About Us
Center of Latin American Studies
ประวัติ
นับตั้งแต่มีการก่อตั้งสาขาวิชาภาษาสเปนขึ้นในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2508 และได้เปิดสอนภาษาโปรตุเกสในปี พ.ศ. 2533 คณะอักษรศาสตร์ได้กลายเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้แห่งแรกเกี่ยวกับกลุ่มประเทศผู้พูดภาษาสเปนและโปรตุเกส ทั้งในด้านภาษา วัฒนธรรม และสังคม โดยมีจํานวนนิสิตที่ลงเรียนภาษาสเปนเป็นวิชาเอกและโปรตุเกสเป็นวิชาโทเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากภาษาสเปนเป็นหนึ่งในภาษาราชการขององค์การสหประชาชาติที่มีผู้ใช้ทั่วโลกกว่ากว่า 500 ล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศในลาตินอเมริกาถึง 19 ประเทศ ในขณะเดียวกัน ภาษาโปรตุเกสก็เป็นภาษาราชการของประเทศบราซิลซึ่งเป็นประเทศใหญ่ที่สุดในอเมริกาใต้ทั้งในเชิงพื้นที่และประชากร คณะอักษรศาสตร์จึงได้จัดตั้งศูนย์ลาตินอเมริกาศึกษาขึ้นในปีพ.ศ.2545 เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษา ค้นคว้าวิจัยและจัดกิจกรรมด้านวัฒนธรรมประเภทต่างๆ ของกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นศูนย์การศึกษาแรกเกี่ยวกับภูมิภาคนี้ในสถาบันการศึกษาไทย
พันธกิจ
- เพื่อเผยเเพร่และส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาในสังคมไทย
- วิจัยเเละสร้างองค์ความรู้เชิงวิพากษ์ด้านภาษาเเละวัฒนธรรมอันหลากหลายของกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา
- ส่งเสริมโครงการเเลกเปลี่ยนระหว่างนิสิตและคณาจารย์ของสาขาวิชาภาษาสเปนเเละโปรตุเกสกับสถาบันการศึกษาในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาที่มีการลงนามบันทึกความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วิสัยทัศน์
ศูนย์ลาตินอเมริกาศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งที่จะเป็นศูนย์กลางการศึกษาเชิงสหสาขาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจมิติอันหลากหลายในภูมิภาคลาตินอเมริกาและประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นสถาบันชั้นนำในด้านผลงานทางวิชาการ การศึกษาเชิงวัฒนธรรม และการมีส่วนร่วมทางสังคมที่จะส่งเสริมความรู้ความเข้าใจความซับซ้อนหลากหลายในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา นำเสนอมุมมองที่ครอบคลุมรอบด้าน และส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ข้ามพรมแดนวัฒนธรรม
ค่านิยมองค์กร
- ความเป็นเลิศทางวิชาการโดยการผลิตผลงานวิชาการด้านลาตินอเมริกาศึกษาที่มีคุณภาพและมุ่งเน้นประเด็นวิพากษ์
- ยกย่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศผู้พูดภาษาสเปนและโปรตุเกส อันรวมถึงภาษาและวัฒนธรรมของประชากรเชื้อสายชนพื้นเมืองและอัฟริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ่านความร่วมมือทางวัฒนธรรมและวิชาการกับสถานเอกอัครราชทูตลาตินอเมริกาในประเทศไทย เพื่อเป็นสะพานเชื่อมความแตกต่างส่งเสริมความเข้าใจกันและกัน และเสริมสร้างชุมชนพลเมืองโลก
- การส่งเสริมโครงการแลกเปลี่ยนของนิสิตและคณาจารย์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคลาตินอเมริกา
- เครือข่ายการวิจัยระหว่างประเทศไทยและกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา ศูนย์ลาตินอเมริกาศึกษาและสถาบันการวิจัยอื่นๆ เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความรู้และ มุมมองในบริบทวัฒนธรรมที่หลากหลาย นำสู่การริเริ่มการวิจัยและการพัฒนาความรู้ความเข้าใจพลวัตทางสังคมและวัฒนธรรมที่ซับซ้อนของทั้งสองภูมิภาค