Background

ในปี พ.ศ. 2478 ได้มีการก่อตั้ง "แผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์" ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทยสังกัดคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีพุทธศักราช 2477 จึงอาจกล่าวได้ว่า ภูมิศาสตร์ได้รับการยอมรับว่าเป็นสาขาวิชาที่มีการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาอย่างเป็นทางการตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาถึงแม้ว่าในเชิงการบริหารยังสังกัดหน่วยงานเดียวกับสาขาวิชาประวัติศาสตร์ก็ตาม

ต่อมาปริมาณงานของแผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ได้เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ โดยได้ให้บริการการสอนแก่นิสิตในคณะอักษรศาสตร์และคณะอื่นๆในมหาวิทยาลัยจำนวนมากกว่า 1,500 คนต่อปี นอกจากนี้ไม่ว่าจะเป็นสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ การสอนและการค้นคว้าวิชาภูมิศาสตร์และวิชาประวัติศาสตร์จะแยกแผนกวิชาออกจากกัน อีกทั้งแต่ละสาขาวิชายังมีปรัชญา เนื้อหา เทคนิคหรือวิธีการศึกษาและแนวการวิจัยที่แตกต่างกันอีกด้วย ดังนั้นแผนกวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ จึงได้แยกออกจากกันเป็น 2 แผนกวิชา คือ "แผนกวิชาภูมิศาสตร์" และ"แผนกวิชาประวัติศาสตร์" โดยแผนกวิชาภูมิศาสตร์ได้ถือเอาวันที่ 18 พฤษภาคม พศ. 2515 เป็นวันกำเนิดหรือวันก่อตั้งแผนกวิชา

ในปี พ.ศ.2522 ได้เปลี่ยนชื่อจาก "แผนกวิชาภูมิศาสตร์" เป็น "ภาควิชาภูมิศาสตร์" ตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2522 บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการแยกแผนกวิชาทั้งสองออกจากกัน ได้แก่ ศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์ ศาสตราจารย์ไพฑูรย์ พงศะบุตร และศาสตราจารย์รัชนีกร บุญหลง โดยศาสตราจารย์ไพฑูรย์ พงศะบุตรได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกวิชาภูมิศาสตร์เป็นคนแรก และในขณะเดียวกันก็ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะอักษรศาสตร์ในระยะเวลาเดียวกันด้วย (พ.ศ.2515-2519)