Faculty of Arts อาจารย์-บุคลากร
นิสิตปัจจุบัน
ผู้ที่ต้องการเข้าศึกษา
ศิษย์เก่า
 
Home | Download |
about us

 

 

 

 

 

หน้าแรก ผู้ที่ต้องการเข้าศึกษา  มุมมองอักษรผ่านศิษย์เก่าคนดัง

มุมมองอักษรผ่านศิษย์เก่าคนดัง

บทสัมภาษณ์ศิษย์เก่า คนดัง จาก รำแพนฉบับครบขวบ (ปี 2553) จัดทำโดย ฝ่ายสาราณียกร คณะกรรมการนิสิตอักษรศาสตร์

วราภรณ์ สมพงษ์

หากใครได้ชมรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ หรือ รายการ แจ๋ว คงจะต้องคุ้นหน้าคุ้นตาผู้ประกาศข่าวสาวคนเก่งประจำรายการอย่าง กระเต็น-วราภรณ์ สมพงษ์ นอกจากการเล่าข่าวสารประจำวันแล้ว คราวนี้พี่กระเต็นศิษย์เก่าอักษรศาสตร์จะขอมาเล่าเรื่องราวสมัยเรียนที่น่าประทับใจ

“จริงๆแล้วพี่เป็นเด็กสายวิทย์ ตอนเรียนชอบทำกิจกรรมเขียนเรียงความ แต่งกลอน แล้วรู้สึกว่ามีความสุขที่ได้ทำแต่เรียนฟิสิกส์เคมีชีวะนี่รู้สึกไม่ค่อยรุ่ง เลยเริ่มคิดว่าถ้าเราเรียนจบแล้วเราต้องทำงานเกี่ยวกับวิชาพวกนี้เราจะมีความสุขไหม เราน่าจะเรียนในสิ่งที่ตัวเองมีความสุขแล้วพอจบไปเราก็จะได้อยู่กับสิ่งที่เรามีความสุข มันคงจะเป็นชีวิตที่แฮปปี้มาก เลยตัดสินใจมาเรียนด้านนี้ดีกว่า แต่เราเป็นเด็กสายวิทย์คงไปสอบสู้กับเด็กสายศิลป์ไม่ได้ อาจารย์เลยแนะนำโครงการภาษาและวรรณคดี (ช้างเผือก) ก็เลยมาสอบ แล้วสอบได้ เลยได้เป็นส่วนหนึ่งของคณะนี้ค่ะ พี่เรียนเอกภาษาไทย โทศิลปะการละคร”

“พอมาเรียนก็ตรงกับที่เราชอบ อย่างเรียนกวีนิพนธ์ ก็ได้อ่านกวีนิพนธ์ คือได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบ อย่างตอนม.ปลาย ตอนเรียนถ้าเราจะอ่านนิยายสักเล่มหนึ่งมันคือ นอกเวลา แต่อันนี้คือได้อ่านนิยายแต่เป็นนิยายที่อ่านแล้วเอามาตอบข้อสอบ มันเลยเอ็นจอยมาก เท่ากับเราอ่านตำรา ได้วิเคราะห์ และยังได้อ่านงานของนักเขียน ศิลปินที่เราชอบ และเวลามาเขียนบันทึกนู่นนี่ถ้าเราเรียนแผนวิทย์มันจะเป็นนอกเวลาเรียน รู้สึกว่ายังไม่ได้อ่านตำราที่เราต้องสอบ”

“แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจบมาจะเป็นอะไร แต่รู้ว่าชอบอย่างทำวารสาร รู้ว่าถ้าเราแฮปปี้กับสิ่งที่เราเรียนเราจะเอาไปทำงานได้ อย่างวิชาเขียนบทเราชอบ เราก็คิดว่าอนาคตอาจจะทำงานเป็นคนเขียนบทได้ พอเรียนแล้วเห็นว่าเอาไปใช้เป็นวิชาชีพได้ ทำให้มีแรงกระตุ้นในการเรียน แล้วยังรู้สึกสนุกด้วย อย่างตอนเรียนเคมี ชีวะ ฟิสิกส์ เราจะมองไม่ออกว่ามันจะเอาไปใช้อะไรได้ อย่างเรียนวิชาการออกเสียงของภาคละคร เราก็รู้สึกว่ามันต้องเอาไปใช้ในอาชีพอะไรได้ซักอย่าง มันค่อนข้างเป็นวิชาที่เป็นชิ้นเป็นอัน”

“ภาพลักษณ์เด็กอักษรฯ สมัยก่อนต้องสวย อยู่บนหอคอยงาช้าง สวยเป็นคุณหนู ถือกระเป๋า มัดผมผูกโบใหญ่ๆ ใส่ตุ้มหูใหญ่ๆ ใส่รองเท้าส้นสูงสีขาว แต่พวกพี่จะเป็นพวกใส่รองเท้าผ้าใบสะพายย่าม กลุ่มพี่จะเป็นเด็กต่างจังหวัดก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่โดยรวมที่มองจะเป็นคุณหนู ตอนแรกพี่ก็มองแบบนี้ แต่ว่าพอเข้ามาเรียนก็รู้สึกว่าทุกคนก็เป็นเพื่อนกัน เรียนด้วยทำกิจกรรมด้วย ไม่เห็นจะเป็นอย่างที่เรากลัว แล้วสมัยนั้นผู้ชายก็มีน้อย ผู้ชายจะเป็นของรักของหวงที่เราต้องดูแล ซึ่งบางที ก็ไม่ใช่ผู้ชาย”

“ตอนที่พี่เข้าไปจะมีรุ่นพี่ที่เรียนจบแล้วกลับมาสอน มีอาจารย์บุสก้า ก็สนุกสนาน มีครูป้อม ครูเฟียต อาจารย์ก็เหมือนกับว่าเพิ่งผ่านรั้วมหาวิทยาลัยแล้วกลับมาสอน ก็จะเข้าใจเด็กๆ แล้วก็จะมีอาจารย์รุ่นขึ้นหิ้ง อันนั้นก็จะอีกแบบหนึ่ง อาจารย์จะเจ้าระเบียบ มีอยู่ครั้งหนึ่งตอนที่อยู่ปี 1 ก็โดนให้ทำนู่นทำนี่ ตอนลอยกระทงให้พี่ร้องลำตัด เป็นประวัติของพี่เลย แล้วพี่เป็นหัวหน้าฝ่ายหญิงร้องโต้กับฝ่ายชาย เป็นการแสดงของคณะอักษรฯ แล้วร้องแบบลามก อาจารย์บอกเลยว่าเด็กผู้หญิงคนนั้นเป็นใคร ให้ไปตามตัวมาเดี๋ยวนี้ รุ่นพี่บอกให้เราหลบหน้าอาจารย์ท่านนี้ไปเลยครึ่งปี อาจารย์โกธรมาก เพราะเราเป็นผู้หญิงแล้วไม่ควรมาร้องอะไรอย่างนี้”

“หากจะบอกว่าทำงานไม่ตรงสายไม่จริงเลยค่ะ เพราะคนที่ทำงานในนี้มีทั้งคนที่ จบรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ วิทยาศาสตร์ก็มี คือถ้าจบในสาขาเฉพาะทางยิ่งดีเลย แต่ว่าจริงๆ แล้วอาชีพแบบนี้พี่ว่าใครก็ได้ที่ฟัง พูด อ่าน เขียน เล่า สามารถถ่ายทอดได้ดี ก็สามารถทำงานนี้ได้ทั้งนั้น เพียงแต่พอเริ่มต้นแล้วต้องพัฒนาศักยาภาพให้ดี ถ่ายทอดได้ก็ทำงานได้ แต่ทำได้ดีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละครด้วยว่าได้รับโอกาสมากน้อยแค่ไหน แต่ไม่เสมอไปว่าต้องจบนิเทศเท่านั้น แค่ถ่ายทอดให้เป็นแล้วจะทำได้ เพราะมันเป็นอาชีพของนักสื่อสาร การเรียนอักษรฯ มีส่วนช่วยโดยตรงเลยค่ะ เพราะเราเรียนฝึกการพูด อ่าน เขียน ฝึกคิดให้เป็นระบบ เพียงแต่เราไม่ได้รู้วิธีการว่ามุมกล้องมันเป็นอย่างไรเท่านั้นเอง เราไม่ได้รู้โครงสร้างของหัวใจของนิเทศศาสตร์เราก็ได้เรียนนะ เรื่องฟังพูดอ่านเขียน ซึ่งเราได้ฝึกมาตลอด 4 ปี ที่เรียนมา”

 

 
 
See Also
นิสิตปัจจุบัน
เกี่ยวกับคณะอักษรศาสตร์