ความเป็นมาของโครงการ
การแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศริเริ่มโดยสมาพันธ์ภูมิศาสตร์ระหว่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะกระตุ้นความสนใจของเยาวชนในการศึกษาด้านภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และเป็นเวทีสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจที่ดีต่อกันให้กับเยาวชนจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก การแข่งขันนี้เริ่มจัดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2539 ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ต่อมาได้จัดให้มีการแข่งขันทุกๆ 2 ปี และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เป็นต้นมาได้จัดให้มีการแข่งขันทุกปี ประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันจะคัดเลือกผู้แทนจำนวน 4 คน โดยต้องมีอายุระหว่าง 16-19 ปี และยังศึกษาในระดับมัธยมของประเทศนั้นๆ สำหรับภาษาทางการที่ใช้ในการแข่งขันคือภาษาอังกฤษ
มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) ซึ่งมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานมูลนิธิ ทรงเล็งเห็นความสำคัญของวิชาภูมิศาสตร์และได้ทรงมอบหมายให้มูลนิธิ สอวน. ดำเนินการพัฒนาเยาวชนให้มีความรู้ ความสามารถในระดับมาตรฐานสากล เพื่อไปแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ทางภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตอบรับคำเชิญของมูลนิธิ สอวน. เข้าเป็นศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิกสำหรับนักเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยอบรมและทำหน้าที่ร่วมคัดเลือกนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และส่งเข้าร่วมการแข่งขันระดับประเทศเพื่อคัดเลือกตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ โดยจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจากมูลนิธิฯ เพื่อให้กิจกรรมดังกล่าวประสบผลตามความมุ่งหมาย ภาควิชาภูมิศาสตร์จึงได้จัดทำโครงการคัดเลือกผู้แทนเพื่อเข้าอบรมโครงการภูมิศาสตร์โอลิมปิกวิชาการ โดยมีเป้าหมายที่จะจัดอบรมนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่ผ่านการคัดเลือกเข้าอบรมจำนวนอย่างน้อย 100 คน
วัตถุประสงค์ของโครงการ
1. เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางภูมิศาสตร์แก่นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
2. เพื่อคัดเลือกตัวแทนนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ ในปี พ.ศ. 2563
3. เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างทัศนคติที่ดีต่อสาขาวิชาภูมิศาสตร์
4. เพื่อสร้างโอกาสในการดึงดูดนักเรียนที่มีความสามารถมาเรียนในสาขาวิชาภูมิศาสตร์
วัน เวลา และสถานที่
1. เปิดรับสมัครนักเรียน (1-30 กันยายน 2562)
2. จัดสอบคัดเลือกนักเรียนรอบที่ 1 (2 พฤศจิกายน 2562)
3. ประกาศรายชื่อนักเรียนผู้ผ่านการคัดเลือกรอบที่ 1 (15 พฤศจิกายน 2562) ทาง http://www.arts.chula.ac.th/~geography/TGeOChulaCenter/
4. อบรมนักเรียนค่ายที่ 1 เป็นระยะเวลา 5 วัน (9-14 ธันวาคม 2562)
5. จัดสอบคัดเลือกผู้แทนศูนย์ เพื่อเป็นตัวแทนเข้าแข่งขันระดับชาติ (21 ธันวาคม 2562)
ผู้เข้าร่วมโครงการ
ผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย นักเรียนจากโรงเรียนต่างๆในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
(ยกเว้น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย)
และเป็นนักเรียนที่เข้าร่วมการสอบคัดเลือกและมีคะแนนผ่านเกณฑ์อย่างน้อย 100 คน
การสอบคัดเลือก
- การสอบคัดเลือก
วันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2562 เวลา 9.00-12.00 น. ที่อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์
ผู้สมัครควรถึงสนามสอบก่อนเวลา 8.30 น. และศึกษาข้อปฏิบัติสำหรับผู้เข้าสอบ ทาง http://www.arts.chula.ac.th/~geography/TGeOChulaCenter/
- การประกาศผลการสอบคัดเลือก
วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ทาง http://www.arts.chula.ac.th/~geography/TGeOChulaCenter/
เนื้อหาการสอบ
เป็นแบบปรนัย (4 ตัวเลือก) ตามหัวข้อในหนังสือภูมิศาสตร์กายภาพ ภูมิศาสตร์มนุษย์ และภูมิศาสตร์เทคนิคของมูลนิธิ สอวน. คำถามเป็นภาษาไทย
มีข้อสอบทั้งสิ้น 150 ข้อ เวลาสอบ 3 ชั่วโมง (9.00-12.00 น.)
กรอบเวลาดำเนินการอบรม
ผู้ที่ผ่านเกณฑ์การสอบคัดเลือก จะต้องเข้าร่วมการอบรมในช่วงเดือนธันวาคม เป็นระยะเวลา 5 วัน ระหว่างวันที่ 9-14 ธันวาคม 2562 ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
*งดอบรมในวันที่ 10 ธันวาคม 2562 เนื่องจากตรงกับวันหยุดราชการ
การประเมินผลการอบรมและเกณฑ์การผ่านการอบรม
การประเมินผลการอบรม ประเมินจาก
(1) นักเรียนเข้าร่วมการอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80
(2) การประเมินโดยใช้การสอบเพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนศูนย์ โดยการสอบจะมีขึ้นประมาณเดือนมกราคม 2562
(3) เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อยเหมาะสม โดยพิจารณาจากคณะกรรมการประจำศูนย์ (อาจารย์ประจำศูนย์ และกรรมการ/เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์) เห็นว่าสมควรให้ผ่านการอบรม
ผู้ที่ผ่านเกณฑ์ที่คณะกรรมการฯกำหนด ครบทั้งสามข้อ จะได้รับประกาศนียบัตรการเข้าอบรมภูมิศาสตร์โอลิมปิก จากภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ผ่านเกณฑ์ทั้งสามข้อและมีคะแนนสูงสุด 18 คนแรก จะได้รับการคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมแข่งขันระดับชาติในเดือนมีนาคม 2563 ต่อไป
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. มีการเผยแพร่ความรู้ด้านภูมิศาสตร์ให้แก่เยาวชน
2. นักเรียนมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนภูมิศาสตร์
3. นักเรียนได้รับความรู้ และได้รับการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระดับชาติ
ผู้รับผิดชอบโครงการ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิติรัตน์ ปั้นบำรุงกิจ | ประธานคณะกรรมการ ศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิก สอวน. จุฬาฯ |
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรรณี ชีวินศิริวัฒน์ | กรรมการ |
อาจารย์ ดร.ชนิตา ดวงยิหวา | กรรมการ |
อาจารย์ ดร.เอกกมล วรรณเมธี | กรรมการ |
อาจารย์ ดร.เพชรพิไล ลัธธนันท์ | กรรมการ |
อาจารย์ ดร.อารีรัตน์ แพทย์นุเคราะห์ | กรรมการ |
อาจารย์ ดร.เพชรพิไล ลัธธนันท์ | กรรมการและเลขานุการ |
นางสาวภูษณิศา ไชยแก้ว | กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ |
นางวัลลี ภูมิพงศ์ไทย | กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ |