เอกภาษาเอเชียใต้

หลักสูตร

           สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ ภาควิชาภาษาตะวันออกเปิดสอนวิชาเฉพาะสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้แบบวิชาเอกเดี่ยว และวิชาเอก-โท สำหรับนิสิตที่เลือกเรียนเป็นวิชาเอก และเปิดสอนเป็น วิชาโท สำหรับนิสิตที่เรียนวิชาเอกสาขาอื่นทั้งในคณะและนอกคณะที่เลือกเรียนเป็นวิชาโท

สำหรับนิสิตเลือกเป็นวิชาเอก

แบบวิชาเอกเดี่ยว จำนวน 66 หน่วยกิต แบ่งออกเป็น

          – วิชาบังคับ       21 หน่วยกิต

                  – บาลี 1 Pali I

                  – บาลี 2 Pali II

                  – ภาษาฮินดี 1 Hindi I

                  – ภาษาฮินดี 2 Hindi II

                  – สันสกฤต 1 Sanskrit I

                  – สันสกฤต 2 Sanskrit II

                  – อารยธรรมอินเดีย Indian Civilization

          – วิชาบังคับเลือก   3 หน่วยกิต เลือก 1 วิชา

                  – ประวัติวรรณกรรมฮินดี History of Hindi Literature

                  – ปริทัศน์วรรณคดีบาลี Survey of Pali Literature

                  – ปริทัศน์วรรณคดีสันสกฤต Survey of Sanskrit Literature

          – วิชาเลือก        42 หน่วยกิต

แบบวิชาเอก-โท  จำนวน 66 หน่วยกิต แบ่งออกเป็น

– วิชาเอก 48 หน่วยกิต

– วิชาบังคับ 21 หน่วยกิต

– วิชาบังคับเลือก 3 หน่วยกิต

– วิชาเลือก 24  หน่วยกิต

– วิชาโท 18 หน่วยกิต

– สามารถเลือกวิชาโทสาขาอื่นจากในคณะหรือนอกคณะ

 

นิสิตสามารถดูหลักสูตรเพิ่มเติมได้ที่ 

https://www.arts.chula.ac.th/02program/curriculum/major61/Southasian-8.pdf 

 

       ปล.นิสิตควรตรวจสอบข้อมูลอีกครั้งก่อนการลงทะเบียนเรียนในแต่ละภาคการศึกษา เนื่องจากรายวิชาและหลักสูตรที่เปิดสอนอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนี้ในบางวิชานิสิตควรติดต่ออาจารย์ผู้สอนก่อนทำการลงทะเบียนเรียนด้วย

กิจกรรมภายในเอก

1. กิจกรรมวิทยานันท์ เป็นกิจกรรมทัศนศึกษาของนิสิตทุกชั้นปีและคณาจารย์ เป็นการไปศึกษาแหล่งความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนา พราหมณ์-ฮินดู ในด้านประวัติศาสตร์และโบราณสถานต่างๆ

2. งานศึกษารมภ์-เสวนาภารตวิทยา เป็นกิจกรรมของทางสาขาวิชาที่จัดขึ้นทุกปีเพื่อเรียนรู้ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมอินเดียผ่านกิจกรรมสรัสวดีบูชาซึ่งเรียกได้ว่าเป็นพิธีไหว้ครูพระสรัสวดีเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่นิสิตก่อนเริ่มการศึกษา และเพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการด้านภารตวิทยาผ่านกิจกรรมเสวนาทางวิชาการเรื่องพระสรัสวดีในประเด็นต่างๆที่หลากหลาย และภายในงานมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย เช่น การประกอบพิธีบูชาพระสรัสวดี การแต่งกายแบบชาวอินเดีย หรือ การรับประทานขนมอินเดียต่างๆ เป็นต้น

3. เสวนาภารตวิทยา เป็นกิจกรรมทางวิชาการมีการยกหัวข้อต่างๆไม่ว่าจะเป็นด้าน
ภารตวิทยา พระพุทธศาสนา ด้านภาษาเอเชียใต้ที่เป็นประเด็นที่น่าสนใจ โดยการเชิญวิทยากรที่มีความรู้ในด้านนั้นๆมาให้ความรู้แก่นิสิตที่สนใจ

4. กิจกรรมวันภาษาฮินดีโลก มีการจัดประกวดสุนทรพจน์ เรียงความ ร้องเพลง โดยใช้ภาษาฮินดี เป็นการแสดงความสามารถในด้านภาษาฮินดีร่วมกับเพื่อนๆจากต่างมหาวิทยาลัยที่เรียนภาษาฮินดีเช่นเดียวกัน

5. คอนเทนต์ความรู้เกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียใต้ที่น่าสนใจ ที่ช่องทางเพจ สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคอนเทนต์ความรู้หลากหลายรูปแบบที่เหล่าคณาจารย์รังสรรค์ขึ้นเพื่อให้ผู้สนใจได้ติดตามอ่านและชมอย่างต่อเนื่อง เช่น #บาลีสันสกฤตฮินดีวันละคำ เป็นคอนเทนต์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ที่เท่าทันกับเหตุการณ์ความสนใจของผู้คนในช่วงเวลานั้น

6. คอนเทนต์ “โรงเล่า” เป็นการเล่าเรื่องเล่าต่างๆจากวัฒนธรรมอินเดียในรูปแบบการ Live โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว และ อาจารย์ ดร. บุณฑริกา บุญโญ ที่ทั้งสนุกและได้สาระมากมาย เป็นต้น

 – กิจกรรมอื่นๆ เช่น งานวิจโยทัย, เวิร์คช็อป, สังสรรค์, งานรับรองนักวิชาการต่างประเทศ เป็นต้น

ประสบการณ์ภายในเอก

 #ปี3

          …ภายในเอกภาษาเอเชียใต้นั้นมีความอบอุ่น เนื่องจากเป็นเอกที่มีคนอยู่จำนวนไม่เยอะจึงทำให้ทั้งป.ตรีจนถึงป.เอกรู้จักกันทุกคน และอาจารย์ก็รู้จักนิสิตทุกคนเช่นกัน เมื่อมีกิจกรรมทุกคนก็จะคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อาจารย์ภายในเอกมีความเอาใจใส่นิสิตอย่างมาก คอยให้คำแนะนำอยู่เสมอ นิสิตสามารถปรึกษาอาจารย์ได้ตลอด 

          การเรียนการสอนนั้นแม้ว่าเอกนี้จะต้องเรียนหลายภาษาแต่ด้วยความที่เป็นภาษาที่เกี่ยวข้องกันจึงสามารถเรียนด้วยกันได้ อีกทั้งไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานมาก่อนก็สามารถเรียนได้เนื่องจากอาจารย์จะปูพื้นฐานให้ใหม่ทั้งหมด 

          ในส่วนของวิชาเนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นการทำรายงานซึ่งหัวข้อในการทำรายงานนั้นอาจารย์ให้อิสระอย่างมากสามารถทำได้ตามความสนใจของนิสิตแต่ละคนแต่จะต้องอยู่ในขอบเขตของรายวิชา 

           นอกจากนี้ในการเรียนการสอนนั้นอาจารย์มักจะมีตัวเลือกและให้นิสิตร่วมกันตกลงว่าอยากจะให้การเรียนการสอนเป็นไปในรูปแบบใด จะเห็นได้ว่าอาจารย์มีความใส่ใจและรับฟังความคิดเห็นของนิสิตอยู่เสมอ 

          การฝึกงานของเอกภาษาเอเชียใต้นั้นไม่บังคับ แต่สามารถเลือกฝึกเองได้ตามความสนใจและความสะดวกของนิสิตเอง

แนวทางการประกอบอาชีพ

          เนื่องจากเป็นสาขาวิชาเกี่ยวกับภาษาจึงสามารถนำไปประกอบอาชีพได้หลากหลายในหมวดหมู่ของงานด้านอักษรศาสตร์ เช่น พนักงานพิสูจน์อักษร นักแปล ล่ามแปลภาษา บรรณาธิการ  เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถประกอบอาชีพทางด้านวิชาการอย่างเช่น นักวิชาการ  และเนื่องจากสาขาภาษาเอเชียใต้มีหลักสูตรที่ครอบคลุมเนื้อหาด้านประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกันจึงสามารถนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพเกี่ยวกับงานด้านประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาและพราหมณ์-ฮินดู