Faculty of Arts อาจารย์-บุคลากร
นิสิตปัจจุบัน
ผู้ที่ต้องการเข้าศึกษา
ศิษย์เก่า
 
Home | Download |
about us

 

 

 

 

 

หน้าแรก ผู้ที่ต้องการเข้าศึกษา  มุมมองอักษรผ่านศิษย์เก่าคนดัง

มุมมองอักษรผ่านศิษย์เก่าคนดัง

บทสัมภาษณ์ศิษย์เก่า คนดัง จาก รำแพนฉบับครบขวบ (ปี 2553) จัดทำโดย ฝ่ายสาราณียกร คณะกรรมการนิสิตอักษรศาสตร์

รองศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์

ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2547 นักประพันธ์ผู้สร้างสรรค์ผลงานชั้นครูภายใต้นามปากกาที่เลื่องชื่อ แก้วเก้า และ ว.วินิจฉัยกุล

"เข้าอักษรฯปี พ.ศ.2509 ค่ะ เป็นความต้องการของคุณแม่เพราะคุณแม่จบจากคณะอักษรฯเหมือนกัน คุณแม่เข้าตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 แล้วท่านก็อยากให้ลูกสาวเรียนอักษรศาสตร์ ก็เข้าไปตอนนั้นการเรียนวิชาเอกเค้าก็เลือกกันตอนปีสามปีสี่ ตอนปีหนึ่งปีสองก็เรียนเหมือนกัน ก็เลือกเอกภาษาอังกฤษค่ะ อังกฤษกับไทยเท่านั้น เค้าจะไม่เรียกเป็นเอกค่ะ เค้าเรียกเป็นอังกฤษ1 อังกฤษ2 แล้วก็ไทย1 ไทย2 วิชาเลือกอังกฤษ1 อังกฤษ2 แล้วก็เลือกไทย2 ซึ่งก็คือวรรณคดีค่ะ"

"การเรียนในสมัยนั้นก็เรียนกันอย่างหัวปักหัวปำเลยนะค่ะ จำได้ว่าปีหนึ่งเรียนกันสัปดาห์ละ 33 ชั่วโมง ปีสองเรียนสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมง คือไม่มีเวลาว่างเลย ส่วนปีสามรู้สึกจะประมาณ 28 ชั่วโมง ปีสี่ถึงจะเป็น 22 ชั่วโมง แล้วพวกอักษรฯก็จะเป็นพวกที่ไม่ทำกิจกรรมเพราะว่าแค่เรียนก็ไม่มีเวลาแล้วนี่ยังไม่รวมหนังสือนอกเวลาซึ่จะต้องอ่าน เช่นหนังสือนอกเวลาตอนปีหนึ่งคือเรื่องรามเกียรติ์ ส่วนปีสามคือเรื่องขุนช้าขุนแผน แล้วอาจารย์สามารถที่จะตั้งคำถามอะไรก็ได้เวลาสอบ ไม่มีการบอกว่าจะเป็นเฉพาะด้านนี้ เช่นภาษาหรือว่าเฉพาะเนื้อเรื่อง คือสามารถถามอะไรก็ได้ เราต้องตอบให้ได้หมด แล้วจำได้ว่ามีข้อสอบอันหนึ่งของรามเกียรติ์ให้เขียนจากความทรงจำบทพรรณนาโวหาร"

"ช่วงที่เรียนอยู่ไม่ได้เขียนนวนิยายเลยค่ะ ไม่มีเวลาเลยเรียนกันหนักมาก อย่างเวลาจะไปกินข้าวก็ใช้เวลา 20 นาที ตอนสิบเอ็ดโมงเค้าจะมีพักให้ 10 นาที เราก็จะไปกินข้าวกันตอนนั้น แล้วเที่ยงเราก็จะเข้าห้องติวกัน จะมีเพื่อนซึ่งเก่งมากได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งชื่อ ดร.อรพรรณ เป็นคนติวให้ คือเพื่อนที่เรียนไม่ทันก็ต้องติวให้กัน ก็เรียนกันมาด้วยความสาหัสตลอดสี่ปี แล้วสมัยนั้นวิชาต่างๆเค้าแบ่งเป็นหมวด แต่ละหมวดต้องได้ไม่ต่ำกว่าหกสิบเปอร์เซ็นต์ มีคนตกประมาณหนึ่งในสามตอนขึ้นปีสาม”

“ดิฉันเขียนหนังสือได้ลงจรูญสารตั้งแต่อายุแปดขวบ พออายุเก้าขวบก็เขียนนิทานประกอบภาพ คือจรูญสารเค้าจะมีภาพระบายสีค่ะ ให้เราแต่งนิทานจากภาพที่เห็นเข่นเป็นภาพผู้หญิงทำกับข้าวหรือภาพนางฟ้า เราก็แต่งเป็นเรื่องก็ลงทุกที พออายุสิบเอ็ดปีได้ลงเรื่องสั้นเรื่องแรกในศรีสัปดาห์ ตอนอยู่โรงเรียนเตรียมฯ ปีหนึ่ง ก็ได้เขียนเรื่องสั้นลง สตรีสาร ในสมัยนั้นการเขียนหนังสือไม่ใช่ของยากแล้วก็ไม่มีสื่ออื่นมาดึงความสนใจ แล้วข้อสอบก็เป็นอัตนัยล้วนๆ เพราะฉะนั้นพวกเราก็จะเขียนหนังสือกันได้คล่อง เราเคยออกหนังสือกันตั้งแต่อยู่ ม.ต้น ตอนนั้นจะมีประถมสี่ จากประถมสี่ก็ไปถึง มศ.5 แค่มศ.หนึ่ง ซึ่งเทียบได้กับ ป.6 ในปัจจุบันนี้พวกเราก็ออกวารสารกันในห้องแล้ว”

“ดิฉันยังนึงถึงบุญคุณของคณะอักษรศาสตร์มาจนบัดนี้เพราะว่าวิชาความรู้ที่เอามาใช้ในทุกวันนี้ก็ได้มาจากพื้นฐานอักษรศาสตร์ รู้สึกว่าคนที่เข้าอักษรศาสตร์ได้ควรตระหนักถึงโชคดีของคนเองแล้วใช้เวลาสี่ปีให้คุ้มที่สุด เพราะถ้าทำอย่างเต็มที่มันจะเป็นสิ่งที่ติดตัวไปกับคุณตลอดชีวิต แล้วถ้ามีโอกาสก็ทำกิจกรรม แต่วิชาความรู้ควรจะมาเป็นอันดับหนึ่ง แล้วก็ให้ปรับตัวให้เต็มที่เพราะอาจารย์ที่นี่เป็นอาจารย์ที่ยินดีให้ความรู้กับทุกคนแล้วเรามีเวลาสี่ปีที่จะเรียนแต่เวลาที่จะทำงานที่จะพิสูจน์ตัวเอง ที่จะต่อยอดนี้มันมีตลอดชีวิต”

 

 
 
See Also
นิสิตปัจจุบัน
เกี่ยวกับคณะอักษรศาสตร์