สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
     เสด็จฯทรงบาตรเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนา คณะอักษรศาสตร์



   เมื่อวันจันทร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ.2552 เวลา 07.00 น. ณ บริเวณด้านหลังหอประชุมใหญ่ ระหว่างอาคารมหาจุฬาลงกรณ์กับอาคารมหาวชิราวุธ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯเป็นการส่วนพระองค์ ทรงบาตรพระภิกษุสงฆ์ จำนวน 18 รูป เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ครบรอบ 92 ปี (3 มกราคม) โดยมีผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้บริหารคณะ คณาจารย์ บุคลากรสายสนับสนุน และนิสิต ตลอดจนศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์เฝ้ารับเสด็จ ฯ
   ในการนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทอดพระเนตรความคืบหน้าในการก่อสร้างอาคารมหาจักรีสิรินธร ซึ่งเป็นอาคารหลังใหม่ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ด้วย
 
     วิถีวรรณศิลป์ในจีนร่วมสมัย

   สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานเปิดงานการปาฐกถาทางวิชาการเรื่อง "วิถีวรรณศิลป์ในจีนร่วมสมัย" โดย Mr.Wang Meng อดีตรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมและ นักประพันธ์ผู้เลื่องชื่อของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจัดขึ้นโดยสาขาวิชาภาษาจีน คณะอักษรศาสตร์ และสถาบันขงจื่อแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันเสาร์ที่ 17 มกราคม 2552 ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ ภายหลังจากเสร็จสิ้นการปาฐกถาแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนิน นำ Mr.Wang Meng และคณะ เข้าเยี่ยมชมกิจการของสถาบันขงจื่อฯ ห้อง 212 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์

 



     การแสดงนาฏศิลป์ในโครงการสืบสานลำนำไทย

 

   โครงการสืบสานลำนำไทย ภาควิชาภาษาไทย จัดแสดงนาฏศิลป์อันเกี่ยวเนื่องกับวรรณคดีไทย รวม 3 ชุด ได้แก่ชุดพระลอลงสวน จากเรื่องลิลิตพระลอ ชุดวันทองสั่งเรือน จากบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน และ ชุดพระรามตามกวาง จากบทละครเรื่องรามเกียรติ์
การแสดงทั้ง 3 ชุดนี้ ทางภาควิชาภาษาไทยได้รับเกียรติจากคณะนักแสดงจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม มาแสดงประกอบการบรรยายในการเรียนการสอนวิชาวรรณคดีไทย ให้แก่นิสิตอักษรศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 จำนวน 300 คน
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ.2552 ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์

     BALAC พบผู้ปกครอง ปะจำการศึกษา 2551
 
    หลักสูตรอักษรศาสตรบัณทิตสาขาวิชาภาษาและวัฒนธรรม
(หลักสูตรนานาชาติ) จัดงาน “BALAC พบผู้ปกครอง” ประจำปีการศึกษา 2551 โดย ผศ.ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ กล่าวต้อนรับผู้ปกครอง และเปิดงาน อ.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตร ชี้แจงหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอน อ.สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต แนะนำชีวิตนิสิตอินเตอร์ในรั้วจุฬาฯ และพบศิษย์เก่าอักษรฯ อาจารย์เพ็ญจันทร์ โพธิบริสุทธิ์ และคุณสุปรียา สนธิอรุณทัต เมื่อวันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ.2552 ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์
 
     นิเทศนิสิตวิชาเอกภาษาญี่ปุ่น

   สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น ภาควิชาภาษาตะวันออก จัดโครงการนิเทศนิสิตวิชาเอกภาษาญี่ปุ่น เพื่อแนะแนวการเรียนในหลักสูตร และกระตุ้นให้นิสิตตระหนักถึงลักษณะเฉพาะของหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น
เมื่อวันศุกร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ.2552 ณ ห้อง 302 อาคารบรมราชกุมารี

 
     คณบดีรับมอบเงินทุน

   
    คุณมานพ และ คุณเกษมศรี ซับซ้อน มอบเช็คจำนวน 550,000.-บาท เพื่อจัดตั้งเป็น “เงินทุนอนุสรณ์ฐิติมา ซับซ้อน” โดยใช้ดอกผลประจำปีสำหรับเป็นทุนการศึกษาแบบยั่งยืนสำหรับนิสิตคณะอักษรศาสตร์ วิชาเอกภาษาญี่ปุ่น ที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผศ.ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ เป็นผู้รับมอบ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคม พ.ศ.2552 ณ สำนักคณบดี อาคารมหาวชิราวุธ

     E-book: การนำเสนอผลงานวิชาการรูปแบบใหม่


    โครงการอาศรมวิจัย คณะอักษรศาสตร์ จัดบรรยายพิเศษเรื่อง “E-book: การนำเสนอผลงานวิชาการรูปแบบใหม่” ผศ.ดร.พิมพ์รำไพ เปรมสมิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยบริการ เป็นผู้บรรยาย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคม พ.ศ.2552 ณ ห้อง 707 อาคารบรมราชกุมารี

 
     สาธิตวิธีการประชาสัมพันธ์ข่าวบนเว็บไซต์คณะอักษรฯ

     งานประกันคุณภาพ คณะอักษรศาสตร์ จัดการสาธิตวิธีการประชาสมันพันธ์ข่าวบนเว็บไซต์คณะฯ เพื่อให้กรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลฐานข้อมูลของหน่วยงาน ต่างๆ ภายในคณะ ให้สามารถประชาสัมพันธ์ข่าวบนเว็บไซต์คณะฯได้ด้วยตนเอง อ.เนณุภา สุภเวชย์ รองคณบดีฝ่ายประกันคุณภาพ เป็นวิทยากร เมื่อวันศุกร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ.2552 ณ ศูนย์คอมพิวเตอร์ คณะอักษรศาสตร์ อาคารบรมราชกุมารี

     Pragmatics and politeness 2: Is there an East-West divide?

   โครงการศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านภาษา ภาษาศาสตร์ และวรรณคดี ร่วมกับ ภาควิชาภาษาศาสตร์ จัดบรรยายทางวิชาการ เรื่อง “Pragmatics and politeness 2: Is there an East-West divide?” โดย Prof.Geoffrey จาก Leech Lancaster University, England เมื่อวันพุธที่ 14 มกราคม พ.ศ.2552 ณ ห้อง 402 อาคารบรมราชกุมารี

    นิสิตสาขาวิชาภาษาเยอรมันได้รับรางวัลชนะเลิศ

   นางสาวหทัยชนก บุญพิชญาภา นิสิตสาขาวิชาภาษาเยอรมันชั้นปีที่ 4 ได้รับรางวัลชนะเลิศในการ ประกวดเขียนเรียงความภาษาเยอรมันในหัวข้อ “Meine Traumdestination in Indochina” ซึ่งจัดโดยบริษัท อินโดไชน่าเซอร์วิสทราเวลกรุ๊ป ทั้งนี้ ตัวแทนบริษัทได้เดินทางมามอบรางวัลเป็นประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 5,000 บาท
เมื่อวันอังคารที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2552 ณ อาคารบรมราชกุมารี

     การผลิตสื่อการสอนในรูปแบบสื่ออีเล็กทรอนิกส์

   ฝ่ายวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การผลิตสื่อการสอนในรูปแบบสื่ออีเล็กทรอนิกส์” เพื่อให้คณาจารย์ได้ทราบแนวคิดและวิธีการออกแบบบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ การกำหนดวัตถุประสงค์ และกิจกรรมของบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อจะได้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดย
ผศ.ดร.ใจทิพย์ ณ สงขลา รองคณบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและเครือข่ายการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร
เมื่อวันอังคารที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2552 ณ ห้อง 707 อาคารบรมราชกุมารี

 
     การวิจัยของอาจารย์ในภาควิชาฯ : ปัญหาและแนวทางแก้ไข


    ภาควิชาภาษาอังกฤษจัดสัมมนาระดมความคิดเรื่อง “การวิจัยของอาจารย์ในภาควิชาฯ : ปัญหาและแนวทางแก้ไข” ในการสัมมนามีการระดมความคิดในหัวข้อ

  • ปัญหาและอุปสรรคในการวิจัย
  • แนวทางแก้ไขปัญหา-อุปสรรคในการวิจัย
  • แนวทางผลิตผลงานวิจัยเฉพาะสาย

เมื่อวันจันทร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ.2552 ณ ห้อง 501 และห้อง 509 อาคารบรมราชกุมารี

     บรรยายพิเศษโดยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยฮูสตัน


    ภาควิชาภาษาอังกฤษและศูนย์ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านภาษา ภาษาศาสตร์ และวรรณคดี
จัดบรรยายพิเศษเรื่อง “It is with a trembling hand that I beg to intrude this letter” : A Historical Sociolinguistic Study of Politeness and Social Class in Late 18th Century England
โดย ผศ.ดร.กฤษฏา แช่มสายทอง จากภาควิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยฮูสตัน
รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เมื่อวันศุกร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ.2552 ณ ห้อง 708 อาคารบรมราชกุมารี

 
     โครงการจัดทำพจนานุกรมภาพและบทสนทนาภาษามลายูถิ่นปาตานีเพื่อการสื่อสาร


    สาขาวิชาภาษามาเลย์ ภาควิชาภาษาตะวันออก จัดการประชุมเพื่อขอข้อเสนอแนะ “โครงการจัดทำพจนานุกรมภาพและบทสนทนาภาษามลายูถิ่นปาตานีเพื่อการสื่อสาร”
เมื่อวันศุกร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ.2552 ณ ห้อง 203 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์

   เป็นการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับโครงการจากผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาวิชา อาทิ ผู้เชี่ยวชายด้านภาษาศาสตร์ ภาษามลายู ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคและเทคโนโลยี รวมทั้งผู้ใช้ประโยชน์ เช่น ข้าราชการด้านการปกครอง การศึกษา และสาธารณสุข รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน NGO เพื่อให้ผลิตผลของโครงการนี้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และยังประโยชน์แก่ผู้ใช้ได้มากที่สุด อนึ่งเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการอีกด้วย