
ศาสตราจารย์ ดร.เจตนา นาควัชระ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. เจตนา นาควัชระ
เป็นอดีตคณบดีคณะอักษรศาสตร์ และอดีตรองอธิการบดี แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ดร. เจตนา ยังเป็นนักวิจารณ์วรรณกรรมที่มีชื่อเสียงและโดดเด่นคนหนึ่งในสังคมไทย นอกจากนี้ยังเป็นผู้ประดิษฐ์คำว่า \"วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์\"[1] \"สายกลางแห่งการวิจารณ์\"[2] และ \"วานรชำราบ\"[3] เป็นต้น
เกิดเมื่อ พ.ศ. 2480 ที่กรุงเทพฯ จบมัธยมปลายที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ เมื่อ พ.ศ. 2497 โดยสอบได้เป็นที่ 1 ของประเทศในแผนกอักษรศาสตร์ จากนั้นจึงศึกษาต่อในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนจบชั้นปีที่ 1 ได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ จบปริญญาตรีสาขาภาษาปัจจุบันจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แล้วศึกษาต่อระดับปริญญาเอก สาขาวรรณคดีเปรียบเทียบ ณ มหาวิทยาลัยทือบิงเงน ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ศาสตราจารย์ ดร.เจตนา นาควัชระ กลับมารับราชการในกระทรวงศึกษาธิการ จนถึง พ.ศ. 2511 จากนั้นท่านจึงย้ายไปเป็นอาจารย์รุ่นแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร ณ พระราชวังสนามจันทร์ เมื่อพ.ศ. 2514 แล้วจึงออกจากราชการไปปฏิบัติราชการในองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือซีมีโอ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้รักษาการแทนต่อมาได้กลับเข้ารับราชการในมหาวิทยาลัยศิลปากร ในตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวางแผนพัฒนา จนกระทั่งเกษียณอายุราชการในตำแหน่งศาสตราจารย์ระดับ 11 ใน พ.ศ. 2540
ท่านมีแนวคิดว่า
คนจนนั้นใช่ว่าจะถูกกำหนดด้วยสิ่งแวดล้อมจนเป็นทาสของวัตถุไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนจนยังมีความเป็นมนุษย์ คนจนยังมีทางเลือกที่จะเป็นอิสระ เป็นไทแก่ตัวเอง นั้นก็คือการเปลี่ยนสภาพ เปลี่ยนถิ่นฐาน จากความจนชนิดหนึ่งไปสู่ความจนอีกแบบหนึ่งนั่นเอง[4]
ท่านเขียนหนังสือไว้มากมาย อาทิ
- กวีนิพนธ์เยอรมัน : บทวิเคราะห์และสรรนิพนธ์ : รายงานการวิจัย 2541
- จากตะวันออก-ตะวันตก สู่โลกาภิวัฒน์ทางปัญญา 2546
- เก่ากับใหม่อะไรดี : มนุษยศาสตร์ไทยในกระแสของความเปลี่ยนแปลง 2548
- ครุ่นคิดพินิจนึก 2544
- ความอยู่รอดของมนุษยศาสตร์ไทย 2552
- คู่มือ Leben des Galilei ของ Bertolt Brecht 2522
- จากแผ่นดินแม่สู่แผ่นดินอื่น : รวมบทความวิชาการและบทวิจารณ์ 2548
- ทฤษฎีเบื้องต้นแห่งวรรณคดี 2521