โทภาษาศาสตร์

เกณฑ์การเข้าโท

          ไม่มีเกณฑ์ เป็นวิชาโท หากประสงค์ที่จะเข้าโปรแกรมเกียรตินิยมเกรดเฉลี่ยของปีหนึ่งสองเทอมแรกจะต้องไม่ต่ำกว่า 3.75

หลักสูตร

  • ภาษาศาสตร์คืออะไร?

          อันที่จริงแล้วนั้น “ภาษาศาสตร์” ไม่ใช่แค่การศึกษาภาษาใด ๆ ภาษาหนึ่งเพื่อให้ฟัง พูด อ่าน เขียนรู้เรื่อง เหมือนที่หลาย ๆ คนเข้าใจ แต่ “ภาษาศาสตร์” นั้นเป็นการศึกษาภาษาผ่าน “กระบวนการทางวิทยาศาสตร์” ได้แก่ การสังเกต ตั้งสมมติฐาน เก็บข้อมูล วิเคราะห์ และสรุป เพื่ออธิบายและตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับภาษา เช่น เราสงสัยว่าทำไมประโยคว่า แมวกินปลา กับ ปลากินแมว มีความหมายไม่เหมือนกัน เราเลยตั้งสมมติฐานว่า น่าจะเป็นเพราะตำแหน่งที่ปรากฏในประโยคหรือเปล่า เราเลยลองเก็บข้อมูลกับคำอื่น ๆ เรารู้จากการทดลองว่า หมากินไก่ กับ ไก่กินหมา ก็ให้ความหมายไม่เหมือนกัน เรานำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์และเปรียบเทียบ จนได้ข้อสรุปออกมาว่าสาเหตุที่ แมวกินปลา กับ ปลากินแมว มีความหมายไม่เหมือนกันก็เพราะว่าตำแหน่งของคำในประโยคส่งผลต่อคำกริยา เป็นต้น โดยภาษาศาสตร์นั้นสามารถตั้งคำถามเกี่ยวกับภาษาได้ตั้งแต่ระดับเสียงและระบบเสียง เช่น ทำไมเวลาดาราเกาหลีร้องเพลงไทยร้องเสียง /ฟ/ ไม่ชัด ระดับคำ วลีและประโยค เช่น ทำไมคำในภาษาอังกฤษถึงต้องผันยุ่งยาก ระดับความหมาย เช่น ทำไมคำว่านกเดี๋ยวนี้ถึงแปลว่า ‘อด’ ความหมายใหม่มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ไปจนถึงระดับของภาษาที่เกี่ยวข้องกับสมองและสังคม เช่น ทำไมเรียนภาษาตอนห้าขวบถึงมีประสิทธิภาพกว่าตอนโต หรือ สรรพนามที่เพื่อนกระเทยเลือกใช้สะท้อนตัวตนของเพื่อนกระเทยเรามาได้อย่างไร และล่าสุดก็มีการนำภาษาศาสตร์ไปศึกษาร่วมกับเทคโนโลยีสารสนเทศและปัญญาประดิษฐ์ด้วย เช่นโจทย์ที่ว่า ทำอย่างไรให้คอมพิวเตอร์เข้าใจภาษามนุษย์ จากตัวอย่างทั้งหมดที่ได้ยกมา ก็สังเกตได้เลยว่าภาษาศาสตร์ไม่ใช้แค่การเรียนภาษาให้ใช้ได้คล่อง แต่เป็นการศึกษาและตั้งคำถามกับตัวภาษา รวมถึงประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่ได้มาจากการศึกษาเข้ากับศาสตร์อื่น ๆ จนเกิดเป็นสาขาย่อย ๆ ของวิชาภาษาศาสตร์มากมายทีเดียว

 

หลักสูตรสาขาวิชาภาษาศาสตร์

 

วิชาโทภาษาศาสตร์ โปรแกรมปกติ

 

  • วิชาบังคับเลือก 3 หน่วยกิต ให้เลือกเรียนวิชาดังต่อไปนี้หนึ่งรายวิชา
    • ระบบไวยากรณ์
    • ความหมายในภาษา
    • ระบบเสียง
  • วิชาเลือกเสรี 15 หน่วยกิต ให้เลือกจากรายวิชาต่อไปนี้ 5 รายวิชา
    • รายวิชาที่เปิดประจำ
      • ระบบไวยากรณ์
      • ความหมายในภาษา
      • ระบบเสียง
      • พื้นฐานการเขียนโปรแกรมเพื่อการประมวลผลภาษาธรรมชาติ
      • การวิเคราะห์ภาษาไทยตามแนวภาษาศาสตร์
      • ภาษากับความคิด
      • ภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์เบื้องต้น
      • ภาษากับวัฒนธรรม
      • คลังข้อมูลภาษา
    • รายวิชาที่สลับกันเปิดในแต่ละภาคการศึกษาไป
      • ภาษาศาสตร์กับการแปล
      • ภาษาตระกูลขร้า-ไท
      • ภาษาศาสตร์ภาษาโรมานซ์เบื้องต้น
      • ภาษาในกลุ่มประเทศอาเซียน+3
      • ภาษากับการสื่อสารทางการตลาด
      • ภาษากับเพศ

 

นอกจากนี้นิสิตสามารถเรียนรายวิชาปริญญาโท โดยผ่านความเห็นชอบจากอาจารย์ผู้สอน (วิชาปริญญาโทบางวิชาอาจต้องมีพื้นฐานจากรายวิชาปริญญาตรี เช่น วิชาระบบไวยากรณ์ ระบบเสียง ความหมายในภาษา ซึ่งเป็นวิชาแกนหลักของภาษาศาสตร์)

 

      • สัทศาสตร์และสัทวิทยา
      • วากยสัมพันธ์
      • อรรถศาสตร์
      • สื่อหลากรูปแบบกับภาษาศาสตร์ประยุกต์
      • ภาษาศาสตร์เชิงคลินิก
      • ภาษาศาสตร์เชิงประวัติ
      • ทฤษฎีภาษาศาสตร์
      • กลสัทศาสตร์
      • ภาษาศาสตร์สังคม
      • ภาษาศาสตร์จิตวิทยา

วิชาโทภาษาศาสตร์ โปรแกรมเกียรตินิยม

          โปรแกรมเกียรตินิยม จะเป็นโปรแกรมวิชาโทสำหรับนิสิตที่สนใจด้านการวิจัย เป็นพื้นฐานในการศึกษาปริญญาโทและเอกต่อไป รายวิชาสำหรับนิสิตโปรแกรมเกียรตินิยม มีดังนี้

  • เอกัตศึกษา 1
  • เอกัตศึกษา 2

          ในสองรายวิชานี้ นิสิตจะต้องเข้าร่วมเรียนวิชาของภาควิชาภาษาศาสตร์ 2 รายวิชาต่อวิชาเอกัตศึกษา 1 รายวิชา และนำคะแนนเฉลี่ยของสองรายวิชามาคิดเป็นคะแนนของวิชาเอกัตศึกษา 

  • เอกัตศึกษา 3
  • เอกัตศึกษา 4
  • ปริญญานิพนธ์ 1
  • ปริญญานิพนธ์ 2

          หลังจากผ่านรายวิชาเอกัตศึกษา 1 และ 2  นิสิตสามารถเลือกที่จะศึกษาในรายวิชาเอกัตศึกษา 3 และ 4 กับอาจารย์ในภาควิชาตามความสนใจ และพัฒนางานวิจัยในรายวิชาปริญญานิพนธ์ 1 และ 2 ในชั้นปีที่ 4

ปล. นิสิตควรตรวจสอบข้อมูลอีกครั้งก่อนการลงทะเบียนเรียนในแต่ละภาคการศึกษา เนื่องจากรายวิชาและหลักสูตรที่เปิดสอนอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนี้ในบางวิชานิสิตควรติดต่ออาจารย์ผู้สอนก่อนทำการลงทะเบียนเรียนด้วย

กิจกรรมภายในโท

– กิจกรรมจัดเสวนาภาพยนตร์ My fair lady

– กิจกรรมเสวนาภาษาศาสตร์กับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19

– กิจกรรมแชร์หัวข้อวิจัยภาษาศาสตร์และการแนะแนวการศึกษาโทภาษาศาสตร์

ประสบการณ์ภายในโท

(ไกด์ #3)

          โทภาษาศาสตร์เป็นโทที่คนเรียนน้อยดีครับ เราอยู่กันแบบอบอุ่นครับ เราได้เจอกับคนเยอะดี อย่างในวิชาบังคับเลือกประมาณว่าระบบไวยากรณ์หรือระบบเสียง เราก็จะไปเจอกับเพื่อน ๆ ในเอกแลงเทค หรือที่เราไปลงวิชาป. โท ก็จะได้เจอกับพี่ ๆ ป. โท และได้ความรู้สึกเป็นน้องเล็กที่น่าเอ็นดูนั่นเองครับ อาจารย์ภาควิชาภาษาศาสตร์ใจดีมาก ใจดีทุกคน อาจารย์เข้าใจเด็กมาก ๆ และคอยซัพพอรต์ในสิ่งที่พวกเราอยากทำ/อยากเป็นกันสุด ๆ บรรยากาศการเรียนในห้องสนุกมาก ๆ อาจารย์แอคทีฟคอยหาเรื่องมาชวนคุย เรื่องให้ชวนสังเกตตลอด ส่วนข้อสอบหรอฮะ ก็ไว้เป็นอีกเรื่องที่เราค่อยว่ากันดีกว่าครับ (อาจารย์ในภาคมีตั้งแต่ประเภทที่ออกข้อสอบแบบอ่านหนังสือมายังไงก็รอดแน่ ๆ จนถึงประเภทที่ว่าอ่านมาเท่าไหร่แต่ถ้าเราไม่เข้าใจจริง ๆ ก็จะไม่รอดครับ ระดับความแกงของข้อสอบก็จะแปรผันตามอาจารย์แต่ละท่านครับ) แต่อาจารย์น่ารักกันมากจริง ๆ

แนวทางการประกอบอาชีพ

ถ้าไม่เป็นอาจารย์หรือนักวิชาการ/นักวิจัย เรียนภาษาศาสตร์ทำอะไรได้บ้าง:

 

ภาษาศาสตร์กับการตลาด

          เมื่อเราเดินเข้าไปในร้านสะดวกซื้อเพื่อจะซื้อสินค้าบางอย่าง อาจเป็นบะหมีกึ่งสำเร็จรูป น้ำอัดลม ยาอมแก้เจ็บคอ กระดาษชำระ เราอาจที่จะมีแบรนด์ในใจมาก่อนบ้างแล้ว แต่ถ้าหากเราไม่มีแบรนด์ในใจ แล้วเราอยากซื้อของชิ้นนั้น ๆ มาก ๆ เลย สมมติว่าเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เราเดินไปที่ชั้นวาง เห็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสองยี่ห้อวางติดกัน รสชาติเหมือนกัน ราคาเท่ากัน และโฆษนาคุณสมบัติไว้เหมือนกัน ผู้อ่านก็คงคิดว่า “ก็หยิบแบรนด์ที่ถูกโฉลกกับเรามาละกัน ในเมื่อมันก็เหมือนกันไปหมด” อันที่จริงแล้ว คุณผู้อ่านอาจตกไปอยู่ในกับดักของแบรนด์ที่มี “นักภาษาศาสตร์การตลาด” เป็นที่ปรึกษาอยู่ไม่รู้ตัว จากสถานการณ์ข้างต้นนั้น สิ่งที่ต่างกันระหว่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสองยี่ห้อนั้น มีเพียงแค่ “ชื่อแบรนด์” และสิ่งนี้เองก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ซื้อมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าแบรนด์หนึ่งมากกว่าอีกแบรนด์ที่ไม่ได้จ้างนักภาษาศาสตร์การตลาดเป็นที่ปรึกษา เพราะการตั้งชื่อแบรนด์นั้นย่อมเกิดมาจากการใช้เสียงในภาษาประกอบเป็นชื่อแบรนด์ และ “เสียง” บางเสียงย่อม “สื่อความหมายบางอย่าง” ได้ดีกว่าบางเสียง ดังนั้น ที่เราเลือกซื้อบะหมี่กึ่งแบรนด์หนึ่งแทนที่จะเป็นอีกแบรนด์ก็อาจเป็นเพราะชื่อของแบรนด์ที่เราเลือกซื้อสื่อถึงความน่ากิน ความอยากอาหารได้ดีกว่าแบรนด์หนึ่ง ๆ จากที่กล่าวมานั้น เราก็ย่อมเห็นความสำคัญของภาษาที่มีต่อการตั้งชื่อแบรนด์และการสื่อสารทางธุรกิจ ในปัจจุบันนักภาษาศาสตร์จึงเป็นที่ต้องการของบริษัทที่กำลังจะออกสินค้าตัวใหม่เป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องการตั้งชื่อแบรนด์ ไปจนถึงการสื่อสารอัตลักษณ์ของสินค้า นี่แหละครับ หนึ่งในพลังของ “นักภาษาศาสตร์”

 

ภาษาศาสตร์กับเทคโนโลยี

          หากผู้อ่านเจอข้อความภาษาอังกฤษยาก ๆ ที่ไม่เข้าใจ หรืออาจเล่นอินสตาแกรมแล้วเจอโพสต์ของดาราต่างชาติท่านหนึ่งที่ผู้อ่านชอบมาก ๆ แต่แคปชั่นของรูปดันเป็นภาษาต่างประเทศที่ไม่เข้าใจ ผู้อ่านจะทำอย่างไร คำตอบของผู้อ่านก็คงจะไม่พ้น “google translate” หรือ “กดปุ่มแปลข้างล่างสิ” ซึ่งกระบวนการแปลภาษาโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ยกตัวอย่างมานั้น ไม่ใช่ว่าจะเขียนได้ง่าย ๆ โดยการนำคำและคำแปลทั้งหมดในพจนานุกรมภาษาหนึ่งป้อนเข้าไป แค่นี้เราก็ได้โปรแกรมแปลภาษาแล้ว แต่กว่าจะได้มาซึ่งโปรแกรมแปลภาษาที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ นักภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์ หรือ “อาจารย์สอนภาษาให้คอมพิวเตอร์” ต้องพัฒนาหรือ Train โปรแกรม กันอย่างหนักหน่วง เพราะว่าการแปลในระดับประโยคนั้น ไม่ใช่การแปลข้อความเรียง ๆ ต่อกันเลยทีเดียว แต่เป็นการใช้คำหลาย ๆ คำ รวมถึงบริบทมาสร้างความหมายในระดับประโยค ซึ่งนักภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์ก็จำเป็นที่จะต้อง “สอน” ให้โปรแกรม “แปล” จากภาษาหนึ่งมายังอีกภาษา โดยไม่เสียความหมายและถูกต้องตามโครงสร้าง อีกตัวอย่างหนึ่งของบทบาทสำคัญของนักภาษาศาสตร์เทคโนโลยีนั้น คือการสอนให้คอมพิวเตอร์รับรู้เสียงพูดของเรา หรือเทคโนโลยีวัจนะ เช่น ในโปรแกรม SIRI ของโทรศัพท์มือถือแอปเปิล ที่สามารถพูดคุยโต้ตอบกับเราได้ ก็เกิดจากการ “สอน” เช่นเดียวกัน เราเลยปฏิเสธไม่ได้ว่า “นักภาษาศาสตร์” มีความสำคัญต่อการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์

แนะนำอาจารย์

อาจารย์ประจำ

  • ผศ. ดร. ธีราภรณ์ รติธรรมกุล (หัวหน้าภาควิชา)
    • ความเชี่ยวชาญ: ภาษาศาสตร์จิตวิทยา การรับภาษา วากยสัมพันธ์
  • รศ. ดร. พิทยาวัฒน์ พิทยาภรณ์
    • ความเชี่ยวชาญ: ภาษาศาสตร์เชิงประวัติ สัทวิทยา ภาษาศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • ผศ. ดร. ณัฏฐนันท์ จันทร์เจ้าฉาย
    • ความเชี่ยวชาญ: ภาษาศาสตร์เชิงคลินิก ภาษาศาสตร์จิตวิทยา 
  • ผศ. ดร. ภาวดี สายสุวรรณ
    • ความเชี่ยวชาญ: ภาษาศาสตร์สังคม ภาษากับเพศสภาพ
  • ผศ. ดร. ศุจิณัฐ จิตวิริยนนท์
    • ความเชี่ยวชาญ: สัทศาสตร์เชิงทดลอง นิติภาษาศาสตร์ ภาษากับการสื่อสารทางการตลาด
  • รศ. ดร. วิโรจน์ อรุณมานะกุล
    • ความเชี่ยวชาญ: วากยสัมพันธ์ อรรถศาสตร์ ภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ภาษาศาสตร์คลังข้อมูล
  • ผศ. ดร. อรรถพล ธำรงรัตนฤทธิ์
    • ความเชี่ยวชาญ: การประมวลผลภาษาธรรมชาติ ปริเฉทคอมพิวเตอร์

ช่องทางการติดต่อ