เอกเทคโนโลยีภาษาและสารสนเทศ

เกณฑ์การเข้าเอก

วิชาที่ใช้ยื่นเข้าเอกเทคโนโลยีภาษาและสารสนเทศมีดังนี้

  • ปี 1 เทอมต้น เลือกเรียนรายวิชาอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

– ทักษะการค้นคว้าและการใช้คอมพิวเตอร์ (RES COMP SKILLS) หรือ 

– ทักษะการค้นคว้าและการค้นคืนสารสนเทศ (RES INFO RETR SKL)

  • ปี 1 เทอมปลาย เรียนรายวิชาภาษาทัศนา (INTRO LANG)

ต้องยื่นผลการเรียนของรายวิชาข้างต้นทั้งเทอมต้นและเทอมปลาย โดยทั้ง 2 วิชาต้องมีเกรดไม่ต่ำกว่า B

หลักสูตร

          สาขาวิชาเทคโนโลยีภาษาและสารสนเทศ เปิดสอนเป็นแบบวิชาเอก-โท โดยมีจำนวนหน่วยกิตรวมทั้งหมด 60 หน่วยกิต ดังนี้

          วิชาเอก 42 หน่วยกิต

  • วิชาบังคับ 27 หน่วยกิต

  • วิชาบังคับเลือก 6 หน่วยกิต

  • วิชาเลือก 9 หน่วยกิต

          วิชาโท 18 หน่วยกิต

          รายละเอียดของรายวิชามีดังนี้ 

วิชาเอก

– วิชาบังคับ 

ปี 2 เทอม 1

  • ระบบสารสนเทศสำหรับมนุษยศาสตร์ (INFO SYS HUMAN)

  • พื้นฐานการเขียนโปรแกรมเพื่อการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (BASIC PROG NLP)

  • ระบบไวยากรณ์ (GRAM SYS)

  • ระบบเสียง (SOUND SYS)

ปี 2 เทอม 2

  • การจัดการฐานข้อมูลในงานสารสนเทศ (DATA MGT HUMAN)

  • ความหมายในภาษา (MEANING LANG)

  • ภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์เบื้องต้น (INTRO COMPU LING)

ปี 3 เทอม 1

  • สถิติเพื่อการวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ (STAT HUMAN RES)

  • การวิเคราะห์ภาษาไทยตามแนวภาษาศาสตร์ (LING ANALYS THAI)

  • วิชาบังคับเลือก 

ปี 4 ในแต่ละเทอมให้เลือกเรียน 1 วิชาดังต่อไปนี้

  • โครงการสารสนเทศ 1 (PROJ INFO STUD I)

  • โครงการสารสนเทศ 2 (PROJ INFO STUD II)

  • โครงการเทคโนโลยีภาษา 1 (PROJ LANG TECH I)

  • โครงการเทคโนโลยีภาษา 2 (PROJ LANG TECH II)

 

วิชาเลือก 

เลือกรายวิชาต่อไปนี้ 3 รายวิชา

  • พื้นฐานมนุษยศาสตร์ดิจิทัล

  • สัมมนามนุษยศาสตร์ดิจิทัล

  • การแปลงทรัพยากรสารสนเทศให้อยู่ในรูปดิจิทัล

  • การสื่อสารข้อมูลและเครือข่ายในงานสารสนเทศ

  • การออกแบบส่วนต่อประสานกับผู้ใช้ในงานสารสนเทศ

  • เครื่องมือสำหรับมนุษยศาสตร์ดิจิทัล

  • การศึกษาอิสระ

  • การแปรและการเปลี่ยนแปลงในภาษา

  • ภาษาศาสตร์กับการแปล

  • ภาษาและความคิด

  • ภาษากับวัฒนธรรม

  • คลังข้อมูลภาษา

  • เทคโนโลยีวัจนะ

  • การแปลภาษาด้วยคอมพิวเตอร์

  • การเรียนรู้ของคอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผลภาษาธรรมชาติ

  • การเข้าใจภาษาธรรมชาติ

  • เรื่องคัดเฉพาะทางเทคโนโลยีภาษา

 

         นอกจากรายวิชาข้างต้นแล้ว ยังสามารถเรียนรายวิชาอื่น ๆ ในระดับปริญญาตรี หรือระดับบัณฑิตศึกษาของภาควิชาต่อไปนี้เป็นวิชาเลือกได้ โดยต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารหลักสูตร 

  1. ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  2. ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  3. ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วิชาโท 

          สามารถเลือกเรียนวิชาโทสาขาอื่นได้ทั้งจากในคณะหรือนอกคณะ ยกเว้นสาขาวิชาโทภาษาศาสตร์ สาขาวิชาโทสารสนเทศศึกษา และสาขาโทมนุษยศาสตร์ดิจิทัล 

          ปล.นิสิตควรตรวจสอบข้อมูลอีกครั้งก่อนการลงทะเบียนเรียนในแต่ละภาคการศึกษา เนื่องจากรายวิชาและหลักสูตรที่เปิดสอนอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนี้ในบางวิชานิสิตควรติดต่ออาจารย์ผู้สอนก่อนทำการลงทะเบียนเรียนด้วย

กิจกรรมภายในเอก

*เอกเทคโนโลยีภาษาและสารสนเทศ มักเรียกกันย่อ ๆ ว่า เอกแลงเทค
กิจกรรมสายรหัส
           – กิจกรรมนี้คือกิจกรรมสำหรับคนที่เข้าเอกแลงเทคมาใหม่ เป็นกิจกรรมที่จะสุ่มคนในเอกแลงเทครุ่นก่อนหน้า 1 รุ่น ให้มาเป็น “พี่รหัส” ของคนที่เข้ามาใหม่ โดย “พี่รหัส” อาจมี 1 คน หรือมากกว่าก็ได้
          – กิจกรรมนี้สามารถเลือกว่าจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมได้ตามสมัครใจ ไม่มีการบังคับ
          คำใบ้สายรหัส
                    – ปกติแล้วจะให้คำใบ้ 4-5 คำใบ้ ขึ้นอยู่กับจำนวนสัปดาห์ที่จะจัดกิจกรรมสายรหัส

                    – เนื้อหาของคำใบ้จะได้มาจากการประชุมของคนในเอก ดังนั้นคำใบ้จะเปลี่ยนไปทุกปี

 

กิจกรรมเล่นเกม
           – เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมสายรหัสเอกแลงเทค รุ่นที่ 3
           – เล่นเกม Gartic Phone เพื่อผ่อนคลายความเครียดจากการเรียนออนไลน์ และสานสัมพันธ์ระหว่างคนในเอก
           – ดำเนินกิจกรรมรูปแบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม Discord

 

ซูมแนะแนว+เฉลยสายรหัส
           – ก่อนที่จะเฉลยสายรหัส จะเปิดโอกาสให้รุ่นพี่แลงเทคมาแบ่งปันประสบการณ์การฝึกงานและการทำโปรเจกต์ เพื่อเป็นประโยชน์แก่นิสิตแลงเทครุ่นถัด ๆ ไป
           – คำถามเกี่ยวกับการฝึกงานและการทำโปรเจกต์จะได้มาจากการเปิดโอกาสให้นิสิตแลงเทคปี 3 ส่งคำถามเข้ามาให้ปี 4 เตรียมคำตอบก่อนวันแนะแนว
           – หลังจากที่แนะแนวเรียบร้อยแล้ว ก็จะเปิดโอกาสให้นิสิตแลงเทคทั้งปี 3 และปี 2 ส่งคำถามเกี่ยวกับการฝึกงานหรือการทำโปรเจกต์เข้ามาอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นจึงเฉลยสายรหัส
           – ดำเนินกิจกรรมรูปแบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom


– กิจกรรมในเอกปัจจุบันยังไม่ค่อยมีมากเท่าไรเนื่องจากเป็นเอกเปิดใหม่ ดังนั้นถ้าเข้าเอกมาแล้วต้องการจะทำกิจกรรมอะไร ก็สามารถปรึกษากันและจัดขึ้นมากันได้เลยนะ!

ประสบการณ์ภายในเอก

(พี่ปี 4) 

          “สวัสดีครับ ประสบการณ์สั้น ๆ ที่จะได้เล่าต่อจากนี้เป็นประสบการณ์ของเราคนเดียว แต่ละรุ่น หรือแม้แต่เพื่อนแต่ละคนในรุ่นเดียวกับเราเองก็น่าจะรู้สึกกับแต่ละเรื่องไม่เหมือนเรา แนะนำให้ฟังหรือแลกเปลี่ยนกับหลาย ๆ คนที่เรียนวิชาเอกนี้เพื่อให้ได้ภาพที่ชัดเจนขึ้นนะครับ

 

          จุดเริ่มต้นของเรากับเอกแลงเทคอาจจะแปลก ๆ นิดนึง สรุปแบบรวบรัดคือ เราย้ายมาจากวิชาเอกภาษาหนึ่ง เพราะได้เรียนตัวภาษาศาสตร์เบื้องต้นที่สอนระบบเสียงกับโครงสร้างทางไวยากรณ์ของภาษานั้นแล้วชอบเรียน ชอบทำแบบฝึกหัดมาก ขนาดข้อสอบยังรู้สึกว่าสนุกกว่าวิชาอื่น บวกกับสนใจศึกษาเนื้อหาทางภาษาศาสตร์มาตั้งแต่ได้เจอวิชาภาษาทัศนา (Introduction to Language) แล้ว ตอนนั้นเราหันกลับมาทวนหลักสูตรดูอีกรอบ เห็นว่าเอกแลงเทคจะได้เรียนตัวบังคับเอกที่เป็นภาษาศาสตร์เยอะมาก เลยตัดสินใจย้ายมาตอนปี 2 เทอม 2 ทำให้ประสบการณ์ในเอกของเราเหลื่อมกับเพื่อนร่วมรุ่นทุกคน เพราะเรียนช้ากว่าคนอื่นหนึ่งเทอม — แต่ก็ยังมีโอกาสได้เจอบางตัวนะ อย่างวิชา DATA MGT HUMAN (Database Management for the Humanities) ที่เรียนกันตอนปี 2 เทอม 2 เราก็ไปเรียนด้วยปกติ แล้วค่อยไปเก็บ INFO SYS HUMAN (Infomation System for the Humanities) ตอนปี 3 เทอม 1 แทน ซึ่งถ้าไม่ได้เพื่อน โปรเจกต์กลุ่มก็น่าจะเล่นเอาหนักเหมือนกัน ดีใจมาก

 

          ถ้าสังเกตจากวิชาบังคับและวิชาเลือก อาจจะพอแบ่ง ‘สาย’ ที่เด็กแลงเทคจะไปได้ ทั้งคนที่สนใจฝั่งภาษาศาสตร์คอมฯ ฝั่งสารสนเทศ หรือไม่ก็แบบเรา ที่สนใจฝั่งภาษาศาสตร์ทั่วไป เนื้อหาของสิ่งที่ทุกคนอ่านอยู่นี้ก็เลยจะหนักไปทางฝั่งภาษาศาสตร์เยอะหน่อยนะครับ

 

          การอยู่เอกนี้ทำให้เรามีอิสระเยอะมาก ๆ ๆ ที่จะเลือกลงรายวิชาของภาคภาษาศาสตร์ที่เราอยากลง พูดง่าย ๆ คือลงไปเรื่อย เพราะสามารถเก็บเป็นวิชาเลือกได้ วิชาภาษาศาสตร์ของป.ตรีก็จะเป็นเลคเชอร์ กิจกรรมนู่นนี่ อาจจะมีโปรเจกต์บ้าง แล้วแต่วิชา รวม ๆ แล้วก็สนุกดีครับ สิ่งสำคัญที่เราคิดว่าได้จากวิชาพวกนี้ คือ ความตระหนักเกี่ยวกับภาษา หมายความว่า เรามีไอเดีย มีศัพท์ มีวิธีการพูดถึงภาษาและการใช้ภาษาเพิ่มมากขึ้น ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้าง กลไก และธรรมชาติของภาษาได้ลึกและกว้างขึ้น เหมือนเราได้พอรู้จักกับความเป็นระบบระเบียบเรียบร้อยที่ยุ่งเหยิงพันกันมั่วไปหมดของภาษา ถอยมาหนึ่งก้าวแล้วได้เห็นอะไรขึ้นเยอะเลยครับ (เป็นคำอธิบายวิชาภาษาศาสตร์ทั่วไปที่มนุษยศาสตร์มาก แต่หวังว่าจะพอเข้าใจความรู้สึกบ้างนะครับ)

 

          ที่เป็นไฮไลต์จริง ๆ สำหรับคนสนใจฝั่งภาษาศาสตร์คือ เราสามารถลงตัวป.โท/ป.เอกกี่ตัว ตัวไหนก็ได้ เพราะทุกวิชาเปิดให้ป.ตรีลงทะเบียนเรียนได้หมดเลย แถมถ้าคุยกับภาคฯ ก็ยังเก็บเป็นวิชาเลือกเอกหรือเสรีได้ด้วย อย่างเราเรียนวิชาระบบเสียง (Sound System; พูดย่อ ๆ คือเสียงในภาษามนุษย์มีลักษณะเชิงกายภาพกับเชิงโครงสร้างประมาณไหน) แล้วชอบมาก ติดใจ คิดว่าโอเค อยากลองเรียนสัทศาสตร์/สัทวิทยาที่ลึกกว่าตัวแรก แล้วตอนนั้นอาจารย์ก็มาโฆษณาวิชากลสัทศาตร์ (Acoustic Phonetics; พูดย่อๆ คือลักษณะทางกายภาพของเสียงพูดมนุษย์ที่เราศึกษาด้วยเครื่องมือและระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ได้ ในที่นี้คือคลื่นเสียง) ก็เลยลองไปลง ทำให้ได้ประสบการณ์ที่เหนื่อยแต่เปิดโลกมากว่าป.โท/ป.เอกเค้าเรียนกันแบบไหน ต้องแอคทีฟ เรียนทั้งในทั้งนอกห้องมากแค่ไหน แล้วก็ต้องทำโปรเจกต์เดี่ยวที่เลือกหัวข้อเองด้วย ซึ่งช่วยมาก ๆ ตอนที่ทำซีเนียร์โปรเจกต์เรื่องวิธีการคิดหัวข้อ คิดระเบียบวิธีการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเสียง หรือแม้แต่การอ่านเปเปอร์ฝั่งภาษาศาสตร์ที่จะมีโครงสร้างกับเนื้อหาค่อนข้างแตกต่างจากเปเปอร์ทางมนุษยศาสตร์พอสมควร พูดมายืดยาว สรุปคือเหนื่อยมาก แถมเรียนตัวป.โทสองตัวพร้อมกัน อีกวิชาคือ Multimodality and Applied Linguistics ที่ก็มีโปรเจกต์ภาคนิพนธ์เหมือนกัน เทอมนั้นคือเข็ดกับวิชาการไปเลย แต่ไม่ลองไม่รู้ของจริง เพราะตัวที่เราเรียนในเอกแต่ละตัวเหมือนเป็นฐานที่ปูให้แน่นก่อนจะไปเลือกกันตามสะดวกว่าอยากไปทางไหนต่อ ถ้าไม่ได้เรียนวิชาบังคับที่เป็นเนื้อหาภาษาศาสตร์พื้นฐานก็อาจจะไม่ได้ตัดสินใจลองมาทำอะไรแบบนี้ก็ได้ครับ

 

          นอกจากเรื่องเรียน พอได้ความรู้ ได้ประสบการณ์ฝั่งนี้มาประมาณนึงแล้ว เราได้มีโอกาสเป็นผู้ช่วยวิจัยให้อาจารย์ท่านหนึ่งในภาคฯ แล้วก็ได้เป็นแอดมินเว็บไซต์หน่วยวิจัยทางภาษาศาสตร์ของมหาลัยกับเพื่อนอีกคน ใช้ทักษะกับความคิดที่คล้าย ๆ กับตอนเรียน แต่ก็ไม่เหมือนสักทีเดียว ถ้าตอนเป็นผู้ช่วยวิจัยก็อาจจะคุ้นเคยหน่อย พวกหน้าที่อย่างการทบทวนวรรณกรรม เก็บรวบรวมข้อมูลจากหลาย ๆ งานมาสรุป แต่ที่ตอนนี้เป็นแอดมินอยู่ก็จะได้เขียนบทความเพื่อนำเสนองานวิจัยทางภาษาศาสตร์หรือไม่ก็ข่าวที่เกี่ยวกับบุคลากรในหน่วยฯ ด้วย อาจจะไม่ได้มีโอกาสฝึกงานกับบริษัทข้างนอกอย่างเพื่อนๆ แต่งานพวกนี้ก็เป็นอีกโอกาสที่ดีมากๆ เช่นกันครับ เสียดายอย่างนึงคือตั้งแต่เราเข้าเอกมา ได้เรียนที่คณะแบบจริงๆ จังๆ แค่เทอมเดียว คือเทอมแรก ที่เหลือคือออนไลน์หมดเลย สลับกลับมาเรียนที่คณะบ้างเป็นครั้งคราว ถึงจะเป็นอะไรที่ก็คิดว่าชอบและเลือกด้วยตัวเอง แต่ก็ยังทุลักทุเลมาก ๆ เหมือนกัน

 

          เทอมนี้ก็เป็นเทอมสุดท้ายของเราแล้ว เหลือวิชาภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์ตัวสองที่เราผลัดมาเรื่อยๆ ยันเทอมนี้กับโปรเจกต์ตัวสุดท้าย เรื่องโลกของการทำงานในสภาพสังคมประเทศกับโลกนี้ เราก็ไม่รู้เหมือนกันครับ ไว้หลังจบอาจจะพอมาเล่าได้ หรือไม่ก็เพื่อนคนอื่นๆ อาจจะมีประสบการณ์ทางอาชีพที่มากกว่าเรา ยังไงก็ขอฝากเรื่องของเราไว้เท่านี้ หวังว่าจะได้อะไรกลับไปคิดไปถามต่อไม่มากก็น้อยนะครับ”

แนวทางการประกอบอาชีพ

          สาขาวิชาเทคโนโลยีภาษาและสารสนเทศมีเนื้อหารายวิชาที่ผสมระหว่างภาษาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้จึงสามารถนำความรู้และความถนัดของตนเองมาประยุกต์ใช้ในการทำงานได้หลากหลายแขนง โดยสามารถแบ่งได้ออกเป็น 2 ด้าน ดังนี้

  • ภาษาศาสตร์

                – Professor

                – Data Annotator

                – Researcher

                – Speech Pathologist

                – Linguistic Consultant

                – Language Teacher

  • เทคโนโลยีและสารสนเทศ

                – Data Scientist

                – Data Analyst

                – System Analyst

                – Project Manager

                – Developer

แนะนำอาจารย์

ภาคภาษาศาสตร์

          1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรรถพล ธำรงรัตนฤทธิ์ รายวิชาที่สอนมีดังนี้

                  – พื้นฐานการเขียนโปรแกรมเพื่อการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (BASIC PROG NLP)

                  – ภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์เบื้องต้น (INTRO COMPU LING)

          2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุจิณัฐ จิตวิริยนนท์ รายวิชาที่สอนมีดังนี้

                  – ระบบเสียง (SOUND SYS)

          3. อาจารย์ ดร.ณัฏฐนันท์ จันทร์เจ้าฉาย รายวิชาที่สอนมีดังนี้

                  – ความหมายในภาษา (MEANING LANG)

                  – การวิเคราะห์ภาษาไทยตามแนวภาษาศาสตร์ (LING ANALYS THAI)

          4. รองศาสตราจารย์ ดร.พิทยาวัฒน์  พิทยาภรณ์ รายวิชาที่สอนมีดังนี้

                  – การวิเคราะห์ภาษาไทยตามแนวภาษาศาสตร์ (LING ANALYS THAI)

 

ภาคบรรณารักษ์ศาสตร์

          1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ทรงพันธ์ เจิมประยงค์ รายวิชาที่สอนมีดังนี้

                  – ระบบสารสนเทศสำหรับมนุษยศาสตร์ (INFO SYS HUMAN)

                  – การจัดการฐานข้อมูลในงานสารสนเทศ (DATA MGT HUMAN)

          2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทิพยา จินตโกวิท รายวิชาที่สอนมีดังนี้

                  – สถิติเพื่อการวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ (STAT HUMAN RES)

          3. อาจารย์ ดร. สรคม ดิสสะมาน รายวิชาที่สอนมีดังนี้

                  – สถิติเพื่อการวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ (STAT HUMAN RES)

 

อื่น ๆ

          1. อาจารย์ ดร.เกียรติ เทพช่วยสุข รายวิชาที่สอนมีดังนี้

                  – ระบบไวยากรณ์ (GRAM SYS)

          2. อาจารย์ ดร.ภีมพสิษฐ์ เตชะราชันย์ รายวิชาที่สอนมีดังนี้

                  – ระบบไวยากรณ์ (GRAM SYS)