เอกประวัติศาสตร์

เกณฑ์การเข้าเอก

ไม่มีการกำหนดเกณฑ์การเข้าเอกอย่างเป็นทางการ ก่อนขึ้นปี 2 ทางทะเบียนจะให้กรอกความจำนงเข้าสังกัดเอก และกรอกเกรดวิชาอารยธรรมตะวันออก (Eastern civilization) และ วิชาอารยธรรมตะวันตก (Western Civilization)

หลักสูตร

อ้างอิงจากหลักสูตรปีการศึกษา 2561 สำหรับนิสิตที่เรียนเอกเดี่ยว จำเป็นต้องเก็บให้ครบ 66 หน่วยกิตเพื่อสำเร็จหลักสูตร แบ่งออกเป็น
 
วิชาเรียนในภาคประวัติศาสตร์ 48 หน่วยกิต (16 รายวิชา)
1. วิชาบังคับ 12 หน่วยกิต 4 รายวิชา ดังนี้
– ประวัติศาสตร์ไทยก่อนสมัยใหม่
– ประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่
– ความคิดและวิธีการทางประวัติศาสตร์
– สัมมนาประวัติศาสตร์ไทย (เฉพาะปี 4 เท่านั้น)
 
2. วิชาบังคับเลือก 9 หน่วยกิต เลือก 3 วิชาจาก 6 วิชา ดังนี้
– ประวัติศาสตร์ตะวันออกกลาง
– ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึง กลางคริสต์ศตวรรษที่ 20
– ประวัติศาสตร์ยุโรปตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงปัจจุบัน
– ประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ค.ศ. 1898 ถึงปัจจุบัน
– ประวัติศาสตร์เอเชียใต้ตั้งแต่สมัยอาณานิคม ถึงปัจจุบัน
– จีน ญี่ปุ่น เกาหลีสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 20
 
3. วิชาเลือก 27 หน่วยกิต สามารถดูได้ที่ https://www.arts.chula.ac.th/02program/curriculum/major61/History-3.pdf

วิชาเลือกนอกสาขา 18 หน่วยกิต ซึ่งสามารถเลือกเรียนวิชาในคณะหรือนอกคณะอักษรศาสตร์ก็ได้ ทั้งนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากอาจารย์ก่อน และควรส่งตารางเรียนภาคเรียนต่อไปให้อาจารย์ดูก่อนลงทะเบียนเรียน
 
ส่วนนิสิตที่เรียนเป็นเอก-โท ต้องเก็บวิชาเอก​ (วิชาในสาขาประวัติศาสตร์) 66 หน่วยกิตเช่นกัน โดยแบ่งเป็นวิชาบังคับ 12 หน่วยกิต บังคับเลือก 9 หน่วยกิต และวิชาเลือกในสาขา 27 หน่วยกิต วิชาบังคับและบังคับเลือกจะเป็นรายวิชาเดียวกับนิสิตเอกเดี่ยว และวิชาโทอีก 18 หน่วยกิต สามารถเลือกได้ทั้งวิชาในคณะและนอกคณะโดยต้องเป็นไปตามหลักสูตรของวิชาโทนั้น ๆ

ปล. นิสิตควรตรวจสอบข้อมูลอีกครั้งก่อนการลงทะเบียนเรียนในแต่ละภาคการศึกษา เนื่องจากรายวิชาและหลักสูตรที่เปิดสอนอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนี้ในบางวิชานิสิตควรติดต่ออาจารย์ผู้สอนก่อนทำการลงทะเบียนเรียนด้วย

กิจกรรมภายในเอก

กิจกรรมในช่วงต้นปีการศึกษาที่จะแนะนำทุกคนให้รู้จักกับนิสิตเอกประวัติศาสตร์ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกและอาจารย์ในภาควิชา ทำให้ทุกคนได้รู้จักว่าสมาชิกในเอกของเรามีใครสนใจด้านไหนบ้าง เพื่อจะได้มีประโยชน์ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนในการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ต่อไปในอนาคต

ทริปของชาวเอกประวัติศาสตร์ที่จะพาทุกคนไปทัศนศึกษาสถานที่ในประวัติศาสตร์ เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้จากสถานที่จริง แต่นอกจากสาระความรู้แล้ว ยังมีกิจกรรมให้ได้สานสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ในเอกอีกด้วย

ทุก ๆ ปีที่มีการจัดงานเปิดบ้านอักษรที่คณะฯ ชาวเอกประวัติศาสตร์ก็จะมารวมพลังกันจัดนิทรรศการเอกประวัติศาสตร์ ภายในห้องเอกประวัติศาสตร์นอกจากจะมีการแนะแนวการเรียนในเอก กิจกรรมร่วมกับผู้เข้าร่วมงานแล้ว ยังมีนิทรรศการประวัติศาสตร์ที่นิสิตในเอกได้ร่วมกันค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อนำเสนออย่างมีสาระควบคู่ความบันเทิงให้กับบุคคลทั่วไป เพื่อให้ทุกคนได้รู้ว่าประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออย่างที่คิด
โดยส่วนใหญ่ กิจกรรมประเภทนี้จะจัดขึ้นโดยภาควิชาประวัติศาสตร์และอาจร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ก็ได้ หัวข้อก็จะเน้นหัวข้อที่อยู่ในความสนใจของสังคม มีความน่าสนใจในช่วงเวลานั้น ทั้งยังเปิดโอกาสให้นิสิตและบุคคลทั่วไปได้เข้าร่วมเพื่อฟังและแลกเปลี่ยนความรู้กันอีกด้วย

ประสบการณ์ภายในเอก

#ปี4
– การเรียนในเอก: เวลาเรียนในห้องส่วนใหญ่ก็จะเป็นการเลคเชอร์ฟังเนื้อหาที่อาจารย์บรรยายเป็นหลัก พอถึงเวลาสอบก็เข้าสอบโดยเขียนตอบเป็นความเรียง (ลืมช้อยส์ไปได้เลย) ซึ่งการสอบก็ไม่ต้องท่องจำทุกอย่าง แต่ต้องเข้าใจแนวคิดสำคัญและอธิบายได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล ส่วนรายงานก็จะเป็นการค้นคว้าในหัวข้อที่เราสนใจ เรียกได้ว่าเรียนสนุกลุกนั่งสบาย แต่ปลายเทอมปุ๊บ ฤดูกาลเปเปอร์ก็จะเข้าจับทันที ก็จะพบชาวเอกประวัติศาสตร์ได้ตามหอสมุดกลางหรือห้องสมุดคณะ

– แลกเปลี่ยน: ภาควิชาก็สนับสนุนให้นิสิตไปแลกเปลี่ยนเช่นกัน โดยทุนที่จะมาทุกปีคือทุนของสำนักบริหารวิรัชกิจ ซึ่งมีมหาวิทยาลัยคู่สัญญาอยู่ทั่วโลก รวมถึงทุนโครงการ ASEAN University Network ที่เปิดโอกาสให้เราได้ไปแลกเปลี่ยนมหาวิทยาลัยประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนของเรา

– ฝึกงาน: หลักสูตรการเรียนไม่ได้มีการบังคับฝึกงานเพื่อเก็บหน่วยกิต แต่ทุกคนก็สามารถนำความรู้ที่ได้จากการเรียนไปฝึกงานตามสาขาอาชีพที่สนใจได้ ซึ่งหลาย ๆ คนก็ได้ไปฝึกงานในสาขาต่าง ๆ เช่น Content creator ผู้ช่วยบรรณาธิการ ผู้นำชมพิพิธภัณฑ์ หากสนใจก็สามารถเลือกฝึกได้ตามความสนใจ

แนวทางการประกอบอาชีพ

นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ครู-อาจารย์ เป็นต้น

แนะนำอาจารย์

– รศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่และชาวจีนโพ้นทะเล การเรียนการสอนในคลาสเรียกได้ว่าไม่ธรรมดา นอกจากความรู้แน่น ๆ แล้ว อาจารย์ยังมีเรื่องเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยสนุกสนานที่เราคิดไม่ถึงมาเล่าให้ฟังอีกด้วย รายการ podcast ชื่อ วาสนาอาละวาด เล่าเกี่ยวกับประเทศจีนร่วมสมัยในแง่ของสังคม วัฒนธรรม และการเมือง และบางครั้งก็เป็นแขกรับเชิญในรายการ เจาะข่าวตื้น โดยจอห์น วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ผู้เป็นน้องชาย
 
– ผศ.ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ มีความเชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทยก่อนสมัยใหม่และประวัติศาสตร์ตะวันออกกลาง ด้วยประสบการณ์ของครอบครัวอาจารย์ที่ทำรายการกระจกหกด้าน ทำให้อาจารย์สามารถถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้น่าสนใจและเข้าใจง่ายอย่างยิ่ง นอกจากนี้สื่อนำเสนอของอาจารย์ก็นับว่าตื่นตาตื่นใจไม่แพ้กันด้วย
 
– ผศ.ดร.ตุลย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ยุโรปโดยเฉพาะประวัติศาสตร์ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-18 ประวัติศาสตร์อารมณ์ มีแนวทางการสอนที่เป็นเอกลักษณ์ สอดแทรกเกร็ดความรู้โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับภาษาละตินหรือเยอรมันจากหลักฐานชั้นต้น เพราะนักประวัติศาสตร์คือกลุ่มคนที่ทำงานกับหลักฐานชั้นต้น
 
– ผศ.ดร.ภาวรรณ เรืองศิลป์ เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ยุโรปสมัยใหม่ถึงร่วมสมัย โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง รวมถึงเชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทยแขนงที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชาติยุโรปและชาติไทย
 
– ผศ.ดร.ธนาพล ลิ่มอภิชาต เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอาจารย์ผู้สอนวิชาสัมมนาประวัติศาสตร์ มักเป็นอาจารย์ที่นิสิตปริญญาตรีไม่ค่อยพบหน้า เพราะส่วนใหญ่รับผิดชอบรายวิชาของนิสิตปริญญาโทและปริญญาเอก
 
– ดร.ธิบดี บัวคำศรี เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ Micro-history (ประวัติศาสตร์จุลภาค)
 
– ดร.พิมพ์มนัส วิบุลย์ศิลป์ เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์อินเดียและเอเชียใต้ นับเป็นอาจารย์น้องใหม่ของภาคประวัติศาสตร์แต่ความรู้แน่นไม่แพ้อาจารย์ท่านอื่น ๆ