บัณฑิตภาษาศาสตร์ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น

ภาควิชาภาษาศาสตร์ขอแสดงความยินดีกับนายพิรุฬห์ ปิยมหพงศ์ และนางสาวสิรีมาศ มาศพงศ์ มหาบัณฑิตของภาษาศาสตร์ที่ได้รับผลงานวิจัยสำหรับนิสิตระดับปริญญาโท กองทุนรัชดาภิเษกสมโภช ประจำปี 2560

 

พิรุฬห์ ปิยมหพงศ์

ชื่อวิทยานิพนธ์: คุณสมบัติทางวากยสัมพันธ์และอรรถศาสตร์ของตัวบ่งชี้ผู้รับประโยชน์ “เพื่อ” และ “ให้” ในภาษาไทย (Syntactic and semantic properties of benefactive markers ‘phuea’ and ‘hai’ in Thai)

อาจารย์ที่ปรึกษา:  ศ. ดร.กิ่งกาญจน์ เทพกาญจนา

สำเร็จการศึกษา:  2560

ในภาษาไทย คำว่า “เพื่อ” หรือ “ให้” เป็นคำที่ใช้บ่งชี้ผู้รับประโยชน์ การศึกษาครั้งนี้เสนอว่าคำทั้งสองมีหน้าที่บ่งชี้ผู้รับประโยชน์เช่นเดียวกัน แต่มีคุณสมบัติที่ต่างกันทั้งในด้านไวยากรณ์และความหมาย คำบ่งชี้ “เพื่อ” และ “ให้” มีความแตกต่างด้านไวยากรณ์ 3 ประการ ได้แก่ 1) การปรากฏร่วมกับนามวลีแสดงผู้รับประโยชน์ 2) การย้ายนามวลีแสดงผู้รับประโยชน์ไว้หน้าประโยค และ 3) การปรากฏร่วมกับคำบุพบทอื่น  นอกจากนี้คำบ่งชี้ทั้งสองยังแตกต่างกันในด้านความหมายอีก 2 ประการ กล่าวคือ 1) การปรากฏร่วมกับคำนามที่เป็นผู้รับประโยชน์ทางตรงหรือทางอ้อม และ 2) แตกต่างกันที่แนวโน้มของคำกริยาที่กฎร่วม การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ความแตกต่างของ “เพื่อ” หรือ “ให้” เป็นผลมาจากหน้าที่ทางไวยากรณ์และความหมายดั้งเดิมที่แตกต่างกัน

 

สิรีมาศ มาศพงศ์ (Sireemas Maspong)

ชื่อวิทยานิพนธ์: ความต่างที่มีความสำคัญด้านความสั้นยาวในภาษาไทยสมัยสุโขทัย (Vowel Length Contrast in the Thai Language of Sukhothai Period)

อาจารย์ที่ปรึกษา:  ผศ. ดร.พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์

สำเร็จการศึกษา:  2559

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาภาษาไทยสมัยสุโขทัยที่ใช้กันอยู่เมื่อกว่า 500 ปีที่แล้ว โดยมุ่งศึกษาความต่างที่มีนัยสำคัญด้านความสั้นยาวของสระ ผ่านระบบเขียนในจารึกสุโขทัย 30 หลัก งานวิจัยนี้เสนอว่าภาษาไทยสมัยสุโขทัยได้มีคู่สระที่มีความต่างด้านความสั้นยาวมากเพิ่มขึ้นจากภาษาไทตะวันตกเฉียงใต้ดั้งเดิม ซึ่งเป็นภาษาบรรพบุรุษ ได้แก่ /e-eː/ /ɤ-ɤː/และ /o-oː/ แต่ยังน้อยกว่าภาษาไทยปัจจุบัน ที่มี /ɛ-ɛː/ and /ɔ-ɔː/ ด้วย ลักษณะเช่นนี้ทำให้เสันนิษฐานได้ว่าภาษาไทยสมัยสุโขทัยเป็นภาษาช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างภาษาไทตะวันตกเฉียงใต้ดั้งเดิมและภาษาไทยปัจจุบัน