เรื่องเล่าของนิสิตเก่า รุ่น 68

คิดถึงเธอเสมอ ร.ต.อ.หญิง สุวพร จันทน์เทศ (จ๊อ) อบ.68

คิดถึงเธอเสมอ

เล่าโดย ร.ต.อ.หญิง สุวพร จันทน์เทศ (จ๊อ)

          เมื่อมีเวลาได้เปิดดูอัลบั้มรูปถ่ายสมัยเรียนที่อักษรฯ ทีไร นอกจากความสุขใจที่ได้ย้อนดูภาพความทรงจำเก่าๆ แล้ว ความรู้สึกว่าหัวใจถูกบีบให้เหลือนิดเดียวก็ยังเกิดทุกครั้งที่เห็นรูปของ “แหม่ม”

          แหม่ม เบญจวรรณ กำแหงหาญ เป็นสาวลำปาง จบจากโรงเรียนลำปางกัลยาณี  เมื่อตอนปี 1 เราได้นั่งอยู่กลุ่มเดียวกัน กลุ่มเราตอนนั้น มีแหม่ม ปรางค์ เบนซ์เจมส์ แล้วก็จ๊อ เราจะนั่งประจำที่โต๊ะบนตึกบรมฯ ส่วนเวลาเรียนรวมที่ห้อง 503 กลุ่มเราก็จะเป็นเด็กหน้าห้อง นั่งแถวแรกประจำ ไม่ใช่ขยัน แต่ขี้เกียจเดิน

          ตอนปี 2 ด้วยความที่ขี้เกียจนั่งรถนานๆมาเรียน จ๊อเลยถามเพื่อนๆ ถึงหอพักใกล้จุฬาฯ แหม่มเลยชวนจ๊อมาเป็นรูมเมทที่หอแถวๆ กิ่งเพชร ซึ่งก็ตามประสาคนอยู่ด้วยกันก็ต้องมีดีกัน งอนกันบ้างเป็นธรรมดา แต่เราก็ไม่เคยทะเลาะกันรุนแรงเลย แหม่มมักจะบ่นเสมอว่า จ๊อไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยคุยกับแหม่มเลย (โธ่แหม่มคะ การบ้านภาษาจีนของจ๊อเนี่ยดูดพลังจ๊อออกไปครึ่งนึงแล้วค่ะ) แหม่มเป็นสาวกระฉับกระเฉง ชอบเล่นกีฬา โดยเฉพาะเทนนิส แหม่มชอบซ้อมตีลูกกับผนังที่หอ ทำให้จ๊อหวาดเสียวว่าข้างๆ ห้องเค้าจะมาว่าไหมเนี่ย เวลาไปซื้อเสื้อผ้ากันตามประสาสาวๆ แหม่มจะงอนคนขายทุกครั้งถ้าคนขายบอกว่าไม่มีไซส์ อยากบอกเลยว่าน้ำหนักจ๊อตอนนี้แซงหน้าน้ำหนักแหม่มตอนนั้นไปไกลแล้ว

          ส่วนเวลาเรียนที่มหาลัย เราไม่ค่อยได้เจอกัน เพราะเราเรียนกันคนละเอก แหม่มเรียนเอกฝรั่งเศส จ๊อเรียนเอกจีน วิชาเลือกต่างๆ ก็ไม่เหมือนกัน แต่จำได้ว่าเมื่อตอนปี 4 แหม่มเอาต้นฉบับแปลวรรณกรรมเยาวชนฝรั่งเศสที่แหม่มกับเพื่อนๆ ช่วยกันแปล มาให้จ๊อช่วยวิจารณ์ในส่วนที่แหม่มแปลว่าอ่านแล้วลื่นไหลไหม ต้องแก้ไขเพิ่มเติมอะไรไหม จากนั้นไม่นานแหม่มก็เอาหนังสือที่พิมพ์เป็นรูปเล่มแล้วพร้อมลายเซ็นมาให้จ๊อจ๊อยังเก็บไว้อย่างดีในตู้หนังสือ

          ก่อนเรียนจบไม่นาน แหม่มเคยเปรยๆ กับจ๊อว่าแหม่มรู้สึกเจ็บๆ ที่หน้าอก จ๊อก็บอกให้แหม่มลองไปหาหมอ แต่ตอนนั้นเราเพิ่งจะอายุ 21-22 ยังเด็กเกินไปที่จะใส่ใจเรื่องปัญหาสุขภาพ คิดแต่เรื่องเรียนจบ ทำงาน คิดแต่การสร้างอนาคต ใครจะคิดว่านี่คือจุดเริ่มต้นของเรื่องร้าย

          หลังจากเรียนจบ แหม่มกับจ๊อก็แยกย้ายกันไปทำงานคนละที่ จ๊อทำงานเป็นตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่กรุงเทพฯ แหม่มทำงานที่บริษัทน้ำตาลมิตรผลที่ชัยภูมิ ช่วงแรกๆ เราก็ยังมีโทรและอีเมล์ติดต่อกันบ้าง แล้วก็ค่อยๆ ห่างกันไป จ๊อก็ไม่ได้คิดอะไร เพราะเราเพิ่งเริ่มต้นชีวิตการทำงาน มีเพื่อนใหม่ สังคมใหม่ที่ต้องปรับตัว จนร่วมปี แหม่มถึงได้โทรมาหา บอกข่าวร้ายว่าแหม่มเป็นมะเร็งเต้านมในขั้นที่รุนแรงแล้ว จ๊อเองพูดอะไรไม่ออก แหม่มบอกว่าที่ไม่ได้ติดต่อเพราะยังทำใจไม่ได้ แต่ตอนนี้แหม่มเริ่มโอเคแล้วเลยโทรมาบอกจ๊อว่าแหม่มรักษาตัวอยู่ที่เชียงใหม่ แต่ขอร้องว่าไม่ให้บอกเพื่อนคนอื่น จ๊อก็ได้แต่รับปาก

          เมื่อมีโอกาส จ๊อขึ้นไปเยี่ยมแหม่มที่เชียงใหม่ แม้จะไม่ชินตากับภาพที่แหม่มไม่มีผม แต่ยอมรับว่าแหม่มยังดูสดใส มีรอยยิ้มน้อยๆ ตลอดเวลา คำพูดสุดท้ายก่อนจากกัน แหม่มบ่นว่าแหม่มอยากกินไอติมจัง หมอห้ามไม่ให้กิน จากการพบกันครั้งนั้น จ๊อเบาใจว่าแหม่มอายุยังน้อย กำลังใจเข้มแข็ง แหม่มต้องผ่านวิกฤตนี้ไปได้แน่ๆ

          แต่แล้วอีกหลายเดือนต่อมา ระหว่างที่จ๊อฝึกอบรมอยู่ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจที่สามพราน ซึ่งจะกลับบ้านได้เฉพาะเสาร์อาทิตย์ วันอาทิตย์ก่อนจ๊อกลับเข้าโรงเรียน แม่ก็โทรศัพท์มาบอกว่าเพื่อนที่โรงเรียนเก่าของแหม่มโทรมาแจ้งว่าแหม่มเสียแล้ว จำได้ว่าตัวเองทำอะไรไม่ถูก น้ำตาไหลโดยไม่รู้ตัว เสียใจที่ไม่อาจไปร่วมงานศพแหม่มได้ ได้แต่โทรบอกเพื่อนๆ ซึ่งเพื่อนๆ ทุกคนที่ทราบข่าวก็ตกใจกัน เพราะไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าแหม่มเป็นมะเร็ง

         

        พอจ๊อฝึกเสร็จก็ออกมาประจำอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก็มีเหตุการณ์นึงที่จะว่าเป็นเรื่องบังเอิญหรือจ๊ออาจจะคิดไปเองก็ได้ แต่จ๊อเชื่อว่าความผูกพันบางอย่างทำให้แหม่มต้องการมาส่งข่าวให้จ๊อรู้ คือว่ามีอยู่คืนนึงจ๊อฝันว่ากำลังเดินคุยกับเพื่อนที่ทำงานไปตามทางในสนามบิน ผ่านห้องๆ นึงจ๊อเห็นแหม่มยืนยิ้มอยู่ในห้องนั้น ความรู้สึกตอนนั้นไม่ได้คิดว่าแหม่มจากไปแล้ว คิดเพียงแต่ว่าดีใจที่ได้เจอเพื่อนสมัยเรียน เลยหันไปบอกเพื่อนที่ทำงานให้เดินไปก่อน จ๊อเจอเพื่อน ยังจำได้ว่าในห้องที่แหม่มยืนอยู่มีเฟอร์นิเจอร์พวกตู้ โต๊ะ อยู่หลายตัว แต่ทุกตัวมีผ้าขาวคลุมไว้ จำรายละเอียดบทสนนทนากับแหม่มไม่ได้ทั้งหมด แต่ที่ยังจำได้จนทุกวันนี้ แหม่มบอกว่าแหม่มอยู่ที่นี่สบายดี ไม่ต้องห่วง แล้วจ๊อก็โบกมือลาแหม่มบอกว่า จ๊อต้องกลับไปทำงานแล้ว จากนั้นก็ตกใจตื่น แต่คราวนี้จ๊อร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวร รู้สึกตื้นตันใจที่แหม่มคงยังคิดถึงเพื่อนคนนี้อยู่

          นับถึงปีนี้ (2559) แหม่มก็จากไปร่วม 10 ปีแล้ว แต่แหม่มยังอยู่ในความทรงจำของเพื่อนทุกๆ คน เชื่อว่าแหม่มคงกำลังเฝ้าดูพวกเราอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งอย่างแน่นอน รักและคิดถึงแหม่มเสมอ

กลับขึ้นด้านบน

หวนคำนึงถึงอักษร สุธาสินี ใจสมิทธ์ (นก) เอกฝรั่งเศส อบ.68

หวนคำนึงถึงอักษร

เล่าโดย สุธาสินี ใจสมิทธ์ (นก) เอกฝรั่งเศส  อบ.68

           กาลเวลาที่ผ่านเลย แต่ไม่เลยผ่านในความทรงจำ สำหรับ 4 ปีในรั้วอักษรศาสตร์ ร่มชงโค ตึกบรม ตึก 4 เทวาลัย โต๊ะม้าหิน ห้องสมุด เมื่อย่างเท้ามาที่คณะ ภาพเก่าๆ ก็ย้อนกลับมาให้ระลึกถึง ชีวิตเด็กอักษรคือ บททดสอบอีกบทหนึ่งของชีวิตที่ต้องแลกมาด้วยรอยยิ้ม คราบน้ำตา ความมุ่งมั่นและความพยายาม เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ใส่แว่น กระโปรงจีบยาวถึงตาตุ่ม รองเท้าขาว ออกจะดูเป็นเด็กเรียนสักหน่อยในสายตาเพื่อนๆ มองเผินๆ อาจจะดูเงียบเรียบร้อย แต่ถ้าได้คุยหรือสนิทกันแล้ว เพื่อนๆ จะรู้ว่า เราเป็นคนช่างพูด คุยได้ทุกเรื่อง จริงจังกับการเรียน เราเองเป็นเด็กโรงเรียนวัดคนหนึ่งที่แต่ก่อนเป็นที่หนึ่ง เป็นนักเรียนดีเด่น เป็นประธานนักเรียน ได้รางวัลมาตลอด อักษรศาสตร์ จุฬาฯ เป็นคณะที่หวังจะเข้าศึกษา มาเจอกับชีวิตจริง ยิ่งต้องพิสูจน์ตัวเอง เข้ามาคณะไม่ทันไร เพื่อนๆ โรงเรียนวัดที่นั่งข้างๆ ก็ทยอยลาออกไปเรียนที่อื่นจากสภาพกดดัน การเรียนที่หนักหน่วง แต่เราเลือกกัดฟันสู้ต่อ แม้แม่จะบอกว่าให้ไปเรียนที่อื่นเมื่อเห็นเราเครียดกับการเรียนที่ค่อนข้างหนัก สำหรับการเรียนในชั้นปีที่ 1 ต้องขอบคุณพี่นนท์ พี่รหัสที่ให้เลคเชอร์มาอ่าน ให้คำปรึกษา คอยแนะนำอยู่เป็นระยะ  เราขวนขวาย เข้าห้องสมุดและห้อง self อ่านหนังสืออย่างหนัก คิดอยู่ในใจว่า เราต้องพยายามมากกว่าเพื่อน เพื่อให้ตัวเองเรียนรอดไปกับเพื่อน ปีหนึ่งเจอวิชาภาษาอังกฤษ เรียนได้แย่มาก หัวไม่ไป จำได้ว่า       มีงานภาษาอังกฤษของอาจารย์โสมชา หอมหวล ชิ้นหนึ่ง ให้บรรยายพรรณนาโวหารส่ง เราเขียนบรรยายสวนจตุจักร อาจารย์ให้ C มา แล้วให้ไปแก้ไขมาส่ง วันรุ่งขึ้นเราออกจากบ้านไปนั่งอยู่สวนจตุจักรทั้งวัน จดรายละเอียดสถานที่จริง แล้วกลับมาเขียนส่งใหม่ อาจารย์ให้ A มา แต่อาจารย์ก็เรียกเราพบค่อนข้างบ่อยเพราะเห็นว่างานหลายชิ้นเราได้คะแนนไม่ดี ทุกครั้งอาจารย์เมตตามากๆ พูดคุยอย่างดี ให้กำลังใจ และให้โอกาสแก้ไขเสมอ ปลายเทอม เราเก็บงานทุกชิ้นใส่แฟ้มส่ง อาจารย์เขียนหน้าแฟ้มว่า wonderful A+ และบอกว่า เราแสดงถึงความพยายามที่จะปรับปรุงตัว ขอบคุณคำพูดของอาจารย์ที่เป็นพลังให้มีกำลังใจในการเรียน มีอีกคนที่ต้องขอบคุณ ขอบคุณเอมากที่สุด เอเสียสละเวลาอยู่ติวภาษาอังกฤษให้เราถึงเย็นตลอด ไม่ว่าจะทำการบ้าน สอบในวิชา สอบหนังสืออ่านนอกเวลา แม้สุดท้ายเราได้ C+ แต่เรากลับดีใจที่ได้วิชาความรู้ที่มีค่าจากอาจารย์ยิ่งกว่าเกรดและได้เพื่อนที่ดีมากๆ มาอีกคน และก็ต้องขอบคุณเพื่อน Class ภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะสาลี่ เบียร์ บี ที่ช่วยให้การเรียนในห้องมีความสุขขึ้น และมีอยู่ครั้งหนึ่ง เราไปผ่าฟันคุดมา 4 ซี่ พอผ่าเสร็จกลับมาเรียน แล้วลืมขอยาพารามา พอยาชาหมดฤทธิ์ ระบมเจ็บปวดมากจนเพื่อนๆ ต้องไปช่วยหาน้ำแข็งมาประคบให้ ซึ้งทั้งน้ำตา มาถึงวิชาปรัชญาสุดหิน เปลี่ยนอาจารย์สอนมา 3 ท่าน สอบกลางภาค คะแนนไม่ถึงครึ่ง ขอเข้าพบอาจารย์คนที่ 3  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประทุม  อังกูรโรหิต บอกกับอาจารย์ว่า “หนูไม่รู้ว่าจะได้ F วิชานี้หรือเปล่า อาจารย์พอจะมีหนังสือหรือมีวิธีการอะไรให้ไปปรับปรุงตัวไหมคะ” อาจารย์ก็แนะนำวิธีเรียนในครึ่งหลังให้อย่างดี ยังจำคำพูดของอาจารย์ได้ว่า “ถึงหนูจะได้เกรดอะไร หนูก็ภาคภูมิใจได้ว่า หนูได้ทำเต็มที่แล้วสมเป็นเด็กอักษร จุฬา” ส่วนอีกเรื่องที่ชื่นใจ เรารักการเรียนวิชามนุษย์กับศาสนามาก ศาสตราจารย์ปรีชา  ช้างขวัญยืน ได้ขอเก็บรายงานที่ทำไว้และบอกว่าทำได้ดี มีบทวิเคราะห์ตามความรู้ที่เรียน ระหว่างนั้นก็มีเรื่องไม่สบายใจนิดหน่อยตรงที่เป็นพุทธ แต่มีคณะคริสตจักร ที่เผยแพร่ศาสนาตามไม่เลิก ลงมาเรียนเสร็จ เดินตามทุกวัน ล้อมหน้าล้อมหลัง เลยไปปรึกษาอาจารย์ว่า “จะทำอย่างไรดีเขาถึงจะเลิกตาม” อาจารย์ก็พูดติดตลกว่า “เราก็ไปบอกเขาว่า เราเปลี่ยนเป็นมุสลิมแล้ว โอเคนะ” ขอบคุณความตลกเล็กๆ ของอาจารย์ แม้จะเรียนหนักแต่เราก็เข้าห้องเชียร์ทุกวัน จำได้ว่า เวลาเข้าห้องเชียร์แล้วร้องเพลงมหาจุฬาลงกรณ์ทีไร ขนลุกด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เรื่องร้องและเต้นก็ชอบมาก พี่ๆ เป็นกันเอง สนุกสนาน ตลกเฮฮามาก ได้ทั้งสาระและความบันเทิง มีความสุขกับการได้กินน้ำแดงและขนมปี๊บที่พี่ๆ เลี้ยงทุกวัน น้ำหนักขึ้นไปหลายกิโล แล้วก็มีกิจกรรมเชียร์โต้กับเพื่อนอักษรที่ศิลปากร สนุกสนานมากและเป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างสองสถาบัน ยังได้แลกกระดุมเสื้อ ตุ้งติ้ง และเข็มมหาวิทยาลัยกับเพื่อนๆ ภายหลังดีใจที่มีจดหมายและโปสการ์ดที่เพื่อนศิลปากรเขียนส่งมาให้ช่วงปิดเทอมด้วย 3-4 ฉบับ และมีกิจกรรมอีกหลายอย่างที่เราประทับใจ เช่น การมีพี่รหัส ย่ารหัส น้องรหัสที่คอยดูแลกัน พี่ รหัสเราใช้นามว่า หมีพูห์หรือวินนี่ เดอะ พูห์ เราใช้ว่าโดเรมอน จดหมายทุกฉบับ กระดาษโน้ตเราเก็บไว้ในกล่องไม้ ว่างๆ หยิบมาอ่านแล้วอบอุ่นใจดี วันเปิดสายรหัสมีลูกโป่งสีขาวนับร้อยที่พี่ๆ ทำเป็นซุ้มให้ถ่ายภาพร่วมกับสายรหัส ทุกคนต่างยิ้มแก้มปริเห็นได้จากภาพที่อัดมา มีอีกเรื่องที่วิเศษสุดสำหรับเด็กอักษรคือ การได้ดูละครเวทีเป็นครั้งแรก เข้ามาปีหนึ่งได้ดูและเขียนบทวิจารณ์ละครเวทีเรื่อง “คอยโกโดต์” หรือ “Waiting for Godot” ของ Samuel Beckett เป็นละครแนว absurd ที่แสดงถึงความไร้สาระและว่างเปล่าของมนุษย์ รวมถึงเหตุการณ์ที่ไร้คำอธิบายของตัวละครที่เฝ้ารอการมาของโกโดต์ โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าโกโดต์คืออะไร เป็นละครเรื่องแรกที่ทำให้ต้องขบคิดและมีสารัตถะแห่งชีวิตซ่อนอยู่ จากครั้งนั้นก็ตั้งใจลึกๆ ว่าจะต้องดูละครของคณะให้ได้มากที่สุด ในการเรียน 4 ปี และก็ทำได้สำเร็จโดยเข้าชมละครคณะไปหลายสิบเรื่องจากสูจิบัตรและตั๋วเข้าชมที่สะสม

            สำหรับการเรียนในชั้นปีที่ 2  มีเรื่องให้ต้องคิดหนักว่าจะเปลี่ยนเอกดีไหม ตอนปีหนึ่งเราเลือกเรียนฝรั่งเศส เพื่อนที่เรียนด้วยกันบางคนก็เปลี่ยนเอก ตูนเปลี่ยนไปเรียนเอกไทย ปาก็เปลี่ยนไปเอกละคร แล้วเราล่ะ เกรดฝรั่งเศสก็กลางๆ จะเรียนไหวหรือเปล่ายังไม่รู้ เดินไปหาผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปณิธิ หุ่นแสวง อาจารย์ที่ปรึกษาถามว่า “อาจารย์คะ หนูเปลี่ยนเป็นเอกไทยหรือประวัติศาสตร์ดีไหมคะ” อาจารย์หัวเราะและบอกว่า “ได้หมดทั้งสามเอก เผลอๆ เอกอื่นยังดีกว่า มีงานทำ เอกฝรั่งเศสจบไปบางทีก็ตกงานนะ” อาจารย์คงให้กำลังใจและบอกให้ไปคิดมา 3 วัน กลับบ้านวันนั้นใส่ชุดนิสิต เครียดแล้วนั่งร้องไห้อยู่หน้าพระพุทธรูปที่บ้าน สุดท้ายก็มาบอกอาจารย์ว่า “อาจารย์ หนูตัดสินใจไม่เปลี่ยนเอก เป็นตายขอให้ได้เรียนในสิ่งที่รัก หนูจะพยายามให้ดีที่สุด” พอผ่านพ้นปีสองมาได้ ขึ้นปีสาม ปีสี่ ก็ปรับตัว ปรับใจไปกับการเรียน ต้องขอบคุณอาจารย์และเพื่อนในเอกที่ทำให้บรรยากาศการเรียนมีความสุข จำได้ว่า เราไปแสดงละครฝรั่งเศสที่โรงเรียนไกลกังวล หัวหินด้วยกัน ได้ไปทะเลที่อยู่ใกล้ๆ ได้ไปค่ายฝรั่งเศส ทั้งรุ่นเราและรุ่นน้องที่สวนองุ่น พิเศษตรงมีการแต่งบทกวีไฮกุเป็นภาษาฝรั่งเศส มีการเล่นกีตาร์ร้องเพลงจากอาจารย์ฝรั่งเศส ส่วนงานจุฬาวิชาการของคณะ พวกเราอยู่ดึกทุกวันจนงานเสร็จ เรายังได้ไปอัดวิดีโอสั้นแสดงโฆษณาเป็นภาษาฝรั่งเศส อ่านบทกวีหน้าชั้นเรียน และอีกหลายกิจกรรมที่ได้ทำร่วมกัน ชอบทุกวิชาเพราะอาจารย์ทุกคนสอนดีมาก ทั้งวิชาหลักและวิชาเลือกอย่างปรัชญาฝรั่งเศสที่ทำให้เราเข้าใจมนุษย์ในมิติต่างๆ มากขึ้น เปิดโลกกว้าง รู้จักการนำความรู้มาปรับใช้ในชีวิต อีกทั้งเราชอบไปสนทนากับอาจารย์ฝรั่งเศส Julie Pomponi เราเคยไปเล่าหนังฝรั่งเศสเรื่อง Amelie และทำไม้ไอติมติดหน้าตัวแสดงไป อาจารย์ก็หัวเราะชอบใจ เราได้ติวหนังสือร่วมกับเพื่อนๆ ในเอกใต้ตึกก่อนสอบ ทุกคนช่วยกันเรียน ช่วยเหลือให้กำลังใจกันมาจนปีสี่ นอกจากเพื่อนในเอก เพื่อนต่างเอกก็ล้วนเป็นคนน่ารัก รู้สึกดีทุกครั้งที่ได้คุยกับเพื่อนๆ ทุกคน เราไม่เคยนึกเปรียบตัวเองกับเพื่อน มีแต่ชื่นชมเพื่อนๆ และดีใจที่ได้มาร่วมเรียนกับเพื่อนในรุ่นที่เก่งและหยิบยื่นน้ำใจให้ คงจะบรรยายความดีงามของเพื่อนแต่ละคนได้ไม่หมด แต่ขอให้รับรู้ว่า ทุกคนมีส่วนทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียน และไม่เกี่ยวกับการเรียน เช่น อุ้มอิตาลีทำให้เราหันไปฟังเพลงเพราะเห็นอุ้มมีความสุขทุกครั้งที่ฟังนักร้องญี่ปุ่น แต้เยอรมันชอบอ่านนวนิยายจนทำให้เราไปหาอ่านตาม เซฟแนะนำหนังสือดีๆ ให้ข้อคิดหลายเล่ม สาลี่ให้ยืมไดอารี่ตัวเองมาอ่าน ฯลฯ  ในที่สุดพวกเราก็จบเป็นบัณฑิต เมื่อจบไปแล้ว ความเป็นอักษรไม่เพียงมีแต่เฉพาะเอกเรา รุ่นเรา กับรุ่นพี่ รุ่นน้อง ที่ได้ไปเจอโดยบังเอิญในหลายโอกาส หลายสถานที่ ได้พูดคุยกัน ได้แบ่งปันเรื่องราวดีๆ และได้ทำอะไรดีๆ ร่วมกัน เพราะอักษรทำให้มีวันนี้              

      ก้าวเข้าสู่โลกการทำงาน เพื่อนๆ แยกย้ายไปมีชีวิตของตัวเอง เราอาจจะเป็นคนที่หวนกลับมาคณะค่อนข้างบ่อยด้วยความที่เราเรียนโทและทำงานอยู่อีกคณะ เรากลับมาที่ตึก 4 ดูละครเรื่องตู้กู้สาวที่อัน นม แสดง เป็นละครเรื่องสุดท้ายก่อนทุบตึก 4 เราได้รับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระองค์ท่านทรงได้ถ่ายรูปร่วมกับนักแสดงและทีมงาน พอโรงละครทุบและสร้างอาคารใหม่ เรายังกลับมาดูละครที่โรงละครสดใส พันธุมโกมล อาคารมหาจักรีสิรินธร เราจะกลับมาคณะเสมอเมื่อมีโอกาส มากินข้าวที่โรงอาหาร บางครั้งเราเดินไปที่ห้องเลคเชอร์ห้องใหญ่ 503 ซึ่งกำลังรื้อปรับปรุงใหม่ เห็นแล้วคิดถึงตอนที่รุ่นเรานั่งเรียนวิชารวมกัน กลับมาทักทายบรรณารักษ์ มาบริจาคหนังสือของตัวเองและมายืมหนังสือที่ห้องสมุดไปอ่าน หัวใจพองโตทุกครั้งที่มาคณะ รู้สึกมีความสุขมาก ครั้งหนึ่ง เรากลับมานั่งฟังผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปณิธิ หุ่นแสวง บรรยายในงานเสวนาวรรณกรรมฝรั่งเศส "รุสโซ 2012: ความรู้ ความรัก และเงิน" โดยไม่รู้มาก่อนว่า อาจารย์จะบรรยายเป็นครั้งสุดท้าย วันนั้นจำได้ว่า ฝนตกหนักมาก พอเลิกงานก็รีบไป ตั้งใจมอบของที่ระลึกให้อาจารย์เป็นกล่องไม้ลายนกแฮนด์เมด นั่งรถตุ๊กๆ ฝ่าพายุฝน พอไปถึง ความรู้สึกเหมือนนั่งในห้องเรียนสมัยเป็นนิสิต ฟังน้องๆ รุ่นหลังที่ทั้งเก่ง มีความสามารถร่วมเสวนา นั่งฟังอาจารย์บรรยายอย่างตั้งใจ ได้ทั้งความรู้และแง่คิดดีๆ พอบรรยายจบ เราก็เข้าไปไหว้อาจารย์ ดีใจที่เห็นรอยยิ้มของอาจารย์ และอาจารย์เข้ามาโอบกอดเรา วินาทีนั้น เราตื้นตันจนพูดไม่ออก รู้สึกซาบซึ้งใจ และอาจารย์ก็ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ เลยเล่าถึงตัวเองและเพื่อนๆ สั้นๆ ว่า        แต่ละคนในรุ่นทำอะไรกันอยู่ อาจารย์ก็พูดว่า “ขอบคุณที่มา อาจารย์จะเกษียณแล้วนะ ไม่มาสอนแล้ว อาจารย์อยากมีเวลาไปอ่านหนังสือที่รักอีกหลายเล่มและทำอะไรอีกมากมาย” เราอวยพรให้อาจารย์และขอบคุณอาจารย์ มอบของให้ และเดินจากมาแบบใจหายที่จะไม่ได้เจออาจารย์อีก เหลือแต่เสียงบรรยายที่อัดมาและลายมืออาจารย์ในวันวานให้ระลึกถึง นอกจากนั้น เราก็ได้พบอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ในที่ต่างๆ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ อดีตคณบดีอักษรศาสตร์ ปัจจุบันท่านเป็นรองอธิการบดี อาจารย์รศนาภรณ์ วีรวรรณ เป็นผู้ช่วยอธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วารุณี ปัทมะศังข์ เป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบทางวิชาการ อาจารย์จำเราได้และได้พูดคุยกัน เรามีโอกาสไปประชุมร่วมกับอาจารย์บางท่าน เราได้เห็นความเก่ง ความสามารถของอาจารย์ในฐานะผู้บริหารหญิงซึ่งเราไม่เคยได้เห็นสมัยเรียน และเราเห็นคณะอักษรศาสตร์ก้าวมาไกลเทียบระดับโลกด้วยความเป็นเลิศในด้านต่างๆ นอกจากความเก่งทางวิชาการ อาจารย์ทุกท่านเป็นแบบอย่างที่ดีในการอุทิศตน เสียสละ ทำงานเพื่อส่วนรวมและทำประโยชน์ให้กับผืนแผ่นดิน ไม่เพียงแต่ความรู้ทางโลกที่อาจารย์มอบให้ อาจารย์บางท่านยังให้ความรู้ทางธรรม สอนให้เข้าใจธรรมชาติและความเป็นจริงของชีวิต เราได้รับหนังสือธรรมะ บทกวี หนังสือดีๆ หลายเล่มจากอาจารย์ และแม้ในวาระสุดท้าย อาจารย์ท่านหนึ่งก็ยังมอบบทเรียนชีวิตให้ ด้วยความเคารพรักและระลึกถึง  รองศาสตราจารย์ ดร . แพรวโพยม บุณยะผลึก ได้ไปร่วมงานฌาปนกิจศพของอาจารย์ พวงหรีดและความรักที่ทุกคนมีในตัวอาจารย์คือ ความดีงามที่อาจารย์ได้ทำเพื่อแผ่นดินมาตลอดชีวิต ยังจำความหมายของความรักที่อาจารย์เคยสอนได้ดี ตั้งแต่การให้ความรักกับคนในครอบครัว ความรักกับคู่ชีวิต ความรักในมิตรสหาย สัมผัสได้จากสิ่งที่ได้เห็นและรับรู้ความรู้สึกรักจากทุกคนที่มาในงาน ทั้งหมดเป็นเพียงภาพสะท้อนความดีงามของอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ที่ประทับใจและขอขอบคุณอาจารย์ทุกท่านจากใจ

                      

         ตั้งแต่เดินจากความเป็นนิสิตมาเผชิญกับโลกความเป็นจริง มีอีกสิ่งหนึ่งที่อักษรศาสตร์ได้มอบของขวัญที่มีค่าให้ก็คือ มิตรภาพ ความรัก และความผูกพัน ขอบคุณเพื่อนๆ ทุกคน ขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับ เอ๋ จิ๊บ แจง ที่แม้ในยามที่เราท้อแท้ อ่อนแอ อยู่คอยเป็นที่ปรึกษา ให้คำพูดดีๆ ให้เวลา และเป็นกำลังใจให้เสมอ ยังจำภาพวันที่เราป่วยหนักที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต ไม่สบายมาก ช่อดอกไม้และกลอนให้กำลังใจของพวกเพื่อนก็ส่งมาถึง เรายังเก็บมันไว้ตลอด รวมทั้งเย หนิง โน้ต คอยช่วยเหลือและมีน้ำใจมอบให้ตลอดมา แม้เราจะไปเจอเพื่อนใหม่ ก็ไม่เหมือนเพื่อนเก่าที่ดีและจริงใจที่เรามี จำคำพูดตอนเรียนเอกละครที่รองศาสตราจารย์จารุณี หงส์จารุ เคยสอนได้ว่า “Make new friends and keep the old. One is silver and the other is gold.” สำหรับความหมายของคำว่าเพื่อนไม่ได้เลือนหายไป ถึงเพื่อนที่รักทุกคนในรุ่น ทุกครั้งที่เห็นความสำเร็จที่งดงามของเพื่อนๆ ในด้านต่างๆ รู้สึกดีใจไปด้วยเสมอ เส้นทางข้างหน้า แม้เราจะไม่ได้เจอกันจากภาระความรับผิดชอบที่แต่ละคนมี ขอให้รู้ว่าเรายังมีกัน ขอให้ดูแลตัวเองและมีความสุขมากๆ กับทางเดินชีวิตที่ทุกคนเลือก เชื่อเสมอว่า ทางที่แยกจากไป สักวันมันคงมาบรรจบกัน ตราบที่ยังมีลมหายใจ เราอาจจะได้พบกันสักวัน

        สุดท้าย รอยยิ้มแห่งความสุขผุดขึ้นมาเมื่อได้เห็นเอกสารทุกชิ้น จดหมายทุกฉบับ เลคเชอร์ ภาพถ่าย ทุกสิ่งที่เกี่ยวกับอักษร เราเก็บไว้อย่างดี ชีวิตและจิตวิญญาณได้หลอมรวมความเป็นอักษรในตัวเรา ภูมิใจที่ครั้งหนึ่งในชีวิตเคยได้ศึกษา ขอบคุณบ้านสีเทา ณ ที่แห่งนี้ เคยได้ร่วมฟันฝ่า เคยได้แลกมา เคยได้ใช้ชีวิตร่วมกัน เป็นที่ที่รวมความรัก ความผูกพัน แทนสายใยของทั้งคณาจารย์และนิสิต แม้เวลาจะทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงและต้องเดินหน้าต่อไป แต่เวลายังไม่อาจพรากความทรงจำถึงคณะ อาจารย์ และเพื่อนทุกคนทุกครั้งที่มาเยือน ไม่ว่าวันนี้หรือว่าเมื่อไหร่ อักษร จุฬาฯ ยังคงประทับในใจมิรู้ลืม

กลับขึ้นด้านบน

สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

Copyright 2024 The Faculty of Arts Chulalongkorn University