สังคมอักษรศาสตร์

กลับหน้าหลักสังคมอักษรศาสตร์

“จากอักษรศาสตรบัณฑิต สู่ผู้หญิงเก่งแห่งแวดวงราชการ”

อักษรสัมพันธ์ฉบับนี้ พามารู้จักสาวอักษรฯ 3 ท่านคือ คุณบุษยา มาทแล็ง (อบ.45) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ คุณอัมพวัน วรรณโก (อบ.45) อธิบดีกรมท่าอากาศยาน และ คุณดวงใจ อัศวจินตจิตร์ (อบ.48) เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ซึ่งแต่ละท่านล้วนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์จนได้รับตำแหน่งสูงสุดใน 3 หน่วยงานภาครัฐ ... มาดูกันว่าแต่ละท่านมีแนวคิด มุมมอง และวิธีการทำงานอย่างไรจึงประสบความสำเร็จอย่างสูง

คุณบุษยา มาทแล็ง กล่าวถึงหลักการและปรัชญาในการทำงานและใช้ชีวิต ที่ทำให้สามารถสร้างประวัติศาสตร์ปลัดคนแรกของกระทรวงบัวแก้วที่มาจากคณะอักษรศาสตร์

“ประเทศไทยยุค 4.0 คือ ยุคที่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชายก็จะต้องสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงให้ได้ จะต้องเป็นผู้แสวงหาความรู้ให้ตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เราสามารถดำเนินบทบาท และทำตามหน้าที่ในปัจจุบันของตนเองให้ดีที่สุด ... ดิฉันโชคดีที่เติบโตมาในครอบครัวที่เปิดกว้างทางการศึกษา ให้ลูกหลานได้เลือกเรียนและเลือกทำงานในสิ่งที่ชอบ และก็โชคดีที่ได้มาทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศ การสังเกตทุกจังหวะของชีวิต ทุกประสบการณ์ที่เข้ามา ปัจจัยต่างๆ จะทำให้รู้ว่าตนเองต้องการอะไร ขอเพียงเปิดกว้างพร้อมรับประสบการณ์ หาคุณค่าที่ในสิ่งที่ตัวเองทำ และทำงานด้วยสติและปัญญา ... เราต้องหมั่นสำรวจตัวเองและสิ่งรอบตัวอยู่เสมอ เพื่อให้มองเห็นข้อบกพร่องของตนเอง หรือความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มพูนความรู้และทักษะ ดิฉันเห็นข้อได้เปรียบนี้จากการเรียนจบจากคณะอักษรศาสตร์ ซึ่งสอนให้เรามีความรู้กว้าง มีความเข้าใจบริบททั้งทางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่าง สามารถปรับตัว และต่อยอดการทำงานที่หลากหลายสาขา”

เคล็ดลับความสำเร็จของท่านปลัดฯ บุษยา คือ การให้คุณค่าในทุกสิ่งที่ทำ และเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนเองทำ ... คนที่เป็นข้าราชการมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และเสียสละโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชนและส่วนรวมเป็นที่ตั้ง โดยยึดถือคติสำคัญเป็นหลักในการดำรงชีวิต คือ การทำความดี และมีคุณธรรม

ท่านปลัดฯ ได้ฝากทิ้งท้ายถึงนิสิตรุ่นใหม่ๆ ของคณะอักษรศาสตร์ว่า “คณะอักษรศาสตร์มีชื่อเสียงในด้านการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ จึงทำให้นิสิตมี “เครื่องมือ” ที่จะแสวงหาความรู้ ต่อยอดในสาขาวิชาอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้นิสิตมีความเข้าใจในวัฒนธรรม สังคม ขนบธรรมเนียมประเพณีของคนชาติอื่นได้ดี ส่งผลให้เป็นผู้ที่มีความรอบด้าน มึความสามารถในการปรับตัวได้ดี อยากจะให้น้องๆ ใช้ความรู้ และทักษะด้านภาษาให้เป็นประโยชน์ รวมทั้งหมั่นฝึกฝนเพิ่มพูนความสามารถเชิงวิเคราะห์ เพื่อนำมาพัฒนาตนเองให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศต่อไปในอนาคต”

คุณอัมพวัน วรรณโก เล่าถึงการเรียนอักษรศาสตร์ที่ได้ให้พื้นฐานการทำงานอย่างมีความสุข นับตั้งแต่วันแรกของการทำงานจนถึงปัจจุบันว่า

“เวลา 4 ปีที่คณะอักษรศาสตร์ เป็นช่วงเวลาที่ประทับใจ สนุกสนาน และมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อชีวิต ได้รับความอบอุ่นจากเพื่อนๆ และรุ่นพี่ ซึ่งสร้างมิตรภาพที่ยืนยาวมาจนถึงทุกวันนี้ สิ่งสำคัญที่ได้จากการเรียน คือ คุณค่าของความสัมพันธ์ อักษรศาสตร์สอนให้เรามีความละเอียดอ่อน เมื่อทำงาน จึงสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยความเข้าใจ ทั้งผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน และลูกน้อง ทำให้การงานลุล่วง เมื่อมีปัญหาก็แก้ไขไปได้อย่างราบรื่

“ตั้งแต่เรียนจบก็ทำงานที่กรมการบินพาณิชย์มาโดยตลอด เริ่มจากงานด้านบุคลากร จากนั้นไปทำงานด้าน Air Transport ซึ่งเป็นงานวิชาการ งานกำกับดูแล เจรจาความตกลง แลกเปลี่ยนสิทธิทางการบิน ซึ่งความรู้ทางภาษาและทักษะในการค้นคว้าที่ได้จากคณะอักษรฯ มีส่วนช่วยในการทำงานมาก คลุกคลีกับงานวิชาการนี้อยู่ 10 ปี ก็เปลี่ยนไปทำงานสายปฎิบัติการ (Operation) และเริ่มงานด้านบริหาร ใช้ชีวิตอีกกว่า 10 ปีต่อมาในหลายจังหวัด ในตำแหน่งผู้อำนวยการท่าอากาศยานหลายแห่งทั้งโคราช อุบลฯ กระบี่ ลำปาง และอุดรฯ

“กลับเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ก็เมื่อเป็นรองอธิบดี เป็นรองอธิบดีได้ไม่นาน มีการแยกกรมฯ ออกมาเป็น “กรมท่าอากาศยาน” จึงได้รับตำแหน่งรองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน ดูแลด้านท่าอากาศยานและการจัดการเชิงพาณิชย์ จนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งอธิบดีฯ ในปี 2561 นี้”

คุณอัมพวัน กล่าวถึงการทำงานในตำแหน่งอธิบดีว่า “ต้องทำงานเต็มที่ ทำให้ดีที่สุด เพราะมีเวลาเพียง 2 ปีก่อนเกษียณอายุราชการ ที่ตั้งใจเช่นนี้ไม่ใช่เพราะเพราะยึดติดตำแหน่งอธิบดี แต่เมื่อมีภารกิจ ได้รับมอบหมาย ได้รับความไว้วางใจ เราต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด”

สิ่งที่อยากจะฝากถึงน้องๆ อักษรศาสตร์รุ่นหลังคือ “อยากให้น้องๆ ทำตามความปรารถนาของตัวเอง เก็บเกี่ยวโอกาสและสิ่งต่างๆ ที่น่าสนใจเข้ามาในชีวิต แสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ... ที่สำคัญที่สุด ก็คือ ทำให้สุด ทำให้สนุก และทำให้ชีวิตมีความสุข”

คุณดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เล่าให้เราฟังถึงวิธีการในการค้นหาสิ่งที่ตนเองชอบ และต่อยอดจนกลายเป็นอาชีพตลอดจนผลงานที่ภาคภูมิใจ ว่า

“เราอาจจะไม่รู้ว่าตนเองชอบหรือถนัดทางไหนจริงๆ จนกว่าจะได้ลงมือทำ บางครั้งจึงเป็นเรื่องของโอกาสที่ผ่านมาในชีวิต สำหรับตัวเองถือว่าเป็นความโชคดีที่ได้มีโอกาสมาทำงานที่แม้จะไม่ตรงกับสาขาที่เรียนมาโดยตรง แต่เป็นงานที่เราชอบ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา แล้วก็สามารถอาศัยทักษะทางภาษาต่างประเทศเป็นเครื่องมือได้ดี ชีวิตการทำงานก็เหมือนเส้นทางการเรียนรู้ ตราบใดที่เราขวนขวายหาความรู้ใหม่ๆ เสมอ เราก็พัฒนาตนเองให้ทำงานใดๆ ก็ได้ …. เราต้องมีความต้องการพัฒนาตนเอง ไม่ใช่รอให้คนอื่นเห็นศักยภาพก่อน เราต้องหาจุดแข็งของเราให้พบก่อน แล้วใช้จุดแข็งของเราเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตนเอง การเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุดคือหัวใจของการพัฒนาตนเองก็ว่าได้

“การได้เป็นตัวอย่างหนึ่งของชาวอักษรศาสตร์ที่สามารถก้าวหน้าในอาชีพในสายงานอื่นได้ภู มิใจที่ได้ทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ตลอดระยะเวลาที่รับราชการที่ BOI ก็ได้มีโอกาสทำหลายเรื่องที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตามงานเหล่านั้นสำเร็จได้ด้วยความร่วมแรงร่วมใจกันของหลายคน คงไม่มีงานสำคัญที่ไหนที่สำเร็จได้ด้วยคนๆ เดียว”

สิ่งที่คุณดวงใจอยากจะฝากถึงนิสิตรุ่นใหม่ๆ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการเรียนและการประกอบอาชีพในอนาคต ...

“การเรียนในมหาวิทยาลัยสี่ปีไม่ควรเป็นตัวจำกัดเส้นทางอาชีพของเรา เพียงแต่เราต้องหาตัวตนและความต้องการของเราให้ได้ และทุ่มเทให้กับอาชีพที่เราเลือกอย่างไม่ย่อแท้และลังเล”