เรื่องเล่าของนิสิตเก่า รุ่น 56

อยู่อักษรศาสตร์ ผมได้อะไรเยอะ! บุญส่ง นาคภู่ อบ.56

อยู่อักษรศาสตร์ ผมได้อะไรเยอะ!

เล่าโดย  บุญส่ง นาคภู่ อบ.56

     ใครกันนะที่บอกว่า เรียนมหาวิทยาลัยไม่ได้อะไร นอกจากกระดาษแผ่นเดียว ไม่จริงเลยสักนิดเดียว เพราะผมได้ตั้ง 2 แผ่น คือ ประกาศนียบัตร และทรานสคริปต์ (ฮา)

     ก่อนนั้น ผมเป็นสามเณรน้อยช่างฝัน อยู่ที่วัดป่าไกลปืนเที่ยง มาจากบ้านนอกชนบท ฐานะยากจน ความบ้าบิ่นบวกโชคช่วยจึงสอบติดคณะอักษรศาสตร์ ผมฝันอยากเป็นดารา ฝันมากจนมึน มองหน้าแบนๆ ของตัวเองไปมา คิดว่าตัวเองหล่อ มารู้ตัวอีกทีก็ตอนอยู่ที่อักษรฯ นี่แหละ เพราะว่ามีแต่คนหล่อคนสวยยั้วเยี้ยไปหมด ไม่เท่านั้น ที่คิดว่าตัวเองน่ะเรียนเก่งระดับสุดยอดในจังหวัด ก็มาพบความจริงว่า กูนี่ยังโง่เง่ามากนักที่นี่

     ความฝันของผมในช่วงแรกก็เดือดระอุดี “กูจะเป็นดาราๆ” ท่องทุกวัน พยายามสารพัดวิธีจะเข้าวงการเสียให้ได้ ตอนปี 1 ผมยังไม่ยาวดี ก็หาญกล้าไปสมัครเข้าคณะละครช่อมะกอก เขารับทันที มิใช่เก่งกาจแต่อย่างใด มารู้ทีหลังว่า เขามองว่าไอ้นี่บ้าดี มีอยู่ช่วงหนึ่ง เห็นข่าวจากหนังสือว่าโมเดลลิ่งเขารับนักแสดงประกอบ ก็ไปสมัครกับเขาที่ลาดพร้าว โชคชัย 4 ได้ไปเล่นละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องเจ้าหญิงนิทรา เป็นทหารลิ่วล้อ ถูกพระเอกเตะถีบกลิ้งหลุนๆ เข้าฉากกินพืชพิษ เนื้อตัวเน่าเฟะพุพอง ไม่มีใครสนใจดูแลล้างให้ ต้องลงไปอาบน้ำในคลองเอง นั่นก็เพราะว่ามึนเมาในความฝันจนมองไม่เห็นความจริงนั่นเอง มองไม่ออกด้วยว่า อักษรฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั้นอยู่ระดับท็อปของประเทศแล้ว

     จวบจนย่างเข้าปี 2 จึงเริ่มจะมีสติขึ้นมา หันมามองมิตรภาพอันแสนจะงดงามของหนุ่มสาวในคณะ จนก่อเกิดเป็นกลุ่มโต๊ะไผ่อันลือชื่อ มีที่พำนักอยู่ใต้กอไผ่สีเสียดหัวมุมตึก 4 ข้างสนามบาส ข้างตึกคณะศิลปกรรมศาสตร์ (ปัจจุบัน คือ ตึกบรมราชกุมารี) จุ๊บ จิ๊ก ต๋อง เณร แฟรงค์ เล็ก หุย อ๋อ มด ชื้อ เต้ย พี่เล็ก พี่อ๋อย และผม พวกเราชาวโต๊ะไผ่จากต่างที่ต่างถิ่น รวมตัวกันด้วยความหลากหลาย ได้ใช้ชีวิตผจญภัยสารพัดอย่างร่วมกันจนก่อเกิดเป็นมิตรภาพยาวนานจนถึงตอนนี้ บางคนตัดสินใจครองคู่กันเป็นครอบครัวออกลูกออกหลานยั้วเยี้ย แน่ละ ใบหน้าพวกเราเหี่ยวย่นลงไปเยอะ สังขารก็เริ่มจะลาโรยลงไปตามกาลเวลา แต่พอนึกถึงวันวานย้อนหลังที่อักษรฯ ความมีชีวิตชีวาก็ถั่งโถมกลับคืนมา

     นอกจากเพื่อน ผมยังได้พบครู ที่เป็นมากกว่าครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้หลักการ บางคนก็เป็นเหมือนพ่อแม่ผู้ชุบชีวิต ที่ผมจำได้ไม่มีลืม คือ ครูใหญ่--สดใส พันธุมโกมล ครูใหญ่เป็นผู้มีจิตเมตตาโดยแท้ มีแต่ความรักสุดขอบจักรวาลให้ลูกศิษย์ ผมไม่เคยลืม 2 ประโยคที่ครูใหญ่พูดกับผม ครั้งแรก ตอนผมได้เกรด A วิชาเขียนบทขั้นสูง “สืบไม่เก่งนะ แต่จริงใจ รักษาไว้ให้ดี” และสอง ตอนผมเรียนวิชาการแสดงพื้นฐานกับครู “สืบมีพลังเยอะมาก แต่ต้องขัดเกลาหน่อย ระวังพลังจะไม่ท่วมทับคนอื่นจนเกิดภัยได้” และครูอีกคน คือ ครูช่าง--ชนประคัลภ์ จันทร์เรือง ครูช่างนี่แหละที่ทำให้ชีวิตผมเป็นบ้าเป็นหลังจนทุกวันนี้ เพราะแกเป็นคนหิ้วผมขึ้นรถไปอยู่ด้วยตั้งแต่ปี 2 ครึ่ง และบังคับขู่เข็ญให้ผมทำงานสารพัดอย่างกับแกยาวนานถึง 10 ปี จนเรียนจบแล้วก็ยังจิกหัวใช้ ครูช่างไม่ค่อยได้สอนผมหรอก แต่ให้ผมทำ และเรียนรู้เอง ผิดก็ด่า ดีก็ให้เงิน 20 บาทไปซื้อข้าวผัดกิน แกด่าแบบสาดเสียเทเสีย ถ้าใจอ่อนขี้แพ้ก็คงอยู่กับแกไม่ได้ บังเอิญผมมันบ้า และอึด จึงอยู่ยาวถึง 10 ปี ซึ่งเป็นเวลายาวนานพอๆ กับที่ผมบวชเป็นสามเณรในวัดป่าไกลปืนเที่ยงนั่น ตอนอยู่ในวัด ธรรมะฝังหัวผมอย่างไร อยู่กับครูช่าง ศิลปการละครก็ฝังในจิตวิญญาณผมแนบแน่นไม่ต่างกัน ทุกวันนี้ ผมยังใช้วิชาที่แกสอนทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวอยู่เลย แถมยังแอบต่อยอดปรับปรุงเป็นของตัวเองด้วย

      ตอนผมเรียนอยู่อักษรฯ ผมไม่ค่อยได้ทำกิจกรรมของคณะบ่อยนัก เพราะผมต้องวิ่งฝ่ารถติดไปนั่งดูหนังตามสถาบันต่างๆ ดูแทบทุกวัน ทุกวันอังคารกับเสาร์ ดูหนังฝรั่งเศสที่สมาคมฝรั่งเศส วันพุธดูหนังเยอรมันที่สถาบันเกอเธ่ วันพฤหัสบดีดูหนังอเมริกันคลาสสิกที่สถาบันสอนภาษาเอ ยู เอ วันศุกร์ไปดูหนังญี่ปุ่นที่ศูนย์วัฒนธรรมญี่ปุ่น ส่วนวันอาทิตย์ก็ยอมอดข้าวไปซื้อตั๋วดูหนังใหม่ที่โรง ผมตระเวนดูหมดทุกโรงหนังที่อยู่ในกรุงเทพฯ ผมใช้ชีวิตวัยหนุ่มตอนเรียนอยู่ที่อักษรฯ แบบนี้แหละ ผมเรียน 4 ปีครึ่ง ก็ดูมันทั้ง 4 ปีครึ่งเลย แถมจบแล้วก็ยังไปดูต่ออีกเป็นสิบๆ ปี ที่ผมมีโอกาสได้เปิดโลกด้วยการดูหนังมากมายแบบนี้ ก็เพราะผมได้มาเรียนที่อักษรฯ นั่นเอง

            เพราะผมได้ดูหนังมากมาย ได้สัมผัสและเรียนรู้ศาสตร์และศิลป์จากครูระดับยอดที่อักษรฯ ชีวิตผมก็เริ่มเปลี่ยนไป ผมมองเห็นตัวเองชัดเจนขึ้น จากที่เคยฝันฟุ้งเฟื่องฟูลมๆ แล้งๆ ว่าจะเป็นดาราอย่างนั้นอย่างนี้ ก็เริ่มปรับเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น ผมได้ค้นพบทักษะและสิ่งที่ผมชอบมาก จนสามารถตายไปกับมันได้เลย ก็เพราะการปลูกฝังของคณะอักษรฯ นี่แหละ ผมทำละครเวทีอยู่นานนับสิบปี นานพอจะได้ค้นพบแก่นแท้ของละคร แม้ผมจะไม่ได้ทำมันต่อจนแก่มาถึงป่านนี้ ก็เพราะผมได้ค้นพบคุณค่าและความงามในหนัง ตลอดเวลา 25 ปี ผมมีหนังอยู่ในห้องหัวใจเสมอ ในห้องใดห้องหนึ่ง แม้กระทั่งตอนที่ทำละครเวทีอยู่ ผมก็ยังคิดถึงหนัง จนกระทั่งในท้ายที่สุด ผมก็ตัดสินใจเด็ดขาด และลาออกจากมหาวิทยาลัยชีวิตของครูช่าง เพื่อพยายามสุดแรงเกิดเพื่อจะได้ทำหนังตามที่หัวใจปรารถนา

            บัดนี้ ผมอายุ 47 ปีแล้ว มีครอบครัวแล้ว ภรรยาของผมมิใช่คนอื่นไกล แต่เป็นสาวอักษรฯ แสนน่ารักคนหนึ่ง ที่อยู่ใกล้ชิดดูใจกันมาตอนอยู่โต๊ะไผ่สีเสียดนั่นเอง เธอเป็นแม่ของลูกชายผม ตอนนี้เขาอายุ 8 ขวบแล้ว กำลังน่ารักน่าชัง ผมบอกลูกชายผมเสมอว่า พ่อกับแม่นั้นเรียนที่คณะอักษรฯ และได้พบกัน รักกัน จนได้ก่อกำเนิดชีวิตของลูกขึ้นมา ลูกคือทายาทของคณะอักษรฯ คือทายาทของพ่อกับแม่ นอกจากนั้น ปีนี้ และหลายปีที่ผ่านมา ผมก็ได้เล่นหนังที่แสนรักบ้างประปราย แม้จะไม่ค่อยได้รับบทบาทที่เด่นดังอะไรนัก แต่ไปไหนต่อไหน เด็กหนุ่มช่างกลก็จะรี่เข้ามาหาและขอถ่ายรูปด้วย พร้อมกับเปลี่ยนชื่อผมเสียใหม่เป็นชื่อตัวละครในหนัง ที่ผมไม่พยายามเอาดีทางการแสดงอย่างเต็มที่ ทั้งที่ใจรักนักหนา ก็เพราะว่าผมได้ค้นพบความสุขใหม่ในการทำหนังอย่างอื่น นั่นคือ การเป็นผู้กำกับหนัง เป็นนักเล่าเรื่อง ผมมีเรื่องมากมายจนไม่รู้ว่าชาตินี้จะเล่าหมดไหม?

            อย่าไปหลงเชื่อทีเดียว ถ้ามีใครบอกว่า เรียนมหาวิทยาลัยไม่ได้อะไรหรอก นอกจากกระดาษแผ่นเดียว เพราะมันไม่จริงเลยสักนิด ในความจริงนั้น เราได้อะไรมากมายจนแทบจะนับไม่ไหวด้วยซ้ำ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม แต่ละอย่างก็ล้วนสวยงาม ทรงคุณค่าไปเสียหมด ยกตัวอย่างตัวผมนี่ก็ได้ ผมได้วิชาความรู้ ได้พบครู ได้เพื่อน ได้ภรรยาแสนดี ได้ลูกชาย ได้ค้นพบตัวเอง ได้อาชีพ ได้ชีวิตใหม่ ได้จิตวิญญาณแห่งความจริงใจ และอื่นๆ ที่ไม่อาจจะเรียบเรียงมาสาธยายได้ ใช่อย่างแน่นอน ที่ผมได้ทั้งหมดนั้น ก็ได้มาตอนอยู่คณะอักษรฯ จุฬาฯ นี่แหละ

                                                                                                   

บุญส่ง นาคภู่

ผู้กำกับภาพยนตร์อิสระ

 

กลับขึ้นด้านบน

ครูที่อักษรศาสตร์มีเวทมนตร์ วีรณา โอฬารรักษ์ธรรม อบ.56

ครูที่อักษรศาสตร์มีเวทมนตร์

เล่าโดย  วีรณา โอฬารรักษ์ธรรม  อบ.56

            ครูไม่ใช่เพียงผู้ให้วิชาความรู้ แต่ครูนั้นให้ชีวิต ฉันเข้าใจประโยคนี้อย่างลึกซึ้ง เพราะฉันมีครู 3 คนที่เปลี่ยนแปลงชีวิตฉัน ราวกับครูมีเวทมนตร์ที่ร่ายคาถาวิเศษใส่ฉัน แล้วฉันก็เปลี่ยนแปลงไปเลยตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้

            ครูคนแรก ครูใหญ่--อาจารย์สดใส พันธุมโกมล ฉันไม่เคยลืมวันนั้น วันที่ฉันเดินออกจากห้อง หลังจาก 2 ชั่วโมงของวิชาพื้นฐานการแสดง แล้วฉันมองโลกเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง       

            วิชานั้นมีคนเรียน 13 คน ทุกคนล้วนมหัศจรรย์ เราเรียนในโรงละคร ครูใหญ่บอกว่า สิ่งที่ครูจะสอนมีเพียงแค่ 2 เรื่อง หนึ่งคือความจริง อะไรเล่าคือความจริง นักแสดงที่เต้นบัลเลต์บนเวที นั่นคือความจริงไหม การที่เรากำลังเรียนในห้องนี้ คือความจริงไหม (โอ้ว...เกิดมาไม่เคยมีใครตั้งคำถามได้ธรรมดาแต่เฉียบแหลมขนาดนี้)       และสองคือการรู้จักตัวเอง เรารู้จักตัวเองดีหรือยัง ก่อนที่จะแสดงเป็นใคร เรามี Raw Material อะไรบ้างในตัวเราเอง (โอ้วววว...ส่องกระจกทุกวัน ไม่เคยมีใครเคยกระตุกให้มองให้ลึกแบบนี้มาก่อนเลย)

            กิจกรรมของครูนั้นง่ายดาย เพียงแค่ให้แต่ละคนไปยืนตรงกลางเวทีโรงละคร แล้วแนะนำตัวเอง สิ่งที่ดีเหลือเกิน คือทุกคนเปิดตัวเอง

            ไม่มีวันไหนในชีวิตอีกแล้วที่เราแนะนำตัวเองได้ลึกสุดใจเท่าวันนั้น

            ลึกที่สุดที่ฉันแนะนำตัวเอง คือ ฉันคิดว่าไม่มีใครรักฉัน ความรักไม่มีอยู่จริง! แล้ว...สิ่งที่ครูใหญ่ทำ คือ ลุกเดินมากอดฉัน...ฉันไม่เคยลืมกอดนั้น  

            มันเป็นกอดของความรักที่บริสุทธิ์ใจเหลือเกิน...

            จากนั้นครูบอกฉันว่า...เราไม่ต้องพูดปกป้องตัวเองก่อนที่จะพูดสิ่งใด ไม่ต้องกลัวคนมาว่าเราผิด เราเป็นอย่างที่เราเป็น และทุกคนก็รักเราอย่างที่เราเป็น 

            ฉันเชื่อแล้วว่าโลกนี้มีความรักที่แท้

            และโลกช่างสวยงาม

....................................................

            ครูคนที่ 2 คือ ครูบรูซ แกสตัน

            ชั่วโมงแรกครูบอกว่า จงใช้สัญชาตญาณ ไม่ต้องคิดว่าถูกหรือผิด ที่นี่ไม่มีตำรวจ เวลาครูให้ทำ Exercise อะไร เราเห็นอะไร รู้สึกอะไร พูดออกมาเลย ทำเลย 

            ชั่วโมงสอบ ครูบอกว่า คิดข้อสอบไม่ออก แต่เอาล่ะวันนี้วันสุดท้ายแล้วต้องสอบ ครูมีข้อสอบ 5 ข้อ กับสมุด 1 เล่ม อ่านคำถามแล้วตอบเลย ฉันเขียนอย่างเมามัน จนขอเล่มที่ 2 นั่นอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการรักการเขียนของฉัน

            แล้ว...ชั่วโมงของการเสกคาถาก็มาถึง ครูทำละครเพลงชื่อ หญิงวิปลาส ณ ไชโยต์ ครูให้พวกเราแต่งเนื้อร้อง ครูมอบหมายให้ฉันแต่งเพลงของหญิงวิปลาส โดยบอกว่า เธอบ้า ไม่เหมือนใคร และจงภูมิใจที่เราไม่เหมือนใคร จงบ้าให้ถึงที่สุด

            ความสับสนในชีวิตของฉันจบลง ณ วินาทีที่ครูร่ายมนตร์นั้น

....................................................

ครูคนที่ 3 อาจารย์สุวรรณา สถาอานันท์

            ครูบอกว่า การทำงานมาส่งครู หากหัวข้อเดิม เนื้อหาเดิม เหมือนที่คนอื่นเคยทำมา จะได้ D ถ้าหัวข้อใหม่ เนื้อหาเดิม ได้ C ถ้าหัวข้อเดิม เนื้อหาใหม่ ได้ B ถ้าหัวข้อใหม่ เนื้อหาใหม่ ได้ A

            อะไรกันเนี่ย การท่องจำมลายหายไปจากโลกนี้แล้วหรือ

            มันคือการแสดงความเข้าใจเนื้อหาทั้งหมด แล้วคิดวิเคราะห์บวกความคิดสร้างสรรค์ แล้วกลั่นกรองออกมาเป็นงานที่เป็นของตัวเองโดยแท้ (ช่างสนุกอะไรขนาดนี้)

            หลังจากผลสอบกลางภาคออกมา ครูเรียกฉันไปพบ เราคุยกันสั้นๆ ครูแค่อยากเห็นหน้าคนเขียน

            หลังจากผลสอบปลายภาคออกมา ครูเรียกฉันไปพบอีก ครูบอกว่า เธอมีพรสวรรค์ในการมองภาพรวม

            ฉันไม่รู้หรอกว่าฉันมีหรือไม่ แต่ตั้งแต่วันนั้นที่ครูเสกคาถา ฉันมีพรสวรรค์นั้นในบัดดล

            ....................................................

            ระลึกถึงบุญคุณของครู 3 ท่าน และครูทุกท่านที่คณะอักษรศาสตร์เสมอมา จึงใช้ศักยภาพที่ครูดึงออกมาให้ในวันนั้น มาทำงานที่เป็นประโยชน์ให้สังคมเสมอมา

 

วีรณา โอฬารรักษ์ธรรม

3 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

กลับขึ้นด้านบน

ของฝากจากอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ กฤตินี อุดมผล อบ.56

ของฝากจากอาจารย์คณะอักษรศาสตร์

เล่าโดย  กฤตินี อุดมผล  อบ.56

 สมัยเรียนคณะอักษรศาสตร์ นิสิตแบบเราถือเป็นเด็กเรียนพันธุ์แท้ ไม่ใช่ว่าเรียนเก่งพิเศษอะไร คือไม่ทำอะไรนอกจากเรียนอย่างเดียว ห้องก.อศ. (ห้องคณะกรรมการนิสิตอักษรศาสตร์) ได้ยินแต่ชื่อ อย่าถามถึงพิกัดเชียว อาจต้องใช้เข็มทิศนำทาง เพราะไปไม่ถูกจริงๆ สาเหตุหนึ่ง คือ เลิกเรียนแล้วต้องกลับบ้านเลย เพราะบ้านอยู่นนทบุรี ซึ่งถือว่าไกล แต่ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือ รับปากพ่อว่าจะกลับบ้าน 4 โมงเย็น ทุกวัน ไม่อยากให้พ่อห่วงหน้าพะวงหลังเวลาที่พ่อเดินทาง แค่พ่อทำงานก็เหนื่อยแล้ว ฉะนั้น อะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้พ่อสบายใจได้ ก็จะทำ

ดังนั้นกระหน่ำเรียนเซ็คเช้าเข้าไว้ สบายมาก เพราะมาถึงคณะก็ไม่เกิน 7 โมง ยินดีนั่งตบยุงแม่ไก่ที่ตึก 2 ที่มาอยู่เป็นเพื่อนตอนอ่านหนังสือฆ่าเวลารอเรียนวิชาแรก พอบ่าย 3 ก็เผ่นกลับบ้านแบบไม่เหลียวหลัง ราวกับนักโทษพ้นคุก เส้นทางการเป็นเด็กเรียนแบบนั้นราบรื่นดี จนกระทั่งกลางเทอมหนึ่ง ปี 3 วิชาเปิดดิคชั่นนารี (ชื่อทางการจำไม่ได้แล้ว) ที่อาจารย์รัชนี ซอโสตถิกุล เป็นผู้สอน

“ครูจะต้องไปอเมริกาหลายสัปดาห์ แต่ครูจะเมคอัพคลาสให้ก่อนไป 5 โมงเย็น วันพุธหน้าทีเดียวเลย” ครูกล่าวด้วยความหวังดี

แหม เหมือนฟ้าผ่าเปรี้ยงตรงกลางใจเด็กเรียนคนหนึ่ง ที่ไม่เคยโดดเรียนและไม่เคยกลับบ้านเย็น อุปสรรคครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตตอนนั้นถึงกับนอนไม่หลับเลย พ่อก็ไม่อยู่เสียด้วย ไม่อย่างนั้นก็คงขออนุญาตไปแล้ว ในที่สุดก็ตัดสินใจเลือกรักษาสัญญากับพ่อ คิดว่าหน้าด้านไปขอซีร็อกซ์เล็คเชอร์ของเพื่อนที่เข้าและมาอ่านเองแทน

แต่ก็รู้สึกผิดกับครูมาก บ่ายวันพุธก่อนกลับบ้าน ย่องไปที่โต๊ะของครู เพื่อวางพวงมาลัยและจดหมายขอขมา (ล่วงหน้า) ใจความประมาณนี้

“เรียน อาจารย์รัชนี

หนูต้องขอโทษที่หนูเข้าเรียนเย็นนี้ไม่ได้ ทั้งที่อาจารย์อุตส่าห์จัดเวลาและตั้งใจเต็มที่ หวังว่าอาจารย์จะให้อภัยหนูนะคะ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

ปล. หวังว่าทุกอย่างระหว่างเราจะเหมือนเดิมเมื่ออาจารย์กลับมาจากอมริกา”

หลายสัปดาห์ผ่านไปไวเหมือนโกหก รู้สึกใจเต้นมากที่จะเข้าชั่วโมงของอาจารย์อีกครั้ง

ทันใดนั้น มีมือใครคนหนึ่งมาคว้าแขนเราไว้ เมื่อเดินผ่านห้องพักครู

“จับได้แล้ว กฤตินี” ครูยิ้มขำ เพราะเราทำหน้าเหมือนโดนผีหลอก

“ครูซื้อขนมมาฝากจากอเมริกาให้เธอ”

มันคือเจลลี่บีนที่อร่อยที่สุดในชีวิต และเราก็ค่อยๆ กินทีละน้อยจนจบเทอม

 

 กฤตินี อุดมผล

กลับขึ้นด้านบน

Memoir of an Arts Man สมบูรณ์ ทองประไพแสง อบ.56

Memoir of an Arts Man: บันทึกความทรงจำอันแสนสนุก

เล่าโดย  สมบูรณ์ ทองประไพแสง อบ.56

 

" ณ อุทยานนี้งามด้วยจามจุรี เขียวขจีแผ่ปกผสกจุฬาฯ..."

เมื่อแรกที่รู้ว่าตัวเองเอนทรานซ์ติดคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ผมรู้สึกดีใจมาก แต่แล้วความกลัวและความวิตกกังวลก็ผุดขึ้นในใจ อักษรฯ เป็นคณะในฝันของนักเรียนสายศิลป์ที่รักภาษา เป็นคณะที่มีชื่อเสียงมาช้านาน สร้างบุคลากรคุณภาพให้แก่สังคมไทยและสังคมโลก นักเรียนมากมายจึงปรารถนาที่จะเข้ามาเรียนในสถาบันอันทรงเกียรติแห่งนี้ ในขณะเดียวกันหลายคนก็รู้สึกทั้งเกรงและกลัว...จะสอบเข้าได้หรือเปล่า...และถ้าเข้ามาได้แล้วจะเรียนไหวหรือ...ทั้งนี้เพราะผู้ที่สอบติดนั้นแต่ละคนล้วนแต่เป็นหัวกะทิของโรงเรียนต่างๆ โดยเฉพาะโรงเรียนชื่อดัง ก่อนเข้ามาเรียนที่นี่ผมยังได้ยินจากคนรู้จักหลายคนอีกว่า ที่นี่เพื่อนร่วมคณะจะไม่เป็นมิตรสักเท่าไร แข่งกันเรียน คิดถึงตัวเองเป็นใหญ่ โน่นนี่นั่นมากมาย ผมจึงเริ่มกังวลมากขึ้นทุกที

ผมเองเป็นนักเรียนฐานะปานกลาง เรียนจบจากโรงเรียนพระโขนงวิทยาลัย โรงเรียนเล็กๆ แถวบางจากที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงอะไร มิหนำซ้ำผมยังพิการขาจากโปลิโอ เดินเองไม่ได้ต้องใช้ไม้ค้ำยัน ไปไหนมาไหนไม่ค่อยสะดวกนัก ผมจึงมีความกังวลมากกว่าคนอื่น แต่พอได้มาเรียนที่นี่จริงๆ ผมกลับพบว่าการเรียนที่อักษรฯ จุฬาฯ นั้นเป็นประสบการณ์ที่มีค่ายิ่ง เต็มไปด้วยเรื่องราวน่าประทับใจและสนุกสนานตลอด ๔ ปี

สนุกอย่างไรหรือ ผมสนุกเพราะมีเพื่อนพ้องน้องพี่ที่น่ารักและเป็นมิตร อุปสรรคและความกังวลต่างๆ จึงลดน้อยถอยลงเพราะผู้คนรอบกายผมทั้งรุ่นเดียวกันและต่างรุ่นต่างช่วยเหลือกันทั้งเรื่องเรียนและเรื่องเล่น เราสนุกกับการเรียนวิชาต่างๆ โดยเฉพาะวิชาโหดหินทั้งหลาย เราถ่ายเอกสารจากเพื่อนๆ คนเก่ง ช่วยกันติวก่อนสอบ หยอกล้อกันในหมู่เพื่อน สิ่งเหล่านี้ทำให้มิตรภาพของเราแน่นแฟ้นขึ้น ด้วยความพิการของผมทำให้ได้เห็นความเป็นมิตรและน้ำใจอันงดงามของเพื่อนอักษรฯ การเดินทางไปที่ต่างๆ แม้จะมีข้อจำกัดหลายด้านไม่ว่าจะเป็นระยะทางไกล พื้นถนนที่ลื่นหรือมีดินโคลน อากาศร้อน ฯลฯ เพื่อนๆ ก็คอยให้ความช่วยเหลืออยู่เสมอ การเดินไปคุยไปอย่างเชื่องช้าตามจังหวะการเดินของผมไม่ทำให้ผมรู้สึกว่าเพื่อนๆ รำคาญผมเลย ตรงกันข้ามเรากลับมีเรื่องสนุก เปิ่น ฮา ของกันและกันมาเล่าสร้างความเพลิดเพลิน จนหลายครั้งเพื่อนๆ ลืมไปว่าผมมีปัญหาทางกายภาพอยู่ "เอ่อ...เพื่อนๆ ครับ อย่าลืมนะครับว่าเราพิการ!"

ผมสนุกเพราะกิจกรรมมากมายทั้งในและนอกคณะ เริ่มจากกิจกรรมรับน้องในคณะและมหาวิทยาลัย การซ้อมเชียร์ที่มีว้ากเกอร์ที่ดูดุดัน (แต่ผมรู้ว่าแสร้งทำ) พี่รหัสน้องรหัส งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ (ปีผมจุฬาฯ ชนะ!) งานลอยกระทง งานรับปริญญา จุฬาวิชาการ ฯลฯ เชื่อไหมครับว่าผมเข้าร่วมทุกงาน แม้ในบางงานจะจบแบบไม่สวย ที่จำได้แม่นคือ สมัยผมอยู่ปี ๑ นิสิตชายชั้นปีที่ ๑ ทุกคนต้องสวมชุดขาวและบูมให้พี่บัณฑิต วันนั้นผมลื่นหกล้มเท้าซ้ายแพลง แต่ด้วยสปิริตอันแรงกล้าผมยังทำหน้าที่บูมอย่างเมามันไม่ลดละจนเพื่อนๆ ต้องบอกให้ไปหาหมอเพราะดูท่าว่าจะไม่ไหวแล้ว สมัยปี ๒ ผมเป็นพี่รหัส ก็ดั้นด้นมาคณะแต่เช้าตรู่และกลับบ้านค่ำเพื่อสร้างเซอร์ไพรส์ให้น้องรหัส ตัวผมเองแอบเดินผ่านบริเวณที่น้องนั่งบ่อยๆ เพื่อดูปฏิกิริยาน้อง แอบปลื้มปริ่มดีใจทุกครั้งที่เห็นน้องยิ้ม ด้านงานจุฬาวิชาการนั้นเล่า ผมช่วยงานด้านสัทศาสตร์ของภาควิชาภาษาอังกฤษอยู่ทุกวันจนได้เงินค่าตอบแทนอย่างไม่คาดฝันมา ๔๐ บาท! ซึ่งแม้เป็นจำนวนเพียงน้อยนิดแต่ผมก็ภูมิใจมาก และที่สนุกที่สุดคือการได้รับเลือกเป็นหัวหน้านิสิตชั้นปีที่ ๔ ทำให้ได้จัดกิจกรรมมากมายให้กับเพื่อนๆ ก่อนจากกันไป และด้วยตำแหน่งนี้ผมยังได้รับประสบการณ์ล้ำค่าจากการเป็นประธานฝ่ายสาราณียกรของคณะกรรมการบัณฑิตจุฬาฯ อีกด้วย (ทำเงินให้จุฬาฯ ของเรามากมายด้วยนะ...สิบอกให่!)

ผมสนุกเพราะวิชาความรู้นานัปการที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ของผมอย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยวิชาเอกภาษาอังกฤษ ผมได้รับการถ่ายทอดความรู้อย่างละเอียดลึกซึ้ง ทั้งทางด้านวรรณกรรม โคลงกลอน และหลักภาษาศาสตร์และไวยากรณ์ คงไม่มีใครปฏิเสธว่าอาจารย์ที่คณะอักษรฯ ของเราเก่งมากๆ มีความรอบรู้ในสาขาที่ท่านสอนอย่างลึกซึ้ง เนื้อหาวิชาและงานที่อาจารย์มอบให้ล้วนแล้วแต่นำไปสู่ความเข้าใจเชิงลึก ลูกศิษย์ของท่านจึงมีคุณภาพทุกรุ่น จำได้ว่าในการประชุมครั้งหนึ่ง อาจารย์ผู้ใหญ่ต่างคณะได้กล่าวชมคณะอักษรฯ ในที่ประชุมว่า "ในมหาวิทยาลัยเรา ทุกคณะจะมีชื่อคณะที่บ่งบอกถึงอาชีพของนิสิต ยกเว้นคณะอักษรศาสตร์ที่ชื่อคณะไม่ได้บ่งบอกถึงอาชีพที่นิสิตจะทำโดยตรง แต่นิสิตอักษรฯ ที่จบไปทุกคนทุกรุ่นจะเป็นที่ต้องการของสังคมทั้งในและนอกประเทศเพราะนิสิตทั้งหลายเหล่านี้เปรียบเสมือนเพชรที่ถูกเจียระไนอย่างสมบูรณ์แล้ว" สมัยเรียนชั้นปีที่ ๔ ในวิชาการแปลอังกฤษ-ไทย ผมได้แปลกลอนฝรั่งเป็นโคลงสี่สุภาพจนได้รับเกียรติจาก อ. วรนาถ วิมลเฉลา นำโคลงที่ผมแต่งนี้ไปลงในหนังสือคู่มือการแปลของอาจารย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจสำหรับผมอย่างมาก

ผมสนุกกับการท่องเที่ยวกับเพื่อนๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ครั้งหนึ่งผมกับเพื่อนในกลุ่มไปเที่ยวหาดปึกเตียน จ.เพชรบุรี บังเอิญวันนั้นเป็นวันเกิดของผมด้วย ผมได้เล่นน้ำกับเพื่อนๆ พูดคุยเฮฮาจนลืมไม้เท้าคู่ชีพ พอมารู้ตัวอีกทีก็พบว่าไม้เท้าข้างหนึ่งได้ลอยหายไปในทะเล ทุกคนตกใจพากันช่วยหาแต่ก็ไม่พบ เรากลับไปที่พักอย่างสิ้นหวัง ถึงกระนั้นเพื่อนๆ ก็ขับรถพากันเข้าไปในเมืองเพื่อหาซื้อไม้เท้าคู่ใหม่ให้ผม แต่โชคร้ายไม่มีที่ใดขายเลย เพื่อนๆ จึงไปที่โรงพยาบาลเพชรบุรีเพื่อขอยืมไม้เท้ามาให้ผมใช้ในขณะที่เที่ยวอยู่ที่นั่นและจะนำไปคืนตอนขากลับ แต่สิ่งที่ประทับใจผมมากคือ ทุกคนจำวันเกิดผมได้และซื้อเค้กมาอวยพรวันเกิดผมในวันนั้น...พร้อมไม้เท้าคู่ใหม่! ผมรู้สึกซึ้งใจมากจนกลั้นน้ำตาไม่อยู่

การได้เป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เป็นประสบการณ์ในชีวิตที่หาที่ไหนอีกไม่ได้แล้ว ผมได้รับทั้งความรู้ ความสนุกสนานและประสบการณ์ต่างๆ จากที่นี่ ได้ใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาในงานสอนที่ผมรัก ได้ถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ให้กับลูกศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า การเป็นครูทำให้ผมเห็นคุณค่าของการเป็นผู้ให้และเป็นบ่อเกิดแห่งความภาคภูมิใจ อย่างน้อยผมก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความพิการไม่ได้เป็นอุปสรรคขวางกั้นไม่ให้ผมหยุดเดินตามความฝันของตัวเอง ไม่ใช่ข้อจำกัดขัดขวางทางเดินชีวิต ผมยินดีเสมอที่บทพิสูจน์นี้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น เพราะผมยังสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้เหมือนทุกคน รวมถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลคนรอบข้างและสังคมอย่างเต็มที่เท่าที่ผมจะทำได้ ผมจึงคิดว่าการได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ นั้นเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่ายิ่ง ความทรงจำในที่แห่งนี้จึงเปี่ยมไปด้วยความรัก รอยยิ้ม และความสนุกสนานอย่างแท้จริง ผมขอขอบคุณเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ และกราบขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านจากใจครับ

สมบูรณ์ ทองประไพแสง

กลับขึ้นด้านบน

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University