ชาวมอแกลนบ้านทับปลาทำพิธีไหว้พ่อตาหลวงจักรในเดือนห้า (ตามปฏิทินจันทรคติ) ของทุกๆปี ขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญในพิธีคือการปักเสานามะ เพื่ออัญเชิญเทวดาและบรรพบุรุษให้มาร่วมในพิธี เสานามะมีนกเขาอยู่บนปลายยอดและมีผ้าสีขาวเป็นชายห้อยยาวลงมา คุณลุงบรรหารผู้เป็นหมอพิธีกรรมและร่างทรงประจำหมู่บ้านทับปลาอธิบายว่า นกเขาจะนำพาสิ่งอัปมงคลออกจากหมู่บ้านหลังเสร็จพิธี ส่วนผ้าขาวเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งดีงามที่หลงเหลือเอาไว้
เสานามะจะต้องทำใหม่ทุกปี ช่างผู้เชี่ยวชาญในการทำเสานามะประจำบ้านทับปลาคือคุณตาเสา นาวารักษ์ ซึ่งได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว
ก่อนจะทำการตั้งเสาจะต้องทำพิธีฉลองเสาโดยการแห่รอบเสาเสียก่อน ในพิธีเสานามะจะวางนอนอยู่บนพื้น จากนั้นผู้เข้าร่วมพิธีกรรมจะประแป้งหอมและพรมน้ำอบลงบนเสา เป็นสัญลักษณ์ของความสดชื่นร่มเย็น จากนั้นจึงทำการโปรยข้าวตอก ซึ่งเป็นตัวแทนของความอุดมสมบูรณ์ที่ส่งต่อให้กับลูกหลาน เมื่อฉลองเสาเสร็จแล้วจึงทำการตั้งเสา
ในพิธีไหว้พ่อตาหลวงจักรจะมีการเสี่ยงทายโดยการปีนเสานามะด้วย ผู้ที่ปีนอาจจะเป็นหมอพิธีกรรมหรือเป็นบุคคลอื่นๆที่วิญญาณบรรพบุรุษมา “จับ” หรือเข้าสิงร่างก็ได้ หากผู้ปีนสามารถไต่ขึ้นไปจนถึงยอดและแตะนกเขาได้ จะถือว่าพิธีกรรมเสร็จสมบูรณ์และนกได้นำสิ่งอัปมงคลออกจากหมู่บ้านไป แต่หากไต่ไปไม่ถึงยอด แสดงว่ามีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นในหมู่บ้าน จากนั้นแต่ละครัวเรือนก็จะต้องมาคิดทบทวนว่าได้ทำการล่วงละเมิดสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้อย่างใดหรือไม่ เช่น อาจจะมีใครบนบานศาลกล่าวไว้และยังไม่ได้แก้บน เป็นต้น