กระบวนการวนซ้ำในการออกแบบบริการสารสนเทศของห้องสมุด

กระบวนการวนซ้ำในการออกแบบบริการสารสนเทศของห้องสมุด

บทความเรื่อง Facilitating Iteration in Service Design in Libraries ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงพันธ์ เจิมประยงค์ ในหนังสือ Assessment as Information Practice: Evaluating Collections and Services นำเสนอแนวทางในการส่งเสริมกระบวนการวนซ้ำในการออกแบบบริการสารสนเทศในห้องสมุด ครอบคลุมแนวทางในการพัฒนาต้นแบบ (prototype) ที่รวดเร็วและแนวทางและวิธีการประเมินทรัพยากรหรือบริการที่มีความเฉพาะเจาะจง เป็นประโยชน์ และเชื่อถือได้ นอกเหนือจากแนวคิดและวิธีการแล้ว บทความชิ้นนี้ยังได้วิเคราะห์ความท้าทายและนำเสนอกรณีศึกษาที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

หนังสือ Assessment as Information Practice: Evaluating Collections and Services เป็นหนังสือ ebook รวมบทความที่บรรณาธิกรโดย Gaby Haddow และ Hollie White จาก Curtin University ประเทศออสเตรเลีย ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Routledge เป็นหนึ่งในชุดหนังสือ Routledge Guides to Practice in Libraries, Archives and Information Science โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นบรรณารักษ์ นักสารสนเทศ ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในห้องสมุด กำหนดการวางแผนออกจำหน่ายเผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2564 นี้เป็นต้นไป

ประเด็นความสามารถในการใช้งานได้ของแอปพลิเคชั่นระบบปรึกษาทางไกลระหว่างทีมแพทย์

ประเด็นความสามารถในการใช้งานได้ของแอปพลิเคชั่นระบบปรึกษาทางไกลระหว่างทีมแพทย์

การออกแบบระบบในบริบทการแพทย์คลินิกบนแพลตฟอร์มโทรศัพท์มือถือ นับเป็นความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขนาดของหน้าจอที่จำกัดอาจส่งผลต่อคุณภาพของข้อมูลที่และเกิดข้อผิดพลาดในการสื่อสารได้ ดังนั้น ในการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อให้สามารถใช้งานได้ตรงตามแบบจำลองทางความคิด (mental model) ของทีมแพทย์และผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงพันธ์ เจิมประยงค์ ได้เข้าไปทำการทดสอบความสามารถในการใช้งานได้ (usability) ของระบบดังกล่าว โดยประยุกต์ใช้กรอบแนวคิด PACMAD (People At the Centre of Mobile Application Development) (Harrison, Flood & Duce, 2013) มาในใช้การประเมินระบบปรึกษาทางไกลที่มีข้อมูลผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางในคลินิกออร์โธปิดิกส์ ผลการศึกษานอกจากจะช่วยพัฒนาและปรับปรุงระบบ Medic ให้สามารถใช้งานได้ดียิ่งขึ้นแล้ว ผลการศึกษาและการอภิปรายผลยังครอบคลุมข้อสังเกตและข้อพึงระวังในการออกแบบแอปพลิเคชั่นในบริบททางการแพทย์ในหลายมิติอีกด้วย

งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในรูปแบบบทความวิจัยที่เข้าถึงได้อย่างเสรี (open access) ชื่อ Exploring usability issues of smartphone-based physician-to-physician teleconsultation application in an orthopaedic clinic: A mixed-method study ในวารสาร JMIR Human Factors ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ที่ https://doi.org/10.2196/31130

สำรวจทรัพยากรสารสนเทศภาษาไทยในห้องสมุดต่างประเทศ

สำรวจทรัพยากรสารสนเทศภาษาไทยในห้องสมุดต่างประเทศ

บทความวิจัยล่าสุดของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงพันธ์ เจิมประยงค์ ร่วมกับ Dr. Hollie White จาก Curtin University ประเทศออสเตรเลีย ชื่อ Dispersed Collections in Exile: Thai Collections in Libraries Outside of Thailand ตีพิมพ์ลงในวารสาร Library Resources & Technical Services ปีที่ 65 เล่มที่ 4 รายงานผลการสำรวจแนวปฏิบัติและข้อคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการลงรายการทรัพยากรสารสนเทศภาษาไทยในห้องสมุดในหลายภูมิภาคทั่วโลก ผลการศึกษาที่สำคัญชี้ให้เห็นระบบนิเวศของของการพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศภาษาไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ซึ่งได้รับผลกระทบที่สำคัญจากสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษาและวิจัยที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ห้องสมุดจำนวนมากพึ่งพาการบริจาคจากนักวิชาการที่มีความสนใจเกี่ยวกับเมืองไทยมากกว่าการจัดหาทรัพยากรอย่างเป็นระบบ นักวิชาการเหล่านี้อาจสนใจในเรื่องที่นักวิชาการไทยอาจไม่สามารถศึกษาได้ด้วยข้อจำกัดทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรม ทำให้ทรัพยากรในห้องสมุดหลายแห่งมีความเฉพาะตัว แตกต่างจากทรัพยากรที่จัดเก็บในห้องสมุดของประเทศไทย

ผู้ที่สนใจอ่านบทความฉบับเต็ม สามารถเข้าถึงได้ที่ https://doi.org/10.5860/lrts.65n4.142

ผลงานใหม่: Work centered classification as communication

Songphan Choemprayong and Chiraporn Sirindhorn

บทความใหม่ล่าสุดตีพิมพ์ในวารสาร Knowledge Organization เรื่อง Work centered classification as communication: Representing a central bank’s missions with the library classification ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงพันธ์ เจิมประยงค์ ร่วมกับทีมผู้ปฏิบัติงานวิชาชีพจากศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย นำโดยคุณจิราภรณ์ ศิริธร (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย) ในการนำแนวคิดและกระบวนการพัฒนาบริการห้องสมุดตามแนวทางการออกแบบบริการหรือ service design มาปรับปรุงและพัฒนาออกแบบการจัดหมวดหมู่ของทรัพยากรห้องสมุดที่ปรับตัวจากห้องสมุดที่ให้บริการเฉพาะผู้บริหารและพนักงานในองค์กรไปสู่การให้บริการสาธารณะ

ท่านที่สนใจสามารถเข้าถึงบทความได้ที่ https://doi.org/10.5771/0943-7444-2021-1-42 หรือ หน้าบทความเต็มรูปสำหรับสมาชิก ISKO

แนะนำหนังสือใหม่: #ราคาของการมีลูก: เมื่องานและลูกผูกอยู่บนเชือกเส้นเดียวกัน

แนะนำหนังสือใหม่: #ราคาของการมีลูก: เมื่องานและลูกผูกอยู่บนเชือกเส้นเดียวกัน

สภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้เกิดภาวะกดดันในการสร้างครอบครัวยุคใหม่ เมื่อคิดจะสร้างครอบครัวจึงต้องคิดหนัก หนังสือ “#ราคาของการมีลูก: เมื่องานและลูกผูกอยู่บนเชือกเส้นเดียวกัน” ผลงานชิ้นล่าสุดของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงพันธ์ เจิมประยงค์ ร่วมกับคณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอฉากทัศน์และมุมมองของพ่อและแม่ที่มีต่อการรักษาสมดุลระหว่างการทำงานและการเลี้ยงดูบุตรในยุคปัจจุบัน ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์และการสัมภาษณ์เชิงลึก หนังสือเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยในโครงการ “การปรับวิถีการทำงานของครอบครัวเมื่อมีบุตร: การศึกษาเชิงคุณภาพโดยใช้ข้อมูลสื่อสังคมออนไลน์” ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดโครงการ “การดูแลครอบครัวเปราะบางในสถานการณ์การเปลี่ยนโครงสร้างประชากรและสังคมไทย” สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย