกันภัยและได้ดิบได้ดีไปแล้ว

        ส่วนคนที่สี่ คือเราเอง เชื่อไหมว่า สมัยเรียนเราไม่ได้นึกว่าจะมีละครเป็นส่วนสำคัญของชีวิตถึงขนาดนี้ ในวันนี้เมื่อย้อนกลับไปนึกถึงอดีต เราจึงได้รู้ว่าเราได้เคยอยู่ เคยได้เรียนละครในที่ที่ดีที่สุด เราขอกราบขอบคุณครูๆ ละครทุกท่าน ขอชื่นชมพี่ๆ น้องๆ ชาวละคร และเราก็ให้นึกเสียดายที่สมัยนั้นเราไม่ได้ตักตวงความรู้และประสบการณ์ให้เต็มที่ แต่ประสบการณ์ที่มีค่าที่ได้รับก็คือสิ่งที่ได้หล่อหลอมให้เราเป็นคนละคร เป็นครูละคร ในแบบที่เราเป็นในทุกวันนี้

 

นพีสี (นิมมานเหมินท์) เรเยส             

อักษรศาสตร์ รุ่น 50

กลับขึ้นด้านบน

ความสุขของผม นาคินทร์ รัชฏสุวรรณ อบ. 50

.  “ ความสุขของผม ”

เล่าโดย   นาคินทร์ รัชฏสุวรรณ   อบ. 50

 

       ตอนเรียน ม.ศ.5 ใกล้จะจบ อาจารย์ท่านหนึ่งพูดถึงคณะอักษรศาสตร์ มีใจความสำคัญประมาณว่า   "คณะนี้เรียนเพื่อความสุข ไม่ได้เน้นเพื่อทำมาหากิน"
       แต่ในเมื่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคณะที่มีคะแนนสูงสุดของสายศิลป์-ภาษาในยุคนั้น พวกเราส่วนใหญ่จึงเลือกคณะนี้เป็นอันดับหนึ่งตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้วก็โชคดี...สอบติดคณะนี้กันแทบจะยกห้อง
      พอเข้ามาแล้ว ได้อ่านหนังสือหลักสูตรของคณะ จึงพบว่ามีวิชาน่าเรียนเกินกว่าจำนวนหน่วยกิตที่หลักสูตรกำหนดไว้มากมายนัก สำหรับผม วิชาที่เห็นว่าน่าเรียนส่วนใหญ่เป็นวิชาที่เรียนเพื่อความสุข ตรงตามที่อาจารย์ท่านนั้นกล่าวไว้จริงๆ แต่ก็มีหลายวิชาที่เห็นได้ชัดเจนว่ามีประโยชน์ต่อการทำงานเมื่อเรียนจบแล้วแน่ๆ
        ต่อไปขอกล่าวถึงบางวิชาที่ชอบมากและประทับใจมาจนทุกวันนี้
       วิชาแรกเป็นวิชาที่พอเห็นชื่อและรายละเอียดในหลักสูตร ก็ตัดสินใจได้เลยว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร ก็จะต้องเรียนให้ได้ คือ Mythological Background to English Literature รหัสของวิชานี้บอกว่าเป็นวิชาสำหรับนิสิตปี 2 พอขึ้นปี 2 ผมก็ลงเรียนทันที ปรากฏว่าคนที่ลงเรียนส่วนใหญ่เป็นพี่ๆ ปี 3 ปี 4 เพื่อนปี 2 ด้วยกันไม่ค่อยมี แต่ในเมื่ออยากเรียน ก็ต้องลองดู และได้พบว่าวิชานี้ไม่ยากอย่างที่กลัวตอนแรก แต่กลับสนุกมาก ให้ความรู้เกี่ยวกับเทวตำนานกรีก-โรมัน รวมถึงคัมภีร์ไบเบิลที่ไม่เคยรู้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวมาก่อน
       หลังจากเรียนจบมาแล้วหลายปี ได้มีโอกาสเป็นบรรณาธิการหนังสือเรื่อง Mythology ของ Edith Hamilton ที่ใช้เรียนในวิชานี้ ฉบับแปลภาษาไทยโดยอาจารย์นพมาส แววหงส์ จึงทำงานอย่างมีความสุข ได้ทบทวนความหลังครั้งเป็นนิสิตอีกครั้ง
       อีกวิชาของภาคภาษาอังกฤษที่พอได้เรียนแล้วปลื้มมากอย่างไม่คาดคิดมาก่อน คือ Grammatical Structure of the English Language เป็นวิชาที่มีประโยชน์สุดพรรณนา ทำให้อ่านภาษาอังกฤษได้ 'แตก' พอจะบอกใครๆ ได้อย่างไม่อายว่าจบอักษรศาสตร์มา นิสิตคณะเราควรได้เรียนวิชานี้ทุกคน ไม่เฉพาะแต่คนที่เรียนเอกภาษาอังกฤษเท่านั้น ตอนจบออกมาทำงานแล้วงานที่ทำต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักก็ได้วิชานี้ช่วยชีวิตไว้ทุกครั้งเวลาเจอปัญหา
       เนื่องจากเป็นคนที่ชอบศตวรรษที่ 19 มาก พอเห็นว่าในหลักสูตรมีวิชา นวนิยายอังกฤษในศตวรรษที่ 19 จึงตั้งใจว่าจะต้องเรียนให้ได้ และได้เรียนตอนอยู่ปี 4 แม้จะต้องอ่านหนังสือยุคนั้นตามที่อาจารย์กำหนดถึงสี่เรื่อง แต่บางเรื่องอย่าง Pride and Prejudiceก็สนุกสนานอ่านเพลินจนไม่รู้สึกว่าถูกบังคับให้อ่านและกลายเป็นหนึ่งในนวนิยายเรื่องโปรด
       นอกจากนี้ยังมีวิชาอื่นๆ ที่ชอบและเรียนด้วยความสนุกอีกหลายวิชา ทั้งพอจบมายังใช้ประโยชน์ในการทำงานได้อย่างมากเช่นวิชากลุ่มแปลทั้งหลาย
       สี่ปีในคณะอักษรศาสตร์จึงเป็นช่วงเวลาที่ได้เรียนหนังสืออย่างมีความสุข ตามที่อาจารย์ท่านนั้นได้กล่าวไว้ แต่ขณะเดียวกันวิชาที่เรียนก็นำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานใช้ทำมาหากินได้...จนถึงทุกวันนี้
                                                                                                    

  นาคินทร์ รัชฏสุวรรณ   อบ. 50

กลับขึ้นด้านบน

ต้นไม้ทิพย์ มนทิพย์ ซื่อวัฒนากุล อบ. 50

ต้นไม้ทิพย์

เล่าโดย  มนทิพย์ ซื่อวัฒนากุล อบ. 50

แปลกไหม.......
เวลาเพียงสี่ปีใต้ร่มเงาของเทวาลัย จะให้ดอกออกผลกับเรา....ให้เราได้เก็บเกี่ยวกินใช้ได้ตลอดชีพ  ราวกับลงมือปลูกต้นไม้ทิพย์ก็ไม่ปาน.. เพราะเมื่อมานั่งพินิจพิศสิ่งที่อยู่ชีวิตตัวเองในทุกวันนี้ ล้วนแล้วแต่มีที่มาจากการเป็นหนึ่งในต้นกล้า...ต้นเล็กๆที่งอกงามในชายคาเทวาลัยทั้งนั้น
เอาตั้งแต่ลืมตาตื่นมาเลยนะ   เห็นหน้าคนร่วมเตียงเคียงหมอนที่นอนด้วยกันมายี่สิบปี ก็มาจากคณะข้างๆ  เมื่อย้ายตัวเอง..มานั่งจิบกาแฟยามเช้าก่อนเริ่มวันใหม่...เห็นหนุ่มน้อยหน้าใส เดินไปเดินมาในบ้านแต่งชุดนิสิตเตรียมตัวไปเรียน...  ไลน์แรกของเช้าวันใหม่ที่เปิดตั้งแต่ไม่ก้าวขาลงจากเตียงคือ ไลน์กลุ่มมีสมาชิกแปดคนเป็นเด็กอักษร รหัส 25 ....อันนี้ก็แปลก..เพราะเมื่อตอน อยู่ในคณะเพื่อนกลุ่มนี้ไม่เคยเสวนากันสักคำจบมายี่สิบปีถึงได้มาพูดกันพูดแล้วคงพูดกันต่อไปถึงชาติหน้าก็ดูแล้วยังไม่จบบทสนทนา
เพื่อนที่รักใคร่ผูกพันดูแลกันและกันยิ่งกว่าพี่น้องคลานตามกันมาที่มีอยู่ ก็เป็นเพื่อนอักษรอีกนั้นแหละ คบกะใครก็ไม่ลึกซึ้งได้เท่าคนพวกนี้ ไม่รู้ทำไมเหมือนกันใครรู้ช่วยบอกทีแม้กระทั่งรอยแผลเล็กๆในหัวใจก็ยังได้มาจากแถวๆนี้หน้าที่การงานที่ทำมาหาเลี้ยงชีพได้ดีงามในวันนี้ ก็ทำได้ด้วยดี  จากวิธีคิดและการวิเคราะห์ที่ถูกบ่มเคี่ยวมาตลอดสี่ปีใต้ร่มเงาชงโค ในรั้วสีชมพู นี่ยังไม่นับว่า ระยะทางที่ยาวนานกว่าสามสิบที่มีมาในชีวิต ทั้งเรื่องครอบครัว ในการทำงาน การมองโลก ที่อยู่กับคนหลากหลาย การทำความเข้าใจตนเอง และคนที่ต้องอยู่ด้วย  การที่ต้องหาที่ยืนให้ตัวเองอย่างมั่นคง   ความผูกพัน รักใคร่ เอ็นดู ชื่มชม นับถือ ช่วยเหลือ ดูแล กันและกัน และความสัมพันธ์ประดามีที่มักจะเกิดขึนเสมอในชีวิต จากพี่จุฬาน้องจุฬา ซึ่งทำให้ชิวิตเราในแต่ละช่วงผ่านไปอย่างง่ายดาย     และอื่นๆ มากมายจาระไนไม่ถ้วน  เมื่อมาคิดให้ดีแล้ว มีรากฐานการบ่มเพาะแค่เพียงสี่ปีในคณะอักษรที่หล่อหลอมให้เราเป็นคนอย่างที่เราเป็นและอย่างที่เราภาคภูมิจึงอยากจะสารภาพว่า....บางครั้งเคยอยากให้อดีตย้อนกลับไปได้อยากจะกลับไปใช้เวลาสี่ปีนั้นใหม่.....จะได้กลับไปตั้งอกตั้งใจใช้เวลาทุกนาทีในคณะให้อย่างมีค่ากว่าที่เคยเป็นมา
จะนั่งแถวหน้า..........จะมาเข้าเรียนแปดโมงเช้า    จะไม่คลานออกจากประตูหลังของห้อง116 ในชั่วโมงบ่ายๆ      จะตั้งอกตั้งใจฟังเก็บความทุกถ้อยทุกคำ ที่อาจารย์พูด   จะไม่คุยกันเองในห้องทำให้อาจารยเหลืออดจนออกไล่ปากให้ไปคุยกันในโรงอาหาร   จะไม่นั่งหลับในห้อง ....................จะไม่วิ่งสุดเท้าออกจากห้องเรียนเมื่ออาจารย์มาช้าเพียงแค่สิบนาที...จะนั่งฟังวิชาปรัชญา Soc ของอาจารย์ ปรีชา ช้างขวัญยืนแทนการไปเดินเตร่ดเตร่ที่สยามแสควร์  จะเข้าเรียนวิชาอารยธรรมของคณะ.....แทนที่จะไปนั่งเล่นกับเพื่อนที่ลานโพธิ์ ธรรมศาสตร์    .
และที่สุดคือ ....อยากจะกลับไปกราบครูบาจารย์ที่อดทนกับเด็กเหลวไหลคนนี้ คนที่ไม่ตั้งใจสมกับความตั้งใจของอาจารย์ที่ทุ่มเทให้เรา  เด็กที่ไม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าสิ่งที่มีอยู่  เด็กคนที่ไม่รู้ว่า เป็นสีปิแห่งความงดงามที่มีความหมายกับชีวิตเราได้มากมายมหาศาล....
หากทำสิ่งที่คร่ำครวญมาไม่ได้...จึงทำได้แค่ขอสารภาพมายังที่ตรงนี้
ด้วยความซาบซึ้งใจในคำที่ว่า
......พระคุณของแหล่งเรียนมา..........
.......จุฬาลงกรณ์............. 

 

กลับขึ้นด้านบน

ชนกลุ่มน้อย , สัตว์สงวน และความซวย 7 ชาติ รณชัย แสงกระจ่าง อบ. 50

ชนกลุ่มน้อย , สัตว์สงวน และความซวย 7 ชาติ

เล่าโดย     รณชัย แสงกระจ่าง    อบ. 50

บ้านเกิดผมอยู่จังหวัดระยอง เมืองที่สุนทรภู่มานั่งมองเกาะเสม็ดแล้วจินตนาการเป็นวรรณคดีพระอภัยมณี ก็มีอิทธิพลบ้างที่อยากจะเป็นนักกลอนจากเมืองสุนทรภู่ ,หลังจากรู้ตัวในตอนมัธยมต้นว่าคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ห่วยแตกมาก ถ้าขืนเรียน ม.ปลายสายวิทย์ไปสอบแข่งเข้าคณะวิศวะชาตินี้ก็คงสอบไม่ติด  จึงเข้ากทม.มาเรียนมัธยมปลายสายศิลป์ภาษาที่โรงเรียนดังย่านลาดพร้าว

อาศัยอยู่ในบ้านพี่ชายที่เป็นนักแปลวรรณกรรมต่างประเทศ พี่สะใภ้เป็นนักวิจารณ์วรรณกรรม มีนักเขียนระดับซีไรท์ที่ตอนนั้นยังไม่ดังแวะเวียนมาเสวนาที่บ้านบ่อยครั้ง การตัดสินใจเอ็นทรานซ์เข้าไปเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬา จึงไม่ใช่เรื่องผิดจากความคาดหมายแต่อย่างใด อีกทั้งยังได้แรงบันดาลใจจากการอ่านประวัติของจิตร ภูมิศักดิ์ นักเขียน นักประวัติศาสต์ ปัญญาชนฝ่ายซ้ายรุ่นพ่อ ก็จบอักษรศาสตร์ จุฬา

แต่ก็ได้ยินว่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ผู้หญิงเยอะ มีผู้ชายน้อย ที่น้อยอยู่แล้วก็มีความหลากหลายทางเพศสูง เราจะอยูได้หรือ เมื่อได้มาอยู่คณะนี้ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ตอนซ้อมเชียร์ของคณะ เสียงบูม ARTS  ของผมมันถูกกลืนไปกับเสียงแหลม เสียงสูงของสาวๆไปหมด ผมซ้อมเชียร์อยู่ครั้ง สองครั้ง ก็ไม่อยากเข้าซ้อมอีก นั่นคือความอึดอัดของ”ชนกลุ่มน้อย”

ตอนรวมกลุ่มกันนั่งตามโต๊ะม้านั่ง ผมจับกลุ่มกับใครเขาไม่ได้ หลังจากนั้นก็กลายเป็นเจ้าไม่มีศาล ไม่มีที่สิงสถิต ผมก็เริ่มแปลกแยกกับคณะเข้าไปทุกที เป็นชนกลุ่มน้อยไม่พอ กลายเป็น outsider เต็มตัว  ยิ่งแต่งตัวแบบอารามบอยสะพายย่าม ใส่รองเท้าแตะก็ยิ่งไม่เหมือนชาวบ้านเข้าไปใหญ่ เข้าขั้น    underground จะไปให้ผมไปอยู่กลุ่มหลากหลายทางเพศ ผมก็ไม่ใช่แบบนั้น จะให้ไปอยู่กลุ่มรุ่นพี่ขี้เมาข้างตึก4 ก็ไม่ใช่แนว จะไปอยู่กลุ่มผู้หญิงแล้วพวกเธอเรียกอย่างสนิทสนมว่าอีรณชัย ผมก็รับไม่ได้เช่นกัน ทางออกคือการไปอยู่นอกคณะทำกิจกรรมทั้งค่ายอาสา งานองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬา(อบจ.) ที่ตึกจักรพงษ์ รวมทั้งใช้เวลาส่วนใหญ่ในปี 3 และ 4ที่ชมรมวรรณศิลป์ ศาลพระเกี้ยว

นอกจากถูกเรียกว่า”ชนกลุ่มน้อย”แล้ว พวกผู้ชายอักษรยังถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า”สัตว์สงวน” เวลาโดนเพื่อนผู้หญิงแซว เข้าใจว่าพวกเธอไม่ค่อยได้คิดอะไร พูดเอามันแบบคะนองปาก แต่คนฟังรู้สึกสะเทือนใจมาก มันช่างแตกต่างกับสาววิศวะซึ่งมีจำนวนน้อยเหมือนกันเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ชาย กลับถูกเรียกว่า “ไข่ในหิน”

สาวอักษร ตอนปี 1 เทอม 1 เพื่อนผู้หญิงยังใส่รองเท้าขาว แต่งตัวเรียบร้อย ยังไม่สะดุดตาเท่าไหร่ ผมมักจะเล็งสาวรุ่นพี่ปี 2 ซึ่งพวกเธอแต่งตัวเป็นสาวเต็มที่ ดูแล้วเพลิดเพลินเจริญใจ ส่วนเพื่อนสาวปี 1 เธอจะเริ่มแต่งตัวน่ารักเอาตอนเทอม 2 กระโปรงของพวกเธอก็ดัดแปลงเป็นทรงลูกฟักบ้าง ทรงแหวกข้างบ้าง ในใจเราก็คิดว่าทั้งชั้นปีมีผู้หญิงเป็นร้อยจะจีบเป็นแฟนสักคนคงไม่น่าจะเกินความสามารถ แต่มันไม่เป็นแบบนั้นเลยครับ ผู้หญิงคนแรกที่ผมคิดจะจีบเป็นจริงเป็นจังตอนปี1 ผมตั้งใจมาก(ตอนเรียนมัธยมรักไม่ยุ่ง มุ่งแต่ Ent’)  แต่ผลคือ เธอไม่เอาผมครับ หน้าแตกแบบหมอไม่รับเย็บ หลังจากนั้นชีวิตผมก็เสียศูนย์ทันที โลกกลายเป็นสีดำ ไม่กล้าจีบสาวอักษรอีกเลยจนเรียนจบ พี่สะใภ้ซึ่งจบอักษร จุฬาฯ เหมือนกันบอกผมว่า “สาวอักษรเขาไม่คิดว่าผู้ชายน่าสนใจหรอก เขามองว่าเป็นเพื่อนเล่น เพื่อนร่วมชั้นเรียนมากกว่า” มิน่า สาวๆแถวลานนทรีย์ ใหม่ๆก็นั่งโต๊ะม้านั่งในหมู่ผู้หญิงด้วยกัน  นั่งไปนั่งมาหนุ่มวิศวะที่นั่งม้านั่งอีกฝั่งของลานนนทรีย์ก็ลากโต๊ะมารวมกับสาวอักษร สมัยนั้นผมมันก็หมาหวงก้าง(ทั้งๆที่ไม่ใช่ก้างของเรา) หมั่นไส้พวกหนุ่มวิศวะ จริงๆก็อิจฉาด้วยครับ เพราะสาวอักษรที่หนุ่มวิศวะจีบติดควงเป็นแฟนสวยๆทั้งนั้น

            หนุ่มอักษรในทัศนะของสาวอักษรไม่มีอะไรน่าเจ็บใจไปกว่า คำพูดของสาวอักษรรุ่นพี่ที่ว่า ”ถ้าได้แต่งงานกับหนุ่มอักษร จะซวยไป 7 ชาติ” ที่จริงคนพูดก็ไม่ได้หน้าตาดีหรอกครับ แต่เธอพูดดังให้ได้ยิน จนผมรู้สึกปรี๊ดดด หนุ่มอักษรไม่ดีตรงไหนวะ ดูถูกกันมากเลย แต่มันเป็น motto ที่พูดส่งผ่านกันมาเรื่อยๆ รุ่นต่อรุ่น ไม่มีที่มาที่ไป มันก็อาจจะเป็นจริงบ้างที่วิชาที่ชาวอักษรศาสตร์เรียนมันไม่สามารถเอามาทำมาหากินจนร่ำรวยเหมือนสาขาอื่น ถ้าแต่งงานกับหนุ่มอักษรด้วยกันก็คงกัดก้อนกินเกลือไปด้วยกันนานกว่าจะตั้งตัวได้

            4 ปี ในคณะอักษรศาสตร์ของผม จึงดูเหินห่างหมางเมิน แบบคนอกหักรักคุด เรียนจบไปพร้อมๆกับตำนานความซวย 7 ชาติ แต่วันหนึ่งผมพบสาวอักษรคนหนึ่งที่ตอนเรียน 4 ปี ที่คณะ เราแทบจะคุยกันนับคำได้ เราโคจรมาเจอกันอีกครั้งในงานเลี้ยงรุ่น ผมตกหลุมรักเธอแบบฉับพลันทันทีในค่ำคืนนั้น ปาฏิหารย์มีจริง ตำนานรักสาวอักษรและหนุ่มเทวาลัยก็ก่อกำเนิดนอกคณะเป็นครั้งแรก เธอไม่เคยได้ยินตำนานความซวย 7 ชาติ และเธอก็พร้อมกัดก้อนกินเกลือไปกับผม โลกของผมพลันสว่างไสว รู้สึกเติมเต็มกับชีวิต    รู้สึกขอบคุณคณะที่นอกจากให้วิชากับผม ยังให้คนรักผมอีกด้วย ขอบคุณจริงๆ  ฤาเทวาลัยจะมีชีวิตจริงๆ

            หมายเหตุ-ภรรยาผมมาสารภาพภายหลังว่าตอนเรียนเธอตกบันไดที่ห้องโถงกลางหน้ารูป ร.5  อืมม..  ท่านศักดิ์สิทธิ์จริงๆ

กลับขึ้นด้านบน

แขนงชงโค ณัฐจรีย์ จุติกุล อบ. 50

แขนงชงโค ”    

เล่าโดย ณัฐจรีย์ จุติกุล   อบ. 50 

ถ้าจะถามว่าความภูมิใจในชีวิตนี้คืออะไร คำตอบคือการได้เป็น "เด็กอักษรฯ"

ทั้งๆ ที่ฉันไม่ได้มีคุณสมบัติที่คนส่วนใหญ่มักคิดว่าเด็กอักษรฯ พึงมี คือ สวย รวย ฉลาด หวาน สง่า สูงศักดิ์ น่ารักอีกต่างหาก นั่นสิ...แล้วทำไมถึงเสี่ยงมาปะทะกับความงามอันพิไลพิลาสของเพื่อนอีกสองร้อยกว่าคนในสถานที่อันวิจิตรแห่งนี้

ตอนเกิดแม่เอาดวงไปผูก หมอดูอะไรไม่รู้แม่นชะมัด เขียนไว้ชัดๆ เลยว่าเจ้าของชะตาดวงนี้จะได้เรียนอักษรศาสตร์ (ไม่ยักบอกวิชาเอก) จะเป็นเพราะดวงชะตาพาไปจริงๆ หรือเชื่อหมอดูหัวปักจนมุ่งปั้นคำทำนายให้กลายเป็นจริง ในที่สุดฉันก็เป็นหนึ่งในนิสิตอักษรรุ่น 50 จนได้

เมื่อมอบหมายให้ฉันเขียนถึงคณะฯ กรรมการรุ่นฝากมาให้เขียนเรื่องหมา ฉันเห็นว่าเป็นความคิดที่สุดยอด เพราะนอกจากฉันอาจไม่มีใครเก็บหมาอักษรไว้ในหนังสือร้อยปีนี้แน่

ที่คณะอักษรฯ ก็เหมือนกับที่สาธารณะทั่วๆ ไปในประเทศไทยที่มักมีหมามาปะปนอยู่กับคน คนก็จะแบ่งข้าวน้ำให้กินด้วยความสงสารจนเป็นมิตรกันไปทั้งสองฝ่าย เดินผ่านก็พยักหน้าให้กัน ถ้าไม่เคยพยักหน้าให้หมาก็ขอให้ลอง หรือถ้าใครที่หมาไม่เคยพยักหน้าให้ก็ขอให้พิจารณาตัวเอง 

โต๊ะที่ฉันนั่งในศาลารวมใจมีกันทั้งหมดหกคน สี่คนรักหมา หนึ่งคนเฉยๆ หนึ่งคนรำคาญแต่ไม่คัดค้าน ถ้ามีทรัพย์เราจะช่วยกันเลี้ยงข้าวหมาตามโอกาสอันควร ในจำนวนหมามากมายที่ผ่านมารับข้าวขาหมูบ้าง ข้าวไข่เจียวบ้าง มีหมาสองตัวที่ฉันผูกพันรักใคร่เป็นพิเศษ คือจุดจุด กับ สีชมพู

จุดจุดดูคล้ายพันธุ์ดัลเมเชี่ยน แต่ขาที่สั้นร่างที่เล็กมันฟ้องว่ามันคงไม่มีเพทดีกรีตอนเกิด มันเป็นหมาอารมณ์ดี เดินยิ้มให้นิสิตทั้งวัน จุดจุดมักได้รับเชิญไปถ่ายรูปหมู่กับพวกเราบ่อยๆ วันหนึ่งอาจารย์จิตโสมนัสซึ่งเป็นอาจารย์ฝ่ายกิจการนิสิตเห็นฉันแถวตึกสาม ท่านเดินตรงมาชวนพาจุดจุดไปหาหมอ น่าสังเกตว่าอาจารย์จะไม่เรียกฉันไปใช้สอยทางวิชาการหรืออื่นใดนอกจากเรื่องหมา ใครคิดว่าอักษรฯ มีแต่เด็กเรียน ขอให้นับฉันเป็นข้อยกเว้น

อีกตัวคือสีชมพู สีชมพูมีขนอ่อนนุ่มสีขาว ขอบตาดำมีแต้มชมพูรับกับสีที่ปลายจมูก เห็นปั๊บก็ทึกทักนึกรักเป็นหมาของตัวเองทันที ตั้งชื่อเสร็จสรรพตามสีที่จมูก และให้แปลกใจว่าคนจุฬาในพื้นที่วิศวะ-อักษรก็พากันเรียกเธอด้วยชื่อเดียวกัน สีชมพูเป็นหมามีสัมมาคาราวะ มารยาทงดงาม สมที่อยู่ใต้ร่มเทวาลัย จู่ๆสีชมพูหายไปเกือบอาทิตย์ ฉันได้แต่ร้อนใจ ไม่รู้จะตามหาที่ไหนแล้วบ่ายวันหนึ่งฉันรู้สึกเหมือนปลาต้องมนต์พระสังข์ ถูกสะกดให้เดินขึ้นไปร้านตงเอียงบนตึกถาปัดทั้งที่ไม่ได้มีกิจธุระอะไรที่ร้านนี้เลย พลันเมื่อก้าวเข้าในร้าน ฉันเห็นสีชมพูถูกผูกนั่งสงบเสงี่ยมอยู่ในร้าน ก็หมามันน่ารัก ใครๆ ก็อยากได้ สีชมพูกระดิกหางรับฉัน ดีใจราวพบญาติ ฉันขอตงเอียงให้ปล่อยสีชมพูเถิด เมื่อตีบทแตกด้วยกันทั้งหมาทั้งคน ตงเอียงก็ใจอ่อน สีชมพูก็ได้กลับมาเป็นหมาอักษรฯ อีกครั้ง (น่าเห็นใจตงเอียงอยู่หรอก หมาถาปัดไม่น่ารักเท่าหมาอักษรฯ นี่นา)

เมื่อฉันเรียนจบอาจารย์นโรตม์ ปาละกวงศ์ ณ อยุธยา เมตตาเอาสีชมพูไปชุบเลี้ยงที่บ้าน วันหนึ่งระหว่างอาจารย์นั่งดูทีวี ดร. สายสุรี จุติกุลออกรายการโทรทัศน์พอดี อาจารย์หันไปบอกคุณพ่อซึ่งนั่งอยู่ด้วยกันว่า "พ่อครับ สีชมพูเป็นดองกับอาจารย์สายสุรีนะครับ" แม้หลายปีผ่านไป อาจารย์ก็ไม่ลืมฉัน และมิตรภาพของฉันกับสีชมพู เมื่อฉันแต่งงานมาเป็นลูกสะใภ้ของดร. สายสุรี อาจารย์ยังโยงใยความผูกพันนั้นให้สืบเนื่องต่อไป

เมื่อตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโท ฉันขอให้อาจารย์นโรตม์เขียนจดหมายแนะนำให้ อาจารย์กลับไปคิดสามวันแล้วเรียกฉันไปบอกเรียบๆ ว่า "ผมไม่รู้จะเขียนอะไรให้คุณ เพราะคุณไม่มี academic achievement เลย แต่ผมจะเขียนให้นะว่าคุณรักหมา" ใครจะเชื่อว่าจดหมายแนะนำพิลึกพิลั่นกับสุดยอดความคิดของอาจารย์จะนำฉันไปเรียนต่อได้จริงๆ

เหมือนว่าเรื่องนี้จะหาสาระอะไรไม่ได้ แต่ฉันอยากถ่ายทอดความผูกพันและมิตรภาพใต้ร่มเทวาลัยอีกแง่มุมหนึ่งให้เห็น มีทั้งความรักและเมตตาของอาจารย์และคนในคณะที่เผื่อแผ่ยังสัตว์ร่วมโลก และความรักและเมตตาของอาจารย์ต่อศิษย์ที่มากกว่าการถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการ ท่านรู้จักตัวตนของเรา ใส่ใจเราที่เป็นตัวเรา แม้จะเป็นเราที่บกพร่อง

ความภูมิใจที่มากกว่าการเป็น "เด็กอักษรฯ" คือได้เป็นเด็กอักษรฯ รุ่น 50 รุ่นที่ไม่มีการแก่งแย่ง ไม่หวงเลคเชอร์ รุ่นที่บัณฑิตหน้าใสสองคนถ้อยทีถ้อยอาศัยนั่งตุ๊ก-ตุ๊กมาฟังผลรับเหรียญทองด้วยกัน และจบลงด้วยความแช่มชื่นรับกันไปคนละเหรียญ ภายหลังยังจูงมือกันกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะถ่ายทอดความรู้สู่คนรุ่นหลัง แม้คนนอกจะค่อนว่ารุ่นนี้เป็นยุคมืด แต่เป็นยุคมืดที่สุกสว่างภายในด้วยความรักเอื้ออาทรของเพื่อนร่วมรุ่น เป็นรุ่นที่มีกองทุนรักเพื่อนเพื่อช่วยเหลือเพื่อนยามยาก เป็นรุ่นที่หัวหน้าชั้นปีและกรรมการเสียสละ ทุ่มเท สานสายใยของความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยาวนานมาจนทุกวันนี้

อักษรฯ 50 เป็นรุ่นที่พิสูจน์ว่าความรักและมิตรภาพระหว่างเราไม่ได้จำกัดอยู่แค่ 4 ปีในรั้วจามจุรี หากจะรอดรั้วออกมางอกเงยงดงามตามกาลเวลาที่ผ่านไป

กลับขึ้นด้านบน

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University