แชะแชะ: ผีตะกร้าของชาวมอแกลนและพิธีกรรมที่ (เกือบ) สาบสูญ

แชะแชะ: ผีตะกร้าของชาวมอแกลนและพิธีกรรมที่ (เกือบ) สาบสูญ

กัญญา วัฒนกุล
อัปเดตล่าสุด 9 สิงหาคม 2024

ในบทความเรื่อง “Theorizing Heritage” (1995) Barbara Kirshenblatt-Gimblett นักคติชนชาวอเมริกันได้กล่าวถึงมรดกทางวัฒนธรรมไว้ว่า มรดกทางวัฒนธรรมไม่ได้หมายถึงวัตถุ ประเพณี หรือวิถีปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่ตกทอดจากอดีตสู่ปัจจุบัน ทว่าเป็นกระบวนการประกอบสร้างทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันแต่กลับอ้างอิงถึงอดีต (“Heritage is a new mode of cultural production in the present that has recourse to the past”)[1] การที่บางสิ่งบางอย่างจากอดีตจะกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมได้นั้นจะต้องผ่านการตีความและให้คุณค่า รวมถึงการยอมรับร่วมกันของคนในสังคมปัจจุบัน Kirshenblatt-Gimblett ยังตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า ประเพณีหรือวิถีปฏิบัติจากอดีตดำรงอยู่ได้ในสังคมปัจจุบันเนื่องจากสิ่งเหล่านี้ถูกเปลี่ยนสถานะให้กลายเป็นวัตถุนิทรรศการ ซึ่งมีไว้จัดแสดงเพื่อให้ผู้ชมได้ระลึกถึงอดีตที่สูญหาย ในบริบทดั้งเดิมประเพณีเหล่านี้ย่อมจะมีบทบาทและความจำเป็นในวิถีชีวิตของผู้คนจริงๆ แต่เมื่อการดำเนินชีวิตในบริบทดั้งเดิมนั้นเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ประเพณีที่เคยตอบสนองความจำเป็นบางอย่างก็อาจถูกทดแทนด้วยสิ่งอื่นที่สามารถตอบความต้องการนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ทว่าสังคม (หลัง) สมัยใหม่ก็ได้เอื้อให้ประเพณีมีบทบาทหน้าที่ใหม่ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในอดีต นั่นก็คือหน้าที่ของการเป็นสัญญะที่ใช้สื่อถึงสภาวะหรือวิถีบางอย่างที่คนในปัจจุบันโหยหาแต่ไม่อาจเข้าถึงได้อีก

คำอธิบายของ Kirshenblatt-Gimblett ดูเหมือนจะใช้ได้ดียิ่งกับพิธีกรรมและประเพณีความเชื่อจำนวนมากที่ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นการแสดงหรือกิจกรรมเชิงสัญญะมากกว่าจะหวังผลในเชิงเหนือธรรมชาติดังเช่นที่เคยเป็นในสังคมขนบ เมื่อกระแสการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การอนุรักษ์วิถีชีวิตท้องถิ่น การธำรงอัตลักษณ์ชุมชน ตลอดจนความนิยมในลักษณะอื่นๆของสังคมร่วมสมัยได้ทำให้พิธีกรรมมีความหมายใหม่ในบริบทใหม่ การรื้อฟื้นพิธีกรรมที่ใกล้จะสาบสูญหรือสูญหายไปแล้วจึงมักจะเกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ใหม่เป็นฐานและมักจะมีบุคคลนอกชุมชนเข้ามามีบทบาทสำคัญ ตัวอย่างที่ชัดเจนและพบเห็นได้ทั่วไปคือบทบาทขององค์กรภาครัฐหรือกลุ่มนักวิชาการที่เล็งเห็นว่าวิถีดั้งเดิมบางอย่างสมควรได้รับการอนุรักษ์หรือรื้อฟื้น แล้วจึงทำงานร่วมกับชุมชนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นั้น 

แต่ในกรณีของพิธี แชะแชะ ของชุนชนชาวมอแกลนที่หมู่บ้านรวมน้ำใจ-สุราษฎร์ธานี (บ้านบางขยะ) ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา สาเหตุและขั้นตอนของการรื้อฟื้นพิธีกรรมแตกต่างไปจากกรณีส่วนใหญ่อย่างน่าสนใจ พิธีแชะแชะที่ไม่มีชุมชนมอแกลนใดจัดเลยเป็นเวลาหลายสิบปีได้กลับมามีชีวิตอีกครั้งระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2566 โดยมีคุณวิภาวี นะทะเล ชาวไทยเชื้อสายมอแกลนที่หมู่บ้านรวมน้ำใจฯ เป็นจุดเริ่มต้นของการรื้อฟื้นครั้งนี้ จากการสังเกตพิธีกรรมและสัมภาษณ์ผู้ร่วมพิธีรวมทั้งผู้รู้ชาวมอแกลนที่เกี่ยวข้อง ผู้เขียนพบว่า 1) พิธีแชะแชะไม่ได้ทำหน้าที่เป็นวัตถุนิทรรศการ หรือทำหน้าที่เป็นภาพแทนของสิ่งอื่น (เช่น อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวมอแกลน หรือวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวมอแกลนที่ใกล้สูญหาย) ซึ่งเป็นความหมายใหม่ที่สังคมร่วมสมัยมักจะฉายทับลงไปบนพิธีกรรมที่ถูกรื้อฟื้น ตรงกันข้าม พิธีแชะแชะได้รับการรื้อฟื้นขึ้นใหม่เพื่อตอบวัตถุประสงค์เดิมในวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม นั่นคือ การติดต่อสื่อสารกับวิญญาณบรรพบุรุษเมื่อลูกหลานชาวมอแกลนประสบวิกฤตบางอย่างในชีวิต 2) ด้วยเหตุนี้ หน้าที่ในเชิงเหนือธรรมชาติของพิธีแชะแชะจึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแม้พิธีกรรมจะถูกรื้อฟื้นและจัดวางในวิถีชีวิตร่วมสมัยของชาวมอแกลน อันที่จริงแล้ว ความเป็นอยู่ของชาวมอแกลนในสังคมร่วมสมัยนั่นเองที่เป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดความพยายามสื่อสารกับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับผ่านพิธีแชะแชะ 3) ความพยายามในการรื้อฟื้นพิธีกรรมมาจากคนภายในชุมชนเอง และด้วยข้อจำกัดทางเศรษฐกิจรวมทั้งเงื่อนไขในชีวิตอื่นๆที่ไม่อำนวยของกลุ่มผู้รื้อฟื้น ทำให้การดำเนินการในขั้นตอนต่างๆเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่ด้วยบริบทเช่นนี้กลับทำให้พิธีกรรมที่รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่มีความสำคัญและมีความหมายในชีวิตของชาวมอแกลนที่หมู่บ้านรวมน้ำใจฯ อย่างแท้จริง เพราะการรื้อฟื้นเริ่มต้นจากความต้องการของคนในและไม่ได้เกิดจากการให้ค่าโดยคนนอก

แชะแชะคืออะไร?

จากการพูดคุยกับผู้ใหญ่ประทีป นาวารักษ์ และคุณลุงบรรหาร นาวารักษ์ ที่บ้านทับปลา อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ผู้เขียนได้ทราบว่าพิธีแชะแชะเคยเป็นพิธีใหญ่ที่ชาวมอแกลนบ้านทับปลาให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ แต่หลังจากที่ร่างทรงและหมอพิธีกรรมที่มีความรู้ในการประกอบพิธีเสียชีวิตลง ก็ไม่มีการประกอบพิธีแชะแชะอีกเลย 

ผู้ใหญ่ประทีปอธิบายว่า แชะแชะคือผีตะกร้า เนื่องจากอุปกรณ์สำคัญที่เป็นหัวใจของพิธีกรรมคือตะกร้าสาน เวลาใช้งานจะต้องจับตะกร้าคว่ำลงโดยหันก้นตะกร้าขึ้นด้านบน จากนั้นนำกะลามะพร้าวมาติดที่ก้นจะทำให้ได้รูปทรงคล้ายร่างกายมนุษย์ โดยมีตะกร้าคว่ำเป็นลำตัวและมีกะลามะพร้าวเป็นหัว ต่อมาจะต้องนำไม้มาต่อเป็นแขนซ้ายและแขวนขวา รวมทั้งมีการหุ้มกะลามะพร้าวที่เป็นส่วนหัวด้วยผ้าสีขาว และมีผ้าแดงยาวคล้ายผ้าแถบผูกที่ตะกร้าด้วย ในพิธีกรรมผู้ที่ต้องการสื่อสารกับบรรพบุรุษจะต้องจับตะกร้าขึ้นโยกไปมาตามจังหวะเพลงที่ผู้ร่วมพิธีกรรมคนอื่นๆร่วมกันร้อง จนกระทั่งวิญญาณบรรพบุรุษมาเข้าร่างผู้ที่จับตะกร้าก็จะถือว่าการสื่อสารกับบรรพบุรุษได้เกิดขึ้นแล้ว

คุณลุงบรรหาร นาวารักษ์ ผู้รับหน้าที่เป็นหมอพิธีกรรมของชาวมอแกลนหมู่บ้านทับปลามาหลายสิบปีเล่าว่า ในอดีตพิธีแชะแชะเคยเป็นหนึ่งในสามพิธีกรรมใหญ่ของชุมชน ซึ่งประกอบไปด้วย 1) พิธีไหว้ถ้วยตายายในเดือนสี่จันทรคติ 2) พิธีไหว้พ่อตาหลวงจักร ซึ่งเป็นทั้งบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักรักษาชาวมอแกลนบ้านทับปลาในเดือนห้าจันทรคติ และ 3) พิธีแชะแชะซึ่งจะจัดในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติ วัตถุประสงค์ของพิธีแชะแชะคือการติดต่อสื่อสารกับบรรพบุรุษที่ล่วงลับเพื่อขอคำชี้แนะเกี่ยวกับสถานการณ์คลุมเครือหรือปัญหาชีวิตบางอย่างที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต เช่น เมื่อมีคนในชุมชนล้มป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด และการรักษาด้วยวิธีปกติไม่ได้ช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น หรือเมื่อมีผู้เสียชีวิตและครอบครัวสงสัยว่าอาจจะมีสิ่งเหนือธรรมชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมทั้งเมื่อสมาชิกในชุมชนต้องประสบกับวิกฤตในชีวิตบางอย่าง เช่น การทำมาหากินที่ฝืดเคือง การสอบแข่งขันที่มีโอกาสสำเร็จน้อย หรือแม้แต่ปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรหลาน ก็สามารถมาขอคำชี้แนะจากบรรพบุรุษในพิธีแชะแชะได้เช่นเดียวกัน 

คุณลุงบรรหารอธิบายต่อไปว่า ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในพิธีแชะแชะที่บ้านทับปลาประกอบด้วยร่างทรงวิญญาณบรรพบุรุษที่เป็นผู้หญิงและหมอพิธีกรรมที่เป็นผู้ชาย วิญญาณบรรพบุรุษจะมาเข้าร่างคนทรงเพื่อให้คำชี้แนะกับลูกหลาน ในขณะที่หมอพิธีกรรมจะคอยกำกับควบคุมไม่ให้สัมภเวสีผีร้ายต่างๆ เข้ามาก่อกวนหรือสิงสู่ผู้เข้าร่วมพิธี ในอดีตที่บ้านทับปลาเคยมีคุณยายเผินทำหน้าที่เป็นร่างทรงและมีคุณตาย้อยทำหน้าที่เป็นหมอพิธีกรรม แต่เนื่องจากความรู้ตลอดจนสิทธิในการเป็นผู้ประกอบพิธีแชะแชะต้องสืบทอดผ่านทางสายเลือด เมื่อไม่มีลูกหลานในครอบครัวรับช่วงต่อและผู้อาวุโสที่เคยประกอบพิธีได้ล่วงลับไปแล้ว พิธีแชะแชะจึงสูญหายไปโดยปริยาย เหลือเพียงแบบจำลองของตะกร้าแชะแชะที่จัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ชุมชนบนชั้นสองของศาลาที่ทำการบ้านทับปลา ส่วนตะกร้าที่เคยใช้ในพิธีกรรมจริงถูกเก็บรักษาไว้ที่บ้านของคุณยายยืน นาวารักษ์ เนื่องจากพิธีแชะแชะเป็นความรู้ที่สืบทอดกันมาภายในครอบครัวของคุณยาย 

ตะกร้าแชะแชะที่บ้านของคุณยายยืน
ถ่ายโดยผู้เขียน 6 พฤษภาคม 2566

การสื่อสารกับวิญญาณบรรพบุรุษผ่านการเข้าทรงเมื่อสมาชิกในชุมชนประสบวิกฤตในชีวิตนั้นอาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เนื่องจากเป็นลักษณะร่วมที่พบได้ในหลายวัฒนธรรม ทว่าสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับพิธีแชะแชะนี้อยู่ที่บริบทของการรื้อฟื้นพิธีกรรม ทั้งสาเหตุและวัตถุประสงค์ของการรื้อฟื้นที่ผู้เขียนมองว่ามีนัยสำคัญหลายอย่าง ทั้งในประเด็นที่เกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของชาวมอแกลนในสังคมไทยร่วมสมัยและประเด็นที่ว่าด้วยความหมายของประเพณีที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ การศึกษาคติชนในบริบทการท่องเที่ยวและคติชนในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมมักจะกล่าวถึงการปรับเปลี่ยนบทบาทและความหมายของคติชนให้สอดคล้องกับการให้คุณค่าและความคาดหวังของคนภายนอก ทั้งการจัดแสดงคติชนต่อนักท่องเที่ยวและการนำเสนอต่อองค์กรภาครัฐหรือองค์กรระหว่างประเทศเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรม แต่การรื้อฟื้นพิธีแชะแชะกลับให้ภาพของคติชนในสังคมร่วมสมัยที่ต่างออกไป จากบ้านทับปลาผู้เขียนเดินทางต่อไปที่หมู่บ้านรวมน้ำใจ-สุราษฎร์ธานีเพื่อสังเกตการณ์พิธีแชะแชะ ซึ่งในตอนแรกคิดว่าคงมีโอกาสได้รู้จักผ่านคำบอกเล่าเท่านั้น

การรื้อฟื้นจากภายใน: พิธีแชะแชะที่หมู่บ้านรวมน้ำใจ-สุราษฎร์ธานี

ด้วยความโชคดีอย่างประหลาด หลังจากที่ได้พูดคุยกับผู้รู้ที่บ้านทับปลาในวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 แล้ว ตอนเย็นของวันเดียวกันนั้นเองเพื่อนร่วมกลุ่มวิจัยของผู้เขียนได้รับแจ้งว่าจะมีการประกอบพิธีแชะแชะที่หมู่บ้านรวมน้ำใจ-สุราษฎร์ธานี ซึ่งคนในพื้นที่เรียกอย่างลำลองว่าบ้านบางขยะ ด้วยความเอื้อเฟื้อของพี่น้องชาวมอแกลน ผู้เขียนและเพื่อนร่วมกลุ่มวิจัยจึงได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมสังเกตการณ์และบันทึกภาพพิธีกรรมซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลาสามคืน โดยเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ไปจนถึงวันแรมสองค่ำ เดือน 6 ตรงกับวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2566

ผู้เขียนไปถึงบ้านซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีราวๆ สองทุ่มครึ่ง บนลานว่างหน้าบ้านมีกองทราย คุณตาสองท่านรับหน้าที่เป็นหมอพิธีกรรมนั่งอยู่ทางซ้ายและขวาของกองทราย ภายหลังผู้เขียนได้ทราบจากพี่แมว หรือคุณวิภาวี นะทะเล ผู้ริเริ่มการรื้อฟื้นพิธีแชะแชะว่า หนึ่งในนั้นคือหมอเคลื่อน ซึ่งเป็นผู้นำประกอบพิธีกรรมต่างๆของชาวมอแกลนที่หมู่บ้านรวมน้ำใจฯ นอกจากนี้ ยังมีตะกร้าแชะแชะแบบที่ผู้เขียนเห็นที่บ้านของคุณยายยืนวางอยู่ชิดกับกองทราย ส่วนรัศมีวงนอกจะเป็นที่นั่งของผู้ร่วมพิธี โดยทุกคนนั่งบนพื้นและร้องเพลงที่ขึ้นต้นด้วยวลีภาษามอแกลนที่ว่า แชะแชะตะและแอมัน ผู้เขียนพยายามสอบถามพี่แมวและผู้อาวุโสชาวมอแกลนที่หมู่บ้านรวมน้ำใจฯ เกี่ยวกับความหมายของเพลงที่ร้องในพิธี ซึ่งเป็นเพลงสั้นๆและร้องวนไปมาเมื่อมีผู้ร่วมพิธีคนใดคนหนึ่งต้องการติดต่อสื่อสารกับบรรพบุรุษด้วยการเข้าไปถือตะกร้าและโยกตัวไปมาตามจังหวะเพลง แต่ก็ไม่มีใครทราบว่าความหมายของเพลงคืออะไร เพียงแต่จับได้เป็นคำๆว่าเนื้อเพลงกล่าวถึง งู เตาถ่าน ขี้เถ้า อีกา และกิ้งก่า ในอดีตมีเพลงพื้นเมืองภาษามอแกลนหลายเพลงที่นำมาใช้ร้องในพิธีแชะแชะ แต่เพลงที่ผู้เฒ่าผู้แก่ยังพอจะจำและร้องได้มีเพียงเพลงที่ขึ้นต้นด้วยวลี แชะแชะตะและแอมัน นี้เท่านั้น จึงต้องร้องเพลงนี้วนไปมาตลอดระยะเวลาของการประกอบพิธี 

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังพบว่ามีชามโลหะใส่กำยานวางไว้ข้างๆ กองทราย รวมทั้งมีกระบอกไม้ไผ่ความยาวประมาณ 2-3 ฟุต และมีเอ็นขึงตลอดความยาวของกระบอกไม้ไผ่ นอกจากการร้องเพลงและปรบมือให้จังหวะโดยผู้ร่วมพิธีแล้ว ผู้ที่ถือกระบอกไม้ไผ่ก็จะดีดเครื่องดนตรีพื้นบ้านมอแกลนชิ้นนี้คลอไปด้วย ตลอดพิธีจะมีการโปรยข้าวตอกลงบนกองทรายเป็นระยะๆ รวมทั้งมีการเติมกำยานในชามโลหะทำให้มีควันลอยคละคลุ้งในพิธีตลอดเวลา 

เมื่อมีผู้ร่วมพิธีคนใดต้องการสื่อสารกับบรรพบุรุษเพื่อให้ช่วยปัดเป่าโรคภัยหรือขอคำชี้แนะเกี่ยวกับปัญหาบางอย่างในชีวิต บุคคลนั้นก็จะก้าวเข้ามาข้างกองทราย แสดงความเคารพต่อตะกร้าแชะแชะและนำผ้าสีแดงที่พาดบนตะกร้ามาคาดกับลำตัว จากนั้นจะหยิบตะกร้าขึ้นและโยกตัวไปมาตามจังหวะเพลง หากผู้ที่จับตะกร้าไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงใดๆ หมายความว่าบรรพบุรุษไม่มา “จับ” เยาวชนมอแกลนที่นั่งข้างๆผู้เขียนในพิธีอธิบายให้ฟังว่า การที่บรรพบุรุษไม่มาจับหมายถึงการสื่อสารไม่เกิดขึ้น บุคคลนั้นก็จะต้องมาลองจับตะกร้าใหม่ในพิธีกรรมคืนถัดไปหรือหากเป็นคืนสุดท้ายของการประกอบพิธีก็อาจจะต้องรอถึงปีหน้า แต่ถ้าหากผู้จับตะกร้าเริ่มเข้าสู่ภวังค์และเริ่มแสดงพฤติกรรมที่ต่างออกไปจากปกติ เช่นเริ่มลุกขึ้นรำ กระโดดโลดเต้นไปมารอบๆกองทราย หรือมีอาการสั่นกระตุกอย่างรุนแรง เหล่านี้เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าบรรพบุรุษมาเยี่ยมและหลังจากพิธีกรรมจบลงสิ่งเลวร้ายหรือปัญหาที่บุคคลนั้นประสบอยู่ก็จะได้รับการปัดเป่า ขณะที่ผู้เขียนสังเกตการณ์พิธีกรรมอยู่นั้น มีคุณป้าท่านหนึ่งเกิดอาการสั่นกระตุกในขณะที่กำลังจับตะกร้า น้องชายชาวมอแกลนคนเดิมมีน้ำใจให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คุณป้าป่วยเรื้อรังมานานจึงมาจับตะกร้าเพื่อขอความช่วยเหลือจากบรรพบุรุษ และเมื่อคุณป้าได้ “รำเอาสิ่งไม่ดี” ออกจากตัวแล้ว อาการป่วยที่ยืดเยื้อมานานก็จะทุเลาเบาบางลง

ในคืนวันนั้นผู้เขียนได้เห็นผลลัพธ์ที่แตกต่างกันของการจับตะกร้าแชะแชะ มีผู้ร่วมพิธีกรรมบางคนที่ไม่รู้สึกถึงวิญญาณบรรพบุรุษ แต่ก็มีอีกหลายคนที่ได้สื่อสารกับบรรพบุรุษและวางตะกร้าลงด้วยความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในชีวิตที่มากขึ้นกว่าเดิม พิธีกรรมสิ้นสุดลงในเวลาประมาณสามทุ่มครึ่ง หมอพิธีกรรมจุดธูปสามดอกปักลงที่กองทรายและโปรยข้าวตอกทิ้งท้าย จากนั้นเจ้าของบ้านที่เป็นสถานที่ประกอบพิธีเชิญผู้ที่ยังอยู่ในงานร่วมรับประทานอาหาร

ผู้เขียนไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับพี่แมวเกี่ยวกับสาเหตุของการรื้อฟื้นพิธีแชะแชะ จนกระทั่งวันที่ 20 มีนาคม 2567 ผู้เขียนได้มีโอกาสกลับไปที่หมู่บ้านรวมน้ำใจฯ พร้อมกับเพื่อนๆ ในทีมวิจัยอีกครั้ง พี่แมวเล่าให้ฟังว่าได้ประสบกับอาการเจ็บป่วยที่ไม่ทราบสาเหตุมานานถึงสี่ปีก่อนจะตัดสินใจจัดพิธีแชะแชะในปี 2566 โดยเริ่มจากมีอาการเหนื่อยล้าอ่อนแรงแบบเรื้อรัง หมดความอยากอาหารโดยสิ้นเชิงและรู้สึกง่วงนอนตลอดเวลา ในขณะที่ป่วยพี่แมวจะกินอาหารมื้อละหนึ่งช้อนเท่านั้นทำให้อาการเหนื่อยล้าทรุดหนักมากขึ้น เมื่อไปรับการตรวจที่โรงพยาบาลก็ไม่พบว่ามีสิ่งใดในร่างกายผิดปกติ ด้วยเหตุนี้พี่แมวจึงลองใช้วิธีการทางความเชื่อเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาสุขภาพนี้ หลังจากได้ปรึกษาหมอพิธีกรรมชาวมอแกลนก็ได้คำตอบว่าบรรพบุรุษอยากมาอยู่ด้วยจึงบันดาลให้เจ็บป่วย และหากพี่แมวจัดพิธีแชะแชะเพื่อเป็นการ “รับ” บรรพบุรุษแล้วอาการป่วยก็จะดีขึ้น 

แต่ถึงกระนั้นการรื้อฟื้นพิธีแชะแชะก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของบ้านรวมน้ำใจฯ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ชาวมอแกลนเพิ่งจะมาอยู่ใหม่หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิในปี 2547 ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีความรู้เรื่องพิธีกรรมโบราณจึงกระจัดพลัดพราย ไม่เหมือนบ้านทับปลาที่อำเภอท้ายเหมืองซึ่งเป็นชุมชนมอแกลนดั้งเดิมและมีการตั้งรกรากมายาวนาน ดังนั้นพี่แมวจึงเดินทางไปหาความรู้เรื่องพิธีแชะแชะจากผู้อาวุโสที่บ้านทับปลา แล้วจึงนำความรู้นั้นมาปะติดปะต่อจนกระทั่งสามารถจัดพิธีแชะแชะขึ้นได้ในเดือนพฤษภาคม 2566 ในช่วงแรกพี่แมวพบกับอุปสรรคหลายอย่าง เช่น ไม่มีใครกล้าสานตะกร้าหรือมีส่วนร่วมอื่นๆในการสร้างตะกร้าแชะแชะเพราะกลัวว่าจะทำผิดข้อห้ามเนื่องจากไม่มีความรู้เรื่องพิธีกรรม พี่แมวจึงต้องลงมือสานตะกร้าด้วยตัวเองถึงแม้จะไม่เคยทำมาก่อน หรือเมื่อพี่แมวทราบว่ามีคนอื่นๆในชุมชนที่ป่วยเรื้อรังด้วยสาเหตุที่ไม่แน่ชัดเหมือนกับตนก็ชวนให้มาร่วมจัดพิธีกรรมด้วยกัน แต่ก็ถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่าหากจัดพิธีครั้งหนึ่งแล้วต่อไปก็ต้องจัดเป็นประจำ เพราะเมื่อทำการ “รับ” บรรพบุรุษมาอยู่ด้วยแล้วก็ต้องทำการเซ่นสรวงบูชาอย่างต่อเนื่อง การจัดพิธีกรรมแต่ละครั้งก็ต้องใช้ทั้งต้นทุนด้านเวลาและต้นทุนทางเศรษฐกิจ ด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในชีวิตทำให้ผู้ที่ถูกชักชวนไม่สะดวกที่จะทำเช่นนั้น 

แต่ถึงจะพบกับอุปสรรคต่างๆมากเพียงไร สุดท้ายแล้วพี่แมวก็สามารถรื้อฟื้นพิธีแชะแชะได้สำเร็จ ตลอดสามคืนที่มีการจัดพิธีกรรม ชาวมอแกลนที่หมู่บ้านรวมน้ำใจฯและจากหมู่บ้านใกล้เคียงได้เห็นพิธีกรรมดั้งเดิมของชุมชนอีกครั้ง เช่นเดียวกับบุคคลที่กำลังเผชิญวิกฤตชีวิตก็ได้ติดต่อสื่อสารกับบรรพบุรุษ และยังได้เห็นญาติพี่น้องชาวมอแกลนมารวมตัวกันในพิธีกรรมของชุมชนที่ซึ่งปัญหาของปัจเจกไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคลที่ต้องแก้แบบตัวใครตัวมัน แต่เป็นเรื่องที่ชุมชนเข้ามาร่วมรับรู้และเอาใจช่วยให้บุคคลนั้นผ่านวิกฤตชีวิตไปได้ด้วยการมีส่วนร่วมในพิธีกรรม หากผู้เขียนต้องเผชิญวิกฤตชีวิตบางอย่าง ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยอาจไม่ได้เกิดจากความเชื่อ ในบรรพบุรุษหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆที่คอยปกรักษาเพียงอย่างเดียว แต่ย่อมเกิดจากการตระหนักรู้ว่ามีชุมชนหรือคนกลุ่มหนึ่งร่วมรับรู้วิกฤตในชีวิตและคอยเอาใจช่วยให้ผู้เขียนผ่านวิกฤตนั้นไปได้  

ข้อคิดจากผีตะกร้า: หน้าที่ของพิธีกรรมเปลี่ยนไปหรือไม่ในบริบทสังคมร่วมสมัย? 

พิธีแชะแชะที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ยังคงทำหน้าที่เดิมในวิถีชีวิตของชาวมอแกลน นั่นคือเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับบรรพบุรุษ ความหมายในเชิงเหนือธรรมชาติของพิธีกรรมยังคงไว้ตามเดิม ไม่ได้ถูกตีความใหม่ ให้กลายเป็นสัญญะแทนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวมอแกลน หรือเป็นวัตถุนิทรรศการที่มีไว้จัดแสดงให้คนนอกชมแต่อย่างใด ในแง่นี้ เราจึงได้เห็นตัวอย่างของพิธีกรรมที่ได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่เพื่อตอบสนองความจำเป็นในชีวิตของคนในชุมชนเอง และยังได้เห็นสภาวะที่ผู้คนแสวงหาความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตผ่านพิธีกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิธีกรรมที่กำเนิดขึ้นในระบบความเชื่อและวัฒนธรรมของคนกลุ่มนั้นเอง

นักมานุษยวิทยารวมทั้งนักคติชนจำนวนมากได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ความเชื่อเหนือธรรมชาติไม่ได้ลดบทบาทลงไปในสังคมร่วมสมัย ตรงกันข้าม สภาวการณ์และเงื่อนไขของสังคมร่วมสมัยนั่นเองที่ทำให้เกิดประเพณีความเชื่อใหม่ๆ รวมทั้งการรื้อฟื้นพิธีกรรมความเชื่อดั้งเดิมด้วยเช่นกัน สังคมร่วมสมัยที่ซับซ้อนไม่เรียบง่ายเหมือนสังคมเกษตรกรรมหรือวิถีการดำรงชีวิตแบบเดิมที่เน้นการทำมาหากินกับธรรมชาติ ระบบเศรษฐกิจการเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยปัจจัยทับซ้อนหลายประการจนเกินความเข้าใจในระดับสามัญสำนึก หรือปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองก็มีรูปแบบที่หลากหลายและแปรผันตามเงื่อนไขในบริบทต่างๆ ความซับซ้อนคลุมเครือนำไปสู่ความรู้สึกไม่ปลอดภัย และเครื่องมือที่มนุษย์ใช้จัดการความสับสนไม่มั่นคงซึ่งเกิดจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้คือพิธีกรรมปัญหาสุขภาพที่แก้ไขไม่ได้ด้วยการตรวจรักษาในโรงพยาบาลทำให้พี่แมวต้องแสวงหาทางออกผ่านพิธีกรรม เช่นเดียวกับชาวมอแกลนอีกหลายคนที่ต้องพึ่งพาวิญญาณบรรพบุรุษเมื่อตระหนักว่าวิธีการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมอาจไม่ได้ช่วยให้สิ่งต่างๆดีขึ้น หากเราลองพิจารณาเงื่อนไขในชีวิตของพี่น้องชาวมอแกลนในบริบทสังคมไทยร่วมสมัย เราจะไม่แปลกใจว่าเพราะอะไรพิธีกรรมของชาวมอแกลนจึงมีใจความสำคัญอยู่ที่การบูชาวิญญาณบรรพบุรุษเพื่อให้คอยปกปักรักษาลูกหลาน รวมทั้งการบนบานกับบรรพบุรุษหรือการเสี่ยงทายเพื่อขอคำแนะนำเมื่อประสบกับปัญหาในชีวิต เมื่อชีวิตเต็มไปด้วยความไม่มั่นคงปลอดภัยและขาดทรัพยากรในการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง แม้แต่พื้นดินที่ใช้ปลูกบ้านหรือทำกินก็ไม่มีโฉนด หรือการทำมาหากินที่ถ้าหากไม่ใช่การทำประมงขนาดเล็ก ก็รับจ้างเป็นแรงงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เมื่อชีวิตไม่ได้มีทางเลือกมากนัก รวมทั้งไม่มีต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมเพียงพอในการจัดการความท้าทายของชีวิตในมิติต่างๆ การประกอบพิธีกรรมเพื่อขอความช่วยเหลือจากสิ่งเหนือธรรมชาติจึงอาจเป็นหนึ่งในตัวเลือกเพียงไม่กี่อย่างที่พอจะทำได้ ด้วยเหตุนี้ การรื้อฟื้นพิธีแชะแชะเพื่อสื่อสารกับบรรพบุรุษจึงมีนัยสำคัญเกี่ยวกับสภาพการณ์ในชีวิตของชาวมอแกลนในสังคมร่วมสมัย ซึ่งไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นเพียงความงมงายของชาวบ้าน  


[1] Kirshenblatt-Gimblett, Barbara. “Theorizing Heritage.” Ethnomusicology 39, no. 3 (1995): 367–80. https://doi.org/10.2307/924627.

แชร์หน้านี้