สื่อการเรียนรู้แบบ Augmented Reality เรื่องการผลิตเสียงพูดได้รับรางวัล

อาจารย์ ดร.ศุจิณัฐ จิตวิริยนนท์ ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติบุคลากรแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากผลงานสื่อการเรียนรู้สามมิติเรื่อง “กลไกการผลิตเสียงในภาษา” สื่อการเรียนรู้นี้เป็นสื่อการเรียนรู้ที่ใช้เทคโนโลยี Augmented reality (AR) ซึ่งแสดงกลไกในภาษาแบบเสมือนจริงของ 4 กระบวนการที่ทำงานสัมพันธ์กันต่อเนื่อง คือ กระบวนการกระแสลม (airstream process) กระบวนการเปล่งเสียง (phonation process) กระบวนการโอษฐ์-นาสิก (oro-nasal process) และกระบวนการฐานกรณ์ (articulatory process) ผู้เรียนสามารถมองเห็นการทำงานของอวัยวะในกระบวนการต่างๆ แบบเสมือนจริง รวมถึงมองเห็นการเคลื่อนไหวของอวัยวะได้จากทุกมุม ทำให้สามารถเข้าใจกระบวนการที่สัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนได้ดีขึ้น

 

สื่อเรียนรู้สามมิตินี้ช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและเรียนรู้ด้วยตัวเองได้มากขึ้น นับเป็นสื่อการเรียนรู้ที่ผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่สำหรับการเรียนอักษรศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 และนับเป็นนวัตกรรมการสอนด้านสรีระสัทศาสตร์ (articulatory phonetics) ชิ้นแรกในประเทศไทยที่ใช้เทคโนโลยี AR ได้รับรางวัล Silver Award ในการประชุมวิชาการและประกวดนวัตกรรมแห่งชาติ ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติดิเอ็มเพรส โรงแรมดิเอ็มเพรส เชียงใหม่ วันที่ 17-18 สิงหาคม 2560

ดูสาธิตการใช้สื่อสามมิติ “กลไกการผลิตเสียงในภาษา” ในการสอนวิชาภาษาทัศนา ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานในหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิตได้ที่นี่