รายวิชาที่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าร่วมเรียน ภาคต้น ปีการศึกษา 2562

รายวิชาภาควิชาภาษาศาสตร์ที่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าร่วมเรียน ภาคต้น ปีการศึกษา 2562

รายวิชาระดับปริญญาตรี

2209370 ภาษากับความคิด (Language and Mind)

ในวิชานี้เราจะพยายามตอบคำถามเกี่ยวกับกระบวนการในการเรียนรู้ เข้าใจ และผลิตภาษาของมนุษย์ เราจะศึกษาว่าความสามารถทางภาษาของมนุษย์และสัตว์เหมือนและต่างกันอย่างไร เด็กเรียนรู้ภาษาได้อย่างไร เรารับรู้เสียงพูด เข้าใจภาษา และผลิตภาษาได้อย่างไร การเรียนรู้ภาษาที่สองมีกระบวนการอย่างไร และมีปัจจัยอะไรที่สำคัญบ้าง การทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับภาษามีธรรมชาติอย่างไร ภาษา ความคิด และวัฒนธรรมมีความสัมพันธ์กันอย่างไร เหมาะสำหรับผู้ที่มีความรู้ภาษาศาสตร์เบื้องต้นมาก่อน

เวลาเรียน: วันพุธ  9.30 – 12.30 น.

อาจารย์ผู้สอน: ผศ. ดร.ธีราภรณ์ รติธรรมกุล

 

รายวิชาระดับบัณฑิตศึกษา

2209501 สัทศาสตร์ (Phonetics)

รู้จักเสียงในภาษาอย่างลึกซึ้ง ตั้งแต่การทำงานของอวัยวะต่างๆและกลไกในการผลิตเสียง คลื่นเสียงพูด การได้ยินและการรับรู้เสียง เมื่อได้เรียนวิชานี้แล้ว จะทำให้เข้าใจปรากฏการณ์เกี่ยวกับเสียงพูดที่พบเจอในชีวิตประจำวัน อธิบายเหตุผลได้ รวมถึงสามารถนำไปต่อยอดเพื่อทำวิจัย หรือหาคำตอบของสิ่งที่สงสัยได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการปูพื้นฐานทางภาษาศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องเรียนภาษาศาสตร์มาก่อน

เวลาเรียน: วันจันทร์  13.00 – 16.00 น.

ผู้สอน: อ. ดร.ศุจิณัฐ จิตวิริยนนท์

 

2209511 สัทวิทยา (Phonology)

วิชานี้เป็นพื้นฐานสำหรับนักภาษาศาสตร์ทุกคน เริ่มต้นจากการวิเคราะห์หาหน่วยเสียงในภาษา จากนั้นจึงวิเคราะห์ว่าหน่วยเสียงเหล่านั้นรวมกันขึ้นเป็นระบบเสียงอย่างไร โดยจะวิเคราะห์ทั้งกระบวนการทางเสียงและข้อจำกัด ภายในระบบเสียง ผู้เรียนจะได้รู้จักปรากฏการณ์ทางเสียงที่สำคัญ เช่น โครงสร้างพยางค์ การเน้น วรรณยุกต์ ทำนองเสียง รวมทั้งได้เรียนรู้แนวคิดและการวิเคราะห์ตามแนวทฤษฎีต่างๆ เช่น ภาษาศาสตร์โครงสร้าง (Structural linguistics) สัทวิทยาเพิ่มพูนแบบดั้งเดิม (Classical Generative Phonology) สัทวิทยาอัตวิภาค (Autosegmental Phonology) และทฤษฎีอุตมผล (Optimality) เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการปูพื้นฐานภาษาศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องเรียนภาษาศาสตร์มาก่อน แต่หากมีความรู้เรื่องสัทศาสตร์หรือสัทวิทยาเบื้องต้นช่วยให้เข้าใจได้เร็วขึ้น

เวลาเรียน: วันพฤหัสบดี  13.00 – 16.00 น.

ผู้สอน: รศ. ดร.พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์

 

2209521 วากยสัมพันธ์ (Syntax)

ทฤษฎีการวิเคราะห์โครงสร้างประโยค วิธีการเขียนกฎทางไวยากรณ์เพื่อทำความเข้าใจภาษาอย่างถูกวิธี เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการปูพื้นฐานทางภาษาศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องเรียนภาษาศาสตร์มาก่อน แต่ควรมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับโครงสร้างประโยค และสนใจทฤษฎีทางภาษาศาสตร์อย่างเจาะลึก ควรมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับโครงสร้างประโยค และสนใจทฤษฎีทางภาษาศาสตร์อย่างเจาะลึก (สามารถดูตำราที่จะใช้ในการสอนได้ที่ https://web.stanford.edu/group/cslipublications/cslipublications/site/1575864002.shtml)

เวลาเรียน: วันศุกร์  9.30 – 12.30 น.

ผู้สอน: อ. ดร.อรรถพล ธำรงรัตนฤทธิ์

 

2209653 ภาษาศาสตร์สังคม (Sociolinguistics)

เรียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับสังคม การที่ผู้พูดในสังคมใช้ภาษาไม่เหมือนกันมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับลักษณะทางสังคมของผู้พูด เช่น พื้นเพ อายุ เพศ หรือสถานการณ์แวดล้อม ทำไมบางครั้งผู้พูดถึงใช้ภาษามากกว่าหนึ่งภาษาสลับไปมา รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับสังคมในระดับชาติ เช่น ประเทศต่างๆใช้ภาษาอะไรบ้าง ใช้ทำหน้าที่อะไร กำหนดบทบาทเหล่านั้นอย่างไร ผู้เรียนจะได้เห็นแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การศึกษาในสมัยแรกๆ มาจนถึงระยะหลัง รวมถึงตัวอย่างการศึกษาที่เป็นรูปธรรม ไม่จำเป็นต้องเคยเรียนภาษาศาสตร์มาก่อน

เวลาเรียน: วันอังคาร  9.30 – 12.30 น.

ผู้สอน: อ. ดร.ภาวดี สายสุวรรณ 

 

2209655 ภาษาศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Linguistics)

ทำความรู้จักกับภาษาตระกูลหลักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง 5 ตระกูล ได้แก่ ขร้า-ไท จีน-ทิเบต ออสโตรเอเชียติก ออสโตรนีเซียน และม้ง-เมี่ยน ลักษณะเด่นของภาษาแต่ละตระกูล ความสัมพันธ์ระหว่างตระกูลภาษา รวมทั้งลักษณะร่วมของภาษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้เรียนต้องมีความรู้พื้นฐานทางทฤษฎีและการวิเคราะห์เสียง ไวยากรณ์ และความหมาย รวมทั้งมีความรู้ทางภาษาศาสตร์เชิงประวัติ สามารถวิเคราะห์ข้อมูลภาษาศาสตร์เชิงประวัติได้ และมีความคุ้นเคยกับระเบียบวิธีเปรียบเทียบ (Comparative Method)

เวลาเรียน: วันอังคาร  13.00 – 16.00 น.

ผู้สอน: รศ. ดร.พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์

 

2209671 การเขียนโปรแกรมเพื่อการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Programming for Natural Language Processing)

เรียนทักษะการเขียนโปรแกรมเบื้องต้นด้วยภาษาไพธอน โดยเน้นให้ไปใช้กับการวิเคราะห์ข้อมูลทางภาษา ไม่จำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานด้านภาษาศาสตร์หรือการเขียนโปรแกรมมาก่อน ผู้เรียนควรมีคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปส่วนตัวที่สามารถนำมาเรียนได้ทุกครั้ง

เวลาเรียน: วันพฤหัสบดี  9.30 – 12.30 น.

ผู้สอน: อ. ดร.อรรถพล รัตนธำรงฤทธิ์

 

2209673 ภาษาศาสตร์คลังข้อมูล (Corpus Linguistics)

การออกแบบและการสร้างคลังข้อมูลภาษา การใช้คลังข้อมูลภาษาในการวิจัยทางภาษาศาสตร์และการวิจัยวรรณกรรม เครื่องมือและวิธีการที่จำเป็นในการสร้าง ค้นคืน และวิเคราะห์คลังข้อมูลภาษา

เวลาเรียน: วันพุธ  9.30 – 12.30 น.

ผู้สอน: รศ. ดร.วิโรจน์ อรุณมานะกุล