เรื่องเล่าของนิสิตเก่า รุ่น 54

เรื่องเล่า 54

การแข่งขันกีฬาเฟรชชี่

กีฬาเฟรชชี่ซึ่งจัดขึ้นทุกปีเพื่อเป็นการสานสร้างความสามัคคีระหว่างนิสิตปีหนึ่งจากทุกคณะ ซึ่งทางอักษรฯ เราก็ไม่พลาดที่จะเข้าร่วมกิจกรรมนี้เพื่อแสดงสปิริตน้องใหม่ปี 2529 เป็นที่รู้กันว่าปัญหาของการส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันสำหรับนิสิตอักษรศาสตร์นั่นคือการขาดแคลนหนุ่มๆ ดังนั้นในแต่ละปี นิสิตชายแทบทุกคนจะถูกกึ่งลากกึ่งบังคับให้สมัครเป็นนักกีฬาตัวแทนคณะอย่างใดอย่างหนึ่ง

สำหรับกีฬาเฟรชชี่ปี 2529 ก็เช่นกัน ‘ไข่ในหิน’ ของคณะก็ถูกเกณฑ์ให้ลงชื่อแข่งกีฬากันอย่างถ้วนทั่ว แต่ปีนี้มีเหตุการณ์ที่ต้องบันทึกไว้เป็นพิเศษเนื่องจาก มีนิสิตอักษรศาสตร์ปีหนึ่งที่ชื่อ พงศ์เพชร  เมฆลอย สมัครเข้าแข่งกีฬาชกมวย!

พงศ์เพชร หรือเปี๊ยกของเพื่อนๆ มีประวัติแรกเข้าไม่ธรรมดาในหลายๆด้าน อย่างแรกคือเขาสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้เป็นอันดับหนึ่งของประเทศในสายศิลป์ ในยุคสมัยที่ GAT PAT ยังไม่ถือกำเนิด การสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยหรือเอ็นทรานส์ถือเป็นโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ของนักเรียน ม. 6 ทั่วทุกสารทิศ ซึ่งจะจัดสอบเพียงครั้งเดียวและพร้อมๆกันทั่วประเทศ ดังนั้นผู้ที่ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งของประเทศทั้งสายวิทย์และสายศิลป์จะโด่งดังเพียงชั่วข้ามคืนเมื่อหนังสือพิมพ์ต่างก็ลงข่าวเป็นเกียรติประวัติ และในช่วงวันหนึ่งของเดือนพฤษภาคมปี 2529 ใบหน้าและประวัติความเป็นมาของนายพงศ์เพชร  เมฆลอยปรากฏอยู่บนหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับของไทยในสมัยนั้น

แต่ที่ทำให้เพื่อนๆทึ่งไปกว่านั้นคือการที่ได้รับรู้ว่าเปี๊ยกเป็นนักกีฬาชกมวยระดับมือรางวัลมาตั้งแต่สมัยมัธยม ดังนั้นจะเหลือหรือ! เปี๊ยกได้สมัครเข้าแข่งขันชกมวยเฟรชชี่ และเขาก็ไม่ทำให้เพื่อนๆผิดหวัง เปี๊ยกใช้สองกำปั้นและจิตใจอันแข็งแกร่งของเด็กอักษรฯเอาชนะนักกีฬาจากคณะตัวเก็งจนคว้าแชมป์ในรุ่นแบนตั้มเวต หักปากกาเซียนกีฬาเฟรชชีทั้งหลายไปอย่างถล่มทลาย แถมพ่วงด้วยถ้วย Best Boxer ประจำทัวร์นาเมนต์ และเท่านั้นยังไม่พอ เปี๊ยกยังได้รับเลือกให้เป็นประธานชมรมมวยของมหาวิทยาลัยขณะอยู่ปีสาม นับเป็นประธานชมรมมวยคนแรกและคนเดียวในประวัติศาสตร์ 100 ปีของจุฬาฯ ที่มาจากคณะอักษรศาสตร์!

อีกคนที่ไม่พูดถึงไม่ได้ในการแข่งขันกีฬาเฟรชชีปี 2529 นั่นคือ นิภาพร ประกอบนพเก้า หรือฉ็อมของเพื่อนๆซึ่งได้สร้างความประทับใจและเป็นที่จดจำกันมาจนถึงทุกวันนี้

ฉ็อมสมัครแข่งฟุตบอลหญิงและเป็นผู้ที่สร้างสีสันในการแข่งขันชนิดที่ว่าเพื่อนๆและนิสิตชายต่างคณะต่างก็ทึ่งกันไปเป็นแถบๆ ในแมทช์หนึ่งขณะที่ฝ่ายอักษรกำลังเลี้ยงลูกลุยเพื่อไปทำประตู ฉ็อมรับลูกบอลที่เพื่อนผ่านมาให้ด้วยการโชว์ลีลาการใช้อกพักบอลก่อนจะเลี้ยงเดี่ยวเข้าไปทำประตูแบบโกลฝั่งตรงข้ามไม่มีโอกาสได้สกัด ทำเอาเพื่อนๆที่เข้าไปเชียร์เฮลั่นสนาม ฟุตบอลเฟรชชีแมทช์นั้นไม่มีใครน่าทึ่งเกินฉ็อมอีกแล้ว

ปัจจุบันเปี๊ยก พงศ์เพชร เมฆลอย ทำงานประจำที่สำนักพิมพ์บางกอกโพสต์ในตำแหน่ง Travel Editor ส่วน ฉ็อม นิภาพร ประกอบนพเก้า เป็นผู้จัดการฝ่ายขายอัญมณีแท้และอัญมณีสังเคราะห์ที่บริษัทซิกนิตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (SWAROVSKI GEMSTONES)

 

Triple ตี๋

หนุ่มๆสายศิลป์ที่เข้าวินมาเป็นหนุ่มอักษรรหัส 29 หรือรุ่น 54 มีทั้งหมดประมาณ 20 คนหรือคิดเป็น 1 ต่อ 10 ของจำนวนประชากรรุ่น 54!  

แต่เชื่อหรือไม่ว่าแม้จะมีจำนวนน้อยเท่าน้อย ก็ยังอุตส่าห์มีหนุ่มวัยใสน้องใหม่อักษร 54 ที่ใช้ชื่อเล่นเดียวกันอยู่ถึงสามคน ทำเอาเพื่อนๆถึงกับมึนไปตามๆกันเพราะเรียกคนหนึ่งอีกสองคนก็จะหันมาโดยอัตโนมัติ หนุ่มทั้งสามมีนามกรอันไพเราะว่า ‘ตี๋’ และทั้งสามก็เป็นหนุ่มน้อย (สาวมาก) ขวัญใจเพื่อนๆเหมือนกันอีกต่างหาก

แต่ระดับสาวอักษรแล้ว เรื่องแค่นี้แก้ไขไม่ยาก เรียกชื่อจริงแทนน่ะหรือ ยาวเกินค่ะ ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้องสำหรับสาวๆที่เอ็นทรานส์กันเข้ามาด้วยคะแนนสูงลิ่ว ภูมิปัญญาด้านภาษามีอยู่เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็แค่เติม ‘ขนาด’ เข้าไปท้ายชื่อก็เท่านั้นเอง หนุ่มน้อยทั้งสามจึงกลายมาเป็น ‘ตี๋ใหญ่’ ‘ตี๋กลาง’ และ ‘ตี๋เล็ก’ ของเพื่อนๆด้วยประการฉะนี้ แต่ทุกวันนี้หลายคนก็ยังงงๆอยู่ว่าตั้งชื่อแต่ละตี๋ตามขนาดของอะไร เพราะตี๋กลางกลับตัวเล็กกว่าเพื่อน เรื่อง ‘ขนาด’ ของตี๋ทั้งสามจึงยังคงเป็นปริศนามาจนทุกวันนี้

ปัจจุบัน ตี๋ใหญ่ วีรพจน์ วิรุฬหะรัตน์ ดำรงตำแหน่ง Head of Corporate Learning, Corporate Human Capital Management, Central Group of Companies ส่วน ตี๋กลาง นาราธร ธัญพารากูล เป็น Executive Planning Director อยู่ที่ Dentsu Aegis Network และ ตี๋เล็ก รักขิต รัตจุมพฏ เป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 

ทริปชั้นปีที่เขาใหญ่

ปีสี่ปีสุดท้ายก่อนจะแยกย้ายกันไปตามหาอนาคตหลังจบมหาวิทยาลัย พวกเราทั้งชั้นปีต่างลงความเห็นกันว่าน่าจะจัดทริปต่างจังหวัดเป็นการสั่งลาและเป็นที่ระลึกร่วมกันสำหรับนิสิตอักษรฯ รหัส 29 หรือ อ.บ. 54 จากการลงคะแนนเสียง เขาใหญ่ได้รับเลือกให้เป็นจุดหมายปลายทางที่เราทุกคนจะได้เก็บภาพความทรงจำสุดท้ายก่อนจบการศึกษา

วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2532 คือวันนั้น สมาชิกชาวอักษรรหัส 29 กว่า 80 ชีวิต นัดแนะกันมาเจอที่สถานีหัวลำโพงแต่เช้าตรู่เนื่องจากล้อ (รถไฟ) จะหมุนในเวลา 6 โมงตรง เมื่อขึ้นรถไฟได้ทุกคนต่างก็คึกคัก ส่งเสียงพูดคุยเจี๊ยวจ๊าวกันอย่างตื่นเต้น บางคนก็เดินทักทายเพื่อนๆที่นั่งตามที่ต่างๆ บางคนก็หลับแบบไม่สนใจใคร ส่วนบางกลุ่มนั้นก็นั่งล้อมวงจั่วไพ่บนรถไฟกันอย่างโจ๋งครึ่ม

รถไฟมาถึงจังหวัดปราจีนบุรีในเวลา 9 โมงเช้า จากนั้นพวกเราก็นั่งรถขึ้นเขาใหญ่ต่อไปอีกเกือบ 40 กิโลเมตร ระหว่างทางแวะไหว้ศาลสมเด็จพระนเรศวรก่อนขึ้นเขาใหญ่ อากาศในวันนั้นเมื่อ 20 กว่าปีก่อนหนาวจับจิต ถ้าเป็นปัจจุบันก็คงจะหนาวแค่พอคันๆหรือไม่ก็ร้อนตับแตกไม่ต่างจากเดือนเมษายน เห็นได้ชัดว่าภาวะโลกร้อนนี่อยู่ใกล้แค่เอื้อมแล้วจริงๆ

พวกเราพากันเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวของเขาใหญ่เช่น น้ำตกเหวสุวัต และรับประทานข้าวกลางวันร่วมกันที่เขาใหญ่โภชนาคาร (ซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว) นับเป็นทริปที่สร้างความประทับใจและหลายคนยังคงจดจำได้มาจนถึงทุกวันนี้

มีเรื่องที่ไม่เล่าไม่ได้เกี่ยวกับทริปเขาใหญ่ในปีสุดท้ายของการเป็นนิสิตอักษรของพวกเรา เนื่องจากรถไฟออกแต่เช้าตรู่ จึงมีเพื่อนเราสองคนคือ นัท และมดตกรถไฟเพราะมาไม่ทัน เพื่อนๆต่างก็คิดว่าทั้งนัทและมดคงจะกลับบ้านไปเรียบร้อยแล้วหลังจากพลาดขบวนรถ แต่สองสาวสุดสตรองหาได้ทำเช่นนั้นไม่ นางทั้งสองไม่ยอมถอดใจ ลงทุนนั่งรถทัวร์ตามมาโดยมาลงที่ปากทางเข้าเขาใหญ่และโบกรถโค้กขึ้นมาด้านบน ใช่ค่ะ... รถบรรทุกขนน้ำอัดลมยี่ห้อดังนั่นแหละ

นี่ถ้าตอนนั้นมีโทรศัพท์มือถือใช้ เพื่อนๆก็คงไม่ตื่นเต้นที่ได้เห็นมดและนัทตามมาถึงเขาใหญ่ขนาดนั้นเป็นแน่

ปัจจุบัน นัท นัทรียา ทวีวงศ์ นั่งประจำการอยู่ที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ส่วน มด ศิริพร (จิระวิชิตชัย) มงคลชีพ ทำหน้าที่ Personal Assistant to Regional Director ของ UNFPA

 

กลับขึ้นด้านบน

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University